ค่าแรงทุกแห่งย่อมหักลงหาค่าแรงที่ที่ดินชายขอบ
(ยินดีให้เผยแพร่ต่อ ด้วยความขอบคุณครับ)

ผลตอบแทนต่อปัจจัยการผลิตแต่ละปัจจัยไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งใด ย่อมขึ้นอยู่กับผลิตภาพ (Productivity) ของที่ดินชายขอบ ซึ่งสมัยเศรษฐศาสตร์คลาสสิกเรียกกันว่า ขอบริมแห่งการเพาะปลูก หรือ ขอบริมแห่งการผลิต (Margin of Cultivation หรือ Margin of Production) คำนี้จึงถือว่ามีความสำคัญมาก แต่กลับไม่ค่อยปรากฏในหนังสือจำพวกหลักเศรษฐศาสตร์ยุคปัจจุบันที่สำนักนีโอคลาสสิกกลายเป็นกระแสหลักยึดกุมความคิดของผู้เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ก่อนเริ่ม ค.ศ.1900 ดร. Fred E. Foldvary ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Santa Clara และบรรณาธิการอาวุโสของ The Progress Report กล่าวในบทบรรณาธิการเรื่อง The Margin of Production เมื่อกรกฎาคม ค.ศ.1999 (//www.progress.org/archive/fold97.htm) ว่าปัจจุบันผู้ที่จบปริญญาโท-เอกทางเศรษฐศาสตร์จำนวนมากไม่รู้จักคำนี้

ในหนังสือ Progress and Poverty (ความก้าวหน้ากับความยากจน) ของ Henry George ซึ่งพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1879 เราจะได้เห็นคำนี้และกฎการแบ่งผลตอบแทนระหว่างปัจจัยการผลิตทั้งสาม ที่เรียกว่า Laws of Distribution (กฎว่าด้วยวิภาคกรรม) ซึ่งกล่าวสั้นๆ ได้ดังนี้

ขอบริมแห่งการผลิต คือ ที่ดินที่เลวที่สุดที่จำเป็นต้องใช้กัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินที่ดีที่สุดที่จะหาได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน

กฎว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน (Law of Rent) ค่าเช่าที่ดินกำหนดได้ด้วยผลผลิตของที่ดินนั้น ในส่วนที่เกินกว่าผลผลิต ณ ขอบริมแห่งการผลิต ในเมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน

กฎว่าด้วยค่าแรง (Law of Wages) ค่าแรงทั่วไปถูกกำหนดด้วยผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต (แรงงานมีทั้งแรงสมองและแรงกาย รวมทั้งการประกอบการ การจัดการ)

กฎว่าด้วยดอกเบี้ย (Law of Interest) ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง และขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเช่นเดียวกัน (ดอกเบี้ยคือผลตอบแทนต่อทุนซึ่งรวมถึงเครื่องมือช่วยการผลิต การผลิตหมายรวมถึงการแลกเปลี่ยน)

ที่ขอบริมแห่งการผลิต ค่าเช่าเป็นศูนย์ ผลตอบแทนของการผลิตตกเป็นของแรงงานและทุนทั้งหมด

กฎทั้งสามนี้เป็นไปเองตามธรรมชาติ (ไม่ใช่แบบที่กำหนดค่าจ้างเฉพาะขั้นต่ำโดยคณะกรรมการระดับชาติ) โดยมี “ขอบริมแห่งการผลิต” เป็นฐานร่วมกัน อธิบายอีกทางหนึ่งก็คือ ขอบริมแห่งการผลิตเป็นฐานกำหนดระดับค่าแรงและดอกเบี้ยทั่วไป ที่ดินอื่นซึ่งมีผลิตภาพสูงกว่าขอบริมแห่งการผลิต แม้จะให้ผลตอบแทนมากกว่า แต่ส่วนที่ได้มากกว่านี้จะไปสู่เจ้าของที่ดินเป็นค่าเช่า

ค่าเช่าที่ดินเป็นส่วนที่หักผลตอบแทนออกไปจากผลผลิตรวม ทำให้ผลตอบแทนส่วนที่เหลือมีแนวโน้มที่จะเกิดความเท่าเทียมกันไม่ว่าจะใช้ที่ดินดีเลวแตกต่างกันอย่างไร คือจะพยายามลดลงมาเหลือเท่ากับผลตอบแทนที่ขอบริมแห่งการผลิตเหมือนๆ กัน ทั้งค่าแรงและดอกเบี้ย แม้จะมีปัจจัยต่างๆ ทำให้ค่าแรงและดอกเบี้ยแตกต่างกันไปได้มาก เช่น แรงงาน ณ ที่ดินชายขอบอาจไม่ใช่แรงงานเฉพาะทาง แต่ทำงานหลายอย่าง เครื่องมือ (ทุน) ซึ่งได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ก็อาจซับซ้อนผิดกันและต่างชนิดกันไป

เมื่อมีการขยายการผลิตออกไปยังที่ดินที่เลวลง ค่าเช่าที่ดินเดิมๆ ก็ย่อมสูงขึ้น เพราะฐานสำหรับเปรียบเทียบคือขอบริมแห่งการผลิตใหม่นั้นปกติจะมีผลิตภาพต่ำกว่าขอบริมแห่งการผลิตเดิม

และยิ่งประชากรเพิ่ม ยิ่งเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า การสนองความต้องการของมนุษย์ก็ยิ่งทำได้มากขึ้น ดีขึ้น ประณีตขึ้น และต้องใช้ที่ดินมากขึ้นไปด้วย ประโยชน์ที่ไหลเข้าเจ้าของที่ดินก็ยิ่งสูงขึ้น ความต้องการที่ดินที่เพิ่มมากขึ้นก็เช่น สนามกอล์ฟ สวนสนุก อู่ต่อเรือสำราญ แหล่งพักผ่อน-ผจญภัย ตลอดไปถึงแหล่งที่จะให้วัตถุดิบสำหรับสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านั้น และคนที่อยู่ชั้นบนๆ ของสังคมก็ต้องการที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยกว้างขวางขึ้น เช่น มีสระว่ายน้ำ สวนเล็กบ้างใหญ่บ้าง ลำธาร-น้ำตกประดิษฐ์ ฯลฯ อยู่ภายในบริเวณบ้านนั่นเอง

แต่ขอบริมแห่งการผลิตมักขยายออกไปเกินกว่าที่ควรมากมายเพราะการเก็งกำไรสะสมที่ดินกันเป็นการกว้างขวางทั่วไป ซึ่งเป็นการเก็งกำไรที่ใหญ่หลวงที่สุดไม่มีการเก็งกำไรชนิดใดเทียมเท่า อันมีสาเหตุจากการที่รัฐบาลปล่อยให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากที่ดินของตนที่สูงขึ้น ๆ ซึ่งมิใช่เฉพาะด้วยการเปรียบเทียบกับขอบริมแห่งการผลิตที่ขยายออกไปยังที่ดินที่เลวลงเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสาเหตุที่บริเวณที่ตั้งของที่ดินเดิมๆ มีประชากรหนาแน่นขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกดีขึ้นมากขึ้น อันมิใช่การกระทำของเจ้าของที่ดิน แต่เป็นการกระทำของส่วนรวม ซึ่งรวมทั้งภาษีที่เก็บไปบำรุง บริหาร บริการ ทำให้ที่ดินเดิมๆ มีความปลอดภัย สะดวก น่าอยู่ และสามารถประกอบธุรกิจได้มากขึ้นเร็วขึ้นด้วย (ที่ดินย่านธุรกิจแพงกว่าที่ดินเกษตรเพราะมีผลตอบแทนหรือผลิตภาพสูงกว่า)

คนจนไม่สามารถร่วมแข่งขันเก็งกำไรที่ดินด้วยได้ ต้องเช่าที่ดินแพงกว่าปกติ และค่าแรงก็ยิ่งต่ำกว่าที่ควร ยิ่งที่ดินถูกเก็งกำไรปิดกั้นไม่ได้ทำประโยชน์หรือทำประโยชน์น้อยไป ก็ยิ่งลดโอกาสที่แรงงานจะเข้าใช้ที่ดินเพื่อการผลิตทำมาหากิน ค่าแรงก็ยิ่งต่ำ ทั้งๆ ที่เขามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทำให้ที่ดินทั้งหมดมีประโยชน์สูงขึ้นเหมือนคนอื่นๆ ภาษีก็ต้องจ่าย โดยเฉพาะคือภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ซึ่งถือว่าเป็นภาษีถอยหลัง คือคนมีรายได้ต่ำยิ่งจ่ายมาก (เมื่อเทียบกับรายได้)

ในระบบปัจจุบัน คนจนเดือดร้อนเพราะ
1) ค่าเช่าที่ดินซึ่งควรเป็นของส่วนรวม (รวมทั้งคนจน) กลับเข้ากระเป๋าเจ้าของที่ดิน
2) จึงต้องเก็บภาษีอื่นๆ มาก ซึ่งทำให้ของแพง ต้นทุนผลิตสูง ความสามารถแข่งขันต่ำ และลดกำลังใจที่จะลงแรงลงทุนผลิต
3) เกิดการเก็งกำไรสะสมที่ดินซึ่งทำให้ขอบริมแห่งการผลิตยิ่งขยายออกไปยังที่ดินซึ่งผลิตภาพต่ำลง ค่าเช่าที่ดินเดิมยิ่งสูง แปลว่าส่วนที่เหลือเป็นค่าแรงและดอกเบี้ยยิ่งต่ำ อีกทั้งเมื่อที่ดินถูกเก็บไว้ไม่ใช้ประโยชน์หรือทำประโยชน์น้อยไปก็ทำให้เกิดการสูญเปล่า การว่างงานมากขึ้น ค่าแรงต่ำ นอกจากนี้การเก็งกำไรที่ดินยังทำให้เศรษฐกิจขึ้นลงเป็นวัฏจักรที่รุนแรงมากขึ้นด้วย
4) จึงยิ่งทำให้คนจนอ่อนแอ กลายเป็นเหยื่อแก่นายทุนและผู้อื่นซ้ำเข้าไปอีก

ดังนั้น ถ้าประโยชน์ยังเข้าเจ้าของที่ดิน ก็จะยังมีการเก็งกำไรสะสมที่ดิน คนจนก็จะยังเดือดร้อนต่อไป

การเก็บภาษีที่ดินเท่าหรือเกือบเท่ากับค่าเช่าศักย์ และเลิก/ลดภาษีอื่นๆ ชดเชยกัน แบบค่อยเป็นค่อยไป จึงนับว่าเป็นธรรมที่สุด.



Create Date : 05 กรกฎาคม 2554
Last Update : 5 กรกฎาคม 2554 15:34:43 น.
Counter : 662 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด