 |
|
|
|
 |
|
|
แนวความเข้าใจเข้าถึงพระรัตนตรัย
- พุทธพจน์ว่า
“มนุษย์มากหลาย ถูกภัยคุกคามแล้ว พากันหาสิ่งต่างๆมากมาย เป็นที่พึ่ง ยึดเอาภูเขาบ้าง ป่าบ้าง สวนและต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์บ้าง เป็นสรณะ แต่สิ่งเหล่านั้น ไม่เป็นที่พึ่งอันเกษม นั่นไม่ใช่สรณะอันอุดม คนยึดเอาสรณะอย่างนั้น จะพ้นไปจากสรรพทุกข์หาได้ไม่
“ส่วนผู้ใด ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ มองเห็นด้วยปัญญาโดยถ่องแท้ ซึ่งอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคามีองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ นี่แหละ คือสรณะอันเกษม นี้คือสรณะอันอุดม คนถึงสรณะอย่างนี้แล้ว ย่อมปลอดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง” * (ขุ.ธ.25/24/46)
พระพุทธเจ้า เป็นที่ระลึกให้มั่นใจว่า มนุษย์ คือ เราทุกคนนี้ มีสติปัญญาความสามารถที่อาจฝึกปรือ หรือ พัฒนาให้บริบูรณ์ได้ สามารถหยั่งรู้ธรรม บรรลุความหลุดพ้นเป็นอิสระไร้ทุกข์ ลอยเหนือโลกธรรม และมีความดีสูงเลิศ ที่แม้แต่เทพเจ้า และพรหมก็เคารพบูชา ดังมีพระบรมศาสดาเป็นองค์นำ
มนุษย์ทั้งหลาย ที่หวังพึ่งเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์นั้น ถ้ารู้จักฝึกอบรมตนให้ดีแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่เทวะ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นจะทำให้ได้ เหมือนดังที่กรรมดีและจิตปัญญาที่พัฒนาดีแล้วของมนุษย์เองจะสามารถทำ
พระธรรม เป็นที่ระลึกให้มั่นใจว่า ความจริง หรือสัจธรรม เป็นภาวะที่ดำรงอยู่โดยธรรมดา สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้ารู้จักมองดูรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะที่มันเป็นจริง นำความรู้ธรรม คือความจริงนั้นมาใช้ประโยชน์ ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย ด้วยความรู้เท่าทันสภาวะ และกระทำการที่ตัวเหตุปัจจัย ก็จะแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด เข้าถึงธรรม และมีชีวิตที่ดีที่สุด
พระสงฆ์ เป็นที่ระลึกให้มั่นใจว่า สังคมดีงาม มีธรรมเป็นฐาน ประกอบด้วยสมาชิก ผู้มีจิตใจไร้ หรือห่างทุกข์ เป็นอิสระเสรี แม้มีพัฒนาการแห่งจิตปัญญาในระดับแตกต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสมเสมอกันโดยธรรม มีความสามัคคี รวมกัน ร่วมกัน และเกื้อกูลหนุนเสริมกันและกัน ให้ก้าวไปในมรรคาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น มนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมอยู่ร่วมสร้างสังคมเช่นนี้ได้ ด้วยการรู้ธรรม และปฏิบัติตามธรรม
ถ้าไม่มีความมั่นใจในพระรัตนตรัย ก็ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก เช่น เซ่นสรวงอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนบานเทพเจ้าเป็นต้นต่อไป แต่ถ้ามั่นใจในพระรัตนตรัยแล้ว ก็เรียนรู้หลักการดับทุกข์แก้ปัญหาด้วยปัญญารู้เหตุปัจจัย ตามหลักอริยสัจ และปฏิบัติตามวิธีการพัฒนาตัวคนของมรรคในพระพุทธศาสนา

* พระรัตนตรัย เป็นหลักใหญ่สามเส้า ที่ชาวพุทธพึงระลึกตระหนักอยู่เสมอ คือ
๑. พุทธ - มนุษย์ (ชี้ถึงศักยภาพสูงสุด ที่มีอยู่ในมนุษย์แต่ละบุคคล)
๒. ธรรม - ธรรมชาติ (ธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย ที่รู้แล้ว จะลุธรรมที่เหนือเหตุปัจจัย)
๓. สงฆ์ - สังคม (สังคมอุดมคติแห่งอริยชน ผู้ดำเนินอยู่ในขั้นต่างๆ แห่งการรู้ธรรม และก้าวตามวิถีแห่งพุทธะ)
Create Date : 20 กันยายน 2567 |
Last Update : 20 กันยายน 2567 10:17:25 น. |
|
0 comments
|
Counter : 102 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|