Gya ที่ไม่ได้อ่านว่า กยา หรือ คยา แต่ออกเสียงไปทาง กีย่ะ
บางครั้งก็เจอการสะกดคำเป็น Gia ที่นี่ตั้งอยู่บนเส้นทาง Leh-Manali Highway
ห่างไกลจากตัวเมืองเลห์ราว 75 กิโลเมตร

⭗ ป้ายของโครงการ HIMANK หน้าหมู่บ้าน Gya
และระดับความสูงของพื้นที่ที่เขียนกำกับไว้ 13,901 ฟุต จากระดับน้ำทะเล
*** บรรดาถนนที่สร้างผ่านบนพื้นที่สูงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
Himank project of the Border Roads Organisation (BRO)
อ่านเพิ่มเติมที่นี่ค่ะ Link : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/484359
เราไม่ได้รู้จักหมู่บ้านนี้มากนัก แต่เพียงแค่เห็นภาพงานกิจกรรมเล็ก ๆ จากกลุ่ม
องค์กรอิสระฯ พาเยาวชนลาดักมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตนอกเมือง(เลห์) และ
มีเวิร์กชอปอย่างงานหัตกรรมพื้นบ้านอย่างเช่นการเก็บเส้นใยจากขนแกะมาปั่นด้าย
และทอผ้าขนสัตว์กันแบบดั้งเดิมซึ่งกิจกรรมนี้ได้ผ่านล่วงเลยไปนานแล้ว ก่อนที่เรา
จะดั้นด้นมาถึงลาดักได้ค่ะ ภาพเหล่านั้นจูงใจให้เราแอบปักหมุดลงบนหมู่บ้านเล็ก ๆ
นอกเมืองและนอกสายตาแห่งนี้เอาไว้
…..
ฉันเกลียดงานวิ่งมาราธอน!
เที่ยวรถไป Gya ก็มีทุก ๆ บ่ายสี่โมงของทุกวัน
และจะวิ่งตีกลับมายังเลห์ รอบ7 โมงเช้า
แต่กลับไม่ใช่วันนี้...วันที่เราจะเดินทาง
เนื่องจากมีงานวิ่งมาราธอนที่จัดตรงสนามกีฬา NDS Memorial Stadium
จัดคนละวันกับ Khardung La Challenge ที่เอ่ยถึงในเอนทรี่ก่อนหน้านะคะ
ขณะที่เราได้คืนห้องพักและฝากข้าวของไว้ที่เกสเฮาส์ตั้งแต่ก่อนเที่ยง
ทำธุระปะปังต่าง ๆ ในตลาดและมายืนรอมินิบัสสายดังกล่าวตามเวลาจากท่ารถ
ก็พบว่าบรรดาเด็กนักเรียนจากพื้นที่อื่น ๆ ต่างพากันมายืนรอรถกันเต็มไปหมด
ในวันนี้มินิบัสที่วิ่งให้บริการรอบเย็น จะกลายเป็นรถรับส่งเด็กนักเรียนที่เกณฑ์
จากหมู่บ้านนอกเมืองมาเข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่งในวันนี้ (น่าจะลง Run for fun)
ทำให้รถที่จะวิ่งไปหมู่บ้าน Gya รอบบ่ายสี่ก็พลอยระงับการวิ่งไปด้วย
"พี่กลับไปที่พักเหอะ พรุ่งนี้ค่อยเดินทาง"
เด็กมัธยมบนรถคันหนึ่งที่เราดอดไปถามที่ข้างหน้าต่างว่ารถคันนี้จะวิ่งไปไหน
ต่างแนะนำให้ทำแบบนี้ แต่กว่าจะถึงเวลารถออกก็มีน้อง ๆ อาสาลงมาช่วยเดินถามหา
เที่ยวรถจากมินิบัสคันอื่น ๆ ที่จอดอยู่ตรงท่ารถให้ แม้จะไม่เป็นผล และไม่มีรถโดยสาร
ขนาดเล็กคันไหนออกเดินทางช่วงเย็นขนาดนี้อีกแล้ว…
อย่างไรก็ดี มีคนแถวนั้นบอกตัวเลือกสุดท้ายที่เหลือให้กับเรา แม้ว่ามันจะดูเสี่ยงไปหน่อย
ตามมุมมองของคนต่างบ้านต่างเมือง ที่คาดหวังเพียงแค่จะนั่งรถโดยสารท้องถิ่นจาก
ต้นทางไปลงปลายทางง่าย ๆ แค่นี้
"รอบบ่ายสี่ครึ่ง จะมีเที่ยวรถวิ่งไป Shara เธอก็ไปลงที่ Upshi (อุปชิ) ก็ได้"
รถโดยสารที่ว่านั้นเป็นของเอกชน อยู่คนละภาคส่วนกับกลุ่มเดินรถ mini bus
โอ้โห...ให้ไปต่อรถในเมืองที่ไม่รู้จัก และช่วงเวลาใกล้เย็นขนาดนี้มันจะดีเหรอ
แต่จะว่าไป เย็นวันนี้มันต้องมีคนหารถกลับ Gya ไม่ได้แบบเราบ้างแหละ จริงมะ?

⭗ แยก Upshi ที่มาลงรถ รถโดยสารที่จอดอยู่ฝั่งตรงข้ามคือคันที่เรานั่งมาจากเลห์

⭗ รถกระบะคันนี้จะวิ่งไปส่งของ ณ ที่หนึ่ง ผ่านเส้น Leh-Manali Highway ทำให้คนที่พลาดจากการขอติดรถยนต์คันสีขาว
(รูปบน) ก็ได้ย้ายมาขออาศัยไปกับรถคันนี้กันแทน

⭗ รถยนต์สีขาวคันแรกที่มีผู้คนขอติดรถกลับหมู่บ้าน ได้วิ่งล่วงหน้าไปยังสะพานเหล็กด้านหน้าที่สร้างให้รถวิ่งข้ามผ่านแม่น้ำสินธุ
แยก Upshi เต็มไปด้วยรถบรรทุก ที่พักและร้านอาหารริมทาง รวมถึงเป็นจุดรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ฯ สำหรับชาวต่างชาติอีกด้วย
รอบเย็นของวันนั้นเรานั่งรถประจำทางที่วิ่งออกนอกตัวเมืองไปไกลถึงแยก Upshi
ที่นี่ดูคุ้นตามาก ๆ ไม่ใช่เพราะเดจาวู แต่เราเคยนั่งรถผ่านมาแล้วต่างหาก มันคือ
เส้นทางเดียวกับที่เคยรถรับจ้างจาก Keylong มาจนถึงเลห์ได้นั่นเอง
ที่แยก Upshi จะมีร้านค้าและทางข้ามสะพานเหล็กที่ทอดผ่านแม่น้ำสินธุ มันเป็นช่วงเวลา
เย็นที่สวยและเริ่มมีลมหนาว ๆ พัดแรง … บนเนินเขาฝั่งหนึ่งมีการเขียนตัวอักษรตัวโต
ให้พอสังเกตเห็นจากระยะไกลเอาไว้บนนั้นว่า PASHMINA GOAT FARM UPSHI
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราสนใจ มากไปกว่าการลองเดินไปกลางสะพานเหล็กหยั่งเชิงดูว่า
ที่ลึกไปจากเส้นทางเข้าสู่หุบเขาตรงหน้า จะพอมีหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ใกล้กว่า Gya ให้แวะ
พักก่อนมั้ย ...หากเปิดแผนที่ดูก็จะเจอกับที่ตั้งของ Meru เป็นชุมชนแรก จะขาดก็แต่
ระยะทางที่ไม่ได้เขียนระบุไว้ว่าอยู่ไกลจากนี้ไปกี่กิโลเมตรกันแน่
เราเดินย้อนกลับมาที่บริเวณร้านค้าอีกครั้ง เผื่อว่าจะมีรถหรือใครสักคนที่กำลังหาทางไป
ยัง Gya หรือหมู่บ้านใกล้เคียงเหมือนกัน...ก็เจอกับกลุ่มคนบางส่วนที่ยืนดักรอรถที่จอดอยู่
เป็นรถเก๋งคันขาว แต่ก็อัดเต็มไปด้วยคนที่ขอติดรถไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น พวกเขาชี้ไปที่
ด้านหลัง โดยให้ลองถามรถกระบะอีกคันดูละกัน
เจ้าของรถขนของคันดังกล่าว นั่งพักกินข้าวอยู่ที่ร้านอาหารแถวนั้น
เขากำลังจะวิ่งไปยังที่ ๆ ไกลกว่าจุดหมายของเรา...แต่ก็ยินดีที่จะให้ติดรถไปด้วย
"ข้างหน้าไม่เหลือที่แล้ว" พี่ผู้หญิงผู้เป็นหนึ่งในผู้โดยสารตกหล่น ที่ได้จองที่นั่ง
ด้านหน้าไปก่อน จะดูอึกอักที่เห็นเราต้องจำใจไปอยู่ท้ายรถแทน เราบอกว่าไม่มีปัญหา
ขอแค่ให้วันนี้ไปถึงหมู่บ้านได้ก็พอใจละ
หนนี้เราได้นั่งท้ายรถไปพร้อมกับพี่ผู้ชายอีกคนที่ขอโดยสารไปลง Taglang La
เห็นว่าเป็นที่อยู่ของคนทำอาชีพเลี้ยงแกะเลี้ยงแพะ แล้วก็ทอผ้า Pashmina ขาย
"แล้วมันหนาวมั้ยที่นั่น?" เราแอบถามข้อมูลไว้เหมือนคนไม่เคยเห็นเส้นทางที่ว่า
ทั้งที่ความจริงแล้วจำไม่ได้เองว่าเคยนั่งรถผ่านมาก่อน (ก็ทางในช่วงนั้นมันมืดตึ๊บอ่ะ)
"หนาวสิ ...ก็ที่นั่นสูงตั้งห้าพันกว่าเมตรฯ เชียวนะ"
ก็เพราะคำว่า La ที่ลงท้ายชื่อ จะมีความหมายในตัวมันว่า ช่องเขา หรือ Pass นั่นเอง
เขาหัวเราะในความไม่รู้อะไรสักเรื่องของเรา แถมเตือนให้รู้ว่าที่ Gya หนาวกว่า เลห์
หลังจากที่รถได้วิ่งออกมาจาก Upshi และข้ามสะพานมายังอีกฝั่งแล้ว
เราไม่เห็นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ เลยนอกจากหุบเขา มันดูยาวไกลมากเกินกว่า
จะเดินย่ำเท้าเข้ามาเองได้ จะมีก็แค่รถบรรทุกวิ่งนำและตามมาเป็นเพื่อนร่วมถนน
ได้ยินว่าเส้นทางบริเวณนี้อันตราย เพราะมักจะมีหินกลิ้งร่วงลงมาจากบนเขาบ่อย ๆ

⭗ รถวิ่งผ่านหุบเขาและแสงสุดท้ายที่ได้เห็น บนเส้นทาง Leh-Manali Highway

⭗ ชาวบ้านรายหนึ่งกำลังเดินข้ามแอ่งน้ำบนถนน ที่หมู่บ้าน Meru (เก็บภาพทันแค่นี้นะ)

⭗ บรรยากาศจากท้ายรถ นอกจากถนนและหุบเขาแล้ว ก็ยังมีธารน้ำไหลตรงฝั่งขวาอีกด้วย

⭗ เหล่ารถบรรทุกที่เป็นเหมือนกับเพื่อนร่วมทางที่คุ้นเคยบนถนนเส้นนี้
เราจับกล้องถ่ายรูปจากด้านหลังโดยไม่ทันระวังอะไรกับทางเลียบเขาเลี้ยวโค้งไปมา
อยู่ ๆ คนขับก็เร่งความเร็วรถและเหยียบเบรกกระทันหัน ทำให้ตัวเองที่นั่งอยู่กลางกระบะ
ไถลลื่นไปโดนถังใส่น้ำมันที่วางอยู่ท้ายรถพอดี ยังดีที่หัวไม่แตก… เราจึงต้องเก็บกล้อง
ไว้เพื่อให้มือว่างพอที่จะจับขอบรถแทนดีกว่า
นานมากทีเดียวกว่าจะถึงที่ตั้งของหมู่บ้านแรกที่ชื่อว่า Meru
มันเป็นภาพที่เหมือนกับว่าเราหลงอยู่ในหุบเขาที่ไม่มีใครมาตั้งรกรากอาศัยกัน
ด้วยความเร็วของรถ อยู่ ๆ ก็พาเรามาโผล่ยังพื้นที่ราบ ผ่านเขตนายามโพล้เพล้
กลุ่มชาวบ้านที่เพิ่งเลิกงานเก็บเกี่ยวของวัน มานั่งจับกลุ่ม บ้างก็ยืนกันที่ข้างทาง
ต่างโบกไม้โบกมือทักทายให้กับรถของเราที่กำลังวิ่งผ่านไป
"จูเล ๆๆ" อาโช่ จาก Taglang La นั่งโบกมือให้พวกเขา
เหล่าผู้คนก็ยิ้มแย้มรับพร้อมทักทายกลับ
"พี่รู้จักเขาเหรอ?" ท่าทางจะเป็นคนกว้างขวางไม่เบา
"ปล่าว ไม่รู้จักหรอก...
ก็แบบว่าพวกเขาทักทายผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาไง"
ออ...อย่างงี้นี่เอง คงเหมือนกับตอนที่เรานั่งรถไฟผ่านทางแยก
แล้วจะมีคนโบกมือบ๊ายบายให้สินะ
หลังจากผ่านหมู่บ้านแรกไปแล้วรถก็วิ่งผ่านเข้าหุบเขาต่อ...แม้จะมีเจดีย์
ป้ายชื่อร้านอาหาร และชื่อหมู่บ้านอีกแห่ง (Lhato) แต่ก็ไม่เห็นภาพของ
ผู้คนอย่างที่ผ่านมา ท่าทางจะกลับบ้านกันหมด
"รู้มั้ย พวกเรากินและดื่มน้ำกันจาก Chumik"
ระหว่างที่เห็นป้ายชื่อร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ชื่อ Salsal Chumik ตรงทางผ่าน
อยู่ ๆ อาโช่ ก็พูดถึงคำว่า Chumik ให้ฟังว่ามันคือแหล่งน้ำจากธรรมชาติ ที่พวกเขา
ใช้กินดื่มกันมานานแล้ว โดยน้ำที่ว่านั้นมาจากบนเทือกเขาสูงและผุดขึ้นจากชั้นใต้ดิน
มีแร่ธาตุดีต่อร่างกาย เลยไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินซื้อของที่ธรรมชาติมีให้
Chu ก็คือ น้ำ Mik ก็คือ ตา
พอเอามารวมกันตามโครงสร้างภาษาของเขา
แปลงออกมาเป็นคำไทยก็คือ “ตาน้ำ” นั่นเอง
ถ้าเป็นคนชาติอื่นอาจ งง กับคำผสมสองคำนี้....แต่เรา ไม่งง 555
ไม่นานนักรถก็มาจอดตรงหน้าหมู่บ้าน Gya จุดหมายปลายทางของเราแล้ว
ที่นี่อากาศหนาวกว่าเลห์จริง ๆ แฮะ… เราลงรถพร้อมกับพี่ผู้หญิงและเด็กนักเรียน
ถึงจะไม่ใช่ปลายทางของทุกคน (บ้างก็ขอติดไปไกลกว่านั้น) พื้นที่หน้ารถ
เริ่มว่างลง จากที่อัดกันแน่นมาตั้งแต่แยก Upshi และจากที่หน้าหมู่บ้าน Gya
ก็ยังมีแม่ชีและคนอีกสองรายมาขอติดรถไปด้วย บนระยะทางที่ไกลโพ้นขนาดนี้
พี่คนขับเขาก็ไม่คิดค่าเดินทางกับใครสักรูปี
"ตกลงว่าจะไม่ไป Taglang La ด้วยกันเรอะ"
อาโช่ ชวนไปดูทุ่งเลี้ยงสัตว์ของชนเผ่าของเขาที่อยู่ไกลออกไปจากนี้มาก
เขาว่าที่บ้านอยู่นั้นเป็นแบบกระโจม ไม่ได้เป็นอาคารบ้านเรือนแบบในเมือง
เราบอกว่าไม่ไหวหรอกมันไกลไป ... ว่าแล้วก็โบกไม้โบกมือลากันเป็นพิธี
จากนั้นรถกระบะคันนั้นก็วิ่งฉิวไปยังทางมืด ๆ ข้างหน้าจนลับหายไป
เด็กนักเรียนและผู้ใหญ่ที่ลงรถพร้อมกับเรา พาเดินไปยังร้านอาหารเล็ก ๆ ริมทาง
แจ้งบอกลุงคนหนึ่งที่เหมือนกับทำหน้าที่ดูแลร้านอาหารและเกสเฮาส์ ว่าเรากำลัง
หาที่พักจากนั้นลุงที่รับช่วงต่อก็พามานั่งพักหลบลมที่ร้านขายของฝั่งตรงข้ามไปก่อน
ด้านในนั้นเป็นร้านชำเล็ก ๆ มันตั้งอยู่ริมถนน เพื่อรอให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาแวะลง
จอดพักและซื้อเสบียงติดไปกินบนรถ
หลังจากที่ลุงไปบอกให้คนจัดห้องพักและเตรียมอาหารเย็นให้
เราก็นั่งรอที่ร้านนี้ชั่วคราวไปก่อน พักใหญ่มีชายอินเดียสองรายเปิดประตูเข้ามา
น่าจะเป็นคนขับรถสิบล้อ ไม่ก็รถบรรทุกน้ำมัน…พวกเขาหยิบถุงขนมที่เป็นมันฝรั่ง
ทอดกรอบยี่ห้อเลย์มาสองซองและวางเงินให้เราบนโต๊ะ 20 รูปี -- อยู่ ๆ ก็กลายเป็น
คนมานั่งขายของแทนลุงไปซะงั้น ดีนะที่ให้มาพอดี เลยไม่ต้องทอนเงินให้วุ่นวาย

⭗ มันฝรั่ง ไข่ไก่ (ที่นี่มักจะเจอไข่ไก่เปลือกสีขาว) กระสอบใส่หอมใหญ่และลังบรรจุอาหารแห้ง ที่วางพักเอาไว้ในร้านชำ

⭗ Dining Room ของเกสเฮาส์ คืนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวอื่นมาเข้าพักก็เลยดูเงียบ ๆ ไปนิด...
ที่นี่มีพื้นที่สำหรับให้ทำอาหารด้วย แต่เรากินจากที่คนดูแลฯ จัดหามาให้ ส่วนหน้าตาของที่พักบริเวณอื่น
ไม่ได้ถ่ายรูปไว้เลยค่ะ หากสนใจก็ค้นจากชื่อ Gya Norkhang guest house & restaurant เองนะ
อยู่เฝ้าร้านได้ไม่นาน ก็มีผู้หญิงอีกรายที่ทำหน้าที่ดูแลพาเราก็พาไปยังที่พัก
โดยเดินอ้อมไปยังอาคารด้านหลังร้านค้านั่นเอง ภายในเกสเฮาส์และห้องพักนี้ดูดีกว่าที่คิดไว้ มีห้องน้ำ
แบบตะวันตก แม้จะยังเดินไฟและติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นไม่ทันเรียบร้อยก็ตาม (จำได้ว่าพกไฟฉายไปอาบน้ำ)
แต่ก็เกินคาดไปจากที่คิดว่าคงได้ที่พักแนว Homestay ซะอีก...คงเป็นเกสเฮาส์แห่งเดียวในหมู่บ้านนี้แน่ ๆ
พี่คนขับรถมีน้ำใจมากที่ให้อาศัยติดรถและไม่คิดเงินใครเลย
และโชคดีด้วยค่ะที่น้องฟ้าไม่บาดเจ็บตอนรถเบรคกระทันหัน
ระหว่างทางมีคนโบกมือให้แม้ไม่รู้จักกันน่ารักดีค่ะ
น้ำจาก Chumik มีแร่ธาตุหลายชนิดน่าลองดื่ม
ได้รู้ศัพท์ใหม่ด้วย
น้องฟ้านั่งรอจัดห้องพักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนขายไปซะแล้ว
ขอบคุณที่แชร์ประสบการณ์นี้นะคะ
แล้วพี่ต๋าจะตามเที่ยวกับน้องฟ้าต่อค่ะ