จาก big bang ถึงปลาที่ว่ายในเอกภพ

หยิบ The Grand Design มาจากร้านหนังสือริมขอบฟ้า ในยามเย็นวันหนึ่งที่ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำ จะมีคำถามใดของมนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าคำถามถึงจุดกำเนิดของตัวเอง
ประวัติย่อของเอกภพ โดยนักฟิสิกส์สองคน Stephen Hawking, Leonard Mlodinow สำหรับ Hawking ผมเคยอ่าน "ประวัติย่อของกาลเวลา" และ "จักรวาลในเปลือนัท" ที่เขาเขียนมาแล้ว ส่วนคนหลังไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน
บทความวิชาการเนื้อหาหนัก ๆ ที่ไม่อยากจะยัดเยียดคนอ่านด้วยการจับเอาสมการประหลาดใส่เข้ามา จึงต้องชดเชยด้วยการบอกเล่าเรื่องราวให้เป็นภาษาพูดและยกตัวอย่างที่พอเข้าใจได้ง่ายขึ้น จึงทำให้อ่านง่ายขึ้นเป็นกอง
เนื้อหาว่าด้วยการก่อร่างสร้างตัวของเอกภพ (เรื่องถนัดของนักฟิสิกส์ทั้งสองคน) ตั้งแต่ Big Bang ไล่เรียงมาจนถึงปัจจุบัน อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ก็สามารถลากสังขารอ่านจนจบได้ ผู้เขียนใช้ภาษาที่อ่านได้ไม่ยาก ตัดสมการที่เข้าใจยากออกไปและชี้ให้เห็นทางสว่างด้วยตัวอย่างที่เข้าใจง่าย
ท้าทายโลกด้วยคำถามที่ว่า "พระเจ้ามีจริงหรือไม่ ?" อ่านแล้วไม่ได้คำตอบหรอก รู้แต่ว่าต้องไปค้นหาความจริงกันต่อ
อ่านจบแล้วหยิบ "ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล" ของ "วินทร์ เลียววารินทร์" มาอ่านต่อ เล่มนี้เป็นตอนต่อของ "ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล" โดยคราวนี้พาคนอ่านไปท่องอวกาศ ชีวิต จิต และคำถามถึง "ผู้สร้าง" ว่ามีจริงหรือไม่ ?

ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล โดย วินทร์ เลียววาริืนทร์ เป็นตอนต่อของ "ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล
วินทร์ มีนามสกุลจริงคือ "เลี้ยววารินทร" เป็นลูกจีนอพยพที่พ่อนั่งเรือมาลงที่หาดใหญ่ เรียนจบสถาปัตยกรรมก่อนจะไปต่อกราฟฟิก ดีไซน์กับเรียนภาพยนตร์ที่ต่างประเทศและกลับมาจบ ป.โท ที่เมืองไทย
งานแรกของวินทร์ที่ผมอ่านคือ "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน" ว่าด้วยเรื่องของชายสองคน หนึ่งเดินบนเส้นทางกฏหมาย อีกหนึ่งเดินห่างจากเส้นทางกฎหมาย ต่อสู้ขับเคี่ยวกันตั้งแต่สมัยอภิวัฒน์สยาม ไปจนถึงตอนแก่เฒ่า แล้วมานั่งคุยกันที่ม้านั่งยาวตัวหนึ่ง...
ช่วงหลังผมเลือกงานของวินทร์มาอ่านมากขึ้น ไม่อ่านมากเหมือนเมื่อก่อนด้วยเหตุที่ว่างานของวินทร์หาอ่านง่าย มีสำนักพิมพ์ของตัวเอง หนังสือถูกจัดเป็นหมวดหมู่ในร้านหนังสือ หาซื้อได้ไม่ยาก และ่อ่านมาหลายแนวแล้ว ทั้ง "อำ" "นิยายข้างจอ" หรือรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ชุด "เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ฯ"
ปลา ฯ นอกสนามฟุตบอลเป็นงานที่ผม "เดินผ่าน" ไปแต่ทีแรกด้วยเคยอ่าน ปลา ฯ ในสนามฟุตบอลมาก่อนแล้วคิดว่านี่เป็นการพิมพ์ซ้ำ ก่อนจะสะดุดตาที่คำว่า "นอก..." แล้วหลังจากนั้นก็หยิบมาจ่ายเงินเลย
เครดิตดีจนไม่ต้องเปิดอ่านข้างในว่ามันเป็นมาอย่างไร
ไม่ผิดหวังเลยกับงานเขียนเรื่องนี้ วินทร์พาเราออกนอกโลก ไปยังจักรวาลไกลโพ้น ก่อนจะวกกลับเข้ามาสู่ส่วนย่อยที่เล็กยิ่งกว่าอะตอม พูดถึงทฤษฏีทางฟิสิกส์ทั้งหลายทั้งที่เป็น classic theory และ modern theory เขียนให้คนทั่วไปอ่านได้ง่าย ถ้าอ่าน The Grand Design ผ่านมาแล้ว การอ่าน "ปลา ฯ" ก็จะเหมือนการได้อ่านบทสรุปผนวกด้วยการกระตุ้นให้คนอ่านได้จับประเด็นไปคิดต่อ
นอกจากนี้ยังพาคนอ่านให้ิเดินต่อไปในดินแดนแห่งศรัทธา มองหาผู้สร้าง ศาสดา ความเชื่อ กรรม และการมองโลกในเชิงศาสนา ที่สามารถประยุกต์เอาหลักฟิสิกส์มาใช้ได้
หากจะมีข้อเสียของหนังสือเล่มนี้ก็คงจะเป็นตรงที่มันไม่สามารถบรรจุเข้าไว้ในหลักสูตรโรงเรียนเท่านั้นเอง
..............................................
จากนั้นจึงหยิบ ประวัติย่นย่อของกาลเวลา โดย Stephen Hawking และ Leonard Mlodinow มาอ่านอีกเล่ม
Stephen Hawking เป็น "อัจฉริยะที่ยากจะหาได้ในรอบร้อยปี" คนหนึ่ง (อธิบายโดยหยิบยืมสำนวนนิยายกำลังภายในมา) แต่เกิดหลังไอน์สไตน์ไม่นาน (ไม่ถึงร้อยปี) Hawking เกิดปี 1942 ส่วนไอน์สไตน์ตายปี 1955
Hawking ป่วยเป็น Neuromuscular disease เดินไม่ได้ พูดไม่ได้ เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เหมือนคนปกติ ต้องใช้รถเข็นไฟฟ้า และการพูดต้องใช้เสียงที่อัดไว้มาประมวลเป็นคำโดยการกดคีย์บอร์ด แต่นั่นไม่ทำให้ความเป็นสุดยอดของ Hawking หดหายไปตามสภาพร่างกาย
งานเขียนของ Hawking ทีเ่ด่นมากคือ A brief history of time (แปลเป็นไทยว่า "ประวัติย่อของกาลเวลา") สำหรับเรื่องนี้ เติม -er ต่อท้าย brief เป็น A briefer history of time แปลเป็นไทยว่า ประวัติย่นย่อของกาลเวลา เป็นการสรุปเนื้อหาใน A brief history of time ให้อ่านง่ายขึ้น เพิ่มเติมภาพประกอบ ลดศัพท์เทคนิคและสมการที่เข้าใจยาก โดยกล่าวถึงการดำเนินไปของกาลเวลา การถือกำเนิดของเอกภพ พัฒนาการทางทฤษฎีฟิสิกส์ รวมไปถึงทฤษฎีใหม่ ๆ ที่จะสั่นคลอนโลกต่อไปในอนาคต
ถ้าเคยอ่าน Brief history มาแล้ว เรื่องนี้จะมีส่วนต่อขยายออกไป เหมือนการ edit ใหม่และเพิ่มเติมเนื้อหามากกว่าเดิมอีกส่วนหนึ่ง
หนังสืออีกเล่มที่น่าอ่านและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งของ Hawking คือ Universe in the nutshell "จักรวาลในเปลือกนัท" (ต้องไปคุ้ยชั้นหนังสือก่อนถึงจะ review ได้เพราะอ่านมาหลายปีแล้ว)
จบชุดการอ่านเรื่องที่เฉียดความเป็นอภิปรัชญาด้วยเล่มนี้

อัฐสุตรา งานเขียนนวนิยายโดยวินทร์ เลียววารินทร์ ว่าด้วยเรื่องทฤษฎีที่พูดถึงจักรวาล โลก โลกคู่ขนาน การกำเนิดจักรวาล การเดินทางข้ามกาล-อวกาศ
เห็นตรงนี้แล้วเหมือนจะเป็นนิยายที่อ่านยาก หนัก และเต็มไปด้วยเรื่องที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ แต่เปล่าเลย ไม่ว่าจะเคยอ่าน Grand design หรือ ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอลมาก่อนหรือไม่ การไ้ด้อ่าน "อัฐสุตรา" นี้เปรียบเสมือนการนำทฤษฎีที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือสองเล่มข้างต้นมาพูดในเชิงปฏิบัติ เหมืิอนการได้เดินออกจากห้องปฏิบัติการแล้วนำความรู้ภาคทฤษฎีมาใช้
ปกติผมเป็นพวกอนุรักษ์นิยมสำหรับงานวรรณกรรม แต่เรื่องนี้วินทร์ใช้ทั้งภาพถ่าย grahpicและแผนภูมิมาประกอบงานเขียน ซึ่งถ้าใช้การบรรยายแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเดียวคงทำให้คนอ่านหยุดไปตั้งแต่สองสามหน้าแรก นับได้ว่าเป็นงานเขียนเชิงทดลอง (หรือจะเรียก postmodern ดี) ที่ทำออกมาได้ดีมาก
(งานเขียนแบบมีภาพประกอบพบได้บ่อยในงานของวินทร์ เหมือนเป็น signature ส่วนตัวอย่างหนึ่ง)
มีหักมุมตอนจบให้ตกเก้าอี้เล่น แต่ถ้าได้อ่านถึงตอนจบ ไม่ว่าจะหักมุมหรือไม่หักมุม เรื่องนี้ก็นับได้ว่าเป็น "สุดยอด" เรื่องหนึ่งในตัวเองอยู่แล้ว
กระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ในบ้านเรายังต้องการการพัฒนาอีกมาก ถ้าจะต้องปรับเปลี่ยนก็ต้องทำทั้งกระบวนการ ไม่ใช่การเรียนวิทยาศาสตร์ แต่เป็นกระบวนการคิด การใช้เหตุผล การวิเคราะห์และวิพากษ์ อันจะนำไปสู่องค์ความรู้
หากยังหวังให้ประเทศพัฒนายิ่งกว่านี้
Create Date : 15 พฤษภาคม 2554 |
Last Update : 15 พฤษภาคม 2554 23:46:22 น. |
|
0 comments
|
Counter : 1445 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
|
|
|
|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|