"ปกติชาวบ้านชาวเมืองเขาเดินทางกันแค่วันเดียวก็ถึง
Keylong แต่พวกเราใช้เวลาปาไปกว่าสองวันแน่ะ"

ซันดีพ ทวนเรื่องที่เพิ่งเกิดขี้นไปหมาด ๆ ขึ้นมา หลังจากที่รถของเราผ่านพ้นฝูง
แพะฝูงแกะเรียบร้อย ฉันเองก็อดขำกับเหตุการณ์บ้า ๆ บ้อ ๆ นั่นไม่ได้ ทั้งที่ใน
สถานการณ์จริง มันแทบขำไม่ออกก็ตาม
พวกเราไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ในตอนนี้กลับคุยลั่นยังกับตลาดแตก ในฐานะ
ผู้ประสบภัยแห่งหมู่บ้านคกซาร์ ซันดีพเดินทางข้ามเขาล่วงหน้ามาถึง keylong
ตั้งแต่เมื่อคืนวานแล้ว ซึ่งก็ไวกว่าฉันที่เพิ่งจะเดินเท้าออกจากที่นั่นไปหนึ่งวัน
เท่านั้นเอง ทั้งนี้ดูเหมือนว่า พอล ชาวแคนาดา จะยังคงนั่งนิ่งอย่างเงียบ ๆ ไม่
เห็นมีทีท่าคุยอะไรใหญ่โต เว้นแต่จะดึงสายยางเล็กที่เชื่อมต่อกับเป้ใส่น้ำมา
ดูดสักอึกสองอึกพอแก้กระหาย ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าเขามาโผล่ที่ keylong ได้
ยังไงกัน?
"พอลจะเดินทางกลับไปเลห์ รอบที่สอง" ซันดีพ หันมาอธิบายว่า พอลไม่ได้
ไปตกระกำลำบากแบบพวกเรา เขาแค่ออกจากลาดักชั่วคราวแล้วก็มาพักอยู่ที่
Keylong ก็เท่านั้น พอลเดินทางมาที่ลาดักครั้งแรกเมื่อ 14 ปีก่อน ก่อนที่ทุก
อย่างจะเปลี่ยนไปตามวาระของมัน สำหรับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ก็อาจจะพอรู้
แค่ว่าด้วยอิทธิพลของหนังอินเดียที่ชื่อว่า 3 Idiots นั้นส่งผลกระทบต่อพื้นที่
มากแค่ไหน โดยเฉพาะบริเวณทะเลสาบปันกอง (Pangong lake) แม้ความจริง
แล้วหนังเรื่องนี้จะเดินเรื่องสนุกและดีมากในความคิดของเรา

"จะดีขึ้นก็แค่เรื่องถนน" พอลชี้ทางให้พวกเราดูถึงถนนที่รถกำลังแล่นผ่านใน
ตอนนี้ว่ามันดีกว่ายุคโน้นเป็นไหน ๆ ถึงเมื่อครู่นี้คนขับรถเพิ่งจะพาเราเหินผ่าน
ทางที่โดนหินถล่มกลบทับ และหลุมบ่อจากบางช่วงที่มีทางน้ำไหลเซาะผ่านก็
ตาม เขาบอกว่าเคยนั่งอยู่บนรถเมล์แบบสะท้านสะเทือนกับบนทางวิบากนั่นจน
ไปถึงเลห์
ฉันเริ่มสนใจเรื่องที่พอลเล่าขึ้นมา เรื่องของลาดักในยุคที่การท่องเที่ยวยังไม่บูม
เหมือนสมัยนี้ ไม่ใช่ว่าฉันอยากเดินทางไปที่นั่นเพราะทนต่อกระแสความป็อบ
ไม่ไหว (ฮา) แต่เพราะได้ไปอ่านหนังสือที่มีชื่อว่า Ancient Future : อนาคต
อันเก่าแก่ บทเรียนจากลาดัก ต่างหากล่ะ

Mani wall -- กองหินที่มีคำสวดสลักวางไว้บนเนินกำแพง

check-post แรกที่ Darcha ตอนนี้เรายังคงอยู่ที่เขต Lahaul รัฐหิมาจัลประเทศ
นับจาก Keylong จุดแรกที่เราจะได้ลงจากรถก็คือ Darcha ที่ตรงนั้น ชาวต่าง-
ชาติต้องลงมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าพื้นที่ภายในค่ะ ก็ไม่มีอะไรมาก
เราแค่ลงไปยื่นพาสปอร์ตและโผล่หน้าค่าตาให้เจ้าหน้าที่เห็น โดยคนขับรถจะ
เป็นคนพาเราไปเอง การจดบันทึกจะต้องอิงกับเลขทะเบียนของรถที่นั่งมาด้วย
และถัดจากนี้ไป ก็จะมีอีกหลายจุดที่ต้องลงบันทึกการเข้าพื้นที่ แต่เราก็ไม่
จำเป็นต้องลงไปจากรถกันแล้ว เพราะคนขับรถจะทำหน้าที่ถือพาสปอร์ตของเรา
ลงไปยื่นส่งให้เจ้าหน้าที่แทน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีนะ คงไม่มีใครคิดอยากเดินลงจาก
รถเท่าไหร่ ก็เพราะอากาศช่วงดึก ๆ เนี่ย...มันหนาวสุดทน
หลังพระอาทิตย์หายลับขอบเขาไปแล้ว ก่อนทางจะมืดลงเราได้เห็นรถบรรทุก
น้ำมันกำลังแล่นสวนผ่านมาจากทิศตรงข้ามอยู่หลายคัน รถบรรทุกน้ำมันไม่ใช่
คันเล็ก ๆ ซะด้วย นั่นก็แปลว่าเส้นทางข้างหน้าที่เรากำลังจะไปก็อาจไม่มีปัญหา
เรื่องหิมะปิดหรือดินถล่มอะไรนั่นแล้วสินะ
"งี้ เราก็ไม่ใช่รถคันเดียวที่กำลังวิ่งอยู่ในหุบเขานี้แล้ว" ฉันพูดออกมาหลัง-
จากคิดไปว่า คงจะมีแค่พวกเราที่กำลังจะผ่านด่านอรหันต์วิ่งไปยังเลห์คันเดียว
บนเส้นทางนี้ ถึงแม้ว่าอาจจะจริงเพียงแค่ว่า มีเราวิ่งคันเดียวจริง ๆ เฉพาะใน
เที่ยวขาไป
"เฺฮ้ย ไม่หรอก" พอลช่วยพูดให้เราใจชื้นขึ้นมาหน่อย เพราะหากเป็นอย่างที่
ฉันคิดมันก็น่าเป็นห่วงตรงที่เวลารถเสียหรือเกิดมีปัญหากลางทางขึ้นมาเมื่อไหร่
คงจะแย่แน่ ๆ
นอกเหนือจากนั้น เราก็เจอเรื่องเซอร์ไพรส์อีกในกลางดึก นั่นคือกลุ่มของรถ-
รับจ้างขนาดเล็ก ได้ขนนำผู้โดยสารออกมาจากเลห์ไปส่งยังมะนาลีเป็นระยะ ๆ
และทุก ๆ ครั้งที่รถของเราจะแล่นสวนผ่านกันแต่ละที คนขับต่างจะเปิดกระจก
รถและยื่นมือออกมาเชคแฮนด์เพื่อทักทายกัน คล้าย ๆ กับที่ฉันเคยเห็นภาพ
แบบนี้เมื่อตอนเดินทางเข้าหุบเขาสปิติไม่มีผิด
พวกเขาจะคุยกันด้วยภาษาถิ่นแค่ไม่กี่ประโยคก่อนที่จะวิ่งไปต่อ ด้วยความที่
ช่วงเวลานั้นยังมีขบวนรถรับจ้างอีกหลายคันที่ได้แวะหยุดจอด เปิดกระจก
ทักทาย ไถ่ถาม และอำลา กับคนขับของเราอยู่หลายหน เป็นช่วงที่การเดินรถ
จะวิ่ง-จอด- วิ่ง-จอด อยู่แบบนี้ไปเรื่อยเหมือนเป็นธรรมเนียม
พี่พอล ผู้คร่ำหวอดในการเดินทางบนถนนเส้นนี้ก็ได้แอบพูดดัก ถึงเจ้ารถคันถัด
ไปที่จะวิ่งสวนผ่านเราอีกไม่กี่เมตรข้างหน้า "เชื่อสิ ๆ เดี๋ยวสักพักรถของเราก็
จะหยุด คนขับก็เปิดกระจกทัก แล้วก็จะตอบกลับไปว่า Sissu!"
จริงด้วย….เห็นเป็นแบบนี้มานับสิบรอบได้ละ
ทั้งนี้เส้นทางที่เรากำลังวิ่งอยู่นี้เป็นลักษณะของไหล่เขา เวลาที่รถวิ่งสวนผ่านมา
แต่ละทีก็น่าใจหายอยู่ แต่ก็ยังดีที่ไม่มีรถคันไหนอยากวิ่งแซงกัน เราขับกันมา
แบบเนิบ ๆ พอได้เจอกับรถรับจ้างที่สวนผ่านมาแต่ละทีพวกเขาก็มักจะหยุดจอด
เพื่อพูดคุยกันแบบสั้น ๆ รถรับจ้างที่วิ่งออกมาจากเลห์คืนนี้ มีวิ่งตามกันมาหลาย
คันอยู่เหมือนกัน สมมติว่ามีสิบคันเราก็ต้องจอดคุยสิบรอบ เพราะคนขับต่างก็
อยากรู้ข้อมูล เส้นทางของแต่ละฝั่งว่าเป็นยังไง
อย่างในกรณีของวันนี้ คนที่มาจากเลห์ก็น่าจะอยากรู้ว่าเส้นถนนที่เราวิ่งมามัน
พังแค่ไหนหรือสามารถไปไกลได้สุดที่ไหน ดังนั้นคำตอบจากแท็กซี่ที่เรามักจะ
ได้ยินก็หนีไม่พ้น Sissu ยังไงล่ะ
พอลยังพูดเสริมให้เรารู้ว่า ถ้าเป็นที่แคนาดาบ้านเขาจะไม่ใช่แบบนี้ เพราะคนที่
นั่นจะพึ่งพาเทคโนโลยีกันมากกว่า ทั้งนี้พอลก็ไม่ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า
แบบไหนดีกว่ากัน
หากมาจากทางมะนาลี จะพบว่ารายชื่่อของช่องเขา (Pass หรือ La) ที่เราจะต้อง
นั่งรถผ่านนั้นมีถึง 5 แห่งด้วยกัน คือ Rohtang La, Baralacha La, Nakee La,
Lachulang La และ Tanglang La
เมื่อผ่าน Baralacha La ไปแล้วก็ถือว่า หลุดออกจากเขตหิมาจัลประเทศ ซะที
สภาพภูมิประเทศแถบนี้ในยามค่ำคืนก็ไม่มีอะไรให้น่าจำไปกว่าเงาทะมึนจากแนวเขา
ทางรถวิ่งที่น่าลื่นหล่น และความมืดที่อยู่รอบนอก พวกเราจะมาตื่นเต้นและร้อง
ว้าว! กันอีกทีเมื่อได้เห็นพระจันทร์เต็มดวงที่โผล่มาให้เห็นกลางหุบเขาในคืนนั้น


กลางหุบเขาและเงามืด เป็นคืนที่นั่งรถข้ามเขายาวนานมาก (จำพิกัดของภาพนี้ไม่ได้แล้ว)

ระยะทางและความสูงของพื้นที่ จากป้ายหน้าร้านอาหารแห่งหนึ่งใน Marhi ด้วยความที่
ข้อมูลตัวเลขในแต่ละแหล่งที่มาดูไม่ค่อยแน่นอนเท่าไหร่ เลยขออิงจากป้ายนี้แทนละกัน
การเดินรถของเรานั้นไม่ได้วิ่งแบบบ้าคลั่งหรอกนะ บางทีก็มีหยุดแวะกินอาหาร
ไม่ก็พักดื่มน้ำชากันระหว่างทางที่จุดแวะกันด้วย เท่าที่จำได้ก็มีตรง Baratpur,
Sarchu (เราไปถึง Sarchu สุดขอบเขตแดนของรัฐหิมาจัลประเทศราวสี่ทุ่ม)
จากนั้นก็แวะดื่มชาที่ Pang กันเป็นที่สุดท้าย...
สำหรับ Pang ฉันให้คะแนนความเย็นยะเยือกเต็ม 10 ลงไปได้แป้บเดียวก็ต้อง
ขอวิ่งกลับเข้ามาในรถอย่างไว ไม่มีใครอยากแข็งตายอยู่ด้านนอกอาจเพราะมัน
ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงมาก ๆ หลังจากรถวิ่งมาจนถึง Sarchu เราก็เริ่มหัดพูดภาษา
ลาดักกันแก้ง่วง ทั้งบนรถและที่ร้านน้ำชา ศัพท์บางคำที่ฉันจดไว้ มันล้วนมา
จากบันทึกของชาวต่างชาติเลยไม่รู้ว่าจำมาผิดหรือถูก ...แต่พอลกลับแย้งว่าไม่
เห็นต้องวุ่นวายขนาดนั้น แค่ใช้ Julley ก็เหลือเฝือเกินพอ

ร้านอาหารแห่งแรกที่เรามาแวะกินมื้อเย็น ตอนนั้นก็มีแค่กลุ่มพวกเรานีแหละที่กำลังจะเดินทางเข้าเลห์
Julley! จะออกเสียงว่า จูเล – จู๊เล – จูเล๋ และรวมไปถึง โอ จูเล!
ก็ตามแต่สถานการณ์ (หรือสภาพอารมณ์ที่เราจะออกเสียงล่ะนะ)
ความจริงแล้ว คำนี้ใช้เพื่อ ทักทาย ขอบคุณ ด้วยความยินดี กล่าวลา และอื่น ๆ
ภาษาที่พูดกันในลาดัก คือ Bhoti จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับภาษาทิเบต แต่ไม่
เหมือนกันเสียทีเดียวหรอก เรียกได้ว่ามีรากเหง้าเดียวกันดีกว่า เพราะถ้าให้คน
ลาดักพูดกับคนทิเบตก็คงฟังกันไม่เข้าใจ
กว่าเราจะได้กินข้าวมื้อเย็นกันในคืนนี้ก็ปาไปสี่ทุ่ม พอกลับมาขึ้นรถคนขับก็ดู
เหมือนจะพยายามเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อกล่อมให้เราง่วง จนฉันเผลอหลับไปงีบ
นึงและตื่นขึ้นมาอีกทีก็ตอนรถจอด ได้ยินเสียงของซันดีพหันมาบอกอรุณสวัสดิ์
แต่พอยกนาฬิกาข้อมือมาดู ...ปัดโธ่ นี่พึ่งจะเที่ยงคืนเอง! -- และนี่จึงทำให้เรา
แอบเรียกการเดินทางไปเลห์หนนี้กันเล่น ๆ บนรถว่า 'ลาดักรอบเที่ยงคืน' 555
ก็ไม่มีอะไรมากหรอก เราต้องหยิบเอาพาสปอร์ตยื่นส่งให้คนขับอีกแล้ว ก็เป็น
แบบนี้หลายด่านอยู่และทุกครั้งที่ฉันได้รับหนังสือเดินทางคืนก็มักจะชอบเอา
ไปซุกที่ซอกกระเป๋ามุมในสุด พอถึงจุดตรวจทีไรก็มักจะใช้เวลารื้อค้นนานอยู่
จนถูกพอลแกล้งอำว่าหลังจากนี้ยังมีอีกหลายด่านนะเออ …

จุดรายงานตัวฯ ที่ Sarchu
"มีใครบอกได้บ้าง ว่าเราจะไปถึงเลห์ตอนไหน?"
เงียบ...ไม่มีใครเคยวิ่งรถหรือเดินทางกันในเวลานี้สักคน
ฉันเริ่มเห็นสถูปสีขาวทรงโตที่ตั้งอยู่ริมทางลาง ๆ จุดตรงนั้นคือหมู่บ้านที่ชื่อว่า
Gya ถัดมาเมื่อเราหลุดพ้นจากเงาของหุบเขาก็เริ่มมองเห็นแสงไฟในเมืองจาก
ที่ไกล ไม่รู้ว่านั่นคือตัวเมืองเลห์หรือปล่าว ไม่แน่ว่าอาจเป็นค่ายทหาร แต่ด่าน
สุดท้ายที่เราได้ออกมาเดินยืดเส้นข้างรถ เพราะต้องรอคนขับเอาพาสปอร์ต ไป
ยื่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจเป็นครั้งสุดท้ายก็คือ Upshi แล้วจากนั้นรถก็วิ่งยาวไปถึง
เลห์เลย
"น่าจะประมาณตีสาม" คุนชกหันมาบอกหลังจากที่คุยกับคนขับ
พอล ลองคำนวนเวลาจากทีได้คำตอบมา พบว่ารถของเราทำเวลาวิ่งได้ดี
แต่สำหรับฉันกลับมันไม่ดีเท่าไหร่เลย ฉันติดต่อกับทางโฮลเทลไว้เมื่อสอง
อาทิตย์ก่อนเดินทางมาอินเดียเท่านั้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสองวันที่ผ่าน
มาก็เลยเวลาเข้าพักจากที่ระบุวันเอาไว้แล้ว และถ้ารถของเราไปถึงเลห์เช้ามืด
ขนาดนั้น ที่พักของฉันจะยังมีห้องว่างอยู่มั้ยหรือว่าควรต้องรอให้ถึงเช้าก่อนแล้ว
ค่อยคลำทางไปติดต่ออีกรอบ
ฉันไม่เคยเดินทางมาเลห์ จึงไม่รู้ว่าสภาพพื้นที่ไหนจะยังพอมีแสงไฟให้นั่งรอ
เวลาบ้างมั้ย ระหว่างที่คิดกังวลเรื่องนี้ รถของเราก็วิ่งผ่านวัดทิกเซ่ (Thiksey)
และเชย์ (Shey) มาเรื่อย ๆ วิวของแนวต้นไม้ข้างทางเริ่มดูมีเอกลักษณ์ต่างไป
จากพื้นที่อื่น เจ้าต้นไม้ทรงสูงที่ขึ้นริมทางเป็นแนวยาวที่ว่านั่นก็คือต้นปอปลาร์
เมื่อใกล้ถึงเลห์ เราสามารถมองเห็นภูเขาทะเลทรายลูกหนึ่งที่มีเจดีย์สีขาว
ประดับไฟตั้งเด่นบนนั้น ฉันไม่แน่ใจว่ามันใช่ Shanti Stupa หรือปล่าว
วัดในภูมิภาคนี้ชอบตั้งอยู่บนภูเขาสูงเกือบหมด พอลบอกว่าไม่แน่ใจเท่าไหร่
เขาไม่เคยเห็นเลห์ตอนกลางคืน แล้วอีกอย่างหนึ่งคือช่วงเวลามืดแบบนี้ แกมัก
จะมีปัญหากับการหลงทิศซะด้วย
เมื่อใกล้ถึงปลายทาง คุนชกเริ่มหันมาถามเรื่องที่พักของพวกเราเพื่อแจ้งบอก
แท็กซี่ให้ไปส่ง โอเค...ทุกคนต่างมีที่พักกันหมดแหละ ไม่ใช่ว่าจะมาหาเอาดาบ
หน้าเพราะช่วงนี้เป็นฤดูท่องเที่ยวของลาดัก
ซันดีพ บอกเรื่องที่พักที่จองเอาไว้กับคนขับ เขาจะได้ลงจากรถก่อนใครเพื่อน
พอล บอกแค่ว่าอยู่แถว ๆ ชางสปา (Changspa) แต่ไม่ยักบอกที่ตั้งให้ไปส่ง
ด้วยเหตุผลแปลกประหลาดของพี่เขา
"ที่ ๆ ฉันจะพักเป็นบ้านของชาวลาดัก ที่เคยมาอยู่เมื่อสิบปีก่อน...
พวกเขาจะไม่แจ้งข้อมูลการเข้าพักของฉันให้รัฐบาลรู้ ดังนั้นมันจึงเป็น
ความลับ"
พอล บอกว่าเดี๋ยวจะลงที่ Changspa แล้วก็หาทางไปยังบ้านที่ว่าเอง
"อาา...พวกเขาจะต้องเซอร์ไพรส์แน่ ที่อยู่ ๆ ก็มีคนรู้จักมาหาตอนตีสาม"
ก็หวังว่าพี่พอลจะไม่โดนด่า ที่ไปเคาะปลุกหน้าบ้านเขาก่อนรุ่งสางอ่ะนะ
ตามข้อมูลที่เห็นมา ชางสปา น่าจะเป็นแหล่งรวมนักท่องเที่ยวและเชื่อมต่อพื้นที่
อื่นได้ง่ายกว่า ที่พักของฉันมันก็ห่างจากตรงนั้นไม่ไกลนัก มันตั้งอยู่ด้านหลัง
ทางขึ้นไปยัง เจดีย์สันติภาพ พอลเลยบอกให้ลงพร้อม ๆ กันเลยละกัน เดี๋ยว
ช่วยค้นพิกัดจากที่อยู่ให้ แหม...ชาวแคนาดา เขาพึ่งพาเทคโนโลยีจริง ๆ
โอ้ว พอมานึกย้อนดูแล้ว เออ ทำไมเราไม่ถามคนขับกันให้ดีก่อนล่ะเนี่ย?
"ซันดีพ วันแรกที่มาถึงเลห์ เธอจะทำอะไร แล้วคิดจะเดินไกลกี่กิโล?"
พอล ถามถึงแผนการณ์เดินทางของซันดีพ เพื่อให้คำแนะนำเรื่องการปรับตัวบน
พื้นที่สูงในกรณีที่มาครั้งแรกและคิดจะเที่ยวในลาดักด้วยการแว้นมอเตอร์ไซด์
ฉันจำไม่ได้ว่า ซันดีพจะอยู่นานกี่วันละมีแผนไปที่ไหนบ้าง แต่ก็คงหนีไม่พ้น
แลนด์มาร์คสำคัญ ๆ
"วันแรกอย่าเพิ่งรีบเดินไวหรือออกแรงเยอะ เธอต้องค่อย ๆ ปรับตัวให้ชิน
กับพื้นที่สูงก่อน พยายามนอนพักและดื่มน้ำให้มาก" ฉันถือว่านั่นเป็นคำ
แนะนำที่ดีนะ สำหรับหน้าใหม่ใจร้อนที่คิดวู่วามจะออกเดินทางทันทีหลังจากมาถึง
ก็เป็นไปตามคาด ซันดีพเป็นคนแรกที่ลงจากรถ เขาจอง Youth Hostel เอาไว้
เราลงมาส่งลาเขา ก่อนจะกลับขึ้นไปยังรถเพื่อเดินทางกันต่ออีกหน่อย
ที่ย่านใจกลางเมืองของเลห์ในเวลานี้ ไม่มีจุดนั่งพักที่เปิดไฟสว่างอย่างที่คิดไว้
ไม่มีคนเดินพลุกพล่านไปมาให้เห็นเลย รถของเราวิ่งฉิวผ่านกลุ่มสถูปเก่าสีขาว
หลายจุด นี่ถ้าในตอนนี้คือเวลากลางวันภาพที่ว่านั่นคงดูไม่น่ากลัวเท่าไหร่และ
ถึงแม้ว่า ข่าวคราวการเกิดอาชญากรรมในลาดัก จะไม่มีเยอะเท่าเมืองอื่น ๆ ของ
อินเดียก็ตาม แต่ฉันก็ไม่อยากไว้ใจกับความมืดนัก
"หยุดตรงนี้ละกัน"
พอล บอกทางให้คนขับได้หยุดรถเพื่อที่จะเดินไปเองต่อที่ตรงนั้นเป็นทางขึ้นไป
ยัง Shanti Stupa แต่ด้วยความมืด ทำให้มองไม่ค่อยออกว่าทิศไหนคือทิศไหน
(ตามรายละเอียดของที่พักแจ้งว่าเป็นทางขึ้นไปยังเจดีย์สันติภาพอีกทางที่ทำ
ถนนให้รถวิ่งขึ้นได้ มันอยู่คนละทิศกับจุดที่เราลง!) เราจ่ายเงินค่ารถกันคนละ
หนึ่งพันรูปีตามที่ตกลงไว้ พร้อมบอกลาด้วยการจับไม้จับมือกับสารถีและคุนชก
ยังกับจะลาญาติ ด้วยเพราะเส้นทางสายวิบากนี้คนขับค่อนข้างมีสติและชำนาญ
ทางดี ส่วนบรรยากาศบนรถตั้งแต่นั่งมาจาก Keylong จนถึงเลห์ ก็ครึกครื้นกว่า
ที่คิด ถึงการเดินทางนี้จะมีแต่คนแปลกหน้าที่มาจากคนละทิศ แต่ไม่นานพวก
เราก็เริ่มคุยและหัวเราะกันไม่หยุด
เลห์, ลาดัก ...เมื่อแรกพบของฉัน
เช้าวันนั้นเป็นช่วงเวลารุ่งสางราวตีสามครึ่ง แท็กซี่ของเราได้หยุดจอดลงที่หน้า
ทางขึ้นเจดีย์สันติภาพฝั่งบันไดที่แสนจะมืดตึ๊ดตื๋อ พอลหยิบเสื้อกันหนาวมาใส่
เพิ่มก่อนจะยกเป้ใบโตขึ้นใส่บ่า และเปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อเช็คดูตำแหน่งของ
โฮลเทลที่ฉันยื่นให้
เขาตัดสินใจที่จะไปส่งฉันก่อน อาจไม่ใช่พราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย
แต่คิดว่าคงไม่อยากให้ถูกสะกดรอยตามเจอทีหลังว่าบ้านลึกลับที่เขาจะไปเคาะ
เรียกมันตั้งอยู่ตรงส่วนไหนของย่านชางสปามากกว่า พอลเดินนำลิ่วไปยังทางที่
คิดว่ามันน่าจะใช่และก็พาเดินวนเข้าซอกนั้นออกซอยนี้ หรือพูดง่าย ๆ ว่ากำลัง
หลงนั่นเอง
แสงไฟที่ส่องจากหน้าโรงแรมและที่พักย่านนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้เรามองเห็นทาง
เดินได้ชัดนัก ฉันจำภาพอะไรไม่ได้เลย นอกเหนือไปจากความหนาวของลมที่
พัดปะทะมา ตลอดจนเสียงอาซานที่ดังจากมัสยิดแถวนั้น แถมจุดที่เดินผ่านยัง
มีฝูงหมาที่คอยเห่าไล่กันแบบระงมอีก ช่างน่าประทับใจเหลือเกิน
ผ่านไปราว ๆ สิบนาที ฉันว่าพวกเราคงเดินกันมาไกลร่วมกิโลฯ หากวัดความไว
จากฝีเท้าที่รีบย่ำเหมือนกับว่ากำลังเดินตามหาวัวหาย ถ้าพี่พอลแกลืมเรื่องที่
เคยพูดเตือนซันดีพเอาไว้อย่างสนิทว่าอย่าเพิ่งไปออกแรง หรือเดินไวในวันแรก
ที่มาถึง แกก็คงเป็นพวกสองมาตรฐาน
เราเจอป้ายเล็ก ๆ ที่ขึ้นเจดีย์สันติภาพอีกฝั่ง ครั้งนี้พอลมั่นใจว่าไม่หลงแน่ ๆ
เพราะติดชื่อของ Ecology Hostel ไว้อย่างชัดเจน พวกเราเลี้ยวซ้ายตามป้าย
บอกทางไปโฮลเทลฯ และมาหยุดที่หน้าประตูเหล็กที่ไม่ได้ปิดล็อคไว้
"คุ้น ๆ นะ เหมือนกับภาพที่เห็นในเว็บไซต์เลย" ถึงไฟหน้าที่พักดังกล่าวจะ
ไม่เปิดจ้า แต่ภาพลาง ๆ ของตัวอาคารกับสวนด้านหน้า ที่มีจุดตั้งแผงโซลาร์เซล
ทำให้ฉันมั่นใจว่ามาถึงเสียที
"ใช่ก็ดี แต่ทำไมมันดูร้าง ๆ พิกล" หลังให้ความเห็น พอลก็ผลักประตูเสี่ยง
ตายเข้าไปก่อนเพราะด้านหน้ามีหมานอนเฝ้าอยู่สองตัว แต่พวกมันก็ได้แต่ตื่น
มามอง ๆ แล้วก็หลับต่อ เราตรงไปยังทางเข้าอาคารด้านในที่ไม่ได้ลงกลอนไว้
และเปิดไฟเพื่อสำรวจดูว่ามีใครสักคนเฝ้ายามอยู่หรือปล่าว...ซึ่งก็ไม่มีอีก
ทางขึ้นบันไดวนที่เชื่อมไปที่ชั้นสอง มีแมวสีส้มตัวหนึ่งเดินลงมาพอดี
"เอาหล่ะ ฉันว่าเธอมีเพื่อนละ" พอลพูดถึงเจ้าแมวหง่าวตัวนั้น
ฉันคิดว่าคงรบกวนเวลาพอลไปเยอะแล้วเลยขอบคุณที่เดินมาส่ง ก็หวังว่าจะได้
เจอกันอีก หลังจากที่พอลออกไปแล้ว แมวนั่นก็วิ่งแจ้นกลับไปที่ชั้นบน ฉันเลย
ใช้เวลาเดินสาละวนอยู่ด้านล่างนั่นอยู่พักใหญ่ มองดูป้ายที่ทางโฮสเทลนำรูป
เก่า ๆ สมัยเริ่มก่อตั้งมาเรียงไว้เพื่อคั่นเวลาไปก่อน คิดซะว่ายังไงเสียอยู่ในนี้ก็
ปลอดภัยกว่า
นานจนถึงตีสี่ เจ้าเหมียวตัวเดิมเดินลงมาจากชั้นบน หนนี้ไม่ได้เพียงลำพัง
มีคนเดินไล่หลังมันมา เป็นสาวใหญ่วัยเกษียณชาวอังกฤษที่ชื่อว่า จูเลียต
จูเลียต เดินลงมายังชั้นล่างช่วงตีสี่เพื่อตรียมตัวเดินทางออกจากโฮสเทลไปยัง
ที่ไหนสักแห่ง (มารู้ภายหลังว่า เธอจะนั่งรถไปยัง Tso Moriri ทะเลสาบขึ้นชื่อ
อีกแห่งของลาดัก) แต่กลับมาเจอฉันเข้าก่อน
หลังจากรู้ที่มาและเรื่องราวทั้งหมด เธอจึงบอกฉันให้นั่งรออยู่ตรงนี้สักครู่เพื่อขอ
เวลาใช้ความคิดสักเดี๋ยวว่าจะพอช่วยอะไรได้บ้าง...ไม่นานนัก จูเลียตก็เดินลง
มาพร้อมกับชวนให้ไปพักที่ห้องของเธอเป็นการชั่วคราว
"ฉันจะออกไปข้างนอกสักสองสามวัน แต่ก็ยังไม่ได้แจ้งออก"
จูเลียต ยกเตียงอีกฝั่งที่ว่างอยู่ให้ฉันนอนพักไปก่อน จนกว่าจะถึงช่วงแปดโมง
เช้าเมื่อเจ้าหน้าที่ของโฮสเทลมาถึง แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยย้ายไป
จูเลียต ถามชื่อของฉันและเขียนอะไรบางอย่างลงไปบนจดหมายน้อยเพื่อนำไป
เสียบยังหน้าห้องของเพื่อนตัวเองที่อยู่ติดกัน (พวกเธอต่างแยกห้องเพื่อความ
เป็นส่วนตัว) พร้อมกำชับเรื่องบางอย่างไว้ "เมื่อเธอได้เจอกับคนดูแลที่พัก
และมีห้องเข้าพักแล้วก็ช่วยเอากุญแจตัวนี้ไปล็อคที่ประตูเลยนะ"
กุญแจ ที่ว่าของจูเลียตมันเป็นแบบหมุนรหัส ซึ่งเพื่อนของเธอจะรู้หมายเลข
ปลดล็อค ส่วนแม่กุญแจอีกตัวที่เป็นของโฮสเทลเธอจะวางไว้บนโต๊ะในห้องนี้
เพื่อให้ โซเฟีย เพื่อนของเธอมาทำการปิดล็อคภายหลัง
จากนั้นจูเลียตก็ออกไปจากห้องนี้เพื่อเดินทางไกล

ภาพของเลห์ในเช้าวันแรกจากหน้าต่างชั้นสอง (ห้องจูเลียต) ถึงพระอาทิตย์จะยังไม่ขึ้น
แต่ฟ้าก็สว่างตั้งแต่ตีห้า พวกนกที่อยู่ด้านนอกเริ่มส่งเสียงร้องให้ได้ยินก้องไปหมด คงจะ
ตรงกับคำเรียกแทนเวลาเช้าว่า "ชิป ชีรริต" ที่หมายถึง เสียงนกร้อง
.....
ส่วนแผ่นจดหมายเปิดผนึกที่เสียบไว้ตรงประตูหน้าห้องของเพื่อนจูเลียต
เป็นมีข้อความเขียนบอกเล่าถึงฉันเล็กน้อยเท่านั้น
ถึง โซเฟีย
ฟ้า เพิ่งเดินทางมาถึงที่นี่ตอนตีสี่
ระหว่างที่รอเช็คอิน ในช่วง 8 โมงเช้า
ฉันจะให้เข้าพักอยู่ที่ห้องนี้ชั่วคราวไปก่อน
และหลังจากนั้น ขอวานให้เธอช่วยเอากุญแจ
ตัวที่วางอยู่บนโต๊ะมาปิดล็อคประตูให้ด้วย
รัก,
จูเลียต
ต้องขออภัยกับภาพของ ลาดัก ver. ไม่อลังการ ด้วยฮะ