bloggang.com mainmenu search










สมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสโณ)




ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช



บล็อกเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย ของบล็อกเรื่องชุด“ชาวเกาะสมุย” ซึ่งจะมีทั้งหมด 5 เรื่อง เป็นการแนะนำชาวเกาะสมุย จำนวน 5 ท่าน บล็อกละ 1 ท่าน ทุกท่านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี



ข้อมูลบางส่วนนำมาจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ...ขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้




ขอคนไทยทำดีเพื่อพ่อ อย่าตัดสินด้วยความรุนแรง






คำสอนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)



ในเรื่องเกี่ยวกับสัจจะ



“คนที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ แม้แต่การที่เขาเท็จต่อตนเองก็ยังมี เช่น เราตั้งสัจจะกับตนเองว่า จะไหว้พระทุกวัน พอถึงเวลาเข้าจริง เอาไว้ก่อนเถอะ อย่าเพิ่งไหว้เลย นี่คือเท็จต่อตัวเอง เราตั้งสัจจะกับตนเองว่า เราจะนั่งกรรมฐานทุกวัน ปรากฏว่า วันนี้อย่านั่งเลย ทำธุระเสียก่อน นี่เราก็เท็จต่อตนเองเหมือนกัน เท็จต่อตนเอง คือ ไม่ซื่อตรงต่อตนเอง


การไม่มีสัจจะต่อตนเองอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะมีโทษมากมาย แต่ทำให้เราเป็นคนจิตใจไม่เข้มแข็ง จิตใจไม่แน่นอน จิตใจโยกโคลง แม้ตัวเราเอง เราก็ไม่มีสัจจะต่อตัวของเรา


สัจจะต่อตนเองนั้น ต้องมีในทุกกรณี เช่น ถ้าทำอะไรต้องทำจริง อย่าสักแต่ว่าทำเล่นๆ เหมือนกับกิ้งก่า วิ่งไปแล้วก็หยุด หยุดแล้วก็วิ่ง เขาเรียกว่า กิ้งก่า คนเป็นกิ้งก่ากันเยอะเหมือนกัน ทำทำ หยุดหยุด ทำทำ หยุดหยุด อย่าเป็นกิ้งก่า ทำอะไรให้ทำจริง นึกอยู่เสมอว่า ถ้าเราทำแล้วต้องตั้งใจจริง ทำจริง”







ในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบ



“ระเบียบแบบแผน กฎ กติกา และกฎหมายต่างๆ ที่เราปฏิบัติร่วมกัน สงเคราะห์เข้าอยู่ในประเภทศีล เพราะเป็นเรื่องระเบียบ แต่ไม่ใช่ศีลโดยตรง ศีลโดยตรงนั้น ต้องเป็นบาทฐานแห่งสมาธิ คือ เมื่อถือปฏิบัติในศีลแล้ว จิตใจต้องสูงขึ้น จนกระทั่งเป็นไปเพื่อความสงบ ทำให้สมาธิเกิดขึ้น


แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรที่จะปฏิเสธระเบียบแบบแผน กติกา และกฎหมายต่างๆที่กำหนดขึ้นมาใช้ในบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายทางบ้านเมืองฝ่ายสงฆ์ หรือฝ่ายฆราวาส


คนในบ้านเมืองต้องรู้จักรักษาระเบียบ ถ้าหากขาดระเบียบแล้วมันก็ไม่ดีงาม และถ้าขาดระเบียบแล้ว อย่าหวังเลยว่าคนนี้จะเป็นคนมีศีลต่อไปข้างหน้า เพราะระเบียบเป็นรากฐานของศีล แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่รู้จักรักษา แล้วจะไปรักษาระเบียบที่สูงขึ้นได้อย่างไร ต้องสอนกันอีกมาก ต้องขัดต้องขูด ต้องเกลาอีกเยอะ ความเป็นผู้มีศีล จะหลุดลอยไปเสีย เพราะเราไม่รู้จักรักษาระเบียบนั่นเอง”







ในเรื่องเกี่ยวกับความกตัญญู



“ผู้ที่มีคุณ ใช่ว่าจะต้องเป็นผู้ใหญ่ ใช่ว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่าเรา แม้คนที่มีอายุน้อยกว่าเรา เราก็ต้องจำ บางทีเขาเป็นเด็กแต่เขาเคยเอื้อเฟื้อแก่เรา เคยหยิบอะไรให้ เคยฉวยอะไรให้ เคยแบ่งเบาภาระอะไรให้ ก็ต้องนึกเหมือนกัน คือ เราไม่ได้ไปเคารพที่ตัวเขา แต่เคารพคุณธรรมที่เขามี


บางทีเณรเคยมีอุปการะแก่พระ พระไม่คิดถึงบุญคุณเณร อย่างนี้ไม่ได้ ใช่ว่าพระคิดถึงบุญคุณเณรแล้ว จะต้องไปกราบ ไปไหว้เณร แต่ต้องรู้ว่า เณรองค์นี้ เคยทำความดีไว้เหมือนกัน ควรจะให้อะไรตอบแทน นี่คือ หลักกตัญญูกตเวทิตาธรรม


ใครมีความดีแก่เราแม้เพียงเล็กน้อย เรามองเห็น เราต้องหาโอกาสที่จะทำให้ชัดเจนขึ้นว่า คนนี้เขามีความดี เราต้องพยายามทำให้ความดีชัดขึ้น นี่คือ กตัญญูกตเวทิตาธรรม


กตัญญูกตเวทิตาธรรมอย่างนี้ เราไม่ค่อยได้พูดถึงกัน โดยมากเราพูดถึงในลักษณะของพ่อแม่กับลูก ครูบาอาจารย์กับศิษย์ เป็นเรื่องที่ถูก เพราะความกตัญญูต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์นั้น เป็นสิ่งที่เราจำเป็นจะต้องมีอย่างชัดเจนแน่นอน ถ้าขาดกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ไปเสียแล้ว ข้ออื่นก็พากันเลวหมด”







ในเรื่องเกี่ยวกับความรัก



“คนที่ยังเป็นปุถุชนธรรมดา ก็ปรารถนาที่จะให้คนรัก อยากให้คนเคารพ อยากให้คนอื่นสนใจ แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้าแล้ว ท่านพ้นภาวะที่จะต้องเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น อยู่ในภาวะที่ไม่ต้องการให้คนเขารักแล้ว


คนบนโลกนั้น ใช้ความรักความความชังเป็นเหตุผล ไม่ได้ใช้เหตุผลมาเป็นเหตุให้เกิดความรัก เราจึงมักจะรัก เราจึงมักจะชัง โดยไม่มีเหตุผล ชอบใจคนไหน แม้จะเสียหายอย่างไร เราก็รักของเรา อย่างนี้เรียกว่าเอาความรักเป็นเหตุผล บางทีคนเขาดีแสนดี แต่เราก็เกลียด ไม่ชอบน้ำหน้า อย่างนี้เรียกว่า เอาความชังเป็นเหตุผล ไม่ได้เอาเหตุผลขึ้นมาเป็นเบื้องต้น


เราต้องนึกด้วยว่า เป็นไปไม่ได้ที่เราจะสร้างความรักให้เกิดขึ้นแก่ทุกคน แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเพียบพร้อมด้วยคุณทุกประการ แต่ก็ยังมีคนที่คอยว่าร้าย คอยล้างผลาญ เราจึงต้องทำความเข้าใจกับตนเองว่า เราทำให้คนที่มีเหตุผลเท่านั้นรักได้ แต่เราไม่สามารถที่จะทำให้คนไม่มีเหตุผลมารักได้”









ตามที่ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงประชวร และเสด็จประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้ทรงไม่สามารถปฏิบัติพระศาสนกิจได้สะดวก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้ขอความเห็นจากคณะแพทย์ และคณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร มีพระเทพสารเวที ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เสนอที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคมในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2547



ที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม มีมติอนุโมทนาสนองข้อเสนอดังกล่าว โดยให้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นการชั่วคราว และโดยที่สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิธ สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์มีอายุ 96 พรรษา ยังอาพาธ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงเห็นสมควรให้ สมเด็จพระราชาคณะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ลำดับถัดไป ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โดยมีสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะอื่น อีก 5 รูป เป็นผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2547 มีนาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนาม



สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 เรื่อยมาจนครบระยะเวลาที่กำหนดไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2547 เพื่อให้มี คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 และมหาเถรสมาคม มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุม เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก



คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประกอบด้วยพระราชาคณะ รวม 7 รูป จากพระอาราม 7 วัด ทั้งจากฝ่ายมหานิกาย และธรรมยุตนิกาย โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำหน้าที่ประธาน



และพระราชาคณะอีก 6 รูป ในคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีดังนี้


สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร (มหานิกาย)


สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ (มหานิกาย)


สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม (มหานิกาย)


สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม (ธรรมยุต)


สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ (ธรรมยุต)


สมเด็จพระญาณวโรดม เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส (ธรรมยุต)







สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) นามเดิม เกี่ยว โชคชัย เป็นพระสงฆ์มหานิกาย ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เคยรักษาการแทนพระสังฆราช และปัจจุบันเป็น ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโส โดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม












สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2471 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง ปัจจุบันอายุ 81 ปี เกิดที่บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 6 คน ของนายฮุ้ยเลี้ยน แซ่โหย้ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี แซ่โหย้ (ยี โชคชัย) ครอบครัวของตระกูลมีอาชีพทำสวนมะพร้าว



สมเด็จพระพุฒาจารย์ สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2483 และก่อนที่จะถึงกำหนดวันเดินทางไปศึกษาต่อยังโรงเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่า หากหายจากป่วยไข้ได้ ก็จะให้บวชเป็นสามเณร ซึ่งต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้หายจากอาการป่วยไข้ จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์



ความตั้งใจเดิมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือ สามเณรเกี่ยว คือ การบวชแก้บนเพียง 7 วัน แล้วจะลาสึกไปรับการศึกษาในฝ่ายโลก แต่เมื่อบวชแล้วก็ได้เกิดเปลี่ยนใจ ไม่คิดจะสึกตามที่เคยตั้งใจไว้ โยมบิดามารดาจึงได้พาสามเณรเกี่ยว ไปฝากกับหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย



ในเวลาต่อมา หลวงพ่อพริ้งได้นำสามเณรเกี่ยว ไปฝากไว้กับอาจารย์เกตุ คณะ 5 วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่หลังจากนั้นไม่นาน กรุงเทพต้องประสบภัยจากสงครามโลกครั้งที่สองถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด หลวงพ่อพริ้งจึงได้รับตัวสามเณรเกี่ยว ไปฝากไว้กับท่านอาจารย์มหากลั่น ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา



เมื่อสงครามสงบลง หลวงพ่อพริ้ง จึงนำสามเณรเกี่ยว กลับไปที่วัดสระเกศอีกครั้งหนึ่ง แต่ในเวลานั้น ท่านอาจารย์เกตุ ได้ลาสิกขาบทไปแล้ว หลวงพ่อพริ้งจึงนำสามเณรเกี่ยว ไปฝากไว้กับ พระครูปลัดเพียบ ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนา เป็นพระธรรมเจดีย์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ







สามเณรเกี่ยว ได้ศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ต่อมาเมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช อยู่ ญาโณทโย ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และเมื่อปี พ.ศ. 2497 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค



สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ













สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ โดยลำดับ ดังนี้


พ.ศ. 2501 เป็นราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระเมธีสุทธิพงศ์


พ.ศ. 2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิเมธี


พ.ศ. 2507 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์


พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์


พ.ศ. 2516 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์


พ.ศ. 2533 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์







งานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์



พ.ศ. 2494 - 2514 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ...โดยในปี พ.ศ. 2494 เป็นครูสอนปริยัติธรรม ..ต่อได้เป็นกรรมการตรวจ ธรรมสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2496 ..และเป็นกรรมการตรวจ บาลีสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2497 ..ในปีเดียวกัน ได้เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฏก ฉบับ พ.ศ. 2500 ของคณะสงฆ์



ในปี พ.ศ. 2500 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลี ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ..ในปีต่อมา ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกบาลีธรรม และเป็นอาจารย์สอนพระสูตร และประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ....ในปีพ.ศ. 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย



ในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม ....ในปี พ.ศ. 2507 ได้รับเลือกเป็น เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองเจ้าคณะภาค 9 (เขตปกครองจังหวัด ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด) ...... ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช



ในปี พ.ศ. 2513 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการร่างหลักสูตร ร.ร. พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ....ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสวัดสระเกศ



(ซ้าย) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ กรุงเทพฯ (ขวา) พระพรหมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) และ (กลาง) พระเทพปริยัติเมธี (รุ่น ธีรปญฺโญ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดชลประทานฯ






ในปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ .....นับเป็นพระองค์ที่ 3 ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับสถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็นชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี



ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 (เขตปกครองจังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, นครพนม, ยโสธร, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ) ....ในปี พ.ศ. 2528 ได้ เป็นประธานกรรมาธิการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหนใหญ่หนตะวันออก ....และในปี พ.ศ. 2534 ได้เป็น ประธานกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 .....ในปี พ.ศ. 2540 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของมหาเถรสมาคม และเป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย ..... นอกจากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา และได้แสดงธรรมทางสถานีวิทยุ 919 ในรายการ “ของดีจากใบลาน” เป็นประจำเสมอมา












ภารกิจต่างประเทศ




ในปี พ.ศ. 2498 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ไปร่วมประชุมฉัฏฐสังคีติ ณ สหภาพพม่า .... ในปี พ.ศ. 2505 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปดูการศาสนาและเพื่อศาสนสัมพันธ์ ที่เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง ....ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2510 ได้เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์ การศึกษาพระพุทธศาสนา ที่ลาว ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง .... และในปี พ.ศ. 2512 เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูต



ในปี พ.ศ. พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ไปสังเกตการณ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา ......และในปี พ.ศ. 2525 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกในตำแหน่งรองประธานสภาสงฆ์แห่งโลก



สมเด็จพระพุฒาจารย์ เยือนลาว สานสัมพันธ์สองฝั่งโขง


















ผลงานด้านหนังสือ




สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีผลงานด้านการเขียนหนังสือ ประกอบด้วย


ธรรมะสำหรับผู้นับถือพระพุทธศาสนา, ดีเพราะมีดี (พิมพ์ ธ.ค. พ.ศ. 2540)


ทศพิธราชธรรม (พิมพ์ ธ.ค. พ.ศ. 2541)


วันวิสาขบูชา (พิมพ์ พ.ศ. 2542)


การนับถือพระพุทธศาสนา, ปาฐกถาธรรมสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ), โอวาทพระธรรมเทศนาและบทความสมเด็จพระพุฒาจารย์, การดำรงตน, และ คุณสมบัติ 5 ประการ







หมายเหตุจาก จขบ. : ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ และ ศุ บุญเลี้ยง เป็นคนตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย เป็นคนบ้านเดียวกันกับผม ...สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และ วิชัย ศรีขวัญ เป็นคนบ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย ...สำหรับ เด่นเก้าแสน ผมไม่ทราบว่า บ้านคุณพ่อคุณแม่ของเด่นเก้าแสนอยู่ละแวกไหน แต่ขอคาดคะเนว่า อยู่ที่ตำบลหัวถนน อำเภอเกาะสมุย ด้วยที่นั่นเป็นชุมชนชาวมุสลิม ....อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ จะใกล้ชิดกับคนในตำบลอ่างทองมาก คนในตำบลอ่างทองจะรู้จักท่านและเคารพท่านทุกคน เพราะท่านเคยจำพรรษาที่ วัดแจ้ง หลายครั้ง



วัดแจ้ง เป็นวัดประจำตำบลอ่างทอง เป็นวัดที่มีหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เป็นเจ้าอาวาส และเป็นเกจิอาจารย์ด้านมีใจเมตตา



สมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือชื่อที่ผมเรียกท่าน คือ “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” ให้ความกรุณาต่อผมและคุณพ่อคุณแม่ของผมเป็นอย่างมาก คือบ้านของคุณพ่อคุณแม่ผม อยู่ใกล้กันกับบ้านของพี่สาวของ “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” รวมทั้งหลานชายของท่าน (ลูกของพี่สาว) ก็เป็นเพื่อนเรียนเพื่อนเล่นกับผมมาตั้งแต่วัยเด็กจนเข้าโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยม ผมจะเข้าหน้าบ้านเดินออกหลังบ้านบ้านพี่สาวของ “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” เป็นประจำ เพราะจะไปเล่น ไปเรียนอยู่กับเพื่อนของผมเอง



ครั้นถึงวัยบวชเรียน ผมได้บวชเรียนที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” ก็ให้ความกรุณาเป็นอย่างสูง ช่วยเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ และให้ผมจำพรรษาอยู่ที่คณะ 7 อันเป็นที่ประทับของ “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” และ “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” ยังช่วยกรุณาอบรมสั่งสอนผมหลายเรื่อง และมอบอาหารในมื้อเช้าและมื้อเพลให้ผมหลายอย่าง ...แฟลตที่ผมพักอาศัย รวมทั้งรถยนต์ที่ผมใช้ “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” จะช่วยกรุณาเจิมให้ และนับเป็นมงคลอย่างสูง ที่แฟลตและรถยนต์ของผม ยังไม่เคยปรากฏปัญหาใดๆ ทั้งจากขโมยและอุบัติเหตุ



ความกรุณาของ “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” อย่างยิ่งใหญ่ต่อผมและต่อคนในตระกูล คือ เมื่อคุณพ่อของผมสิ้นลม “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” กรุณาอนุญาตให้จัดงานศพที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และเป็นประธานจุดไฟพระราชทานเพลิงศพ รวมทั้งอยู่ร่วมในงานจนงานพระราชทานเพลิงศพแล้วเสร็จ นับเป็นความกรุณาอย่างยิ่งใหญ่ที่ผมและทุกคนในตระกูล จะระลึกถึงพระคุณของ “หลวงพ่อใหญ่สมเด็จฯ” ตราบชีวิตหาไม่








yyswim


yyswim@hotmail.com


Create Date :30 กรกฎาคม 2552 Last Update :30 กรกฎาคม 2552 13:48:30 น. Counter : Pageviews. Comments :30