ความอยุติธรรมขั้นฐานรากที่กว้างใหญ่ของสังคม
สุธน หิญ ยินดีให้เผยแพร่ต่อได้ด้วยความขอบคุณ

ความอยุติธรรมขั้นฐานรากที่กว้างใหญ่ของสังคมคือการปล่อยให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์ไปจากการที่ที่ดินมีค่าเช่า/ราคาสูงขึ้น
ทั้งๆ ที่ความเป็นเจ้าของที่ดินไม่มีส่วนทำให้ที่ดินมีค่าเช่า/ราคาขึ้นมา และไม่มีส่วนร่วมในการผลิตเหมือนผู้ทำงานและผู้ลงทุน
แต่กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกลับให้อำนาจที่จะเรียกเอาส่วนแบ่งจากการผลิต

ที่ดินนั้นเจ้าของที่ดินไม่ใช่ผู้สร้าง และมีค่าเช่า/ราคาขึ้นมาเพราะการกระทำของประชาชนส่วนรวม
เช่น การมีประชากรเพิ่มทำให้ต้องขยายที่ทำกินออกจากชายขอบ (ขอบริมแห่งการผลิต – margin of production) อันเดิม
ไปยังชายขอบอันใหม่ซึ่งให้ผลผลิตต่ำลงกว่าที่ดินชายขอบเดิม (นั่นคือให้ค่าแรงต่ำลง) ที่ดินเดิมๆ ก็มีค่าเช่า/ราคาขึ้นมา
หรือที่ดินในย่านที่มีผู้คนหนาแน่น น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีท่อระบายน้ำ การสื่อสาร การขนส่งรวดเร็วทันใจ
ค่าเช่า/ราคาที่ดินบริเวณนี้ก็ขึ้นสูง นี่ก็เพราะกิจกรรมของส่วนรวม รวมทั้งภาษีต่างๆ ที่พวกเขาเสีย

ที่ดินผิดกับทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เกิดด้วยการลงแรงลงทุน เช่น สินค้า
ซึ่งเมื่อแพงขึ้นเพราะมีผู้ต้องการเพิ่ม ก็จะมีผู้ผลิตเพิ่มทำให้ราคากลับสู่ดุล
แต่ตำบลที่หรือทรัพยากรธรรมชาติผลิตเพิ่มไม่ได้ เมื่อความต้องการเพิ่ม ราคาจึงเพิ่ม

และถ้าเราต้องการผลิตทรัพย์สินชิ้นหนึ่ง เราก็จำเป็นต้องมีที่ดิน
ที่ดินเป็นแหล่งกำเนิดของทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ถ้ามีการกักตุนสินค้า แม้จะเป็นจำนวนมาก ผู้อื่นสามารถผลิตเพิ่ม
แต่ถ้ากักตุนทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งที่มาของทรัพย์สิน – และที่ดิน สถานที่ซึ่งใช้ทำงาน
จะเป็นการกีดกันผู้อื่นมิให้ทำงานผลิต

เฮนรี จอร์จได้อธิบายถึงความอยุติธรรมนี้ ซึ่งได้ส่งผลเสียประการหนึ่งที่ร้ายแรงใหญ่หลวงยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดิน
ทำให้มีที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์หรือทำประโยชน์ไม่เต็มที่กระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเมืองและนอกเมือง และค่าเช่า/ราคาที่ดินยิ่งมีราคาสูง
เป็นการเบียดคนจนออกไปจากโอกาสที่จะเป็นเจ้าของที่ดิน ต้องเช่าที่ดินคนอื่นเป็นที่พักอาศัยและที่ทำกินโดยเสียค่าเช่าแพง
ซ้ำยังต้องเสียภาษีทางอ้อมเมื่อซื้อของกินของใช้และสินค้าทุนสำหรับทำงานหาเลี้ยงชีวิต

การเก็งกำไรสะสมเก็บกักที่ดินยังมีผลถ่วงการผลิตอย่างมากด้วย (ทำให้แรงงานและทุนหางานทำได้ยากขึ้น และว่างงานกันไป ค่าแรงต่ำลง คนจนยิ่งช่วยเหลือตนเองได้น้อยลงไปอีก กลายเป็นเหยื่อแก่นายทุนเงินกู้และนายทุนผู้จ้างอีกต่อหนึ่งโดยง่ายดาย)
และยังทำให้ต้องสิ้นเปลืองภาษีเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขยายออกไปนอกเมืองเพื่อบริการผู้คนที่สู้ราคาที่ดินในเมืองไม่ไหวต้องออกไปหาที่พักอาศัยห่างเมือง

เฮนรี จอร์จจึงเสนอให้ยกเลิกภาษีทั้งหลายที่เก็บจากการทำงานผลิตและซื้อขายแลกเปลี่ยน (ซึ่งทำให้รายได้สุทธิต่ำแต่ของแพง เป็นตัวถ่วงการผลิตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง)
และให้หันไปเก็บภาษีที่ดินแทนโดยถือเสมือนว่าเจ้าของที่ดินเป็นผู้เช่าที่ดินจากรัฐ
(ผมเห็นว่าควรให้เวลานานหน่อย ค่อยๆ ขึ้นภาษีที่ดินโดยใช้เวลาสัก 30 ปีภาษีที่ดินจึงเท่าหรือใกล้เคียงกับค่าเช่าที่ควรเป็น เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป แต่ถ้าเจ้าของที่ดินยังจะขอค่าชดเชยอีก ก็ต้องคิดว่าคนที่ยากจนเพราะความอยุติธรรมขั้นฐานรากนี้ตั้งแต่ต้นสืบต่อกันมาจนถึงรุ่นลูกหลานเหลนในปัจจุบันควรได้รับชดใช้ด้วยหรือเปล่า)

เท่าที่ผมอธิบายมานี้นับว่าเป็นอย่างสั้นมากทีเดียว ซึ่งฝรั่งที่เขาพยายามอธิบายสั้นๆ มาก่อนก็ไม่ได้ผลมาแล้ว แม้แต่เฮนรี จอร์จเอง มาได้รับความสนใจกลายเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่ขายดีที่สุดในขณะนั้นก็เมื่อขยายความออกจากเดิมที่ยาวเพียง 48 หน้าชื่อ Our Land and Land Policy มาเป็น Progress and Poverty มีความยาวเกือบ 600 หน้าใน ค.ศ.1879 ซึ่งเป็น “การสอบสวนภาวะตกต่ำทางอุตสาหกรรมและการที่ความขาดแคลนเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นของเศรษฐทรัพย์” และวิธีแก้ไข มีผู้แปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย และผมก็แปลเป็นภาษาไทยด้วย ชื่อ ความก้าวหน้ากับความยากจน รวมทั้งเขียนเองอีกเล่มหนึ่งสั้นหน่อย 140 หน้า ชื่อ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม – เศรษฐศาสตร์ที่ลงถึงราก ดูได้ที่ //utopiathai.webs.com ทั้งสองเล่มครับ.
--------------

การยกย่องเฮนรี จอร์จและหนังสือ Progress and Poverty
ซุนยัตเซ็น - ข้าพเจ้าตั้งใจจะอุทิศอนาคตของข้าพเจ้าให้แก่การส่งเสริมสวัสดิการของประชาชนจีนในฐานะประชาชนชาติหนึ่ง คำสอนของเฮนรี จอร์จ จะเป็นมูลฐานแห่งโครงการปฏิรูปของเรา . . . . [ภาษีที่ดิน] ในฐานะวิธีเดียวสำหรับให้รายได้แก่รัฐบาล เป็นภาษีที่ยุติธรรมอย่างยิ่ง มีเหตุผล และ กระจายตัวอย่างชอบธรรม และเราจะก่อตั้งระบบใหม่ของเราด้วยภาษีนี้

Leo Tolstoy - แผนการที่ยุติธรรมที่สุดและปฏิบัติได้ดีที่สุดในความเห็นของข้าพเจ้าคือแผนของเฮนรี จอร์จที่เรียกกันว่าระบบภาษีเดี่ยว …
ความอยุติธรรมของการยึดเอาที่ดินเป็นทรัพย์สินส่วนตัวเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วในหมู่นักคิด แต่เพิ่งมาเห็นชัดว่าจะยกเลิกความอยุติธรรมนี้ได้โดยวิธีใดก็ต่อเมื่อมีคำสอนของเฮนรี จอร์จแล้ว ประชาชนมิได้โต้แย้งคำสอนของจอร์จ เพียงแต่เขาไม่รู้จักคำสอนนี้เท่านั้น ผู้ที่คุ้นเคยกับคำสอนนี้แล้วย่อมจะได้แต่เห็นดีด้วย

Winston Churchill - การผูกขาดที่ดินมิใช่การผูกขาดเพียงชนิดเดียว แต่ก็เป็นการผูกขาดที่ใหญ่หลวงที่สุด - เป็นการผูกขาดตลอดกาล และเป็นต้นกำเนิดของการผูกขาดอื่นๆ ทุกรูปแบบ . . . . ข้าพเจ้าหมายถึงกระบวนการมากกว่าตัวเจ้าของที่ดินแต่ละคน ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังชนชั้นหนึ่งชั้นใดขึ้น ข้าพเจ้ามิได้คิดว่าผู้ที่หาเงินจากส่วนเพิ่มจากที่ดินอันมิใช่เกิดจากการลงทุนลงแรงนั้นเลวกว่าบุคคลอื่นที่หากำไรเท่าที่อาจจะหาได้ในโลกที่มีความลำบากนี้โดยไม่เป็นการผิดกฎหมายและเป็นไปตามที่ปฏิบัติกันทั่วไป ที่ข้าพเจ้าโจมตีนั้นไม่ใช่บุคคล แต่เป็นระบบ ไม่ใช่บุคคลเลว แต่เป็นกฎหมายต่างหากที่เลว ที่ควรจะถูกติเตียนนั้นไม่ใช่บุคคลผู้กระทำการอันกฎหมายได้อนุญาตไว้และผู้อื่นก็กระทำกัน แต่ควรจะเป็นรัฐที่ถูกตำหนิหากไม่หาทางปฏิรูปกฎหมายและแก้ไขการปฏิบัติ เราไม่ต้องการจะลงโทษเจ้าของที่ดิน แต่เราต้องการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย

Theodore Roosevelt - ภาระภาษีนั้นควรจะเปลี่ยนไปให้น้ำหนักแก่มูลค่าที่สูงขึ้นโดยมิได้ลงทุนลงแรงของที่ดินเองมากกว่าที่จะเป็นสิ่งปรับปรุง

Woodrow Wilson - ทั้งหมดที่ประเทศต้องการคือความคิดที่ใหม่และจริงใจ ซึ่งประกาศออกมาอย่างมีเหตุผลสอดคล้องกัน แจ่มชัด และห้าวหาญ โดยผู้ที่เชื่อมั่นในพื้นฐานของตน พลังของบุคคลเช่นเฮนรี จอร์จ ดูจะมีความหมายเช่นนั้น

Franklin D. Roosevelt - เฮนรี จอร์จเป็นนักคิดผู้ยิ่งใหญ่แท้จริงท่านหนึ่งที่ประเทศเราผลิตขึ้นมา . . . ข้าพเจ้าปรารถนาจะให้งานเขียนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีขึ้นและเข้าใจกันแจ่มแจ้งขึ้น

Dwight D. Eisenhower - ออกเสียงให้แก่ เฮนรี จอร์จ เพื่อให้เข้าสู่ Hall of Fame ใน ค.ศ. 1950

ห้องสมุดทำเนียบขาว - เลือกหนังสือ Progress and Poverty ของจอร์จไว้ในการรวบรวมหนังสืออเมริกันที่ดีเด่นใน ค.ศ.1963.



Create Date : 26 มกราคม 2554
Last Update : 26 มกราคม 2554 14:45:04 น.
Counter : 616 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด