หนุนภาษีที่ดิน ค้านภาษีสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก
หนุนภาษีที่ดิน ค้านภาษีสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก
เศรษฐศาสตร์สำนักจอร์จ (Henry George) สอนว่า การลงแรงลงทุนผลิตสินค้าและบริการมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน คือการร่วมมือด้วยการแบ่งงานกันทำและแข่งขันกันเสนอสินค้าและบริการที่ดี ในราคาถูก ซึ่งได้ประโยชน์แก่สังคม แม้ต่างคนจะมุ่งประโยชน์ของตนเอง ดังที่แอดัม สมิธเปรียบว่าเป็นมือที่มองไม่เห็นคอยดูแลอยู่ การร่วมมือด้วยการลงแรงลงทุนผลิตและค้าเช่นนี้เป็นการส่งเสริมสวัสดิการของส่วนรวมอยู่แล้ว ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐบาล ไม่ควรต้องถูกเก็บภาษี (ควรได้รับรางวัลจากรัฐด้วยซ้ำ) ไม่ว่าจะเป็นคนซื้อหรือขาย เพราะคนเราทำงานหรือลงทุนก็เพื่อให้ได้สิ่งของหรือบริการมาบำบัดความต้องการของตน การผลิตกับการบริโภคเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ต้องอาศัยกัน

สิ่งปลูกสร้าง (ในร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) เกิดจากการลงแรงลงทุนผลิต

แต่การลงแรงลงทุนเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของที่ดินนั้นมิใช่การลงแรงลงทุนผลิต หากเป็นการสืบต่อสิทธิที่จะเรียกส่วนแบ่งจากผู้ลงแรงลงทุนผลิตอีกชั้นหนึ่ง ตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพราะที่ดินนั้นมนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ผลิต การมีราคาสูงขึ้น ๆ ของที่ดินเกิดจากการมีชุมชนและการเจริญเติบโตก้าวหน้าของส่วนรวม กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้นำผลจากกิจกรรมของส่วนรวมไปประเคนให้แก่เจ้าของที่ดินมากขึ้น ๆ ทำให้เกิดการเก็งกำไรเก็บกักสะสมที่ดินกันเป็นการทั่วไป ไปไหน ๆ ก็เห็นแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้ว ส่วนใหญ่รกร้าง หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า คนจนต้องไปหากินในที่ดินชายขอบ ซึ่งขยายออกไปไกลเกินกว่าที่ควรเป็น ทำให้ค่าแรงหรือผลตอบแทนต่อการทำงานต่ำกว่าที่ควร ถ้าทำมาหากินในเมืองก็ต้องเสียค่าเช่าที่ดินแพงกว่าที่ควร ผลก็คือเหลือค่าแรงสุทธิต่ำ และยิ่งต่ำลงอีก เพราะเมื่อรัฐเก็บภาษีที่ดินน้อยไป ก็ต้องหันมาเก็บภาษีจากการลงแรงลงทุนมากขึ้น

ดังนั้น รัฐคือผู้สนับสนุนการเก็งกำไรที่ดิน แต่รัฐกำลังจะลงโทษผู้เก็งกำไรที่ดินด้วยการออก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเก็บภาษีแรงขึ้น ๆ สำหรับเจ้าของที่ดินที่ปล่อยที่ดินรกร้าง แต่ผู้ใช้ประโยชน์จากที่ดินตามสมควรจะได้รับลดหย่อน (ทำไมจึงลดหย่อน ? )

หลักการของสำนักจอร์จบอกว่าควรเก็บภาษีที่ดินเท่าหรือเกือบเท่ากับค่าเช่าศักย์ของที่ดิน เพราะนั่นแสดงถึงผลประโยชน์ที่เจ้าของที่ดินมีทางจะได้รับจากที่ดินนั้น ๆ เจ้าของที่ดินจะใช้ที่ดินอย่างไรเป็นความรับผิดชอบและความริเริ่มของเขาเอง และต้องไม่ขัดกับกฎหมาย (ผู้นิยมลัทธิจอร์จรุ่นหลังเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงควรค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลาสัก 20-30 ปี เช่นเพิ่มภาษีที่ดินปีละ 3-5 % ของค่าเช่าศักย์ เพื่อมิให้ผู้ซื้อหาที่ดินมาใหม่ ๆ เดือดร้อนเกินไป พร้อมกันนั้นก็ลด/เลิกภาษีการลงแรงลงทุนชดเชยกันไป)

“เมื่อเราเก็บภาษีจากบ้าน พืชผล เงิน เครื่องเรือน ทุน หรือทรัพย์สมบัติในรูปแบบใด ๆ นั่นคือเราเอามาจากปัจเจกบุคคลซึ่งสิ่งอันเป็นของเขาโดยชอบ เราละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน และทำการชิงทรัพย์ในนามของรัฐ
แต่เมื่อเราเก็บภาษีมูลค่าที่ดิน เราเอามาจากปัจเจกบุคคลซึ่งสิ่งอันมิใช่ของเขา แต่เป็นของประชาคม และซึ่งมิสามารถปล่อยให้เป็นของปัจเจกบุคคลโดยไม่เป็นการชิงทรัพย์ของปัจเจกบุคคลอื่น ๆ” - เฮนรี จอร์จ The Single Tax: What It Is and Why We Urge It //www.schalkenbach.org/library/george.henry/SingleTax.htm

ในสหรัฐฯ มีผู้เห็นว่าค่าเช่าที่ดิน (คือภาษีที่ดินที่เห็นควรให้รัฐเก็บจากเจ้าของที่ดินเท่าหรือเกือบเท่ากับค่าเช่าศักย์) นั้นเพียงพอสำหรับงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ทั้งนี้หมายรวมถึง ค่านำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป และค่าก่อความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อม อีกส่วนหนึ่งก็คือค่าสัมปทานซึ่งให้สิทธิผูกขาดแก่ผู้ประกอบการเฉพาะบางรายเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเร็ว ๆ นี้คือ บทความ 112 หน้าของ ศ. Mason Gaffney เรื่อง The Hidden Taxable Capacity of Land: Enough and to Spare ที่ //www.uvm.edu/~gflomenh/PA395-CMN-ASSTS/articles/gaffney/MASTER-Gaffney-rent.doc

มรดกคือทรัพย์สมบัติที่ผู้รับได้จากผู้ตาย เป็นได้ทั้ง ที่ดิน และ สิ่งที่เกิดจากการลงแรงลงทุนผลิต

เฮนรี จอร์จกล่าวถึงการสะสมเศรษฐทรัพย์หรือทรัพย์ (wealth ไม่รวมถึงที่ดิน) ไว้ดังนี้:
“ข้าพเจ้าจะไม่จำกัดการแสวงหาทรัพย์ ใครเขาจะหาเงินได้กี่ล้านดอลลาร์ ถ้าไม่ใช่ไปปล้นเขามา มันก็เป็นของเขา ให้เขาได้ไป ข้าพเจ้าจะไม่แม้แต่ขอร้องให้เขาบริจาคเป็นการกุศล หรือตะโกนใส่หูเขาว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะช่วยคนจน นั่นเป็นเรื่องของเขาเอง ปล่อยให้เขาทำตามที่เขาชอบด้วยตัวเขาเอง ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีคำแนะนำ ถ้าเขาได้มาโดยมิใช่เป็นการเอาจากผู้อื่น และใช้มันโดยไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น เขาจะทำอะไรกับทรัพย์ของเขาเป็นเรื่องของเขาและเป็นความรับผิดชอบของเขาเอง” (หนังสือ Social Problems หน้า 87)

“ข้าพเจ้าได้สนับสนุนการค้าเสรีอย่างแข็งขัน ต่อเนื่อง และเต็มที่ และคัดค้านแผนการทั้งปวงที่จะจำกัดเสรีภาพของบุคคล ข้าพเจ้าได้ปฏิเสธอย่างเด็ดขาดต่อข้อสมมุติที่ว่าสังคมมีสิทธิในทรัพย์สินของสมาชิกทุกคน และได้เชิดชูสิทธิของเอกชนในทรัพย์สินอย่างชัดเจนและแน่วแน่กว่า Mr. [Herbert] Spencer ข้าพเจ้าได้ต่อต้านข้อเสนอทุกข้อที่จะให้ช่วยคนจนโดยเอาจากคนรวย ข้าพเจ้าได้ยืนยันเสมอมาว่าผู้คนไม่ควรต้องเสียภาษีเพราะเขารวย และไม่ว่ากี่ล้านดอลลาร์ ถ้าเขาได้มาโดยชอบธรรม สังคมก็ควรยอมให้เขาได้ไปทุกเพนนี” (หนังสือ A Perplexed Philosopher หน้า 70-71)

สำหรับ ทุน นั้น (capital เศรษฐทรัพย์ส่วนที่ใช้เพื่อช่วยการผลิตหรือที่ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยน ที่จริงการผลิตหมายรวมถึงการแลกเปลี่ยนด้วยแล้ว) เฮนรี จอร์จกล่าวไว้ดังนี้:
“เราไม่กลัวทุน โดยถือว่าทุนเป็นผู้ช่วยตามธรรมชาติสำหรับแรงงาน เราถือว่าดอกเบี้ยเป็นของธรรมชาติและเป็นธรรม เราจะไม่จำกัดการสะสมทุนหรือทำให้คนรวยต้องรับภาระใด ๆ ที่มิได้ให้คนจนรับภาระอย่างเท่าเทียมกันด้วย เราไม่เห็นว่าการแข่งขันเป็นความชั่วร้าย แต่ถือว่าการแข่งขันโดยไม่มีข้อจำกัดเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพขององคาพยพทางอุตสาหกรรมและสังคมเช่นเดียวกับที่การไหลเวียนโดยเสรีของโลหิตเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพขององคาพยพของร่างกาย—เป็นตัวแทนซึ่งจะทำให้เกิดความร่วมมือสูงสุด” (The Condition of Labor หน้า 61)

อ่านเรื่องผลดีและความเป็นธรรมของการเพิ่มภาษีที่ดิน และเลิกภาษีอื่น ๆ ได้ที่ //th.wikipedia.org/wiki/เฮนรี_จอร์จ

เว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม //geocities.com/utopiathai



Create Date : 26 มกราคม 2552
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2552 22:51:46 น.
Counter : 692 Pageviews.

0 comments
บัตรทอง -รายชื่อหน่วยบริการเอกชนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ newyorknurse
(16 เม.ย. 2567 04:04:52 น.)
สรุปวิชาสังคมไทยสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เรื่องปราชญ์ท้องถิ่น นายแว่นขยันเที่ยว
(10 เม.ย. 2567 03:05:45 น.)
สุริยุปราคา อเมริกา /นิวยอร์ก อินเดียน่า เทกซัส newyorknurse
(9 เม.ย. 2567 04:13:31 น.)
วิธีถามราคาสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ khatha0808
(2 เม.ย. 2567 00:05:26 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด