หลวงพ่อผู้เผยแผ่แนวคิดของจอร์จจนถูกคว่ำบาตร-ลงท้ายกลายดี
หลวงพ่อผู้เผยแผ่แนวคิดของจอร์จจนถูกคว่ำบาตร-ลงท้ายกลายดี

หลวงพ่อ Edward McGlynn (ค.ศ.1837 - 1900) แห่งโบสถ์ St. Stephen’s นครนิวยอร์ก ได้รณรงค์สนับสนุนแนวคิดของเฮนรี จอร์จ ในปัญหาที่ดินของไอร์แลนด์ ซึ่งก็ได้ถูกอาร์ชบิชอปผู้ดูแลพื้นที่สั่งให้หยุดและเลิกการรณรงค์โดยถือว่าแนวคิดของจอร์จขัดกับคำสอนของโรมันคาทอลิก ครั้นถึงคราวที่จอร์จสมัครเข้าแข่งขันรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กตามคำขอของกลุ่มองค์การแรงงาน 165 แห่งใน ค.ศ.1886 หลวงพ่อได้รณรงค์สนับสนุนเฮนรี จอร์จอีก และก็ได้ถูกห้ามเกี่ยวข้องกับเฮนรี จอร์จและ “ลัทธิสังคมนิยมของเขา” การเลือกตั้งครั้งนี้จอร์จพ่ายแพ้ เชื่อกันว่าจอร์จชนะแต่มีการทุจริตในการนับคะแนน

ในการขัดแย้งกันนี้หลวงพ่อ McGlynn มีพระราชาคณะ (Cardinal) 2 รูปสนับสนุน คือพระคาร์ดินัล Gibbons แห่งบัลติมอร์ และ Manning แห่งลอนดอน และพระระดับต่ำลงมาอีกหลายรูป

ต้นปี ค.ศ.1887 เฮนรี จอร์จได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ The Standard ซึ่งทำให้มีการโต้เถียงกันในนิกายโรมันคาทอลิก เพราะในหนังสือพิมพ์นี้ฉบับแรกเมื่อ 8 ม.ค.1887 จอร์จได้เขียนบทความเรื่อง The McGlynn Case ทางการของนิกายนี้ในสหรัฐฯ ประกาศว่าคำสอนของจอร์จไม่รอบคอบและไม่ปลอดภัย (unsound and unsafe) และแนะนำให้ชาวคาทอลิก “ระวังอย่าหลงเชื่อบรรดาทฤษฎีและหลักการทั้งหลายที่โจมตีสิทธิ [ของเอกชน?] ในทรัพย์สิน”

หลวงพ่อ McGlynn จึงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ New York Tribune ว่าหลักการของจอร์จไม่ขัดกับคำสอนของนิกาย ทำให้อาร์ชบิชอปเหนือขึ้นไปสั่งพักงานหลวงพ่อและรายงานไปยังวาติกัน หลวงพ่อถูกเรียกไปรับการพิจารณาคดีที่วาติกัน แต่อ้างว่าป่วยโรคหัวใจและมีเหตุสำคัญอื่น ๆ ไม่สามารถเดินทางไปได้ จึงถูกปลดจากตำแหน่งที่โบสถ์ St. Stephen’s

ใน 29 มี.ค.1887 หลวงพ่อ McGlynn ได้ร่วมกับราษฎรจำนวนมากในเขตพื้นที่โบสถ์เดิมของท่านตั้งสมาคมต่อต้านความยากจนขึ้น โดยที่ประชุมเลือกหลวงพ่อเป็นนายกสมาคม และเฮนรี จอร์จเป็นรองนายก เปิดรับสมาชิกจากทุกลัทธิและทุกชั้นชน “มิใช่เพื่อบรรเทาความยากจนด้วยมาตรการครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่เพื่อประกาศสงครามกับต้นเหตุของความยากจนเลยทีเดียว”

ตอนหนึ่งของคำปราศรัยของหลวงพ่อคือ

“เราปรารถนาจะยกเลิกความยากจน เพราะนั่นคือแหล่งที่มาที่ได้ผลในการดูหมิ่นศาสนาซึ่งขึ้นไปถึงสวรรค์ เพราะนั่นคือสาเหตุและโอกาสที่ทำให้ผู้คนสงสัยว่ามีพระเป็นเจ้าอยู่หรือไม่ เพราะความยากจนทำให้เกิดความเกลียดชังระเบียบแบบแผนของสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ และในที่ซึ่งผู้คนถูกบังคับให้เชื่อว่ามันเป็นระเบียบแบบแผนของพระเป็นเจ้า เขาจะพูดว่า เราไม่ต้องการพระเป็นเจ้าของท่าน! พระเป็นเจ้าของท่านเลวพอ ๆ กับหรือยิ่งกว่ามารของท่าน โดยที่พระองค์ทรงใช้อานุภาพและปัญญาของพระองค์ได้ไม่ดีเลย และทรงปล่อยให้แผนของพระองค์ล้มเหลวไปอย่างน่าประหลาด และทรงเห็นชอบกับความล้มเหลวนี้โดยผ่านทางเสียงของผู้ที่สันนิษฐานได้ว่าเป็นผู้กล่าวในนามของพระองค์ . . . .

“เราจึงปรารถนาจะยกเลิกความยากจน เพราะเราปรารถนาจะบังคับใช้ข้อบัญญัติของพระเป็นเจ้าในการธำรงรักษาและปกครองสังคมมนุษย์ และเพราะเราเห็นชัดว่าแผนการของพระเป็นเจ้าที่จะป้องกันมิให้เกิดความยากจนนั้นก็คือมนุษย์ควรเป็นเจ้าของแผ่นดินโลก และเห็นชัดว่าแผนเดียวของพระเป็นเจ้าที่จะยกเลิกความยากจนคือการทำให้มนุษย์ได้กลับเป็นเจ้าของแผ่นดินโลกอีก ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะขอให้พระเป็นเจ้าสร้างโลกอีกแห่งหนึ่งเพื่อที่มวลชนจะได้แยกออกไปทำมาหากินได้อย่างสะดวกสบาย จะมีอะไรดีขึ้นในการแยกไปอยู่ที่โลกใหม่นั้นถ้าระเบียบแบบแผนของสิ่งต่าง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงไปและหลังจากนั้นไม่นานไม่กี่คนของพี่น้องทั้งหลายจะสามารถพูดได้ว่า ‘โลกนี้ทั้งโลกก็เป็นของเราเหมือนกันและท่านต้องจ่ายค่าเอกสิทธิ์ที่จะอยู่ในโลกนี้!’ ”

ต้นเดือนพฤษภาคม อาร์ชบิชอปได้แจ้งหลวงพ่ออีกครั้งหนึ่งว่าทางวาติกันเรียกตัวให้ไปภายใน 40 วัน มิฉะนั้นจะถูกคว่ำบาตร หลวงพ่อไม่ยอมไป ผู้ทำงานชาวคาทอลิก 75,000 คนได้เดินขบวนประท้วงคำสั่ง แต่ในที่สุดหลวงพ่อ McGlynn ก็ถูกคว่ำบาตรเมื่อ 3 ก.ค.1887 หลังจากทำงานกับนิกายมานาน 25 ปี

การโต้แย้งกันได้ขึ้นสู่ระดับสูงสุด สันตะปาปา Leo XIII ทรงออกสาส์นเวียน "Rerum Novarum" ในปี 1891 ซึ่งถือเสมือนเป็นการปฏิเสธแนวคิดของจอร์จโดยมองว่าเป็นแบบสังคมนิยมและอนาธิปไตย จอร์จได้ตอบด้วย Condition of Labor -- An Open Letter to Pope Leo XIII อย่างระมัดระวังและด้วยความเคารพอย่างสูง โดยแบ่งหลักความเชื่อของตนออกเป็น 5 บทพร้อมทั้งข้อสรุปที่รัดกุมดังนี้ (มี Appendix อยู่ที่ //landreform.org/be10.htm)

“นี่คือคำตอบ คำตอบที่แท้เพียงข้อเดียว: ถ้ามนุษย์ขาดอาหาร นั่นมิใช่เพราะพระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงกระทำกิจของพระองค์ในการจัดหาให้ ถ้ามนุษย์ผู้ต้องการทำงานถูกสาปให้ยากจน นั่นมิใช่เพราะยุ้งฉางที่พระเป็นเจ้าต้องจัดให้นั้นล้มเหลว มิใช่เพราะอาหารประจำวันที่พระองค์ทรงสัญญาไว้แก่ลูกของพระองค์ไม่ได้มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

“นั่นเป็นเพราะมนุษย์ได้ละเมิดโดยขาดความเคารพต่อเจตนาอันเปี่ยมด้วยพระกรุณาของพระผู้สร้างโดยทำให้ที่ดินกลายเป็นทรัพย์สินของเอกชน จึงทำให้เสบียงอาหารซึ่งพระบิดาผู้โอบเอื้อได้ทรงจัดไว้ให้แก่ทุกคนกลายเป็นสมบัติเด็ดขาดของมนุษย์ไม่กี่คน คำตอบอื่นใดนอกไปจากนี้ ไม่ว่าจะห่อหุ้มด้วยรูปแบบของลัทธิศาสนาด้วยประการใด คือคำตอบของผู้ที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า (atheists)”

จดหมายเปิดผนึกของจอร์จได้รับการตีพิมพ์พร้อมกันที่นิวยอร์กและลอนดอน และแปลเป็นภาษาอิตาลี และจอร์จได้ถวายสำเนาที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษแด่สันตะปาปาผ่านทางผู้อำนวยการหอสมุดวาติกัน

ใน ค.ศ. 1892 จอร์จเขียนว่า “สันตะปาปา Leo XIII จะได้ทรงอ่านจดหมายของข้าพเจ้าหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่สามารถบอกได้ แต่พระองค์ทรงปฏิบัติราวกับว่าพระองค์ไม่เพียงแต่ทรงอ่านเท่านั้น แต่ยังทรงตระหนักถึงพระพลังของพระองค์เอง ทรงสะกดความเป็นอนุรักษนิยมของกลุ่มบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ไว้อย่างเงียบ ๆ แต่ได้ผล . . . . ดร. McGlynn จะได้กลับเข้ารับตำแหน่งเดิม และการขับเคี่ยวกับลัทธิภาษีเดี่ยว [จากมูลค่าที่ดิน] เสมือนเป็นปรปักษ์ของคาทอลิกได้หยุดไป”

อาร์ชบิชอป Satolli ได้มาเยี่ยมสหรัฐฯ ในฐานะผู้แทนพระสันตะปาปาเพื่อฟังเหตุผลที่จะให้ยกเลิกการคว่ำบาตรหลวงพ่อ McGlynn ผลการตรวจสอบทั้งข้อเขียนและคำกล่าวปรากฏว่าไม่มีสิ่งใดขัดแย้งกับคำสอนของนิกาย ไม่เพียงได้กลับเข้ารับตำแหน่งเดิมเท่านั้น หลวงพ่อยังได้รับอนุญาตให้สอนแนวคิดแบบของจอร์จได้ทุกแห่ง ในฤดูร้อนต่อมาหลวงพ่อ McGlynn ก็เดินทางไปโรมเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาและได้รับพรจากพระองค์.

เรียบเรียงจาก
1. Henry George, World Citizen โดย Anna George DeMille [ต้นฉบับโดย Anna George DeMille พิมพ์ปี 1930 ย่อและเรียบเรียงใหม่โดย Mildred J. Loomis ปี 1981] ที่ //cooperativeindividualism.org/mille-anna-george-de_on-henry-george.html

2. Henry George's Life and Work โดย George Collins [พิมพ์ซ้ำจาก Land & Liberty พ.ค.- มิ.ย.1989 เดิมใช้ชื่อเรื่องว่า Call that Stirred the World] ที่ //www.cooperativeindividualism.org/collins-george_on-henry-george.html

3. Father McGlynn and Catholic Social Doctrine [พิมพ์ซ้ำจาก Henry George News, มิ.ย.1967] โดย Will Lissner ที่ //www.cooperativeindividualism.org/lissner-will_on-father-edward-mcglynn.html



Create Date : 25 เมษายน 2550
Last Update : 2 พฤษภาคม 2550 6:41:18 น.
Counter : 659 Pageviews.

1 comments
“ สเปรย์ฉีดยุง ” dansivilai
(17 เม.ย. 2567 21:04:34 น.)
สรุปวิชาสังคมไทยสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เรื่องปราชญ์ท้องถิ่น นายแว่นขยันเที่ยว
(10 เม.ย. 2567 03:05:45 น.)
AI คืออะไร ? ข้อดีของ AI Technology Robotic เข้ามาช่วยในการผ่าตัด newyorknurse
(19 เม.ย. 2567 02:45:03 น.)
ติดโคมไฟ LED 3สี ด้วยตัวเองง่ายๆ ไม่เกิน 200 บาท ฟ้าใสทะเลคราม
(17 มี.ค. 2567 00:08:48 น.)
  
มีอีกข้อความหนึ่งที่สำคัญในจดหมายเปิดผนึกของเฮนรี จอร์จที่ควรทราบ คือ “เราผิดกับพวกสังคมนิยมที่การวินิจฉัยความชั่วร้าย และเราผิดกับพวกเขาที่วิธีแก้ไข เราไม่กลัวทุน โดยถือว่าทุนทำจากฝีมือตามธรรมชาติของแรงงาน เรามองว่าดอกเบี้ย [ผลตอบแทนการลงทุน] เป็นไปตามธรรมชาติและเป็นธรรม เราจะไม่กำหนดขีดจำกัดต่อการสะสม จะไม่ก่อภาระให้แก่คนรวยโดยไม่เป็นภาระเท่าเทียมกันแก่คนจน เราไม่เห็นว่าการแข่งขันเป็นความชั่วร้าย แต่ถือว่าการแข่งขันโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพแห่งองคาพยพทางอุตสาหกรรมและสังคมประดุจการหมุนเวียนโดยเสรีของโลหิตที่จำเป็นต่อสุขภาพของกายินทรีย์ เป็นตัวกระทำที่จะช่วยให้เกิดการร่วมมือกันเต็มที่” - The Condition of Labor, Part III. //schalkenbach.org/library/henry-george/THE-CONDITION-OF-LABOR.html
โดย: สุธน หิญ วันที่: 16 ตุลาคม 2554 เวลา:12:34:00 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด