กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
 
กันยายน 2567
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
space
space
20 กันยายน 2567
space
space
space

ความสำคัญของอริยสัจ


- ฐานะ และ ความสำคัญของอริยสัจ


        "ภิกษุทั้งหลาย  การรู้การเห็นของเราตามเป็นจริง ครบ ๓ ปริวัฏ ๑๒ อาการ ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้  ยังไม่บริสุทธิ์แจ่มแจ้ง  ตราบใด  ตราบนั้น  เราก็ยังปฏิญาณไม่ได้ว่าเราบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ..."

        "ภิกษุทั้งหลาย  เพราะไม่ตรัสรู้  ไม่เข้าใจอริยสัจ  ๔  ทั้งเรา และเธอ จึงได้วิ่งแล่นเร่ร่อนไป (ในชาติทั้งหลาย) สิ้นกาลนานอย่างนี้"

        "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย  รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลาย  ที่เที่ยวไปบนผืนแผ่นดินทั้งสิ้นทั้งปวง ย่อมประชุมลงในรอยเท้าช้าง  รอยเท้าช้างนั้น  กล่าวได้ว่า  เป็นยอดเยี่ยม  ในบรรดารอยเท้าเหล่านั้น  โดยความมีขนาดใหญ่  ฉันใด กุศลธรรมทั้งสิ้นทั้งปวง  ก็สงเคราะห์ในอริยสัจ ๔ ฉันนั้น"

        "ครั้งนั้นแล  พระผู้มีพระภาค  ตรัสอนุปุพพิกถาแก่อุบาลีคฤหบดี กล่าวคือ เรื่องทาน เรื่องศีล  เรื่องสวรรค์  โทษ  ความบกพร่อง  ความเศร้าหมองแห่งกาม   ทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ  ครั้นทรงทราบว่า  อุบาลีคฤหบดี  มีจิตพร้อม  มีจิตนุ่มนวล  มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตปลาบปลื้ม  มีจิตเลื่อมใสแล้ว  จึงทรงประกาศสามุกกังสิกาธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย กล่าวคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค"

        "บุคคลครองชีวิตประเสริฐ  (พรหมจรรย์)  อยู่กับพระผู้มีพระภาค ก็เพื่อการรู้ การเห็น การบรรลุ การทำให้แจ้ง การเข้าถึง สิ่งที่ยังไม่รู้ ยังไม่เห็น ยังไม่บรรลุ ยังไม่กระทำให้แจ้ง ยังไม่เข้าถึง (กล่าวคือข้อที่ว่า)  นี้ทุกข์   นี้ทุกขสมุทัย  นี่ทุกขนิโรธ  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา"(องฺ.นวก.23/217/399)


     มีสิ่งหนึ่งที่ถือว่า  เป็นลักษณะของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ การสอนความจริงที่เป็นประโยชน์  กล่าวคือ  ความจริงที่นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตได้  ส่วนสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์  แม้เป็นความจริง  ก็ไม่สอน และอริยสัจนี้  ถือว่าเป็นความจริงที่เป็นประโยชน์ในที่นี้ โดยเหตุนี้  พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงสนพระทัย และไม่ยอมเสียเวลาในการถกเถียงปัญหาทางอภิปรัชญาต่างๆ  มีพุทธพจน์ที่่รู้จักกันมากแห่งหนึ่ง  ว่าดังนี้


        "ถึงบุคคลผู้ใดจะกล่าวว่า  พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงพยากรณ์  (ตอบปัญหา)  แก่เราว่า  โลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง  โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด  ชีวะอันนั้น  สรีระก็อันนั้น  หรือชีวะก็อย่าง  สรีระก็อย่าง  สัตว์หลังจากตายมีอยู่หรือไม่มีอยู่  สัตว์หลังจากตาย  จะว่ามีอยู่ก็ใช่ จะว่ามีอยู่ก็ไม่ใช่ หรือว่าสัตว์หลังจากตาย จะว่ามีอยู่ ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ใช่"  ดังนี้  ตราบใด  ข้าพเจ้าก็จะไม่ครองชีวิตประเสริฐ  (พรหมจรรย์)  ในพระผู้มีพระภาค  ตราบนั้น  ตถาคตก็จะไม่พยากรณ์ความข้อนั้นเลย และบุคคลผู้นั้น  ก็คงตายไปเสียก่อนเป็นแน่"


        "เปรียบเหมือนบุรุษ ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษที่อาบยาไว้อย่างหนา มิตรสหาย ญาติสาโลหิตของเขา ไปหาศัลยแพทย์ผู้ชำนาญมาผ่า บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวว่า ตราบใด ที่ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักคนที่ยิงข้าพเจ้า ว่าเป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ หรือเป็นศูทร มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรว่าอย่างนี้ ร่างสูง เตี้ย หรือปานกลาง ดำ ขาว หรือคล้ำ อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น ข้าพเจ้าจะยังไม่ยอมให้เอาลูกศรนี้ออก ตราบนั้น ตราบใด ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่า ธนูที่ใช้ยิงข้าพเจ้านั้น เป็นชนิดมีแล่ง หรือชนิดเป็นเกาทัณฑ์ สายที่ใช้ยิงนั้น ทำด้วยปอ ด้วยผิวไม้ไผ่ ด้วยเอ็น ด้วยป่าน หรือด้วยเยื่อไม้ ลูกธนูที่ใช้ยิงนั้น ทำด้วยไม้เกิดเอง หรือไม้ปลูก หางเกาทัณฑ์ เขาเสียบด้วยขนปีก แร้ง หรือนกตะกรุม หรือเหยี่ยว หรือนกยุูงหรือนกสิถิลหนุ เกาทัณฑ์นั้น เขาพันด้วยเอ็นวัว เอ็นควาย เอ็นค่าง หรือเอ็นลิง ลูกธนูที่ใช้ยิงเรานั้น เป็นชนิดไร ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้เอาลูกศรออก ตราบนั้น"

        "บุรุษนั้น ยังไม่ทันได้รู้ความที่ว่านั้นเลย ก็จะต้องตายไปเสียโดยแน่แท้ ฉันใด...บุคคลนั้น ก็ฉันนั้น"

        "แน่ะมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง แล้วจะมีการครองชีวิต ประเสริฐ ขึ้นมาก็หาไม่ เมื่อมีทิฏฐิว่าโลกไม่เที่ยง แล้วจะมีการครองชีวิตประเสริฐขึ้นมาก็หาไม่ เมื่อทิฏฐิว่า โลกเที่ยง หรือว่าโลกไม่เที่ยงก็ตาม ชาติก็ยังคงอยู่ ชราก็ยังคงอยู่ มรณะก็ยังคงมีอยู่ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ก็ยังคงอยู่ ซึ่งความทุกข์เหล่านี้แหละเป็นสิ่งที่เราบัญญัติให้กำจัดเสียในปัจจุบันทีเดียว ฯลฯ"

        "ฉะนั้น  เธอทั้งหลาย  จงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์  ว่าเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ ว่าเป็นปัญหาที่พยากรณ์เถิด อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ คือ ทิฏฐิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะเหตุไร เราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้น ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นหลักเบื้องต้นแห่งชีวิตประเสริฐ (พรหมจรรย์) ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน อะไรเล่าที่เราพยากรณ์ คือ ข้อว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี่ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะเหตุไร เราจึงพยากรณ์ เพราะประกอบด้วยประโยชน์ เป็นหลักเบื้องต้นแห่งชีวิตประเสริฐ เป็นไปเพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน"  (ม.ม.13/150-152/147-153)


     อีกแห่งหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้มีมากมาย แต่ทรงนำมาสอนเพียงเล็กน้อย เหตุผลที่ทรงกระทำเช่นนั้น ก็เพราะสอนแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ใช้แก้ปัญหาได้ และสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ใช้แก้ปัญหาได้นั้น ก็คือ อริยสัจ ๔ ทำนองเดียวกับที่ตรัสในพุทธพจน์ข้างต้นนั้น ดังความในบาลีว่า

     สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าสีสวัน ใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยิบใบประดู่ลายจำนวนเล็กน้อย ถือไว้ด้วยฝ่ามือ แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

        "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายสำคัญว่ากระไร ใบประดู่ลายเล็กน้อย ที่เราถือไว้ด้วยฝ่ามือกับใบที่อยู่บนต้นทั้งป่าสีสปาวัน ไหนจะมากกว่ากัน?

        "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลายจำนวนเล็กน้อย ที่พระผู้มีพระภาคถือไว้ด้วยฝ่าพระหัตถ์ มีประมาณน้อย ส่วนที่อยู่บนต้น ในสีสปาวันนั่นแล มากกว่าโดยแท้

        "ฉันนั้น เหมือนกันภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้ยิ่งแล้ว มิได้บอกแก่เธอทั้งหลาย มีมากมายกว่า เพราะเหตุไร เราจึงมิได้บอก เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่หลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อความสงบ เพื่อความ รู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน

        "ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าที่เราบอก เราบอกว่า นี้ทุกข์ เราบอกว่า นี้ทุกขสมุทัย เราบอกว่า นี่ทุกขนิโรธ เราบอกว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะข้อนี้ ประกอบด้วยประโยชน์ ข้อนี้เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ข้อนี้เป็นไปเพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงบอก

        "เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี่ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา"


     อริยสัจ ๔ เป็นหลักธรรมจำเป็น ทั้งสำหรับบรรพชิต และคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าย้ำว่า ให้ภิกษุทั้งหลาย สอนให้ชาวบ้านรู้เข้าใจอริยสัจ ดังบาลีว่า

        "ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าหนึ่งเหล่าใด ที่พวกเธอพึงอนุเคราะห์ ก็ดี เหล่าชนที่พอจะรับฟังคำสอน ก็ดี ไม่ว่าเป็นมิตร เป็นผู้ร่วมงาน เป็นญาติ เป็นสาโลหิต ก็ตาม พวกเธอพึงชักชวน พึงสอนให้ดำรงอยู่ ให้ประดิษฐานอยู่ ในการตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ"  (สํ.ม.19/1706/544)


133

* สามุกกังสิกาธรรมเทศนา แปลว่า พระธรรมเทศนาที่สูงส่ง หรือที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเชิดชู หรือเป็นพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง ไม่เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่มักตรัสต่อเมื่อมีผู้ทูลถามหรือสนทนาเกี่ยวข้องไปถึง
 


Create Date : 20 กันยายน 2567
Last Update : 20 กันยายน 2567 7:52:33 น. 0 comments
Counter : 50 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

BlogGang Popular Award#20


 
สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space