ค่าเช่าที่ดินถ้าเป็นไปตามกฎธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ให้ความยุติธรรม
ค่าเช่าที่ดินถ้าเป็นไปตามกฎธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ให้ความยุติธรรม

กฎว่าด้วยค่าเช่าที่ดิน (Law of Rent) ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติในด้านการแบ่งผลตอบแทนแก่เจ้าของปัจจัยการผลิต บอกว่า “ค่าเช่าที่ดินกำหนดได้ด้วยผลผลิตของที่ดินนั้น ในส่วนที่เกินกว่าผลผลิตจากขอบริมแห่งการผลิต ในเมื่อใช้แรงงานและทุนเท่ากัน”

กฎนี้หมายความว่า เมื่อหักผลตอบแทนต่อเจ้าของที่ดินแล้ว ผู้ใช้แรงงานจะได้รับผลตอบแทนเท่ากันไม่ว่าจะทำงานบนที่ดินดีหรือเลว (คงจะเป็นไปตามส่วนกับค่าครองชีพของแต่ละแห่งด้วย) และเท่ากับผลตอบแทนที่ขอบริมแห่งการผลิต (margin of production จะเรียกว่า ที่ดินชายขอบ ก็ได้) ซึ่งที่ที่ดินชายขอบนี้ ค่าเช่าอยู่ในระดับต่ำสุด คือเท่ากับศูนย์ กฎค่าแรงมีว่าดังนี้ “ค่าแรงทั่วไปถูกกำหนดด้วยผลผลิตที่แรงงานสามารถผลิตได้ ณ ขอบริมแห่งการผลิต”

ผลตอบแทนต่อเจ้าของทุนก็เป็นเช่นเดียวกับผลตอบแทนต่อผู้ใช้แรงงาน - “ดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหรือต่ำลงเช่นเดียวกับค่าแรง และขึ้นอยู่กับขอบริมแห่งการผลิตเช่นเดียวกัน”

คิดแล้วก็ดูยุติธรรมดี คือไม่ว่าจะทำงานในที่ดินดีหรือเลว เมื่อหักค่าเช่าที่ดินแล้วจะได้รับผลตอบแทนเท่ากัน
พูดได้ว่าค่าเช่าที่ดินทำให้การลงแรงและลงทุนทุกแห่งได้ผลตอบแทนเท่ากัน เพราะโดยปกติที่ดินที่ดี (ส่วนมากดีจากทำเลหรือตำบลที่ตั้ง ซึ่งทำให้การลงแรงและลงทุนได้ผลตอบแทนสูง) ก็จะมีค่าเช่าสูงมาแบ่งเอาไป

ค่าเช่าที่ดินซึ่งสูงสำหรับทำเลดีๆ ถ้าไม่ได้แพงกว่าปกติเนื่องจากการเก็งกำไร จะไม่ไปทำให้ต้นทุนการผลิต (และการค้า) ต่อหน่วย สูงขึ้น เพราะในทำเลที่ดีนั้นผู้ผลิตผู้ค้าจะผลิตหรือค้าได้จำนวนมากกว่าที่จะได้ในทำเลที่ไม่ดี และต้นทุนด้านอื่นๆ ในทำเลที่ดีก็จะลดลงด้วย

แต่เนื่องจากที่ดินถูกเก็งกำไรเก็บกักกันไว้มากมาย (มี effective demand หรืออุปสงค์ที่มีประสิทธิผลมาก) ราคา/ค่าเช่าที่ดินโดยทั่วไปจึงสูงเกินควร ส่วนที่สูงเกินควรนี่แหละที่มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตการค้าสูงกว่าปกติ จึงทำให้ราคาสินค้าสูงเกินปกติไปด้วย

ค่าแรงและดอกเบี้ยที่ได้รับตามเดิมจึงกลายเป็นต่ำกว่าปกติไปเมื่อเทียบกับราคาสินค้า

ถึงแม้ค่าเช่าที่ดินจะเป็นสิ่งที่ควรมีเพราะมันทำให้เกิดความเท่าเทียมกันสำหรับการลงแรงและการลงทุนเท่าๆ กันในที่ดินดีเลวต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าค่าเช่านั้นควรเป็นของเจ้าของที่ดินแต่ละคน ตรงข้าม ค่าเช่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม เพราะ

1. ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ต้องมีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน เพราะถ้าไม่มี เขาตาย

2. ไม่มีมนุษย์คนไหนลงแรงหรือลงทุนผลิตหรือสร้างที่ดินขึ้นมา จึงไม่ควรมีใครอ้างว่ามีสิทธิ์ในที่ดิน

3. มูลค่าของที่ดินส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะที่ดินย่านชุมชนซึ่งมีราคาสูง) เกิดจากกิจกรรมของส่วนรวมที่แยกไม่ออกว่าเป็นของคนไหนเท่าไรและจากภาษีที่เก็บเอาไปสร้างสิ่งสาธารณูปโภค แต่ที่แน่ๆ คือมูลค่าที่ดินไม่ได้เกิดจากบุคคลในฐานะเจ้าของที่ดิน (ยกเว้นการเก็งกำไรที่ดิน) เจ้าของที่ดินอาจลงแรงลงทุนก่อสร้างและทำการผลิตหรือค้าในที่ดินของตนเอง แต่ที่ทำเช่นนั้นเขาทำในฐานะผู้ลงแรงและหรือผู้ลงทุน ซึ่งเขาควรได้รับผลตอบแทนจากการลงแรงหรือลงทุนของเขาเต็มที่ ส่วนประโยชน์จากมูลค่าที่ดินควรเป็นของส่วนรวม

4. การซื้อที่ดินมิใช่การลงทุนที่แท้ คือมิใช่การลงทุนผลิตของกินของใช้ (โภคทรัพย์) หรือผลิตเครื่องมือช่วยการผลิต (ทุน) แต่เป็นการซื้อสิทธิ์สืบต่อตามกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเพื่ออำนาจเรียกแบ่งผลตอบแทนจากผู้ทำงานและนายทุน
และกฎหมายที่เข้าข้างเจ้าของที่ดินทำให้มีการเก็งกำไรกักตุนที่ดินกันไว้มากๆ ทำให้ที่ดินแพง ค่าแรงต่ำ หางานทำยาก คนจนก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น ผลผลิตของชาติต่ำ วัฏจักรเศรษฐกิจแกว่งตัวขึ้นลงรุนแรง

5. การเก็บภาษีจากรายได้จากการลงแรงลงทุนผลิต (รวมทั้งจำหน่าย) ไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเอาจากแต่ละคนไปบำรุงส่วนรวม

สังคมอุดมคติ (UTOPIA) ของผมคือ สังคมที่เป็นธรรม คนส่วนใหญ่เป็นสุข หางานทำง่าย ค่าแรงกายแรงสมองสูงโดยไม่ต้องมีกฎค่าจ้างขั้นต่ำ มนุษย์มีสิทธิเท่าเทียมกันในสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ รับรู้สิทธิเท่าเทียมกันของผู้อื่น มีการชดเชยค่าดูดทรัพยากรธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลืองไป มีการจ่ายค่าปล่อยของเสียออกสู่โลกทั้งในดิน น้ำ และอากาศตามควร ซึ่งจะทำให้เกิดการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ และเกิดระบบกำจัดของเสียที่มีประสิทธิภาพสูง อันจะทำให้โลกเป็นที่อยู่ที่ทำกินได้ยั่งยืนต่อไป

สำหรับการเสนอให้เก็บภาษีที่ดินเท่ากับค่าเช่าที่ควรเป็นเพื่อนำมาใช้บำรุงสังคมแทนภาษีอื่นๆ แล้วยกเลิกภาษีอื่นๆ นี้ (ภาษีอื่นๆ ก็คือภาษีจากผู้ลงแรงและผู้ลงทุนนั่นเอง เพราะในสังคมมีคนอยู่เพียง 3 ฐานะ คือ เจ้าของที่ดิน ผู้ลงแรง และ ผู้ลงทุน ถึงแม้ผู้หนึ่งๆ จะอาจมีฐานะได้หลายฐานะก็ตาม) ผลทางปฏิบัติก็เหมือนกับการยึดที่ดินกลับคืนมาเป็นของรัฐ หลังจากที่ปล่อยให้เป็นประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินมานานแสนนาน จะชดใช้ให้แก่เจ้าของที่ดินก็ไม่ควร เพราะเงินชดใช้นั้นจะได้มาจากใครถ้ามิใช่ผู้ลงแรงผู้ลงทุน ซึ่งเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่นานมาแล้ว และไม่รู้ว่าจะต้องเสียเปรียบไปอีกนานเท่าไร (เพราะเสียงเรียกหาความยุติธรรมนั้นเบาเต็มที) วิธีที่ดีคือค่อยๆ เพิ่มภาษีที่ดิน ค่อยๆ ลดภาษีอื่นๆ โดยใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีแบบวิธีเลิกทาสของไทยเรา โดยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช

ในที่สุดเมื่อการเก็บภาษีที่ดินสูงเท่ากับค่าเช่าที่ควรเป็นแล้ว และมีการปรับภาษีที่ดินต่อไปเป็นระยะๆ ให้ตรงกับค่าเช่าที่เปลี่ยนแปลงไป การเก็งกำไรที่ดินจะหมดไป ค่าเช่าที่ดินจะไม่สูงเกินไปเพราะปัจจัยการเก็งกำไร และจะทำหน้าที่ได้ดีในการให้ความยุติธรรมให้การลงแรงลงทุนในที่ดินดีเลวผิดกันได้ผลตอบแทนเท่ากันหลังหักค่าเช่าที่ดินออกแล้ว

จาก //geocities.com/utopiathai



Create Date : 23 กันยายน 2549
Last Update : 23 กันยายน 2549 23:01:47 น.
Counter : 670 Pageviews.

0 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ประสบการณ์ ทำพาสปอร์ตที่สายใต้ใหม่ newyorknurse
(2 ม.ค. 2567 17:45:17 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Utopiathai.BlogGang.com

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด