หลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิในที่ดิน
หลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิในที่ดิน

การแบ่งประเภทของสิ่งต่างๆ

ในทัศนะของมนุษย์ ซึ่งย่อมถือตนเองเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นใหญ๋ สรรพสิ่งทั้งหลายแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ คือ
๑. สิ่งที่เกิดเองตามธรรมชาติ โดยรวมก็คือสากลจักรวาล หรือเอกภพ บางทีเราก็คิดเป็นส่วนย่อยที่เราเกี่ยวข้องด้วย เช่น โลก แผ่นดิน ทางเศรษฐศาสตร์คือ “ที่ดิน” ซึ่งหมายความรวมถึง เนื้อที่ หรือ ที่ว่าง (space) และทรัพยากรธรรมชาติ
๒. มนุษย์ มนุษย์เป็นทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ที่ก่อผลกระทบกระเทือนใหญ่หลวงต่อทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม ยิ่งมีความสามารถผลิต (เจริญมาก?) ยิ่งก่อผลกระทบกระเทือนมาก การบริโภคก็วิจิตรประณีต หลากหลายขึ้นตามส่วน ด้านการผลิตนั้น มนุษย์ต้องใช้ “แรงงาน” (แรงกาย แรงสมอง รวมถึง การประกอบการ) กระทำต่อที่ดิน และต้องกระทำอยู่บนที่ดิน แม้ยามไม่ได้ผลิต เช่น เวลานอน ก็จำเป็นต้องมีเนื้อที่ หรือที่ดิน รองรับ หากถูกพรากไปจากที่ดิน มนุษย์จะมีชีวิตอยู่หาได้ไม่ เงื่อนไขแห่งการมีชีวิตคือต้องมีที่ดิน
๓. สิ่งที่มนุษย์ลงแรงลงทุนผลิตได้มา ปกติก็คือ “เศรษฐทรัพย์” (wealth) เศรษฐทรัพย์ย่อมเสื่อมสลายไปเรื่อยๆ เหมือนมนุษย์ ในที่สุดก็คืนสภาพกลับสู่ดิน หรือที่ดิน เศรษฐทรัพย์แบ่งได้เป็น ๒ ชนิด แล้วแต่เจตนาของการใช้ประโยชน์ (ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้) คือ “โภคทรัพย์” ได้แก่เศรษฐทรัพย์ที่ใช้บริโภคโดยตรง และ “ทุน” คือ เศรษฐทรัพย์ที่ใช้ในการผลิตเศรษฐทรัพย์สำหรับการแลกเปลี่ยน ได้แก่เครื่องมือ จักรกล โรงงาน เป็นต้น และเศรษฐทรัพย์ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน เช่น สินค้าที่อยู่ในร้าน

ปัจจัยการผลิต มี ๓ ปัจจัย โดยถือหลักทำนองเดียวกับการแบ่งประเภทของสิ่งต่างๆ
๑. ที่ดิน ผลตอบแทนต่อการใช้ที่ดิน คือ ค่าเช่าที่ดิน ไม่ว่าจะใช้ที่ดินของเราเองหรือเช่าจากผู้อื่น
๒. แรงงาน ผลตอบแทนคือ ค่าแรง ไม่ว่าผู้นั้นจะทำงานของตนเอง หรือรับจ้างผู้อื่นทำงาน
๓. ทุน ผลตอบแทนคือ ดอกเบี้ย ควายไถนาเป็น “ทุน” ของมนุษย์ ผลตอบแทนของการใช้ควายจึงมิใช่ “ค่าแรง” แต่เป็น “ดอกเบี้ย” และที่เรียกว่า “ค่าเช่ารถ” นั้น ทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็น “ดอกเบี้ย” สำหรับการใช้รถ ส่วนเงินตราถือว่าเป็นตัวแทนของเศรษฐทรัพย์ และเรียกผลตอบแทนว่า ดอกเบี้ย เหมือนกัน

Sir William Petty (ค.ศ.1623-1687) เปรียบเทียบว่า ที่ดินคือมารดาของผลผลิต (passive factor) และ แรงงานคือบิดาของผลผลิต (active factor)
การผลิตจะเกิดขึ้นได้ต้องมีอย่างน้อย ๒ ปัจจัยแรก คือ ที่ดิน และ แรงงาน เช่น การเก็บของป่า แต่ถ้ามีทุนช่วยก็ทำให้ความสามารถผลิตสูงขึ้น สะดวกสบายขึ้น

ความเท่าเทียมกันควรใช้เฉพาะกับสิ่งที่เกิดเองตามธรรมชาติ
อารยชนถือว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน”
สิ่งที่ควรให้มีเท่าเทียมกันคือ สิ่งต่างๆ ประเภทที่ ๑ คือ “ที่ดิน” ซึ่งรวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ
ส่วนประเภทที่ ๒ ตัวมนุษย์เอง ควรเป็นของแต่ละคน
ประเภทที่ ๓ คือ สิ่งที่มนุษย์ลงแรงลงทุนผลิตขึ้นมา ใครผลิตใครสร้าง ก็ควรเป็นของผู้นั้น และยกให้กันหรือขายให้กันได้ ผู้รับก็ควรมีสิทธิในสิ่งที่รับมาหรือซื้อมาเต็มที่

แต่ในการผลิตจะต้องแบ่งผลตอบแทนให้แก่เจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งสาม หรืออย่างน้อยก็สองปัจจัยแรก ยกเว้นถ้าทำการผลิต ณ ที่ดินชายขอบ หรือ ขอบริมแห่งการผลิต (Margin of Production) ซึ่งที่ดินที่นี่ไม่มีราคา และไม่มีการใช้ทุน แรงงานจึงจะได้รับผลตอบแทนไปทั้งหมด ซึ่งก็คือผลผลิตของเขาเอง

ผลตอบแทนต่อปัจจัยการผลิตที่ ๑ คือ ค่าเช่าที่ดิน มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นสิ่งที่ทำให้ แรงงาน และ ทุน ได้รับผลตอบแทนเท่าเทียมกันไม่ว่าจะทำการผลิต ณ ที่ดินอุดมมากน้อยผิดกันเพียงไร ถ้าที่ดินอุดมมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินย่านธุรกิจซึ่งให้ผลตอบแทนได้มาก เพราะการแลกเปลี่ยนซื้อขายผลผลิตและบริการเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว) ค่าเช่าก็จะสูง หักแล้วเหลือเป็นค่าแรงและดอกเบี้ยพอๆ กับค่าแรงและดอกเบี้ย ณ ที่ดินชายขอบ

แต่ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดิน และมูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม

การจะให้มีความเท่าเทียมกันในที่ดินนั้น เราไม่ต้องแบ่งที่ดินให้ทุกคนเท่าๆ กัน (โดยมูลค่า) ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ธรรมชาติของสังคมมนุษย์มีวิธีที่ง่ายมาก ผิดกับปัจจุบันที่ปล่อยให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากที่ดินไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเก็งกำไรสะสมแสวงหาที่ดิน ทำให้ที่ดินแพงขึ้นอย่างมากมาย คนจนต้องเสียค่าเช่าที่ดินแพงกว่าปกติ และยังต้องเสียภาษีอื่นๆ ซึ่งไม่น่าเก็บ แต่จำเป็นต้องเก็บ เพราะแหล่งรายได้ที่ชอบธรรมของรัฐคือที่ดิน รัฐกลับปล่อยให้รายได้นั้นตกแก่เจ้าของที่ดิน

มิเพียงเท่านั้น การเก็บภาษีอื่นๆ และการเก็งกำไรที่ดินยังเกิดผลเสียแก่ส่วนรวมมากมาย ได้แก่ การลงทุนมีต้นทุนการผลิตสูง มีการลงทุนผลิตน้อย การจ้างงานน้อย ค่าแรงต่ำ แต่ของแพง มีผลร้ายต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยวและความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ

ที่ดินผิดกับทรัพย์สินอื่นๆ ที่เกิดด้วยการลงแรงลงทุน เช่น สินค้า ซึ่งเมื่อแพงขึ้นเพราะมีผู้ต้องการเพิ่ม ก็จะมีผู้ผลิตเพิ่มทำให้ราคากลับสู่ดุล แต่สถานที่หรือทรัพยากรธรรมชาติผลิตเพิ่มไม่ได้ เมื่อความต้องการเพิ่ม ราคาจึงเพิ่ม
ถ้าเราต้องการผลิตทรัพย์สินชิ้นหนึ่ง เราก็จำเป็นต้องมีที่ดิน อันเป็นแหล่งกำเนิดของทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ถ้ามีการกักตุนสินค้า แม้จะเป็นจำนวนมาก ผู้อื่นสามารถผลิตเพิ่ม แต่ถ้ากักตุนทรัพยากรธรรมชาติ – แหล่งที่มาของทรัพย์สิน – และที่ดิน – สถานที่ซึ่งใช้ทำงาน – จะเป็นการกีดกันผู้อื่นมิให้ทำงานผลิต
ดังนั้น เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของคนส่วนใหญ่ ที่ดินจึงไม่ควรกลายเป็นสินค้าที่ซื้อขาย ให้เช่า หรือหาประโยชน์อื่นๆ กันโดยไม่มีการวางเงื่อนไขพิเศษจากรัฐ

ถ้าเก็บภาษีที่ดินสูงขึ้น ที่ดินก็จะเปิดออกหาคนทำงานในที่ดิน หรือขายออกไปในราคาต่ำลง
คนก็จะหางานทำได้ง่ายขึ้น การว่างงานลด ค่าแรงเพิ่ม
ฝ่ายนายทุนจะกลับต้องง้อคนงาน เพราะคนงานบางส่วนจะสามารถจ้างตนเอง เป็นเจ้าของกิจการเอง
และหาซื้อที่ดินเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้ในราคาต่ำแทบจะเป็นศูนย์ ถึงจะต้องเสียภาษีที่ดิน แต่ภาษีอื่นๆจะลดลง ราคาสินค้าจึงลดตาม
เมื่่อค่าแรงเพิ่ม แต่ราคาสินค้าลด ความต้องการสวัสดิการก็ลด จึงไม่ต้องใช้ระบบรัฐสวัสดิการที่เก็บภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้า

การเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม มีการชดเชยโดยลดภาษีอื่นๆ ลงเท่าๆ กัน
ถ้าครอบครัวหนึ่งมีฐานะเจ้าของที่ดินสมส่วนกับฐานะผู้ลงแรงและผู้ลงทุน ครอบครัวนั้นจะเสียภาษีรวมแล้วเกือบเหมือนเดิม
ถ้าครอบครัวนั้นมีฐานะเจ้าของที่ดินมากเกินส่วนความเป็นผู้ลงแรงลงทุน ก็ควรแล้วที่จะต้องรับภาระภาษีมากขึ้น
เพราะนั่นคือการเก็งกำไรที่ดิน ซึ่งผลร้ายได้กล่าวไว้แล้ว

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ในระบบปัจจุบัน มีคนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเด็กทารก ซึ่งเกิดเข้ามาสู่โลกนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะได้มีชีวิตอยู่อาศัยบนแผ่นดินโลกและทำมาหากินในแผ่นดินโลก ยกเว้นแต่จะต้องจ่ายค่าใช้แผ่นดินให้แก่เจ้าของที่ดินแต่ละบุคคล มิฉะนั้นก็จะต้องเนรเทศตนเองไปอยู่ ณ ขอบริมแห่งการผลิต หรือที่ดินชายขอบอันแร้นแค้นทุรกันดาร ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะหาได้ก่อนอดตายหรือไม่ และนี่ย่อมแสดงว่าเขาไม่มีโอกาสตามธรรมชาติเท่าเทียมกับผู้อื่น เมื่อแม้แต่โอกาสตามธรรมชาติอันเป็นรากฐานแห่งการดำรงเลี้ยงชีวิตก็เกิดความเหลื่อมล้ำกันเสียแล้ว ย่อมไร้ความหมายที่จะกล่าวถึงคำขวัญอันโก้หรูที่ว่า “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน” หรือ “ความเสมอภาค”
ความผิดของพ่อแม่ที่ไม่ขวนขวายหรือไม่สามารถหาที่ดินไว้ให้ลูกหลานนั้น สมควรจะให้ลูกหลานต้องรับกรรมรับชดใช้ด้วยการต้องแบ่งผลตอบแทนแห่งการใช้หยาดเหงื่อแรงงานของตนไปให้แก่ผู้ครองสิทธิเหนือแผ่นดินที่ตนอยู่อาศัยและทำกิน ทั้งๆ ที่ตนเองก็ต้องขาดแคลนอยู่แล้ว กระนั้นหรือ ?

ใช้ระบบภาษีที่ดินแล้ว ไม่ต้องจำกัดการถือครอง ไม่ต้องยึดที่ดินเป็นของรัฐ ไม่ต้องจัดสรรที่ดินให้คนจน
ปล่อยให้ราษฎรซื้อขายหรือทำอะไรกับที่ดินได้เสรี
ภาษีที่ดินก็เก็บอัตราเดียวเหมือนกันหมด คือเท่ากับค่าเช่าที่ควรเป็น

ระบบสวัสดิการของรัฐก็ไม่ต้องใช้วิธีเก็บภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้าให้คนหมดกำลังใจทำงาน
หรือหาทางเลี่ยงภาษี หรือย้ายประเทศ (ที่จริงระบบภาษีที่ดินไม่ต้องการเก็บภาษีเงินได้เลย)
เพราะคนที่หมดหนทางช่วยตัวเองจะเหลืออยู่น้อยมากที่รัฐต้องช่วย

ข้อที่ขอย้ำ คือ การเปลี่ยนแปลงควรค่อยเป็นค่อยไป อาจต้องนานหลายสิบปี
เพื่อให้ทุกคนมีเวลาปรับตัวได้พอควร และถือเป็นการชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดินไปด้วยในตัว
จะชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดินวิธีอื่นก็ไม่ควร เพราะเงินชดใช้นั้นจะได้มาจากใครถ้ามิใช่ผู้ลงแรงผู้ลงทุน
ซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่นานมากแล้วและยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่รู้ว่าจะต้องเสียเปรียบไปอีกนานเท่าไร

ท่านที่สนใจวิธีแก้ไขความยากจนจากความอยุติธรรมขั้นฐานราก ขอเชิญดูบทความและหนังสือที่เว็บ //geocities.com/utopiathai/
ครับ



Create Date : 30 กันยายน 2549
Last Update : 16 มกราคม 2550 11:24:43 น.
Counter : 889 Pageviews.

2 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
ทนายอ้วนจัดดอกไม้ - จัดดอกไม้ง่ายๆ – แจกันสวัสดีปีใหม่ 2567 - กุหลาบพวงสีชมพู - ขาว ทนายอ้วน
(2 ม.ค. 2567 15:16:32 น.)
ไม่ลอดช่องโหว่ ปัญญา Dh
(2 ม.ค. 2567 13:44:30 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  

สวัสดีวันเสาร์ค่ะ

โดย: โสมรัศมี วันที่: 30 กันยายน 2549 เวลา:15:18:14 น.
  
สวัสดีครับ ขอบคุณมากครับที่แวะมาสวัสดี
ขอให้คุณโสมโชคดีมีสุขมากๆ ครับ
โดย: ยูโทเพียไทย (สุธน หิญ ) วันที่: 30 กันยายน 2549 เวลา:22:31:57 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด