.....ภาษาตระกูลไท เป็นวัฒนธรรมของคนไท สมควรจะเผยแพร่ให้โลกรู้จักอย่างทั่วถึง มากกว่าจะเก็บไว้สอนกันอย่างเร้นลับ ในมหาวิทยาลัย แล้วก็ปล่อยให้หายสาบสูญไปตามกาลเวลา.....
Group Blog
 
All Blogs
 
เจ้ายอดศึก แห่ง SSA

นิตยสาร Top Gun ฉบับที่ 133 ประจำเดือน เมษายน 2552



มีภาพการฝึกทหาร SSA
และบทสัมภาษณ์ เจ้ายอดศึก ในชุดพราง ลวดลายของ SSAโดยเฉพาะ

เจ้ายอดศึก ซึ่งจะมีอายุครบ 50 ปี ในวันที่ 24 เมษายน นี้
บอกไว้ในตอนท้ายการให้สัมภาษณ์ว่า

แม้การกู้ชาติ จะไม่สำเร็จในยุคนี้
แต่ลูกหลานไทใหญ่ จะทำหน้าที่กู้ชาติต่อไป โดยไม่มีที่สิ้นสุด



วันที่ 25 มกราคม 1996 ขุนส่า ผู้นำกองทัพเมิงไต (MTA) ประกาศยอมวางอาวุธ และยุติการต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า อย่างไม่มีเงื่อนไข อีกสองวันต่อมา ในเวลา 04.00 น. นายทหารหนุ่มใหญ่วัย 40 ปี ยศพันเอก นามว่า เจ้ายอดศึก ได้นำผู้ใต้บังคับบัญชากว่า 800 คน พร้อมขบวนม้าบรรทุกสรรพาวุธ ออกเดินทางจากเมืองทา ข้ามลำน้ำสาละวิน เข้าไปในป่าลึกกลางรัฐฉาน เพื่อรวบรวมทหารไทใหญ่ที่ยังมีอุดมการณ์เดียวกัน ก่อตั้งกองทัพกู้ชาติไทใหญ่ (SSA) ขึ้นมา เพื่อสานต่อภารกิจขับไล่ทหารพม่าออกไปจากรัฐฉาน

จากนั้น อีกไม่กี่ปีต่อมา กองกำลังเล็ก ๆ ของ พ.อ.เจ้ายอดศึก ก็ขยายมวลชนและสรรพกำลังออกไป จนในปัจจุบันนี้ SSA มีกำลังพลไม่ต่ำกว่า 10,000 คน และสามารถยึดครองพื้นที่เอาไว้ได้ ไม่ต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของรัฐฉาน โดยในปัจจุบัน SSA มีฐานที่มั่นอยู่ที่ดอยไตแลง ตั้งอยู่บนสันเขาชายแดน ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เขตรอยต่อระหว่างเมืองปั่นและเมืองโต๋น รัฐฉาน


Q – กรุณาเล่าถึงประวัติการต่อสู้ของ SSA และตัวท่านให้ฟังหน่อย

A – มันยาวมากเลยนะ...ผมเกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 1959 ที่เมืองกุงยุม ต.เมืองยาย อ.เมืองหนอง จ.ตองยี พ่อผมเป็นเสมียนประจำหมู่บ้าน ทำงานให้กับผู้นำหมู่บ้าน ผมมีพี่น้อง 5 คน ผมเป็นคนโต ผมมาเป็นทหารตั้งแต่อายุ 17 ปี ยังเรียน ม.ปลายไม่จบเลย สาเหตุก็มีอยู่ 2 เรื่อง คือ สมัยที่ผมกำลังเรียนหนังสืออยู่นั้น อายุประมาณ 15 ปี บ้านผมอยู่บ้านนอก ห่างจากโรงเรียนประมาณ 2 กิโลเมตร เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ผมและเพื่อนชายหญิงเดินทางไปโรงเรียน ระหว่างทาง ไปเจอทหารพม่า 7 คน เข้ามาล้อม แล้วจับเพื่อนผู้หญิงไปข่มขืน ตัวผมและเพื่อนผู้ชายพยายามเข้าไปช่วย แต่ก็ถูกทหารพม่าซ้อมจนได้รับบาดเจ็บ

ต่อมา เราไปร้องเรียนกับต้นสังกัดของทหารกลุ่มนั้น เขาก็เรียกคนของเขามาเข้าแถวให้เราชี้ตัว แต่พอเราไปชี้ตัวมัน ก็ไม่มีทหารกลุ่มนั้น เนื่องจากเขาเอาไปซ่อน เราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาบอกว่า คนของเขามีเท่านี้ ตั้งแต่นั้นมา ผมก็เริ่มโกรธแค้นทหารพม่า

พอผมอายุ 16 ปี ก็ถูกทหารพม่ากองพลที่ 77 เกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ ตอนนั้นเขาสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ ถูกเอาขึ้นรถจากเมืองกึ๋ง ไปจนถึงเมืองเปง บนรถบรรทุกที่ผมนั่งไปด้วย มีชาวไทใหญ่ 200 กว่าคนเบียดเสียดกันไปหมด ตลอดระยะทาง เขาไม่ยอมให้คนเหล่านั้นลงไปไหนเลย จะกิน จะอุจจาระหรือปัสาวะก็ทำบนรถ ไม่ต่างจากหมูหมา พอไปถึงที่หมาย ทหารพม่าก็เอาพวกเรามัดมือเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน แล้วก็เอามือมัดกับหาบเอาไว้ ไม่ให้หนี พาเดินหาบสัมภาระเข้าไปในป่า

ตัวผมโชคดีหน่อยที่เป็นเด็ก เขาคิดว่าไม่กล้าหนี เลยไม่ถูกมัด แล้วเขาเกณฑ์ม้ามาจากบ้านญาติผมด้วย ผมก็เลยลองเข้าไปคุยกับผู้คุม ไปขอร้องเขาว่า ผมยังเรียนหนังสืออยู่ ขอกลับไปบ้านได้ไหม คุยกันอยู่นาน เขาก็ปล่อยผมมา

หลังจากนั้นมา ผมก็มานั่งคิดว่า เอ...เราก็คนเหมือนกัน ทำไมเขาต้องมาทำกับเราอย่างนี้ แต่ตอนนั้น ผมยังไม่มีความคิดทางการเมืองเพราะผมยังเด็กอยู่ คือจริง ๆตอนนั้น มันมีกลุ่มที่ต่อสู้กับทหารพม่า แต่ผมไม่รู้จัก ผมก็เลยศึกษาจากการอ่านประวัติศาสตร์บ้าง จากการถามผู้หลักผู้ใหญ่บ้าง เขาก็เล่าให้ผมฟังว่า พม่าไม่ใช่คนไทใหญ่ เขาเป็นคนอีกประเทศหนึ่ง จากนั้น ผมก็ไปพบกับคนที่อยู่กับ “กองทัพแนวร่วมปฏิวัติแห่งไต” (Shan United Revolution Army : S.U.R.A) ที่ต่อสู้กับทหารพม่า เขาก็เล่าให้ฟังว่า ก็เพราะพม่ามารุกรานอธิปไตยของเรา เราจึงต้องขับไล่เขาออกไป

ผมก็เลยตั้งปณิธานเอาไว้ว่า จะต้องแก้แค้นให้เพื่อนที่โดนทหารพม่าข่มขืน และขับไล่ทหารพม่า ออกไปจากพื้นที่ของรัฐฉานให้ได้ แล้วก็เลยเข้าร่วมกับ S.U.R.A ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ต่อมา น้องผมอีกสองคน ก็เข้ามาเป็นทหารเหมือนกัน

ชีวิตทหารของผม เริ่มขึ้น เมื่อปี 1976 ตอนนั้น ถนนคอนกรีตก็ยังไม่มี ต้องเดินไปตามถนนลูกรัง ผ่านป่าผ่านเขา จากบ้านผมไปยังศูนย์ฝึกที่เมืองปางโหลง ทางตอนกลางของรัฐฉาน ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน พอฝึกทหารเสร็จ ก็มีโอกาสไปอยู่กับเจ้ากอนเจิง ผู้นำของ S.U.R.A. ในขณะนั้น ไปอยู่หน่วยสื่อสาร แล้วก็ไปเป็นเลขาฯของเจ้ากอนเจิงประมาณ 2 ปี แล้วท่านก็ส่งผมไปเรียนข่าวกรอง พอจบมา ก็ให้ผมแฝงตัวเข้าไปหาข่าวทางตอนในของรัฐฉาน ไปหาข่าวของทหารพม่า , ของคอมมิวนิสต์ หรือไทใหญ่กลุ่มอื่น ๆ

ผมทำงานข่าวกรองอยู่ปีกว่า เจ้ากอนเจิงก็เรียกตัวกลับไปเรียนหลักสูตรฝ่ายการเมืองและการปกครอง พอเรียนจบ ท่านก็ส่งผมไปประจำที่ชุดเฉพาะกิจฝ่ายทหาร คล้าย ๆ กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เข้าไปในรัฐฉานอีกครั้งหนึ่ง ไปรบกับพวกคอมมิวนิสต์ ไปรบกับพวกว้า ไปรบกับพวกพม่า หลักจากนั้น ก็อยู่กับฝ่ายทหารมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน


Q – ช่วยเล่าถึงประสบการณ์ที่เฉียดตาย ให้พวกเราได้ทราบบ้าง

A – ประสพการณ์เฉียดตายของผมมันเยอะนะ เพราะผมรบเยอะมาก เอาเฉพาะครั้งใหญ่ ๆ ก็ 120 กว่าครั้ง ไม่รวมการปะทะครั้งเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกหลายครั้งจำไม่ไหว แต่ก็ไม่เคยบาดเจ็บ เพราะครูสอนผมมาดี


Q – อยากทราบนโยบายหลัก ในการทำงานของท่าน ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องใดที่สุด ?

A – ที่ผมเน้นที่สุดคือการสร้างคน เพราะถ้าคนเก่งคนฉลาด ต่อให้มีอาวุธล้าสมัย ยังไงก็รบชนะ แต่หากว่า มีอาวุธดีทันสมัย แต่ไม่มีปัญญาที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รบยังไงก็ไม่มีทางชนะ


Q – ปัญหาที่ SSA เผชิญอยู่ มีอะไรบ้าง ?

A – ขณะนี้ ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ มีอยู่ 3 ปัญหาหลัก ก็คือ การสู้รบกับทหารพม่าที่ยังมีอยู่ทุกวัน ทั้งแนวรบทางการเมืองและการทหาร ปัญหาที่สองก็คือ ความสามัคคีภายในชาติ เพราะถ้าเราไม่สามัคคีกัน ก็คงเอาชนะศัตรูไม่ได้ ที่ผ่านมา คนไทใหญ่ด้วยกันรบกันเอง ฆ่ากันเอง ดังนั้น เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เราจึงได้พยายามเชิญชาวไทใหญ่กลุ่มต่าง ๆ ในรัฐฉาน ทั้งจากภาคใต้ ภาคกลาง จากพื้นที่ติดชายแดนจีน ชายแดนตะวันตก มีทั้งคนปะโอ คนลาหู่ คนว้า คนไตแดง เครือข่ายเยาวชนไทใหญ่ สำนักข่าวไทใหญ่ กลุ่มหยุดยิง กลุ่มติดอาวุธ พระสงฆ์ คนไทใหญ่ในต่างประเทศ มาคุยกัน มาร่วมกันก่อตั้ง “สภารัฐฉาน” (Shan State Congress : SSC)

เรามาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป ที่จะรักษา ชาติ ศาสนาของเราเอาไว้ให้ได้ ประวัติศาสตร์หลายร้อยปีที่ผ่านมา ชนเชื้อชาติต่าง ๆ ในรัฐฉาน อยู่ร่วมกันมาอย่างสงบสุขมาตลอด แต่เมื่อ 50 ปี มานี้ ทหารพม่าเข้ามายุให้เราแตกแยก รบกันฆ่าฟันกันเอง ดังนั้น สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ เราจึงต้องสามัคคีกัน เราพึ่งพาคนอื่นไม่ได้ นอกจากพวกเราเอง การก่อตั้ง SSC จะนำไปสู่ความปรองดองระหว่างชนชาติต่างๆ ในรัฐฉาน ทำให้แผ่นดินของเราสงบขึ้นได้ แม้ว่าในตอนนี้ จะยังไม่มีข้อตกลงใด ๆ เป็นชิ้นเป็นอ้นก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่า เป็นการเริ่มต้นไปสู่ความปรองดองในชาติ และคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าที่ทุกอย่างจะเป็นรูปเป็นร่างได้

ส่วนปัญหาที่สามที่เรากำลังเผชิญอยู่ก็คือ เรื่องการแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติดในรัฐฉาน โดยเฉพาะฝิ่นกับยาบ้า ส่วนเฮโรอีน มีบ้างแต่ไม่เท่าไร ขณะที่นโยบายการปราบปรามยาเสตติดในรัฐฉานของพม่า ก็ไม่เข้มงวด เพราะเขาต้องการให้คนของเรา โดยเฉพาะวัยรุ่น ติดยาเสพติด ยิ่งติดมาก ก็ยิ่งทำให้คนของเราอ่อนแอมาก กองทัพก็จะอ่อนแอ ซึ่งเราจะต้องแก้ไขโดยด่วน


Q – ที่พูดถึงความแตกแยกในรัฐฉาน อยากทราบว่า มีสาเหตุมาจากอะไร ?

A – คือในรัฐฉานมีคนหลายเชื้อชาติ ประมาณ 20 เผ่า ความแตกแยก มันเริ่มตอนสมัยที่มีการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ เนื่องจากมีอุดมการณ์แตกต่างกัน บางคนเห็นว่าต้องรับความช่วยเหลือจากค่ายคอมมิวนิสต์ เหมือนอย่างเวียตนาม ลาว และกัมพูชา ถึงจะได้รับความสำเร็จ แต่บางคน ก็ไม่เห็นด้วยกับคอมมิวนิสต์ เพราะเราเป็นเมืองพุทธ คอมมิวนิสต์ไม่มีศาสนา เราควรจะเป็นประชาธิปไตยดีกว่า สุดท้าย เราก็เลยต้องรบกันเองมา 25 ปี ทั้งระหว่างไทใหญ่กันเอง หรือจะเป็นการรบระหว่างชนเชื้อชาติอื่น ๆ


Q – รัฐบาลทหารพม่า เคยออกมากล่าวว่า ไทใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ?

A – เขาก็กล่าวหามาตลอด ไม่ใช่เพิ่งมากล่าวหาสมัยผม เขาใช้เรื่องนี้ มาเป็นเกมส์การเมืองมาตลอด พอเขาจะเข้ามาตีผม เขาก็ออกมาบอกว่า เข้ามาปราบปรามยาเสพติด แต่ก่อนก็บอกว่า โล ซิง ฮาน เป็นผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ พอจับได้แล้วเป็นยังไง ยาเสพติดหมดไปไหม จากนั้นก็ออกมาบอกว่า ขุนส่าเป็นราชายาเสพติด แล้วพอขุนส่าวางอาวุธแล้วเป็นยังไง ยาเสพติดก็ยังอยู่

ตอนนี้ เขาว่า เวยเซี๊ยะกัง กับ เปาโหยวเฉียง สองผู้นำว้าแดงเป็นราชายาเสพติด ผมถามว่า ถ้าพวกว้าวางอาวุธ แล้วยาเสพติดจะหายไหม ก็ไม่หายหรอก ถ้าพม่าอยากปราบปรามยาเสพติดจริงๆ พม่าต้องจริงใจมากกว่านี้

สำหรับผม ที่ผ่านมาขุนส่าวางาวุธ แต่ผมไม่ยอมวางาวุธ ผมก็ปรับปรุงกองทัพของผมใหม่ หันมาดำเนินนโยบายต่อต้านยาเสพติด นานาชาติจะช่วยหรือไม่ ผมไม่สนใจ เพราะเราต้องต่อต้านยาเสพติด เพราะถ้าไม่ทำ ผลกระทบจะตกอยู่กับคนไทใหญ่เอง ผมอยากจะถามชาวโลกว่า คุณช่วยพม่าปราบยาเสพติดมาแล้วกี่ปี หายไหม ทำไมไม่มาช่วยผมบ้าง เพราะผมเป็นเจ้าของรัฐฉานที่แท้จริง ต้นตอของปัญหา อยู่ในแผ่นดินของผม คุณไปทุ่มเงินให้รัฐบาลทหารพม่า แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า เขาเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ตรวจสอบได้ไหม ถ้าคุณลำบากใจที่จะส่งเงินผ่านพม่า ส่งผ่านประเทศไทยมาให้เราก็ได้ แล้วตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบการใช้เงินไปเลย


Q – แล้วที่ผ่านมา ได้ดำเนินนโยบายการปราบปรามยาเสพติดไปถึงไหนแล้ว ?

A – สาเหตุที่ประชาชนปลูกฝิ่น ก็เพราะเขาหากินอย่างอื่นไม่ได้ ถึงต้องปลูกฝิ่น เราก็ต้องหาอย่างอื่นมาให้เขาปลูกทดแทน รวมถึงการหาตลาดให้กับประชาชนของเราด้วย อันดับต่อมา เราจะเก็บข้อมูลของคนนอกรัฐฉานที่มาซื้อขายฝิ่นที่นี่ เมื่อเราจะทำการปราบปราม ก็จะทำได้ทันที นอกจากนี้ เราจะต้องให้ความรู้ประชาชน ให้รู้พิษภัยฝิ่น อย่าให้ปลูกฝิ่น ให้ร่วมมือกับคนในรัฐฉานทั้งหมด กวาดล้างยาเสพติด

ขณะนี้เราทำได้เพียงข้อเดียว คือการเก็บรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับพ่อค้ายาเสพติด และปราบปรามพ่อค้ายาเสพติด เพราะเราขาดงบประมาณ นอกจากนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่เรากำลังเผชิญอยู่ก็คือ การผลักดันทหารพม่าออกไปจากรัฐฉาน เราต้องแก้ปัญหานี้ก่อน เพราะประชาชนของเราทุกข์ยากมาก ถ้าไม่มีทหารพม่าในรัฐฉาน เราจะจัดการขุดรากถอนโคน ให้ยาเสพติดหมดจากรัฐฉานได้อย่างแน่นอน


Q – แล้ว DEA ของสหรัฐ เข้ามาช่วยเหลืออะไรบ้างไหม ?

A – ที่ผ่านมา ผมพบคนของ DEA สองครั้ง ผมถามเขาว่า DEA ก่อตั้งมา 50 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ทำงานปราบปรามยาเสพติดในบริเวณนี้มาก็นานแล้ว แต่มันก็ยังไม่หมดเพราะอะไร เขาบอกว่า เขาตอบผมไม่ได้ เพราะเขาเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ผมก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมาเจอผม ถ้าทำอะไรมากไม่ได้

คือจริง ๆ สิ่งที่เขาต้องการจากผมก็คือข่าวกรอง การประสานข่าวกรองเท่านั้น ผมก็บอกเขาไปว่า ผมไม่ใช่หน่วยข่าว ผมทำงานเพื่อชาติของผม ถ้าต้องการแต่ข่าว ผมไม่ทำ


Q – แล้วการปกครองที่ SSA นิยมคืออะไร ?

A – คือ ในรัฐฉานมีคนนับถือศาสนาพุทธประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นคริสต์, ฮินดู, เชื่อถือผี แล้วก็มุสลิม เราคิดว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด เพราะให้ความเสมอภาคกับทุกเชื้อชาติ และศาสนา ควรมีการเลือกตั้งแบบสหรัฐหรือยุโรป


Q – ปัจจุบัน พื้นที่ควบคุมของ SSA มีอยู่ตรงไหนบ้าง ?

A – ภาคกลางของรัฐฉานถึงภาคใต้ คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในรัฐฉาน ส่วนมากเราจะคุมพื้นที่ในป่า ใช้ยุทธวิธีป่าล้อมเมือง


Q – ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ หรือองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ หรือดูแลปัญหาด้านใดบ้าง ?

A – สหประชาชาติไม่เคยเข้ามา ทั้ง ๆ ที่เราเคยร้องเรียนให้เขาเข้ามาตรวจสอบในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานของทหารพม่า แต่เขาก็เงียบ ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชนก็มีเข้ามาช่วยเหลือบ้าง แต่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน้อยมาก

ที่สหประชาชาติสนใจและพูดอยู่ตลอด ก็คือ อ่องซาน ซูจีอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่จริงปัญหาหลักของพม่าคือ เรื่องของความขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนเชื้อชาติต่าง ๆ ที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษร่วมกัน ผมถามว่า ถ้าอ่องซาน ซูจี ตกลงกับรัฐบาลทหารพม่าได้แล้ว ปัญหาจะจบลงไหม มันก็ไม่มีทางจบ สิ่งที่สหประชาชาติต้องคุยก็คือ คุยกับชนเชื้อฃาติต่าง ๆ ที่รบกับรัฐบาลทหารพม่า ปัญหาการสู้รบมันจึงจะจบ ซึ่งเรื่องนี้ ผมเรียกร้องมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีใครสนใจ


Q – สหประชาชาติ คงไม่ต้องการให้มีการแยกดินแดนหรือเปล่า ?

A – อันนี้คุณกำลังเข้าใจผิด เราไม่ต้องการแยกดินแดน เพราะที่ผ่านมา ไทใหญ่หรือรัฐฉาน ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของพม่าเลย คุณไปดูในประวัติศาสตร์ได้เลย ไทใหญ่เคยปกครองพม่าก็หลายครั้ง พม่าเคยมาปกครองไทใหญ่แค่ครั้งเดียว ในสมัยบุเรงนอง ที่เหลือก็เป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อนบ้านกัน แล้วตอนที่โดนอังกฤษยึดครอง พม่าก็โดนก่อน ประมาณ ปี 1882 อังกฤษปลดกษัตริย์พม่า จากนั้น ในปี 1885 อังกฤษก็ส่งคนมาเจรจากับเจ้าฟ้าของไทใหญ่ ให้เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ มีข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษเข้ามาปกครองอีกทีหนึ่ง ขณะที่พม่าก็มีข้าหลวงของอังกฤษมาปกครองต่างหาก ไทใหญ่ไม่เคยขึ้นการปกครองกับข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษในพม่าเลย แล้วจะมาบอกว่า ไทใหญ่หรือรัฐฉานเป็นส่วนหนึ่งของพม่าได้อย่างไร

ดังนั้นคุณจะเห็นว่า ถ้ามาดูตามประวัติศาสตร์ ประเทศที่สมควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาในพม่าขณะนี้ ก็คืออังกฤษ และถ้าอังกฤษมีความรับผิดชอบ เข้ามาแก้ปัญหาตั้งแต่แรก ทุกอย่างจะไม่ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันนี้


Q – แล้วเคยได้เจรจากับรัฐบาลอังกฤษในเรื่องนี้หรือไม่ ?

A – ผมเคยเขียนจดหมายไปถึงเอกอัครราชทูตของอังกฤษ ประจำประเทศไทย 2 ครั้งแล้วว่า อังกฤษเคยมาปกครองรัฐฉาน 60 กว่าปี คุณก็รู้ปัญหาดีว่ามันคืออะไร ไทใหญ่ไม่ใช่เมืองขึ้นของพม่า มีกษัตริย์ มีกฏหมายปกครองของตนเอง มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ก่อนหน้านี้ อังกฤษก็เคยแนะนำให้เราขอเอกราชต่างหาก คนละส่วนกับที่นายพลอ่องซานทำ อังกฤษรู้ความจริงทุกอย่างที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากเขาเลย


Q – มองเรื่องที่รัฐบาลทหารพม่า ประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 เช่นไร ?

A – ผมว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตย มันเหมือนกับการบังคับให้ประชาชนเลือกคนของรัฐบาลทหารพม่ามากกว่า เพราะอะไรรู้ไหม กลุ่มต่าง ๆ ที่หยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า มีทั้งหมด 17 กลุ่ม ต่างก็เรียกร้องให้แก้ปัญหาทางการเมือง หรือ นิรโทษกรรมนักการเมืองฝ่ายค้าน แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่สนใจ ปัญหาก็คือ กรณีที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของอ่องซาน ซูจี กับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ที่เคยชนะการเลือกตั้งมาแล้ว แต่พม่าก็ไม่ยอมมอบอำนาจให้ แล้วยังจับกุมคุมขังนักการเมืองเหล่านี้เอาไว้ในคุกอินเส่ง ถ้าเขาจัดการเลือกตั้งขึ้นมา นักการเมืองฝ่ายค้านที่อยู่ในคุกก็ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วม มันก็ไม่มีความหมายอะไร

เขาอาจจะจัดการเลือกตั้งได้ แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาที่มีอยู่ ถ้าเขาอยากแก้ปัญหา อยากให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม สิ่งที่ทหารพม่าต้องทำคือ อันดับแรก ต้องนิรโทษกรรมฝ่ายต่อต้านทหารพม่าทุกกลุ่ม ทั้งที่อยู่ในคุกการเมือง หรือหลบหนีอยู่ต่างประเทศ อันดับต่อมาคือ ตั้งรัฐบาลผสมให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม อันดับสามคือ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง ถ้าทำอย่างนี้ได้ ผมเชื่อว่าทุกกลุ่มก็ยอมรับได้


Q – ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลทหารของพม่าเคยขอเจรจาอะไรบ้างไหม ?

A – ไม่เคย...รบอย่างเดียว เขาไม่กล้าขอเจรจากับผม เพราะมันเห็น ๆ กันอยู่ว่า ผมปกป้องแผ่นดินของผม เขามารุกรานอธิปไตยของเรา ถ้ายึดสัญญาปางโหลงเป็นหลัก เขาแพ้ผมอยู่แล้ว สหภาพที่จัดตั้งขึ้นตอนนี้ ถามว่า มันเป็นสหภาพจริง ๆหรือเปล่า เพราะมันมีแต่พม่าเป็นใหญ่ ทั้งคนในรัฐบาล หรือในกองทัพ

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเขายังพยายามกลืนชาติพวกเราอีก เขาใช้วิธีอยู่ 4 วิธี คือ อันดับแรก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้คนของเรากลัว ให้หนีออกนอกประเทศไป อันดับสองคือ ส่งคนพม่าเข้ามายึดครองพื้นที่ของไทใหญ่ แล้วเกณฑ์คนไทใหญ่ไปเป็นลูกหาบ หรือคนรับใช้ในสนามรบ อันดับต่อมาเขาพยายามรณรงค์ให้ผู้ชายของเขามาแต่งงานกับผู้หญิงไทใหญ่ เพื่อให้วัฒนธรรมของเราสูญหายไป เพราะถ้าวัฒนธรรมหาย ความเป็นชาติก็หายไปด้วย


Q – แล้วคิดจะนำวิธีการก่อการร้ายแบบในตะวันออกกลางมาใช้บ้างไหม ?

A – คุณจะทำไปเพื่ออะไร วิธีการก่อการร้ายมันไม่เกิดประโยชน์หรอก มันจะทำให้ประชาชนและผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อน ที่เราต้องการกำจัดก็คือทหารพม่า ไม่ใช่ประชาชนพม่า เพราะประชาชนในพม่าในรัฐฉาน เราก็มองเขาเป็นคนเหมือนกัน เคารพสิทธิของเขาและรักเมตตาเขาเหมือนชาวไทใหญ่


Q – ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มว้าแดงอย่างไรบ้าง เพราะดูเหมือนเป็นกลุ่มที่มีพลังในการต่อรองกับพม่าเช่นกัน ?

A – จริง ๆ ว้าเป็นเผ่าเล็ก ๆ ในรัฐฉาน มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ชาวปะโอยังมีจำนวนมากกว่าว้าอีก ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่กลุ่มว้าแดงเป็นกลุ่มใหญ่ เนื่องจากในกลุ่มของเขาประกอบไปด้วยคนจีน, คนเชื้อสายลาหู่, ปะลอง และไทใหญ่บางส่วน รวมถึงคนเชื้อสายว้าในประเทศจีนด้วย

ในตอนนี้ เราก็มีการพูดคุยประสานงานกันอยู่ เพราะที่ผ่านมา ว้ารบกับไทใหญ่ เขาก็ตาย เราก็ตาย คนที่หัวเราะคือทหารพม่า ตอนนี้ เขาก็รู้แล้วเราเลิกรบกันแล้ว


Q - คาดหวังอะไรจากรัฐบาลใหม่ของไทยบ้าง ?

A – จริง ๆ ผมไม่อยากพูดถึงการเมืองไทยเท่าไร ผมก็ยินดีกับคุณอภิสิทธิ์ ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องช่วยเหลือเราก็ต้องการมาตลอด เพียงแต่ว่า ตอนนี้คุณก็ยังมีปัญหาของคุณอยู่ แต่ถ้านโยบายเรื่องพม่าของคุณอภิสิทธิ์ เหมือนกับนโยบายในสมัยคุณชวน หลีกภัย ไทใหญ่ก็มีความหวัง คือสมัยคุณชวน นโยบายต่อรัฐบาลพม่าชัดเจนคือ ถ้าคุณไม่เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ก็ไม่สนับสนุนคุณ คุณชวนชัดเจนตรงนี้ ตอนเป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ไม่เคยเดินทางไปเยือนพม่าเลย อันดับต่อมา สมัยคุณชวนไม่เคยแทรกแซงงานของทหาร อยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อชาติก็ทำไปเลย ทหารที่อยู่ตามชายแดน ก็ทำงานง่ายขึ้น


Q – แล้วทาง สหรัฐฯ สามารถคาดหวังอะไรจากเขาบ้าง ?

A – ผมไม่ค่อยหวังอะไรจากเขา เพราะปัญหาของเขามีเยอะ ทั้งปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาในอิรัก ปัญหาในอัฟกานิสถาน


Q – งานอดิเรกของท่านคืออะไร ?

A – ปกติผมไม่ค่อยมีเวลา เพราะทีมงานผมมันน้อย ต้องไปโน่นมานี่ตลอด ความสุขที่สุดของผม ก็คือการได้อยู่ร่วมกับทหารของผม แต่ถ้าว่างจริง ๆ ก็ชอบตีแบตมินตัน


Q – ใครคือนักการทหารในดวงใจของท่าน ?

A – ผมชอบโฮจิมินห์ เพราะเขาเป็นนักสู้ที่ทำให้ประเทศเล็ก ๆ สามารถเอาชนะมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ได้


Q – ท่านคิดว่า จะสามารถขับไล่ทหารพม่าออกไปจากรัฐฉานได้สำเร็จหรือไม่ ?

A – ถ้าไม่สำเร็จในรุ่นผม ลูกผมก็จะทำมันต่อไป และถ้าไม่สำเร็จในรุ่นลูกผม หลานของผมก็จะทำมันต่อไป และถ้าไม่สำเร็จในรุ่นหลานผม อนุชนไทใหญ่รุ่นต่อไป ก็จะทำมันไปจนกว่าจะสำเร็จ...........



Create Date : 12 เมษายน 2552
Last Update : 19 มิถุนายน 2553 11:36:19 น. 0 comments
Counter : 7221 Pageviews.

นายช่างปลูกเรือน
Location :
กาญจนบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




ไม่สงวนลิขสิทธิ์

เพื่อเปิดกว้างการศึกษาและเผยแพร่ภาษาตระกูลไท

ข้อมูล "ในส่วนที่ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของผู้อื่น"
ยินดีให้ ลอกเลียน, ทำซ้ำ, เพิ่มเติม, แก้ไขเปลี่ยนแปลง
หรือนำไปใช้

โดยไม่ต้องขออนุญาต หรืออ้างถึงใด ๆ ทั้งสิ้น


Copyleft
Friends' blogs
[Add นายช่างปลูกเรือน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.