วันงานเทศกาลผ่านมา - Ladakh Festival 2019

ในช่วงเดือนกันยายน มีเทศกาลมากมายที่กำลังจะถูกจัดขึ้นในเลห์ค่อนข้างเยอะ และนี่ก็คือสิ่งที่เรียกให้
เรากลับเข้าเมืองค่ะ กำหนดการจากปฏิทินงานที่จัดทำขึ้นล่วงหน้าเพื่อประชาสัมพันธ์
ให้กับนักท่องเที่ยว
จะมีระบุบอกระหว่าง
4 วันนี้ มีอะไรน่าสนใจบ้าง 

ไฮไลท์เปิดงานวันแรก เป็นขบวนแห่ทางวัฒนธรรมที่จะมีคนแต่งด้วยชุดประจำถิ่นของแต่ละภูมิภาค
โดยเริ่มเดินจาก
Karzoo ไล่มาจนถึงสนามโปโล...เราพลาดวันนี้ไปเพราะ
มัวแต่เถลไถลอยู่นอกเมือง
แต่ว่าโปรแกรมจัดงานของวันถัดมาก็ยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่น่าสนใจเยอะ
ไม่แพ้กันนะ

สถานที่จัดงานโดยมากก็อยู่บริเวณใจกลางเมือง อย่างเช่น Main Bazaar และพื้นที่รอบ ๆ  อย่างเช่น
LAMO Center, Onpo House, Eco park, สนามโปโล, ลานจอดแท็กซี่ตรง J&K Bank  ทั้งนี้เราเข้าไป
ชมงานดังกล่าวแค่บางส่วนเท่านั้นนะคะ  ที่ตั้งใจว่าอยากจะมาดูให้ได้ก็คือ
Cham หรือระบำหน้ากาก 
เพราะปกติแล้ว ระบำหน้ากาก ไม่ได้มีให้เห็นบ่อย ๆ  ถ้าไม่ได้จงใจมาให้ตรงกับช่วงจัดงานของวัดใหญ่ 
ที่จะจัดตามฤกษ์ยามในวันสำคัญที่อิงตามปฏิทินชาวพุทธทิเบตปีละหนเท่านั้น  

ย้อนไปเมื่อเอนทรี่เก่า หลังจากขึ้นรถที่ Basgo ก็กลับมาถึงตัวเมืองเลห์ก่อน
11 โมงพอดี เลยรีบตรงดิ่ง
ไปยังจุดจัดงานที่ชื่อว่า 
Chowkhang Vihara ทันที -- สำหรับใครที่เคยเดินทางมายังเลห์บริเวณตลาด
แล้วเคยเห็นที่ตั้งของวัดแห่งหนึ่งที่อยู่ตรงใจกลางตลาด...นั่นคือที่เดียวกันค่ะ  








เมื่อผ่านประตูเข้ามาแล้วก็เห็นคนมานั่งรอชมรายการนี้เยอะมาก  ต้องมองหาที่นั่งเหมาะ ๆ สักหน่อย ไม่รู้ว่างาน
เริ่มไปนานเท่าไหร่แล้ว พื้นที่บนอาคารด้านหน้าเริ่มมีการบรรเลงกลอง เครื่องเป่า และฉาบดังขึ้นแล้ว...ระหว่าง
งานมีการบรรยายโดยพิธีกรสองคนในภาคภาษาลาดักและภาษาอังกฤษสลับกันในแต่ละช่วง  ซึ่งก็ถือว่าเตรียม
กันมาดีเหมือนกัน เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจกันเยอะเลย

มีนักแสดงทั้งสามที่สวมหัวครอบปิดหน้า เดินออกมาจากตัวอาคารด้านบน พวกเขาพักนั่งที่บันไดและกำลังทำ
ท่าประกอบ คล้ายกับว่าตัวละครหลักกำลังพูดเล่าในเรื่องบางอย่างให้กับผู้ร่วมแสดงทั้งสองให้ได้ฟัง...เพือเกริ่น
นำเรื่อง  ก่อนที่พระรูปหนึ่งนำผ้าคาตักผืนขาวมาคล้องให้กับทั้งสาม ก็อาจสื่อความหมายสำหรับ การอวยพร
ต้อนรับ เคารพ หรือมิตรภาพ...(น่าจะเดาถูกสักอันละนะ)   

หลังจากนั้นการแสดงก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการบนลานปูน ทั้งสามตัวละครตลก ต่างเดินลงมาหมุนตัวไปตาม
จังหวะของเสียงดนตรี ดูเหมือนว่าเป็นการแสดงคั่นรายการเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม เพราะมีคนดูบางคน
ถูกแกล้งหยอก เพื่อให้มีส่วนร่วมในระหว่างนั้นก็มี...

มาถึงช่วงท้าย ตัวละครที่เล่นบทผู้อาวุโสก็ไล่เดิน แจกลูกอมด้วยการโปรยไปตามจุดนั่ง  เมื่อมาถึงทิศทางหนึ่ง 
แกก็ทำท่าควักย่ามเพื่อหยิบลูกอมเช่นที่เคยทำ  แต่ว่าพอโยนใส่ผู้ชมที่เตรียมตั้งท่ารอรับกลับบ๋อแบ๋เป็นอากาศ 
คนดูฝั่งนั้นต่างส่งเสียงร้องด้วยความเก้อ...สุดท้ายแล้วก็ได้รับลูกอมกันแบบทั่วถึงหมด 




เหล่าผู้ร่วมชมงานที่นั่งรอการแสดงระบำหน้ากาก บริเวณลานของ Chowkhang Vihara



สามตัวละครที่มาแสดงเปิดรายการ เพื่อสร้างบรรยากาศสนุก ๆ ให้กับคนดู 



เดินโปรยลูกอมไปตามทิศทางต่าง ๆ 


พอหมดช่วงขำขันก่อนเข้าสู่พิธีการจริง ๆ ผู้บรรยายก็เริ่มอธิบายถึงเรื่องราว ชัม ในชุดการแสดงที่สวมหมวกดำ
เพื่อเล่าถึงละครสอนศาสนาว่ามีความเป็นมายังไง...โดยมากก็จะอิงกับเนื้อหาของกูรูรินโปเช (คุรุปัทมสัมภวะ)  
ระหว่างที่ร่ายรำไปตามเสียงดนตรีจะไม่มีการพูด บทบาทของตัวละครก็มีทั้งฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรม ผู้แสดง
ทั้งหมดนั้นเป็นพระ 



การแสดง Cham ในชุดที่เรียกว่าหมวกดำ



จังหวะการหมุนตัวที่น่าจะเป็นท่าบังคับ (ทั้งของผู้แสดงและผู้ที่พยายามเก็บภาพ)
 


ส่วนนิทรรศกาลอื่นที่จัดบริเวณ Vihara Chowkhang ด้านในอาคารใกล้กับประตูทางเข้าก็คือการแสดงภาพ 
ทังก
ะ (Thangka)  ภาพวาดทางศาสนาที่เป็นแผ่นแบบม้วนได้สำหรับบูชา โดยแต่ละภาพก็มีคำบรรยายให้อ่าน
ใต้รูปด้วย ชาวบ้าน
หรือเหล่าผู้ศรัทธาก็จะมีปฏิกิริยาที่ต่างกันไปจากผู้เข้าชมโดยทั่วไป บ้างก็ยกมือไหว้ บ้างก็
โน้มศีรษะลงเพื่อแตะ
กำแพงทำความเคารพ



ผืนภาพวาดที่ลงลวดลายและสีตามแบบฉบับของพุทธทิเบต 



มีชายหนุ่มผู้หนึ่งกำลังโน้มศีรษะแตะใต้ภาพวาดฯ และมีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังยกมือไหว้ที่มุมภาพด้านขวา  




อีกพื้นที่จัดงานตรงบริเวณ Main Bazaar โซนด้านหน้ามัสยิด (Jama Masjid) เป็นนิทรรศการแสดงภาพถ่าย
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกที่พบในลาดัก Exhibition : Mammals and birds of Ladakh ของกลุ่ม Wild Life
Conservation and Birds Clubs of Ladakh  


ภาพถ่ายพวกนี้ไม่ได้มีคุณค่าแค่สวยอย่างเดียว แต่มันยังสะท้อนเป็นในอีกมุมมองหนึ่งของความหลากหลาย
ทางชีวภาพของพื้นที่ราบสูงแห่งนี้ ว่ายังมีนกและสัตว์ประเภทไหนอาศัยอยู่อีก 
ไม่ใช่ว่าเมื่อนึกถึงลาดักจะมีแค่ 
มาร์มอต,อูฐสองหนอก 
(Bactrian camel),  จามรี แค่นี้ซะที่ไหน ... จะว่าไปแล้วมีสัตว์แปลก ๆ ขนาดเล็กอีกชนิด
ที่เราบังเอิญเห็นระหว่างที่เทรกไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งด้วยนะ มันดูคล้ายหนูแต่ใบหูกลมดิก โผล่มาอวดตัวอยู่
ชั่วครู่ แล้วก็วิ่งหายไปเจ้าตัวเล็กที่ว่าคือ Himalayan Pika ค่ะ  ซึ่งหนึ่งในภาพถ่ายของนิทรรศการนี้ก็มีรูปของ
Pika อยู่ด้วยแหละ  




ผลงานการถ่ายภาพนกและสัตว์ฯ ของกลุ่ม WCBCL ที่พบในลาดัก ใน Main Bazaar ตรงฝั่งด้านหน้ามัสยิด 




สถานที่จัดวางภาพถ่าย และพื้นที่ขายผักผลไม้ที่หนนี้ถูกเขยิบย้ายมาตั้งขายถึงหัวมุม

สำหรับผู้ที่สนใจอยากชมภาพเหล่านี้ ก็แวะเข้าไปดูทางเว็บไซต์ของพวกเขาได้ที่นี่ค่ะ wcbcl.org



อีกงานการแข่งขันที่น่าสนใจและเป็นกีฬาที่ไม่ค่อยคุ้นเสียเท่าไหร่ นั่นคือ โปโล มีจัดขึ้นในช่วงบ่ายสองโมง
ตรง Polo ground ที่ดูโล่ง ๆ ไร้หญ้าเขียว...อย่างที่เราเคยเห็น มันเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถไม่ก็เอาไว้จัดงานอื่น 
แต่ว่าก็มีการใช้สนามเพื่อแข่งขันโปโลจริง ๆ อยู่นะ เคยเห็นโปสเตอร์ที่ติดประชาสัมพันธ์ตามหัวมุมต่าง ๆ ถึง
ฤดูกาลแข่งขันอย่างเป็นทางการของพวกเขาที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคม   ส่วนในงานนี้เกมการแข่งขันคง
ถูกจัดขึ้นเป็นวาระพิเศษค่ะ ... 
การเล่นกีฬานี้  คร่าว ๆ คือแบ่งเป็นสองฝ่าย เล่นคล้ายกับฮอกกี้ แต่ตัวผู้เล่นต้อง
อยู่บนหลังม้า 


หากใครติดภาพของธีมการแต่งกายของผู้คนที่จะเข้าไปดูเกมกีฬาประเภทนี้แล้วต้องใส่ชุดประชันโฉม
ติดเครื่องประดับบนผมเก๋ ๆ และถือกล้องส่องทางไกลเพื่อดูการหวดลูก ... ภาพเหล่านั้นไม่ใช่สำหรับที่นี่ค่ะ 
เพราะสนามจะลั่นไปด้วยเสียงพากย์และมโหรีปี่กลองที่ดังอึกทึกไปตามจังหวะการเดินเกม ซึ่งก็ถือเป็นจุดเด่น
ของการแข่งโปโลในลาดักที่ดูไม่เหมือนใครดี 



*** บทสัมภาษณ์ของนักกีฬาชาวลาดักผู้หนึ่งที่คลุกคลีกับวงการนี้นานถึง 40 ปี :
https://www.reachladakh.com/news/in-conversation-with-reach-ladakh/in-conversation-with-mohammad-ali-polo-player1  
(ไม่เกี่ยวกับเกมแข่งในวันนี้ แต่เป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ ของกีฬาโปโลในลาดัก)




ผู้เล่นฯ ของทีม กำลังควบม้าเข้าไปแย่งลูก 



พื้นที่อัฒจันทร์ด้านหน้าถึงจะเป็นทำเลที่ดีและชิดขอบสนาม แต่ก็ดูมีความเสี่ยงเล็ก ๆ
หากผู้เล่นควบม้ามายื้อแย่งลูกบอลกันแถวนี้...ดูสิ พวกเขาจะไปเข้าพังเต็นท์คณะกรรมการกันแล้ว (ฮา)




ภาพอีกมุมหนึ่งของสนาม ที่มีนอกเหนือไปจากภูเขาที่ล้อมรอบแล้วก็ยังมีพระราชวังเลห์ตั้งเด่นเป็นฉากหลังอีกด้วย



เหล่ากองเชียร์ ที่ทำหน้าที่บรรเลงเสียงกลองและปี่ 


จากสนามโปโล เราย้ายตัวไปเดินเล่นและหาของกินแถว Eco Park  เพื่อรอชมการแสดงสุดท้ายของเย็นวันนี้ 
จุดที่เรียกว่า Eco Park จะตั้งอยู่ถัดไปจาก Main Bazaar หากข้ามถนนมาก็คือด้านหลังจุดขายผลไม้และถั่วอบ
แห้ง  โดยปกติแล้วที่สวนสาธารณะนี้ก็ไม่มีอะไร เป็นจุดพักนั่งแต่ในช่วงเทศกาลลาดัก ก็มีการตั้งซุ้มขายสินค้า
หัตถกรรมและขายอาหารกันด้วย  ในช่วงเวลาเย็นจะมีการแสดงให้ชมบนเวที ก็เห็นผู้คนเริ่มมาจองที่นั่งกัน และ
มีกลุ่มคนที่แต่งชุดพื้นเมืองมายืนออกันในบางจุดเพื่อซักซ้อมคิวการขึ้นแสดง




ซุ้มจัดจำหน่ายอาหารและสินค้าใน Eco Park


โปรแกรมสุดท้ายของวันนี้เป็นการแสดงทางวัฒนธรรมของที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงหกโมงเย็น 
มีนักร้องชายชาวลาดักขึ้นไปร้องเพลงช่วงคั่นรายการ 2 เพลง ถึงบนเวทีจะมีความขลุกขลักบ้างในเรื่องการ
จัดเสียง ตำแหน่งวางไมค์ หรือการแสดงบางชุดที่ดูเนิบนาบไปบ้าง  แต่ก็เชื่อว่ามีสองการแสดงเด่น ๆ บนเวที
ที่ชวนให้หายง่วงได้อยู่  คือกลุ่มชายสี่คนที่แต่งตัวเหมือนจะไปออกรบ พวกเขาแสดงอาวุธต่าง ๆ มาประกอบ
ท่าเต้นอย่างดาบ เชือกสลิง และธนู -- ท่าทางตอนจบ มีการแกล้งให้คนหน้าเวทีตกใจกันด้วย ตรงที่พวกเขา
หยิบคันธนูออกมาง้างเล็งพร้อมลูกศร พอถึงจังหวะปล่อยสายเสียงดีดก็ดังขึ้นพร้อมการกระทืบเท้า คนดูต่าง
ตบมือชอบใจกันใหญ่   เราจำไม่ได้ว่าเขาจับลูกธนูยังไงถึงไม่ให้พุ่งดีดออกมาได้  และอีกกลุ่มการแสดงที่พา
กันร้องรำทำเพลงแบบสนุก ๆ โต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายหนุ่มหญิงสาว  (ไม่แน่ใจว่าเป็นของทางฝั่ง  Zanskar
หรือปล่าวนะ)  การแสดงเวทีทั้งหมดนี้ก็ ต่างว่าไปตามเรื่องราวพื้นบ้าน อดีตความเป็นมา แล้วก็วัฒนธรรมของ
พวกเขา ถึงจะไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมดกับรายละเอียด แต่เราก็รู้สึกเต็มอิ่มดีที่ได้มาเห็นอะไรแบบนี้ 



 

นักร้องท่านหนึ่งที่ขึ้นมาขับเพลงพื้นเมือง 



กลุ่มแสดงทางวัฒนธรรมกับชุดพื้นเมือง ... หมวกประดับเทอควอยซ์ที่ผู้แสดงสวมอยู่นั้นเรียกว่า 'เป-รัก' ค่ะ



อีกชุดการแสดง ที่มาร้องรำพร้อมถือดอกไม้ช่อใหญ่


พวกเขามีชุดและหมวกกันหลายทรงมาก เผื่อใครสนใจเรื่องชุดพื้นเมืองแวะเข้าไปดูได้ที่นี่ :
https://www.ju-lehadventure.com/ladakh-information/traditional-dresses-of-ladakh 



แถมท้ายอีกรายการที่จัดใน วันที่ 3 และ 4 ก็คือ การแข่งขันยิงธนู 

สถานที่ของงานนี้อยู่ตรงลานจอดรถแท็กซี่ (ใกล้ J&K Bank) แต่ก็ค่อนข้างเป็นกลุ่มเฉพาะ แดดร้อนมาก
เพราะจัดรอบบ่าย ถ่ายรูปลำบากอยู่เหมือนกันก็มีการตั้งซุ้มสำหรับนั่งพักผู้เข้าแข่งขันจะไม่ได้ยิงเป้าทีละคน 
แต่จะยิงธนูพร้อมกันทั้งทีม อาจเก็บคะแนนแบบรวมกลุ่มในเป้าเดียว...ก่อนลงสนามจะต้องมีการออกไปตั้งแถว
ร้องรำทำเพลงเชิ้บ ๆ พอเมื่อเพลงบรรเลงจบแล้ว ก็เริ่มเข้ามาประจำที่เพื่อยิงเป้านิ่งกัน 






ทีมยิงธนูกำลังเดินร่ายรำเฉลิมฉลองกันก่อนลงแข่งในรอบนี้



นักธนูที่มีทั้งชายและหญิง (มีผู้เข้าร่วมแข่งในทีมเป็นผู้พิการอีกรายนึง)






งานกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ที่ ก็มีจัดตรง LAMO Center เราไม่ได้แวะขึ้นไปเยี่ยมชมในโอกาสนี้นะคะ
เพราะเคยขึ้นไปดูนิทรรศการอื่นมาแล้วก่อนหน้า (เอาไว้จะมาพูดถึงภายหลัง) ส่วน Onpo House ได้เข้าไปดู
เพียงผ่าน ๆ ไม่พบชิ้นงานแสดงอะไรด้านในตามที่แจ้งในปฏิทินฯ  รายการบางส่วนอาจถูกตัดออกไป เช่นเดียว
กับในค่ำคืนของวันที่ 4   สถานที่จัดงานตรง Eco Park ก็ไม่มีเวทีการแสดงอะไรแล้ว คาดว่าคงมีงานอื่นที่มาจ่อ
คิวรออยู่เร็ว ๆ นี้ อีกเพียบ

 


 




Create Date : 23 สิงหาคม 2563
Last Update : 1 กันยายน 2563 0:05:17 น.
Counter : 1376 Pageviews.

10 comments
»FFF#94« "กินเพลินเกินห้ามใจ" ผัดหมี่เส้นจันท์ nonnoiGiwGiw
(16 เม.ย. 2567 15:00:28 น.)
เติมให้ความมี เติมให้ความไม่มี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 20:54:29 น.)
สุขสันต์วันปีใหม่ไทย ๒๕๖๗ haiku
(13 เม.ย. 2567 10:13:33 น.)
Bangsaen 21 The Finest Running Event Ever 2023 บางแสน แมวเซาผู้น่าสงสาร
(12 เม.ย. 2567 10:20:55 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtuk-tuk@korat, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณสองแผ่นดิน, คุณKavanich96, คุณauau_py, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณhaiku, คุณเริงฤดีนะ

  
ขอบคุณที่พาไปเปิดหูเปิดตาค่ะ
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 25 สิงหาคม 2563 เวลา:14:35:57 น.
  
tuk-tuk@korat : ยินดีเจ้าาา
โดย: กาบริเอล วันที่: 26 สิงหาคม 2563 เวลา:18:46:56 น.
  
นี่จงใจเขียนชื่อชวนให้นึกถึง "โบ(ว์)รักสีดำ" ใช่มั้ย 55

(เดี๋ยวค่อยแวะมาใหม่นะ ^^")
โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 26 สิงหาคม 2563 เวลา:23:25:29 น.
  
เป็นสถานที่ที่อยากไปมานานแล้ว ขอเก็บข้อมูลจากบล๊อกนี้ก่อน
สบายดีนะครับคุณวาชิ
โดย: สำรวจฟ้า IP: 180.180.222.114 วันที่: 27 สิงหาคม 2563 เวลา:9:51:07 น.
  
ทุเรียนกวนฯ : แถวนั้นไม่มีโบดำ ช่วยเปลี่ยน
เนื้อร้องเป็นผ้าคาตัก(ผืนขาว) แทนได้ป่ะ 555

สำรวจฟ้า : พี่โต้ง ที่ลาดักมีนกให้ส่องเยอะเลยค่ะ
โดย: กาบริเอล วันที่: 27 สิงหาคม 2563 เวลา:14:20:10 น.
  
ขอบคุณที่แบ่งปัน
โดย: Kavanich96 วันที่: 29 สิงหาคม 2563 เวลา:3:59:07 น.
  
ว้าว น่าไปเที่ยวมากเลยค่ะ ขอบคุณที่พาเที่ยว พาชมกิจกรรมนะคะ
โดย: auau_py วันที่: 29 สิงหาคม 2563 เวลา:5:18:58 น.
  
มีกิจกรรมหลายอย่างแล้วก็หลากหลาย
มีทั้งมโหรสพ นิทรรศการภาพถ่าย ยิงธนูโชว์ แถมโปโลก็มีด้วย
จัดว่าเป็นเทศกาลใหญ่มาก ๆ คุ้มค่ากับการมาจริง ๆ >.<

ต้นแบบของ พิคาชู (Pikachu) เรื่องโปเกมอน มาจาก Himalayan Pika นี่แหละ
แต่ Pika ตัวจริงไม่น่าจะปล่อยไฟฟ้าแสนโวลต์ได้เนอะ :P


ป.ล. เสียงพากย์ ^^
โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 30 สิงหาคม 2563 เวลา:0:11:50 น.
  
เห็นชื่อ Pikachu ทำไมไม่นึกว่ามีคนชื่อ "คา" หรือ "ชู" บ้างเล่า
โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 1 กันยายน 2563 เวลา:16:37:12 น.
  
Thanks for giving a glimpse of ladakh festivals. for more details about ladakh visit https://www.travelmykashmir.com
โดย: ZeyanPro IP: 169.149.193.177 วันที่: 23 กันยายน 2565 เวลา:12:13:46 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Wachii.BlogGang.com

กาบริเอล
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]

บทความทั้งหมด