SPITI (ปี 3) จิบอารักที่ Lalung ประมาณบ่ายสาม หลังจากเตร็ดเตร่ไม่ไกลเกินตลาดใน Kaza เราก็ย้ายตัวเองมาอยู่แถวท่ารถโดยสาร อาคารที่ทำเป็นจุดจอดรถยังคงไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ จากรถโดยสารสีเขียวคาดขาว ที่มาประจำการ ชาวบ้านบางส่วนต่างหอบซื้อข้าวของจากที่นี่เพื่อนำกลับไปยังหมู่บ้านตน เพราะแหล่งกระจายสินค้ามี เพียงที่นี่เท่านั้น ไม่ไกลไปจากม้านั่งนอกอาคารมีกองพะเนินของเสื้อกันหนาวมือสองคละไซส์ราคาไม่แพง มาวางขาย แบบแบกะดิน เห็นหลายคนต่างผลัดแวะเวียนไปดูทั้งเลือกและลองกัน บ้างก็เพื่อคั่นเวลาระหว่างรอรถ ไม่ก็ได้เจอเสื้อที่ถูกใจกันสำหรับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือน เหลือบมองไปที่ร้านขายน้ำชาฟากตรงข้ามกับท่ารถจะมีที่ตั้งของร้านเก่าที่ครอบครัวน้องตี๋เคยมาค้าขาย อยู่ช่วงระยะหนึ่ง พวกเขามาจากเนปาลและน่าจะไปทำมาค้าขายที่อื่นกันแล้ว หลังจากได้แวะเข้าไปสั่ง อาหารกินก็พบว่าเป็นรายใหม่ที่มาเซ้งกิจการต่อ เรื่องราวเล็กน้อยที่เป็นความหลังเก่า ๆ บางทีก็มีทั้งดีใจ และอาจต้องทำใจกับการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ไม่นานนัก ท่ารถก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวและดูคึกครื้นขึ้นมาบ้างจากรถเที่ยวหนึ่งทีมาเทียบจอดด้านนอก คันนี้มีคิววิ่งไปยัง Ki และ Kibber รอบบ่ายสี่ และอีกสองคันที่จอดรอภายในอาคารก็เริ่มวางป้ายหน้ารถ และทำความสะอาด ปัด ๆ กวาด ๆ พอเป็นพิธี คนขับและกระเป๋ารถของ HRTC ในเครื่องแบบสีกากี ออกมายืนจิบชาตรงด้านนอกรอเวลารถออกตามตาราง พนักงานประจำรถเหล่านี้ไม่ใช่คนพื้นที่ แต่เป็น ชาวอินเดียที่มาจากเมืองด้านนอก ทุกวันนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าพวกเขาใช้เกณฑ์อะไรมาวัดทดสอบ ทักษะการขับขี่ยวดยานพาหนะในย่านนี้กัน แต่เชื่อว่าจะต้องคัดคนที่เชี่ยวชาญและชำนาญพื้นที่หุบเขา ในระดับดีเยี่ยมแน่ ๆ เลย เที่ยวรถของวันนี้ นอกเหนือจาก Ki, Kibber ก็เหลือ Lalung และ Mud ตามลำดับ ตัวเลือกมีน้อย ก็ตัดสินใจว่าจะไป Lalung แทนอีกหมู่บ้านหนึ่งที่เย็นวันนั้นไม่มีคิววิ่ง แล้วในวันรุ่งขึ้นค่อยใช้วิธีเดินเท้าเชื่อมต่อเอาก็แล้วกัน ⭗ แผ่นป้ายรถโดยสาร Kaza-Lalung สีเหลืองที่เสียบบอกหน้ารถเป็นภาษาฮินดี บางทีก็ต้องหัดอ่านชื่อจากป้ายไว้บ้าง ⭗ จอดรับผู้โดยสารกลางทาง ณ บริเวณหนึ่งจากรถอีกคันหนึ่่งที่ขับสวนมาอีกทาง ⭗ สะพานข้ามแม่น้ำ Lingti ⭗ เส้นทางไปยังหมู่บ้าน Lalung หลังจากเลยผ่าน หมู่บ้าน Rama ไปแล้ว ⭗ แม่น้ำและที่ตั้งอาคารบ้านเรือน เมื่อรถวิ่งมาถึงทางแยกหนึ่ง ก็จอดรับผู้โดยสารที่ลงกลางทางรับช่วงต่อกับอีกคัน เบาะข้าง ๆ ที่ว่างอยู่ของเราก็ มีชายชาวพื้นเมืองมานั่งด้วย เขาสวมหมวกปีกกว้างแบบธรรมดา แต่งตัวด้วยชุดดั้งเดิมของชาวสปิติ แต่เป็นการ ตัดเย็บด้วยใช้ผ้าที่มีลวดลายสีสด ถึงจะไม่มีเครื่องประดับสวมแบบชุดเต็มยศ เดาว่าเสื้อผ้าแบบนี้คงไม่มีใครที่ ไหนเขาหยิบออกมาใส่เป็นชุดประจำวันหรอก นอกเสียจากจะมีงานสำคัญอะไรสักอย่าง ภาพตัวอย่างของชุดจากเพจ : Spiti Sojourn ชายคนดังกล่าวเป็นชาวหมู่บ้าน Lalung ด้วยชุดที่โดดเด่นของแกทำให้หนุ่มอินเดียรายหนึ่งจากเบาะหน้า ที่เหมือนเดินทางมาเพื่อเก็บภาพและข้อมูลเกี่ยวกับสปิติ ได้หันมาพูดคุยและซักถามกันยกใหญ่ ซึ่งดูเหมือน ว่าเขาจะถามได้ถูกคนเสียด้วย ชาวสปิติรายนี้สามารถพูดคล่องทั้งภาษาฮินดีและอังกฤษ หลังจากที่รถพาเราลัดเลี้ยวขึ้นวนไปยังถนนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งได้เห็นที่ตั้งของหมู่บ้านและพื้นที่ เพาะปลูกลดหลั่นไปบนที่เนินลาดชัน ดูเหมือนว่าการเก็บเกี่ยวของหมู่บ้าน Lalung จะช้ากว่าที่อื่น ๆ พอได้จังหวะพี่ที่สวมชุดพื้นเมืองจึงไม่รอช้าที่จะนำเสนออย่างภาคภูมิใจ "นี่ไงล่ะ หมู่บ้านลาลุงที่สวยงามของฉัน" ⭗ หมู่บ้าน Lalung หรืออาจเขียนว่า Lhalung ตามความหมายที่แปลได้ว่า Land of god (โดยคำว่า Lha มีความหมายถึง god ในทำนองของ เทพ, เทวดา ที่ช่วยปกปักคุ้มครอง) ปลายทางของการเดินรถก็คือที่ลานบริเวณหน้าหมู่บ้านที่กำลังเต็มไปด้วยผู้คน มีเสียงร้องเพลงที่ดังขึ้นคลอไปกับกลอง นอกเหนือไปจากที่จอดประจำของรถโดยสาร ก็ยังมีรถยนต์หลายคันที่พานักท่องเที่ยวขึ้นมายังหมู่บ้านก็มาจอดพักตรงนี้เป็นการชั่วคราว ⭗ ลานหน้าหมู่บ้านที่แบ่งพื้นที่สำหรับเป็นที่จอดรถ ในวันนี้ดูเหมือนจะมีกิจกรรม หรืองานอะไรบางอย่างมีผู้คนแต่งชุดท้องถิ่น และร้องรำทำเพลงกัน อากาศที่เย็นลงเรื่อย ๆ ในช่วงเวลานี้ ทำให้เราไม่สามารถยืนอยู่ในที่โล่งแจ้งได้นานนักถึงกิจกรรมตรง ลานด้านนอกจะน่าสนใจดีก็เหอะ ก่อนอื่นต้องหาที่พักให้ได้ก่อนแล้วค่อยว่ากัน ไม่ไกลไปจากลานกว้าง บริเวณตำแหน่งที่ตั้งของบ้านเรือนด้านหน้าสุดมีเขียนป้ายไว้ว่าเป็นโฮมสเตย์ พอลองเดินไปเคาะประตู รวมถึงตะโกนเรียก แต่ก็เหมือนไม่มีคนในบ้านได้ยินเสียงเรียกไม่ก็น่าจะหายไปอยู่กันที่ลานกันหมด เมื่อเดินเข้าตรอกเล็กเพื่อหาบ้านอื่นที่เปิดรับ ก็สวนผ่านกับคนขับและกระเป๋ารถฯ พวกเขากำลังจะไป พักยังบ้านหลังหนึ่งที่น่าจะมีการดีลกันไว้ "ตามมาสิ พวกเรากำลังจะไปที่โฮมสเตย์เหมือนกัน" พี่กระเป๋ารถฯ คุยกับป้าคนหนึ่งที่นั่งหน้าบ้าน เหมือนกับจะถามถึงห้องว่างสำหรับแขกอีกคน ป้าบอกโอเค แล้วก็ชี้ให้เข้าไปที่บ้าน เมื่อเข้าไปด้านในก็จะเจอกับโถงห้องรับแขกกึ่งห้องครัว มีผู้หญิงรายหนึ่งกำลังก่อ ไฟเพื่ออุ่นอาหารอยู่ จุดนั่งในครัวที่จัดไว้เป็นวงล้อมแบบบ้านสไตล์ท้องถิ่นแบบนี้เป็นเหมือนกันทุกบ้าน เราหาที่พักนั่งมุมหนึ่งติดกับหน้าต่าง เอกเขนกรับไออุ่นที่แผ่มาจากเตากลางลานบ้าน พร้อมกับรับชาอุ่น ๆ มาจิบแก้หนาว จนลืมเรื่องด้านนอกไปเสียสนิท ออกไปตอนนี้ก็หนาวตายกันพอดี พนักงานประจำรถสอง รายนั่งคุยกับคนโน้นคนนี้ในบ้านราวกับว่าพวกเขาสนิทสนมกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พลางช่วยปอกมันฝรั่ง และบิถั่วลันเตาหวานออกจากฝักเพื่อไว้ทำมื้อค่ำ ทีวีตรงมุมบ้านถูกเปิดขึ้นมาเพื่อคลายบรรยากาศให้ผ่อนคลายขึ้น ท่าทางวันนี้จะมีหลายคนมาเยือนบ้านนี้ ละครโทรทัศน์ที่ดูเป็นหนังอินเดียดูทรงแล้วคงน่าจะเก่าพอสมควร คนขับรถหัวเราะร่าเมื่อได้ดูอากัปกิริยา ที่เราแอบอมยิ้มและพยายามกลั้นขำกับสิ่งที่กำลังฉายอยู่ ว่าแล้วก็ถามพวกเขาถึงเที่ยวรถเดินทางไป Demul ต่อในวันพรุ่งนี้ แต่ก็น่าผิดหวังเล็ก ๆ ที่รถไม่ได้แวะผ่าน หมู่บ้านดังกล่าว (เวลามองจากแผนที่ดูเหมือนกับว่า Demul กับ Lalung จะไม่ไกลกันเท่าไหร่) พี่กระเป๋ารถ ชี้ไปยังทิศทางหนึ่งพอให้รู้ว่ามันตั้งอยู่บนเขาสูงตรงโน้น ทิ้งเรื่องแผนการเดินทางไปแล้วมาดูหนังเพลิน ๆ ต่อดีกว่า พักใหญ่ก็มีคนเข้ามาร่วมวงเพิ่มอีกเป็นชาว ต่างชาติและชายชาวเมืองที่น่าจะเป็นคนของบ้านนี้ พวกเขาคงเพิ่งจะตกลงเรื่องที่พักกันได้เป็นที่เรียบร้อย นี่ถ้าเทียบกับบ้านของนาวังที่ค่อนข้างเงียบสงบ คนบ้านนี้จะออกไปทางครื้นเครงมากเลย ชายชาวสปิติผู้ เป็นเจ้าเรือนรายนี้มีแถบผ้าคะตักผืนขาวพันล้อมแขนข้างหนึ่งไว้ น่าจะเพิ่งไปร่วมพิธีอะไรมาแน่เลย อาเช่ (พี่ผู้หญิง) เริ่มลงมือทำอาหาร และนำเอาขวดแก้วบรรจุของเหลวบางอย่างดูที่ใสกริ๊งเหมือนกับน้ำ มาต้อนรับแขกมาเธอรินแจกให้ชิมคนละนิดก่อนที่จะเอาน้ำเปล่ามาผสมดับความแรงของดีกรี น้ำที่ว่าเรียกว่า อารัก (Arak) ซึ่งหากเทียบกับน้ำข้าวหมักประเภทเบียร์ท้องถิ่นที่เรียกว่า ชาง (Chaang) แล้วอารักจะแรง กว่าน่าจะเทียบได้กับสุราท้องถิ่น อ้อ ... แถมยังมีเยอ (Yoe) หรือข้าวบาร์เลย์ที่คั่วจนปริคล้ายป็อบคอร์น มาให้กินเป็นของขบเคี้ยวด้วย ในขณะที่คนอื่น ๆ ได้ดื่มจากแก้ว แต่พี่ผู้ชายเจ้าของบ้านกลับใช้วิธีรินลงที่ฝ่ามือแล้วก้มสูดซดเข้าปาก อย่างว่องไว มันเป็นการจิบดื่มที่แปลกมากในความรู้สึกของเรา ชายต่างชาติที่เพิ่งมานั่งร่วมวงพร้อมเรา ก็เริ่มพูดแทรกว่าเขาเคยเห็นการดื่มแบบนี้มาก่อนนะ "ผมเคยแวะไปที่วัดสักแห่งแถวย่านนี้ เห็นลามะกำลังทำพิธีบางอย่าง ถือกาน้ำรินให้คนนั้นคนนี้และพวกเขาใช้ฝ่ามือมารอง ไอ้ผมก็นึกว่า เป็น Holy water เสียอีก" เขาเล่าย้อนถึงประสบการณ์ที่ดูเหมือนเพิ่งผ่านไปไม่นานพร้อมกับขำร่วน "พอถึงคิว พระท่านก็ถามว่ารับด้วยมั้ย ผมก็ทำท่ารับด้วยการยกมือเหมือน ๆ กับ คนอื่นที่เขาทำก่อนหน้า หลังจากยกซดเท่านั้นแหละถึงรู้ว่ามันเป็นแอลกอฮอล์" เออเนาะ ใครจะไปคิดว่าในวัดมีของแบบนี้ฟะ หลังจากคุยกันไปคุยมา ก็ได้ความว่าชาวต่างชาติรายนี้เขาเดินมาจาก Komic เทรกข้ามเขาเชื่อมมายัง Demul และ Lalung ตามลำดับก่อนที่พรุ่งนี้จะไปต่อที่ Dhankar เฮ้ย...ในที่สุดเราก็หาคนบอกข้อมูล การเดินเท้าขึ้นเขาข้ามทุ่งได้สักทีโว้ย!!! ทีแรกว่าจะให้เขียนแผนที่คร่าว ๆ ให้ เขากลับยื่นโทรศัพท์ส่ง มาเพื่อให้ลอกการบ้านจากเส้นทางในนั้นได้เลย ลองเช็คดูแผนการเทรกตามเส้นทางที่นายคนนี้จาก Link : Google map วันนี้มีเทศกาล เราได้ยินเสียงม้าวิ่งควบผ่านข้างบ้านไปอย่างรวดเร็ว เวลานั้นยังไม่มืดสนิทเท่าไหร่ พอชะโงกหน้าผ่านหน้า- ต่าง ก็ได้ทันเห็นผู้ชายในชุดพื้นเมือง กำลังขี่ม้ามุ่งตรงไปยังท้ายหมู่บ้านผ่านสายตาอยู่สองสามราย โดยเป็น เหตุการณ์ที่ต่อเนื่องห่างกันไม่กี่นาที และไม่น่าจะใช่กิจประจำวันของคนแถวนี้แหง อาโช่ (คำเรียกแทนชาย ที่มีอายุมากกว่า) บอกแค่ว่ามีเทศกาลในวันนี้...ถ้างั้นคงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับบรรยากาศตรงลานจอดรถแน่ ๆ ความกระตือรือร้นและความสงสัยที่จะผลักให้เราเดินออกไปตามหาที่มาของสิ่งดังกล่าวก็ถูกเบนเบี่ยงไป จาก อาหารมื้อค่ำและอารักที่เริ่มนำมาเสิร์ฟ พอได้ที่แล้วก็เริ่มไม่อยากลุกไปไหน แต่ดูท่าทางคนขับรถแกจะสนุก ไปกับมื้อนี้ไม่น้อยหน้าไปกว่าใคร เขาหยิบขวดอารักมารินใส่แก้วครั้งแล้วครั้งเล่า พลางชวนให้ชาวต่างชาติ และเราดื่มเพิ่มอีก "ไม่" เขาเอามือป้องปากแก้วไว้ "ของแบบนี้ค่อย ๆ ดื่มจะดีกว่า" ปริมาณการรินก็แค่ 1/4 ของแก้ว ที่เหลือก็ผสมน้ำเจือจาง สำหรับการดื่มเป็นพิธีแบบพอหอมปากหอมคอ แอบหวั่นใจกับลุงคนขับรถหลังแกได้ยึดครองขวดนั้นไป...พรุ่งนี้เช้าจะเป็นยังไงหนอ ถ้าไม่ได้สลับคนขับก็ อาจต้องมีประกาศแจ้ง ตึ่ง ตึง ตึ้ง ... เรียนผู้โดยสารเที่ยวรถ Lalung - Kaza โปรดทราบ ขณะนี้คนขับรถยังไม่สร่างเมา กรุณาเตรียมใจขณะนั่งรถกันด้วย ... ตึ้ง ตึง ตึ่ง ⭗ อารักที่เจ้าของบ้านได้เอามาเลี้ยงต้อนรับ ส่วนเราเติมอารักไปแค่สองหน ดีที่ไม่มีการคะยั้นคะยอ หลังมื้อค่ำหมดไปพวกเราต่างเอาจานชามไปล้าง เก็บตรงหัวมุมบ้านใกล้ประตูทางเข้าที่แบ่งพื้นที่เล็ก ๆ เทปูนให้ลาดเอียงเพื่อส่งระบายน้ำออกไปด้านนอก ผ่านท่อขนาดเล็กที่เจาะยื่นออกไปยังส่วนนอกอาคาร ปกติแล้วน้ำจะถูกนำมาใส่ถังบรรจุไว้ให้ตักใช้และวาง ไว้ข้าง ๆ จุดซักล้าง อย่างเวลาล้างหน้า แปรงฟัน ก็จะใช้พื้นที่ตรงนี้เช่นเดียวกัน ส่วนเวลาจะอาบน้ำ เอ๊ะ...ไม่รู้สิ ก็ไม่เห็นจะมีใครอาบหรือถามถึงสิ่งนี้กันเลยนี่ ที่จริงแล้วมีค่ะ มารู้ภายหลัง ว่าบ้านนี้เขาทำห้องสำหรับอาบน้ำแยกไว้ด้านนอก ส่วนห้องน้ำก็เป็นแบบ dry toilet สุดคลาสสิคนั่นเอง สองพนักงานขับรถรับเครื่องนอนจากเจ้าบ้านที่จัดไว้ให้และบอกลาไปนอนทั้ง ๆ ชุดเครื่องแบบกากีแบบนั้น พวกเขามีห้องนอนพิเศษที่ถูกจัดไว้ให้โดยเฉพาะ อาโช่พาเราไปดูห้องพักหลังจากเพิ่งรู้ว่ามานั่งจ๋อมอยู่นาน สองนานแล้วยังไม่ได้เอาของไปเก็บเสียที พอเปิดห้องให้ดูก็พบเสื้อกันหนาว พาวเวอร์แบงค์เสียบชาร์จไว้กับ โทรศัพท์บนเตียง รองเท้าเทรกกิ้งกองวางกับพื้นไว้...ก็เดาได้ไม่ยากหรอกว่าเป็นสัมภาระของใคร ตายละหว่า พวกเขาคิดว่าเราเดินทางมากับนายโปรตุเกสนั่นรึไงฮะ? สรุปง่าย ๆ คือบ้านหลังนี้ได้รับแขกผู้เข้าพักทับซ้อนกันเฉย ห้องพักที่ทำไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวก็มีอยู่แค่ห้องเดียว ทีนี้มันก็มืดค่ำแล้ว จะออกไปหาที่พักใหม่ก็คงไม่ทัน เลยบอกเขาว่าจะแบ่งพื้นที่ให้นอนที่ห้องรับแขกก็ได้นะ ไม่มีปัญหา พวกเขาปรึกษากันครู่หนึ่ง สุดท้ายก็ยกต้องห้องนอนของครอบครัวอีกห้องให้เราเข้าพักแทน ส่วน เจ้าบ้านและเจ้าของห้องตัวจริงต้องพากันย้ายตัวไปหลับด้านนอก หลังแยกย้ายกันไปเข้านอนกันหมดแล้ว ทุก ๆ คนก็ปิดไฟกันเงียบกริบ มุมหน้าต่างตรงหัวเตียงของเรามี ต้นไม้ปลูกประดับริมหน้าต่างยอดนิยมอย่างเจเรเนียม (เหมือนกับที่เคยเห็นแทบทุกบ้าน) ตั้งอยู่สองกระถาง บานหน้าต่างเป็นกระจกใสสามารถมองเห็นภาพของหมู่บ้านแห่งนี้ได้ท่ามกลางความมืด ในช่วงเวลานั้นมีแค่ ไฟสว่างเล็ดลอดให้เห็นอยู่ตามบ้านไม่กี่หลังคาเรือน แม้จะยังหัวค่ำอยู่ แต่ความเงียบสงัดแบบนี้ทำให้เริ่มรู้สึก ง่วงนอนได้โดยอัตโนมัติ เผลอหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้แต่คงไม่นาน ก็ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกด้วยเสียงเพลงประหลาดที่ดังมาจาก ท้ายหมู่บ้าน เสียงที่ว่านั้นมันเริ่มจากพื้นที่ไกล แล้วไล่ดังเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความอยากรู้ ทำให้เรา ต้องรีบลุกขี้นมามองหาต้นทางของเสียงนั้นผ่านหน้าต่างของห้องทันที เสียงที่ว่าคล้ายกับคนร้องเพลง ฟังแล้วก็น่าจะมีกันอยู่สามราย ลำแสงที่แกว่งไปมาจากไฟฉายจากที่ไกลสาด ฝ่าความมืดไปอย่างสะเปะสะปะ...จะว่าเป็นการร้องเพลงตามบ้านแบบ caroling ช่วงคริสต์มาส ก็ไม่น่าจะใช่ นี่มันเพิ่งจะเดือนกันยายนเอง ขณะที่คิดคำตอบไปเรื่อยเปื่อยพร้อมกับจ้องมองออกไปด้านนอก ชักเริ่มเห็น การขยับใกล้เข้ามาของเสียงประสานนั้นกระชั้นชิดเข้ามาแล้ว สิ่งที่ร้องกันลั่นมันเป็นแนวเพลงท้องถิ่นที่คนฝั่งนี้ชอบเปิดฟังกัน เป็นภาษา Bhoti กับทำนองเพลงประจำ ภูมิภาคทั้งในลาดักและหุบเขาสปิติ โดยมันเป็นคนละแนวกับ Bollywood หรือแม้กระทั่ง Pahari หลังเฝ้ารอคอยคำตอบแบบใจจดจ่อเกือบ 10 นาทีได้ เจ้าของเสียงร้องทั้งสาม โผล่ออกมาปรากฏกายให้เห็น ที่ลานหลังบ้าน แสงจากไฟฉายยังคงกวัดแกว่งแบบไม่มีทิศทางจากมือที่ถืออยู่ หนุ่มสามรายนี้ยืนโอบไหล่กัน และกัน ล้อมวงขยับเท้า เหวี่ยงตัวหมุนวนไปรอบ ๆ ตะเบ็งเสียงร้องรับส่งกันเหมือนไม่ยอมหมดแรง ทั้งหัวเราะ ทั้งเดินเซ จนเต้นแทบไม่ไหวแล้วจากนั้นก็ได้ยุติลง ค่ำคืนนี้กลับสู่สภาวะเงียบสงบดังเดิม...ที่แท้ก็คนเมานี่หว่า ช่วงหกโมงเช้า ดูเหมือนทุกคนจะลุกตื่นในเวลาที่ไล่เรี่ยกัน กลุ่มเจ้าบ้านที่นอนกันในห้องรับแขก ก็เริ่มงัวเงีย ลุกขึ้นมาล้างหน้า รวมถึงตระเตรียมอาหาร ในช่วงเวลาที่ยังมีอย่างเหลือเฟือในยามเช้าเราได้ใช้ไปกับการเดิน รอบบริเวณหมู่บ้าน จนกระทั่งไปถึงยังจุดที่ตั้งของสถูปสีขาวสามองค์มีผืนธงยาวอย่างละสีปักเอาไว้ น่าจะทำ ไว้สำหรับเทพยดาที่ปกป้องรักษาหมู่บ้าน (ทั้งนี้ จขบ. ก็คาดเดาเอานะ) ⭗ บ้านเรือนที่สร้างในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ⭗ พื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ไล่ลาดไปตามเนินเขา นาข้าวใน Lalung จะยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยวมากเท่าไหร่ ⭗ สถูปสีขาวทั้งสามองค์ ⭗ Lalung Monastery หรืออีกชื่อคือ Sarkhang อันหมายถึงวัดทองคำ หมู่บ้าน Lalung หากยึดตามป้ายบนหลักกิโลฯ ก็จะระบุว่าตั้งอยู่บนความสูง จากระดับน้ำทะเล 3,730 เมตร อยู่ไกลจาก Kaza 28 กิโลเมตร ระยะเวลา การเดินทางด้วยรถโดยสารนานเกือบชั่วโมง มีที่ทำการไปรษณีย์ ไม่มีร้านค้าหรือร้านอาหาร ที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ก็จะเป็นในรูปแบบโฮมสเตย์เท่านั้น ดังนั้นเรื่องของอาหารการกิน จึงต้อง ฝากฝังกับบ้านที่เราไปพักอาศัยค่ะ ส่วนศาสนสถานก็มีวัดที่ชื่อ Lalung Monastery ภายนอกดูเหมือนใหม่เอี่ยม เพราะผ่าน การซ่อมแซมมาแล้ว แต่จากที่นายโปรตุเกสเล่าให้ฟัง พื้นที่ด้านในของวัดยังดูเก่าแก่โบราณ แบบของดั้งเดิมเลย ก็คงจะตรงกับข้อมูลที่ว่าเป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ยุคเริ่มแรกในหุบเขาสปิติ ทีจริงเราก็ได้แต่แวะไปดูช่วงเช้าก่อนออกเดินทางต่อ คงจะเช้าเกินเลยไม่มีคนดูแลมาเปิดให้ เข้าชม ไม่แน่ใจว่าเขาอนุญาตให้ถ่ายรูปด้านในด้วยมั้ย เห็นมีภาพบางส่วนโชว์บนอินเตอร์เน็ต หลายที่อยู่ กิจกรรมสำหรับหมู่บ้านนี้ไม่มีอะไรมากเท่าไหร่ อาจเป็นจุดแวะพักสำหรับคนที่อยากท่องเที่ยว แนวทาง Homestay Trek ในหุบเขาสปิติสามารถเดินเชื่อมต่อถึงกันจากหมู่บ้านต่าง ๆ ถึงกันได้ ส่วนราคาของโฮมสเตย์จะยึดตามมาตรฐานเหมือนกันทั้งหมดก็คือ 700 รูปี (ข้อมูล ปี 2019) .... "เมื่อคืนนี้ได้ยินเสียงคนเมาร้องเพลงกันมั้ย?" ในมื้อเช้าก่อนจากลา เราเริ่มต้นพูดคุยกับนายโปรตุเกสด้วยสิ่งที่ได้ยินมาช่วงกลางดึก อยู่ห้องข้าง ๆ กัน ก็น่าจะได้ยินมั่งแหละ "ไม่อ่ะ จำได้แค่ว่า พอหัวถึงหมอนไม่เกินสามนาทีก็หลับเป็นตาย" เขาบอก ส่วนอาโช่และเหล่าคนบ้านในนี้ที่นอนกันในห้องรับแขกก็บอกแค่ว่ามีงานเทศกาลเฉลิมฉลองกันเมื่อวาน เราสงสัยว่าเขาร้องเพลงอะไรกัน นี่ถ้ารู้ชื่อสักนิด กลับบ้านไปจะได้หามาเปิดฟัง มาถึงคำถามนี้ อาโช่ นึกไม่ออก แต่ในทางกลับกัน นายโปรตุเกสกลับตอบได้ซะงั้น "ARAK SONG" ฮ่า ๆๆๆ ⭗ รอยเส้นทางสำหรับเดินเท้าไปยัง Demul และ Dhankar เมื่อมองจาก Lalung Monastery ⭗ เส้นทางเดินเท้าไปยังจุดหมายข้างหน้า หมู่บ้าน Demul (มีใครมองเห็นมั้ยเอ่ย?) ได้เวลาเก็บข้าวของเตรียมออกเดินทางต่อ หลังจากมื้อเช้าทั้งคนขับรถและกระเป๋ารถฯ ต้องรีบออก จากที่พัก เพื่อให้ทันเที่ยวรถรอบเช้าที่จะวิ่งกลับไป Kaza ในรอบเจ็ดโมงครึ่ง ทั้งนี้พวกเขาได้บอกให้เรา ติดรถไปลงยังหมู่บ้าน Rama เพื่อที่จะเทรกไปยังที่หมายถัดไปได้ง่าย ๆ นายโปรตุเกส แนะนำให้เราเดินออกไปพร้อม ๆ กับเขาเลยก็ได้ยังไงก็ไปทางเดียวกันอยู่ดี ถ้าจะไปกับ เที่ยวรถโดยสารรอบเช้าขนาดนี้มันจะแลดูเร่งรีบเกินเหตุ และไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงหมู่บ้าน Rama "พวกเราจะแยกทางเดินตรงจุดหนึ่ง ผมจะต้องเดินขึ้นไปเส้นบนเพื่อเทรกไป Dhankar ส่วนเธอ แค่เดินหาทางลัดลงไปข้างล่าง พอเจอกับสะพานก็ข้ามไปอีกฝั่งของแม่น้ำ..." เขาเล่าถึงเส้นทางไปยังหมู่บ้าน Demul ต่อจากนั้นจะเป็นทางที่ค่อนข้างชันมาก ๆ แต่ก็อาจเป็นเรื่องที่ดีหากจะเดินขึ้นไป มันอาจปลอดภัยกว่าการเดินลงที่เสี่ยงลื่นไถล เราจ่ายเงินให้กับทางที่พัก และได้รับโรตีพกติดมาเป็นเสบียงคนละสามแผ่น อาเช่ ใจดีมากที่แถมไข่ต้ม เพิ่มมาให้อีกคนละสองฟอง คงกลัวหิวกลางทางเพราะต้องออกแรงเดินกันอีกหลายกิโลฯ พวกเราออก จากบ้านหลังนี้ในช่วงเวลาแปดโมงครึ่งและแยกย้ายไปตามเส้นทางของแต่ละคน Demul คือหมู่บ้านปลายทางของวันนี้ กับแผนการเดินเท้าที่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนแข่งกับใคร ยิ่งพอได้เห็นที่ตั้งจากระยะไกลแล้ว โอเค...อย่าเพิ่งท้อ ยังมีเวลาอีกเหลือเฟือ
น้องฟ้าเป็นนักเขียน
และนักผจญภัยผู้เดินทางที่กล้าหาญ และถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ+ น้าติดตาม และมีเอกลักษณ์ โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 27 สิงหาคม 2565 เวลา:6:00:45 น.
ขับรถตามหเขาผมยอมใจจริงๆ พวกนี้ต้องฝีมือ เพราะพลาดทีจบเกม ไหนจะต้องมาเจอเสียงผู้โดยสารที่อาจแตกตื่นอีก ทั้งๆ ที่เขาอาจรู้สึกธรรมดา มนุษย์ก็ช่างสรรหาที่อยู่อาศัยจริงๆ บางที่ดูแล้วยากลำบาก แต่พวกเขาก็อยู่กันได้แบบสบายๆ
ฮา จริงครับใครจะไปคิดว่าในวัดมีของแบบนี้ มีการรับซ้อนด้วย แต่ก็มีวิธีแก้ปัญหาในแบบของเขานะ เห็นเรื่องราวในบล็อกนี้แล้วอยากเอาเรื่องเก่าที่เคยเขียนตอนไปเที่ยวมาเล่าใหม่เหมือนกัน โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 27 สิงหาคม 2565 เวลา:7:31:16 น.
จากบล็อก
ผมโรงเรียนชายล้วนครับ เลยไม่มีแบบนั้น มุกนี้ผมเอามาจากผู้หญิงนี่แหละ พอได้ยินชื่อ เธอแกล้งเรียก เมนมา เลย ผมก็นึกไม่ถึงเรื่องนี้เหมือนกัน คิดไปได้ โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 1 กันยายน 2565 เวลา:19:43:41 น.
หนังที่คุณฟ้าดู ท่าทางไม่ใช่"ช้างเพื่อนแก้ว" แน่
ถ้าดูเรื่องนั้นคงน้ำตาไหลแทน แต่ืถึงหนังที่ดูเป็นเรื่องช้างเพื่อนแก้ว ท่าทางคนขับก็น่าจะหัวเราะร่ากับอากัปกิริยาคุณฟ้าอยู่ดีแหละ เรื่องธรรมเนียม/วัฒนธรรมการเปิบอาหารด้วยมือนี่พอทราบอยู่ แต่เรื่องการจิบน้ำจากมือนี่เพิ่งเคยเห็นนี่แหละ แปลกดี ที่แปลกไปกว่านั้นคือ มันเป็นแอลกอฮอล์ที่อยู่ในวัดนี่แหละเนอะ เห็นคนขับรถหน้ากรึ่ม ๆ (ระยะสุดท้าย) อยากให้เปรียบเทียบรสชาติอารักกับเหล้าขาวบ้านเราจัง แต่คุณฟ้าไม่น่าจะเคยกินมั้งนะ ^^" หลังจากต้นเอนทรี่เป็นคนดูหนังแล้ว ตอนจบต้องมาเป็นคนแสดงบ้าง ดูท่า...การวิ่งข้ามเขา 5 ลูกเพื่อไปจุดหมายปลายทาง มันไม่น่าจะโรแมนติกเหมือนที่พระเอก-นางเอกแสดงในหนังอินเดียแฮะ ป.ล. กระตือรือร้น ร เรือ นะ ^^ โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 17 กันยายน 2565 เวลา:0:22:16 น.
(จากบล๊อกนู้น~)
วาดแบบดิจิตัลก็ใช่ว่าจะประหยัดนะ เพราะแท็บเล็ตที่เห็นในรูปนี่ขนาดจอเล็กสุดก็ราคาหลักหมื่นแล้ว (ถ้ามี OS ในตัวแบบพวก iPad แพงกว่านี้ 3 เท่าแน่ะ) น่าจะแพงกว่าราคาเครื่องเขียนที่ซื้อมารวมกัน 10 ปีเลยมั้ง ^^" โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 9 ตุลาคม 2565 เวลา:1:15:19 น.
|
บทความทั้งหมด
|
อ่านแล้วจินตนาการต่อ 555 เหมือนได้กลิ่นคนเดินทางเลยครับ
ได้กลิ่นน้ำหมัก คงคล้ายน้ำข้าวหมากของไทย(มั้ง)
..