ธันวาคม 2549

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
11
12
13
14
15
16
18
19
21
22
23
25
26
27
29
30
31
 
 
All Blog
ห้องตำนานบุคคล เสนอบิดาแห่งนิยายกำลังภายใน
 

กิมย้ง

 

ผู้สร้างตัวอักษรแห่งกำลังภายใน


คงเป็นเพราะชีวิตในวัยเด็กของ "กิมย้ง" หรือ "จินยง" หรือ "จา เหลียง ยง" ในชื่อจริงชอบอ่านหนังสือสามก๊ก,ซ้องกั๋ง,ไซอิ๋ว และความฝันในหอแดง จึงทำให้เขาเกิดความฝันว่า โลกในหนังสือไม่เพียงทำให้เขาเกิดจินตนาการ
หากยังทำให้เขารู้สึกหลงใหลในตัวอักษรด้วย..!เพราะในช่วงต่อมา เขาตะลุยอ่านหนังสืออย่างทะลุปรุโปร่ง และไม่เฉพาะแต่นวนิยาย หรือเรื่องสั้นเท่านั้น หากหนังสือภาษาอังกฤษ เขาก็อ่านอย่างเอาเป็นเอาตาย

"เวลาผมอ่านหนังสือ ผมจะอ่านละเอียดยิบทุกตัวอักษร และไม่เฉพาะแต่นวนิยาย เรื่องสั้น หรือบทความต่างๆ หนังสือภาษาอังกฤษผมก็อ่าน และเวลาเจอคำๆ ไหนที่ไม่รู้ความหมาย ผมก็จะเปิดพจนานุกรมทันที และถ้ายังไม่เจออีก ผมก็จะไปหาพจนานุกรมที่เล่มใหญ่กว่ามาเปิดหาจนกว่าจะเจอ

"ซึ่งบางครั้ง ผมก็รู้ว่ามันเสียเวลามาก เหมือนเป็นวิธีการอ่านหนังสือที่โง่ แต่นานๆ เข้า การอ่านหนังสือก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย เพราะเราเริ่มเข้าใจมากขึ้น"แต่นั่นยังไม่ใช่แรงจูงใจ ที่ทำให้
"กิมย้ง" มีความฝันที่อยากจะเขียนหนังสือ เพราะในเวลาต่อมา เขาต้องไปเรียนภาควิชาภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งรัฐบาลกลาง

เรียนวิชากฎหมาย เอกกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยตงอู๋ แห่งเซี่ยงไฮ้

จนผันตัวเองเข้าสู่วิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่เซี่ยงไฮ้ โดยเริ่มเป็นผู้สื่อข่าว และนักแปลประจำหนังสือพิมพ์ต้า กง เป้า ทว่าเขาอยู่ที่นี่เพียงระยะหนึ่ง เพราะต้องย้ายไปประจำที่ฮ่องกง โดยนั่งตำแหน่งก๊อบปี้ อีดิเตอร์

จากนั้นจึงย้ายไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ซิน หวั่น เป้า และที่นี่เองที่ทำให้เขาพบกับ "เฉิน เหวิน ถง" ผู้เป็นแรงบันดาลใจ จนทำให้เขาเขียนนวนิยายเรื่อง "จอมใจจอมยุทธ" ลงเป็นตอนๆ ทั้งๆ ที่ขณะนั้นเขาอายุเพียง 31 ปี เท่านั้นเอง

โดยใช้นามปากกาว่า "กา จิน ยง" หรือ "กิมย้ง" นับแต่นั้น

ต่อจากนั้นประมาณ 1 ปี "กิมย้ง" ก็เขียนนวนิยายเรื่อง "เพ็ก ฮวย เกี่ยม" ออกมาอีกเรื่องหนึ่ง และในปีถัดไปเขาก็ลาออกจากหนังสือพิมพ์ซิน หวั่น เป้า ก่อนที่จะผันตัวเองไปเป็นผู้กำกับด้านฉาก และผู้เขียนบท ที่เกรท มูวีฟ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ และบริษัท โฟนิกซ์ ฟิล์ม

โดยระหว่างนี้ เขาก็ยังเขียนนวนิยายออกมาอีกเรื่อยๆ จนตอนหลัง "กิมย้ง" หวนกลับคืนสู่วงการน้ำหมึกอีกครั้ง และครั้งนี้เขาได้จับมือกับ "เสิ่น เป่า ซิน" เพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยมัธยม ก่อตั้งหนังสือพิมพ์หมิงเป้า ที่ประเทศฮ่องกง

กล่าวกันว่า "กิมย้ง" และ "เสิ่น เป่า ซิน" นับเป็นผู้บุกเบิกวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ที่ไม่เพียงจะมีปลายปากกาที่คมคาย หากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ยังเป็นฐานที่มั่นที่ทำให้เกิดนวนิยายดีๆ ออกมาอีกหลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นจิ้งจอกภูเขาหิมะ,มังกรหยก ภาค 2,จิ้งจอกอหังการ,เทพธิดาม้าขาว,อวงเอียตอ,มังกรหยก ภาค 3 และ 4 หรือดาบมังกรหยก,กระบี่เย้ยยุทธจักร และอีกหลายๆ เรื่อง

ซึ่งมีทั้งหมด 15 เรื่องด้วยกัน

โดยมีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ "กระบี่นางพญา" ที่เป็นเรื่องสั้น

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่เขาเขียนคือ "อุ้ย เซี่ยว ป้อ" ทั้งๆที่ขณะนั้นเขาอายุเพียง 48 ปี เท่านั้นเอง เป็น 48 ปี ที่ไม่เพียงจะทำให้แฟนานุแฟนอุ่นหนาฝาคั่งไปทั่วประเทศ

หากผลงานของเขาทั้งหมด ยังถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ อีกมากมาย ทั้งภาษาเกาหลี,อังกฤษ,ฝรั่งเศส,เวียดนาม,อินโดนีเซีย และไทย
นอกจากนั้น ผลงานทั้งหมดของเขายังถูกนำไปดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์จอเงินและจอแก้วอีกนับไม่ถ้วน

สำคัญไปกว่านั้น นวนิยายกำลังภายในของเขาทั้ง 15 เรื่อง ยังถูกพิมพ์ซ้ำไม่ต่ำกว่า 300 ล้านเล่มทั่วโลก

ทั้งๆ ที่ "กิมย้ง" ถ่อมตนว่า…งานเขียนของผมเป็นเพียงนวนิยายประโลมโลกเท่านั้น หาใช่เป็นวรรณกรรมอะไรไม่ แต่สำหรับนักวิจารณ์กลับมองตรงข้าม เพราะเขาเชื่อว่างานของ "กิมย้ง" ถือเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย เฉกเช่นเดียวกับงานวรรณกรรมอมตะอย่างสามก๊ก,ซ้องกั๋ง และไซอิ๋ว

ขณะที่ในมุมของคนอ่าน กลับมองว่าในนวนิยายทั้งหมด 14 เรื่อง และเรื่องสั้น 1 เรื่อง เขาเหล่านั้นกลับชื่นชม "อุ้ย เซี่ยว ป้อ" เป็นอย่างมาก

แต่สำหรับ "กิมย้ง" กลับมองว่า…อย่าเอาอย่างอุ้ย เซี่ยว ป้อ เลยเพราะผมสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมาเพื่อสะท้อนยุคสมัย ไม่ได้สะท้อนความชอบคนบุคลิกแบบนี้

ซึ่งไม่ว่าความชอบและไม่ชอบตัวละครตัวนี้จะเป็นเช่นใด แต่ในแง่ของการเสพนวนิยายกำลังภายใน "กิมย้ง" ก็ทำให้คนอ่านประจักษ์ชัดแน่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่เขาสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นในฐานะนักเขียน

นักหนังสือพิมพ์
หรือคอลัมนิสต์

เขาก็ได้พิสูจน์ให้คนอ่านเห็นแล้วว่าทุกตัวอักษรที่เขาเขียนขึ้น ล้วนมาจากรากของการอ่านทั้งสิ้น เพราะถึงวันนี้ แม้เขาจะอายุ 82 ปี แต่ทว่าโลกของการอ่าน และการศึกษาก็ไม่ได้ทำให้เขาถดถอยไปตามอายุเลย

เหมือนอย่างที่คอลัมน์รู้เรื่องเมืองจีน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ฉบับที่ 8 สิงหาคม 2549 ลงคำให้สัมภาษณ์ของเขาถึงเรื่องนี้ว่า…

"การอ่านหนังสือมีประโยชน์อย่างมาก เพราะไม่เพียงจะทำให้มีความรู้ ยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ยามที่รู้สึกโดดเดี่ยว เหงา ทุกข์ยากกลัดกลุ้มใจ และไม่มีใครเลย เมื่ออ่านหนังสือก็จะรู้สึกดีขึ้น การอ่านหนังสือทำให้จิตใจดีงาม"
ขณะที่ในโลกแห่งการศึกษา "กิมย้ง" ก็ไม่เคยคิดว่าอายุจะแก่เกินเรียน เพราะเมื่อเขาทำงานผ่านไปสักระยะ เขาก็ยังแสวงหาความรู้อยู่เสมอ จนในปี ค.ศ.2005 จึงได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ปี ค.ศ.2006 เขากำลังศึกษาปริญญาเอก ในภาควิชาการศึกษาตะวันออก เอกประวัติศาสตร์จีนที่เซนต์ จอห์น คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เช่นกัน

เพราะอย่างที่บอก การศึกษาไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ คุณก็สามารถแสวงหาความรู้ได้อยู่เสมอ ซึ่งเหมือนกับ "กิมย้ง" ในวันนี้

ในวันที่เขาไม่เพียงหยุดแสวงหาความรู้

หากเขายังนำความรู้เหล่านั้นไปปรับใช้กับการเขียนคอลัมน์ ไปปรับใช้กับการบรรยายพิเศษให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ

เพราะเขาเชื่อว่าเมื่อมนุษย์อุบัติขึ้นมาในโลก ก็ต้องตอบแทนโลกให้สมค่ากับที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ หาใช่ตอบแทนในสิ่งที่อยุติธรรมไม่
ผลเช่นนี้เอง จึงทำให้นักวิจารณ์วรรณกรรมจึงต่างมอง "กิมย้ง" ไปในมิติต่างๆ บ้างมองเขาเป็นเอ็นไซโครพีเดียเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี จารีตขนบธรรมเนียมของชนชาติจีนอย่างแข็งกร้าว

หรือบ้างมองเขาว่าได้รับอิทธิพลของ "ขงจื๊อ" เพราะนวนิยายทุกเรื่องมักจะต้องแนะความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างผู้ปกครองและประชาชน

พ่อกับลูก
ผู้อาวุโสกับผู้น้อย


และอาจารย์กับศิษย์

หรือบ้างมองว่าเขาชอบซ่อนการตั้งคำถามกับสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของสังคมยุคใหม่ เหมือนดังนวนิยายเรื่องมังกรหยก ภาค 2

แต่ทั้งนั้น ไม่ว่าจะ "กิมย้ง" จะเป็นเช่นไรในสายตาของผู้อื่น เขาก็คงเป็น "กิมย้ง" ที่มีแฟนานุแฟนอยู่ทั่วโลก

โดยเฉพาะโลกของคนกำลังภายใน...?

ข้อเขียนโดย สาโรจน์ มณีรัตน์
คอลัมน์ ถนนสายนี้ไม่มีทางลัด
นสพ. มติชนรายวัน ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2549



Create Date : 10 ธันวาคม 2549
Last Update : 31 ธันวาคม 2565 9:40:19 น.
Counter : 815 Pageviews.

3 comments
  
ขอบคุณสำหรับข้อมูลคร้าบบ
โดย: PutterZ (ToppuT ) วันที่: 10 ธันวาคม 2549 เวลา:12:31:45 น.
  



ดี.แวะมาส่งความสุขค่ะ
โดย: d__d (มัชชาร ) วันที่: 10 ธันวาคม 2549 เวลา:14:28:50 น.
  
สวัสดีครับคุณหนุ่มร้อยปี ขอบคุณที่ทำให้รู้จักนายกิมย้งมากขึ้นครับ
โดย: smack วันที่: 10 ธันวาคม 2549 เวลา:16:29:06 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง