เรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์: The Untold Stories from The Medical School.
ความน่าจะเป็น: ปราบดา หยุ่น



Probability


ช่วงนี้ได้อ่านหนังสือหลายเล่มหน่อย ทั้งที่ความจริงน่าจะยุ่งแต่บางคืนก็ได้โอกาสตอนอยู่เวรบ้าง หรือไม่ก็ตอนไม่โดนตามไปทำงานบ้างมาอ่านหนังสือที่เข้าคิวรออยู่เป็นกระบุง ระยะหลังผมอ่านหลายแนวขึ้น บางจังหวะได้เล่มบางมาคั่นเวลาก็ทำให้อ่านได้หลายเล่มและหลายแนวดี

ช่วงมีมหกรรมจับหนังสือโรมานซ์แห่งชาติเมื่อกลางเดือนตุลา ฯ ที่ผ่านมา มีการถกกันเรื่องหนังสือแนวโรมานซ์-อีโรติก อยู่หลายวงสนทนา ที่เผ็ดร้อนแห่งหนึ่งก็คือพันทิปดอทคอม มีคนมาเล่าว่าตำรวจยกขบวนมาจับกันสองรอบ รอบแรกสันติบาล รอบสอง สน. ... แถมหนังสือที่จับไปก็ไม่ได้มีอะไรเป็นเรื่องเป็นราวให้จับเสียอีกต่างหาก แต่กับหนังสือที่มันโจ๋งครึ่มกว่านี้ที่เขาไม่ได้เอามาขายในงานมหกรรมก็ไม่ได้ไปตามจับ บางบู้ทกลัวจนกระทั่งหนังสือบางเล่มที่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าข่ายหรือไม่ก็ต้องจำใจเก็บลงใต้แผงไปเสีย น่าเสียดายหนังสือดี ๆ หลายเล่มที่ต่อไปนี้อีกหลายปีกว่าจะมีโอกาสได้อ่านกัน

มีหนึ่งในคนที่มาร่วมถกกันบอกว่าให้ลองหางานของปราบดา หยุ่น ที่ได้ซีไรท์ปี 2545 มาอ่านดูสิ มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ พูดถึงเรื่องเพศไว้อย่าง "ค่อนข้าง" เปิดเผย (โดยใช้ภาษาที่ "บิดเบี้ยว") แต่คณะกรรมการซีไรท์ก็ยกรางวัลนี้ให้ ...น่าสนใจแฮะ ลองหามาอ่านดูหน่อยดีกว่า

..........


ปกติผมไม่ชอบอ่านเรื่องสั้น โดยเฉพาะ "รวมเล่มเรื่องสั้น" อย่างเล่มนี้เป็นต้น เพราะในใจคิดอยู่เสมอว่าที่เขาเขียนเรื่องสั้นเป็นเรื่อง ๆ ไปลงในหนังสือนิตยสารทั้งหลายนั้นมันมีเหตุมีปัจจัยที่น่าจะจับต้องได้มากกว่าที่เขาจะตั้งใจเอามารวมเป็นเล่ม เช่นเขียนเรื่องนี้เพราะมีแรงบันดาลใจอย่างนี้ เขียนอีกเรื่องเพราะมีเหตุมากระตุ้นต่อมใต้สมองให้ผลิตฮอร์โมนออกมาเขียนอีกเรื่องหนึ่งเป็นต้น แต่พอเอามารวมเล่มแล้วมันก็ไม่มีความเป็น "ปัจเจกเรื่องสั้น" อีกต่อไป เหมือนกับถูกบังคับให้อ่านต่อเนื่องกันไปโดยแต่ละเรื่องไม่ได้ต่อเนื่องถึงกัน

อีกเหตุหนึ่งก็คือผมอ่านแล้วมักจะจับประเด็นของเรื่องไม่ได้ พอหลายครั้งเข้าก็เลยพาลเลิกอ่านไปเสียเพราะอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไร บางครั้งที่เขาหักมุมตอนจบก็ดันอ่านแล้วไม่เข้าใจเสียอีก กลายเป็นอ่านมาแทบทั้งเรื่องเข้าใจดี แต่พอมาย่อหน้าสุดท้าย (สำคัญอีกต่างหาก) ดันไม่เข้าใจ นั่นเลยเป็นเหตุบั่นทอนแรงใจในการอ่านเรื่องสั้นของผมเรื่อยมา

..........


แล้วเรื่องที่ผมกังวลก็เป็นจริง... ผมอ่านเรื่องสั้น 13 เรื่องใน "ความน่าจะเป็น" ได้อย่างรวดเร็วก็จริง (บางเรื่องใช้เวลาน้อยกว่าเข้าห้องน้ำ) แต่กลับคิดไปว่าผมได้รับสารจากเรื่องทั้งหมดน้อยกว่าที่ปราบดาอยากให้ผมได้เป็นแน่

เรื่องที่อ่านแล้วติดใจหนึ่งในสองเรื่องจากทั้งหมดก็คือ "อะไรในอากาศ" ดำเนินเรื่องโดยตัวละครสองตัวขึ้นไปประกอบกามกิจกันบนดาดฟ้าจนกระทั่งมีอะไรบางอย่างสอดแทรกเข้ามาทำให้กิจกรรมต้องหยุดชะงัก ในเรื่องใช้การบรรยายด้วยภาษาที่บิดเบี้ยว ใช้การบรรยายเหมือนกับที่จะพบได้ในหนังสือราชการมากล่าวถึงชีวิตคนที่ดำเนินอยู่ในสังคม แต่กลับอ่านแล้วได้ความรู้สึกและเข้าใจความหมายของเรื่องได้เป็นอย่างดี (รวมถึงบทสรุปหักมุมที่อ่านแล้วเข้าใจ... เย้) ...เรื่องนี้แหละที่มีคนแนะนำให้อ่านจากย่อหน้าข้างต้น

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ "เหตุการณ์กรรมซ้ำเล่า" เนื้อเรื่องบรรยายถึงชีวิตคนหลายคนที่เกี่ยวเนื่องผูกพันกันในสังคม เหมือนฉากงานเลี้ยงในภาพยนตร์ที่กล้องจะคอยตามตัวละคร (ตัวประกอบ) คนหนึ่งที่เดินหรือเคลื่อนไหวไปทางหนึ่ง แล้วอีกสักพักก็จะมีตัวละครอีกตัวเดินสวนทาง (หรือแซง) ขึ้นมา กล้องก็จะเบนไปจับภาพของอีกคนหนึ่งต่อเนื่องกันไปเป็นลำดับ เนื้อเรื่องจะบอกวิถีการดำเนินชีวิตของคนในเมืองจากพฤติกรรมของตัวละครแต่ละตัวที่แตกต่างกันไปทีละคน แต่เมื่ออ่านจนครบแล้วก็จะเข้าใจชีวิตคนในสังคมได้มากขึ้น ...ข้อดีอีกข้อก็คือสามารถกลับไปอ่านตั้งแต่ต้นเรื่องได้อีกครั้งโดยไม่สะดุด

..........


กลับไปเปิดเว็บบอร์ดหลายแห่งที่พูดถึงซีไรท์ ปี 2545 เห็นหลายท่านวิจารณ์ว่านี่เป็นเหมือนการก่อกบฎทางภาษาอย่างหนึ่ง ปราบดาใช้คำว่า "เลิกทาสทางภาษา" หลายแห่งถึงกับใช้คำ "ภาษาวิบัติ" แต่ต่อท้ายด้วยเครื่องหมายปรัศนีย์ ? เพื่อถามผู้อ่านว่างานเขียนชิ้นนี้เป็นความวิบัติหรือนวัตกรรม ??

แต่สงสัยว่าชะตาผมคงไม่ถูกกับงานเขียนประเภทเรื่องสั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานรวมเรื่องสั้นเป็นแน่ ผมยังเข้าใจสิ่งที่คุณปราบดาต้องการสื่อในงานของเขาได้ไม่ดีพอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจินตนาการของผมมันเริ่มหดหายไปตามวัยที่เพิ่มขึ้น แม้รูปแบบการใช้ภาษาของปราบดาจะไม่ได้สลับซับซ้อน แม้กระบวนการคิดจะไม่ได้แหวกแนวชนิดที่ต้องกลับหัวกลับหางอ่าน แต่ผมก็ยังอ่านงานเล่มนี้ได้อย่างไม่ลื่นไหลเท่าใดนักอยู่ดี

..........


พูดถึงหนังสือโรมานซ์-อีโรติค นักแสดงตลกคนหนึ่งกล่าวถึงหนังสือเรื่อง Lolita ไว้ว่า เขาเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้สามปีก่อนแล้วจึงค่อยเอามาอ่าน (นางเอกจะได้กลายเป็นสาวสิบเจ็ด แทนที่จะเป็นเด็กสิบสี่ตามเนื้อเรื่อง) ...ยังไม่เคยอ่านเหมือนกัน แต่คิดดูแล้วก็น่าสนใจเหมือนกัน ซื้อเป็นหนังสือมือสองเลยก็ดี จะได้ไม่ต้องรอสามปีค่อยเปิดอ่าน



Create Date : 05 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2550 23:19:04 น. 2 comments
Counter : 10884 Pageviews.

 
เท่ในวิธีเขียนค่ะ

แต่ยังไม่จับใจเราเท่าไหร่


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 6 พฤศจิกายน 2550 เวลา:0:10:27 น.  

 
ฮ่าๆๆๆ ขำเรื่องโลลิต้าอายุ 17 ค่ะ


งานของนักเขียนคนนี้ เราอ่านรู้เรื่องบางเล่มและไม่รู้เรื่องบางเล่มค่ะ แหะๆ
"ความน่าจะเป็น" นี่เราเฉยๆ นะ ชอบ "ฝนตกตลอดเวลา" มากกว่า
"ความน่าจะเป็นบนเส้นขนาน" ที่เขียนร่วมกับ วินทร์ เลียววาริณ --อันนั้นก็ชอบค่ะ


โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 6 พฤศจิกายน 2550 เวลา:0:12:43 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




มนุษย์เข้มแข็ง
กว่าที่ตนคิดไว้เสมอ
New Comments
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
5 พฤศจิกายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zhivago's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.