bloggang.com mainmenu search



01.jpg



โฮมสเตย์ บ้านดิน



นำมาจาก คอลัมน์ ท่องเที่ยวเกษตร

บทความเรื่อง “โฮมสเตย์แม่โจ้บ้านดิน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างวิถีเกษตรอินทรีย์ ดึงนักท่องเที่ยวชมวิถีชาวบ้าน พักโฮมสเตย์บ้านดิน”

เขียนโดย โรส มาลา

จากนิตยสาร เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 21 ฉบับที่ 455 วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 หน้า 67




หมายเหตุ : จขบ.นำบทความเรื่องนี้มาเสนอ เพื่อเป็นไอเดียการทำโฮมสเตย์ และการมีวิถีชีวิตแบบพอเพียง





02.jpg





เสียงหัวเราะพร้อมเสียงพูดคุยของนักท่องเที่ยวจากยุโรป กำลังสนุกสนานกับการย่ำดินโคลน เพื่อจะนำไปทำเป็นบ้านดิน เท้าขาวๆ สองเท้ากำลังเหยียบย่ำลงไปในดินที่กำลังเหนียว พร้อมที่จะนำไปสร้างเป็นบล็อกต่อไป



บ้านหลังเล็กบนที่ดินเล็กๆ เป็นฝีมือของชาวบ้านและกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้ามาเที่ยว ช่วยกันสร้าง เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ของคนมาเที่ยวที่ได้มาสร้างความสุขร่วมกันกับชาวบ้าน เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ที่นี่ โฮมสเตย์แม่โจ้ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่



ภาพของชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้ผู้มาเยือนอย่างเรานั้นถึงกับยืนยิ้มในความงดงามแห่งวิถีชีวิตที่กำลังก้าวเดินไปอย่างช้าๆ บนโลกที่กำลังเดินเร็วขึ้น



คุณทองใบ เล็กนามณรงค์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มโฮมสเตย์แม่โจ้บ้านดิน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนชาวบ้านได้มาบอกเล่าถึงเรื่องที่สำคัญของการสร้างบ้านดินและหันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ที่จะนำพาชีวิตใหม่ของผู้คนทั้งหมู่บ้านให้เดินไปสู่วิถีชีวิตที่มั่นคงมากขึ้น




03.jpg





เดิมทีหมู่บ้านแม่โจ้นั้น มีอาชีพทำการเกษตรและปลูกไม้ผลต่างๆ เป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน แต่วิธีการนั้นยังคงมุ่งมั่นกับการปลูกเพื่อเน้นปริมาณให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยลืมไปว่า ยิ่งทำมากเท่าไหร่ คุณภาพชีวิตก็ยิ่งแย่ลง



ผลพวงส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ชาวบ้านทำการเกษตรโดยใช้สารเคมีที่มากขึ้น สารเคมีเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านนั้นจนลง เนื่องจากการใช้ในปริมาณที่มากไป แม้จะให้ผลผลิตที่มากแต่ผลกระทบกลับมาก็มีมากเช่นกัน ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับกลายเป็นดินที่แทบจะไม่เหลือคุณค่าให้ได้ชื่นชม ยิ่งช่วงหลังทำเท่าไหร่ก็มีแต่หนี้สินพอกพูน ราคายาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมีสูงมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินกันมากมาย ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นโรคเครียดไปตามๆ กัน



เมื่อประมาณปีที่แล้ว ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของเศรษฐกิจแบบพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของในหลวง ที่แม้จะรู้ช้าไปสักหน่อย แต่ก็ว่ายังไม่สายเกินไปที่จะทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่พอจะลืมตาอ้าปากมาได้บ้าง หยุดการเป็นหนี้ มาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ เหลือก็นำมาขาย สร้างรายได้ในรูปแบบของวิถีทางแบบเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ชีวิตของชาวบ้านนั้นดีขึ้นมาก



พืชผักที่นำมาปลูกนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นผักพื้นบ้านต่างๆ เช่น ผักจินดา ผักหวาน ผักไผ่ ผักกาด(ดอง) ผักตามฤดูกาลที่ตลาดมีความต้องการ รวมไปถึงไม้ผล อย่างลำไย ลิ้นจี่ ก็ยังปลูกกันอยู่ แต่หันมาใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติทดแทนปุ๋ยเคมีมากขึ้น อาจจะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์นัก แต่ก็สามารถลดระดับการใช้ลงได้ค่อนข้างมากทีเดียว



อีกทั้งยังได้หันมาทำบ้านดิน พัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย




04.jpg





คุณทองใบ เล่าให้ฟังอีกว่า ที่ทำเป็นบ้านดินนั้น มีต้นแบบมาจาก คุณโจ จันได ผู้ที่สร้างบ้านดินคนแรกๆ ในเมืองไทย ซึ่งได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแม่โจ้แห่งนี้ โดยคุณโจได้แนะนำให้ความรู้ รวมไปถึงรูปแบบการสร้าง ทำเป็นบ้านดินโฮมสเตย์ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านนั้นดีขึ้น



ข้อดีของการทำบ้านดิน คือ ประหยัด มูลค่าก่อสร้างไม่สูงมาก ชาวบ้านสามารถลงทุนทำได้ อีกทั้งช่วยเรื่องของการลดภาวะโลกร้อนที่ตรงกับความต้องการของผู้คน ที่หันมาใส่ใจห่วงใยโลกมากขึ้น



และบ้านดินมีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่ง คือ ช่วงฤดูร้อนบ้านดินจะเย็น ฤดูหนาวบ้านจะอบอุ่น ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพดินที่นำมาใช้ทำบ้าน สามารถดูดซับความร้อนและความเย็นได้เป็นอย่างดี ในหมู่บ้านแม่โจ้ตอนนี้ เปิดเป็นโฮมสเตย์ไปแล้ว 9 หลัง



เป้าหมายคือ จะเปิดให้ครบทั้งหมู่บ้าน เน้นการใช้วัตถุดิบที่มีในหมู่บ้านเป็นหลัก เช่น ใบตองตึงก็นำมาทำเป็นหลังคา แรงงานก็มาช่วยกันลงแขก ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ทุนน้อยทุนมากก็ช่วยกันไป เพื่อจะให้แต่ละครอบครัวได้มีบ้านดินครอบครัวละหนึ่งหลัง ให้ได้ตามเป้าหมาย



ผ่านไปหนึ่งปี ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรปที่คุณโจ จันได เป็นคนแนะนำมาให้ บ้านดินที่ชาวบ้านทำนั้น มีลักษณะเป็นบังกะโลหลังเล็ก ขนาด 4x4 เมตร




05.jpg




วิธีการทำก็ง่ายๆ เริ่มจากการใช้ดินอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นดินที่ไม่มีเศษหินปน หลังจากนั้นนำมาผสมกับน้ำ ใส่แกลบลงไป แล้วย่ำให้เข้ากัน เมื่อรู้สึกว่าเหนียวเข้ากันแล้ว ก็เอาไปขึ้นเป็นรูป ใส่ลงไปในบล็อกที่ได้เตรียมเอาไว้ ขนาด 10x20 เซนติเมตร ตากไว้ 3 วัน กลับข้าง แล้วไปตกแต่งบล็อกดินให้เรียบร้อย กลายเป็นบล็อกดินที่สวยงาม สามารถนำไปสร้างบ้านได้เลย



เวลาใช้ก็นำไปประสานด้วยดินเหนียวๆ อีกครั้งหนึ่ง แม้จะเป็นบ้านดินแต่ก็ยังต้องมีส่วนอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย อย่างโครงสร้างข้างบน ในส่วนของหลังคา และหน้าต่าง ก็ใช้ไม้เก่าๆ นำมาทำเป็นขอบบานหน้าต่าง บานประตู หลังคาก็ใช้ใบหญ้าคา แค่นี้ก็ได้ออกมาเป็นบ้านดินอย่างสมบูรณ์ ตกแต่งภายในบ้านให้เรียบร้อย จะเอาหรูหราหรือเรียบง่าย ก็ตามแต่งบประมาณที่มี แค่นี้ก็พร้อมที่จะต้อนรับผู้มาเยือนอยู่เสมอได้แล้ว



คุณทองใบ บอกอีกว่า การมาทำบ้านดินนั้น ช่วยทำให้วิถีชีวิตของตัวเองและชาวบ้านนั้นดีขึ้นมาก เป็นการอุดรูรั่ว หยุดความอยากของตัวเองลง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชาวบ้าน และชาวบ้านเองก็เกิดความสามัคคีกันมากขึ้น ช่วยเหลือดูแลกันตลอด เป็นชีวิตที่พอเพียงสมกับแนวทางพระราชดำริของในหลวง ที่พระองค์ทรงอยากให้ทุกๆ คนได้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ภาพของความเห็นแก่ตัวลดน้อยถอยลง ทำให้ชีวิตนั้นมีความสุขมากขึ้น แม้ว่าชาวบ้านจะมีหนี้สินอยู่ ปัจจุบันก็ได้ไปขอลดหนี้และขอผ่อนชำระดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินต่างๆ ทำให้ชีวิตแห่งความพอเพียงนั้นสมดุลมากขึ้นอีกด้วย




06.jpg





สำหรับโปรแกรมการท่องเที่ยวนั้น ชาวบ้านได้จัดโปรแกรม คือ ท่องเที่ยว 3 วัน 2 คืน ค่าที่พักคิดคนละ 250 บาท ต่อคืน ต่อคน หลังหนึ่งอาศัยอยู่ได้ 4 คน และ 2 คน อาหารคิดมื้อละ 50 บาท เป็นอาหารพื้นบ้านที่ชาวบ้านประกอบขึ้นมาเอง และอาหารสามารถพลิกแพลงได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้มาพักต้องการแบบไหน



หรือจะจัดเป็นกิจกรรมก็ได้เช่นกัน หากมาเป็นหมู่คณะ ก็จะจัดการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นของเยาวชนในหมู่บ้านให้ชมด้วย มีดนตรีพื้นบ้านที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์รักษาเอาไว้ พร้อมทั้งมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ ชุดเล็ก ชุดใหญ่ให้เลือกด้วย สิ่งแรกที่ทุกคนจะได้รับจากการเข้าพักบ้านดินคือ การได้เรียนรู้ถึงการทำบ้านดิน การทำเกษตรในแบบวิถีเกษตรอินทรีย์ รวมไปถึงท่องเที่ยวในชุมชน ที่จะมีภาพวิถีชีวิตชาวบ้านแม่โจ้ที่อยู่กันอย่างเรียบง่าย นักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวชมวัดประจำหมู่บ้าน ที่มีสถาปัตยกรรมงดงามในแบบล้านนา เดินชมป่าที่อยู่ใกล้เคียงหมู่บ้าน และชมผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าฝ้ายที่ทางกลุ่มได้ร่วมกับหมู่บ้านใกล้เคียง นำมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย



หากใครสนใจอยากไปเยี่ยมชมพักผ่อนหลบลมร้อน ที่โฮมสเตย์บ้านดิน สามารถสอบถามรายละเอียดไปได้ที่ โทร. (087) 189-3913, (086) 197-1120 เที่ยวเมืองไทย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น




07.jpg






ขั้นตอนในการก่อสร้างบ้านดิน


โดย เอก สล่าเอื้องจัน

จากเว็บ baandin.com





08.jpg





ขั้นตอนในการก่อสร้างบ้านดิน อาจจะแตกต่างจากการก่อสร้างบ้านทั่วไป เนื่องจากบ้านดินไม่มีระบบโครงสร้าง บ้านดินใช้กำแพงรับน้ำหนัก เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างกระชับ ทำได้รวดเร็ว การดำเนินการก่อสร้างบ้านดิน มีขั้นตอนดังนี้



ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกบ้าน


พื้นที่สำหรับทำบ้านดิน ควรเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ไม่ใช่ทางน้ำไหลบ่า หากเป็นพื้นที่ถมดินใหม่ ควรถมทิ้งไว้ประมาณ 1 ปี หรือผ่านช่วงฤดูฝนสัก 1 ครั้ง



ขั้นตอนที่ 2 การทำอิฐดิน


การทำอิฐดินสำหรับผู้ที่ออกแรงเป็นประจำ จะทำอิฐดินได้วันละ 70 - 100 ก้อน การตากอิฐดิน ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน เมื่อตากอิฐได้ประมาณ 2-3 วัน ให้พลิกอิฐขึ้นตั้งทางด้านแนวนอน และทำการแต่งก้อนอิฐในช่วงเวลานี้ จะมีฝุ่นกระจายออกมาน้อย เมื่ออิฐแห้งสนิทดีแล้ว ควรนำอิฐมากองรวมกันไว้กลางบ้าน เพื่อสะดวกและก่อกำแพงได้รวดเร็ว การขนย้ายควรทำเพียงครั้งเดียว จากบริเวณตากอิฐมาที่กลางบ้าน



ขั้นตอนที่ 3 การทำรากฐานบ้าน


การทำรากฐานบ้านดิน ควรทำรากฐานให้เสร็จและถมดินให้เรียบร้อย ก่อนขนย้ายอิฐดินขึ้นมากองไว้กลางบ้าน



ขั้นตอนที่ 4 การก่อกำแพงบ้าน


หลังจากที่นำอิฐดินมากองไว้กลางบ้านเรียบร้อยแล้ว ช่วงแรกของการก่อกำแพงบ้านจะเร็ว หากก่อขึ้นสูงการทำงานอาจจะช้าลง เพราะต้องส่งอิฐดินขึ้นสูง ช่วงนี้อาจติดตั้งวงกบประตูหน้าต่างได้ หรืออาจจะเว้นช่องเอาไว้ติดตั้งในช่วงฉาบ แรงงาน 3 คนสามารถก่ออิฐดินได้วันละ 300 - 500 ก้อน



ขั้นตอนที่ 5 การขุดบ่อส้วม


ในระหว่างที่ดำเนินการก่อกำแพงบ้าน หากช่วงเย็น วัสดุที่เตรียมไว้สำหรับก่อหมด อาจใช้ช่วงเวลานั้นขุดบ่อส้วมได้ หรืออาจจะขุดหลังจากที่ก่อกำแพงเสร็จ



ขั้นตอนที่ 6 การเดินระบบไฟฟ้า ท่อน้ำดี ท่อน้ำเสีย


ก่อนฉาบบ้าน ควรจะเดินท่อน้ำดี น้ำเสีย ท่อส้วมให้เรียบร้อยก่อน เพราะจะทำให้ไม่ต้องเสียเวลา เจาะกำแพงหลังจากที่ฉาบเสร็จ



ขั้นตอนที่ 7 ฉาบกำแพงบ้าน


การฉาบกำแพงบ้าน ควรฉาบก่อนที่จะขึ้นโครงสร้างหลังคา เพราะหลังจากที่ฉาบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้กำแพงบ้านมีความแข็งแรงมากขึ้น และยังจะช่วยให้แดดส่องกำแพงบ้านได้เต็มที่ ช่วยให้ดินที่ฉาบแห้งเร็ว



ขั้นตอนที่ 8 ทำโครงสร้างหลังคา


โครงสร้างหลังคา จะมีส่วนที่เชื่อมโยงกับกำแพงบ้าน อาจจะทำโครงสร้างหลังคาไปพร้อมกับงานฉาบได้ หลังจากที่วางอะเส ของโครงสร้างหลังคาเสร็จแล้ว อาจใช้ดินผสมฟางฉาบปิดอะเส เพื่อเพิ่มความแข็งแรง



ขั้นตอนที่ 9 มุงหลังคา


การมุงหลังคาบ้าน ควรมุงหลังจากกำแพงบ้านแห้งสนิทดีแล้ว จะช่วยให้การดำเนินการเร็วขึ้น




09.jpg





ขั้นตอนที่ 10 ทำเพดานบ้าน


หลังจากมุงหลังคาบ้านเสร็จสิ้น ดำเนินการทำโครงสร้างเพดานและติดตั้งเพดานให้เสร็จสิ้น รวมทั้งทาสีเรียบให้เรียบร้อย จะช่วยให้ไม่ต้องย้ายนั่งร้านหลายครั้ง



ขั้นตอนที่ 11 ฉาบสี


หลังจากทำเพดานบ้านเสร็จสิ้น เริ่มต้นทาสีกำแพงบ้าน ควรเริ่มด้านในบ้านก่อน เพราะภายในบ้าน จะได้รับแสงแดดน้อย และอากาศทายเทได้ไม่ดีเท่าบริเวณนอกบ้าน จะทำให้สีแห้งช้า เมื่อฉาบสีด้านในบ้านเสร็จเรียบร้อย อาจจะเก็บรายละเอียดบริเวณขอบประตูหน้าต่างอีกครั้ง แล้วทำการฉาบสีพื้นบ้าน หรือปูกระเบื้องหากต้องการ



ขั้นตอนที่ 12 เทพื้น


การเทพื้น หากเป็นพื้นดิน อาจจะเทพื้นทิ้งไว้ หลังจากฉาบกำแพงบ้านเรียบร้อยแล้ว เพราะพื้นดินจะใช้เวลานานกว่าที่จะแห้งสนิท อาจใช้เวลาอย่างน้อย 1 อาทิตย์ หากยังไม่ได้มุงหลังคาจะช่วยให้พื้นแห้งไวขึ้น หากเป็นพื้นปูนสามารถเทหลังจากที่ทาสีบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้ไม่ต้องจัดการกับสีที่ฉาบและร่วงลงมามากนัก



ขั้นตอนที่ 13 ติดตั้งบานประตู หน้าต่าง


หลังจากฉาบสีและเทพื้น เสร็จสิ้นแล้ว ทำการติดประตูหน้าต่างและทาสี ควรหากระดาษหรือผ้ายางรองพื้นกันสีตกลงพื้น



ขั้นตอนที่ 14 ติดตั้งหลอดไฟ ติดตั้งสุขภัณฑ์


ขั้นตอนสุดท้าย เป็นการติดตั้งระบบไฟฟ้า ก๊อกน้ำ ชักโครก


20 มกราคม 2550




เมื่อต้องการสร้างบ้านดินเป็น บ้าน 2 ชั้น ชั้นบนจะสร้างด้วยไม้

12.jpg





บ้านดินจากต่างประเทศ

10.jpg




11.jpg





แจกฟรี ! VCD สอนสร้างบ้านดิน ที่เว็บ budpage.com

ขอเชิญติดต่อขอรับฟรี เขาบอกว่า สร้างเองได้ ประหยัดเงิน

โดยลดค่าก่อสร้างลงเหลือ 10--30 % ของงบประมาณสร้างบ้านทั่วไป



ท่านใดต้องการอ่าน ข้อมูลเรื่องโฮมสเตย์ เพิ่มเติมขอเชิญเปิดอ่านที่นี่



yyswim


yyswim@hotmail.com


Create Date :28 พฤษภาคม 2552 Last Update :12 มิถุนายน 2552 10:31:06 น. Counter : Pageviews. Comments :31