แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
ห้วยตุ้ม หมู่บ้านควายมีเงินเดือน

ห้วยตุ้ม หมู่บ้านควายมีเงินเดือน

สัตว์ตระกูลกระบือหรือ "ควาย" ตามภาษาไทยๆ ถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยไม่แพ้สัตว์ประเภทอื่นๆ เช่นกัน เพราะบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรม ดังนั้น ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจึงใช้แต่ควายในการทำไร่ไถนา จนเกิดตำนานเรื่องควายที่เกี่ยวพันไปถึงหลายเรื่อง โดยเฉพาะ "ไอ้ขวัญอีเรียม" หรือ "บางระจัน" อันลือเลื่องซึ่งมีการใช้ไอ้ทุยเป็นตัวชูโรงของเรื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากสภาพของสังคมไทยปัจจุบันแล้วน่าใจหาย เพราะปัจจุบันเรียกได้ว่าเราเหลือกระบือหรือควายเอาไว้เพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้น

สำนึกบุญคุณและความผูกพันที่เคยมีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายระหว่างคนกับควายได้สูญหายไปเกือบจะหมดสิ้น เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปแทนที่ จนทำให้ไอ้ทุยต้องตกงานและกลายสภาพไปอยู่ในจานอาหารจนหมด นอกจากนี้ สายพันธุ์ของกระบือรุ่นใหม่ที่ออกมาก็ดูแปลกๆ ไม่สวยงามสมดุลเหมือนในอดีต

แม้ยุคของควายหมดเมืองหรือหมดยุคไอ้ทุยจะเกิดขึ้นไปทั่วทุกแห่งในประเทศไทย แต่สำหรับที่หมู่บ้านห้วยตุ้ม หมู่ 11 ตำบลหัวง้ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ถือว่าแตกต่างออกไป เพราะพวกเขายังคงอนุรักษ์กระบือไทยพันธุ์แท้เอาไว้ได้เป็นจำนวนมาก บรรยากาศภายในหมู่บ้านจึงเหมือนย้อนยุคไปในบ้านคนไทยเมื่อราว 30 ปีก่อน แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะนิยมความล้าหลังโดยไม่สนใจต่อโลกภายนอก เพราะการดำเนินชีวิตในด้านอื่นๆ ก็พัฒนาไปตามยุคเหมือนสังคมอื่นๆ ในประเทศไทย เพียงแต่ว่าพวกเขามีจิตสำนึกในการอนุรักษ์และได้อาศัยกระบือที่มีอยู่ในหมู่บ้านกว่า 200 ตัว มาสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างได้ผล

จนทำให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง ชาวบ้านมีรายได้และช่วยแก้ไขความยากจนได้อย่างไม่น่าเชื่อ ผิดแผกกับการเลี้ยงกระบือในยุคเดิมที่ใช้สำหรับทำนาและเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว

ในปัจจุบัน ชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยตุ้มมีการรวมกลุ่มกันเป็น "กลุ่มอนุรักษ์กระบือพื้นเมืองตำบลหัวง้ม" และไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ในนามกลุ่มเลี้ยงสัตว์ โดยมีสมาชิกจำนวน 21 คน แต่ละคนมีกระบือเลี้ยงคนละหลายตัว ตั้งแต่ 4-10 ตัว และยังมีกระบือที่อยู่ในกลุ่มรวมกันกว่า 200 ตัว ดังกล่าวด้วย ทุกๆ เย็นสมาชิกภายในกลุ่มจะต้อนกระบือไปรวมกันไว้ภายในที่ดินเนื้อที่ราว 2 งานกว่า ของ คุณสนั่น อธิวันดี ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม และไว้ตามคอกภายในหมู่บ้านอีกคอกละ 4-5 ตัว จำนวน 5 คอก

จากนั้นถึงช่วงเช้าก็จะปล่อยกระบือให้ออกไปหาอาหารกินตามทุ่งนาของหมู่บ้านกระทั่งตกเย็นก็ต้อนกระบือกลับไปอยู่ในคอกต่างๆ ตามเดิม

ในขณะที่สมาชิกราว 3-4 คน จะคอยเลี้ยงดูกระบือตลอดทั้งวันนั้น สมาชิกที่ได้รับมอบหน้าที่ที่เหลือก็จะเก็บมูลหรือขี้ควายที่อยู่ในคอกไปตากแห้งที่โรงตากประจำหมู่บ้าน ก่อนจะนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมักคุณภาพดีเพื่อแจกจ่ายสมาชิกและจำหน่ายเป็นรายได้เข้ากลุ่ม นอกจากนี้ สิ่งที่ดูเหมือนจะแตกต่างออกไปจากกลุ่มกระบืออื่นๆ ในประเทศไทย คือตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี กระบือภายในกลุ่มทั้งหมดจะมีเงินเดือนอย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะกลุ่มได้ดำเนินโครงการ "ควายเงินเดือน" โดยรับจ้างนำกระบือไปนอนค้างคืนตามท้องนาเพื่อถ่ายมูลหรือขี้ควายเป็นปุ๋ยคอกชั้นดีอันเป็นสุดยอดปรารถนาของชาวนา โดยที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าไอเดียนี้จะมีต้นกำเนิดจากกลุ่มอนุรักษ์กระบือพื้นเมืองตำบลหัวง้ม จนสร้างรายได้ให้กับกลุ่มอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ดังนั้น ภาพเมื่อเราเดินทางไปเยือนหมู่บ้านห้วยตุ้มเพื่อชมกลุ่มอนุรักษ์กระบือพื้นเมือง จึงดูเหมือนว่าสมาชิกแต่ละคนจะมีความขยันขันแข็งและขะมักเขม้นกันอย่างเต็มที่ ทุกคนมีความพึงพอใจในสถานะของกลุ่มที่สามารถสร้างรายได้หลักให้กับสมาชิกไม่ใช่เป็นเพียงรายได้เสริมเหมือนในอดีต ภายใต้การบริหารงานในระบบคณะกรรมการที่มี คุณทวีศิลป์ อธิวันดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านห้วยตุ้มทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม



กว่าจะมาเป็นกลุ่มกระบือพื้นเมือง

กลุ่มอนุรักษ์กระบือพื้นเมืองตำบลหัวง้ม เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2544 จากการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้าน นำโดยคุณทวีศิลป์ สาเหตุเพราะความที่หมู่บ้านแห่งนี้เคยมีกระบือจำนวนมาก แต่ช่วงราว 10-20 ปีก่อน กระบือก็เริ่มลดความสำคัญลงไปตามยุคสมัย ด้วยเหตุนี้คุณทวีศิลป์จึงร่วมกับชาวบ้านหาอนุรักษ์กระบือเอาไว้และฟื้นฟูสายพันธุ์ให้ดีดังเดิม เพราะนอกจากเรื่องจำนวนที่ลดลงแล้วกลับปรากฏว่าสายพันธุ์กระบือไทยในรุ่นหลังๆ มีลักษณะไม่สวยงามและดูแคระแกร็นผิดปกติ อันเป็นผลมาจากการไม่ควบคุมการผสมในพ่อและแม่พันธุ์ที่ใกล้ชิดกันมากเกินไป นอกจากนี้ พวกเขายังคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะให้กระบือที่ฟื้นฟูแล้วสร้างมูลค่าเพิ่มให้กลุ่มนอกเหนือจากการอนุรักษ์เอาไว้คู่หมู่บ้านอย่างเดียว

ดังนั้น ในวันที่ 16 มกราคม 2545 คุณทวีศิลป์พร้อมชาวบ้านที่ได้ประชุมหารือกันเป็นอย่างดีในการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์กระบือ จำนวน 14 คน จึงเดินทางไปสถานีทดลองและกระจายพันธุ์สัตว์จังหวัดพะเยา เพื่อขอสนับสนุน "โครงการกระจายพันธุ์กระบือพื้นเมืองไทยในระดับเกษตรกรรายย่อย" แก่สมาชิกทั้ง 14 คน โดยเป็นลักษณะให้ยืมแม่พันธุ์ที่กำลังตั้งท้อง รายละ 2 ตัว รวมทั้งหมด 28 ตัว และให้พ่อพันธุ์สำหรับกลุ่มทั้งหมดอีก 1 ตัว ช่วงนั้นถือว่าประสบความสำเร็จกันถ้วนหน้า เพราะแม่พันธุ์ได้ให้ลูกกระบือกันครบทุกตัว

วันที่ 20 พฤษภาคม 2545 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย สนับสนุนโครงการ "ธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ" แก่สมาชิกเพิ่มเติม กระทั่งล่วงพ้นถึงวันที่ 12 มกราคม 2546 กลุ่มเห็นว่ามีกระบืออยู่มากและเริ่มต้องใช้การบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกที่เสียสละร่วมกันมานานแรมปี โดยจัดให้มีการระดมหุ้นประจำปีในหมู่สมาชิก หุ้นละ 100 บาท อย่างน้อยคนละ 3 หุ้น เพื่อนำเงินไปทำกิจกรรมที่สร้างมูลค่า เช่น ซื้อลูกกระบือมาขุน ซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น โดยเริ่มต้นได้ซื้อลูกกระบือหย่านม (พ้น 1 ปี) จำนวน 20 ตัว จากสถานีทดลองและกระจายพันธุ์สัตว์จังหวัดพะเยา เพื่อเพิ่มจำนวนกระบือและคัดเลือกเป็นพ่อพันธุ์ประจำกลุ่มต่อไป

วันที่ 6 มกราคม 2546 ได้รับการสนับสนุนแม่กระบือ "โครงการกระจายพันธุ์กระบือพื้นเมืองไทยฯ" จากสถานีทดลองและกระจายพันธุ์สัตว์จังหวัดพะเยา จำนวน 12 ตัว แก่เกษตรกรในกลุ่ม 6 ราย เมื่อมีกระบือในกลุ่มมากขึ้นและเริ่มมีกิจกรรมอันหลากหลาย เช่น การแบ่งกลุ่มกันเลี้ยงในแต่ละวัน จัดเก็บมูลเพื่อทำปุ๋ย จำหน่ายลูกกระบือ ฯลฯ จึงทำให้กลุ่มตัดสินใจจัดตั้งเป็นกลุ่ม "เกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ตำบลหัวง้ม" เป็นครั้งแรกในวันที่ 21 ตุลาคม 2546 โดยจดทะเบียนกับนายทะเบียนจังหวัดอย่างเป็นทางการ แต่ชื่อภายนอกที่ใช้กันอยู่คือ "กลุ่มอนุรักษ์กระบือพันธุ์พื้นเมืองตำบลหัวง้ม" เพื่อให้ตรงกับสายพันธุ์สัตว์ที่เลี้ยง แต่การจดทะเบียนก็เพื่อให้ตรงตามหลักเกณฑ์และเผื่อสำหรับการขยายกิจกรรมในอนาคต ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากลุ่มก็ประกอบกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเรื่อยมา

จนถึงปัจจุบัน มีกระบืออยู่ในกลุ่ม 196 ตัว จากสมาชิกจำนวน 21 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนของกระบือจะขึ้นๆ ลงๆ อยู่ราว 200 ตัว เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกระบือในฝูงทุกตัวเป็นพันธุ์พื้นเมืองหรือ "ควายไทย" พันธุ์แท้ ที่มีรูปทรงสมดุล สวยงาม เขายาว หัวและลำตัวมีขนาดสมดุล รูปร่างแข็งแรง ฯลฯ เพราะภายหลังจากรับกระบือมาตั้งแต่เริ่มต้น กลุ่มได้คัดแยกไม่ให้ออกไปปะปนเพื่อผสมพันธุ์กับกระบือภายนอกฝูง และป้องกันไม่ให้มีการผสมพันธุ์กันเองระหว่างกระบือแม่พันธุ์กับกระบือลูกที่โตเป็นหนุ่ม เพราะจะทำให้กลายพันธุ์หรือแคระแกร็นได้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จึงได้เข้าไปตรวจเจาะเลือดเพื่อตรวจโรคและพิสูจน์สายพันธุ์เป็นประจำด้วย



กิจกรรมประจำวัน

การทำงานของกลุ่มอนุรักษ์กระบือพันธุ์พื้นเมืองตำบลหัวง้ม พบว่าค่อนข้างโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสถานีทดลองและกระจายพันธุ์สัตว์จังหวัดพะเยา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หัวง้ม ฯลฯ ดังนั้น สมาชิกภายในกลุ่มจึงมีขวัญและกำลังใจการก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ต้น และทุกวันนี้กลุ่มได้แยกกันทำงานภายในสมาชิกทั้ง 21 คน โดยแบ่งกันคอยดูแลกระบือทั้งฝูงเป็นหมวด หมวดละ 4 คน รวมเป็น 5 หมวด หมวดหนึ่งรับผิดชอบเลี้ยงดูกระบือ 1 วัน

แต่ละวันสมาชิกในหมวดที่รับผิดชอบวันนั้นๆ จะสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงกระบือ จากนั้นทุกเช้า เวลา 08.00 น.ทั้ง 4 คน จะช่วยกันต้อนกระบือทั้งฝูงจากจุดเลี้ยงใหญ่กลางหมู่บ้านและคอกเล็กอีก 5 คอก ไปยังแหล่งอาหารของกระบือตามธรรมชาติดังกล่าว และเลี้ยงดูไม่ให้ไปทำลายพืชผลทางการเกษตร ดูอาการว่าเจ็บป่วยหรือไม่อย่างไรและบันทึกเป็นรายงานเพื่อการพัฒนาและแก้ไขต่อไป กระทั่งตกเย็นก็จะต้อนฝูงกระบือกลับสู่คอกตามเดิม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันหมวดละ 1 วัน เพื่อให้วันที่เหลือสมาชิกจะได้แยกย้ายกันไปทำงานส่วนตัว เพียงแต่ว่าหมวดที่ได้เลี้ยงกระบือในวันนั้นๆ แล้ว เมื่อต้อนฝูงกระบือเข้าคอกเสร็จก็จะทำหน้าที่เก็บเอามูลกระบือที่อยู่ในคอกในช่วงเช้าของวันถัดไป หลังจากหมวดใหม่ได้ต้อนฝูงกระบือไปเลี้ยงหมดแล้ว เพื่อทำความสะอาดและรวบรวมมูลกระบือสำหรับใช้ทำปุ๋ยหมักต่อไป โดยใช้วิธีการนำมูลไปตากแห้งและผสมกับฟางข้าวซึ่งมีอยู่มากในหมู่บ้าน

กระนั้นแม้กระบือจะไม่มีปัญหาเรื่องการให้อาหารหยาบ แต่ทางกลุ่มก็ไม่ได้มองข้าม โดยจะมีการเลี้ยงกระบือด้วยการต้อนลงสู่แหล่งอาหารธรรมชาติ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายนของทุกปี และนำมาเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงใหญ่ในเดือนธันวาคม-มิถุนายนของทุกปี รวม 7 เดือน เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยว โดยจัดให้มีสมาชิกหมุนเวียนกันดูแลตามหมวดและเลือกเฟ้นชัยภูมิที่เหมาะสม 2 แห่งใหญ่ๆ ที่ห่างจากแหล่งเก็บเกี่ยว รวมทั้งเตรียมสำรองฟางข้าวยามฉุกเฉิน เพราะช่วงเก็บเกี่ยวจะได้ฟางข้าวจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มสามารถจัดเก็บฟางได้ปีละกว่า 9,000 มัด หรือ 27,000 กิโลกรัม ที่เหลือใช้ทำปุ๋ยหมัก ขณะเดียวกันยังมีแผนสำรองด้วยการจัดทำแปลงนาหญ้าแพงโกล่าเพื่อป้องกันหากเกิดภาวะภัยแล้งอีก 5 ไร่ 3 งาน ด้วย



ทำปุ๋ยหมักราคาดี

สำหรับมูลกระบือที่ได้สมาชิกในหมวดวันที่เคยเลี้ยงเมื่อวันก่อนจะเก็บเอาไว้เป็นประจำทุกเช้าก่อนแยกย้ายไปทำงานส่วนตัว โดยการเก็บมูลจะนำไปไว้ที่ลานตากมูลกระบือ ซึ่งเป็นสถานที่สาธารณะและปัจจุบันได้มีการก่อสร้างเป็นลานคอนกรีตกว้าง บ่อหมักปุ๋ยจำนวน 4 บ่อ สถานที่เก็บมูลตากแห้งแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะทาง อบต. หัวง้ม ที่สนับสนุนงบประมาณสร้างเมื่อปี 2545 เป็นเงิน 359,000 บาท สำหรับมูลกระบือที่เก็บได้จะได้วันละหลายตัน แต่เมื่อนำไปตากแดดจนแห้งก็จะได้เฉลี่ยวันละ 300-400 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเหลือเฟือ

วิธีการทำปุ๋ยหมักก็ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยการหมักรวมกับฟางข้าวในแต่ละรุ่น รุ่นหนึ่งนาน 3 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยหมักประมาณ 6 ตัน ซึ่งกลุ่มจะนำออกมาแบ่งปันกันในหมู่สมาชิก บริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ ที่เหลือก็จะนำออกมาจำหน่ายให้กับเกษตรกรทั่วไป ในกิโลกรัมละ 3 บาท ที่ผ่านมาการจำหน่ายปุ๋ยหมักจึงเป็นหนึ่งในรายได้หลักของกลุ่มเลยทีเดียว เพราะปัจจุบันสภาพที่ดินเพื่อการเกษตรหลายแห่งเริ่มประสบปัญหาภาวะดินเสื่อมสภาพอันเกิดจากการใช้สารเคมีติดต่อกันมานานหลายปี ปุ๋ยหมักผสมมูลกระบือจึงเป็นปุ๋ยชั้นดีที่สามารถฟื้นฟูสภาพดินได้



จำหน่ายลูกกระบือขุน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กลุ่มอนุรักษ์กระบือพันธุ์พื้นเมืองตำบลหัวง้ม ที่บ้านห้วยตุ้ม จะไม่ยอมให้มีกระบือพันธุ์แปลกปลอมเข้าไปทำลายสายพันธุ์พื้นเมืองที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อกระบือให้กำเนิดลูกตัวผู้ก็จะเลี้ยงดูต่อไปจนหย่านม โดยใช้ระยะเวลา 1 ปี เมื่อลูกกระบือโตขึ้น 2-3 ปี จนสามารถผสมพันธุ์ได้ ก็จะคัดแยกออกไปเพื่อจำหน่ายในราคาตัวละ 10,000 กว่าบาทขึ้นไป แล้วแต่ขนาดและอายุ เพราะกลุ่มต้องการให้มีพ่อพันธุ์สายพันธุ์แท้เพียงแค่ตัวเดียว ซึ่งปัจจุบันมีเจ้า "หนุน" เป็นพ่อพันธุ์ประจำฝูงเพียงตัวเดียว น้ำหนัก 500-600 กิโลกรัม โดยยังคงเป็นพ่อพันธุ์จากสถานีทดลองและกระจายพันธุ์สัตว์ที่ให้มาตั้งแต่ต้น และปัจจุบันเจ้าหนุนให้ผลผลิตลูกกระบือพันธุ์ดีหลายตัวแล้วและเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มอยู่ระหว่างพัฒนาให้เป็นพ่อพันธุ์ทดแทน โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะคืนพ่อพันธุ์และได้ลูกขุนที่สามารถพัฒนาให้มีน้ำหนัก 500 กิโลกรัมขึ้นสำหรับการเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีต่อไป

ทั้งนี้ ผลผลิตจากการเพาะพันธุ์กระบือครั้งนี้ได้ทำให้เกิดกระบือเพศเมียที่ได้รับรางวัลจากการประกวดกระบือในพิธี "ร้องขวัญควาย" ประจำปี 2549 ของตำบลหัวง้มเมื่อเร็วๆ นี้ จำนวน 3 ตัว

ได้แก่ กระบือชื่อ "ดาวเรือง" อายุ 3 ปี น้ำหนัก 387 กิโลกรัม เป็นของคุณอนันต์ จุมปาคำ

ตัวที่สองชื่อ "ไหมทอง" อายุ 3 ปี น้ำหนัก 365 กิโลกรัม เป็นของคุณสนั่น อธิวันดี

และตัวที่สามชื่อ "แหม่ม" อายุ 3 ปี น้ำหนัก 342 กิโลกรัม เป็นของคุณอุดม ถาติ๊บ

ซึ่งแต่ละตัวล้วนเป็นแม่พันธุ์ที่ดีที่สามารถให้ลูกกระบือสำหรับจำหน่ายได้ในราคาดี โดยปัจจุบันมีแม่พันธุ์รวมกันประมาณ 160 ตัว ซึ่งกลุ่มตั้งเป้าว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการคัดเลือกพ่อพันธุ์ให้ดีที่สุดก่อนจึงจะคืนพ่อพันธุ์ให้กับสถานีทดลองและกระจายพันธุ์สัตว์เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์หรือแคระแกร็น

นอกเหนือไปจากการหาลูกกระบือขุนเพื่อจำหน่ายจากภายในฝูงเพียงอย่างเดียว กลุ่มได้มีการระดมหุ้นกันเป็นประจำทุกปี หุ้นละ 100 บาท ไม่ต่ำกว่า 3 หุ้น ต่อสมาชิก 1 คน โดยส่วนหนึ่งนำไปซื้อลูกกระบือหย่านม ตัวละประมาณ 8,000 บาท เพื่อนำไปเลี้ยงจนโต เมื่อได้ขนาดจะสามารถผสมพันธุ์ได้ ก็คัดแยกออกจำหน่ายตัวละ 10,000 บาท ขึ้นไป หรือบางครั้งก็ซื้อกระบือเพศเมียพันธุ์แท้ที่ผสมกับพ่อพันธุ์แท้เช่นกันไปรับเลี้ยงเพื่อให้ได้ลูกกระบือออกมาจำหน่ายหรือเพิ่มจำนวนแม่พันธุ์ในฝูงต่อไป



ควายเงินเดือน

สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กลุ่มอนุรักษ์กระบือพันธุ์พื้นเมืองตำบลหัวง้มอย่างมาก ในปัจจุบันคงจะหนีไม่พ้นการดำเนินโครงการ "ควายเงินเดือน" ซึ่งหมายถึงการที่กระบือมีเงินเดือนจากการทำงานให้กับผู้ที่สนใจนอกกลุ่ม จนสร้างรายได้ให้กลุ่มโดยที่แทบจะไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย ซึ่งรายได้ดังกล่าวมาจากการที่กลุ่มนำกระบือยกฝูง ประมาณ 200 ตัว ไปมัดรวมกันอยู่ภายในที่นาของเกษตรกรที่สนใจ จะได้ปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีจากมูลกระบือ และการเหยียบย่ำจนดินย่ำจากกีบเท้ากระบือตามธรรมชาติ ภายใน 1 คืน กระบือทั้งฝูงจะทำให้ดินยุ่ยและมีมูลเต็มท้องนา เมื่อเสร็จภารกิจในช่วงเช้าก็จะรับค่าจ้างกระบือตัวละ 1 บาท รวมเป็นเงินคืนละประมาณ 200 บาท ซึ่งพบว่าในปัจจุบันเกษตรกรหลายรายให้ความนิยมอย่างมาก เพราะได้ผลดีถึงขั้นต้องจองคิวกัน

คุณทวีศิลป์ อธิวันดี ประธานกลุ่มกล่าวว่าแนวคิดแรกเริ่มคือเมื่อเราได้รายได้จากการทำปุ๋ยหมักและการจำหน่ายลูกกระบือขุน เราควรจะทำอย่างไรให้มีการใช้ต้นทุนต่ำสุดและมีรายได้ร่วมกัน เพราะอย่างอื่นใช้ต้นทุนแม้จะไม่มากแต่ก็ถือว่าได้ใช้ ดังนั้น จึงได้ทดลองกับที่นาของตัวเองก่อน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 ด้วยการมัดกระบือในตอนกลางคืน ปรากฏว่าพอรุ่งเช้าก็ได้ผล จึงติดต่อเกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจ ปรากฏว่าได้ผลถ้วนหน้า

"เราจะทำควายเงินเดือนกันเฉพาะช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปีเท่านั้น เพราะช่วงที่เหลือเป็นช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวและมีการเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว นาข้าวก็ว่างเปล่าไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อะไร จึงเหมาะกับการนำไปผูกกันให้เต็มท้องนา ซึ่งที่ชนบทต่างมีนาข้าวรายละไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ ทั้งนั้น เรานำไปมัดเอาไว้ทั้ง 200 ตัว ต่อ 1 ไร่ พออีกวันก็ย้ายไปเรื่อยๆ จนครบ 10 ไร่ ได้รายได้ดีพอสมควร แต่เมื่อมากๆ กันไปเราจึงขอหยุดเพราะต้องนำไปเลี้ยงในคอกที่เตรียมไว้เพื่อเก็บมูลไปทำปุ๋ย ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีมูลไปทำปุ๋ยแน่ จึงต้องมีการจองกันข้ามปีเลยทีเดียว" คุณทวีศิลป์ กล่าว



ฐานะการเงินและความสำเร็จ

ในปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์กระบือพื้นเมืองตำบลหัวง้ม ถือว่ามีความเข้มแข็งและจากรายได้ที่เข้ามาจากการทำกิจกรรมของกลุ่มได้ทำให้มียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีที่ฝากกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละประมาณ 100,000 บาท ซึ่งทางกลุ่มระบุอย่างชัดเจนว่าหากมีเม็ดเงินหมุนเวียนในมูลค่านี้ถือว่าสามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง และทุกคนมีรายได้ รวมทั้งมีกำลังใจในการทำงานที่ดี หลังจากก่อนหน้านี้กลุ่มค่อยๆ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ไม่มีอะไรเลยและไปขอยืมกระบือมาเลี้ยง กระทั่งเพิ่มปริมาณและระดมหุ้น จน ปี 2547 ก็เริ่มมีเม็ดเงินหมุนเวียน 89,000 บาท และต่อมาในปี 2548 ที่ผ่านมามีรายรับกว่า 154,100 บาท และรายจ่าย 38,200 บาท

โดยรายรับส่วนใหญ่ได้จากการจำหน่ายวัวขุน ส่วนรายจ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับการเริ่มต้นในช่วงแรกๆ เช่น ซื้อเครื่องเย็บกระสอบ 1 เครื่อง สำหรับเย็บกระสอบบรรจุปุ๋ยหมัก มูลค่า 16,500 บาท ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีกลุ่มจะมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากรายได้ต่างๆ เป็นลักษณะแบ่งตามหุ้นที่ระดมตอนแรก โดยจะนำกำลังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในอัตรา 60:40 โดยส่วน 60% จะนำเข้ากลุ่มเพื่อทำกิจกรรมสร้างรายได้หมุนเวียน ส่วนอีก 40% แบ่งตามสัดส่วน นอกจากนี้ ส่วน 60% รวมกับเงินอื่นๆ ที่หมุนเวียนอยู่แล้ว จะจัดสรรสำหรับให้เงินกู้กับสมาชิกกลุ่มโดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ด้วย

กลุ่มอนุรักษ์กระบือพันธุ์พื้นเมืองตำบลหัวง้ม จึงถือเป็นตัวอย่างของความอุตสาหะและความสำนึกในแผ่นดินเกิดอย่างแท้จริง โดยการอาศัยสิ่งที่มีและดีอยู่แล้วในพื้นที่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีอนาคตที่สดใส ไม่ดูถูกภูมิปัญญาของตัวเอง ควรค่าแก่การเดินทางไปศึกษาดูงานของกลุ่มต่างๆ ที่ให้ความสนใจอย่างยิ่ง

เพราะมีรางวัลที่การันตีในความสำเร็จของกลุ่มมาโดยตลอด ได้แก่ รางวัลกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ระดับภาคเหนือในปี 2547 และในปีเดียวกันก็เข้าไปรับรางวัลกลุ่มเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติในระดับชาติด้วย ก่อนที่จะได้รับรางวัลอีกครั้งในปี 2549 นี้



*ห้วยตุ้ม ชัยภูมิเหมาะกับการเลี้ยงสัตว์*

หมู่บ้าน "ห้วยตุ้ม" มีบ้านเรือนราษฎร จำนวน 149 หลังคาเรือน ประชากร จำนวน 516 คน แยกเป็นสองโซนหรือชาวเหนือเรียก "ป๊อก" ป๊อกแรกคือ ห้วยตุ้ม และอีกป๊อกคือ ดงมะคอแลน ปัจจุบันโซนทางห้วยตุ้มจะเลี้ยงกระบือกันมาก ส่วนด้านดงมะคอแลนจะเลี้ยงโคและปลูกพริก ส่วนอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านคือ ทำนาข้าว ปลูกลำไย

บรรพบุรุษของชาวหมู่บ้านห้วยตุ้ม อพยพมาจากพื้นที่ที่ไม่ห่างไกลมากนัก หรืออยู่ในเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย นั่นเอง โดยการนำของ "พ่อเมืองใจ๋" และ "แม่คำอิ่น" ปู่ย่าของคุณทวีศิลป์ อธิวันดี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กระบือพื้นเมืองตำบลหัวง้มนั่นเอง โดยเมื่อครั้นพ่อเมืองใจ๋อายุได้ราว 16-17 ปี ได้ตามครอบครัวไปเลือกเฟ้นชัยภูมิหลายจุด กระทั่งพบว่าที่ห้วยตุ้มเหมาะสมมากที่สุด เพราะคนยุคเกือบ 100 ปีก่อนยังยังชีพอยู่ด้วยการทำไร่ทำนาและเลี้ยงโค-กระบือ เป็นหลัก

สาเหตุที่บรรพบุรุษของชาวห้วยตุ้มเลือกชัยภูมิในการตั้งรกราก เพราะหมู่บ้านล้อมรอบด้วยพื้นที่ราบเหมาะกับการเพาะปลูกพืชทุกชนิด ส่วนทิศตะวันตกมีลำธารและหนองน้ำใหญ่ เรียกว่า "หนองฮ่าง" เนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ และมีพื้นที่ราบที่มีอาหารหยาบตามธรรมชาติอยู่กว่า 300 ไร่ นอกจากนี้ ทางทิศตะวันออกเลยที่ราบออกไปยังเป็นภูเขาลูกเตี้ยๆ และป่าละเมาะกว้างใหญ่ไพศาล

ดังนั้น ในฤดูแล้งไม่มีการทำไร่ไถนา ชาวบ้านก็จะนำกระบือออกไปเลี้ยง โดยมีแหล่งอาหารของกระบืออยู่ทั่วทุกหนแห่งรอบหมู่บ้าน และเมื่อถึงฤดูทำนาท้องนาจะเขียวขจีไปด้วยต้นข้าว ชาวบ้านก็จะนำกระบือเลี่ยงไปเลี้ยงที่ป่าละเมาะกว้างใหญ่ที่อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกแทน เพื่อไม่ให้ไปกัดกินต้นข้าว จึงถือได้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้เหมาะสมกับการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์อย่างแท้จริง

คุณทวีศิลป์ อธิวันดี ผู้ใหญ่บ้านและประธานกลุ่มอนุรักษ์กระบือพื้นเมืองตำบลหัวง้ม กล่าวว่าในอดีตเมื่อราว 20 ปีก่อนหมู่บ้านห้วยตุ้มก็เหมือนกับหมู่บ้านอื่นๆ คือชาวบ้านเลี้ยงโค-กระบือ กันเป็นจำนวนมาก และด้วยการเลือกชัยภูมิที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงสัตว์ของบรรพบุรุษจึงทำให้แต่ละครอบครัวมีกระบือเลี้ยงครอบครัวละอย่างน้อย 3 ตัว บ้านแต่ละหลังมีกระบือและเกวียนพร้อมสรรพ

ต่อมาความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเข้าไปถึงพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ปริมาณของโค-กระบือ ลดลง ในที่สุดก็เหลือเพียงแค่กระบือ ท้ายที่สุดคนในหมู่บ้านก็เริ่มขายกระบือออกไปและหันไปซื้อรถไถนาเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแทน เพราะเห็นว่าสามารถไถนาได้เร็ว แต่คนในหมู่บ้านก็ผูกพันกับกระบือมาก ไม่อยากขายทีเดียวจนหมด บางคนจึงร่วมมือกันนำกระบือไปขายให้โรงฆ่าสัตว์รวมกันคนละตัว ตัวละ 5,000-6,000 บาท รวมกัน 2-3 คน ก็ได้เงินมากพอที่จะไปซื้อรถไถมาใช้ร่วมกัน 1 คัน

"เรียกได้ว่าตอนเมื่อราว 20 ปีก่อนนิยมขายควายซื้อรถไถกันมาก จนกระทั่งปี 2522 ควายก็เริ่มหายไปจากหมู่บ้าน และปี 2544 ก็เข้าขั้นวิกฤติ เพราะแทบจะไม่เหลือควายในหมู่บ้านเลย และอาชีพของผู้คนก็เปลี่ยนไป แต่เราก็ยังผูกพันกับควายเพราะคนในหมู่บ้านมีอยู่สองคนคือ คุณสนั่น อธิวันดี และคุณอุดม ถาติ๊บ หันไปประกอบอาชีพค้าขายควายจนได้กำไรดี แต่เนื่องจากจำนวนได้ลดลงเรื่อยๆ ผู้คนก็ไม่ค่อยอนุรักษ์กันในช่วงนั้น เราจึงมาปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรดี" คุณทวีศิลป์ เล่าถึงความหลัง

คุณทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อจำนวนกระบือลดลงเรื่อยๆ ประกอบกับเกิดการกลายพันธุ์จากเดิมเคยตัวใหญ่ ลำตัวสวยงามตามรูปแบบกระบือพื้นเมืองของไทยก็แคระแกร็นไม่ได้รูปทรง พวกตนจึงไปปรึกษากับสถานีทดลองและกระจายพันธุ์สัตว์จังหวัดพะเยา และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เสนอให้ชาวบ้านนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปเลี้ยง ซึ่งพวกเราก็กลับไปคิดกันที่หมู่บ้านหลายรอบว่าจะทำอย่างไร จึงจะบริหารจัดการให้เกิดกระบือพันธุ์ไทยแท้เต็มหมู่บ้านเหมือนเดิม

ในที่สุดก็ไปหาคนที่มีแนวความคิดเดียวกันในหมู่บ้านมาได้ 14 คน โดยมีการคัดสรรกันหลายรอบเพราะเราต้องการคนที่ให้ความสนใจในการเลี้ยงกระบือและต้องการสร้างกลุ่มกระบือให้มีศักยภาพในการยังชีพได้จริงๆ ไม่ใช่เลี้ยงไปเรื่อยๆ เหมือนในอดีต และใหม่ๆ ก็ต้องยอมเสียสละ รวมทั้งสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ จากนั้นทางสถานีก็ให้กลุ่มยืมแม่พันธุ์พื้นเมืองท้องแก่ให้คนในกลุ่มไปเลี้ยงคนละ 2 ตัว ภายใต้ข้อตกลงที่ว่า เมื่อได้ลูกตัวที่ 2 ก็จะโอนลูกกระบือให้เกษตรกร แต่แม่พันธุ์ให้คืนสถานี แต่หากได้ลูกตัวที่ 3 แล้วก็จะโอนลูกตัวที่ 3 พร้อมพันธุ์ให้เกษตรกรเลย ส่วนสถานีขอลูกตัวที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ซึ่งช่วงนั้นถือว่าประสบความสำเร็จกันมาก ทุกคนต่างมีกระบือกันถ้วนหน้า และอนุรักษ์สายพันธุ์ด้วยการป้องกันไม่ให้ลูกกระบือตัวผู้ไปผสมพันธุ์กับแม่ของมันเอง จนมีฝูงกระบือพันธุ์พื้นเมืองมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านหลายร้อยตัวในปัจจุบัน

การรวมกลุ่มของชาวบ้านห้วยตุ้มเป็นกลุ่มอนุรักษ์กระบือพันธุ์พื้นเมืองตำบลหัวง้ม จะประสบความสำเร็จไม่ได้หากไม่มีหน่วยงานองค์กรต่างๆ คอยให้การสนับสนุนและค้ำประกันความมีอยู่จริงของกลุ่มตั้งแต่เมื่อครั้งจัดตั้งกลุ่ม ซึ่งเป็นที่โชคดีที่อยู่ในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หัวง้ม ที่มีคุณวินัย เครื่องไชย เป็นนายก อบต. หัวง้ม เพราะเป็นคนในพื้นที่โดยกำเนิด ดังนั้น เมื่อได้เห็นความตั้งใจของชาวบ้านในการรวมกลุ่มจึงพยายามให้การสนับสนุนในฐานะท้องถิ่นอย่างเต็มที่

คุณวินัยกล่าวว่า อบต. เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่เกิดสถานการณ์กระบือเริ่มสูญหายไป จึงได้ลงนามรับรองให้กลุ่มชาวบ้านเมื่อครั้งที่พวกเขาไปขอพ่อและแม่พันธุ์ที่สถานีทดลองและกระจายพันธุ์สัตว์ จังหวัดพะเยา จากนั้นได้จัดหาพ่อและแม่พันธุ์ไปให้บ้าง และที่สำคัญเราได้จัดงานประเพณี "สู่ขวัญควาย" ในวันที่ 9 เมษายนของทุกปี นอกจากนี้ ยังได้จัดสรรงบประมาณในการไปศึกษาดูงาน การประกวดหรือร่วมงานต่างๆ ทั่วประเทศ

คุณวินัยกล่าวอีกว่า ปัจจุบันถือว่ากลุ่มอนุรักษ์กระบือบ้านห้วยตุ้มมีความเข้มแข็งแล้ว ดังนั้น อบต.จึงจะใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการพัฒนากลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไป โดยเฉพาะที่หมู่บ้านดงเจริญ หมู่ 9 ตำบลหัวง้ม พบว่ามีสภาพใกล้เคียงกันคือชาวบ้านเลี้ยงกระบือไว้เป็นจำนวนมากราว 50-60 ตัว แต่ยังไม่มีการพัฒนาเหมือนที่ห้วยตุ้ม และสายพันธุ์กระบือก็ยังไม่ได้มาตรฐานพันธุ์พื้นเมืองทั้งหมด ดังนั้นคงต้องส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งในอนาคต เพราะเรามีตัวอย่างอยู่ใกล้

เคล็ดลับในการเลี้ยงกระบือของกลุ่มอนุรักษ์กระบือพื้นเมืองตำบลหัวง้ม นับว่าน่าสนใจไม่น้อยเพราะนอกจากการทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอย่างเข้มงวด โดยแบ่งกันรับผิดชอบเรื่องสุขภาพกระบือ โดยมีการร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์ในการฉีดป้องกันโรคระบาด เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซพติซีเซีย สุ่มเจาะเลือด ตรวจโรคแท้งติดต่อ ฯลฯ แล้ว ยังพบว่าได้อาศัยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษดูแลสุขภาพให้กระบือด้วย

โดยมีการใช้สมุนไพรท้องถิ่นนับสิบขนานซึ่งล้วนหลากหลายและบางชนิดไม่มีชื่อเรียกในภาษากลาง เช่น น้ำคั้นผลมะเกลือดิบเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย เถ้าเปลือกหอยโข่งหรือน้ำซาวข้าวใช้รักษาตาอักเสบ หญ้าปกต๋อใช้รักษาโรคผิวหนัง น้ำหมักจากจุ้มจะลิงใช้เป็นยาบำรุงและเจริญอาหาร น้ำคั้นหญ้าพญายอใช้แก้พิษงู หญ้านอนต๋ายใช้ใส่แผล ผลมะแขว่นใช้รักษาท้องอืด น้ำแช่หัวกระนั่งใช้รักษาแผลจากโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นต้น



Create Date : 20 กรกฎาคม 2549
Last Update : 20 กรกฎาคม 2549 8:24:58 น. 0 comments
Counter : 1190 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com