แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
ไร่ช้างขาว ปลูกพริก 200 ไร่ เน้นการผลิตพริกนอกฤดูกาลทั้งหมด

ไร่ช้างขาว ปลูกพริก 200 ไร่ เน้นการผลิตพริกนอกฤดูกาลทั้งหมด

ในวงการปลูกพริกบ้านเรา ต่างก็ทราบดีว่าการปลูกพริกเพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคมนั้นเป็นเรื่องที่ปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จได้ยากมาก เนื่องจากเป็นการผลิตพริกให้ออกนอกฤดูกาล ต้นพริกจะต้องผ่านช่วงฤดูฝนจะพบปัญหาเรื่องโรคแอนแทรกโนส เป็นโรคที่สำคัญของพริก ยังเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมขังทำให้ต้นพริกตายและปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ในขณะเดียวกันถ้าเกษตรกรมีความรู้และความเข้าใจผลิตพริกให้ออกนอกฤดูกาลได้ นั่นหมายความว่าจะขายผลผลิตได้ราคาดีกว่าพริกที่ออกในฤดูกาลอย่างแน่นอน

คุณธนวัฒน์ อัมรามร ผู้จัดการไร่ช้างขาว บ้านเลขที่ 354 หมู่ 2 บ้านกองลม ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ 50350 โทร. (053) 477-341 ปลูกพริกในพื้นที่ 200 ไร่ ที่สภาพพื้นที่ปลูกอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 800 เมตร มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 22 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปี คุณธนวัฒน์มีประสบการณ์ในการปลูกพริกมานานประมาณ 8 ปี ผลิตพริกหลากหลายชนิด เช่น พริกแดง พริกเหลือง และพริกเขียว ส่งขายทั้งตลาดในและนอกประเทศ และจะเน้นการผลิตนอกฤดูกาลเพียงอย่างเดียว ในขณะนี้ผลผลิตพริกจากไร่ช้างขาวได้มีการส่งไปขายยังตลาดยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีความเข้มงวดในการตรวจสอบสารเคมีตกค้างมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่คุณธนวัฒน์สามารถผลิตพริกได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Eurepgap" ซึ่งมีความเข้มงวดกว่า GAP (เกษตรดีที่หมาะสม) ด้วยซ้ำไป



ปริมาณการบริโภคและปริมาณ

การผลิตพริกผลสดภายในประเทศ

จากการสำรวจพบว่า คนไทยมีการบริโภคพริกเฉลี่ย 5 กรัม ต่อคน ต่อวัน (สรจักร, 2539) ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรประมาณ 60 ล้านคน เมื่อคิดเป็นตัวเลขน้ำหนักของการบริโภคพริกมีจำนวนมากถึง 300 ตัน หรือ 3 แสนกิโลกรัม ต่อปี ในบรรดาพริกที่คนไทยมีการบริโภคสดมากที่สุดคือ กลุ่มพริกขี้หนู และพริกชี้ฟ้า ซึ่งนำมาประกอบอาหารประเภทแกง ต้มยำและอื่นๆ อีกมากมาย ในขณะที่พริกหวาน พริกญี่ปุ่นหรือพริกอื่นๆ มีการบริโภคน้อยกว่า

คุณธนวัฒน์ยังได้บอกถึงพฤติกรรมการปลูกพริกของเกษตรกรไทยมักจะชอบปลูกพริกในช่วงปลายฤดูฝนต้นหนาว เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่า เกษตรกรจะใช้พื้นที่หลังการทำนาเพื่อการปลูกพริกจากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า ผลผลิตพริกในฤดูกาลจะออกมาสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ทำให้ผลผลิตเกินความต้องการของตลาด และนี่เป็นเหตุผลหลักที่ไร่ช้างขาวจะเน้นการผลิตพริกออกนอกฤดูกาลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน-ธันวาคม แต่คุณธนวัฒน์ได้บอกถึงปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการผลิตพริกให้ออกนอกฤดูกาลให้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ การใช้พื้นที่นามาปลูกพริกจะประสบปัญหาเรื่องการระบายน้ำที่ไม่ดีพอ หลังจากปลูกไปแล้วไม่ทันเก็บเกี่ยวผลผลิตต้นจะตายก่อน ต้นพริกที่ผ่านช่วงฤดูฝนมีโอกาสเป็นโรคแอนแทรกโนสได้ง่ายมาก หรือแม้แต่โรคพริกอื่นๆ เนื่องจากความชื้นในฤดูฝนเป็นหลัก ดังนั้น การปลูกพริกในเชิงพาณิชย์ช่วงฤดูฝนจึงมีความเสี่ยงมากกว่าฤดูอื่น คุณธนวัฒน์จึงได้ย้ำว่าการผลิตพริกนอกฤดูกาล ถ้าเกษตรกรรายใดทำได้หรือกล้าที่จะเสี่ยงย่อมจะได้เงินสูงกว่าการผลิตพริกในฤดูกาลอย่างแน่นอน



ปัจจัยสำคัญ

ก่อนตัดสินใจลงทุนปลูกพริก

คุณธนวัฒน์ได้ฝากข้อคิดที่สำคัญก่อนที่จะลงทุนปลูกพริก อาทิ วางแผนช่วงเวลาที่จะผลิตพริกให้ผลผลิตออกมาตามความต้องการของตลาด ซึ่งถือเป็นหัวใจที่มีความสำคัญหรืออาจจะกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า ใช้หลักการ "การตลาดนำหน้าการผลิต" ประการต่อมาเกษตรกรจะต้องคัดเลือกพันธุ์พริกที่จะปลูกตามที่ตลาดต้องการ การคัดเลือกพื้นที่ปลูก คุณธนวัฒน์บอกว่าถ้าเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมหรือทำเลที่ดีโอกาสประสบความสำเร็จมีไปแล้วครึ่งหนึ่ง ในเรื่องของสภาพพื้นที่ปลูกพริกนั้นคุณธนวัฒน์จะเน้นในเรื่องของการระบายน้ำที่ดีเป็นหลัก และประการสุดท้ายคือเรื่องเงินทุน ในการปลูกพริกในแต่ละรุ่นเกษตรกรจะต้องมีแหล่งเงินทุนสำรองให้ใช้ในการซื้อปัจจัยการผลิตต่างๆ ซึ่งในแต่ละรุ่นของการปลูกจะใช้เวลาเฉลี่ยอย่างน้อย 90-120 วัน



การเตรียมพื้นที่

ปลูกพริกแบบไร่ช้างขาว

สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นปลูกพริกในที่ดินใหม่จะต้องเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์ อย่างน้อยที่สุดควรตรวจค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดิน ดินที่เหมาะต่อการปลูกพริกควรมีค่า pH = 6.0-6.8 ถ้าสภาพดินเป็นกรดจะต้องมีการปรับสภาพของดินโดยใช้โดโลไมต์หรือปูนขาว คุณธนวัฒน์บอกว่า ในการใส่ปูนขาวหรือโดโลไมต์ในแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 300 กิโลกรัม ต่อไร่

ในการเตรียมพื้นที่ก่อนที่จะไถดินให้ใส่ปุ๋ยคอกอย่างน้อยไร่ละ 1,000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน เมื่อไถดินเสร็จให้ตากดินทิ้งไว้นาน 3-7 วัน หลังจากตากดินเสร็จก็จะเป็นขั้นตอนของการยกแปลงปลูก โดยแปลงปลูกควรจะสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวของแปลงขึ้นกับสภาพพื้นที่ แต่ความยาวของแปลงไม่ควรเกิน 50 เมตร ในการขึ้นแปลงของไร่ช้างขาวจะใช้รถไถติดผาล 7 ขึ้นแปลงไป-กลับ 4 รอบ เมื่อขึ้นรอบที่ 5 ให้ใช้เกรดรถไถปรับหลังแปลงให้เรียบเป็นแปลงพริก (ไม่ต้องเสียเวลาใช้แรงงานคน) จากนั้นอาจจะปูพลาสติคและวางสายน้ำหยดหรือจัดระบบการให้น้ำตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่



การเพาะเมล็ดพริก

เป็นการเริ่มต้นที่มีความสำคัญ

ในสภาพความเป็นจริงในการเพาะเมล็ดพริกมีอยู่หลายวิธี แต่ขั้นตอนสำคัญลำดับแรกที่เป็นคำแนะนำที่สำคัญของทางราชการก็คือ จะต้องนำเมล็ดพันธุ์พริกมาแช่ในน้ำอุ่น วิธีการทำน้ำอุ่น ใช้น้ำร้อนเทลงไปในภาชนะก่อน 1 ส่วน และเทน้ำเย็นลงไปอีก 1 ส่วน (วิธีการทดสอบอุณหภูมิของน้ำ ใช้มือจุ่มลงไปถ้ามือของเราพอที่จะทนได้ เป็นอันว่าน้ำอุ่นของเราใช้ได้) แช่เมล็ดพริกในน้ำอุ่นนาน 30 นาที แล้วเอาเมล็ดพริกมามัดไว้ในผ้าขาวบาง บ่มเมล็ดพันธุ์พริกไว้ 1 คืน นำไปเพาะต่อไป ในการเพาะเมล็ดพริกของไร่ช้างขาวจะต้องเพาะในปริมาณมาก เนื่องจากเนื้อที่ปลูก 200 ไร่ จะต้องใช้ต้นกล้าพริกมากถึง 640,000 ต้น จะต้องแบ่งการเพาะเป็น 2 ครั้ง ครั้งละ 320,000 ต้น

การเพาะเมล็ดพริกที่เกษตรกรไทยนิยมปฏิบัติกันจะแบ่งออกได้ 3 วิธี คือ

1. หยอดเมล็ดลงในถาดเพาะโดยตรง ซึ่งจัดเป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่สุด

2. หว่านในตะกร้าพลาสติคที่ใช้ทรายเป็นวัสดุปลูก คุณธนวัฒน์แนะนำให้ใช้ทรายขี้เป็ดชนิดหยาบเป็นวัสดุเพาะ ขั้นตอนสำคัญจะต้องนำทรายไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน รอให้ทรายเย็นลงแล้วนำมาใส่ในตะกร้าพลาสติค (อย่าลืมรองก้นตะกร้าด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์) หลังจากหว่านเมล็ดพริกลงตะกร้าแล้วให้กลบด้วยปุ๋ยหมักอินทรีย์หรือขุยมะพร้าวที่ร่อนเอากากออก แล้วรดน้ำและพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อราเพื่อป้องกันโรคโคนเน่า การรดน้ำอย่าให้แฉะจนเกินไป เพราะจะทำให้เมล็ดพริกเน่าได้ สำหรับการเพาะเมล็ดพริกในฤดูร้อนหลังจาก-เพาะไปได้ 7-10 วัน ย้ายต้นกล้าลงถาดหลุม แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ถึงจะย้ายต้นกล้าลงถาดหลุมได้เพื่อย้ายลงปลูกในแปลงต่อไป

3. ใช้แปลงเพาะ เป็นวิธีการที่เกษตรกรไทยนิยมมากที่สุด เนื่องจากประหยัดต้นทุนการผลิต ขนาดของแปลงเพาะ มีความกว้าง 2 เมตร ความยาว 5-10 เมตร เริ่มต้นจากการขุดพลิกดินและตากดินไว้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง ใส่ปุ๋ยคอกเก่าหรือปุ๋ยหมักอินทรีย์ อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อแปลง คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยให้เข้ากันจนร่วนซุย เกลี่ยดินให้เรียบ นำเมล็ดพริกมาเพาะโดยใช้อัตราพริกน้ำหนัก 50 กรัม ต่อพื้นที่ปลูกพริก 1 ไร่ จะต้องโรยเมล็ดให้ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร เป็นแถวตามความกว้างของแปลง แต่ละแถวห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร เสร็จแล้วให้กลบดินบางๆ ให้เสมอผิวดินเดิม แล้วใช้ฟางข้าวคลุมแปลงเพาะบางๆ รดน้ำที่ผสมสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา เมื่อเห็นต้นกล้างอกขึ้นมาเหนือพื้นดิน ค่อยๆ ดึงฟางออกให้บางลงเพื่อต้นกล้าจะได้เจริญเติบโตได้ดี เมื่อต้นกล้ามีจำนวนใบจริง 4-5 ใบ จะต้องพ่นสารป้องกันและกำจัดแมลงร่วมกับสารเคมีป้องกันโรคโคนเน่าอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ต้นกล้าพริกที่มีอายุเฉลี่ย 25-30 วัน มีความสมบูรณ์และต้นแข็งแรงไม่มีโรครบกวนให้ย้ายลงปลูกในแปลงได้



การย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลง

เป็นเรื่องละเอียดอ่อน

หลังจากที่เตรียมขุดหลุมตามระยะปลูกเรียบร้อยแล้ว มีเทคนิคที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่เกษตรกรมักจะมองข้าม คือการย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลง ซึ่งคุณธนวัฒน์ถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมาก ขณะที่จับต้นกล้าพริกออกจากถาดหลุมจะต้องจับบริเวณเหนือใบเลี้ยง (ใบคู่แรก) เพื่อป้องกันการบอบช้ำของเนื้อเยื่อบริเวณโคนต้นกล้า ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นส่วนที่เชื้อราเข้าทำลายได้ง่าย เป็นสาเหตุหลักของโรคเน่าคอดินตามมา หลังจากย้ายกล้าลงหลุมเสร็จภายในวันเดียวกัน หรืออย่างช้าวันรุ่งขึ้นจะต้องฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดเชื้อราในกลุ่มสารเมตาแลกซิลหรือใช้ยาอาลีเอทก็ได้

หลังจากที่ย้ายต้นกล้าพริกลงหลุมปลูกแล้ว การใช้ไม้หลักปักค้ำต้นพริกมีความจำเป็นและสำคัญเช่นกัน ถ้าหากปักหลักต้นพริกช้าเกินไป รอจนรากของต้นพริกเดินกระจายทั่วแล้วจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย เพราะหลักที่นำไปปักทีหลังหรือปักช้าเกินไปนั้น ไปโดนส่วนของรากเสียหายและเกิดบาดแผล เชื้อเข้าทำลายระบบท่อน้ำและท่ออาหารได้ ดังนั้น เกษตรกรที่จะปลูกพริกในเชิงพาณิชย์จะต้องมีการเตรียมไม้หลักไว้ล่วงหน้า โดยคำนวณจากต้นพริกที่ปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกแบบแถวคู่ จะมีจำนวนต้นประมาณ 3,200 ต้น ก็เตรียมไม้หลักจำนวนเท่ากัน ปกติขนาดของไม้หลักควรจะมีความสูง 60-80 เซนติเมตร ใช้ไม้ไผ่ก็ได้ หลังจากปลูกพริกไปได้ 50-70 วัน จะต้องมีการปักไม้หาบต้นพริกเพื่อช่วยพยุงต้นพริกไม่หักโค่นหรือกิ่งฉีกหักจากการรับน้ำหนักของผลผลิตที่มีความดก คุณธนวัฒน์แนะนำให้ใช้ไม้ไผ่ที่มีความยาว 1.20 เมตร ปักคู่กันระหว่างต้นพริกด้านซ้ายและด้านขวา จากนั้นใช้ไม้อีกอันหนึ่งวางขวางด้านบนสุด มัดด้วยลวดหรือเชือกฟางให้แน่นโดยจะทิ้งช่วงของการปักไม้เป็นระยะ ทุกๆ 3 เมตร จากนั้นก็มัดเชือกฟางทั้งข้างซ้ายและข้างขวาให้ยาวตลอดแนวแถวแปลงพริก ดึงเชือกให้ตึงในแต่ละช่วง จะช่วยให้ต้นพริกไม่โค่นล้มได้ง่าย



เมล็ด "พริกขี้หนูหอมและพริกขี้หนูหัวเรือพันธุ์ใหม่" มีแจกฟรีพร้อมคู่มือการปลูกพริก 4 สี จำนวน 40 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ 30 บาท ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/200 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (01) 886-7398


Create Date : 20 กรกฎาคม 2549
Last Update : 20 กรกฎาคม 2549 8:31:51 น. 0 comments
Counter : 11728 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com