Ladakh 2019 - หนึ่งคืนที่หมู่บ้านชาวอารยัน





หมู่บ้าน Sagy, 
Hanu Gongma

 




จุดจอดรถสุดสายท้ายหมู่บ้านของเที่ยวรถ Leh-Hanu Gongma 


รถโดยสารวิ่งมาจอดที่หมู่บ้านสุดท้ายประมาณหกโมงเย็น ในช่วงฤดูนี้กว่าจะ
มืดค่ำก็ราว ๆ หนึ่งทุ่มครึ่ง ในความโดดเดี่ยวของพื้นที่แห่งนี้ เมื่อพ้นไปจากหลัง
เขาตรงนั้นแล้วไม่มีอะไรให้เห็นอีก และบริเวณนี้เหมือนจะไม่มีที่พักสำหรับนัก
ท่องเที่ยวเลยด้วยซ้ำ นี่ถ้าลงรถไปตั้งแต่หมู่บ้าน Hanu Yokma ก็คงจะดีกว่านี้
เพราะได้ยินว่ามีที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ฯ ซะด้วย  พี่อินเดียที่ขับมอเตอร์ไซด์ลุย-
เดี่ยวเข้ามาจนถึงหมู่บ้านปลายทาง ได้ใช้เวลาลงเดินสำรวจพื้นที่อยู่ไม่นานจาก
นั้นแกก็ขับกลับออกไป



สะพานที่สร้างข้ามแม่น้ำและที่ตั้งของหมู่บ้านฝั่งตรงข้ามติดตีนเขา


"ฮัลโล่!" 
ลุงกระเป๋ารถฯ เดินมาย้ำเวลารถออกในเช้าวันพรุ่งนี้ให้ฉันรู้  "มาเจอกันที่นี่
ตอนแปดโมงครึ่งนะ" 
ฉันรับปากว่าจะมาขึ้นรถตามที่ว่า ถึงจะอยากชิ่งหาย
ไปมากกว่าก็ตาม…ตื่นเช้ามาจะเดินเที่ยวเตร่ย่านนี้ไปไกลได้สักแค่ไหนกันล่ะ
แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวแกจะเดือดร้อน เพราะรับไปปากกับเจ้าหน้าที่ตรง Khaltsi
แล้วว่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการพาฉันออกมาจากพื้นที่พิเศษ ในเช้าวันถัด
มากับรถโดยสารคันเดิม 

ชาวบ้านที่นั่งรถจนมาถึงหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงแห่งนี้ มีอยู่รายหนึ่งที่เป็นผู้หญิง
วัยกลางคนอาสาให้ที่พักกับฉัน แต่ว่าก็ยังต้องรอลูกชายขับรถมารับ เพราะมี
ของชิ้นใหญ่อย่างโต๊ะไม้ ที่ไปซื้อมาจากตัวเมืองและของเฟอร์นิเจอร์แต่งบ้าน
(แบบฉบับท้องถิ่นของคนที่นั่น) มาวางกองเพื่อรอการขนย้ายก่อน

 

ฉันเริ่มรู้สึกดีขึ้นมาหน่อยนึงที่มีบ้านนอนแล้วในคืนนี้ ถึงจะยังแอบเสียดายไม่
หายที่มีเวลาสำรวจน้อยจนเกินไป ระหว่างที่โต๋เต๋เพื่อรอเวลารถมารับไปบ้านพัก
ของคนท้องถิ่น...กระเป๋ารถฯ ก็เข้ามาคุยด้วยอีก เลยถือโอกาสถามเส้นทางแวะ
ลงที่อื่นเพราะยังไม่อยากกลับเลห์ อย่างเช่น Hemis Shukpachen ก็ได้

"ไม่มีปัญหา ที่นั่นเป็นหมู่บ้านของฉันเองแหละ" ลุงกระเป๋ารถบอกว่าจะ
พยายามช่วยพาไปส่งจุดลงรถที่ง่ายที่สุดให้ ไม่นานนักแกก็สะกิดบอกให้เดิน
ตาม คุณป้าที่รอลูกชายขับรถมาขนของตรงสะพานได้แล้ว ส่วนลุงกับคนขับจะ
นอนค้างแรมกันบนรถในคืนนี้ โดยมื้อเย็นจะกินมะเขือเทศเป็นอาหารกัน


ฉันขึ้นรถยนต์คันสีขาวที่ขับโดยลูกชายป้า ไปยังทางเข้าหน้าบ้านซึ่งไม่ไกลนัก
หากเดินเองจากสะพานมันก็ไกลแค่ห้านาที บ้านของป้าสร้างขึ้นใหม่โดยไม่ได้
เป็นบ้านหินทรงโบราณ มองดูแล้วก็ใหญ่โตพอสมควร อยู่กัน 2 รุ่นทั้งครอบครัว
ของป้าและครอบครัวของลูกชาย บวก อาบีเล (คุณย่า) อีกหนึ่ง พวกเขามีพื้นที่
ปลูกพืชผักที่ลานหน้าบ้านและสวนผลไม้ตรงท้ายหมู่บ้าน




ลานเพาะปลูกที่หน้าบ้าน ที่ยังมีชาวบ้านมานั่งเกี่ยวต้นหญ้าสำหรับเก็บไว้เลี้ยงสัตว์




เซตันและเซริ่ง สองสาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน อาสาพาฉันไปทำความรู้จักหมู่บ้านนี้



ฉันพกของกินส่วนติดตัวมาบ้าง ก็เลยไม่ได้รบกวนอะไรมากนักเพราะอยู่ ๆ ก็มี
คนแปลกหน้าโผล่มาอาศัยด้วยหนึ่งคืนแบบนี้ ก็แอบเกรงใจล่ะนะ...พอเอาเป้ไป
วางพักที่ห้องใหญ่ได้ครู่หนึ่งก็คิดจะออกไปเดินเล่นด้านนอก ก่อนที่จะมืดค่ำลง

 

"ให้พวกเราไปกับเธอมั้ย" สองสาวที่อยู่บ้านหลังนั้นเดินออกมาถามฉันว่าจะ
ไปที่ไหน พวกเธอน่าจะมีอายุรุ่น ๆ เดียวกันแต่อีกคนหนึ่งอุ้มเด็กมาด้วย ทีแรกก็
เข้าใจว่าเป็นลูกสาวของป้า และเด็กคนนั้นเป็นลูกคนเล็ก แต่ที่ไหนได้ กลับเป็น
ลูกของน้องผู้หญิงเสื้อชมพูต่างหากล่ะ … "ฉันเพิ่งแต่งงานเมื่อปีที่แล้ว"
เธอแต่งงานกับลูกชายของป้า คน ๆ เดียวกับที่ขับรถมารับตรงสะพานนั่นเอง
โว้วว...คนแถวนี้มีครอบครัวกันไวดีจริง

 



เส้นทางเดินแคบ ๆ กับแนวหินที่ก่อเอาไว้

บ้านหินสไตล์เก่า  


พวกเธอเดินนำทางลัดไปบริเวณกลางหมู่บ้านที่สร้างด้วยหินด้วยอิฐแบบเก่า ๆ
ผ่านทะลุยุ้งฉาง ลัดขึ้นไปยังชั้นสองด้วยบันไดไม้ที่ทำพาดไว้ ไม่มีแสงไฟอะไร
เลยบนนั้น เราใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือส่องทางกัน และมาโผล่ที่ห้องพระ
เราไปนั่งเล่นกันบนห้อง ๆ หนึ่งตรงนั้นดูเหมือนพื้นที่ครัว เธอรื้อของบางอย่าง
ที่วางตรงอยู่ตรงมุมเสาบ้านออกมาให้ เป็นองุ่นไข่ปลาพวงสีเขียวที่ยังมีรสชาติ
เปรี้ยวปรี๊ดอยู่ แถมแอปเปิ้ลจิ๋วอีกหลายผล


"เอาไปกินเยอะ ๆ เลย เก็บมาจากสวนบ้านเราเอง...ไม่มีสารเคมี"

แล้วกระเป๋าผ้าของฉันก็เต็มไปด้วยผลไม้ ที่น่าจะกินเผื่อไปได้อีกสองสามวัน

องุ่นและแอปเปิ้ล ที่เซริ่งนำมาแจกแบ่ง



เซริ่ง และเซตัน (คนอุ้มเด็ก) อาสาพาไปเที่ยวบ้านญาติอีกหลังที่อยู่ไม่ไกล
ผู้คนแถวนี้มีหน้าตาคล้าย ๆ กันและดูต่างไปจากคนลาดัก  คือดูคมเข้มกว่าแต่
ก็ไม่เหมือนคนอินเดีย  ซึ่งเชื่อกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์ของชาว Drokpa นี้คือชนเผ่า
เก่าแก่จากแถบเอเชียกลาง เป็นชาวอารยันแท้ ๆ ตามที่ปรากฏอยู่ในประวัติ-
ศาสตร์อินเดีย (ที่สำคัญคนกลุ่มนี้ไม่แต่งงานกับคนต่างถิ่น) สำหรับผู้คนฟากนี้
พวกเขานับถือศาสนาพุทธ หากมองจากทางเข้าหมู่บ้านก็จะเห็นธงมนตราและ
ที่ตั้งของกงล้ออธิษฐาน  ส่วนบนเชิงเขามีที่ตั้งของเจดีย์และสิ่งก่อสร้างทาง
ศาสนาปรากฏด้วย





เราขึ้นมาที่ชั้นสองของตัวบ้านกัน



ห้องพระ ที่เดาว่าน่าจะเป็นพุทธทางฝั่งวัชรยาน



รองเท้าบูทพื้นหนาที่มีลวดลายเฉพาะ จะสวมใส่กับชุดพื้นเมือง

มีผ้าคลุมไหล่ขนสัตว์แขวนไว้ที่เสาต้นหนึ่ง พวกเธอเลยหยิบมาอวดให้เห็น
 


ส่วนเรื่องการตั้งชื่อ พวกเขาก็ใช้แนวทางเดียวกับคนลาดัก  นั่นคือมีชื่อแรก
ชื่อรอง อย่างเช่น เซตัน ซังโม่ (Tsetan Zungmo) เป็นต้น ฉันจำชื่อที่รองของ
เซริ่ง (Tsering) ไม่ได้ เลยไม่ได้ถูกยกตัวอย่างไปด้วย แต่ยังไงก็เรียกพวกเธอ
เพียงแค่ในชื่อแรกเท่านั้น

 

แนวทางการจัดพื้นที่บ้าน พวกเขาจะใช้ห้องครัวเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ ตั้งอยู่
ใจกลางของตัวบ้านเอาไว้รับแขก กินอาหาร พูดคุย ผิงไฟ ฯลฯ  ข้าวของที่จัด
วางเรียงรายสำหรับใช้จริงและตั้งโชว์ (ของตั้งโชว์จะเรียงไว้ในตู้กระจก) บน
บ้านนี้มีญาติ ๆ คนอื่นอีกแล้วก็ยังมีเด็กอีกคนหนึ่งที่ดูจะเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับ
ลูกของเซตัน แต่แอบตัวโตกว่า





พวกเด็กที่จับกลุ่มเล่นกันด้านล่าง เมื่อกี้นี้ยังแอบเห็นพวกเขาไปปีนต้นแอปพริคอตกันอยู่

ห้องครัวอเนกประสงค์ สถานที่พบปะพูดคุยของคนในบ้านและแขกผู้มาเยือน

เด็กเล็กอีกคนหนึ่งที่อยู่บ้านนั้น ทายถูกมั้ยคนไหนเป็น Nono คนไหน Nomo 
(ถ้างงก็เปิดหาศัพท์เรียกญาติที่เอนทรี่แรกเอาเองนะ 55)




ผงข้าวบาร์เลย์คั่วบด หรือที่เรียกว่า Tsampa (ซัมป้า) เอามากินกับชาโดยเทคลุกลงใน
ถ้วยบ้างก็เอาเนยผสมไปด้วยจนเป็นก้อนแล้วค่อยหยิบกิน หนักท้องดี  คนลาดักจะเรียกว่า
"งัมเฟ"  ... แต่เซตัน บอกว่า คนย่านนี้เรียกผงซัมป้าว่า "เฟ" เฉย ๆ 






ค่ำวันนั้น พวกเขาต่างดูเป็นกันเองมาก เอาทั้งซัมป้าและชงชาใส่เนยให้กิน
ถึงจะไม่ทันได้มองเห็นขั้นตอนว่าใส่อะไรลงไปในนั้นบ้าง แต่เสียง ขลุก ๆๆๆ
ในกระบอกชาที่ทำจากลำไม้ ทำให้ฉันนึกอะไรบางอย่างขึ้นได้




การทำ ชาเนย (Butter tea) ฉบับดั้งเดิม  ในภาษาลาดักจะมีชื่อเรียกเฉพาะ
ว่า กรูกรู ชา (Gur gur Cha) โดยเลียนตามเสียงการตำในกระบอกนั่นเอง 
แต่ในภาษาทิเบตจะเรียกชาเนยนี้ว่า Po Cha  เห็นแล้วต้องโร่เข้าไปขอให้คน
ทำช่วยตำนาน ๆ หน่อย อยากจะเก็บเสียง กรู ๆๆๆๆ เอาไว้หน่ะ 

ต่อมาพวกเขาก็เอาชุดประจำถิ่นมาให้ดูแบบชัด ๆ เป็นชุดเดียวกับที่ผู้คนแถวนี้
แต่งตัวไปร่วมงานประเพณีสำคัญรวมไปถึงช่วงที่จัดงาน Aryan Festival ก็ด้วย
(เสียดายที่มาร่วมงานนี้ไม่ทัน) ชุดที่สวมและผืนที่ใช้คลุมทำมาจากหนังสัตว์
และมีขนแพะประดับที่เสื้อคลุม พอใส่ไปแล้วจะรู้สึกอุ่นมาก ๆ  





หมวกประดับดอกไม้ของผู้หญิงและชุดหนังสัตว์ ที่นำโลหะและเปลือกหอยมาตกแต่ง



รูปแบบชุดและเครื่องประดับ(ผู้หญิง) สำหรับสวมใส่ในวันหรืองานเทศกาลสำคัญ


ระหว่างที่โดนเซริ่งกับเซตันเอาชุดมาให้ลองเล่น ก็มีคุณยายผู้เป็นชาวอารยัน
ตัวจริงเดินเข้ามาในบ้านพอดี แกยืนหัวเราะชาวอารยันตัวปลอมผู้มีหน้าตาไม่
เข้าพวกกับทรงผมที่ตัดสั้นผิดไปจากคนแถวนี้ กำลังสวมชุดคลุมไหล่ขนแพะ
เต็มยศอยู่ตรงหน้านานเอาเรื่อง   ทีแรกก็แอบกลัวนะ ว่าจะโดนผู้ใหญ่ดุมั้ยที่ไป
เอาชุดประจำเผ่าเขามาใส่เล่นแบบนี้ (><)

 

เราใช้เวลานั่งเล่นที่บ้านหลังนั้นกันจนมืดค่ำ จากนั้นก็ต้องขอตัวกลับที่พักไป
พร้อมกับเซตันและลูก ถึงแม้ว่าพวกเขาจะชวนให้นอนค้างที่นี่ด้วยในคืนถัดไป
ก็ตาม … แต่ฉันมีเวลาสำหรับที่นี่เพียงแค่คืนนี้จนถึงเช้าเท่านั้น

ที่บ้านของเซตัน ยังคงอยู่ในสภาพเพิ่งสร้างเสร็จหมาด ๆ ไม่มีการเดินสายไฟ
หรือทำบริเวณห้องรับแขก (ห้องครัว) แบบหลังอื่น ทุกอย่างยังดูโล่งโจ้งและ
คืนนี้ก็ต้องปูเบาะที่นอนกันกลางห้องใหญ่นี้แทนไปก่อน

ถึงจะเลยมื้อเย็นมานานแล้ว  แต่เซตันก็ยังยกเอาคอตเตจชีสถ้วยใหญ่กับผลไม้
และบิสกิตอีกถาดมาให้ตามเท่าที่จะหาได้ในครัวตอนนั้นมาให้กิน ความจริงแล้ว
ที่นี่ไม่ได้เป็นโฮมสเตย์สำหรับเปิดให้นักท่องเที่ยวมาเข้าพัก เป็นบ้านธรรมดา ๆ
หลังหนึ่งที่บังเอิญมีผู้มาเยือนโผล่มาขอค้างแรมเท่านั้น ถึงจะดูขลุกขลักไปบ้าง
แต่พวกเขาก็ยังให้พื้นที่ส่วนตัวและพยายามดูแลพอสมควร

ลูกของเซตันชอบเดินมาหาและคุยอ้อแอ้ ๆ กับฉันบ่อยมาก เผลอหน่อยเดียวก็
จะหลบแม่แว้บเข้ามาหา จนบางครั้ง อาบีเลต้องลุกเดินมาปรามเพราะกลัวว่าจะ
รำคาญ  แต่สุดท้ายแกก็ต้องมานั่งสวดมนต์นับลูกประคำอยู่ข้าง ๆ คอยกันท่า
ซึ่งก็ไม่ค่อยสำเร็จสักเท่าไหร่  พวกเราก็ต้องมานั่งร่วมวงล้อมโต๊ะกันสามคนอยู่ดี




 

อาบีเล พูดได้แค่ภาษาลาดัก กับภาษาฮินดีค่ะ
ดังนั้นสิ่งที่ฟังแกออก ก็คือช่วงที่กินอาหาร อย่างเช่นคำว่า
"Khao!"  ในภาษาฮินดีนี่จำง่ายมากเพราะออกเสียงว่าคล้าย ๆ
"ข้าว" ซึ่งก็ประมาณชวนว่า กินสิ 

กับอีกคำหนึ่งที่เป็นภาษาลาดักคือ Don! หรือ Don Hey!
(ดน! หรือ ดน เฮ!)  หมายถึง "กินสิ" หรือ "ดื่มสิ" เช่นกัน


** คำว่า Don ใช้ได้ทั้งกินทั้งทั้งดื่มนะ


 

ก่อนเข้านอน ฉันอยากล้างหน้าเช็ดตัวซักหน่อย ก็รู้แหละว่าที่นี่ไม่มีห้องน้ำเป็น
สัดส่วนหรือมีก็อกน้ำเปิดใช้แบบในเมือง เซตันจึงอาสาพาไปส่งที่ทางน้ำไหล
ข้างบ้านที่ตรงนั้นจะมีช่องปล่อยน้ำเล็ก ๆ ที่ไหลมาจากบนเขาให้ได้ใช้ คืนนั้น
น้ำเย็นเฉียบจับใจ  แม้ที่นี่จะมีสภาพอากาศที่อบอุ่นกว่าเลห์หากเทียบกันแล้ว
ก็ตาม  เซตันชี้ตำแหน่งบนท้องฟ้าให้ดูว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะได้เห็นทางช้างเผือก


 

ฉันยืนล้างหน้าแปรงฟันตรงพื้นที่กลางแจ้งนอกอาคารตรงนั้น โดยอาศัยแสงไฟ
อันน้อยนิดถูกส่องผ่านจากมือถือ และมี เซตัน ยืนอยู่เป็นเพื่อน...ทุกอย่างอาจดู
เหมือนภาพฝันแห่งชนบทท้องทุ่งกับบรรยากาศที่อยู่ไกลพ้นเขตเมือง แวดล้อม
ไปด้วยธรรมชาติ ผู้คนที่งดงามและเรียบง่าย หากฉันไม่เจอคำร้องขอจากเซตัน
ที่ไม่รู้ว่าพูดจริงหรือพูดเล่นในระหว่างนั้น ถึงท่าทีจะแอบดูเขิน ๆ ไปบ้างก็เถอะ




"เธอเอาเสื้อผ้ามาเยอะมั้ย"
 

"อืม...ก็มีแค่สามสี่ตัวเองอ่ะ ไม่รวมเสื้อกันหนาว" ฉันตอบไปตามจริงนะ
คือไม่ได้เป็นคนที่แต่งตัวเยอะเท่าไหร่ด้วย เลยไม่ได้พกอะไรมามากมาย

 

"ถ้าไม่เอาแล้ว ทิ้งไว้ที่นี่บ้างก็ได้" เซตันบอก
"ดูสิ ฉันไม่ค่อยมีเสื้อดี ๆ ใส่"

 

เป็นคำร้องขอที่ฟังดูแล้วให้ความรู้สึกไม่ถูกแฮะ  นี่ยังไม่รวมถึงที่ว่าอยากให้
ช่วยอุปการะลูกเธออีกนะ  ซึ่งต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้ ก็มาจากประโยค
หนึ่งที่เซตันหลุดปากออกมาแบบซื่อ ๆ 

"เหมือนกับที่นักท่องเที่ยวชอบแจกเงินให้เรา...เวลามาเที่ยวหมู่บ้าน"

 

ฉันคิดว่า นั่นอาจเป็นภาพความทรงจำสมัยเด็กของเซตัน ที่ได้พบเจอกับ
นักท่องเที่ยวสายเปย์ ผู้ตระเตรียมการเอาของมาไล่แจกเด็ก บ้างก็ใช้วิธีดัง
กล่าวเพื่อแลกกับการได้รูปถ่าย โดยไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอะไรตามมา


อย่างไรก็ตาม เซตันคือหนึ่งในผลพวงจากเรื่องดังกล่าว แม้จะรู้ว่าในความเป็น
จริงแล้วครอบครัวของเธอมีกิจการทำเกสเฮาส์ในเลห์ และมีบ้านที่เพิ่งสร้างใหม่
นี่อีก เซตันคงไม่ได้คิดหลอกลวง แต่คงมีอะไรบางอย่างที่มาทำให้รู้สึกเหมือน
กับว่าเธอมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากขนาดนั้น 

 

คงอาจฟังดูคล้ายคลึงกับเรื่องราว  เงินทำให้โลกหมุน  ในบทที่ 10
จากหนังสือ “อนาคตอันเก่าแก่ฯ” กับข้อความเกริ่นนำสั้น ๆ ก่อนเข้าเนื้อหา
ให้ชวนน่าคิดตามอยู่เหมือนกัน แม้จะเป็นคนละเหตุการณ์และต่างวาระ

 

 

"ที่นี่ไม่มีคนจน"

Tsewang Paljor กล่าวไว้เมื่อปี 1975

 

"ได้โปรดให้ความช่วยเหลือ
แก่ชาวลาดักด้วยเถอะนะ พวกเรายากจนเหลือเกิน"

Tsewang Paljor (คนเดิม) กล่าวไว้เมื่อปี 1983

 


เบาะรถโดยสารที่ถูกนำมาวางเป็นฐานสำหรับต้มน้ำชาเฉพาะกิจของเหล่าคนเดินรถ


แล้วเวลาของการเข้ามาเยี่ยมเยือนในเขตพื้นที่ของชาวอารยันก็จบลงในเช้าวัน
ใหม่แบบดื้อ ๆ อย่างนี้แหละ ฉันเก็บกระเป๋าและฝากไว้ที่บ้านนั้นก่อน เพื่อแวะ
ออกไปเดินเที่ยวเตร่ข้างนอกพักใหญ่นานเกือบชั่วโมง ก่อนที่จะกลับมาเจอกับ
ลุงกระเป๋ารถฯและคนขับ ที่มาจอดรถอยู่ตรงสะพาน   พวกเขากำลังต้มชาดื่มรับ
อรุณ ด้วยการตั้งหม้อและเตาแก็สกันตรงเบาะรถ คาดว่ามันคงถูกใช้เป็นที่ทำ
กับข้าว ปิ้งโรตี กันในตอนมื้อเย็นของเมื่อวานด้วยแน่ ๆ








มัดข้าวบาร์เลย์ที่วางกองไว้ข้างทาง กับวิวของหมู่บ้านฝั่งที่ได้ไปพักอาศัยเมื่อคืนนี้



แม่น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่




ศาลาที่ตั้งกงล้ออธิษฐาน



พอกลับไปที่บ้าน  เซตันได้ทำอาหารเช้าให้ฉันก่อนออกเดินทาง มีทั้งโยเกิร์ต
โฮมเมดถ้วยใหญ่ ที่น่าจะทำไว้ตั้งแต่เมื่อคืน กับโรตีและชา  ระหว่างนั้นเธอชวน
ฉันไปเที่ยว Hanu Yokma ต่อ  แต่ก็นั่นแหละ เวลามีไม่พอจริง ๆ  

ไม่นานนัก คุณป้าก็มาเรียกให้ฉันเตรียมตัวเดินทางได้แล้ว เพราะใกล้เวลารถจะ
ออกในไม่ช้า...(ป้าอยู่ในเหตุการณ์ ช่วงเจ้าหน้าที่ Khaltsi ตรวจเอกสารฯ ใน
ตอนก่อน และรู้ว่าฉันมีเวลาสำหรับการเข้าพื้นที่ได้เพียงเท่านี้) ในตอนท้ายฉัน
ยื่นค่าที่พักให้จำนวนหนึ่ง ซึ่งป้าก็บอกว่าเอาไปให้เซตันเถอะ เพราะเธอเป็นคน
ที่คอยดูแล   



ภาพที่เห็นระหว่างเดินทางตอนนั่งรถกลับ ก็ย้อนมายังเส้นเดิมจากเมื่อวาน
ผิดแค่ว่าเป็นตอนเช้า มีผู้โดยสารที่เป็นนักเรียนขึ้นรถกันมากกว่าครึ่ง แต่ก็ไม่ได้
นั่งไปจนสุดทางหรอก  พอไปถึงช่วงเลี้ยวเข้าสะพานตรง Hanu Yokma ตรงจุด
รอรถนั้นมีชาวบ้านมายืนรอกันเยอะมาก บางคนก็มารอขึ้นรถ บางคนก็แค่มาฝาก
ของอย่างผลไม้และพืชผักที่ปลูกไว้ในสวนของตัวเองไปกับรถประจำทางเพื่อ
ส่งมอบไปให้ผู้ขายในเลห์  ... ไม่เพียงแค่หมู่บ้านนี้เท่านั้น การส่งของไปขาย
ในเมืองยังคงเห็นตามรายทางเรื่อย ๆ ตามแต่จะนัดแนะ ฉันเห็นผู้โดยสารบนรถ
คอยช่วยกันดูแลถังหูหิ้วใส่แอปพริคอตพูน ๆ 2 ใบ  ที่ถูกนำมาจัดวางใกล้เบาะ
ที่นั่งของตัวเองเพื่อไม่ให้เอนกลิ้งหกหล่นในจังหวะที่รถเลี้ยวเข้าโค้งด้วย 





ซุ้มที่กำลังสร้างขึ้นมาใหม่ เหมือนว่าพื้นที่แถวนี้มีงานก่อสร้างผุดขึ้นมาเยอะมาก ๆ  

หมู่บ้าน Hanu Yokma จากมุมถนนด้านบน

จุดรับส่งผู้โดยสาร และรับฝากข้าวของที่จะส่งไปยังเมืองด้านนอก



ทางผ่านหุบเขาที่มีแม่น้ำสินธุไหลผ่านด้านล่าง 



ปากทางหน้าหมู่บ้าน  Achinathang



จำพิกัดตรงนี้ไม่ได้แล้ว แต่ยังคงอยู่ในเขตพื้นที่ด้านใน
 




Create Date : 24 พฤษภาคม 2563
Last Update : 24 พฤษภาคม 2563 22:41:00 น.
Counter : 1484 Pageviews.

8 comments
ระยองฮิสั้น จันทราน็อคเทิร์น
(12 เม.ย. 2567 15:33:48 น.)
หาอะไรดับร้อนกับน้องถั่วแดงที่ร้านเย็น เย็น หวานเย็น สาขาMRTท่าพระ นายแว่นขยันเที่ยว
(12 เม.ย. 2567 00:32:31 น.)
ถนนสายนี้มีตะพาบ ประจำหลักกิโลเมตรที่ 349 : วันใดที่เธอรู้สึกเหมือนไม่มีใคร โปรดมองมาทางนี้ ฯ The Kop Civil
(10 เม.ย. 2567 16:44:58 น.)
ทริปอเมริกา #1 - รีวิวสายการบินฟิลิปปินส์ ไม่แพงมากและดีกว่าที่คิด ฟ้าใสทะเลคราม
(6 เม.ย. 2567 13:46:53 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณhaiku, คุณสองแผ่นดิน, คุณtoor36, คุณKavanich96, คุณSweet_pills, คุณnewyorknurse, คุณอุ้มสี, คุณMax Bulliboo, คุณRain_sk, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณชีริว, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก

  
ตามมาเที่ยวต่อครับ อยากไปเที่ยวสัมผัสชนบทแท้ๆอย่างนี้บ้างครับ
ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตที่ต่างไปจากเรา เสียดายมีเวลาแค่คืนเดียวกับรุ่งเช้า
ชอบบ้านที่ทำจากหินครับ ดูแปลกดี น่าจะเย็นกว่าอิฐ
แล้วได้ให้เสื้อกับเซตันหรือเปล่าครับ



โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 24 พฤษภาคม 2563 เวลา:22:57:35 น.
  
ได้รู้จักผู้คนก็ได้รู้ถึงความคิดคนนะครับ ผมรู้สึกว่าผู้คนดูเป็นมิตรกว่าที่คิดไว้เหมือนกัน

บ้านดูเหมือนกันแบบนี้ไม่สังเกตดีๆ อาจหลงได้นะ

ที่นี่ดูแห้งแร้งแต่ก็มีต้นไม้เขียวๆ ขึ้นอยู่เยอะเหมือนกันนะ

ผมชอบปากทางหน้าหมู่บ้าน Achinathang นะ มันดูเรียบง่ายดี แต่กลางคืนน่าจะมืดน่าดูเหมือนกัน
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 24 พฤษภาคม 2563 เวลา:23:31:37 น.
  
ขอบคุณที่แบ่งปัน
โดย: Kavanich96 วันที่: 25 พฤษภาคม 2563 เวลา:3:40:18 น.
  
ตามมาอ่านและเที่ยวกับน้องฟ้าต่อ
โดย: อุ้มสี วันที่: 26 พฤษภาคม 2563 เวลา:8:42:55 น.
  
อุ๊ยยย มียูทิวป์ ด้วย สับตะไคร้ ไปแล้ว เดี๊ยวทำงานก่อน พรุ่งนี้ว่างจะมานั่งชมจ้า คิดถึงนะ
โดย: Max Bulliboo วันที่: 26 พฤษภาคม 2563 เวลา:15:06:04 น.
  
ขอบคุณคุณฟ้าที่แวะไปเยี่ยมนะคะ
เราไม่ได้คุยกันนานเลย
พี่อายุมากขึ้นทุกปี ความจำอ่อนล้าลงมาก
ไม่เห็นใครนานๆก็หลงลืมไปได้ง่ายๆ
ได้พบอีกก็ดีใจมากมาย

วันนี้ได้กลับมานั่งอ่านเรื่องราวแบบนี้
จุใจเลยค่ะ เคยนึกเป็นห่วงการท่องเที่ยว
ของคุณฟ้าอยู่ไม่น้อย แต่คุณฟ้าคงรู้ว่า
จะดูแลตัวเองอย่างไรนะคะ

พี่อยากใช้โหวตให้หมดทุกวัน
อ่านแล้วชอบก็อยากโหวตให้
อย่าห้ามเลยนะคะ
แล้วเราคงได้พบกันอีก

โดย: ภาวิดา คนบ้านป่า วันที่: 26 พฤษภาคม 2563 เวลา:18:32:52 น.
  
พูดไปก็อยากชมพิพิธภัณฑ์ของแถวนี้เหมือนกันนะ
ตอนไปกรีซนี่แทบจะ 1 เมืองโบราณ 1 พิพิธภัณฑ์เลยบ ของขุดเจอเยอะม้าก
แต่อินเดียเคยไปรอบเดียวอะ ไม่ได้ไปพิพิธภัณฑ์ด้วย ไม่รู้บ้านเขาเป็นไง
คนแถวนี้ใจดีอะ offer ที่พักให้เลย แจกอาหารการกินให้อีก ^^ บ้านหินดูคลาสสิคดีนะครับ
เลยได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่แบบอินไซต์ ถึงเขาก็คงอยากได้เงินจากนักท่องเที่ยวแต่ก็ดูเขินในทีอยู่ใช่ไหมครับ
นักท่องเที่ยวสายเปย์หลายคนจ่ายหนักทีชาวบ้านแถวนี้อยู่กันได้ยาวๆเลย
นึกถึงเรื่องมานซามูซากษัตริย์มาลีที่แจกทองให้หมู่บ้านยากจนตามทางจนสมดุลเศรษฐกิจพัง
โดย: ชีริว วันที่: 26 พฤษภาคม 2563 เวลา:22:21:00 น.
  
ถึงสุดสายปลายทางหมู่บ้านชาวอารยันแล้ว
ผู้คนที่มีดูมีเอกลักษณ์ของชาวอารยันจริง ๆ
ที่สำคัญกว่านั้นยังดูเป็นมิตร นิสัยใจคอก็ดีอีกต่างหาก
ถึงจะได้แวะสั้น ๆ แค่คืนเดียว แต่ก็น่าจะคุ้มค่า


เอ้อ เห็นชื่อสองสาว เซตัน ซังโม่ กับ เซริ่ง แล้ว
นึกถึงนักศึกษาภูฏานที่เคยมาฝึกงานเลยแฮะ
มีคนนึงมีชื่อแรกว่า Tshering คล้าย ๆ กับเซริ่ง Tsering เลย
คงจะเป็นด้วยมีวัฒนธรรมบางอย่างร่วมกันด้วยมั้ง
แต่เอาเข้าจริง ไม่เห็นมีใครเรียกชื่อจริงของเธอเลยนะ
พอมาอยู่เมืองไทยทุกคนใช้การเรียกชื่อเล่นเอา
(แต่ถึงจะเป็นชื่อเล่น ก็ยังออกเสียงลำบากสำหรับคนไทยอยู่ดี ^^")


ป.ล. รูปชาวอารยันปลอม (คอสเพลย์) อยู่หนายยย ขอดูหน่อยซิ!
โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 30 พฤษภาคม 2563 เวลา:23:24:54 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Wachii.BlogGang.com

กาบริเอล
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]

บทความทั้งหมด