การเกิดวิกฤตวัฏจักรเศรษฐกิจฟองสบู่และความยากจน

ระบบที่เก็บภาษีที่ดินน้อยไป แต่มุ่งเก็บภาษีการลงแรงลงทุนผลิตมาก คือ ระบบที่ต่อต้านการร่วมมือกันในการผลิตโดยวิธีแบ่งงานกันทำ (ซึ่งทำให้การผลิตของส่วนรวมมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างมาก) และผิดศีลข้ออทินนาทาน เพราะแรงงานและทุนของใคร เจ้าของก็ควรมีสิทธิเต็มที่ จะจำกัดก็ด้วยสิทธิเท่าเทียมกันของผู้อื่น เขาลงทุนลงแรงได้ผลตอบแทนเท่าไรก็ควรเป็นของเขาทั้งหมด ยกเว้นแต่ผลตอบแทนจากที่ดิน เพื่อขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบกันในการได้ครองที่ดินมากน้อยดีเลวต่างกัน เพราะโดยทั่วไปไม่มีมนุษย์ใดผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา และการที่ที่ดินมีราคาสูงขึ้นก็เพราะความหนาแน่นของประชากรและกิจกรรมของชุมชนเป็นส่วนรวมทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสบายรวดเร็วปลอดภัยต่อการอยู่อาศัยและทำมาหากินของผู้คนในชุมชนและบริเวณใกล้เคียง

ลองคิดดูสิว่าที่ดินว่างๆ แท้ๆ ไม่มีอะไรเลย ถ้าอยู่กลางเมืองใหญ่ ทำไมจึงราคาสูงลิบลิ่วได้

ภาษีเงินได้ทำให้ผู้ลงทุนลงแรงเหลือรายได้สุทธิลดลง ภาษีจำพวกภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้สินค้าแพงขึ้น ขายแข่งสู้ต่างชาติก็ยากขึ้น จึงก่อความยากจนแก่ผู้ลงแรงลงทุน ที่สาหัสคือคนจน แม้แต่นอร์เวย์ สวีเดน ที่มีรัฐสวัสดิการดีเยี่ยม คนของเขาก็ยังหนีภาษีมาใช้ชีวิตในเมืองไทยกันมาก

ภาษีที่ดินที่อัตราต่ำทำให้คนรวยสามารถสะสมกักตุนที่ดินหวังกำไรในอนาคตได้มาก ทำให้ที่ดินไม่ค่อยได้รับการทำประโยชน์ (แปลว่าไม่ค่อยมีงานให้ทำ) แรงงานต้องแย่งกันหางานทำ ค่าแรงถูกกดต่ำ แต่ที่ดินแพง ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนต่อการลงแรงลงทุนต่ำลงด้วย

และการเก็งกำไรที่ดินกันอย่างกว้างขวางทั่วไปทำให้เกิดวิกฤตวัฏจักรเศรษฐกิจฟองสบู่เป็นระยะๆ ซ้ำซากตลอดมา ซึ่งก่อความเสียหายทุกข์ยากแก่ทั้งคนจนคนรวยมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ไม่พ้นเพราะต้องรับผิดชอบความอยู่ดีกินดีของพลเมือง แต่ไม่สามารถทำความพอใจให้แก่ราษฎรได้

ส่วนที่ดินที่ทำประโยชน์ ยิ่งเทคโนฯ ก้าวหน้า ทุน (เครื่องช่วยการผลิต) ก็สามารถทำงานได้รวดเร็วบนผืนดินที่กว้างใหญ่ออกไป คนงานส่วนใหญ่ก็ยิ่งฝืดเคืองเพราะถูกเครื่องจักรกลแย่งงาน

ความทุกข์ยากเดือดร้อนเช่นนี้จะไม่เกิดถ้าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจสาเหตุแห่งปัญหา ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับระบบภาษีเดี่ยวจากที่ดินที่เฮนรี จอร์จทำให้เป็นที่รู้จักกันขึ้นมา (สมัยนี้ควรจะรวมถึงภาษีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและภาษีสิ่งแวดล้อม) มาใช้แทนที่ภาษีจากการลงแรงลงทุน (รวมทั้งภาษีเงินได้) แต่จะต้องค่อยๆ ทำ เช่น ค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดินปีละ ๓ % ของค่าเช่าตามอัตราท้องตลาด พร้อมกับค่อยๆ ลดภาษีการลงแรงลงทุนชดเชย จนในที่สุด ๓๐ ปีเศษ ก็สามารถเก็บภาษีที่ดินได้เท่าค่าเช่าตามอัตราท้องตลาด ตามแบบธุรกิจ แต่ส่วนอัตราที่สูงกว่าปกติ (เพราะการเก็งกำไรกักตุนที่ดิน) จะหายไป และราคาที่ดินจะเป็นศูนย์ เพราะภาษีที่สูงเท่าค่าเช่าที่ดิน (ซึ่งจะรักษาให้เท่าค่าเช่าตามอัตราท้องตลาดอยู่เรื่อยๆ ไป) จะทำให้ไม่มีใครอยากถือครองที่ดินไว้เกินกว่าที่จะทำประโยชน์ได้คุ้มกับภาษีที่ดินที่สูงเท่าค่าเช่า.



Create Date : 25 พฤษภาคม 2555
Last Update : 25 พฤษภาคม 2555 14:13:00 น.
Counter : 1315 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด