แนวคิดแก้ไขความยากจนของเฮนรี จอร์จ
Henry George (ค.ศ.1839-1897) เรียนจบเพียงประถม 6 เพราะความยากจน เขาต้องหยุดการเรียนขณะอยู่เกรด 7 แล้วก็ออกทำงานเป็นเด็กรับใช้ (cabin boy) ในเรือสินค้า ซึ่งเดินทางรอบโลก แต่ในการเดินทางไปกับเรือสินค้าครั้งที่ 2 ในฐานะกะลาสีชั้นสามารถ (able seaman) จอร์จก็ลาออกมาเป็นช่างเรียงพิมพ์ แล้วก็ได้เป็นผู้รายงานข่าว ผู้เขียนบทบรรณาธิการของ นสพ.ซานฟรานซิสโกไทมส์ บรรณาธิการจัดการ และยังเขียนเรื่องให้นิตยสารต่างๆ อีกด้วย ความรู้ความสามารถของจอร์จเกิดจากความช่างสังเกตและการพากเพียรศึกษาด้วยตนเอง

เมื่อเดินทางจากซานฟรานซิสโกไปไปทำงานที่นิวยอร์ก จอร์จได้เห็นความยากจนร้ายแรงในเมืองใหญ่ทั้งๆ ที่ในเมืองใหญ่ปรากฏทรัพย์สินมหาศาล จึงเกิดแรงบันดาลใจให้ค้นหาสาเหตุของความแตกต่างนี้
เขาได้พบด้วยว่า อุตสาหกรรมปฏิวัติซึ่งคือความก้าวหน้าอย่างมโหฬารของเครื่องจักรกลที่ช่วยเพิ่มผลผลิต กลับทำให้คนงานเดือดร้อนจากค่าแรงต่ำ และค่าแรงทั่วไปมีแต่แนวโน้มจะต่ำลงในขณะที่ที่ดินแพงขึ้น
การเก็งกำไรกักตุนที่ดินยิ่งทำให้หางานทำยากมากขึ้น ค่าแรงยิ่งต่ำ และทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวรุนแรง

ในชั้นแรก จอร์จได้เขียนหนังสือขนาดเล็ก 48 หน้า เรื่อง Our Land and Land Policy ในปี 1871 พิมพ์ 1,000 เล่ม แต่ไม่ได้รับความสนใจมากนัก ในปี 1877 เขาจึงเริ่มเขียนหนังสือ Progress and Poverty ขนาด 565 หน้าเพื่ออธิบายสาเหตุและวิธีแก้ไขความยากจนให้ละเอียดยิ่งขึ้น ใช้เวลา 1 ปี 7 เดือนจึงเขียนจบ พิมพ์ครั้งแรกปี 1879 เมื่อรวมกับการปาฐกถาในสหรัฐฯ เอง สกอตแลนด์ อังกฤษ ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งการโต้วาทีกับพรรคสังคมนิยมในนิวยอร์กและลอนดอน และเขียนหนังสือและบทความจำนวนมาก ก็ทำให้เขามีชื่อเสียงในขณะที่เขามีชีวิตอยู่ เป็นลำดับ 3 ของสหรัฐฯ ต่อจาก Thomas Edison และ Mark Twain

เฮนรี จอร์จตายก่อนวันเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก 4 วัน ซึ่งเขาเข้าสมัครรับเลือกตั้งด้วยเป็นครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 11 ปี (ครั้งแรกเขาแพ้ Abram S. Hewitt แต่ชนะ Theodore Roosevelt ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ) การสมัครรับเลือกตั้งทั้งสองครั้งเพราะสหภาพแรงงานขอร้อง งานศพของจอร์จมีผู้คนกว่าแสนคนมาเคารพศพและร่วมขบวนศพไปยังสุสานใน Brooklyn

หนังสือ Progress and Poverty ที่ลือลั่นและขายดีในสมัยของจอร์จเองได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย และกลุ่มผู้นิยมจอร์จได้ใช้เป็นตำราสั่งสอนกันต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน ใน ค.ศ.1963 ห้องสมุดทำเนียบขาวได้เลือกหนังสือนี้ไว้ในกลุ่มหนังสืออเมริกันดีเด่น เฮนรี จอร์จเองก็ได้รับการยกย่องจากบุคคลสำคัญจำนวนมาก

เหตุที่เฮนรี จอร์จไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงในระยะหลังน่าจะเป็นเพราะ:--

"ข้อเขียนและคำปราศรัยของ Henry George (ค.ศ.1839-1897) ในช่วง 20 ปีสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เสนอให้ยกเลิกภาษีทั้งสิ้น ยกเว้นให้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเพียงอย่างเดียว ซึ่งได้รับการต้อนรับจากคนส่วนใหญ่ ทำให้กลุ่มอำนาจต้องหาทางรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ส่วนที่สำคัญก็คือพยายามมีอำนาจควบคุมการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยสำคัญๆ ของสหรัฐฯ

"ศาสตราจารย์ Mason Gaffney อธิบายว่าเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิกเริ่มขึ้นเมื่อ John Bates Clark (ค.ศ. 1847-1938 ) ผู้มีชื่อเสียงด้านพัฒนาแนวคิดเรื่องผลิตภาพหน่วยท้ายสุด (marginal productivity) ถือเอาเป็นภาระหน้าที่ของตนที่จะต้องต่อต้าน Henry George เงินทุนจาก J.P. Morgan ทำให้ Clark ได้รับการย้ายไปยังมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แล้วบรรดาศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ที่คุ้นเคยกับการโต้แย้งทางจริยธรรมก็ถูกแทนที่ด้วยผู้ผ่านการศึกษาด้านทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ

"สิ่งแรกที่กลุ่มนีโอคลาสสิกทำคือ การถอนเอา ‘ที่ดิน’ ออกจากสมการเศรษฐกิจ โดยไม่ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่แตกต่างจากทุนและสินค้าที่ผลิตขึ้นมาด้วยการใช้แรงงาน โลกเศรษฐศาสตร์จึงเหลือสิ่งสำคัญพื้นฐานเพียง 2 สิ่ง คือ แรงงาน และ ทุน อิทธิพลความคิดของ Henry George และกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์เดิมที่เรียกว่า political economists แทบจะหมดไปในราวกลางทศวรรษที่เริ่มจาก ค.ศ.1920" (จาก //www.cooperativeindividualism.org/dodson_pseudo_science_of_economics.html ซึ่งพิมพ์ซ้ำจาก Geophilos, Spring 2003)

Leo Tolstoy กล่าวว่าวิธีสำคัญที่ใช้ต่อต้านคำสอนของเฮนรี จอร์จมาแล้วและกำลังใช้อยู่คือวิธีที่มักใช้กับความจริงที่เห็นได้ชัดและปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือพยายามให้เงียบไว้ (//www.cooperativeindividualism.org/tolstoy_on_the_land_question_and_slavery)

ข้อเสนอวิธีแก้ไขของจอร์จมีเพียงให้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเท่ากับค่าเช่าที่ดินรายปีและยกเลิกภาษีอื่นๆ
เฮนรี จอร์จกล่าวโจมตีการปล่อยให้เอกชนได้ประโยชน์จากกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างยืดยาว แต่พอถึงข้อเสนอแก้ความยากจนจากความไม่ยุติธรรมนี้เขากลับเสนอเพียงให้เก็บภาษีมูลค่าที่ดินเท่ากับค่าเช่าที่ดินรายปีและยกเลิกภาษีอื่นๆ เหตุผลของเขาคือ:--

“ข้าพเจ้าไม่เสนอให้ซื้อหรือริบกรรมสิทธิ์ของเอกชนในที่ดิน กรณีแรกจะเป็นการไม่ยุติธรรม กรณีที่สองไม่เป็นสิ่งจำเป็น จงปล่อยให้บุคคลที่ยึดถือที่ดินอยู่ขณะนี้ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งที่เขาพอใจจะเรียกว่าที่ดิน ‘ของเขา’ ต่อไปถ้าเขาต้องการ ปล่อยให้เขาเรียกมันต่อไปว่าเป็นที่ดิน ‘ของเขา’ ปล่อยให้เขาซื้อขายและให้เป็นมรดกและทำพินัยกรรมยกให้กันได้ เราอาจจะปล่อยให้พวกเขาเก็บเปลือกไว้ได้โดยไม่มีอันตรายถ้าเราเอาเนื้อในออกมาแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องริบที่ดิน จำเป็นแต่เพียงจะต้องริบค่าเช่าเท่านั้น

“ทั้งการที่จะเก็บค่าเช่ามาเป็นสาธารณประโยชน์นั้นก็ไม่จำเป็นว่ารัฐจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการให้เช่าที่ดินด้วย ซึ่งมีทางทำให้เกิดฉันทาคติ การสมรู้ยินยอม และการฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องจัดตั้งจักรกลใหม่ขึ้นมาอีกแต่ประการใด จักรกลเช่นนี้มีอยู่แล้ว แทนที่จะขยายมันออก ทั้งหมดที่เราจะต้องทำก็คือทำให้มันง่ายขึ้นและลดขนาดของมันลงเท่านั้น โดยการให้เจ้าของที่ดินได้รับเปอร์เซนต์จากค่าเช่าบ้าง ซึ่งอาจจะน้อยกว่ามูลค่าและความสูญเสียในการที่องค์การของรัฐจะเป็นผู้ให้เช่าที่ดินเองมาก และโดยการใช้ประโยชน์จากจักรกลที่มีอยู่แล้วนี้ เราก็อาจจะทำให้เกิดสิทธิของส่วนรวมร่วมกันในที่ดินได้โดยการ เก็บค่าเช่ามาเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งไม่ทำให้เกิดการตื่นเต้นสะดุ้งสะเทือนกัน

“เราได้เก็บค่าเช่าแล้วเป็นบางส่วนในรูปของภาษี เราเพียงแต่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษีบางประการเท่านั้นเพื่อให้ได้ค่าเช่าทั้งหมด” (Progress and Poverty, p.405)

ลัทธิภาษีเดี่ยวจากที่ดินของเฮนรี จอร์จจะว่าเป็นสังคมนิยม แรงงานนิยม หรือ ทุนนิยม ก็ได้
ที่ว่าเป็นสังคมนิยมนั้นถูกเฉพาะเมื่อคิดถึงปัจจัยที่ดินอย่างเดียว (คือถือว่าที่ดินเป็นของสังคม จึงเก็บภาษีที่ดินมาบำรุงสังคม แต่ไม่ต้องการให้รัฐเข้าไปจัดการที่ดินโดยตรง เช่น บังคับจัดแบ่งที่ดิน)

ที่ว่าเป็นแรงงานนิยมก็ถูกเพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากแรงงานเลย

แต่ก็ต้องถือว่าเป็นทุนนิยมสุดขั้วด้วยอย่างไม่เคยปรากฏ เพราะพยายามไม่เก็บภาษีจากทุนเหมือนกัน

วิธีของเฮนรี จอร์จนี้ไม่คิดเอาของที่ส่วนบุคคลควรมีควรได้มาเป็นของส่วนรวมเลย เช่น ค่าแรงสมอง/แรงกาย และผลตอบแทนต่อทุน จึงคิดเลิกภาษีทางอ้อมที่ไปเพิ่มต้นทุนการผลิตและภาษีเงินได้
เขาขอให้เก็บภาษีที่ดินอย่างเดียว (สมัยนี้คงต้องรวมภาษีทรัพยากรธรรมชาติหรือค่าภาคหลวง ค่าเอกสิทธิ์ ค่าสัมปทาน และค่าชดใช้การก่อมลพิษทำความเสียหายแก่แผ่นดินและทรัพยากรธรรมชาติด้วย)

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีที่ดินเพิ่มและเลิกภาษีอื่นๆ ควรค่อยๆ ทำ อาจใช้เวลาหลายสิบปี เพื่อมิให้เจ้าของที่ดินเดือดร้อนมากเกินไป

การเก็บภาษีที่ดินเพิ่ม และเลิกภาษีอื่นๆ มีความเป็นธรรม:--
1. ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพราะถ้าไม่มี เขาตาย แต่เขาเกิดมาแล้ว เขาก็มีสิทธิ์มีชีวิตต่อไป
2. ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดิน
3. มูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม (แต่ไม่ใช่เอาที่ดินมาแบ่งกันเพราะที่ดินมีมูลค่าแตกต่างกันตามทำเลที่แตกต่างกัน ซึ่งให้ผลตอบแทนแก่การลงแรงลงทุนต่างกัน และจะต้องแบ่งกันไม่รู้จบเพราะคนในครอบครัวมีตายมีเกิดทำให้จำนวนเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ)
4. การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ คือลงทุนผลิตของกินของใช้ (โภคทรัพย์) หรือเครื่องมือช่วยการผลิต (ทุน) แต่เป็นการซื้อสิทธิ์สืบต่อตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่ออำนาจเรียกแบ่งผลตอบแทนจากผู้ทำงานและนายทุน
และการเก็งกำไรกักตุนที่ดินกันไว้มากๆ ทำให้ที่ดินแพง ค่าแรงต่ำ หางานทำยาก คนจนก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น
5. การเก็บภาษีจากรายได้จากการลงแรงลงทุนผลิต (รวมทั้งจำหน่าย) ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเอาจากแต่ละคนไปบำรุงส่วนรวม ในกรณีนี้ควรเก็บจากมูลค่าที่ดินเพราะมูลค่าที่ดินเกิดจากกิจกรรมของส่วนรวม

ผลร้ายของการเก็บภาษีที่ดินน้อยไปและเก็บภาษีอื่นๆ มากไป
1. สังคมมีความแตกต่าง เกิดการแตกแยก
2. ผิดศีลข้ออทินนาทาน เอาจากกลุ่มอื่นไปให้แก่กลุ่มเจ้าของที่ดินด้วยวิธีการภาษี โดยภาษีและกิจกรรมของส่วนรวมไปทำให้สังคมมีความน่าอยู่และปลอดภัยขึ้น ที่ดินก็เลยแพง จึงมีการเก็งกำไรที่ดินกันในวงกว้างทั่วไป ที่ดินก็ยิ่งแพงขึ้น คนยากคนจนหรือจะแข่งขันด้วยได้ จำใจต้องยอมเป็นผู้เช่า ต้องเสีย 2 ต่อ ทั้งค่าเช่าที่ดิน ทั้งภาษีอื่นๆ
3. ภาษีปัจจุบันเป็นตัวถ่วง แทนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูตัวอย่างสหรัฐฯ เขากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีลดภาษีอื่นๆ มาหลายต่อหลายหนแล้ว
4. การไม่เก็บภาษีที่ดินหรือเก็บน้อยไปก็กลับเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจซ้ำเข้าไปอีก เพราะที่ดินถูกเก็งกำไรเก็บกักกันไว้เฉยๆ มากมาย หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ทำให้การจ้างงานน้อย และค่าแรงต่ำ ผลตอบแทนต่อการใช้ทุนเครื่องทุ่นแรงก็ต่ำ
5. ภาษีเงินได้ ภาษีกำไร พวกนี้ไปลดรายได้จริงของคนทำงานและผู้ลงทุน
6. ภาษีทางอ้อมจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีขาเข้า ไปทำให้ของแพง และทำให้ความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศลด ไม่ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเหมือนฮ่องกง สิงคโปร์
7. ราคา/ค่าเช่าที่ดินและบ้านแพงกว่าที่ควร แฟลต/คอนโดในเมืองก็มีน้อย เกิดปัญหาต้องเดินทางเช้าเข้าเมืองเย็นกลับออกนอกเมืองติดขัดอัดแอเสียเวลามาก เกิดปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมหรือชุมชนแออัดในเมือง การย้ายบ้านก็ยากเพราะต้องใช้เงินมาก
8. เพราะที่ดินมีราคา จึงมีคดีที่ดินเป็นภาระแก่ศาลยุติธรรมมากมาย คนจำนวนมากต้องเสียเงินเสียเวลาขึ้นศาลกันนานๆ ระหว่างนั้นที่ดินก็อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์
(ถ้าเก็บภาษีที่ดินเท่าค่าเช่าศักย์ ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์หรือเกือบศูนย์ คนเราจะซื้อขายที่ดินได้ง่าย แม้ราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เอาเป็นหลักทรัพย์ค้ำกู้ไม่ได้ แต่การซื้อขายที่ดินเองก็คงไม่ต้องกู้แล้ว และก็จะทำให้คนเรากู้หนี้เพื่อลงทุนอย่างอื่นเกินตัวไม่ได้ ถือว่าถูกหลักเศรษฐกิจพอเพียง)

ความรู้พื้นฐานเศรษฐศาสตร์
ปัจจัยการผลิตคือ 1.ที่ดิน 2.แรงงาน (สมอง, กาย) และ 3.ทุน
(สามปัจจัยนี้ครอบคลุมหมดแล้ว ถ้าแบ่งเป็นอย่างอื่นอีก ก็จะซ้ำอยู่ในสามปัจจัยนี้เอง)
คนผู้หนึ่งอาจเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตได้หลายปัจจัย
แต่ในการวิเคราะห์ปัญหา เราต้องแยกฐานะเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งสามออกจากกัน

ที่ดิน (Land) คือ เอกภพหรือสิ่งทั้งหลายนอกจากตัวมนุษย์และเศรษฐทรัพย์
แรงงาน (Labour) คือ ความพยายามทั้งปวงของมนุษย์ที่ใช้ในการผลิตเศรษฐทรัพย์
ทุน (Capital) คือ เศรษฐทรัพย์ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน หรือในการผลิตเศรษฐทรัพย์สำหรับการแลกเปลี่ยน
เศรษฐทรัพย์ (Wealth) คือวัตถุทั้งหลายนอกเหนือไปจากตัวมนุษย์ ซึ่งผลิตขึ้นด้วยแรงงานมนุษย์ เพื่อใช้บำบัดความต้องการของมนุษย์ หรือช่วยในการผลิตสิ่งที่มนุษย์ต้องการ และมีมูลค่าในการแลกเปลี่ยน

ขอบริมแห่งการผลิต (Margin of Production หรือ ที่ดินชายขอบ) คือ ที่ดินที่เลวที่สุดที่จำเป็นต้องใช้กัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นที่ดินที่ดีที่สุดที่จะหาได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน

การแบ่งผลตอบแทนแก่เจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งสาม
1. กฎว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน (Law of Rent) ค่าเช่าที่ดินกำหนดได้ด้วยผลผลิตของที่ดินนั้น ในส่วนที่เกินกว่าผลผลิตจากขอบริมแห่งการผลิต ในเมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน
2. กฎว่าด้วยค่าแรง (Law of Wages) ค่าแรงทั่วไปถูกกำหนดด้วยผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต (เมื่อชายขอบขยายออก ผลิตภาพที่ดินใหม่จะต่ำลง ที่ดินเดิมค่าเช่าสูงขึ้น ค่าแรงทั่วไปทุกแห่งต่ำลง)
3.กฎว่าด้วยดอกเบี้ย (Law of Interest) ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง และขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเช่นเดียวกัน.



Create Date : 18 สิงหาคม 2549
Last Update : 18 สิงหาคม 2549 23:10:29 น.
Counter : 1170 Pageviews.

0 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
BUDDY คู่หู คู่ฮา multiple
(3 ม.ค. 2567 04:49:04 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด