วังหน้า กรมพระราชวังบวร
วังหน้า กรมพระราชวังบวร
กรมพระราชวังบวรคือตำแหน่งพระมหาอุปราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มีทั้งหมด 6 พระองค์
องค์ที่ 1 กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาร่วมพระชนกชนนีในรัชกาลที่ 1
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือ ผู้ร่วมกอบกู้เอกราชชาติไทยพร้อมพระเจ้าตากสิน ผู้ซึ่งเป็นพระอนุชาของปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้เป็นวังหน้ามีอำนาจรองจากพระมหากษัตริย์
ครั้งเมื่อรัชกาลที่ 1 ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถือศักดินา 100,000 นับได้ว่าเป็นวังหน้ามีอำนาจรองจากวังหลวง
องค์ที่ 2 กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระโอรสในรัชกาลที่ 1 พระราชภาดาร่วมพระราชชนกชนนีกับรัชกาลที่ 2
องค์ที่ 3 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 พระองค์ที่ 17
เป็นพระราชบุตรเขยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นพระอนุชาร่วมพระชนกชนนีในรัชกาลที่ 2
องค์ที่ 4 พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 พระอนุชาร่วมพระชนกชนนีในรัชกาลที่ 4
องค์ที่ 5 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศ มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระนามเดิม บุญมา ประสูติใน พ.ศ. 2286 เป็นพระราชอนุชาร่วมพระชนกชนนีกับรัชกาลที่ 1 ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช เป็นเวลา 21 ปี เสด็จสวรรคต พ.ศ. 2346 สิริรวมพระชนมายุ 60 พรรษา
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเป็นนักรบที่สามารถ เริ่มต้นผลงานด้วยการเป็นมหาดเล็กหุ้มแพรตำแหน่งนายสุจินดาในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ แล้วเข้าร่วมกองทัพเป็นกำลังของพระเจ้าตากสินในการกอบกู้อิสรภาพ ได้ตำแหน่งพระมหามนตรี แล้วเลื่อนตำแหน่งโดยลำดับเป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจฝ่ายซ้าย เป็นพระยายมราช และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชครองเมืองพิษณุโลก ป้องกันพระราชอาณาจักรฝ่ายเหนือ
เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราชได้เลื่อนเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 และเป็นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระองค์ทรงมีพระโอรส 18 พระองค์ พระธิดา 25 พระองค์ ต้นราชสกุล สังขทัต ปัทมสิงห์ นีรสิงห์
รัชกาลที่ 1 และวังหน้า ในช่วงแรกรักใคร่กลมเกลียวกันดีในการก่อร่างสร้างเมืองใหม่ จนช่วงท้าย ๆ เมื่อบ้านเมืองเป็นหลักฐานและมั่นคงดีแล้ว ความบาดหมางได้เริ่มเกิดขึ้นจากการทะเลาะวิวาทของขุนนางทั้ง 2 วัง เริ่มตั้งแต่การแข่งเรือพาย วังหน้าแอบมีฝีพายอีกชุดที่ซ่อนไว้ให้แข่งวันจริงเพื่อหวังเอาชนะวังหลวง และต่อมาด้วยการที่วังหน้าขอเบิกเงินภาษีอากรไปใช้เลี้ยงดูข้าราชการฝ่ายวังหน้าเพิ่มขึ้น การขัดเคืองใจนี้สงบได้ด้วยสมเด็จพระพี่นาง 2 พระองค์มาไกล่เกลี่ย
ระหว่างมีพระชนม์ชีพในช่วงบั้นปลายของชีวิต กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเกิดทรงพระประชวรพระโรคนิ่ว รัชกาลที่ 1 ทรงไปเยี่ยม แต่ว่าความบาดหมางระหว่างทหารและข้าราชการทั้ง 2 ฝ่ายกลับยิ่งก่อให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น จนถึงขั้นทะเลาะวิวาท สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรต้องมาไกล่เกลี่ยและเฝ้าดูแลถึง 6 ราตรี เหตุการณ์จึงสงบลงได้
พระราชดำรัสสุดท้ายคือพระองค์ได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินมา สมบัติทั้งหมดที่พระองค์ได้สร้างไว้ไม่ควรจะให้สมบัติตกไปได้แก่ลูกหลานวังหลวง ผู้ใดมีสติปัญญาให้เร่งคิดเอาเองเถิด อาจจะเพราะความบาดหมางที่ก่อร่างสร้างตัวมานานยังคุกรุ่นอยู่ หรือด้วยความคิดของลูกหลานวังหน้าอันมีพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต พระโอรสองค์ใหญ่เป็นหัวหน้า
จากพระราชดำรัสสุดท้ายที่ว่า การกู้แผ่นดินเกิดจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทลูกหลานจึงควรจะได้อำนาจสืบต่อกันบ้าง พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตจึงคิดก่อการกับพระยากลาโหมทองอิน โดยตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนมีฝีมือฝึกปรืออาวุธภายในวังหน้า ถ้าพลาดถึงเสียชีวิตให้ฝังไว้ภายในวังหน้า
เหตุการณ์ที่พระองค์เจ้าทั้งสองคิดก่อการจะประทุษร้ายในวันถวายพระเพลิงนี้หาได้รอดพ้นจากวังหลวงไม่ รัชกาลที่ 1 ทรงให้นำตัวทั้งสองมาชำระความ เมื่อรู้ความจริงจึงถอดยศออกแล้วลงโทษถึงชีวิตด้วยท่อนจันทน์ กับหม่อมวันทาพระสนมเอกที่เป็นชู้กับพระยากลาโหมทองอินสิ้นชีพด้วยกันทั้งหมด
ภายหลังรัชกาลที่ 1 ได้ทรงทราบว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีพระราชหฤทัยเข้าด้วยกับฝ่ายกบฏลูกหลานของพระองค์ รัชกาลที่ 1 จึงทรงมีพระราชดำรัสว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชทรงรักลูกหลานมากกว่าแผ่นดิน คิดว่าจะไม่ไปพระราชทานเพลิงให้ แต่ทรงเชื่อคำแนะนำของเสนาบดีจึงเสด็จไปพระราชทานเพลิงที่ได้ทรงจัดให้เป็นงานยิ่งใหญ่