bloggang.com mainmenu search











การแสดงความเคารพ





สำหรับบล็อกวันนี้ จขบ.ขอนำข้อมูลและภาพจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เว็บ kanchanapisek.or.th นำมาให้เพื่อนๆได้อ่าน เพื่อเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง และช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้คงอยู่อย่างงดงามสถาพร



ชาวญี่ปุ่น เขาแสดงความเคารพต่อกันด้วยการโค้งให้ ชาวไทยจะใช้วิธีการไหว้ ชาวทิเบตจะกราบพระด้วยการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ ใช้การนอนราบให้อวัยวะทั้ง 8 ได้แก่ 2 มือ 2 ข้อศอก 2 เข่า และ 2 เท้า คว่ำราบไปกับพื้น บางคนอาจใช้ผ้าหนาๆรอง เพื่อรับน้ำหนักลดแรงกระแทก ชาวไทยจะกราบพระด้วยการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์



เพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมการแสดงความเคารพแบบไทย ขอเชิญอ่านวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง









การแสดงความเคารพมีหลายลักษณะ ได้แก่



1. การประนมมือ



2. การไหว้



3. การกราบ



4. การคำนับ



5. การแสดงความเคารพพระมหากษัตริย์



6. การแสดงความเคารพโดยทั่วไป



7. การรับความเคารพ






การที่จะแสดงความเคารพในลักษณะใดนั้น ต้องพิจารณาผู้ที่จะรับความเคารพด้วยว่า อยู่ในฐานะเช่นใด หรือในโอกาสใด แล้วจึงแสดงความเคารพให้ถูกต้องและเหมาะสม




1. การประนมมือ (อัญชลี) ประนมมือให้นิ้วมือแนบชิดกัน ฝ่ามือราบ ปลายนิ้วตั้งขึ้น แขนแนบตัวระดับอก ไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน



การประนมมือนี้ ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา และขณะพูดกับพระสงฆ์ เป็นต้น




..........................................




2. การไหว้ (วันทนา) การไหว้เป็นการแสดงความเคารพโดยการประนมมือให้นิ้วชิดกัน ยกขึ้นไหว้




การไหว้ แบ่งออกเป็น 3 แบบ ตามระดับของบุคคล ดังนี้




ระดับที่ 1 การไหว้พระ ได้แก่ การ ไหว้พระรัตนตรัย รวมทั้งปูชนียวัตถุ และปูชนียสถานที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือให้ปลายนิ้วชี้จรดส่วนบนของหน้าผาก









ชาย ยืน แล้วค้อมตัวลงให้ต่ำ พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้



หญิง ยืนแล้วย่อเข่าลงให้ต่ำ โดย ถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัด พร้อมยกมือขึ้นไหว้




ระดับที่ 2 การไหว้ผู้มีพระคุณและผู้มีอาวุโส ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครู อาจารย์ หรือผู้ที่เราเคารพนับถืออย่างสูง โดยประนมมือให้ปลายนิ้วชี้จรดระหว่างคิ้ว









ชาย ยืนแล้วค้อมตัวลงน้อยกว่าระดับการไหว้พระ พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้



หญิง ยืนแล้วย่อเข่าลงน้อยกว่าระดับการไหว้พระ โดยถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้




ระดับที่ 3 การไหว้บุคคลทั่วไปที่เคารพนับถือ หรือผู้มีอาวุโสกว่า โดยประนมมือยกขึ้น ให้ปลายนิ้วจรดปลายจมูก









ชาย ยืนแล้วค้อมตัวลงน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้



หญิง ยืนแล้วย่อเข่าลงน้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ โดยถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งเล็กน้อย พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้





ในการไหว้ผู้เสมอกัน ทั้งชายและหญิง ให้ยกมือขึ้นไหว้พร้อมกัน หรือในเวลาใกล้เคียงกัน ในกรณีที่ทำพร้อมกันเป็นหมู่คณะ ควรจะนัดหมายให้ทำอย่างเดียวกัน









การไหว้ตามมารยาทไทยเช่นนี้ ปฏิบัติให้เรียบร้อยนุ่มนวลด้วยความสำรวม จึงจะดูงาม




............................................




3. การกราบ (อภิวาท) เป็นการแสดงความเคารพด้วยวิธีนั่งประนมมือขึ้นเสมอหน้าผาก แล้วน้อมศีรษะลงจรดพื้น หรือจรดมือ แล้วน้อมศีรษะลงบนมือนั้น หรือการกราบลงบนตัก ก็อนุโลมถือว่าเป็นกราบ



ถ้าหมอบแล้วน้อมศีรษะจรดมือที่ประนมถึงพื้น เรียกว่า หมอบกราบ




การกราบมี 2 ลักษณะ คือ การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ และการกราบผู้ใหญ่




3.1 การกราบเบญจางคประดิษฐ์ ใช้กราบพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ หมายถึง การที่ให้อวัยวะทั้ง 5 คือ เข่าทั้ง 2 มือทั้ง 2 และหน้าผากจรดพื้น การกราบจะมี 3 จังหวะ และจะต้องนั่งอยู่ในท่าเตรียมกราบ









ท่าเตรียมกราบ



ชาย นั่งคุกเข่า ปลายเท้าตั้ง นั่งบนส้นเท้า มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง (ท่าเทพบุตร)



หญิง นั่งคุกเข่า ปลายเท้าราบ นั่งทับฝ่าเท้าทั้งสอง มือทั้งสองวางบนหน้าขาทั้งสองข้าง (ท่าเทพธิดา)




จังหวะที่ 1 ( อัญชลี) ยกมือขึ้นประนมระหว่างอก ปลายนิ้วชิดกันตั้งขึ้นแนบตัว ไม่กางศอก









จังหวะที่ 2 (วันทนา) ยกมือขึ้นพร้อมกับก้มศีรษะ โดยให้ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก









จังหวะที่ 3 (อภิวาท) ทอดมือลงกราบ ให้มือและแขนทั้งสองข้างลงพร้อมกัน มือคว่ำห่างกันเล็กน้อย พอให้หน้าผากจรดพื้นระหว่างมือได้









ชาย ให้กางศอกทั้งสองข้างลง ต่อหรือชิดกับเข่าที่ขนานไปกับพื้น หลังไม่โก่ง



หญิง ให้ศอกทั้งสองข้างคร่อมเข่าเล็ก น้อย




ทำสามจังหวะให้ครบสามครั้ง แล้วยกมือขึ้นจบ โดยให้ปลายนิ้วชี้จรดหน้าผาก แล้วปล่อยมือลง การกราบไม่ควรให้ช้าหรือเร็วจนเกินไป




3.2 การกราบผู้ใหญ่ ใช้กราบผู้ใหญ่ที่มีอาวุโส รวมทั้งผู้มีพระคุณ ได้แก่ พ่อ แม่ ครูอาจารย์ และผู้ที่เราเคารพ กราบเพียงครั้งเดียว โดยที่ผู้กราบทั้งชายและหญิงนั่งพับเพียบ ทอดมือทั้งสองข้างลงบนพื้นพร้อมกัน ให้แขนทั้งสองคร่อมเข่าของตนเองเพียงเข่าเดียว มือประนม ค้อมตัวลงให้หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ประนม ไม่ต้องแบมือ ในขณะกราบไม่ควรกระดกนิ้วหัวแม่มือขึ้นรับหน้าผาก










-----------------------------------------




4. การคำนับ ให้ยืนตรง มือปล่อยไว้ข้างลำตัว ค้อมศีรษะเล็กน้อย การคำนับนี้ส่วนมากเป็นการปฏิบัติของชาย แต่ให้ใช้ปฏิบัติได้ทั้งชายและหญิงเมื่อแต่งเครื่องแบบ และไม่ได้สวมหมวก รวมทั้งเมื่อจบเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นต้น










--------------------------------------





5. การแสดงความเคารพพระมหากษัตริย์




5.1 การถวายบังคม เป็นราชประเพณีถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ ในงานพระราชพิธีสำคัญ



ก่อนที่จะถวายบังคม ต้องนั่งอยู่ในท่าเตรียม คือ นั่งคุกเข่า ปลายเท้าตั้ง นั่งบนส้นเท้า เช่นเดียวกันทั้งชายและหญิง มือทั้งสองวางคว่ำเหนือเข่าทั้งสองข้าง ชาย นั่งแยกเข่าได้เล็กน้อย หญิง นั่งเข่าชิด









การถวายบังคมแบ่งออกเป็น 3 จังหวะ ดังนี้



จังหวะที่ 1 ยกมือขึ้นประนมระหว่างอก ปลายนิ้วตั้งขึ้นแนบตัว ไม่กางศอก










จังหวะที่ 2 ยกมือที่ประนมขึ้น ให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดหน้าผาก เงยหน้าขึ้นเล็กน้อย











จังหวะที่ 3 ลดมือกลับลงตามเดิม มาอยู่ในจังหวะที่ 1










ทำให้ครบ 3 ครั้ง โดยจบลงอย่างจังหวะที่ 1 แล้วจึงลดมือลง วางคว่ำเหนือเข่าทั้งสองข้าง




การถวายบังคมดังกล่าวนี้ หญิงมีโอกาสใช้น้อย จะใช้ในกรณีที่มีชายกับหญิงไปถวายบังคมร่วมกัน ถ้าหญิงล้วน ให้ใช้วิธีหมอบกราบแทน




5.2 การหมอบกราบ ใช้แสดงความเคารพพระมหากษัตริย์ ลงมาถึงพระบรมวงศ์ ในโอกาสที่เข้าเฝ้า โดยนั่งพับเพียบ เก็บปลายเท้าแล้วจึงหมอบลงให้ ศอกทั้งสองข้างถึงพื้น คร่อมเข่าอยู่เพียงเข่าเดียว มือประสาน เมื่อจะกราบให้ประนมมือ ก้มศีรษะลง หน้าผากแตะส่วนบนของมือที่ ประนม เมื่อกราบแล้วนั่งในท่าหมอบเฝ้าอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงตัวขึ้นนั่งในท่าพับเพียบตามเดิม















3. การถวายความเคารพแบบสากล ใช้กับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์




ชาย ใช้วิธีการถวายคำนับ โดยค้อมตัวต่ำพอสมควร








หญิง ใช้วิธีการถวายความเคารพแบบย่อเข่า หรือถอนสายบัว มี 2 แบบ คือ



แบบสากลนิยม ยืนตรง หันหน้าไปทางพระองค์ วาดเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหลังเล็กน้อยตามถนัด พร้อมกับย่อตัวลง ลำตัวตรง หน้าตรง สายตาทอดลง ปล่อยแขนทั้งสองข้าง แล้วยืนตรงขึ้น



แบบพระราชนิยม ยืนตรง หันหน้าไปทางพระองค์ วาดเท้าข้างใดข้างหนึ่งไปข้างหลังเล็กน้อยตามถนัด พร้อมกับย่อตัวลง ขณะที่วาดเท้า ให้ยกมือทั้งสองข้างขึ้นวางประสานกันบนเข่า ค้อมตัวเล็กน้อย ทอดสายตาลง เสร็จแล้วยืนตรงขึ้น















--------------------------------------------





6. การแสดงความเคารพโดยทั่วไป




6.1 การแสดงความเคารพศพ จะต้องกราบพระพุทธรูปเสียก่อน แล้วจึงไปทำความเคารพศพ ส่วนการจุดธูปหน้าศพนั้น เป็นเรื่องเฉพาะของลูก หลาน หรือศิษยานุศิษย์ หรือผู้เคารพนับถือที่ประสงค์จะบูชา



การเคารพศพพระ ถ้าเจ้าภาพจัดให้มีการจุดธูป ให้จุด 3 ดอก



ชาย กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง



หญิง กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง









การเคารพศพคฤหัสถ์ ให้ทำความเคารพเช่นเดียวกับตอนที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเป็นศพของผู้ที่มีอาวุโสมาก กราบ 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นศพของผู้ที่มีอาวุโสใกล้เคียงกันกับผู้ที่ไปทำความเคารพ ให้ไหว้ในระดับที่ 3 (ไหว้บุคคลทั่วไป)











ส่วนการเคารพศพเด็กนั้น เพียงยืนสงบ หรือนั่งสำรวมครู่หนึ่ง




ในกรณีศพได้รับพระราชทานเกียรติยศ ผู้เป็นประธานจุดธูปเทียน ที่หน้าพระพุทธรูป และที่หน้าตู้พระธรรม แล้วไปจุดเครื่องทองน้อยที่หน้าศพ เพื่อแสดงว่าผู้วายชนม์บูชาพระธรรม แล้วจึงเคารพศพ



ส่วนผู้ไปในงาน กราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วจึงเคารพศพด้วยการกราบหรือคำนับ





6.2 การเคารพอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ อนุสาวรีย์ หรือบุคคลสำคัญอาจเป็นรูปปั้น ภาพถ่าย ภาพวาด หรือสัญลักษณ์อื่น ให้แสดงความเคารพด้วยการคำนับ หรือกราบ หรือไหว้แล้วแต่กรณี




ในโอกาสพิเศษหรือเป็นพิธีการ เช่น เมื่อครบรอบวันเกิด หรือวันสำคัญที่เกี่ยวข้องอันเป็นพิธีการ ให้ใช้พุ่มดอกไม้ ถ้าครบรอบวันตายหรือแสดงความระลึกถึงอันเป็นพิธีการ ให้วางพวงมาลา



ในโอกาสที่ไม่เป็นพิธีการ อาจแสดงความเคารพ โดยใช้หรือไม่ใช้เครื่องสักการะก็ได้




6.3 การแสดงความเคารพของผู้เป็นประธาน ณ ที่ บูชา เมื่อประธานในพิธี ลุกจากที่นั่งเพื่อไป บูชาพระรัตนตรัย ผู้ร่วมพิธียืนขึ้น และเมื่อประธานเริ่มจุดธูปเทียน ผู้ร่วมพิธีประนมมือเสมออก เมื่อประธานกราบ ผู้ร่วมพิธียกมือประนมขึ้น ให้นิ้วชี้จรดหน้าผาก พร้อมทั้งก้มศีรษะเล็กน้อย




หากที่บูชามีธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย เมื่อประธานบูชาพระรัตนตรัยเสร็จแล้ว ให้ยืน ขึ้นถอยหลัง 1 ก้าว ยืนตรง ค้อมศีรษะคารวะครั้งเดียว ซึ่งถือว่าได้เคารพต่อธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ไปพร้อมกันแล้ว ให้ประธานปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ทั้งชายและหญิง ทั้งที่อยู่ในและนอกเครื่องแบบ




















เมื่อจบพิธีในงานทุกอย่างแล้ว ประธานควรกราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมยืนขึ้นด้วยอาการสำรวม แล้วจึงไหว้ลาพระรัตนตรัยเป็นอันเสร็จพิธี




แต่ในกรณีที่งานนี้ ยังมีกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น ประธานทักทายสังสรรค์ผู้เข้าร่วมประชุม หรือดื่มน้ำชา หรือประธานอยู่ร่วมกิจกรรมด้วย เมื่อประธานจะกลับ ไม่จำเป็นต้องกราบพระรัตนตรัย





6.4 การแสดงความเคารพของผู้ที่แต่งเครื่องแบบ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของสถาบันนั้น ๆ





------------------------------------------------





7. การรับความเคารพ เมื่อผู้น้อยมาทำความเคารพ ควรรับความเคารพด้วยการประนมมือ หรือค้อมศีรษะรับตามควรแก่กรณี








ขอขอบคุณที่ติดตาม



yyswim


yyswim@hotmail.com


Create Date :21 กรกฎาคม 2553 Last Update :26 กรกฎาคม 2553 22:33:06 น. Counter : Pageviews. Comments :14