วาทะของนักคิดเรื่องที่ดินและการกระจายรายได้
วาทะของนักคิดเรื่องที่ดินและการกระจายรายได้
(เรียงตามวันเดือนปีเกิด)

Confucius (ขงจื๊อ 551-479 BC): เมื่อมหามรรคามีชัย ก็มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเต็มที่เพื่อทุกคน โดยไม่มีการถือเอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว . . . นี่คือยุคแห่งทรัพย์สินร่วมกันอันยิ่งใหญ่แห่งสันติภาพและความรุ่งเรือง [1]

Plato (427-347 BC): เมื่อมีภาษีเงินได้ ผู้ที่ยุติธรรมจะจ่ายมากกว่า และผู้ไม่ยุติธรรมจะจ่ายน้อยกว่า สำหรับรายได้จำนวนเท่ากัน [2]

Aristotle (384-322 BC): ที่ดินทั้งหมด (ของ Attica) อยู่ในมือของคนไม่กี่คน และถ้าผู้เพาะปลูกไม่ได้จ่ายค่าเช่าที่ดิน เขาก็อาจถูกพันธนาการหรือกลายเป็นทาส [3]

Pliny the Elder (23-79 AD): การผูกขาดที่ดินนำหายนะมาสู่โรม [3]

Pope Saint Gregory the Great (540-604 AD): แผ่นดินโลกเป็นทรัพย์สินร่วมกันของทุกคน . . . . ผู้ถือเอาของขวัญจากพระเจ้าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวแสร้งทำโดยไร้ผลว่าตนเป็นผู้สุจริต . . . . เพราะโดยครอบครองเครื่องหาเลี้ยงชีพของคนจนดังนี้ พวกเขาคือฆาตกรสำหรับผู้ซึ่งตายทุกวันเพราะความขาดแคลนสิ่งนั้น [4]

John Locke (1632-1704): แผ่นดินเป็นสิทธิเก็บกินของผู้มีชีวิตและถูกประทานมาเป็นสมบัติร่วมกันสำหรับมนุษย์อยู่อาศัยและทำงาน [5]

Baruch Spinoza (1632-1677): ที่ดินทั้งหมดควรเป็นทรัพย์สินสาธารณะ [3]

William Penn (1644-1718): ถ้าทุกคนเป็นผู้เช่าที่ดินสาธารณะและมีการนำธัญญาหารส่วนเกินและการใช้จ่ายส่วนเกินไปให้แก่ส่วนที่ขาด ก็จะไม่ต้องมีการเก็บภาษีต่าง ๆ อีกต่อไป [3]

Voltaire (1694-1778): ผลแห่งแผ่นดินคือมรดกร่วมกันของทุกคน ซึ่งทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน [1]

Jean Jacques Rousseau (1712-1778): จะเป็นอันหมดหวังสำหรับท่านถ้าท่านลืมว่าผลแห่งแผ่นดินเป็นของเราทุกคน และแผ่นดินเองมิใช่ของใคร ๆ [1]

Mirabeau the Elder (1715-1789): การใช้ระบบภาษีที่ดินจะเป็นความก้าวหน้าทางสังคมเทียบได้กับการคิดประดิษฐ์ด้านการเขียนและเงินตรา [6]

Adam Smith (1720-1790): ทั้งค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคารและค่าเช่าที่ดินเกษตรต่างเป็นรายได้ชนิดที่ส่วนมากเจ้าของได้รับโดยตนเองมิต้องเอาใจใส่หรือสนใจ ถึงแม้จะเก็บเอาส่วนหนึ่งของรายได้นี้จากเจ้าของมาเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐก็จะไม่ทำให้เกิดการท้อถอยแก่อุตสาหกรรมชนิดใด ๆ . . . . ดังนั้นค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคารและค่าเช่าที่ดินเกษตรอาจเป็นรายได้ชนิดที่สามารถจะเก็บภาษีเป็นพิเศษได้ดีที่สุด [1]

Thomas Paine (1737-1809): มนุษย์มิได้สร้างแผ่นดิน . . . นั่นคือมูลค่าของการปรับปรุงเท่านั้น และมิใช่แผ่นดินเองที่เป็นทรัพย์สินของแต่ละบุคคล . . . เจ้าของที่ดินทุกคนเป็นหนี้ค่าเช่าต่อชุมชนสำหรับที่ดินที่เขาถือครอง . . . จากค่าเช่าที่ดินนี้ . . . ข้าพเจ้า . . . เสนอ . . . ตั้งกองทุนแห่งชาติ ซึ่งจากกองทุนนี้จะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ทุกคน [3]

Thomas Jefferson (1743-1826): แผ่นดินเป็นสิ่งประทานมาให้เป็นสมบัติร่วมกันสำหรับมนุษย์จะได้ทำงานและอยู่อาศัย . . . ถ้ามีที่ดินว่างเปล่าและมีคนจนที่ไม่มีงานทำไม่ว่าในที่ใดในแผ่นดินใด ก็ชัดเจนว่ากฎแห่งทรัพย์สินได้ถูกขยายออกมากไปจนละเมิดสิทธิโดยธรรมชาติ [1]

Simonde de Sismondi (1773-1842): โดยทั่วไปเมื่อไม่มีที่ดินว่างอีกแล้ว เจ้าของที่ดินก็จะมีอำนาจผูกขาดชนิดหนึ่งเหนือผู้อื่นในโลก [1]

John Stuart Mill (1806-1873): เจ้าของที่ดินรวยขึ้นขณะนอนหลับโดยไม่ต้องทำงาน เสี่ยง หรือ หาทางประหยัด การที่ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการใช้ความพยายามของทั้งประชาคม ควรเป็นของประชาคม มิใช่เป็นของปัจเจกชนผู้ถือกรรมสิทธิ์ [1]

Pierre Joseph Proudhon (1809-1865): ตราบใดที่ยังมีการดำรงการผูกขาดที่ดิน จะมีไม่กี่คนที่สามารถเป็นเจ้าของสิ่งที่ธรรมชาติได้ให้เปล่าแก่ทุกคน และการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจะแผ่ไปทั่วทั้งสังคม และเราจะมีธนาคาร ซึ่งแทนที่จะเป็นผู้รับใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า จะกลายเป็นผู้ขู่กรรโชกที่ทรงอิทธิพล [3]

Abraham Lincoln (1809-1865): ที่ดิน แผ่นดินโลก ที่พระเป็นเจ้าประทานแก่มนุษย์เพื่อเป็นบ้าน เป็นหนทางยังชีพ และค้ำจุนเขา ไม่ควรกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด บรรษัทใด สังคมใด หรือรัฐบาลอมิตรใด มากไปกว่าอากาศหรือน้ำ [1]

Karl Marx (1818-1883): การผูกขาดที่ดินคือมูลฐานแห่งการผูกขาดทุน [1]
: จากมุมมองของรูปแบบทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นของสังคม การให้เอกชนบางคนมีกรรมสิทธิ์ในแผ่นดินโลกเป็นความเฉาโฉด เหมือนกับการให้บุคคลหนึ่งมีกรรมสิทธิ์ในอีกบุคคลหนึ่ง แม้แต่สังคมหนึ่ง หรือแม้แต่ทุกสังคมรวมกัน ก็ไม่ใช่เจ้าของแผ่นดินโลก พวกเขาเป็นเพียงผู้ครอบครอง ผู้ใช้แผ่นดินโลก และจะต้องส่งต่อไปยังชนรุ่นหลัง ๆ ในภาวะที่ดีขึ้น เสมือนบิดาที่ดีของครอบครัว [3]

Herbert Spencer (1820-1910): สิทธิของแต่ละคนที่จะใช้ประโยชน์จากแผ่นดิน ซึ่งจำกัดก็แต่โดยสิทธิเช่นเดียวกันของเพื่อนมนุษย์นั้น สามารถจะพิสูจน์เชิงนิรนัยได้ทันทีจากกฎเสรีภาพเท่าเทียมกัน เราเห็นว่าการดำรงสิทธินี้ทำให้ต้องห้ามมิให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน [1]

Count Leo Tolstoy (1828-1910): วิธีที่มิต้องสงสัยเลยวิธีเดียวในการปรับปรุงฐานะของคนงาน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นไปตามพระประสงค์แห่งพระผู้เป็นเจ้าด้วย คือการปลดปล่อยที่ดินจากการยึดครองของเจ้าที่ดิน . . . . แผนการที่ยุติธรรมที่สุดและปฏิบัติได้ดีที่สุดในความเห็นของข้าพเจ้าคือแผนของเฮนรี จอร์จที่เรียกกันว่าระบบภาษีเดี่ยว [1]

Mark Twain (Samuel Langhorne Clemens 1835-1910): แผ่นดินโลกเป็นของประชาชน ข้าพเจ้าเชื่อคำสอนเรื่องภาษีเดี่ยว [1]

Henry George (1839-1897): เราเสนอให้ยกเลิกภาษีทุกชนิดยกเว้นภาษีอย่างเดียวที่คิดจากมูลค่าที่ดิน (land values) โดยไม่รวมมูลค่าของสิ่งปรับปรุง (improvements) [7]
: . . . วิธีแก้ไขง่าย ๆ แต่ได้ผลใหญ่หลวง ซึ่งจะยกค่าแรงขึ้นสูง เพิ่มผลตอบแทนของทุน กำจัดความข้นแค้น ยกเลิกความยากจน ทำให้มีงานรายได้ดีว่างสำหรับผู้ใดก็ตามที่ต้องการงานทำ ทำให้ไม่มีขอบเขตจำกัดพลังความสามารถของมนุษย์ ทำให้อาชญากรรมลดลง ยกระดับศีลธรรม รสนิยม และสติปัญญา ทำให้การปกครองบริสุทธิ์หมดจดขึ้น และทำให้อารยธรรมเจริญสูงส่งยิ่งขึ้น [8]
: . . . ในบรรดาภาษีทั้งหลาย ภาษีมูลค่าที่ดินมีคุณสมบัติครบถ้วนที่สุดตามข้อกำหนดแห่งภาษีที่ดี โดยที่ที่ดินนั้นไม่สามารถซ่อนเร้นหรือพาหนีไปได้ ภาษีที่ดินจึงสามารถประเมินได้แน่นอนกว่า และเก็บได้ง่ายกว่าโดยสิ้นเปลืองน้อยกว่าภาษีอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็ไม่มีผลถ่วงการผลิตหรือลดแรงจูงใจในการผลิตเลย ที่จริงแล้วมันเป็นภาษีเพียงในรูปแบบ แต่โดยสภาพแล้วมันคือค่าเช่าที่ดิน – คือส่วนที่เก็บจากมูลค่าอันมิได้เกิดจากความพยายามของแต่ละบุคคล แต่เกิดจากการเจริญเติบโตของประชาคม เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับประชาคม เพราะสิ่งที่เจ้าของหรือผู้ใช้ที่ดินแต่ละคนทำนั้นมิได้ไปทำให้ที่ดินมีมูลค่าขึ้น มูลค่าที่แต่ละคนก่อคือมูลค่าที่เกิดกับสิ่งปรับปรุง มูลค่านี้ ซึ่งเป็นผลแห่งการใช้ความพยายามของแต่ละบุคคล ย่อมเป็นของแต่ละบุคคลโดยชอบ [9]

Daniel C. Beard (1850-1941): ข้าพเจ้าเชื่อในเฮนรี จอร์จ . . . ข้าพเจ้าได้เป็นผู้ปฏิบัติงานเพื่ออุดมการณ์ภาษีเดี่ยวมาเป็นเวลานาน [1]

George Bernard Shaw (1856-1950): ค่าเช่าที่ดินทั้งหมดควรจ่ายเข้ากองทุนของส่วนรวมและใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ [3]

John Dewey (1859-1952): ข้าพเจ้าไม่อวดอ้างว่าวิธีแก้ไขของจอร์จคือยาครอบจักรวาลที่จะรักษาความป่วยไข้ทั้งหมดของเราได้ตามลำพัง แต่ข้าพเจ้าอวดอ้างว่าเราจะไม่สามารถขจัดความเดือดร้อนขั้นพื้นฐานทั้งหลายของเราได้ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ [10]

David Lloyd George (1863-1945): เป็นการดีมากที่จะจัดทำร่างพระราชบัญญัติอาคารสงเคราะห์สำหรับชนชั้นแรงงาน แต่จะไม่มีประสิทธิผลจนกว่าท่านจะจัดการเรื่องภาษีมูลค่าที่ดินเสียก่อน [1]

Sun Yat-sen (1866-1925): คำสอนของเฮนรี จอร์จจะเป็นมูลฐานแห่งโครงการปฏิรูปของเรา . . . . [ภาษีที่ดิน] ในฐานะวิธีเดียวสำหรับสนับสนุนรัฐบาลเป็นภาษีที่ยุติธรรมอย่างยิ่ง มีเหตุผล และ กระจายตัวอย่างชอบธรรม และเราจะก่อตั้งระบบใหม่ของเราด้วยภาษีนี้ [1]

Lord Bertrand Russell (1872-1970): เป็นความจำเป็นที่ควรมีค่าเช่าที่ดิน แต่ค่าเช่าที่ดินนี้ควรจ่ายให้แก่รัฐหรือหน่วยที่ทำงานบริการสาธารณะ ถ้าค่าเช่าที่ดินทั้งหมดมีมากกว่าที่ต้องการเพื่อการนั้น ก็อาจจ่ายเข้ากองทุนร่วมกันและแบ่งให้ราษฎรเท่า ๆ กัน [1]

Winston Churchill (1874-1965): การผูกขาดที่ดินมิใช่การผูกขาดเพียงชนิดเดียว แต่ก็เป็นการผูกขาดที่ใหญ่หลวงที่สุด - เป็นการผูกขาดตลอดกาล และเป็นต้นกำเนิดของการผูกขาดอื่น ๆ ทุกรูปแบบ [1]

Albert Einstein (1879-1955): บุคคลเช่นเฮนรี จอร์จ หาได้ยาก ซึ่งนับว่าน่าเสียดาย ไม่มีใครที่จะนึกเห็นความแหลมคมทางปัญญา รูปแบบอันเป็นศิลปะ และความรักยุติธรรมอย่างรุนแรง ซึ่งจะผสมผสานกันอย่างงดงามกว่านี้ได้ [1]

Helen Keller (1880-1968): ท่านขอให้สตรีมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน คะแนนเสียงสามารถจะทำให้อะไรดีขึ้นหรือในเมื่อที่ดินของบริเตนใหญ่ 10 ใน 11 ส่วนเป็นของคน 200,000 และเพียง 1 ใน 11 ส่วนเป็นของคนที่เหลือของ 40,000,000 ? บุรุษของท่านซึ่งมีคะแนนเสียงหลายล้านเสียงได้ปลดปล่อยตนเองจากความอยุติธรรมนี้แล้วหรือ ? [11]

Aldous Huxley (1894-1963): ถ้าบัดนี้ข้าพเจ้าจะเขียนหนังสือนี้ [Brave New World] ขึ้นใหม่ ข้าพเจ้าจะเสนอทางเลือกที่ 3 . . . ความเป็นไปได้ของความมีสติ เศรษฐศาสตร์จะเป็นแบบกระจายการและแบบเฮนรี จอร์จ [1]

Milton Friedman (1912-2006): ควรเก็บภาษีจากที่ดินให้มากเท่าที่จะมากได้และจากสิ่งปรับปรุงให้น้อยเท่าที่จะน้อยได้ [1]

William Vickrey (1914-1996): มัน [ภาษีมูลค่าที่ดิน] เป็นสิ่งประกันว่าจะไม่มีผู้ใดพรากสิทธิของเพื่อนพลเมือง โดยการแสวงหาส่วนแบ่งที่มากเกินควร ในสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้แก่มนุษยชาติ [12]

Paul Samuelson (1915- ): ค่าเช่าที่ดินแท้ ๆ มีสภาพของ "ส่วนเกิน" ซึ่งอาจเก็บมาเป็นภาษีได้อย่างหนัก โดยไม่ทำให้พลังกระตุ้นการผลิต หรือประสิทธิภาพ บิดเบี้ยวไป [1]

Herbert Simon (1916-2001): ถ้าสมมุติว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มภาษี จะเห็นชัดว่าควรเพิ่มต้นทุนของที่ดิน โดยเพิ่มภาษีที่ดิน มากกว่าที่จะเพิ่มภาษีค่าจ้างเงินเดือน . . . การใช้ประโยชน์และการอยู่อาศัยในทรัพย์สินเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความจำเป็นต้องมีบริการต่าง ๆ ของเทศบาล ซึ่งปรากฏว่าเป็นรายการใหญ่ที่สุดในงบประมาณ - - ได้แก่ การป้องกันอัคคีภัยและการคุ้มครองจากตำรวจ การกำจัดสิ่งปฏิกูล และงานสาธารณะทั้งหลาย [1]

James Tobin (1918-2002): ข้าพเจ้าคิดว่า โดยหลักการ เป็นความคิดที่ดีที่จะเก็บภาษีจากที่ดินโดยไม่รวมสิ่งปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรส่วนทุน (ลาภลอย) ที่ได้เพิ่ม ทฤษฎีกล่าวว่าเราควรพยายามเก็บภาษีจากสิ่งที่มีความยืดหยุ่นน้อยหรือเป็นศูนย์ ซึ่งรวมถึงทำเลด้วย [1]

Franco Modigliani (1918-2003): เป็นความสำคัญที่จะรักษาค่าเช่าที่ดินไว้เป็นแหล่งรายได้แหล่งหนึ่งของรัฐ บางคนที่สามารถจะใช้ประโยชน์ที่ดินได้เป็นเลิศอาจไม่สามารถหาเงินได้มากพอสำหรับราคาซื้อ การเก็บค่าเช่าเป็นรายปีจะช่วยให้ผู้ที่มีขีดจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อสามารถเข้าถึงที่ดินได้ [1]

Pope John Paul II (1920 –2005): การกระจุกตัวอย่างมากของกรรมสิทธิ์ที่ดินทำให้ควรมีการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ไม่มีเหตุผลใด ๆ เลยที่จะมีการกระจุกตัวเช่นนั้น [3]

Robert Solow (1924- ): ผู้ใช้ที่ดินไม่ควรได้สิทธิ์ที่ไม่จำกัดระยะเวลาเพียงเพราะการจ่ายเงินครั้งเดียว เพื่อประสิทธิภาพ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ และเพื่อความยุติธรรม ผู้ใช้ที่ดินทุกคนควรจะต้องจ่ายเป็นรายปีให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเท่ากับมูลค่าของค่าเช่าในขณะนั้น สำหรับที่ดินซึ่งเขาทำให้ผู้อื่นหมดสิทธิที่จะใช้ [1]


เชิงอรรถ
[1] //cooperativeindividualism.org/georgism_01.html
[2] //quotationspage.com/quotes/Plato/40
[3] //progress.org/geonomy/thinkers.html
[4] //cooperativeindividualism.org/garrison-frank_on-the-single-tax.html
[5] //wealthandwant.com/themes/Usufruct.html
[6] //answersanswers.com/html/supporters.html
[7] //schalkenbach.org/library/george.henry/SingleTax.htm
[8] //geocities.com/utopiathai/PP-p395-429bk08.doc (หน้า 405-406)
[9] //econlib.org/library/YPDBooks/George/grgPFT26.html (ย่อหน้า 40)
[10] //progressandpoverty.org/quotes.htm
[11] //progress.org/archive/fourquo.htm
[12] //schalkenbach.org/library/SaratogaBatt.pdf (เชิงอรรถ 38: Vickrey)



Create Date : 25 สิงหาคม 2550
Last Update : 26 สิงหาคม 2550 8:38:44 น.
Counter : 712 Pageviews.

3 comments
บัตรทอง -รายชื่อหน่วยบริการเอกชนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ newyorknurse
(16 เม.ย. 2567 04:04:52 น.)
สรุปวิชาสังคมไทยสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เรื่องปราชญ์ท้องถิ่น นายแว่นขยันเที่ยว
(10 เม.ย. 2567 03:05:45 น.)
อย่ามาบ้ง!นะ peaceplay
(5 เม.ย. 2567 15:53:18 น.)
กาแฟคั่วเข้ม เหมาะกับเมนูไหนดี สมาชิกหมายเลข 7983004
(29 มี.ค. 2567 02:14:10 น.)
  

ขอบคุณครับคุณลุงที่รวบรวมสิ่งดีๆ ที่เป็นวาทะเด็ดๆ ของนักคิด ๔๐ ท่านที่กล่าววาทะเกี่ยวกับเรื่องที่ดินและการกระจายรายได้มาให้ผมได้อ่าน...และจะได้เป็นประโยชน์ต่อใครอีกหลายคน...

ผมได้ลองไล่อ่านแต่ต้นตามช่วงเวลาที่คุณลุงได้เรียงลำดับไว้ทำให้เห็นถึงพัฒนาการของแนวคิดที่มีต่อทรัพยากรที่มวลมนุษยชาติได้ใช้ประโยชน์นับแต่อดีตกาล...คุณประโยชน์ของที่ดินจึงนับเป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ได้รับเป็นของขวัญในการอนุญาตให้ใช้ และควรได้ใช้ให้เกิดประโยชน์

หากเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์กับแนวคิดทางกฎหมายของบ้านเราสามารถสอดประสานกันได้ลงตัวผมว่าคงเป็นความงดงามที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างหามิได้

ผมติดใจวาทะอันนี้ครับ

Baruch Spinoza (1632-1677): ที่ดินทั้งหมดควรเป็นทรัพย์สินสาธารณะ [3]

ขอให้คุณลุงมีสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรงนะครับ...ผมตั้งใจจะเขียนต่อจากบล็อกอันก่อนคราวที่พี่นิคมาทักทายคุณลุงด้วยเพลงเลือดสุพรรณแล้วแต่ผมไม่มีข้อมูลเก่าๆ พอที่จะคุยต่อได้...เลยขอมาทักทายคุณลุงที่บล็อกนี้นะครับ...
โดย: Jed IP: 203.146.196.18 วันที่: 28 สิงหาคม 2550 เวลา:17:03:29 น.
  
ขอบคุณคุณ Jed มากครับที่เข้ามาร่วมพูดคุยเรื่อยมา ขอให้คุณ Jed สุขภาพดีมีความสุขความเจริญยิ่งขึ้น ๆ ครับ
โดย: สุธน หิญ วันที่: 29 สิงหาคม 2550 เวลา:19:14:10 น.
  

ผมไม่เคยลืมว่าผมได้รับสิ่งดีๆ จากบล็อกมาเสมอไม่ว่าจากบล็อกลุงสุธนหรือจากคนอื่นๆ มันทำให้ผมรู้ว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากการทุ่มเทและการบันทึกสิ่งที่เรามีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ที่มีมาตลอดให้ได้เป็นวิทยาทาน...บล็อกนี้อาจมีลักษณะที่พิเศษที่คุณลุงนำวาทะสุดประทับใจจากนักคิดคนสำคัญที่ได้ทิ้งเป็นอนุสรณ์ไว้ให้กับสิ่งที่พวกเขาพยายามพร่ำบอกให้ได้รับรู้และเตือนใจให้พวกเราได้เห็นคุณค่าของการใช้ทรัพยากรเหล่านี้

ผมเห็นว่าบล็อกนี้คุณลุงได้ให้เชิงอรรถประกอบที่สามารถทำให้ตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ขัดเจนมากยิ่งขึ้นและวาทะที่เรียงมาตามช่วงเวลาคงให้เห็นถึงพัฒนาการของเรื่องนี้เป็นอย่างดี...

ผมขอมาร่วมพูดคุยกับคุณลุงแบบเด้กที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้เป็นทุนเดิมแต่ทุกครั้งผมก็ได้รับสาระดีๆ กลับไปเสมอ...ขอกราบขอบพระคุณคุณลุงที่เป็นผู้ให้ทานนี้อย่างไม่คิดมูลค่า...

พรที่ดีทุกประการที่คุณลุงมีให้ไอ้หลานชายกระผมขอให้บังเกิดกับคุณลุงในทุกๆ ด้านเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเท่าและให้คุณลุงเป็นเจ้าของสุขภาพที่แข็งแรงและสดชื่นตลอดทุกทิวาราตรีกาลนะครับ...

ขอน้อมรับพรจากคุณลุงทุกข้อและจะได้นำไปแบ่งปันให้กับบุคคลที่ผมเคารพทุกคนที่มีส่วนให้ผมได้มีวันนี้...

ด้วยความรักและเคารพอย่างสูง
โดย: Jed IP: 203.146.196.18 วันที่: 31 สิงหาคม 2550 เวลา:17:43:58 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด