 |
|
|
|
 |
|
|
- ข้ามมาทำความเข้าใจตรงนี้ให้ได้ความชัดๆก่อน
- อริยสัจ กับ ปฏิจจสมุปบาท
ในหนังสือนี้ ได้กล่าวถึงปฏิจจสมุปบาทไว้มากและหลายอย่าง ทั้งอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท ต่างก็เป็นหลักธรรมสำคัญ
เมื่อมีผู้ถามว่า "พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ?" อาจตอบว่า ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรืออาจตอบว่า ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท ก็ได้ คำตอบทั้งสองนั้น ต่างก็มีพุทธพจน์เป็นที่อ้างยืนยันได้
ข้อควรทราบก็คือ คำตอบทั้งสองอย่างนั้น ตามที่จริงแล้ว ก็ถูกต้องด้วยกัน และมีความหมายลงกันได้ เป็นอันหนึ่งอันเดียว กล่าวคือ ปฏิจจสมุปบาทก็เป็นเนื้อหาสำคัญของอริยสัจ และอริยสัจก็มีความหมายครอบคลุมปฏิจจสมุปบาท เรื่องนี้ เป็นอย่างไร พึงพิจารณาเริ่มตั้งแต่หลักฐานที่มาในคัมภีร์
คัมภีร์วินัยปิฎก เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เริ่มต้นเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ กำลังทรงเสวยวิมุตติสุขและพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยอนุโลม (กระบวนการเกิดทุกข์) และโดยปฏิโลม (กระบวนการดับทุกข์) ตลอดเวลา ๑ สัปดาห์ ครั้นสิ้นระยะเสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์แล้ว เมื่อปรารภการที่จะทรงประกาศธรรมแก่ผู้อื่นต่อไป ทรงพระดำริว่า
“ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก ฯลฯ สำหรับหมู่ประชา ผู้เริงรมย์ รื่นระเริงอยู่ในอาลัย ฐานะอันนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท แม้ฐานะนี้ ก็เห็นได้ยาก กล่าวคือ ... นิพพาน” (วินย.4/1-7/1-8)
ส่วนในพระสูตร (ม.มู.12/317-326 ฯลฯ) เมื่อปรากฏข้อความเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนนี้ ก็จะเล่าความแนวเดียวกัน เริ่มแต่พุทธดำริที่เป็นเหตุให้เสด็จออกผนวช การเสด็จออกผนวช การศึกษาในสำนักอาฬารดาบส และอุทกดาบส การบำเพ็ญและการละเลิกทุกรกิริยา การทรงกลับเสวยพระกระยาหาร แล้วบรรลุฌาน และตรัสรู้วิชชา ๓
ในตอนตรัสรู้ จะมีข้อความที่ตรัสเล่าว่า
“ครั้นเราบริโภคอาหาร มีกำลังขึ้นแล้ว ก็สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน ... ทุติยฌาน ... ตติยฌาน ... จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข ... มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริบูรณ์อยู่”
“เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากสิ่งมั่วหมอง นุ่มนวล ควรแก่งาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ได้น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ก็ระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก (วิชชาที่ ๑) ... ได้น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ ก็มองเห็นหมู่สัตว์ที่จุติอุบัติอยู่ (วิชชาที่ ๒) ... ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ก็รู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเรารู้เห็นอย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ (วิชชาที่ ๓)“
ต่อจากนี้ ก็จะมีคำบรรยายพุทธดำริ ในการที่จะทรงประกาศธรรม ซึ่งมีข้อความอย่างเดียวกับ ในวินัยปิฎก ที่ยกมาอ้างไว้แล้วข้างต้นนั้น
จะเห็นว่า วินัยปิฎกเล่าเหตุการณ์หลังตรัสรู้ใหม่ๆ ระยะเสวยวิมุตติสุข เริ่มแต่พิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาท จึงทรงดำริที่จะไม่ประกาศธรรม เพราะความยากของปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน ที่ได้ตรัสรู้
ส่วนพระสูตร เล่าเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้เป็นลำดับมาจนถึงตรัสรู้วิชชา ๓ แล้วข้ามระยะเสวยวิมุตติสุขทั้งหมดไป มาลงที่พุทธดำริที่จะไม่ประกาศธรรม เพราะความยากของปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน เช่นเดียวกัน
ผู้ถือเอาความตอนทรงพิจารณาทบทวนปฏิจจสมุปบาท ในวินัยปิฎก และพุทธดำริปรารภการประกาศธรรม ทั้งในวินัยปิฎก และในพระสูตร ย่อมกล่าวได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท
ส่วนผู้พิจารณาในพระสูตร เฉพาะเหตุการณ์ตอนตรัสรู้วิชชา ๓ และจับเฉพาะวิชชาที่ ๓ อันเป็นตัวการตรัสรู้แท้ๆ (เฉพาะวิชชา ๒ อย่างแรกยังนับไม่ได้ว่าเป็นการตรัสรู้ และไม่จำเป็นสำหรับนิพพาน) ก็ได้ความหมายว่า ตรัสรู้อริยสัจ ๔ จึงหลุดพ้นจากอาสวะ
อย่างไรก็ดี คำตอบทั้งสองนั้น แม้จะถูกต้องทั้งคู่ แต่ก็มีความหมายบางอย่างที่เป็นพิเศษกว่ากันและขอบเขตบางแง่ที่กว้างขวางกว่ากัน ซึ่งควรจะทำความเข้าใจ เพื่อมองเห็นเหตุผล ในการแยกแสดงเป็นคนละหลัก
ความหมายที่ตรงกันของหลักใหญ่ทั้งสองนั้น มองเห็นได้ง่าย เพื่อความรวบรัด ขอให้ดูหลักอริยสัจ เทียบกับหลักปฏิจจสมุปบาท ดังนี้
๑. สมุทยวาร: อวิชชาเกิด => สังขารเกิด => ฯลฯ => ชาติเกิด => ชรามรณะ โสกะ ฯลฯ อุปายาส เกิด
๒. นิโรธวาร: อวิชชาดับ => สังขารดับ => ฯลฯ => ชาติดับ => ชรามรณะ โสกะ ฯลฯ อุปายาส ดับ
ข้อ ๑. คือ ปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร แสดงกระบวนการเกิดทุกข์ เท่ากับรวมอริยสัจข้อ ๑ (ทุกข์) และ ๒ (สมุทัย) ไว้ในข้อเดียวกัน แต่ในอริยสัจ แยกเป็น ๒ ข้อ เพราะแยกเอาท่อนท้าย (ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ฯลฯ) ที่เป็นผลปรากฏ ออกไปตั้งต่างหาก เป็นอริยสัจข้อแรก ในฐานะเป็นปัญหาที่ประสบ ซึ่งจะต้องแก้ไข แล้วจึงย้อนกลับมาหาท่อนที่เป็นกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ข้อที่ ๒ ในฐานะเป็นการสืบสาวหาต้นเหตุของปัญหา
ข้อ ๒. คือ ปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร แสดงกระบวนการดับทุกข์ เท่ากับ อริยสัจข้อที่ ๓ (นิโรธ) แสดงให้เห็นว่า เมื่อแก้ปัญหาถูกต้องตรงสาเหตุแล้ว ปัญหานั้นจะดับไปได้อย่างไรตามแนวทางของเหตุปัจจัย
แม้ว่าโดยตรง ปฏิจจสมุปบาทนัยนี้ จะตรงกับอริยสัจข้อที่ ๓ แต่ก็ถือว่ากินความรวมถึงอริยสัจข้อที่ ๔ ได้ด้วย เพราะกระบวนการดับสลายตัวของปัญหา ย่อมบ่งชี้แนวทางดำเนินการ หรือ วิธีการทั่วไป ที่จะต้องลงมือปฏิบัติ ในการจัดการแก้ปัญหานั้นไปด้วยในตัว กล่าวคือชี้ให้เห็นว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ณ จุดใดๆ
เมื่อสรุปอริยสัจ ให้เหลือน้อยลงอีก ก็ได้ ๒ ข้อ คือ
- ฝ่ายมีทุกข์ (ข้อ ๑ และ ๒) กับ
- ฝ่ายหมดทุกข์ (ข้อ ๓ และ ๔)
ปฏิจจสมุปบาท ๒ นัย นี้ ในที่บางแห่ง เป็นคำจำกัดความของอริยสัจข้อที่ ๒ และ ๓ ตามลำดับ คือ
- ปฏิจจสมุปบาท สมุทัยวาร ถือเป็นคำจำกัดความของอริยสัจ ข้อที่ ๒ (สมุทัย)
- ปฏิจจสมุปบาท นิโรธวาร เป็นคำจำกัดความของอริยสัจ ข้อที่ ๓ (นิโรธ) (สํ.นิ.16/251-252/126-128)
แต่ในคำจำกัดความข้างต้น แสดงเฉพาะตัณหาอย่างเดียวว่าเป็นสมุทัย และการดับตัณหาว่าเป็นนิโรธ ทั้งนี้ เพราะตัณหาเป็นกิเลสตัวเด่น เป็นตัวแสดงที่ปรากฏชัด หรือเป็นขั้นออกโรงแสดงบทบาท จึงจับเอาเป็นจุดที่พุ่งความสนใจ อย่างไรก็ดี กระบวนการที่พร้อมทั้งโรง รวมถึงหลังฉาก หรือหลังเวทีด้วย ย่อมเป็นไปตามกระบวนการปฏิจจสมุปบาทนั้นเอง
(มีต่อ)
ผู้มีพื้นฐานก็มองออกเห็นโล่งไป หากไม่มีพื้นเลยก็ยากเอาเรื่องอยู่. วิชชาที่ ๓ รู้อริยสัจ ๔ แล้ว ก็หลุดพ้นจาก อาสวะ ๓
Create Date : 15 กันยายน 2567 |
Last Update : 18 กันยายน 2567 7:13:58 น. |
|
0 comments
|
Counter : 397 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|