⭗
พื้นที่สำหรับวิ่งรถ รอยต่อที่เชื่อมระหว่างฝั่ง Kaza Khas และ New Kaza
หลังจากเปลี่ยนรถและกลับมาถึง Kaza ในช่วงสายของวันอย่างปลอดภัย เรามุ่งตรงกลับไปยังเกสเฮาส์เดิม
ที่ได้ฝากกระเป๋าไว้ ทันทีที่เปิดประตูเข้าไปก็พบกับคุณลุง (สามีของป้าคุนซุม) กำลังสาละวนทำโน่นนี่อยู่
พอดีถึงแม้ว่าลุงจะจำผู้มาพักรายนี้ได้ดีอยู่ แต่สภาพมอมแมมของเสื้อผ้าสีเข้มที่เต็มไปด้วยคราบฝุ่น เหมือน
กับว่าไปกลิ้งเกลือกคลุกถนนลูกรังมาแบบนี้ ทำให้แกอดถามไม่ได้
"ไปถึงไหนมา"
"เพิ่งกลับมาจาก Mud ค่ะ"
"โอ้โห! ไปซะไกลเชียว"
ลุงบอกว่าเก็บห้องเล็กนั่นไว้ให้นะไม่ต้องกังวล พลางเดินนำเราเข้าไปเอาเป้ใหญ่ที่ฝากไว้
ตรงชั้นล่าง จากนั้นก็ชี้บอกจุดวางกะละมังและพื้นที่ซักตากเสื้อผ้าให้ด้วย เหมือนรู้ล่วงหน้า
ว่าเราต้องการทำอะไรหลังออกเดินทางไกลไปหลายวัน
เสร็จสิ้นจากธุระส่วนตัวแล้ว ก็ต้องเตรียมไปยื่นเอกสารที่ ADC (Additional Deputy Commissioner)
(ที่ตั้ง : https://mapcarta.com/N1934751077) เป็นธุระปะปังที่ต้องทำก่อนเดินทางต่อในวันพรุ่งนี้ นั่นคือ
การขอใบอนุญาตผ่านพื้นที่เขตพิเศษ (Inner line Permit) ไว้ล่วงหน้า เพราะเราจะต้องเดินทางผ่าน
เขตที่เรียกว่า Upper Kinnaur ช่วงขาออกนั่นเอง
หน้าตาของสำนักงานในตอนนี้ ดูเปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย
เมื่อเราเดินขึ้นไปยังชั้นสองตามความเคยชิน (รอบนี้ไม่มีหมาเดินตามแล้วนะ)
ก็พบว่าบริเวณด้านบนนั้นถูกใช้เป็นห้องทำงานแผนกอื่นไปแล้ว พอถามไถ่กับเจ้าหน้าที่
ประจำการบนนั้น พวกเขาบอกให้ลงไปติดต่อที่ชั้นล่าง จุดทำการอยู่ใกล้กับทางขึ้นบันได
ก็พบว่าปัจจุบันนี้แผนกดังกล่าว ดูมีความเป็นทางการมากขึ้น
จากที่เคยเป็นโต๊ะเดี่ยว ๆ ในห้องทำงานของเจ้าหน้าที่
ก็กลายเป็นช่องติดต่อที่ทำจัดทำแยกไปตามการยื่นเรื่อง
แบบฟอร์มกรอกข้อมูลที่มี การพิมพ์ระบุให้ผู้ติดต่อได้เขียนชี้แจงลงไป
หลังยื่นแบบฟอร์มที่กรอกข้อมูลลงไปจนครบ ก็แนบเอกสารอย่างสำเนาพาสปอร์ต
และวีซ่า พร้อมรูปถ่ายส่งให้คุณเจ้าหน้าที่ นอกเหนือไปจากตัวเอกสารที่ปรับปรุงใหม่
จนดูดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ก็ยังต้องมาถ่ายรูปจากกล้องที่เชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์
เพื่อนำไปใช้ประกอบเอกสาร พร้อมจ่ายค่าธรรมเนียม 300 รูปี (ข้อมูลปี 2019)
⭗ ตัวอย่าง Inner Line Permit สำหรับใช้เดินทางผ่านเขต Upper Kinnaur
(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย) ปล. ขอใช้รูปอื่นแทนภาพจริง จขบ. ไปละกันนะ
การส่งข้อความถึงทางบ้าน แน่นอนว่าการใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านซิมมือถือในพื้นที่ห่างไกล
อย่างหุบเขาสปิติยุคนี้อาจไม่ใช่เรื่องยากอะไร หากว่าเรามีซิมการ์ดที่ว่า แม้อาจจะไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
แต่เรื่องจุกจิกบางอย่างที่นักท่องเที่ยวจอมขี้เกียจอย่างเราไม่อยากใช้เวลาไปกับการลงทะเบียนฯ ก็เลย
ไปอาศัย wifi จากร้านกาแฟในการเชื่อมต่อแทน
เมื่อหลายปีก่อนเท่าที่จำได้ใน Kaza จะมี internet cafe แห่งหนึ่งใกล้ ๆ Bodh Guesthouse
ตรงย่านตลาด แล้วก็อีกที่คือร้าน Deyzor สุดฮิปประจำย่านนี้ นอกเหนือจากนั้น ไม่ค่อยได้รับ
รับรองว่ามีความเสถียรสักเท่าไหร่
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีตัวเลือกมากขี้น แต่เราก็ยังเลือกที่จะแวะกลับไปยัง Deyzor Hotel
บริเวณด้านล่างของโรงแรมคือร้านอาหาร มันยังคงเป็นร้านที่ดูดีดังเดิม ถึงจะพอรู้มาว่าผู้เป็น
เจ้าของไม่ใช่ชาวสปิติ แต่เขาก็ดูมีพยายามที่จะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปของท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย
เลยมองว่าเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับท้องถิ่นดี ส่วนโซนที่พักจะอยู่ด้านบนของตัวอาคาร
ระหว่างที่เดินผ่านและกำลังจะเลี้ยวเข้าประตู หมาเซนต์เบอร์นาร์ดตัวเป้งที่ขึ้นชื่อว่ามี
นิสัยเป็นมิตรกับทุกคน ก็ลุกพรวดพลาดขึ้นมาตามเห่าไล่อย่างลั่น พักหนึ่งก็มีคนดูแล
ออกมาปรามให้
"เฮ่ ซิมบ้า เงียบ ๆ โว้ย!"
⭗ ด้านหน้า Deyzor Hotel และเจ้าซิมบ้าที่กำลังยืนเห่าไล่แขก
พอสั่งเครื่องดื่มแล้ว เราใช้เวลาระหว่างนี้สาละวนเดินดูข้าวของที่จัดแสดงโชว์ในร้านคั่นเวลา
ในร้านมีหนังสือหลายเล่มที่น่าสนใจให้หยิบยืมอ่าน ก่อนที่จะเหลือบไปเห็นลูกค้าคนใหม่อีกราย
ผลักประตูเข้ามาและทักทายเราด้วยน้ำเสียงเหมือนคนเคยรู้จัก
พอเงยหน้าไปดูเจ้าของเสียงทักเท่านั้นแหละ เจ้หยาง นี่หว่า!
หลังจากเจอกันครั้งสุดท้ายในเลห์ ก็ไม่ได้เจอกันอีก เราเคยเกริ่นไว้ว่าจะแวะมาที่หุบเขาสปิติ
และหยางก็เดินทางล่วงหน้ามาถึงก่อนพักใหญ่แล้ว การที่พวกเราไม่ได้แลกคอนแทคสำหรับ
ส่งข่าว นัดหมาย หรือไว้พูดคุย พอเมื่อมาเจอกันแบบนี้ ไม่รู้ว่าจะดีใจหรือตกใจก่อนกันดีเนี่ย?
ลืมเรื่องราวของเหล่าคนช่างพูดคุยขณะเดินทางไปได้เลย ไม่ใช่กับพวกเราแน่ ๆ
คือต่างคนต่างมีโลกส่วนตัวที่สูงปรี๊ดกันทั้งคู่ และหยางมีความเป็นผู้ใหญ่กว่ามาก
มากสุดก็แค่แลกเปลี่ยนข้อมูลการเดินทางกันบ้างนิดหน่อย พูดถึงเรื่องราวหลังจาก
แยกย้ายกันที่ลามะยูรู การเทรกในหุบเขาสปิติที่เพิ่งผ่านมาหมาด ๆ และที่พัก
หยางพักอยู่ฝั่งตลาด ซึ่งเธอเองไม่รู้สึกปลาบปลื้มสักเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลของเสียงที่
จอแจของผู้คนและมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งผ่านย่านนั้นมันดังรบกวนเธอ ส่วนเหตุผลที่หยาง
แวะมาร้านนี้คงไม่ต่างไปจากเรา เธอได้ยินมาว่ามีสัญญาณ wifi ที่พอใช้ได้ที่สุดแล้ว
ในละแวกนี้
พวกเราขอรหัสจากคนที่ร้านมาทำการล็อคอิน ซึ่งก็แอบอำเราด้วยนะว่า
เน็ตที่นี่ช้าเป็นเต่า เชื่อมต่อได้ก็จริง แต่ข้อความที่ส่งไปอาจถึงผู้รับพรุ่งนี้
เจ้หยางสั่งอาหารชุดใหญ่มากิน เธอดูมีความสุขกับการได้กินสเต็กเนื้อชิ้นโต
ก่อนเลิกคุยกันและหันไปละเมียดกับอาหารบนโต๊ะของใครของมัน (ไม่ได้นั่ง
ด้วยกันนะ) พวกเราตัดสินใจแลก whatsaap กันซะที เราแอดเบอร์หยางไว้
แล้วบอกว่าถ้าเจอข้อความ +66 ส่งไปก็ฉันเองแหละ
"รหัสประเทศเธอเหรอ ไทยแลนด์"
"อือ เจอสัญญาณแล้วจะส่งไปหา" เรารับปาก
หนุ่มอินเดีย เด็กเสิร์ฟประจำร้านผู้สาละวนจัดข้าวของอยู่ใกล้ ๆ ก็ดูอยากมีส่วนร่วม
"ส่วนของผมอ่ะขึ้นต้นด้วย +91 xxxx xxxxx" อิอิ
เสวนากันได้ครู่หนึ่ง ลูกค้ารายใหม่เปิดประตูเข้ามาเพิ่มเติมอีกสองราย พวกเขาเป็น
ผู้สูงวัยชาวอินเดียคู่หนึ่งที่เดินทางมาพร้อมกับกระเป๋าใบโต โดยมีคนขับรถช่วยขนของ
และเดินนำทางมาเพื่อแนะนำที่พักให้ พวกเขาขอให้สารถีส่วนตัวเป็นตัวแทนช่วยเดินขึ้น
ไปดูห้องให้ก่อนตัดสินใจ ซึ่งลุงป้าคู่นี้ไม่ใช่คนแปลกหน้าที่ไหน พวกเขาคือคนที่มาพักอยู่
ในเกสเฮาส์เดียวกับเราเมื่อคืนที่ผ่านมาใน หมู่บ้าน Mud (Pin Valley) นั่นเอง
ช่วงที่รอคนขับรถขึ้นไปเช็คสภาพห้องอยู่นั้น ลุงก็เดินมาทักทาย เลยรู้ว่าพวกเขาเช่ารถ
นำเที่ยวแบบทริปส่วนตัว โดยเข้ามาจากฝั่ง Kinnaur และมีจุดหมายถัดไปหลังจากตระเวน
จนทั่วหุบเขาสปิติก็คือ Chandra Lake และไปสิ้นสุดทริปนี้กันที่มะนาลี
"เส้นทางจากฟาก Kinnaur ถนนดีมากเลยล่ะ" คุณลุงยืนยันว่าจากที่ผ่านมามันเป็นการเดินทาง
ที่ราบรื่นมาก ๆ ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อ เพราะมันดูย้อนแย้งกับภาพจำครั้งสุดท้ายที่เราได้เจอนะสิ
หลังจากที่คนขับรถเดินลงมาที่ชั้นล่าง และบอกสภาพที่พักด้านบนว่า ที่นี่ดูดีสุดแล้ว
พวกเขาก็ตกลงที่จะขนของตามขึ้นไปและหันมาบอกลา พร้อมอวยพรขอให้โชคดี
ความเปลี่ยนแปลงใน Kaza และพื้นที่อื่น ๆ ที่กำลังคืบคลานเข้ามาให้หุบเขาสปิติ
คุณลุงคุณป้าเจ้าของเกสเฮ้าส์ ได้เข้ามานั่งคุยกับเราในช่วงบ่าย หลังจากที่ออกไปจัดการ
เรื่องเอกสารเดินทางและเรื่องจิปาถะเรียบร้อยแล้ว คุณลุงพูดถึงการก่อสร้างที่ผุดขึ้นอยู่รายรอบ
ในขณะนี้ที่มีเยอะขึ้น พอถนนหนทางเริ่มดีขึ้นมากกว่าเมื่อก่อน คนภายนอกก็เริ่มแห่กันมาแบบคับคั่ง
แต่พื้นที่นี้กำลังถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่มาเพียงแค่ไม่กี่วันแล้ว
ก็จากไป
เราพอจะเดาภาพได้จากกลุ่ม Vlog ที่มาถามหาร้านอาหารที่หมู่บ้าน Demul นั่นได้ ลุงสะท้อนบาง
เรื่องให้ฟังว่าไม่ใช่เราที่ต้องปรับตัวนะ แต่ผู้มาเยือนควรต้องทำความเข้าใจกับพื้นที่ของสปิติด้วยว่า
มีตัวเลือกไม่มากนักหากต้องการที่จะมา ส่วนเรื่องของน้ำก็ถือเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ทั้งแหล่งน้ำ
ใต้ดินที่บรรดาที่พักทั้งหลายต้องสูบขึ้นมาใช้และระบบชักโครกคือความสิ้นเปลือง (แต่ทางโรงแรม
ก็มักใช้ตัวเลือกนี้ในการดึงดูดผู้มาเข้าพัก) ซึ่งครั้งหนึ่งเราก็เคยรู้สึกตลกกับการใช้ห้องน้ำแบบท้องถิ่น
เมื่อต้องอยู่ในโฮมสเตย์ที่หมู่บ้านห่างไกลด้วยความไม่คุ้นชิน แต่ถ้าให้มองในมุมของสภาพแวดล้อม
ที่มีน้ำใช้ค่อนข้างจำกัดแล้ว มันก็สมเหตุผลกันดีอยู่
ปัญหาโลกแตกจากนักท่องเที่ยวอีกเรื่องก็คือ น้ำดื่ม
แต่ไหนแต่ไรมาคนท้องถิ่นดื่มน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งเดี๋ยวนี้แต่ละบ้านจะมีเครื่องกรองน้ำไว้ใช้
แทบไม่มีใครซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดกัน ส่วนนักท่องเที่ยวก็ไม่กล้าดื่มน้ำกรองและหันไปซื้อน้ำขวดมาดื่ม
กลุ่มงานอนุรักษ์พื้นที่ในหุบเขาสปิติ พยายามหาแก้ไขโดยการจัดตั้ง สถานีเติมน้ำดื่ม(ฟรี)
(ภาพตัวอย่างที่เคยถ่ายไว้ใน Komic : https://www.bloggang.com/data/w/wachii/picture/1657591240.jpg)
เอาไว้ตามที่ตั้ง Monastery ต่าง ๆ ที่เป็นจุดท่องเที่ยว เพื่อลดจำนวนขวดน้ำพลาสติกที่ชักจะเริ่มกอง
สูงขึ้นเป็นกองพะเนินเรื่อย ๆตามจำนวนตัวเลขของผู้มาเยือน
⭗ ขวดน้ำพลาสติก ถูกนำมาทาสีและเรียงรายติดผนังให้ดูเหมือนเป็นงานศิลปะ และป้ายที่ติดบอกถึงความไม่น่ารักของมัน
⭗ สื่อสะท้อนที่จัดทำขึ้นบนกระดานใน Sol Cafe เชิญชวนให้ผู้มาเยือนได้คิดถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากภาคการ
ท่องเที่ยวโดยนำเสนอทางเลือกสำหรับการการแก้ไขในรูปแบบที่ควรจะเป็น--หวังว่าโครงการเหล่านี้จะประสบความสำเร็จ
ในวงกว้างนะ
(คลิกภาพเพื่อขยาย)
⭗
ตัวอย่างของคำศัพท์ในภาษาสปิติ (ถ่ายมาจากด้านหลังเมนูของ
Deyzor)
และรูปเล่มกิจกรรมโปรโมท-
ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวของกลุ่ม Spiti Ecosphere (ที่
Sol Cafe)
กับหน้าตัวอย่างคอร์สเรียนทำอาหาร
ช่วงเวลาครึ่งวันที่เหลือในยามบ่ายนี้ ขอเดินสำรวจพื้นที่รอบ ๆ Kaza ส่งท้ายกันสักหน่อย
ถ้าจะต้องเท้าความย้อนหลัง เราเคยเดินทางมาที่นี่ครั้งแรกในปี 2014 ในช่วงที่นักท่องเที่ยว
ส่วนใหญ่กำลังทยอยออกไปที่อื่นกันเกือบหมด ด้วยสภาพอากาศ ถนนหนทาง และข้อจำกัด
อีกหลาย ๆ เรื่องของพื้นที่นี้ต่างมีส่วนเร่งให้ผู้มาเยือนจากภายนอกต้องรีบออกไปยังที่อื่น ก็จะ
เหลือให้เห็นหน้ากันแค่ไม่กี่รายที่หลงเข้ามาในช่วงต้นฤดูหนาวแบบนั้น
⭗ อาคารบ้านเรือนฝั่ง New Kaza ฟากนี้จะมีที่ตั้งของ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการและปั๊มน้ำมัน
⭗ เส้นถนนอันคับแคบในตลาด เมื่อต้องเดินทะลุผ่านก็ต้องคอยระวังกับรถที่สวนมาในระยะประชิด
⭗ บริเวณสามแยกใจกลางเมือง แหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในหุบเขาสปิติ คนที่อยู่หมู่บ้านห่างไกลก็มักจะต้อง
เดินทางมาเพื่อจับจ่ายซื้อหาข้าวของจากที่นี่กันทั้งนั้น ฝั่งนี้เป็นที่ตั้งของ ท่ารถ ธนาคาร ร้านอาหาร และ ATM
⭗ สิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ที่กำลังมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มองไปทางไหนก็เจอ
⭗ ทางเดินไปยังพื้นที่เพาะปลูกบริเวณใกล้ ๆ กับแม่น้ำสปิติ
ส่วนอาคารทรงสูงด้านหน้าคือ Eco-Community Centre
⭗ ช่วงนี้ผืนดืนยังคงมีพืชสีเขียวปกคลุมอยู่ ถ้ามาไวกว่านี้คงรู้ว่าที่ตรงนี้เพาะปลูกอะไรกัน
⭗ ลานตั้งแคมป์ชั่วคราวบริเวณรอบข้าง ช่วงฤดูร้อนคงคึกคักมากกว่านี้
⭗ ต้น willow ที่ปลูกตามริมทางเดินกำลังเริ่มเปลี่ยนสี
⭗ จุดไหลผ่านแม่น้ำสปิติ เราเคยมายืนอยู่ที่นี่เมื่อสี่ปีก่อน มามองยอดเขาที่ปกคลุมหิมะบริเวณไกล ๆ (บริเวณหุบเขาพิน)
เพื่อดูแสงสุดท้ายของวันแตะกระทบยอดเขานั้น จนกลายเป็นสีส้ม ๆ
⭗ ก้อนหินบริเวณแม่น้ำ น่าจะถูกใจบรรดา Rockhound ทั้งหลาย
⭗ เงามืดจากหุบเขาฝั่งตะวันตก กำลังไล่กลืนเมือง Kaza ไปอย่างช้า ๆ ในช่วงเวลาเย็น
ครั้งนี้เราคงไม่ได้เขียนคำแนะนำเนื้อหาที่ควรรู้เกี่ยวกับ Kaza หรือหุบเขาสปิติเพิ่มเติมอีก
ข้อมูลเดิมจากครั้งก่อนน่าจะพอนำมาเทียบเคียงกันได้อยู่ มีเพียงแค่ฤดูกาลกับวาระที่ไม่เหมือนเดิม
รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดที่เปลี่ยนไปตามเวลา หรือหากเมื่อได้ย้อนกลับไปอ่านในเอนทรี่เก่า ๆ นั่นแล้ว
อาจพบว่าตัวตนอย่างที่เคยเป็นของเจ้านักท่องเที่ยวผู้เพ้อฝันถึงภูเขาสูงและดินแดนอันเงียบสงบอันห่าง
ไกลสุดขอบฟ้าคนนั้นมันได้เลือนหายตายจากไปเป็นที่เรียบร้อยล่ะ
[เอนทรี่ที่เกี่ยวข้อง]SPITI (ปี 1) สำรวจ Kaza และเรื่องทั่วไป :
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=wachii&month=13-01-2015&group=20&gblog=12
⭗ ก่อนมืดค่ำจนหมดแสง เราย้อนกลับขึ้นมายังบริเวณหนึ่ง กะว่าจะเดินสำรวจจุดอื่น ๆ ที่ไม่เคยเดินผ่านในตัวเมืองบ้าง
ก็พบว่าตรงหน้าศูนย์อนามัยชุมชน จะมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมบางอย่างของเด็กนักเรียนหญิง
⭗ พวกนักเรียนแบกถุงใส่ขยะใบโตแยกกระจายไปเป็นกลุ่ม คอยตามเก็บขยะที่ตกหล่นตามพื้น
⭗ คุณลุงที่ยืนอยู่บริเวณนั้นก็พลอยร่วมวง ก้มเก็บชิ้นส่วนขยะบนพื้นมาโยนใส่ถังบ้าง
พอเพ่งมองดี ๆ ก็เพิ่งจะมาเห็นที่ตั้งของ Rock Art Museum ตรงหน้า (อดเข้าไปดูเลย!)
⭗ พื้นที่บริเวณศูนย์ราชการ
⭗ หมาน้อยแห่งหุบเขาสปิติ
แผนการของวันพรุ่งนี้ จะต้องขึ้นรถเดินทางไกลตั้งแต่เช้าตรู่ไปยังจุดหมายแห่งใหม่
แม้บทลงท้ายจะไม่มีคำเขียนจบประโยคเดิม ๆ อย่าง แล้วสักวันจะกลับมา เช่นเคย
ต้องยอมรับแหละว่าอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน และประเทศอินเดียก็ไม่ได้อยู่ใกล้แค่ปากซอย
แต่เราถือว่านี่คือการลาจากในแบบที่ไม่ได้เศร้าอะไรนัก และยังรู้สึกยินดีเสมอที่การเดินทาง
หนนี้ได้เลือกย้อนกลับมาใน Kaza ที่ ๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการได้ทำความรู้จักหุบเขาสปิติของเรา
คุ้มค่ากับการรอคอยจ้าน้องฟ้า