ผลดีและความเป็นธรรมของการมุ่งใช้ภาษีที่ดินแทนภาษีแรงงานและทุน
ผลดีของการการมุ่งเก็บภาษีที่ดินแทนภาษีแรงงานและทุน
(ภาษีทั้งหลายเก็บจากสิ่งใด ก็มีผลทำให้สิ่งนั้นแพงขึ้น แต่ภาษีที่ดินมีผลตรงข้าม)

1. ให้เสรีมากขึ้น ลดการถูกเรียกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานภาษีของรัฐ เพราะเหลือแต่ภาษีที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

2. คำว่า “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน” เป็นจริงมากขึ้น เพราะภาษีที่ดินแบบนี้ทำให้ทุกคนดุจเป็นเจ้าของที่ดินเสมอภาคกัน ใครทำงาน ใครลงทุน ได้เท่าไรก็เป็นของเขาทั้งหมด โดยตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ครอบครองที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกัน หรือไม่มีที่ดินเลย ออกไปด้วยภาษีที่ดิน

3. การลด/เลิกภาษีจากแรงงานและทุนเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก ซึ่งดีกว่าแบบของสหรัฐฯ ที่ทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ทำได้เพียงชั่วคราว มิฉะนั้นรัฐบาลจะเป็นหนี้มหาศาล เพราะไม่ได้เก็บภาษีที่ดินแบบที่ผมเสนอมาชดเชย ซึ่งภาษีที่ดินก็เป็นอีกแรงหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

4. ราคา/ค่าเช่าที่ดินจะลด เพราะที่ดินไม่เสียเปล่ามากมายมหาศาลจากการเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นไว้ (ไปไหน ๆ ก็เห็นแต่ที่ดินมีเจ้าของแล้ว) แต่จะเปิดออกเพื่อหาประโยชน์ให้คุ้มกับที่จะต้องเสียภาษีที่ดิน รวมทั้งให้เช่า หรือทำประโยชน์เอง หรือมิฉะนั้นก็ขายให้แก่ผู้ที่เห็นทางหาประโยชน์ การทำประโยชน์ก็มักต้องหาคนมาทำงานให้ เจ้าของที่ดินต่างคนต่างต้องทำอย่างนี้ ก็เกิดแข่งขันกันเอง การว่างงานจะลด ค่าแรงจะเพิ่ม ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนก็เพิ่ม

5. ซ้ำแรงงานและทุนไม่ต้องเสียภาษีทางตรงจำพวกภาษีเงินได้ หรือเสียน้อย จึงมีรายได้สุทธิเพิ่ม

6. สินค้าจะมีราคาถูก เพราะการลด/เลิกภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสรรพสามิต และอากรขาเข้า ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศจะสูงขึ้นด้วย และต่างชาติจะนิยมมาลงทุนและเที่ยวไทย แบบฮ่องกง สิงคโปร์ (ที่เป็นปัญหาก็คือแรงงานต่างด้าวจะทะลักเข้าไทย ต้องป้องกันให้ได้ผลมากกว่าปัจจุบัน)

7. เกิดความคล่องตัวในการย้ายถิ่นฐาน เพราะทั้งที่ดินและบ้านจะมีราคา/ค่าเช่าถูกลง และหาได้ง่ายขึ้น ที่ดินในเมืองจะได้รับการใช้ประโยชน์มากขึ้น มีบ้าน แฟลต คอนโดให้เช่ามากขึ้น ค่าเช่าต่ำลง ปัญหาการเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองที่ติดขัดอัดแอเสียเวลามากจะบรรเทาลง ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมืองจะบรรเทาลงเช่นเดียวกัน

8. กรณีพิพาทขัดแย้งแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงมากโดยอัตโนมัติ (ถ้าเก็บภาษีที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์ ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะเลือกซื้อที่ดินให้เหมาะกับความต้องการได้ง่าย แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำกู้ไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็คงไม่ต้องกู้แล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวไม่ได้ ถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

การเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม และเลิกภาษีอื่น ๆ มีความเป็นธรรม
1. ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพราะถ้าไม่มี เขาตาย

2. ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดินเหนือผู้อื่น

3. มูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างดัดแปลงและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (แต่ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามทำเลและสภาพอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งให้ผลตอบแทนแก่การลงแรงลงทุนต่างกัน และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ)

4. การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ คือลงทุนผลิตของกินของใช้ (โภคทรัพย์) หรือเครื่องมือช่วยการผลิต (ทุน) แต่เป็นการซื้อสิทธิ์สืบต่อตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่ออำนาจเรียกแบ่งผลตอบแทนจากผู้ทำงานและผู้ลงทุน และการเก็งกำไรกักตุนที่ดินกันไว้มาก ๆ ทำให้ที่ดินแพง ค่าแรงต่ำ หางานทำยาก คนจนก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น

5. การเก็บภาษีจากรายได้จากการลงแรงลงทุนผลิต (รวมทั้งจำหน่าย) ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเอาจากแต่ละคนไปบำรุงส่วนรวม แต่ควรเก็บจากมูลค่าที่ดินเพราะมูลค่าที่ดินเกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมและสิ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วทั้งของรัฐและเอกชนที่หวังผลกำไร และภาษีมูลค่าที่ดินจะขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบกันเนื่องจากการได้ครอบครองที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกันออกไปด้วย

แต่การเพิ่มภาษีที่ดินควรค่อย ๆ ทำ เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนเกินไป (และไม่ควรมีภาษีก้าวหน้าเพราะต้องโทษระบบของรัฐเองที่ส่งเสริมการเก็งกำไรเก็บกักที่ดินขณะนี้ ภาษีควรคิดตามหลักธุรกิจคือถือค่าเช่าศักย์เป็นหลัก ไม่ใช่ว่าปล่อยว่างแล้วจะปรับหรือทำอาชีพที่ไม่เหมาะสมแล้วจะลดหย่อนให้ จะเว้นก็ควรเป็นกรณีภัยพิบัติ) และค่อย ๆ ลดภาษีจากแรงงานและทุนชดเชยกัน อาจใช้เวลา 25-30 ปี ภาษีที่ดินจึงสูงเท่าหรือเกือบเท่าค่าเช่าศักย์ (เก็บแต่ภาษีที่ดิน ไม่คิดภาษีบ้านอาคาร โรงเรือนโรงงาน พืชผลต้นไม้)

มองในด้านลัทธิสั้น ๆ
ลัทธิภาษีเดี่ยวจากมูลค่าที่ดินของเฮนรี จอร์จเช่นนี้จะว่าเป็นสังคมนิยม แรงงานนิยม หรือ ทุนนิยม ก็ได้ทั้งนั้น

ที่ว่าเป็นสังคมนิยมนั้นถูกเมื่อคิดเฉพาะปัจจัยที่ดิน (คือถือว่าที่ดินเป็นของสังคม จึงเก็บภาษีที่ดินมาบำรุงสังคม เพราะภาษีที่ดินจะตัดความได้เปรียบเสียเปรียบจากการได้ใช้ที่ดินมากน้อยดีเลวผิดกันออกไป)
แต่ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปจัดการที่ดินโดยตรง เช่น บังคับจัดแบ่งที่ดิน ทั้งนี้ตามหลักให้รัฐมีหน้าที่น้อยที่สุด เพื่อให้ตรวจสอบง่าย ไม่กลายเป็นอำนาจกดขี่คอร์รัปชัน และเพราะแบ่งอย่างไรก็จะไม่ได้ตรงตามความพอใจ ความชอบ ความถนัดในอาชีพ แบ่งแล้วก็จะต้องแบ่งใหม่อีกเรื่อย ๆ เพราะมีคนเกิดคนตาย แต่งงานมีครอบครัวเพิ่มขึ้น จึงควรปล่อยให้เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ที่ดินตามเดิม ไม่ต้องบังคับย้ายผู้คนไปสู่ที่ดินที่รัฐจัดแบ่ง รัฐไม่ต้องบงการว่าจะใช้ที่ดินอย่างไร ปล่อยเสรี ถ้าไม่มีผลเสียต่อคนใกล้เคียง

ที่ว่าเป็นแรงงานนิยมก็ถูกเพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากแรงงานเลย

และก็ต้องถือว่าเป็นทุนนิยมสุดขั้วอย่างไม่เคยปรากฏ เพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากทุนเหมือนกัน

แนวคิดของเฮนรี จอร์จนี้ไม่ต้องการเอาของที่ส่วนบุคคลควรมีควรได้ (ลงแรงลงทุนหามาได้) คือค่าแรงสมอง/แรงกาย และผลตอบแทนต่อทุน มาเป็นของส่วนรวมเลย
จึงคิดเลิกภาษีเงินได้ ภาษีกำไร และภาษีทางอ้อมที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิตทำให้ของแพงทั้งสิ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร จะเก็บแต่ภาษีที่ดินอย่างเดียว

(สมัยนี้คงต้องเก็บภาษีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป หรือค่าภาคหลวง ค่าเอกสิทธิ์ ค่าสัมปทาน และค่าชดใช้การก่อมลภาวะทำความเสียหายแก่แผ่นดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม ด้วย).



Create Date : 24 มิถุนายน 2552
Last Update : 24 มิถุนายน 2552 18:37:28 น.
Counter : 526 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด