ธันวาคม 2549

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
11
12
13
14
15
16
18
19
21
22
23
25
26
27
29
30
31
 
 
All Blog
ห้องตำนานบุคคล เสนอซีไรต์ลาว บุนเสิน แสงมะนี

งึดขนาด...


ซีไรต์ลาว


บุนเสิน แสงมะนี


ชายหนุ่มวัยกลางคน สีหน้าท่าทางเป็นมิตรคนนี้ เกิดที่จังหวัดปากซัน แขวงบอลิคำไซ ติดกับนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว มีอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ประเทศไทย อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโขง
ครอบครัวเข้าขั้นยากจน แต่เพราะถือคติที่ว่า "จะยากจนอย่างไร…ต้องได้เรียน" จึงมานะบากบั่นต่อสู้ชีวิต กระทั่งเรียนจบวิทยาลัยครูอันดับหนึ่งของประเทศอย่าง มหาวิทยาลัยครูดงโดก

เส้นทางการศึกษาไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาภาษาและพิธีการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยนานาชาติ นครหลวงมอสโก สหภาพโซเวียต

เป็นคนรุ่มรวยต้นทุนทางวรรณกรรม เนื่องจากเป็นหนอนหนังสือตัวยง ทั้งยังเป็นคนชอบจดบันทึกเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แล้วนำมาปรับ-แปลง ให้เป็นเรื่องสั้น
มีผลงานรวมเล่ม รวมถึงมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารของลาวอยู่สม่ำเสมอ

สั่งสมประสบการณ์งานเขียนและมีผลงานเป็นที่ยอมรับ "บุนเสิน แสงมะนี" จึงได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 2548 จากเรื่องสั้นชื่อ "ประเพณีและชีวิต"
ปัจจุบัน บุนเสิน ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเลขานุการประจำรัฐมนตรี

แต่ยังหาเวลาว่างมาสร้างสรรค์งานเขียนอย่างต่อเนื่อง

- ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไร
ถือว่าลำบาก เพราะครอบครัวจัดอยู่ในประเภทยากจน พ่อเป็นนายช่างรับสร้างบ้าน ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน พี่น้องผมเยอะ มี 6 คนเป็นผู้ชายหมด ผมเป็นลูกคนโต ต้องช่วยพ่อแม่เลี้ยงน้อง ซักเสื้อผ้าให้น้อง

ทุกวันผมต้องตื่นแต่เช้ามืด เอาไฟมานึ่งข้าว แล้วเอาหนังสือมาอ่านตรงนั้น เพราะบ้านผมไม่มีไฟฟ้าใช้ อ่านจนข้าวสุกก็ลงไปแบกน้ำ ออกไปตกปลา วันไหนตกปลาไม่ได้แทบไม่มีอะไรกิน

ถึงครอบครัวจะยากจนแต่พ่อแม่ก็สนับสนุนให้เรียนหนังสือ จะจนยังไงต้องเรียนหนังสือ อดมื้อกินมื้อ เหนื่อยแค่ไหนก็ต้องไปเรียน เพราะพ่อสอนว่า มีแต่เรียนเท่านั้นที่จะสามารถเอาชีวิตรอดอยู่ได้ในสังคม

ปิดเทอมเมื่อไหร่ผมก็ขึ้นไปอยู่นครหลวงเวียงจันทน์ ไปทำงานที่โรงเลื่อยไม้ รับจ้างขนไม้ แบกไม้ เลิกงานแล้วต้องทำล่วงเวลาจนถึง 3 ทุ่ม ได้เงินมาแล้วก็เอาไปซื้อเครื่องนุ่ง ซื้อหนังสือเรียน กลับบ้านก็ไม่ต้องรบกวนรายจ่ายพ่อแม่

ถ้าจะให้เล่าชีวิตสมัยเด็ก รับรองได้ว่าสู้ชีวิตไม่มีใครเทียบ

มีเวลาว่างผมก็หาหนังสือมาอ่าน เพราะชอบอ่านหนังสือมาก ชอบฟังนิทานที่พ่อเล่าให้ฟังด้วย จะจินตนาการเข้าไปสู่เรื่องที่พ่อเล่า คิดว่าตัวเองเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องนั้น

- เรียนที่ไหน

เรียนโรงเรียนประถมใกล้บ้าน ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร พักเที่ยงก็กลับบ้านกินข้าว ตอนนั้นเขาให้นักเรียนเรียนฟรี เสียแต่ค่าหนังสือ ค่าเสื้อผ้า

เวลาไปเรียนต้องมีกระดานไม้ (กระดานชนวน) แต่บ้านผมไม่มี ต้องเอาถ่านไฟฉายมาทุบๆ ผสมน้ำแล้วเอามาทาไม้ เอาตะปูตอก สะพายไปเรียน ถึงโรงเรียนครูเรียกชื่อว่าท้าวบุนเสิน ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นตัวเอง เพราะพ่อแม่เรียกแต่ท้าวแอ (หนูน้อย) ครูเลยให้มายืนหน้ากระดาน ถามว่าทำไมไม่รู้จักชื่อตัวเอง ผมก็อาย ทุกข์ใจ แต่ไม่ท้อ

มัธยมเรียนที่โรงเรียนมัธยมปากซัน จบแล้วไม่มีที่เรียนต่อในแขวงของตัวเอง ต้องขึ้นไปเรียนที่เวียงจันทน์ ตอนนั้นมีที่เดียวที่มีระดับสูง ผมเป็นนักเรียนเก่งของแขวง (หัวเราะ) จะสอบเข้าที่ไหนก็ได้หมด จะสอบอาชีวะก็ได้ จะสอบเกษตรศาสตร์ก็ได้ แต่สุดท้ายเลือกเข้าวิทยาลัยครู

- ทำไมเลือกสอบเข้าวิทยาลัยครู
สมัยนั้นชาวบ้านจะยกบทบาทครูสูงที่สุด เพราะเป็นอาชีพที่มีเกียรติ แต่ไม่ค่อยได้เงิน

พ่อผมอยากให้ผมเป็นครู ผมจึงสอบเข้าวิทยาลัยครู สมัยนั้นแข่งขันสูงมาก สมมุติจบมัธยมปลายมาสอบครูสักพันคน วิทยาลัยก็รับแค่ 50 คน ใครที่สอบได้ถือว่ามีเกียรติสูง

ตอนเรียนครูสถานะการเงินที่บ้านยังไม่ดี ผมต้องเรียนไปด้วย ทำงานก่อสร้างไปด้วย เพราะตอนออกจากบ้านพ่อแม่เอาแต่เงินค่ารถโดยสารขาไปเวียงจันทน์ให้เท่านั้น ไม่ได้ให้ขากลับ (หัวเราะ) ต้องออกไปสู้ชีวิตเอง ดีที่วิทยาลัยมีหอพักให้ มีเบี้ยเลี้ยงให้เพราะผมสอบเข้าได้คะแนนดี

ผมเลือกเรียนสาขาคณิตศาสตร์ จบออกมาไม่ได้สอน เพราะไปทำงานที่สำนักงานศึกษาของนครหลวงเวียงจันทน์ ทำด้านนโยบาย แต่เวลาโรงเรียนขาดครูก็จะมาเชิญไปสอนวิชาเลข ฟิสิกส์

ทำงานได้ 6 ปีก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อสหภาพโซเวียตไปเรียนด้านนักการทูต

- ชีวิตในโซเวียต?

ที่นั่นแตกต่างทั้งภาษา ศาสนา ฮีตคองประเพณี ฤดู นิสัยใจคอ ฯลฯ ต้องปรับตัวเยอะมาก

ภาษารัสเซียเป็นภาษาที่ยากที่สุด ผมต้องไปหัดเรียนภาษารัสเซียที่นั่น กว่าจะฟังเลคเชอร์เข้าใจก็ตอนเรียนปี 3 ยังดีที่มีเพื่อนคนลาวด้วยกัน และมีเพื่อนคนไทย คนฝรั่งเศส คนโตโก เพราะคนโตโกพูดภาษาฝรั่งเศสได้ เลยพูดทั้งลาว ไทย ฝรั่งเศส รัสเซีย (หัวเราะ)

อยู่รัสเซียได้เป็นประธานนักศึกษา เพราะนักศึกษาลาวเรียนที่โซเวียตประมาณ 6,000-7,000 คน มีหน้าที่คอยคุ้มครองช่วยเหลือนักศึกษาลาวในโซเวียต เป็นผู้ประสานงานระหว่างสถานทูตกับนักศึกษาลาว คนไหนมีปัญหาก็ไปช่วยไกล่เกลี่ย

ช่วงปิดเทอมผมก็หางานทำ ได้งานที่ไซบีเรีย หนาวมาก -50 องศา ที่ไปเพราะไม่มีใครไป แต่เงินดี ผมเลยไป (ยิ้ม) ไปสร้างบ้านเรือน สร้างถนน สร้างทั้งที่อากาศหนาวอย่างนั้น ตอนนั้นเป็นหนุ่มไม่กลัวอะไรอยู่แล้ว

- ปัญหาที่เจอ?

เรื่องคิดถึงบ้านเป็นปัญหาสำคัญสำหรับนักศึกษาทั่วไป อยากให้จบไวๆ อยากให้ฤดูกาลผ่านไป ฤดูที่ลำบากที่สุดคือฤดูหนาว ถึงขั้น -20 องศา แต่ต้องอยู่ให้ได้

ตอนไปเรียนต่อผมมีครอบครัวแล้ว จะติดต่อกันได้ก็มีแต่จดหมาย ผมเขียนจดหมายทุกวัน เขียนตอนดึกๆ ตื่นเช้าไปเรียนก็เอาไปหย่อนใส่ตู้จดหมาย ไม่ได้เขียนว่าคิดถึงครอบครัวอย่างเดียว แต่เขียนเล่าด้วยว่าความรู้สึกเป็นยังไงในแต่ละวัน เป็นการฝึกการเขียนไปด้วย ฝึกสำนวนภาษา ฝึกการพรรณนา

ปกติผมจะรับจดหมายจากทางบ้านอาทิตย์ละครั้งหรือ 2 อาทิตย์ต่อครั้ง แต่มีครั้งหนึ่งผ่านไป 4 เดือน ไม่ได้รับจดหมายก็กระวนกระวายว่าเกิดอะไรขึ้น วันหนึ่งมีจดหมายจากลาวมา ระหว่างรอเข้าไปสอบก็หยิบจดหมายมาอ่าน ปรากฏว่าทางบ้านแจ้งข่าวมาว่าพ่อเสียชีวิต ผมเสียใจมาก สอบครั้งนั้นผมได้แค่ 3 คือผ่าน ทั้งที่ปกติสอบได้ระดับ 4-5 ตลอด ใจคิดว่าจะอยู่หรือจะกลับดี แต่เมื่อคิดถึงที่พ่อพูดว่ามีโอกาสไปเรียนต่างประเทศแล้วต้องทำให้ได้ จึงมีกำลังใจเรียนให้จบ

เรียนจบกลับมาคิดว่าจะไปทำงานตามวิชาที่เรียน แต่กระทรวงศึกษาท้วงไว้ บอกว่าไม่จำเป็น เขาเห็นว่าอยู่กระทรวงศึกษาก็ทำงานได้เหมือนกัน มาคิดดูที่กระทรวงศึกษาไม่ให้ไปอยู่กระทรวงต่างประเทศก็ถูกแล้ว (หัวเราะ)

- เริ่มเขียนหนังสือเมื่อไหร่

ผมชอบเขียนบันทึกตั้งแต่เด็กแล้ว มีเหตุการณ์อะไรผ่านเข้ามาในชีวิตก็บันทึกไว้ ไม่ปล่อยให้ผ่านไปแบบไม่จดจำ ความเจ็บปวด ความเศร้า ความเหงา ความสุข บันทึกหมด

มาเริ่มเขียนหนังสือจริงจังตอนทำงานที่กระทรวงศึกษาหลังจบวิทยาลัยครู เอาประสบการณ์ในชีวิตมาเขียนเป็นเรื่องสั้น มันก็สั้นแท้ๆ (หัวเราะ) เพราะไม่ได้เรียนวรรณคดี ไม่ได้เรียนการแต่ง เขียนเสร็จก็ส่งไปลงหนังสือพิมพ์บ้าง วารสารบ้าง ไม่ค่อยได้เงิน แต่ดีใจที่เรื่องได้ลง

ประมาณปี 2528 ทางกระทรวงแถลงข่าววัฒนธรรมประกาศแข่งขันบทเรื่องสั้นระดับชาติ เป็นครั้งแรกที่ลาวจัดแข่งขันบทเรื่องสั้น ผมก็ส่งเรื่อง กลับคืนสู่บ้านแม่ เข้าประกวดได้รางวัลที่ 1 รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าววัฒนธรรมขึ้นมามอบรางวัล ผมได้หนังสือเขียน 1 เล่มและปากกา 1 ด้าม ดีใจสุดๆ (หัวเราะ)

การได้รางวัลครั้งนั้นเป็นบันไดก้าวเข้าเส้นทางนักประพันธ์ วงการนักเขียนเริ่มรู้จักผม กลายเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นกำลังใจในการเขียนงานต่อมาเรื่อยๆ

คนอาจไม่รู้ว่า บุนเสิน แสงมะนี เป็นคนยังไง แต่เขารู้จักชื่อผมก็ดีใจแล้ว (ยิ้ม)

- ถนัดเรื่องสั้น?

ครับ แต่มีเขียนเรื่องยาวด้วย มีบทบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ สารคดีต่างๆ

บางวันเขียนเรื่องสั้นเรื่องเดียวใช้เวลาชั่วโมงเดียว ถ้างานไม่ยุ่งจะเขียนแป๊บเดียว แต่บางเรื่องใช้เวลา 2-3 วัน บางเรื่องเขียนเป็นอาทิตย์ บางเรื่องเขียนไปแล้วแก้ปมไม่ได้ก็ต้องพักไว้ก่อน บางครั้งเขียนเรื่องจบแล้วแต่ยังไม่มีหัวข้อ ต้องมาเขียนชื่อเรื่อง เขียนลงมาประมาณ 30 ชื่อก็มี ชื่อไหนไม่ชอบค่อยขีดออก ชื่อไหนอยู่ถึงสุดท้ายก็เอาชื่อนั้น (หัวเราะ) บางทีตั้งชื่อเรื่องแล้วค่อยเขียนก็มี

- ได้รับรางวัลซีไรต์ได้อย่างไร
ปี 2547 กระทรวงแถลงข่าววัฒนธรรมได้ตั้งรางวัลสินไซ เป็นรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ของชาติลาว ผมชนะเลิศจากเรื่อง ประเพณีและชีวิต เลยเอามาพิมพ์เป็นเล่ม

พอปี 2548 ทางสมาคมซีไรต์ให้ลาวคัดเลือกเรื่องสั้น เอาเรื่องสั้นที่ได้อันดับ 1 ของรางวัลสินไซมาคัดด้วย มีคณะกรรมการ 3 ชุด ชุดละ 10 คนคอยคัดผลงานเข้ารอบ ชุดแรกรวบรวมคะแนนแล้วส่งให้ชุดที่ 2 กรรมการชุดที่ 2 ตรวจแล้วส่งคะแนนให้ชุดที่ 3 พิจารณาอีกที สุดท้ายเรียกคณะกรรมการทั้งหมด 30 คนมาช่วยกันเลือกจนเหลือ 3 เรื่อง กรรมการก็ลงคะแนนกัน สุดท้ายเรื่อง ประเพณีและชีวิต มีคะแนนนำหน้า เลยได้ซีไรต์ปี 2548

กรรมการต้องเอาหลักเกณฑ์อื่นมาพิจารณาประกอบด้วย ดูว่าลีลาการเขียน ศิลปะการนำเสนอ เนื้อหาสาระเป็นยังไง ผลงานการเขียนที่ผ่านมาเป็นยังไง ประกอบคุณงามความดีช่วยเหลือสังคมหรือไม่ กิริยามารยาทเป็นยังไง เคยถูกตำหนิติเตียนไหม ถ้าได้รับรางวัลซีไรต์สังคมจะยอมรับไหม แล้วไม่ใช่ว่าเขียนเรื่องเดียวแล้วได้รางวัล ต้องสั่งสมประสบการณ์การเขียนมาพอสมควรด้วย

เมื่อประกาศออกไปว่าผมได้รับรางวัลซีไรต์ ทุกคนก็ยอมรับ โทรศัพท์มาแสดงความยินดี ถือเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ของชีวิตที่ได้รางวัล เพราะตัวเองเคยหวังว่าจะกลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงระดับชาติ

- เนื้อหาของเรื่อง ประเพณีและชีวิต?

พูดถึงชนเผ่า กรรมการต้องไปถามชนเผ่าตัวจริงว่ารับได้ไหมกับเรื่องที่บุนเสินเขียน ถ้ารับไม่ได้ก็จะให้เรื่องนี้ตกไป คือไปเช็คกับชนเผ่าเลยว่าข้อเท็จจริงถูกต้องไหม มีประเพณีแบบนั้นจริงไหม เขียนขึ้นเพื่ออะไร ซึ่งผมบอกไปว่าเขียนขึ้นเพื่อให้คนยุคใหม่เดินตามทางที่เขาเลือกเอง ทางชนเผ่าก็ดีใจ บอกว่าบุนเสินเขียนถูกแล้ว

ที่เลือกเขียนเรื่องชนเผ่า เพราะลาวมีหลายชนเผ่า ประมาณ 68 ชนเผ่า เวลาไปศึกษาพื้นที่ ชนเผ่าเขาก็เล่าเรื่องให้ฟังว่ามีประเพณีแบบนั้นแบบนี้ ผมก็จดไว้

แต่ละชนเผ่ามีฮีตคองประเพณีแตกต่างกันไป บางประเพณีคนยุคใหม่รับไม่ได้ เช่น เมื่อพี่ชายเสียชีวิต น้องชายต้องแต่งงานกับพี่สะใภ้ แต่ในเรื่องประเพณีและชีวิต ตัวละครที่เป็นน้องชายได้รับการศึกษาและมีคนรักอยู่แล้ว พยายามคัดค้านประเพณี พี่สะใภ้ก็เห็นด้วยกับน้องชายของสามี สุดท้ายเรื่องราวทุกอย่างก็คลี่คลาย

เรื่องนี้รวมอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ใบไม้ใบสุดท้าย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจริง เขียนไปตามบทบันทึก เขียนตามเหตุการณ์ความเป็นจริงของชีวิต อ่านแล้วเหมือนอ่านชีวิตของบุนเสิน (หัวเราะ)

- ตอนนี้ยังเขียนหนังสืออยู่หรือเปล่า
เขียนอยู่ เขียนสะสมไปเรื่อย บางทีก็เอาเรื่องเก่าที่เขียนไว้มาพิมพ์ เปิดบันทึกเก่าๆ แล้วเอามาเสริมแต่ง พรรณนา เกลาใหม่

ไท- งานเขียนมีสะท้อนการเข้าใจผิดระหว่างคนย-คนลาวไหม
มันเป็นอย่างนี้ ประเทศลาวกับไทยแตกต่างจากประเทศอื่นในโลก ที่อื่นเขาพูดกันอีกประเทศจะไม่เข้าใจ แต่คนไทยพูดอะไร คนลาวรู้หมด จะพูดภาษาเหนือ กลาง อีสาน ใต้ คนลาวฟังเข้าใจ คนไทยจะไม่เข้าใจภาษาลาวเท่าคนลาวเข้าใจภาษาไทย

แต่ในฐานะนักเขียนก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรกับตรงนี้ ผมมีหน้าที่สร้างงานในลักษณะสร้างสรรค์ เขียนให้คนมีจิตสำนึกรักชาติ พัฒนาความรู้ พัฒนาบ้านเมือง ไม่ใช่ว่าถ้ามีเหตุการณ์ความขัดแย้งแล้วต้องเอามาเขียน

- คิดยังไงกับคำกล่าวที่ว่า พี่ไทยน้องลาว
อยากให้ใช้คำว่าบ้านใกล้เรือนเคียงมากกว่า เพราะภาษา ศาสนา ฮีตคองประเพณีคล้ายคลึงกัน คนไทยทางอีสานก็กินข้าวเหนียว จ้ำปลาแดก เป่าแคน เหมือนคนลาว

- วัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้าสู่ลาว?

ไม่ว่าประเทศไหนวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปหมด เพราะมีระบบสื่อสาร มีเคเบิลทีวี มีอินเตอร์เน็ต แทรกซึมเข้าหมด ห้ามไม่ให้ดูก็ไม่ได้

ถ้าเข้ามาแล้วกระทบต่อการศึกษาก็ต้องหาทางป้องกัน เพราะผมอยู่ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการลาว ต้องทำการศึกษาให้มีคุณภาพ ปรัชญาการศึกษาลาวมี 5 อย่าง คือ ปัญญาศึกษา ให้คนรู้วิทยาศาสตร์ รู้หนังสือ คุณสมบัติศึกษา ให้คนเป็นคนดี เคารพนับถือพ่อแม่ บ้านเกิดเมืองนอน ระเบียบวินัย พลศึกษา ให้คนสุขภาพแข็งแรง ศิลปศึกษา ให้รู้จักวรรณคดี และแรงงานศึกษา ให้คนรักการทำงาน นี่คือเป้าหมายการศึกษาของลาว

"รวมทั้งต้องพยายามรักษาฮีตคองประเพณีของลาวไว้ด้วย"
เรื่องโดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย
พัทรยุทธ ฟักผล
นสพ.มติชน ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 17 ธค.2549

























































Create Date : 17 ธันวาคม 2549
Last Update : 17 ธันวาคม 2549 10:27:39 น.
Counter : 2074 Pageviews.

2 comments
  
สวัสดีค่ะคุณหนุ่มร้อยปี
โอเล่มาขอบคุณค่ะ
ที่แวะไปที่บล็อก
ขอให้มีความสุขมากๆในวันหยุดนะค่ะ
โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 17 ธันวาคม 2549 เวลา:11:07:49 น.
  
ผมอ่านเจอจากในเว็บ แล้วมาเจอที่บล็อกของท่านอีก แสดงว่ามีความชื่นชมต่อบุคคลนี้คล้ายๆกันครับ

ปรัชญาการเดินทางของชีวิตบุนเสิน แสงมะนี ผมอ่านแล้วโดนใจมากๆ เหมือนได้เดินตามเขาไปทีละก้าวเลย ถ้าได้อ่านหนังสือของเขา คงมโนภาพได้มากกว่านี้ อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสได้อ่านบ้าง แต่คงยาก

คงเหมือนๆกับสื่อหลายๆอย่าง ทั้งบทความ ข้อเขียน หนังสือ หรือแม้แต่ทีวี ที่เรื่องราวดีๆมากมาย เข้าถึงได้เฉพาะผู้ใหญ่อย่างเราๆเท่านั้น ส่วนวัยรุ่น เขาก็มีหนังสือของเขา รายการของเขา ซึ่งถ้าเอาสาระแบบนี้เข้าไปทีไร เด็กๆก็จะเลิกดูทันที

คิดๆแล้วก้หาทางออกไม่เจอเหมือนกัน...กว่าพวกเขาจะรู้ ก็คงอายุเท่าเรานี่แหละครับ
โดย: mitrapap วันที่: 17 ธันวาคม 2549 เวลา:11:43:31 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนุ่มร้อยปี
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 24 คน [?]



บล็อกนี้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 โดย ชายไทยวัยสูงอายุ มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกและนำเสนอเรื่องราวต่างๆแบบครอบจักรวาล อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี รายการทีวี หนังสือน่าอ่าน อาหารน่ากิน ท่องเที่ยว สะสมสิ่งของ ตำนานชีวิตบุคคลน่าสนใจ รู้ไว้ใช่ว่า จิปาถะ
ฯลฯ เป็นต้น คำขวัญประจำบล็อก ประสบการณ์ชีวิตที่ดีในอดีต คือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน คำขวัญประจำตัวเจ้าของบล็อก "อายุเป็นเพียงตัวเลข" บรรณาธิการบริหารบล็อกคือ หนุ่มร้อยปี บล็อกนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ตามกฏหมาย ท่านใดเห็นว่าข้อเขียนหรือภาพประกอบในบล็อกนี้มีประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้ แต่โปรดอ้างอิงชื่อบล็อกนี้ด้วย จักขอบคุณยิ่ง