เรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์: The Untold Stories from The Medical School.
หลวงพ่อคามิลโลกับสมภารกร่าง




ยิ่งกว่าแรงบันดาลใจ


เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จัก "ไผ่แดง" ในฐานะบทประพันธ์ของ พล.ต. มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่(บอกว่า)แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) แต่รับรองได้ว่า น้อยคนนักที่จะรู้จัก "โลกใบเล็กของหลวงพ่อดอน คามิลโล (The Little World of Don Camillo)" ที่แต่งโดย Giovanni Guareschi: จิโอวานนี่ กว่าเรซชี่ ชาวอิตาลี เมื่อปี ค.ศ. 1948 ...ก่อนไผ่แดง 6 ปี

..........


จิโอวานนี่ กวาเรซชี่ (Giovanni Guareschi) คนนี้เป็นใคร ? มาจากไหน? ...Giovanni เป็นชาวอิตาลี่ ชื่อนี้เป็นนามปากกา ถ้าจะทำให้เป็นชื่อจริงก็ต้องเติม -no เข้าไปหลังชื่ออีกที จะได้เป็น "Giovannino Guareschi: จิโอวานนิโน กวาเรซชี่" มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1908-1968

เขาเป็นใคร ? ...กวาเรซชี่เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง มารดาเป็นครู เขาเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย หลังจากเปลี่ยนงานหลายครั้งจึงประสบความสำเร็จกับอาชีพนักเขียนและการเป็นบรรณาธิการ

ประสบความสำเร็จขนาดที่ว่า ใช้ทั้งปากและปากกาก่อกวนเผด็จการฟาสซิสจนต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร (หรือจะมีปัญหากับฟาสซิส !!!) หลังจากสิ้นสุดระบอบฟาสซิสอิตาลี่ เขาถูกทหารเยอมันจับเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1943 และส่งไปค่ายกักกันในโปแลนด์ จนกระทั่งได้รับการปลดปล่อยจากทหารอังกฤษในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1945 ระหว่างอยู่ในค่ายกักกัน เขาใช้คติในการดำเนินชีวิตว่า "ผมจะไม่ยอมตายแม้นว่าพวกมันจะฆ่าผม..."

เขากลับไปทำงานหนังสือพิมพ์ เขียนการ์ตูนล้อการเมือง เขียนบทความ เขียนบทภาพยนตร์ และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จากนั้นอีกสามปีเขาเขียนหนังสือเรื่อง "โลกใบเล็กของหลวงพ่อ ดอน คามิลโลขึ้น

...Mondo Piccolo "Don Camillo" (The Little World of Don Camillo) (ค.ศ. 1948: พ.ศ. 2491)

หนังสือเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในอีกสองปีต่อมา ...The Little World of Don Camillo, by Giovanni Guareschi. Copyright © Giovanni Guareschi, 1950. Translated by Una Vincenzo Troubridge. NEW YORK: Pellegrini and Cudahy, 1950. (พ.ศ. 2493)

..........


คุณนพดล เวชสวัสดิ์ แปลเรื่องนี้ลงตีพิมพ์เป็นตอนในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 315-347 และพิมพ์รวมเล่มครั้งที่ 1 เดือน พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2530 สำนักพิมพ์แมวไทย

ในเรื่อง เหตุการณ์ทั้งหลายจะเกิดในเมืองชนบทแห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำโป เมืองปาร์มา (บ้านเกิดของกวาเรซชี่) ซึ่งมาตรวัดการแข่งขันทางการเมืองจะหมุนไปอยู่ในระดับ "ค่อนข้าง" สูง เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงคนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือพระประจำตำบล หลวงพ่อดอน คามิลโล กับนายกเทศมนตรีผู้มีใจฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ เป็ปโปเน่ และลิ่วล้อ (คุณนพดล เวชสวัสดิ์ ผู้แปลใช้คำว่า หางเครื่อง) ทั้งสองฝ่ายต่างมีเรื่องกระทบกระทั่งให้ได้เคืองกันอยู่เป็นระยะ

ฝ่ายเป็ปโปเน่นั้นเป็น "คอมมิวนิสต์มือใหม่" ที่ยังต้องมีพี่เลี่ยงจากพรรคเข้ามาคอยดูแลและมอบนโยบายให้อยู่เนือง ๆ แม้ตัวเป๊ปโปเน่เองจะเป็นถึงนายกเทศมนตรีที่มีลูกน้องคอยติดตามอยู่รอบข้างก็ตาม

ฝ่ายหลวงพ่อดอน คามิลโลนั้นก็เป็นคนในตำบลนี้มาก่อน ก่อนจะไปบวชเรียนแล้วกลับมาประจำที่วัดในเมืองนี้ หลวงพ่อเป็นคนตัวใหญ่ พลกำลังมหาศาล (...ขนาดแบกลูกระเบิดจากเครื่องบินที่มีคนเอาไปวางไว้หน้าวัด ไปโยนใส่หน้าบ้านคอมมิวนิสต์ ได้โดยไม่รู้ว่ามันไม่ด้าน!) หลวงพ่อดอนได้ที่พึ่งทางใจคือพระผู้เป็นเจ้าซึ่งคอยส่งเสียงให้ได้ยินตามแต่หลวงพ่อดอน คามิลโลจะปรารถนา และจะคอยสื่อสารกับหลวงพ่อเพื่อให้คำชี้แนะ ตำหนิ สั่งสอน และชี้แนวทางให้อยู่เสมอ

ปัญหาชวนปวดใจและปวดหัวในเมืองนี้ก็มีมามิได้ขาด ตั้งแต่นายกเทศมนตรีแอบตีหัวหลวงพ่อแล้วเข้าโบสถ์ไปสารภาพบาปกับหลวงพ่อที่มือยังกุมหัวที่ปูดอยู่ คอมมิวนิสต์อิตาลีจะตั้งชื่อลูกชายว่าเลนิน นายกเทศมนตรีเรียนหนังสือไม่จบภาคบังคับ โทรทัศน์รัสเซียที่มีแต่จอภาพแต่เปิดไม่ได้ คอมมิวนิสต์แอบไปซื้อล็อตเตอรี่ ฯลฯ

ด้วยลีลาการเขียนของนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ทำให้ภาพของเมืองเมืองนี้ไม่ได้ออกมาอย่างรุนแรงจนเกินไปนัก และบ่อยครั้งที่เรื่องจะจบลงด้วยรอยยิ้มและการประนีประนอมของฝ่ายหนึ่งกับอีกฝ่ายหนึ่งแม้เรื่องที่ก่อปัญหาจะใหญ่โตเพียงใด แต่ด้วยความเป็นคอมมิวนิสต์มือใหม่ของนายกเทศมนตรีเป็ปโปเน่ กับพระใจนักเลงอย่างหลวงพ่อดอน คามิลโล ก็ทำให้ตอนจบของปัญหามีรอยยิ้มขึ้นมาได้แทบทุกตอนไป

กวาเรซชี่เขียนเรื่องหลวงพ่อดอน คามิลโลเล่มนี้เป็นเล่มแรก และมีเล่มอื่นตามมาอีกจำนวนหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นคือหนังสือเล่มอื่นที่กล่าวถึงหลวงพ่อ ดอน คามิลโล เฉพาะที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ

The Little World of Don Camillo (1950)
Don Camillo and His Flock (1952)
Don Camillo's Dilemma (1954)
Don Camillo Takes the Devil by the Tail (1957)
Comrade Don Camillo (1964)
Don Camillo Meets the Flower Children (1969)

ปีที่อยู่ในวงเล็บคือปีที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ กวาเรซชี่ถูกจับในคดีหมิ่นประมาทเนื่องจาก " ... he had published a fake wartime letter" ตีพิมพ์จดหมายปลอม และถูกจำคุก 1 ปี ในปี ค.ศ. 1954

ปี ค.ศ. 1957 เขายุติอาชีพบรรณาธิการ และในปี ค.ศ. 1968 เขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ

ฉบับภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้

ข้อมูลของหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ

..........


ข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศไทย ในมือผมมี "ไผ่แดง" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 16 โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า 2000 พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2543

ในเล่มอ้างถึงคำนำสำนักพิมพ์ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 14) ว่า...นวนิยายเรื่อง ไผ่แดง เป็นบทประพันธ์ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยท่านผู้ประพันธ์เขียนส่งลงเป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เมื่อ พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954: 6 ปีหลังมีการตีพิมพ์หนังสือโลกใบเล็ก ฯ เป็นภาษาอิตาลี และ 4 ปีหลังจากการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ)

การดำเนินเรื่องของไผ่แดงนี้แทบจะเรียกได้ว่าเดินตามโลกใบเล็ก ฯ อยู่หลายก้าว มรว. คึกฤทธิ์ ท่านอาจจะได้แรงบันดาลใจอย่างยิ่งยวดจากโลกใบเล็กฯ โดยที่เนื้อหานั้นคล้ายโลกใบเล็ก ฯ อยู่มากเอาการ ตัวอย่างเช่นตอนรับของแจกจากรัฐบาล ตอนชัยชนะ (ที่คิดเอาเอง) ของคอมมิวนิสต์ และตอนน้องชายคอมมิวนิสต์บวชเป็นพระ ซึ่งทั้งสามตอนนี้นับได้ว่าเป็นจุดเด่นของเรื่องเลยทีเดียว และเป็นส่วนที่สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงจุดเด่นและจุดด้อยของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระหว่า "พุทธจักร" และ "คอมฯ จักร" (ศัพท์ผูเรียบเรียง) ส่วนอื่นของหนังสือก็ยังเป็นเหมือนการหยิกแกมหยอกในสมรภูมิชิงความได้เปรียบทางการเมืองระหว่างสมภารกร่างตัวแทนของฝ่ายพุทธจักร และเจ้าแกว่น ตัวแทนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ รวมทั้งการพูดจาโต้ตอบระหว่างสมภารกับพระประธานที่เรียกได้ว่าเป็นบทเด่นของพุทธจักร ก็ได้แบบอย่างมาจากโลกใบเล็ก ฯ อย่างชัดเจน (เว้นแต่ว่าเรื่องไผ่แดงนี้พอจะมีที่มาที่ไปอยู่บ้างว่าพระประธานท่านพูดได้อย่างไร)

หากจะมองหนังสือเล่มนี้ในแง่คุณค่าของการเรียนรู้วิถีชีวิตคนในชนบทของไทย จะพบว่าหนังสือเล่มนี้เป็นภาพสะท้อนด้านที่ดีงามของสังคมไทยออกมาได้เป็นอย่างดี ภาพวิถีชีวิตแบบไทยถูกถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมาและไม่เสแสร้ง ทั้งเรื่องการมีน้ำใจ การพึ่งพาอาศัยกันในชุมชนทำให้ภาพความเป็นคอมมิวนิสต์ในเรื่องไผ่แดงนี้ดูขัดเขินกว่าที่ควรจะเป็น คอมมิวนิสต์ในไผ่แดงกลายเป็นเหมือนตัวตลกให้ใครต่อใครปั่นหัวเล่น (ยกเว้นตอนที่เจ้าแก่วนแสดงออกด้วยความจริงใจตามประสาหนุ่มชาวนาที่ไม่มีพิษมีภัย) เจ้าแก่วนนั้นเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ก็จริง แต่เอาเข้าจริง ๆ เจ้าแก่วนกลับไม่กล้าเดินไปในแนวทางคอมมิวนิสต์เสียด้วยซ้ำ (ไม่รู้ว่าอย่างนี้ท่านประธานเหมาจะเรียก-ลัทธิแก้ ได้หรือเปล่า)

บทสรุปเรื่องของไผ่แดงนี้จะชี้ให้เห็นผลดีของการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสมภารกร่าง เจ้าแก่วน (ซึ่งเป็นผู้นำคนรุ่นใหม่) คนในหมู่บ้าน รวมทั้งฝ่ายอาณาจักร (กำนันเจิม) มากกว่าจะเป็นการขับเคี่ยวกันทางความคิด (ตอนสุดท้ายของเรื่อง: น้ำท่วมหมู่บ้าน) เหมือนกับจะสรุปให้ฟังว่าไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือนักบวช ต่างก็ต้องพึ่งพาการดำรงอยู่ของอีกฝ่ายเสมอ ไม่ว่าจะเพื่อผลส่วนตัวหรือส่วนรวม

..........


ถ้าจะให้เปรียบเทียบระหว่างสองเรื่องนี้ คอมมิวนิสต์ของกวาเรซชี่นั้นเป็นคอมมิวนิสต์ที่กร้านโลก ผ่านการศึกสงครามกับผเด็จการฟาสซิสมาก่อนแล้ว แต่ในโลกของไผ่แดง "คอมมิวนิสต์มือใหม่" นั้นต้องถูกลดความเจนโลกไปเป็น "คอมมิวนิสต์ไร้เดียงสา" ของเจ้าแกว่น ในขณะที่บทบาทของสมภารกร่างนั้นแทบจะเรียกได้ว่าถอดแบบมาจากหลวงพ่อดอน คามิลโลแทบจะทุกกระเบียดนิ้ว ด้วยความที่เป็นคนร่างใหญ่ ใจนักเลง หมัดเข่าเท้าศอกออกอาวุธได้ทั่วไม่แพ้กัน จึงทำให้คู่สมภารกร่าง-เจ้าแกว่น ดูเป็นมวยห่างชั้นกันไปหน่อย แต่เจ้าแกว่นในใจของ มรว.คึกฤทธิ์ก็เก็บคะแนนไปได้มากอยู่เหมือนกัน ถ้ามองย้อนกลับไปถึงรากเหง้า คอมมิวนิสต์อิตาลีนั้นอย่างไรก็ย่อมอาวุโสและโตเต็มวัยกว่าคอมมิวนิสต์ไทยอยู่แล้ว (พรบ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ประกาศใช้ก่อนเรื่องไผ่แดงตีพิมพ์สองปี)

แต่หากจะนับว่าเวลานั้นภัยคอมมิวนิสต์นับเป็นภัยอันร้ายแรงที่เรายังไม่รู้ฤทธิ์ว่าร้ายแรงเพียงใด การที่ มรว. คึกฤทธิ์ ท่านหยิบเอาโลกใบเล็ก ฯ มานุ่งผ้าขาวม้าแล้วเปลี่ยนเป็นไผ่แดงนั้นก็ต้องให้ "เครดิต" ท่านไว้ระดับหนึ่งว่าเป็นคนที่เตรียมตัวให้คนไทยรับรู้ถึงภัย (?) คอมมิวนิสต์ได้เป็นอย่างดีด้วยการปรับเปลี่ยนเนื้อหาและการดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ให้เข้ากับสังคมไทยและทำให้คนไทยอ่านแล้วเข้าใจได้ดีขึ้นกว่าที่เป็นหลวงพ่อดอน คามิลโล ฝรั่งผมแดง (ถ้าแปลเป็นไทยให้อ่านกันโดยไม่ดัดแปลงเลย ในยุคนั้นคนไทยอาจพาลไม่กลัวคอมมิวนิสต์ไปด้วยซ้ำ)

ดังที่ได้กล่าวมานี้จะไปกล่าวโทษผู้ประพันธ์ภาษาไทยเสียทั้งหมดก็คงไม่ถูกนัก เพราะถ้าภัยมาใกล้ตัว อาวุธใดหยิบได้ก็เอามาใช้ก่อนก็คงไม่ผิดนัก (อย่าลืมว่าบางคนไปไกลกว่านั้นด้วยการบอกว่าฆ่าคอมฯ ไม่บาปก็มี) อย่างน้อยท่านก็ได้นำมาปรับให้มีความเป็นไทยเสียจนไม่มีกลิ่นน้ำมันมะกอกผสมชีสสีแดงสดหลงเหลืออยู่เลย

..........


ส่วนที่ดีที่สุดของหนังสือเล่มนี้ในมุมมองของผมคือ "กลับไปเยี่ยมไผ่แดงกันอีกครั้ง" เป็นบทความใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 36 ฉบับที่ 16 วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2532 (ไม่ได้บอกชื่อผู้ประพันธ์ เข้าใจว่าเป็นของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช: ผู้เรียบเรียง)

เป็นบทความสั้น ๆ กล่าวถึงการกลับไปสำรวจหมู่บ้านไผ่แดงอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไปสามสิบห้าปี

กำนันเจิม ตัวแทนของอาณาจักรได้ตายไปแล้ว สมภารกร่างก็ชราภาพลงตามกาลเวลา ความแข็งแกร่งบึกบึนของร่างกายก็เสื่อมถอยลง เจ้าแกว่นก็กลายเป็น คอม ฯ เดี้ยง ไปเสียแล้ว

ภัยคุกคามใหม่ในสายตาผู้ประพันธ์กลับเป็นภัยคุกคามจากทุนนิยมที่ค่อย ๆ แทรกตัวเข้ามาอยู่ในสังคมไผ่แดงอย่างช้า ๆ และคงสุดกำลังที่ทั้งเจ้าแก่วนและสมภารกร่างที่ต่างก็โรยราไปตามวัยจะสู้รบได้

นี่น่าจะเป็นบทสรุปที่เหมาะสมกับยุคสมัยของไผ่แดงได้เป็นอย่างดี และเป็นเหมือนคำทำนายอนาคตของประเทศไทยไว้เตือนใจตัวเองเป็นอย่างดีเช่นกัน

..........


"..คนละทาง คนละอย่าง คนละอุดมการณ์ แต่ก็มีจุดหมายเดียวกัน.." เทียรี่ เมฆวัฒนา ...ขออนุญาตนำมาเป็นบทสรุป


Create Date : 06 มิถุนายน 2550
Last Update : 27 ตุลาคม 2552 12:27:32 น. 6 comments
Counter : 3220 Pageviews.

 
เคยอ่านภาคภาษาอังกฤษ ดอล คามิลโลค่ะ สนุกมาก วางไม่ลง


โดย: หน้าม้าแถวบ้าน วันที่: 6 มิถุนายน 2550 เวลา:2:57:11 น.  

 
เป็นคนที่อ่านหนังสือไม่ค่อยได้ ใจว้าวุ่นยังไงก็ไม่รู้ ยิ่งอ่านบล๊อคยิ่งแล้วใหญ่เลย


โดย: PIWAT วันที่: 6 มิถุนายน 2550 เวลา:19:19:05 น.  

 
สนุกแบบมีสาระ ขำก๊ากบางตอนด้วย


โดย: อั๊งอังอา วันที่: 7 มิถุนายน 2550 เวลา:9:12:13 น.  

 
20 หน้าแรก จะไม่เท่าไหร่ อ่านไปสักพักจะเพลินโดยไม่รู้ตัว

จริงๆ สนุกมาก ถึงแม้จะโดนบังคับให้อ่านก็เถอะ


โดย: เจ IP: 58.9.145.149 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:17:31:56 น.  

 
เด็ดดวงมาก


โดย: I will see U in the next life. วันที่: 26 ตุลาคม 2552 เวลา:13:57:26 น.  

 
ของเราลอกเขามา แต่ก็สนุก


โดย: bunchong544@hotmail.com IP: 116.58.251.140 วันที่: 26 พฤษภาคม 2558 เวลา:14:56:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




มนุษย์เข้มแข็ง
กว่าที่ตนคิดไว้เสมอ
New Comments
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
6 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zhivago's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.