 |
|
|
|
 |
|
|
- เมื่อพระรัตนตรัย พาเข้าและคืบไปในไตรสิกขา มรรคก็พัฒนาสู่จุดหมาย
ในบรรดาหมวดธรรม ชุดธรรม หรือ ระบบการปฏิบัติที่จัดรูปออกมาจากองค์มรรคทั้งหมดนั้น หมวดธรรม หรือระบบปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นระบบกลาง หรือเป็นพื้นฐาน กว้างขวางครอบคลุม และใช้เป็นมาตรฐานของการปฏิบัติมากที่สุด ก็คือ ระบบที่เรียกว่า สิกขา ๓ หรือ ไตรสิกขา ซึ่งแปลง่ายๆ ก็คือ การศึกษา ๓ ส่วน
แม้ว่าไตรสิกขา จะจัดรูปออกมาจากมรรค แต่ความสำคัญของไตรสิกขานั้น เข้าคู่เทียบเท่า กับ มรรคเลยทีเดียว ดังจะเห็นว่า มรรค เป็นทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือจะให้ตรงกว่านั้นว่าเป็นเนื้อหาของการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ส่วนไตรสิกขา เป็นระบบการศึกษา หรือระบบการฝึกฝนอบรมพัฒนาคนให้มีชีวิตที่ดีงาม หรือให้มีการดำเนินชีวิตที่ดีงามนั้น
หลักทั้ง ๒ นี้ เนื่องอยู่ด้วยกัน เพราะเมื่อมีการศึกษา มีการฝึกฝนอบรมพัฒนา ก็เกิดเป็นการดำเนินชีวิตที่ดี หรือการดำเนินชีวิตที่ดีก็เกิดมีขึ้น ดังนั้น เมื่อฝึกด้วยไตรสิกขา มรรคก็เกิดมีขึ้น หรือว่าเมื่อคนฝึกตนด้วยไตรสิกขา ชีวิตของเขาก็พัฒนาไปในมรรค เท่ากับพูดว่า การฝึกไตรสิกขา ก็เพื่อให้มรรคเกิดขึ้น
แท้จริงนั้น เนื้อหาสาระของมรรค และไตรสิกขา ก็อันเดียวกันนั่นเอง ฝึกอันใด ก็ได้อันนั้น หรือฝึกสิ่งใด สิ่งนั้นก็เจริญงอกงามขึ้น และการฝึกหรือการศึกษานั้น ก็ไม่แยกจากการดำเนินชีวิต แต่เนื่องอยู่ด้วยกันกับการดำเนินชีวิต การศึกษาเป็นการพัฒนาชีวิต หรือที่แท้ ชีวิตที่ดี ก็คือชีวิตที่ศึกษานั่นเอง
เมื่อมั่นใจในพระรัตนตรัย ไม่มัวลังเลพะวักพะวนอยู่กับการหวังพึงปัจจัยภายนอกทั้งหลายแล้ว ด้วยศรัทธาที่เข้าทาง เป็นสัมมาทิฏฐินี้ ใจก็มุ่งมาอยู่กับการเรียนรู้หลักการดับทุกข์แก้ปัญหาด้วยปัญญารู้เหตุปัจจัย ตามหลักอริยสัจ แล้วก็ปฏิบัติตามวิธีพัฒนาตัวคนที่เป็นมรรค นี้ก็คือเข้าสู่ไตรสิกขา
พอเริ่มต้น ตั้งตัวได้แล้ว ศรัทธาในพระรัตนตรัยนี้ ก็หนุนนำให้เดินหน้าก้าวไปในไตรสิกขา พัฒนาองค์มรรคให้เจริญงอกงามขึ้นไปๆ จนลุถึงจุดหมาย
สิกขา ๓ หรือที่นิยมเรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ซึ่งมักเรียกกันง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
๑. อธิศีลสิกขา คือ การฝึกความประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ ได้แก่ รวมองค์มรรคข้อ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ว่าโดยสาระ ก็คือ ดำรงตนด้วยดีในสังคม รักษาระเบียบวินัย ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบทางสังคมให้ถูกต้อง รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม หรือต่อโลก ในทางที่เกื้อกูล มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์ มีวิถีชีวิตที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะทางสังคม ให้อยู่ในภาวะเอื้ออำนวยแก่การที่ทุกๆคนจะสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือปฏิบัติตามมรรคกันได้ด้วยดี*
ศีลเป็นสิกขาขั้นต้นที่สุด จึงมีขอบเขตกว้างขวางมาก แบ่งได้เป็นหลายระดับ ครอบคลุมถึงการแสดงออก และการบังคับควบคุมตนด้านภายนอกทั้งหมด ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคม และธรรมชาติ เกณฑ์อย่างต่ำสุดของศีล คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น (เช่นเดียวกับไม่เบียดเบียนตนเองด้วย) ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่เกื้อกูลแก่ชีวิตที่ดีงาม หรือเกื้อกูลแก่มรรคนั้น
ต่อจากนั้น ได้แก่การฝึกฝนทางวินัยเพื่อความดีงามยิ่งขึ้นไป ถ้าสามารถกว่านั้น ก็ก้าวไปถึงการทำการต่างๆที่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ช่วยสร้างเสริมจัดสรรคสภาพแวดล้อม ในทางที่จะปิดกั้นโอกาสแห่งความชั่วร้าย เพิ่มพูนโอกาสแห่งการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติกิจเพื่อความดีงามหรือคุณค่าที่ยิ่งๆ ขึ้นไป
๒. อธิจิตตสิกขา คือ การฝึกปรือในด้านคุณภาพ และสมรรถภาพของจิต ได้แก่ รวมเอาองค์มรรคข้อสัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เข้ามา ว่าโดยสาระ ก็คือ การฝึกให้มีจิตใจเข้มแข็ง มั่นคง แน่วแน่ ควบคุมตนได้ดี มีสมาธิ มีกำลังใจสูง ให้เป็นจิตที่สงบ ผ่องใส เป็นสุข บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งรบกวนหรือทำให้เศร้าหมอง อยู่ในสภาพเหมาะแก่การใช้งานมากที่สุด โดยเฉพาะการใช้ปัญญาอย่างลึกซึ้ง และตรงตามเป็นจริง
๓. อธิปัญญาสิกขา คือ การฝึกปรือพัฒนาปัญญา ให้เกิดความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนถึงความหลุดพ้น มีจิตใจเป็นอิสระ ผ่องใส เบิกบานโดยสมบูรณ์ ได้แก่ รวมองค์มรรค ๒ ข้อแรก คือ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ โดยสาระ ก็คือ การฝึกอบรมพัฒนาให้เกิดปัญญาบริสุทธิ์ ที่รู้แจ้งชัดตรงตามสภาวะ ไม่เป็นความรู้ความคิดความเข้าใจที่ถูกบิดเบือน เคลือบคลุม ย้อมสี อำพราง หรือพร่ามัว เป็นต้น ด้วยอิทธิพลของกิเลส มีอวิชชา และตัณหาเป็นผู้นำ ที่ครอบงำจิตอยู่
การฝึกปัญญาเช่นนี้ ต้องอาศัยการฝึกจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใสเป็นพื้นฐาน แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อปัญญาที่บริสุทธิ์รู้เห็นตามเป็นจริงนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็กลับช่วยให้จิตนั้นสงบ มั่นคง บริสุทธิ์ ผ่องใสอย่างแน่นอนยิ่งขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้จิตใจเป็นอิสระ และส่งผลออกไปในการดำเนินชีวิต ทำให้วางใจ วางท่าที มีความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง และใช้ปัญญาที่บริสุทธิ์ ไม่เอนเอียง ไม่มีกิเลสแอบแฝงนั้น คิดพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำกิจทั้งหลายอย่างถูกทาง ในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอย่างแท้จริง
ถ้าพูดตามภาษาของวิชาการสมัยใหม่ ตามหลักวิชาการศึกษาสายตะวันตก อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ก็ครอบคลุมการทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคม ทางอารมณ์ และทางปัญญา ตามลำดับ เป็นแต่จะแตกต่างกันโดยขอบเขตของความหมาย และสิกขา ๓ มีจุดหมายทึ่ชัดเจนจำเพาะตามแนวของพุทธธรรม
อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยในขั้นเบื้องต้น จะเห็นชัดว่า ความหมายไปกันได้ดี คือ พูดได้ตรงกันในขั้นพื้นฐาน ว่าจะต้องฝึกคนให้มีวินัย (รวมถึงความรับผิดชอบ และความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคม) ให้งอกงามทางอารมณ์ (ทางพระว่าให้จิตใจเข้มแข็งประณีต มีคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพดี) และให้งอกงามทางพุทธิปัญญา
สิกขา ๓ นี้เนื่องกัน และช่วยเสริมกัน ซึ่งตามหลักพัฒนาการอย่างสมัยใหม่ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ เช่น ความรู้เหตุผล ย่อมช่วยความเจริญทางอารมณ์ และช่วยเสริมการปฏิบัติตามวินัย ตลอด ถึงความรับผิดชอบ และความสัมพันธ์ในทางสังคม ดังนั้น การฝึกฝนอบรมในสิกขา ๓ หรือการให้เกิดพัฒนาการทั้งสามอย่าง จึงต้องดำเนินคู่เคียงกันไป*
ไม่ใช่แค่นั้น ถ้าดูให้ชัด ในพุทธศาสนา มีพัฒนาการทางกาย เรียกว่า "กายภาวนา" อยู่ในหลัก ภาวนา ๔ (เป็นบุคคลเรียกภาวิต ๔) คือการพัฒนา ๔ ด้าน แต่ความหมายต่างกัน โดยในพุทธศาสนา หมายถึง การพัฒนาความสัมพันธ์ กับ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ให้เกิดผลในทางที่เกื้อกูล ไม่ใช่หมายถึงพัฒนาตัวร่างกาย และกายภาวนานี้ใช้ในการวัดผล ส่วนในภาคปฏิบัติการของการฝึก การพัฒนากายนั้น จัดรวมไว้ในอธิศีลสิกขานั่นเอง
รวมความว่า ไตรสิกขา เป็นระบบการฝึกอบรมตามขั้นตอน จากภายนอก เข้าไปหาภายใน จากส่วนที่หยาบ เข้าไปหาส่วนที่ละเอียด และจากส่วนที่ง่ายกว่า เข้าไปหาส่วนที่ยาก และลึกซึ้งกว่า
เมื่อเริ่มแรก การฝึกอาศัยความเห็นชอบ หรือความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นเชื้อหรือเป็นเค้าให้เพียงเล็กน้อย พอให้รู้ว่าตัวจะไปไหน ทางอยู่ที่ไหน จะตั้งต้นที่ไหนเท่านั้น
การเข้าใจปัญหาและการมองโลก และชีวิตตามความเป็นจริงนั่นแหละ คือจุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง และคือความหมายพื้นฐานของสัมมาทิฏฐิ
ส่วนในระหว่างการฝึก การฝึกส่วนหยาบภายนอกในขั้นศีล ช่วยเป็นฐานให้แก่การฝึกส่วนละเอียดภายใน ทำให้พร้อมและสะดวกที่จะฝึกในขั้นจิต และปัญญาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
เมื่อฝึกขั้นละเอียดภายใน คือ ขั้นจิต และปัญญา ผลก็ส่งกลับออกมาช่วยการดำเนินชีวิตด้านนอก เช่น ทำให้ความประเพฤติสุจริตมั่นคง มีศีลที่เป็นไปโดยปกติธรรมดาของตนเอง ไม่ต้องฝืนใจหรือตั้งใจคอยควบคุมรักษา คิดแก้ปัญหา และทำกิจต่างๆ ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ เป็นต้น โดยนัยที่กล่าวแล้ว
เมื่อฝึกตลอดระบบของสิกขาแล้ว ระบบการดำเนินชีวิตทั้งหมด ก็กลายเป็นระบบของมรรค สอดคล้องกันหมดทั้งภายนอก และภายใน

* นับเป็นความบกพร่องอย่างยิ่ง ที่มักมองศีลกันเพียงแง่ลบ อย่างแคบที่สุด มองเป็นข้อห้าม กว้างออกไปหน่อยก็เพียงเป็นการงดเว้น เช่น งดเว้นตามหลักศีล ๕ ไม่มองให้ครบตามความหมายเดิม เช่น ในฝ่ายพระสงฆ์ ศีล รวมถึงการประพฤติชอบต่อกันระหว่างอุปัชฌาย์ อาจารย์ กับ ศิษย์ ดังระบุในมหาขันธกะ เป็นต้น แห่งพระวินัยปิฎก ในฝ่ายคฤหัสถ์ ศีล รวมถึงการทำหน้าที่ต่อกันระหว่างบิดามารดา กับ บุตรธิดา สามี กับ ภรรยา เพื่อน กับ เพื่อน ฯลฯ ตลอดจนสังคหวัตถุ ตามหลักคิหิวินัยในสิงคาลกสูตร เป็นต้น
* พัฒนาการทางกาย ในหลักสิกขานี้ ไม่ได้แยกออกมาแสดงต่างหาก ในทางพระพุทธศาสนา พัฒนาการด้านนี้ เห็นได้ว่า จัดอยู่ในขั้น ศีล ทั้งนี้ มีแง่ที่จะพูดอยู่ ๒ อย่าง คือ อย่างแรก ความเป็นอยู่ตามแนวทางพุทธ เป็นการดำเนินชีวิตที่ไม่ขัดแย้ง ไม่ตัดแยก แต่ใกล้ชิดสนิทกลมกลืน และเกื้อกูลกันกับธรรมชาติ อย่างที่ ๒ ท่านเน้นความสัมพันธ์ทางกายกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ในหลักอินทรียสังวรศีล และเน้นความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นอยู่ด้านกาย กับ การบริโภควัตถุ ดังที่จัดเป็นศีลหมวดหนึ่ง เรียกว่า "ปัจจัยสันนิสิตศีล" (ศีลเนื่องด้วยปัจจัยสี่) โดยย้ำที่โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้ประมาณในการบริโภค) ตลอดจนหลักสัปปายะต่างๆ
มองแง่นี้ พุทธศาสนาไม่พิจารณาพัฒนาการทางกาย แยกต่างหากจากจริยธรรม เพราะลำพังความเจริญกาย มีร่างกายเติบโตแข็งแรงมีสุขภาพดีทางกายนั้นอย่างเดียว ย่อมไม่มีความหมายเป็นสิกขา และตามปกติ จะเอียงไปทางเป็นการสนับสนุนให้ตัณหาได้เครื่องมือที่จะเสพแสวงยื้อแย่งโลกามิส ซึ่งเป็นทางสายตรงข้ามกับการศึกษา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มิใช่จุดเน้นในที่นี้ ....(พัฒนาการทางกาย ไม่ระบุใน สิกขา ๓ แต่มาใน ภาวนา ๔ - นัย องฺ.ปญฺจก. 22/79121)

- ไตรสิกขา จะใช้ชื่อว่า พหุลธัมมีกถา หรือ พหุลานุสาสนี ก็ได้
- พหุลานุสาสนี คำแนะนำพร่ำสอนที่ตรัสเป็นอันมาก, ตามเรื่องในจูฬสัจจกสูตร (ม.มู.12/399/423) ว่า สัจจกนิครนถ์ได้ตั้งคำถามกะพระอัสสชิดังนี้ "ท่านพระอัสสชิ ผู้เจริญ พระสมณโคดม แนะนำให้เหล่าสาวกศึกษาอย่างไร และคำสั่งสอน (อนุสาสนี) ของพระสมณโคดม ส่วนอย่างไหน เป็นไปมากแก่เหล่าสาวก" ท่านพระอัสสชิ ตอบว่า "ดูกรอัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำให้สาวกทั้งหลายศึกษาอย่างนี้ และอนุสาสนีของพระผู้มีพระภาค ส่วนอย่างนี้ เป็นไปมากแก่สาวกทั้งหลาย ดังนี้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง (อนิจจา) ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตน (อนัตตา)" โดยใจความ ก็คือหลัก ไตรลักษณ์ พหุลานุศาสนี ก็เขียน
- สังขารในขันธ์ ๕ กับ สังขารในไตรลักษณ์
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=samathijit&month=20-09-2024&group=90&gblog=11
Create Date : 20 กันยายน 2567 |
Last Update : 21 กันยายน 2567 9:34:51 น. |
|
0 comments
|
Counter : 193 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|