เมื่อฟันซี่แรกของลูกน้อยกำลังจะขึ้น !!!
ตอนอายุประมาณ 6 เดือน ฟันซี่แรกซึ่งเป็นฟันน้ำนมจะขึ้น โดยจะเป็นฟันคู่ล่างก่อน แต่ไม่ต้องห่วงนะคะ สำหรับหนูน้อยบางคนอาจจะมาช้าหน่อย บางคนฟันซี่แรกอาจจะขึ้นตอนครบ 1 ขวบก็มีค่ะ คุณแม่ไม่ต้องตกใจ จากฟันคู่ล่างแล้วตามด้วยฟันคู่บน พอย่างเข้าเดือนที่ 8 ฟันบนล่างจะค่อยๆ พร้อมใจกันโผล่ขึ้นมาทีละนิดรวมทั้งหมด 4-8 ซี่แล้ว แถมฟันกรามด้านในก็เริ่มโผล่มาเหมือนกัน ฟันน้ำนมของเด็กส่วนมากจะขึ้นเต็มเมื่ออายุ 2 ½ - 3 ขวบ
สัญญาณที่จะแสดงให้ทราบว่าฟันจะเริ่มขึ้น จะมีอาการแสดงดังต่อไปนี้ - น้ำลายไหลมากกว่าปกติ - แก้มแดง - นอนหลับยากขึ้น - พักผ่อนได้น้อยลง - ชอบกัด หรือ เคี้ยวพื้นผิวที่เป็นของแข็ง - เหงือกที่ฟันกำลังจะขึ้นจะมีอาการบวมแดง ดูตึงๆ กว่าที่อื่น - หงุดหงิด งอแง และอาจมีไข้เล็กน้อย
มาดูแลช่องปากและฟันของลูกกันค่ะ...
1.เช็ดลิ้น ในช่วงขวบแรกที่ลูกยังกินนมเป็นอาหารหลัก นมมักจับเป็นคราบที่ลิ้นโดยเฉพาะ เด็กที่กินนมขวด ทำให้ลูกเกิดอาการเบื่ออาหารได้ ควรให้ลูกกินน้ำหลังดูดนมเสร็จทันที และคอยใช้ผ้าสะอาดนุ่มๆ เช่นผ้าอ้อมเนื้อบางชุบน้ำอุ่น พันนิ้วคุณแม่ล้วงเข้าไปเช็ดคราบนม ที่ลิ้นของลูก 2.เช็ดฟัน ฟันซี่แรกของลูกมักจะขึ้นเมื่อลูกอายุราว 5-6 เดือน สังเกตได้ว่าในช่วงที่ฟัน กำลังจะโผล่พ้นเหงือกนี้ลูกจะจับทุกสิ่งเข้าปากเคี้ยวเพราะคันเหงือก บางทีก็จะร้องไห้ งอแงโดยเฉพาะในตอนกลางคืน พอเอาอะไรให้เคี้ยวก็จะเงียบเสียงทุเลาความเจ็บคัน เหงือกไปได้ ตั้งแต่ช่วงนี้คุณควรใส่ใจเช็ดเหงือกของลูกทุกวัย โดยใช้ผ้าอ้อมชุบน้ำอุ่นหรือ ปลอกนิ้วแปรงเหงือก 3.ทำความสะอาดให้ทั่วทั้งปาก ภายในขวบแรก ฟันของลูกจะขึ้นราวๆ 4 ซี่ คือซี่บนหน้า 2 ซี่ ซี่ล่างหน้า 2 ซี่ ทีนี้คุณต้องคอยเช็ดทั้งฟัน ลิ้น เพดานและกระพุ้งแก้มลูกทุกวัน แต่ทำ อย่างเบามือนะคะ ไม่เช่นนั้นช่องปากของลูกอาจจะระบมได้
ดูแลสุขภาพฟันให้แข็งแรง
การแปรงฟัน การรักษาสุขภาพฟันควรได้รับการปลูกฝังอย่างเหมาะสมตั้งแต่ช่วงขวบปีแรกของชีวิต
ก่อนที่ฟันน้ำนมของเด็กจะขึ้น คุณสามารถดูแลเหงือกของเด็กได้โดย การขัดถูเบาๆด้วยนิ้วที่สะอาด หรือใช้ผ้าที่นุ่มสะอาด หรือสำลีก้อนทำความสะอาด
เมื่อเด็กอายุประมาณ 6 - 7 เดือน คุณควรนวดเหงือกให้เด็กเบาๆ ด้วยแปรงชนิดพิเศษสำหรับเด็ก ซึ่งแปรงชนิดนี้จะมีความคล้ายคลึงกับแปรงสีฟันปกติแต่หัวแปรงเป็นยางที่ถูกออกแบบมาพิเศษเพื่อกระตุ้นเหงือก และช่วยสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็กในเรื่องการแปรงฟัน
แปรงเด็กสำหรับฝึกหัดสามารถนำไปให้เด็กเคี้ยวเล่นได้ก่อนฟันซี่แรกจะขึ้น แต่คุณต้องไม่ทิ้งเด็กไว้กับแปรงสีฟันตามลำพังโดยไม่ได้รับการดูแล เพราะว่าอาจมีโอกาสเสี่ยงที่เด็กจะเกิดสำลักจากการแปรงฟันได้
คุณควรเริ่มทำความสะอาดฟันลูกทันทีที่ฟันซี่แรกเริ่มขึ้น คุณต้องหัดแปรงฟันซี่แรกเบาๆ ด้วยผ้านุ่มๆ หรือสำลีก้อน เมื่อเด็กมีฟันซี่ที่ 2 หรือมากกว่านั้นให้ใช้แปรงสีฟันสำหรับเด็ก พร้อมกับแตะยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่ว คุณควรปรึกษาทันตแพทย์ หรือกุมารแพทย์ก่อนการใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์กับเด็ก
จำไว้ว่า ควรแปรงฟันเด็กอย่างเบาๆ เพราะว่า เหงือกของเด็กมีความอ่อนนุ่มและได้รับบาดเจ็บง่าย คุณควรแน่ใจว่าได้แปรงฟันลึกเข้าไปถึงด้านในของฟันและไปถึงด้านหลังของฟันกราม
ขณะที่เด็กมีฟัน 1- 2 ซี่ ควรทำความสะอาดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง และเมื่อเด็กมีฟันมากขึ้น ควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง โดยให้ทำความสะอาดฟันหลังจากป้อนอาหารเสร็จแล้วทุกครั้ง และตอนกลางคืนน้ำเปล่าควรเป็นสิ่งเดียวที่เด็กจะดื่มหลังแปรงฟันแล้ว
ให้ฟลูออไรด์ ฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุมีหน้าที่เคลือบฟัน เพื่อทำให้ฟันแข็งแรงขึ้นและลดโอกาสฟันผุ รูปแบบของฟลูออไรด์มีมากมายที่นำมาใช้เพื่อป้องกันฟันผุ น้ำดื่มบางแห่งมีฟลูออไรด์ผสมอยู่ในระดับที่สามารถป้องกันฟันผุได้ บางครั้งทันตแพทย์ของคุณอาจแนะนำให้ใช้ฟลูออไรด์เสริม (โดยปกติจะอยู่ในรูปของหยดน้ำ หรือ เป็นเม็ดฟลูออไรด์) แต่ห้ามคุณใส่ฟลูออไรด์เสริมเองลงในนม เนื่องจากนมจะไปยับยั้งการดูดซึมของฟลูออไรด์
ยาสีฟันที่เพิ่มฟลูออไรด์ที่ช่วยป้องกันฟันผุนั้นพบว่า ฟลูออไรด์ที่เด็กได้รับอาจมากกว่าความจำเป็น โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ขวบ ดังนั้น คุณควรปรึกษากับทันตแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์กับเด็ก
รักษาความสะอาด นอกจากคอยรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันลูกอย่างที่ กล่าวมาแล้ว ยังต้องดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ที่ลูกชอบหยิบเข้าปากด้วย เช่นยางกัด ของเล่น แม้กระทั่งผ้ากันน้ำลาย ซึ่งเพราะมักจะชุ่มไปด้วยน้ำลายของลูก เป็นแหล่งสะสม เชื้อโรคได้ดีทีเดียวค่ะ
การตรวจฟัน สิ่งสำคัญ คือ ลูกของคุณควรได้รับการตรวจช่องปากและฟันตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะมีสุขภาพฟันที่ดี และมีฟันขึ้นในตำแหน่งที่ถูกต้อง
การตรวจฟันสามารถทำได้ทันทีที่ฟันซี่แรกขึ้นโดยกุมารแพทย์หรือทันตแพทย์ เด็กควรได้รับการตรวจฟันทุก 3 – 6 เดือน การแปรงฟันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่า เศษอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตกค้างอยู่บริเวณรอบๆฟัน อาจเป็นสาเหตุทำให้ฟันผุ เนื่องมาจากสร้างสารที่เป็นกรดจากการย่อยแป้งและน้ำตาล ที่ตกค้างอยู่ภายในช่องปากมาทำลายสารเคลือบฟัน (ส่วนที่ครอบผิวฟันด้านนอก) การช่วยให้เด็กมีสุขภาพฟันที่ดีและแข็งแรง จะช่วยเตรียมพร้อมสำหรับการขึ้นของฟันแท้ซี่ใหม่
ที่มา - นิตยสาร Modern Mom ดวงใจพ่อแม่ ฉบับที่ 131 เดือนกันยายน พ.ศ. 2549 - //www.raklukefamilygroup.com - //www.wyethnutrition.co.th
ขอบคุณค่ะ ที่แวะมาอ่าน อย่าลืมทักทายกันหน่อยนะคะ
หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณแม่ท่านอื่นๆ ด้วยค่ะ 
Create Date : 31 มกราคม 2551 |
|
10 comments |
Last Update : 31 มกราคม 2551 17:09:17 น. |
Counter : 14946 Pageviews. |
|
 |
|