สังคมอุดมคติไม่มีภาษีการลงแรงลงทุน มีแต่ภาษีที่ดิน
(ยินดีให้เผยแพร่ต่อ ด้วยความขอบคุณ)

ความยุติธรรม – ทุกคนควรมีสิทธิในผลแห่งการทำงานและการลงทุนของเขาโดยเต็มที่
แต่การมีหรือไม่มีที่ดิน ต้องเช่าเขาบ้าง การมีที่ดินมากน้อย ดีเลวผิดกัน ทำเลผิดกันบ้าง ทำให้ได้รับผลตอบแทนมากน้อยผิดกัน มิใช่เป็นไปตามส่วนกับการลงแรงลงทุนเท่านั้น

เพื่อแก้ไขความไม่ยุติธรรมข้อนี้ รัฐบาลและท้องถิ่นควรร่วมกันเก็บภาษีที่ดินรายปีแบบภาษีบำรุงท้องที่ แต่เก็บเต็มที่เหมือนที่ทางธุรกิจเขาคิดค่าเช่าที่ดินกัน คือไม่มีการลดหย่อนยกเว้นให้สำหรับที่อยู่อาศัย หรือที่ทำกิน หรือที่ตั้งโรงงานเหมือนปัจจุบัน
คนหนึ่งๆ อาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้ง ๓ ปัจจัย คือ ที่ดิน แรงงาน ทุน หรือปัจจัยเดียว หรือสองปัจจัยก็ได้ แต่ในการพิจารณาปัญหา เราจะต้องแยกปัจจัยเหล่านี้ออกจากกัน (“การประกอบการ” รวมอยู่ใน “แรงงาน” ซึ่งแบ่งเป็น แรงสมอง และ แรงกาย)

การบริหารบริการของรัฐ ซึ่งต้องใช้เงินจากภาษีทั้งหลาย และ กิจกรรมของสังคมเอง ได้ไปทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น แล้วในที่สุดก็ไปเพิ่ม “ราคา/ค่าเช่าที่ดิน” เจ้าของที่ดินเป็นผู้ได้ประโยชน์ไป ภาษีอันดับแรกที่ควรเก็บจึงน่าจะเป็นภาษีที่ดิน

อีกประเภทหนึ่งของภาษีที่ดิน คือ ค่าภาคหลวงหรือภาษีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดินหมายรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมด้วย) ทั้งนี้ควรเก็บโดยคิดถึงการสูญเสียทรัพยากรไปชนิดที่เอากลับคืนมาได้ยากหรือไม่สามารถเอากลับคืนมาได้เลย ด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าใครทำให้เกิดมลภาวะก็ควรเป็นผู้จ่ายสำหรับการแก้ไข ทั้งนี้ควรคิดเอากับผู้ผลิต โดยคำนึงไปถึงขั้นสุดท้ายที่ผลผลิตเสื่อมคุณภาพจนต้องทิ้งกลายเป็นขยะ ซึ่งอาจเป็นขยะพิษที่ยากแก่การทำลาย ค่าแก้ไขมลภาวะนี้แม้คิดเอากับผู้ผลิต แต่มันก็เป็นต้นทุนซึ่งในที่สุดผู้บริโภคก็ต้องรับภาระตามที่ควรเป็นอยู่แล้ว

“การลงทุนลงแรงที่แท้จริง” ของแต่ละบุคคลไม่ควรถูกเก็บภาษี (ยกเว้นต่อเมื่อมีความจำเป็นโดยแท้ และต่อเมื่อได้เก็บภาษีจนเต็มที่ในส่วนที่แต่ละคนได้รับ “ประโยชน์” จากสังคมและรัฐไปแล้วเท่านั้น)
เพราะการที่แต่ละคนมาร่วมมือกัน แบ่งงานกันในสังคม ก่อผลผลิตและบริการ แล้วนำมาแลกเปลี่ยน (ขายซื้อ) กัน ทำให้มนุษย์สามารถมุ่งความสนใจไปฝึก-ศึกษาให้มีความชำนาญเฉพาะอย่าง (specialization) ทำให้เกิดความรู้สั่งสม ศิลปะวิทยาและอารยธรรมก้าวหน้า และเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการสนองความต้องการแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น ใครมีรายได้มากแสดงว่าเขามีประสิทธิภาพสูง จึงมีคนต้องการติดต่อซื้อขายด้วยมาก
นี่เป็นการช่วยให้สำเร็จผลตามจุดประสงค์ของรัฐบาลอยู่แล้ว คือ “ความอยู่ดีกินดี” ของคนหมู่มากในสังคม
หลายคนกล่าวว่าพวกรายได้สูงมักใช้การผูกขาด การมีอำนาจเหนือตลาด ใช้เล่ห์เหลี่ยมทุจริต เรื่องนี้ราชการต้องรับภาระควบคุมแก้ไข แต่ไม่ควรแก้ด้วยการลงโทษเก็บภาษีคลุมไปหมดทุกคน

ความอยู่ดีกินดีย่อมหมายถึงการได้ซื้อสินค้าและบริการในราคาที่ไม่แพงด้วย คนเราทำงานผลิตก็เพื่อจะได้บริโภค และการใช้จ่ายเพื่อบริโภคก็เป็นการต่างคนต่างช่วยกันให้มีงานทำมีรายได้

ดังนั้นจึงไม่ควรจะถูกขัดขวางเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่กลับจะต้องส่งเสริม ด้วยการ “ยกเว้นภาษี” ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีโรงเรือน อากรแสตมป์ ฯลฯ

ผลดี – (ภาษีทั้งหลายเก็บจากสิ่งใด ก็มีผลทำให้สิ่งนั้นแพงขึ้น แต่ภาษีที่ดินมีผลตรงข้าม)
๑. การเลิก/ลดภาษีเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมาก ซึ่งดีกว่าแบบของสหรัฐฯ ที่ทำมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ทำได้เพียงชั่วคราว มิฉะนั้นรัฐบาลจะเป็นหนี้มหาศาล เพราะไม่ได้เก็บภาษีที่ดินแบบที่ผมเสนอมาชดเชย ซึ่งภาษีที่ดินก็เป็นอีกแรงหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
๒. “มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน” มากขึ้น เพราะภาษีที่ดินแบบนี้ทำให้ทุกคนเสมือนเป็นเจ้าของที่ดินเสมอภาคกัน
๓. ราคา/ค่าเช่าที่ดินจะลด เพราะที่ดินจะไม่ถูกเก็งกำไรเก็บกักปิดกั้นไว้ แต่จะเปิดออกเพื่อหาประโยชน์ให้คุ้มภาษีที่ดิน การว่างงานจะลด ค่าแรงจะเพิ่ม ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนก็เพิ่ม
๔. ซ้ำแรงงานและทุนไม่ต้องเสียภาษีทางตรงจำพวกภาษีเงินได้ หรือเสียน้อย จึงมีรายได้สุทธิเพิ่ม
๕. สินค้าจะมีราคาถูก เพราะการลดภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรสรรพสามิต และอากรขาเข้า ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศจะสูงขึ้นด้วย และต่างชาติจะนิยมมาเที่ยวไทย แบบฮ่องกง สิงคโปร์
๖. เกิดความคล่องตัวในการย้ายถิ่นฐาน เพราะที่ดินและบ้านจะมีราคา/ค่าเช่าถูกลง และหาได้ง่ายขึ้น ที่ดินในเมืองจะได้รับการใช้ประโยชน์มากขึ้น มีบ้าน แฟลต คอนโดให้เช่ามากขึ้น ค่าเช่าต่ำลง ปัญหาการเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองที่ติดขัดอัดแอเสียเวลามากจะบรรเทาลง ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมืองจะบรรเทาลงเช่นเดียวกัน
๗. กรณีพิพาทขัดแย้งแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดินจะลดลงมากโดยอัตโนมัติ

คนจำนวนมากเกรงว่าการเก็บภาษีที่ดินแทนภาษีอื่นๆ จะทำให้ตนและครอบครัวเดือดร้อน ขอให้คิดให้จริงจัง ท่านจะไม่ต้องจ่ายภาษีอื่นที่เคยจ่าย ท่านและสมาชิกทั้งครอบครัวเคยต้องเสีย ”ภาษีเงินได้” รวมกันแล้วทั้งปีเท่าไร แล้วยังภาษีทางอ้อมปัจจุบันซึ่งผู้ค้าบวกเข้าในราคาสินค้า รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ๗% (ยามปกติจะเก็บ ๑๐%) ลองรวมดูทั้งปีเถิด

การเสนอให้เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน หรือเก็บภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้ายิ่งขึ้น (ที่คนจำนวนมากอยากให้ทำ) ก็เช่นเดียวกัน เป็นการทำลายล้างซึ่งกันและกัน คือถ่วงรั้งกำลังใจทำงาน หรือคือลดความต้องการที่จะร่วมมือกัน แบ่งงานกัน และลดโอกาสในความอยู่ดีกินดี การก้าวหน้าของศิลปะวิทยาและอารยธรรม

แต่มรดกและทรัพย์สินส่วนหนึ่งคือที่ดิน หรือไม่ก็ต้องอาศัยตั้งอยู่บนที่ดิน ถ้าเราเก็บภาษีที่ดินเสมือนที่ดินเป็นของรัฐหรือประชาชน นั่นจะเป็นการลดความแตกต่างในรายได้และฐานะมากแล้ว
การเก็บภาษีที่ดินแบบของ Henry George ที่ผมเสนอนี้ไม่ต้องมาคิดว่าถ้าใครมีที่ดินมากหรือปล่อยรกร้างจะเก็บ “ภาษีอัตราก้าวหน้า” หรือยึดหรือบังคับเช่าหรือซื้อจากเจ้าของมาจัดสรร ซึ่งในกรณีเจ้าของที่ดินเป็น “บริษัท” ใหญ่น้อยแตกต่างกันมากมายหลายบริษัท และซ้ำซ้อนกับฐานะเจ้าของที่ดินของหุ้นส่วนแต่ละคนด้วย คงจะเป็นปัญหาที่ต้องออกกฎเกณฑ์กันละเอียดทีเดียว อาจถึงกับเป็นไปไม่ได้ และยังเป็นการยากแก่การตรวจสอบทั้งโดยภาครัฐเองและภาคประชาชน กลายเป็นช่องทางทำมาหากินของข้าราชการและนักการเมือง หน่วยงานราชการก็ต้องขยายใหญ่โตขึ้น แต่ภาษีที่จะได้จะไม่มากเท่าแบบของ Henry George ข้อสำคัญคือไม่ได้แก้ปัญหาขั้นฐานรากด้านการมี/ไม่มีที่ดิน หรือมีมากน้อยดีเลวผิดกัน ซึ่งคือความไม่เท่าเทียมกันของคนทั้งประเทศ

ความยุติธรรม (เพิ่มเติม)

ที่ดินเป็นเงื่อนไขของชีวิต ขาดที่ดินมนุษย์ก็ตาย

ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ทำกิน เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ใช้แรงงานและทุนเข้ากระทำเพื่อจะได้อาหารและผลผลิตอื่น

ที่ดินมีอยู่แล้วตามธรรมชาติก่อนมีมนุษย์ ราคาของที่ดินที่เกิดแล้วเพิ่มสูงขึ้นก็มิใช่เพราะการกระทำของเจ้าของที่ดิน แต่เป็นเพราะการมีอยู่และกิจกรรมของ “ส่วนรวม” รวมถึงภาษีที่เก็บไปบำรุงประเทศ จึงไม่ควรที่คนหนึ่งต้องทำงานจ่ายเงินให้แก่อีกผู้หนึ่งเพื่อสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่และทำมาหาเลี้ยงชีวิตตนเองในแผ่นดินนี้

แต่ก็ถูกต้องที่ว่าค่าเช่าที่ดินต้องมี แพงบ้าง ถูกบ้าง มันแสดงถึงศักยภาพของที่ดินนั้นๆ ที่จะให้ประโยชน์ได้ โดยเปรียบเทียบกันเอง และเมื่อหักค่าเช่าที่ดินออกแล้วยังทำให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนลงแรงในที่ดินต่างทำเลกันมีความเท่าเทียมกันด้วย เพียงแต่ค่าเช่านี้ควรเข้ารัฐมากกว่าปล่อยให้เข้ากระเป๋าเอกชน

ที่ดินที่มีค่าเช่าหรือราคาสูงลิบลิ่วคือที่ดินในทำเลย่านธุรกิจหรือที่ดินในเมืองที่มีคนหนาแน่น ซึ่งการร่วมมือแบ่งงานกันทำ การซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน มีสูงสุด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด แล้วกลับไปเพิ่มราคา/ค่าเช่าที่ดิน

ปัจจุบันคนจนไร้ที่ดิน ต้องเสีย ๒ ต่อ คือ
๑. อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเสียภาษีทางอ้อมหรือภาษีถอยหลังจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีสินค้าเข้า (เสียมากเมื่อเทียบกับรายได้ เพราะได้มาเท่าไรก็อาจต้องจ่ายหมด ไม่มีเหลือเก็บ ซ้ำอาจต้องกู้)
๒. แล้วกลับต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินเพิ่มขึ้นๆ อีกด้วยเนื่องจากภาษีที่ตนเองต้องจ่ายตามข้อ ๑. ถูกนำไปสร้างถนน ทำท่อระบายน้ำเสีย บริการสาธารณะต่างๆ จัดเจ้าพนักงานดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกันอัคคีภัยอันตรายทั้งหลาย . . . ฯลฯ . . . ฯลฯ . . . ซึ่งไปทำให้ชุมชนมีความน่าอยู่ขึ้น ก็เลยทำให้ที่ดินมีราคาหรือค่าเช่าสูงขึ้นๆ (ซึ่งเป็นอย่างนี้มานานมากแล้ว)

ผู้ได้ประโยชน์คือปัจเจกชนแต่ละคน แต่ละบริษัท ที่ได้ค่าเช่าหรือราคาที่ดินไป หรือแม้แต่เก็งกำไรเก็บกักที่ดินไว้ก่อน โดยไม่ต้องทำอะไร (หมายถึงเฉพาะที่ดิน ไม่รวมค่าเช่าห้องหรืออาคาร ซึ่งต้องคิดแยกจากที่ดิน การสร้างห้องหรืออาคารคือการลงแรงลงทุนผลิตเศรษฐทรัพย์ มีความสมควรที่จะได้รับผลตอบแทน)

ทำให้ที่ดินมากมายถูกเก็งกำไรซื้อหาเก็บกักปิดกั้นไว้ ซึ่งใครๆ ที่พอมีเงินก็ทำกันทั่วไป เป็นการรวมหัวผูกขาดที่กว้างขวางที่สุดโดยไม่ต้องนัดหมาย คนจนก็ยิ่งมีโอกาสน้อยลงไปอีกที่จะมีที่ดินเป็นของตนเอง และผู้คนต้องหาที่อยู่อาศัยกระจายห่างไกลจากชุมชนออกไป (leapfrogging) โดยไม่สมควร เลยต้องพึ่งพายานพาหนะสำหรับการขนส่งไปมาติดต่อกัน เสียเงินมากขึ้นไปอีก เสียเวลาเดินทางในการจราจรที่ติดขัดอัดแอ กลายเป็นคนเร่งร้อนและไม่มีเวลาให้ครอบครัว ครอบครัวแตกแยก

เราอาจไม่ค่อยได้คิดกัน หรือคิดไม่ถึง ว่าถ้าไม่มีการเก็งกำไรเก็บกักที่ดิน ที่ดินจะมีมากมายเพียงพอสำหรับทุกคน

การลงทุนซื้อที่ดินเก็บเอาไว้ แม้ไม่ผิดกฎหมายปัจจุบันอันไม่เป็นธรรม ก็มิใช่การลงทุนที่แท้ เป็นเพียงการซื้อขายสิทธิ์สืบต่อกันที่จะเรียกรับส่วนแบ่งจากการลงแรงลงทุนผลิตของผู้อื่นทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้ร่วมทำการผลิต ซึ่งก่อผลร้ายแก่ส่วนรวมดังกล่าว พวกเราต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ นิสัยความคิดแบบเคยชินกับระบบเก่าๆ ที่เห็นว่าดีอาจผิด เปิดใจตนเองรับพิจารณาแง่คิดที่แตกต่าง และยอมรับว่าที่ดินมีลักษณะต่างจากทุนและทรัพย์สินอื่น

เศรษฐศาสตร์ที่ดีต้องแยก “ที่ดิน” จากทุนและทรัพย์สินอื่น ไม่เหมารวมเข้าเป็นสิ่งเดียวกันในการพิจารณาปัญหาทั้งหลาย และ “กรรมสิทธิ์” ในที่ดินก็เป็นเพียง “รูปแบบ” ซึ่งไม่ควรแตะต้องให้งานของรัฐเพิ่มขึ้นไปเปล่าๆ ที่ควรเปลี่ยนแปลง คือ “เนื้อหา” นั่นคือ “ประโยชน์” ส่วนใหญ่จากที่ดินนั้นจะปล่อยให้ตกแก่ผู้มีกรรมสิทธิ์ตามเดิมและเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ หรือจะใช้ภาษีเป็นเครื่องมือค่อยๆ นำกลับคืนมาให้แก่สังคม?

แทบทุกประเทศได้ทำการอันไม่ยุติธรรม คือไม่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ของ “ส่วนรวม” ที่เกิดตามธรรมชาติของสังคมนี้มาใช้จ่ายในกิจการของรัฐและท้องถิ่น (หรือเก็บเพียงเล็กน้อย) แต่กลับเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดจากการทำงานและการลงทุนของ “ปัจเจกชน” แต่ละคน แต่ละบริษัท รวมทั้งคนจนที่ต้องเสีย “ภาษีถอยหลัง” ถือเป็นการนำทรัพย์จากผู้อื่นไปให้แก่เจ้าของที่ดิน ผิดศีลข้อ ๒ อทินนาทาน

ที่ควรทำคือ ถ่ายเทภาษีที่เป็นภาระต่อการทำงานและการลงทุน กลับไปให้เป็นภาระต่อการถือครองที่ดินแทน (แต่ควรทำเป็นโครงการระยะยาวหน่อย อาจเป็น ๒๐–๓๐ ปี ให้มีเวลาปรับตัวกันได้พอควร และถือเป็นการชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดินไปในตัว ซึ่งความจริงการเปลี่ยนแปลงภาษีไม่ได้มีการชดใช้กัน แต่การชดใช้ก็มีอยู่แล้ว โดยการยกเลิกหรือลดภาระภาษีจากการลงทุนลงแรง และการที่เมืองไทยจะน่าอยู่ขึ้น)

ถึงแม้จะลดภาษีต่างๆ ไม่ได้หมด ยังจะต้องมีอยู่บ้าง เพื่อให้รัฐมีรายได้มากพอ ก็ยังดีกว่าไม่ลดเลย

หมายเหตุ
ความคิดของ Henry George นี้ Karl Marx เรียกว่า ที่มั่นด่านสุดท้ายหรือการต่อสู้ดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของลัทธินายทุน (Capitalism’s Last Ditch) แต่พวกทุนนิยมจำนวนมากกลับเรียกว่าเป็น “สังคมนิยม” ส่วน Henry George เองกล่าวไว้ในคำนำของหนังสือ Progress and Poverty ว่าสิ่งที่ท่านได้พยายามกระทำนั้นถือว่าก่อให้เกิดความสอดคล้องต้องกันระหว่างอุดมคติของฝ่ายเสรีนิยมในเรื่อง "เสรีภาพ" และ "ปัจเจกนิยม" (Individualism) กับจุดประสงค์ของฝ่ายสังคมนิยมในเรื่อง "ความยุติธรรม" ทางเศรษฐกิจ "เป็นการเชื่อมสัจจะตามความคิดของสำนัก Smith และ Ricardo กับสัจจะตามความคิดของสำนัก Proudhon และ Lassalle ให้รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"

จาก //www.marxists.org/archive/marx/works/1881/letters/81_06_20.htm Karl Marx เขียนจดหมายตอบ Friedrich Adolph Sorge เมื่อ ๒๐ มิ.ย.๒๔๒๔ วิจารณ์ว่า “Henry George เป็นคนล้าหลังอย่างสิ้นเชิง . . . . คำสอนหลักของเขา [Henry George] คือทุกสิ่งจะเรียบร้อยถ้ามีการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่รัฐ ท่าน [Sorge] จะเห็นได้ว่าการจ่ายค่าเช่าที่ดินแบบนี้มีอยู่แล้วในบรรดามาตรการ ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ ที่เขียนไว้ใน The Communist Manifesto . . . . ”

ดูเพิ่มเติมได้จาก
//www.askhenry.com
//www.reocities.com/RainForest/3046/ (BEarthright )
//www.foldvary.net
//homepage.newschool.edu/het ในส่วนที่เกี่ยวกับ Henry George (คลิกเลือกที่ Alphabetical Index) และหนังสือดีเด่น Progress and Poverty ของท่านที่เขียนไว้ 130 ปีแล้ว ซึ่งอ่านได้ที่ //www.schalkenbach.org/library/george.henry/ppcont.html
ภาคไทยที่ //utopiathai.webs.com/ProgressAndPoverty.html
องค์กรทั่วโลกที่ศรัทธาคำสอนของเฮนรี จอร์จ //www.cgocouncil.org/showcgo.php

จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม //utopiathai.webs.com



Create Date : 16 ตุลาคม 2553
Last Update : 16 ตุลาคม 2553 17:56:08 น.
Counter : 645 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด