Manic ... (2001)



สังคมไทยในยุคเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่สามารถตอบสนองเรื่องราวข่าวสารถึงผู้บริโภคที่ต้องการข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแผ่กว้าง เป็นยุคที่ทุกอย่างต้องเข้าถึง ต้องทันการ รวดเร็วและฉับไวอย่างที่สุด ไม่มีเวลาอ้อยอิ่งหรือละเลียดละไมให้กับสิ่งใดๆได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าถ้าเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพิ์ จึงต้องเป็นข่าวที่ดัง ที่แรง ที่สามารถดึงสายตาคนที่เร่งรีบให้หยุดชะงักอ่านได้ และเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะให้ความสนใจต่อสิ่งเร้าประเภทกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นอยากเห็นเป็นที่สุด อยากเห็นภาพอุบัติเหตุแรงๆ (แม้จะตามมาด้วยอาการหดหู่ แต่ก็ขอให้เห็นให้รับรู้ไว้ก่อน) อยากอ่านข่าวร้ายๆของคนอื่น อยากรู้ความหายนะของคนอื่น ข่าวพาดหัวส่วนใหญ่จึงมักต้อง แรง ไว้ก่อนเสมอ

ซึ่งมันก็เป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย (และในที่นี้ ก็จะขอมองในประเด็นที่ว่ามันดีก่อนก็แล้วกัน) เราจะเห็นว่าปัญหาที่เมื่อก่อนเคยถูกหมกเม็ดหรือมักไม่เป็นข่าวพาดหัว อย่างเด็กถูกทำร้ายร่างกายจากบุคลในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ หรือจากบุคคลที่ครอบครัวให้ความไว้วางใจเช่น ญาติพี่น้องหรือพี่เลี้ยงเด็กนั้น ก็ถูกนำขึ้นมาพาดหัวให้ผู้คนสนใจ ที่สำคัญคือในระยะหลังๆ ข่าวในแนวนี้มีปรากฏขึ้นบ่อยและถี่อย่างเห็นได้ชัด และดูท่าว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ตามสถิติที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น แท้จริงแล้วอาจจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะในสังคมไทย กับบางครอบครัวยังมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอับอายที่มีเด็กในครอบครัวถูกข่มขืน ถูกทำร้ายร่างกายหรือหรือถูกกระทำทารุณกรรมจากบุคคลอื่น นอกครอบครัว

โดยเฉพาะเรื่องถูกทารุณกรรมทางเพศหรือถ้าเด็กเป็นคนถูกกระทำจากคนในครอบครัวเดียวกัน จากบุพการีตนก็มักจะถูกข่มขู่ว่าไม่ให้พูดถึงและห้ามพูด หรือบางทีเด็กอาจรู้สึกอับอายจึงปกปิดไว้เก็บกดไว้ พอทิ้งเวลาปล่อยให้เนิ่นนาน เด็กก็อาจมีอาการทางจิตแล้วแสดงออกมา เช่นทำร้ายร่างกายตนเอง ทำร้ายผู้อื่นแบบควบคุมสติไม่ได้หรือบางครั้งก็ฆ่าตัวตาย ก่อนที่ผู้คนรอบข้างจะรู้ว่าเขามีปัญหา และพาไปรับการเยียวยาหรือรักษาอย่างถูกต้อง

และมีภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยทั้งภาพยนตร์ต่างประเทศและภาพยนตร์ไทยที่หยิบเอาประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาของเด็กหรือวัยรุ่นที่เกิดขึ้นแล้วหยิบจับมานำเสนอ เช่นในเรื่อง เสียดาย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล,2537)ที่เล่าถึงเรื่องยาเสพติดในเด็กวัยเรียน, เด็กเดน (วิโรจน์ ทองซิว,2548) ที่หยิบจับเอาเรื่องเด็กนักเรียนสองสถาบันยกพวกตีกัน หรืออย่างละครไทยของค่ายเอ็กแซกท์เรื่อง ล่า (สุพล วิเชียรฉาย, 2537) เมื่อลูกสาว(ทราย เจริญปุระ)โดนข่มขืน ผู้เป็นแม่(สินจัย เปล่งพานิช) จึงออกตามล่าหาตัวคนร้าย

ภาพยนตร์ต่างประเทศก็มีอยู่หลายต่อหลายเรื่องที่นำเสนอเกี่ยวกับตัวละครที่มีปัญหาทางจิต และตัวละครหลักเป็นวัยรุ่นเช่น เรื่อง I'm a Cyborg, But That's OK (ปาร์ค - ชานวุค, 2006) ภาพยนตร์เกาหลีที่เล่าถึงเด็กหนุ่มสติเฟื่องคนหนึ่งในโรงพยาบาลโรคจิต (เรน) ที่คิดว่าตนมีพลังพิเศษในการขโมยความสามารถของคนอื่นได้ ได้ตกหลุมรักสาวบ๊องที่คิดว่าตัวเองเป็นหุ่นยนต์และต้องบริโภคแบตเตอร์รี่เป็นอาหาร

หรือถ้าเป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาจริงจังมากขึ้นก็อย่างเช่นเรื่อง Girl,interrupted (เจมส์ แมนโกลด์,1999) ที่สร้างจากหนังสือที่เขียนจากชีวิตจริงของตัวเองคือ ซูซานนา เคย์เซน โดยบทของซูซานนานี้นำแสดงโดย วิโนน่า ไรเดอร์ ซูซานนาเธอพยายามจะฆ่าตัวตายเพราะปัญหาชีวิตรัก จิตแพทย์จึงแนะนำเธอให้ไปบำบัดจิตที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่ง และที่คลีนิคนี้เองเธอได้ไปพบกับ ลิซ่า(แองเจลิน่า โจลี่) และทั้งสองก็ชวนกันหลบหนีออกมา และยังมีภาพยนตร์เรื่อง Manic (จอร์แดน เมลแลมด์, 2001) ที่สะท้อนภาพสังคมผ่านชีวิตของเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ถูกส่งไปเข้ารับการบำบัดรักษาจิตใจ




M a n i c เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลล์ (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) เด็กหนุ่มวัยรุ่นคนหนึ่งที่ถูกแม่ส่งตัวให้เข้ารับการบำบัดเพื่อรักษาอาการขี้ฉุนเฉียว จนบ่อยครั้งที่ควบคุมอารมณ์และสติตัวเองไม่ได้ ไลล์ถูกนำตัวไปยังสถานบำบัดซึ่งที่นี่เขาจะได้พบกับเด็กหนุ่มเด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกันอีกหลายคนที่มีปัญหาคล้ายกัน ทั้งหมดได้รับการรักษาด้วยยาและวิธีกลุ่มบำบัด (Therapeutic Group) ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์ ดร.เดวิด มอนโร (ดอน ชีเดิล) แต่ไลล์เองคิดว่าตัวเขาเองปกติดี ไม่ได้มีปัญหาทางจิตอะไร เขาจึงคิดถึงการมีอิสระ และต้องการหลบหนีให้พ้นจากสถานที่นี้อยู่ตลอดเวลา

ตัวหนังเปิดเรื่องด้วยภาพของ ไลล์ กำลังถูกทำแผลอยู่ในห้องปฐมพยาบาล และตัดสลับกับภาพของไม้เบสบอลที่หวดกระหน่ำลงร่างของเด็กหนุ่มคนหนึ่งผนวกกับเสียงตะโกนเอะอะอย่างฟังไม่ทันจะรู้เรื่อง ภาพก็ตัดสลับอย่างเร็ว(quick cut) กลับมาที่ไลล์นั่งทำแผลอีกครั้ง และก็เป็นอย่างนี้อยู่อีกสองถึงสามหน จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่สองคนเข้ามารับตัวไลล์เพื่อพาไปเข้ารับการบำบัด โดยมีแม่ของไลล์ยืนน้ำตาร่วงเมื่อลูกชายร้องขอให้แม่อย่าส่งเขาไปอยู่ที่อื่น แล้วไลล์ก็แสดงอาการขัดขืน ดื้นสุดแรงเกิดและด่าทอไม่หยุดปาก แต่สุดท้ายก็สงบลงด้วยฤทธิ์ยา

ฉากนี้ใช้เวลาทั้งหมดแค่ราว 5 นาที ซึ่งก็เป็น 5 นาทีที่เปิดหัวเรื่องแนะนำตัวละครได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลเป็นอย่างมาก เพราะมันสามารถดึงเอาใจและสูบเอาพลังของคนดูไปเกือบหมด โดยเฉพาะตอนที่ไลล์พยายามจะสลัดตัวเองให้หลุดจากการโดนล็อคแขนไว้และเสียงที่เขาแผดตะโกนต่อแม่ราวกับกำลังร้องขอชีวิตจากยมทูต

ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ถูกครอบครัวส่งมาบำบัดที่คลินิก ทั้ง แชด (ไมเคิล เบคอล)เด็กหนุ่มที่พ่อตาย แม่เลยซึมเศร้าและเสียสติ
เคนนี่ (โคดี้ ไลท์นิ่ง) เด็กหนุ่มอายุ 13 ปี เป็นเพื่อนร่วมห้องไลล์ที่คลินิกแห่งนี้ เคนนี่มาในกรณีที่ถูกพ่อเลี้ยงทำร้ายร่างกาย
เทรซี่ (โซอี้ เดสชาเนล) แม่ไม่เคยทุบตีเธอแต่ทำร้ายจิตใจเธอด้วยการพูดแต่สิ่งแย่ๆกับเธอ ด่าทอและสาปส่งว่าเธอไม่น่าเกิดมา!
ซาร่า (ซาร่า ไรวาส) ทะเลาะขั้นรุนแรงกับแม่ ทั้งจิก ทั้งทึ้งสารพัด
หรืออย่าง ไมค์ (เอลเดน เฮนสัน) ตัวแสบประจำกลุ่ม พ่อขี้เมา ตัวเขาชอบต่อสู้ จึงเขม่นกันกับไลล์ และปะทะกันได้ออกแรงได้เหงื่อกันทุกครั้งที่เผชิญหน้ากัน




จะเห็นได้ว่า เด็กหนุ่ม-สาวทั้งหมดนี้ เอาเข้าจริงๆแล้วพวกเขาต่างก็ถูก"คนมีปัญหา" พามาไว้ที่นี่กันทั้งนั้น แม้กระทั่งไลล์ผู้นิยมใช้ความรุนแรงและอารมณ์เข้าฟาดฟัน และผู้ชมได้เห็นความเป็นเขาอยู่เพียงด้านเดียวมาตลอดนั้น เมื่อเขาได้ใช้เวลาปรับตัวอยู่ในสถานที่ใหม่ รับรู้ว่ามีเพื่อนร่วมชะตากรรมคล้ายๆกันและ(น่า)ไว้ใจแล้ว เราถึงได้รู้ต้นสายปลายเหตุ กรณีที่เขากระหน่ำตีเด็กคนนึงด้วยไม้เบสบอลอาการปางตายนั้น ก็สาวไปได้ถึงปัญหาจากพ่อที่เคยกระทำต่อเขาไว้

เพราะฉะนั้น ปัญหา ที่แท้จริง ไม่ได้มาจากตัวเด็กโดยตรง หนังกำลังบอกเราอย่างนั้น เพราะต้นตอของปัญหานั้นจริงๆแล้วเรามองไม่เห็นหรือพยายามมองไม่เห็นหรือพยายามไม่มองกันต่างหาก จะเห็นได้ว่าหนังทั้งเรื่องไม่มีภาพของบุพการีของเด็กคนใดมากระทำเรื่องแย่ๆอย่างที่ทุกคนเล่าไว้เลย หรืออาจมองได้ว่า เป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่ต้องการจะซ่อนและปิดบัง หรือกันความร้ายกาจไว้ ละไว้ในฐานให้เข้าใจว่ามีอยู่จริง

และหนังยังสอดแทรกความหมายของการมีอิสระภายใต้การควบคุมไว้ได้ดีอยู่หลายฉาก เช่นที่เด็กหนุ่มทุกคนออกไปเล่นบาสเก็ตบอลกัน ซึ่งโดยปกติแล้วตั้งแต่วันแรกทุกคนที่เข้ามารับการรักษาที่นี่ จะถูกยึดเชือกรองเท้าไว้ แน่ล่ะว่าภาพของรองเท้าผ้าใบที่ไม่มีเชือกผูกมันเหมือนเป็นการ เปิด หรือการได้รับอิสระไร้เครื่องพันธนาการใดๆ แต่ มันก็ไม่ได้ทำให้การเดินไปไหนมาไหนสะดวกได้เลย ยิ่งถ้าวิ่งก็ไม่ต้องพูดถึง หรือฉากที่ซาร่าวาดภาพทุ่งหญ้าสีเหลือง มีนกกำลังบินอยู่บนเวิ้งฟ้าหลายตัว* นกบิน แทนความหมายของความมีอิสรเสรี ท้องฟ้าแทนความหมายว่าไม่สิ้นสุดไม่มีขอบเขต

แต่...ทั้งนกบิน ทุ่งหญ้าและท้องฟ้านั้น ก็ถูกจำกัดบริเวณให้อยู่ในเฟรมภาพสี่เหลี่ยม สีสันต่างๆบนกระดาษถูกล็อคไว้ด้วยกรอบขาว

หากต้องการจะเล่นบาสเก็ตบอล (ปลดปล่อยอารมณ์และสำแดงพลัง) ทุกคนก็จะได้รับเชือกผูกรองเท้า(การถูกควบคุม) เพื่อเล่นได้เต็มที่

แต่...ทุกอย่าง ล้วนมีสองด้านเดินเป็นคู่ตรงข้ามกันเสมอ การควบคุมดูแลที่เข้มงวด ก็เป็นไปได้ที่บางโอกาสจะหย่อนยาน เพราะ ไลล์เคยขโมยส้อมพลาสติคจากโรงอาหารไปแอบกรีดแขนตัวเองได้ และไม่รู้ว่าเด็กบางคนมีมีดพกไว้ทำร้ายตัวเอง และเกิดเหตุร้ายรุนแรงได้อย่างไร




สุดท้ายแล้วจะเห็นว่าสภาพสังคมนี้มันช่างเป็นสังคมที่ป่วยและย่ำแย่เหลือเกิน เพราะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่มีปัญหา ซึ่งปัญหาที่เขาเหล่านั้นได้รับก็อาจมาจากแรงกดดันอะไรบางอย่าง จากหน้าที่การงาน จากเศรษฐกิจ จากชีวิตคู่ และส่งผลต่อคนรุ่นลูกที่กลายเป็นคนมีปัญหา เลยถูกส่งตัวไปบำบัดยังสถานที่ที่ควรจะเป็นที่พึ่งช่วยแก้ปัญหาได้ แต่..ไม่ใช่ สถานที่บำบัดเองยังหละหลวม ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นได้ มีเด็กหนีออกไปจากที่นี่ได้ ทั้งๆที่สภาพจิตใจยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่ ซึ่งแตกต่างจากตอนเข้ามาบำบัดใหม่ๆเพียงเล็กน้อย แล้ว...ต่อจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น.... เราไม่รู้

Manic เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของ จอร์แดน เมลแลมด์ ที่จบการศึกษาจาก American Film Institute เมื่อปี 2007 นี้เอง และเขียนบทโดย ไมเคิล เบคอล (ที่ร่วมแสดงในเรื่องนี้ด้วยในบทของ แชด )

หนังเรื่องนี้ ถ่ายทำด้วยการใช้กล้องดิจิตอลแบบมือถือ (hand-held) ที่ให้ผลทางด้านภาพเป็นงานเหมือนกำลังบันทึกเรื่องจริง และส่งผลให้คนดูจริงจังกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่อง

เรื่องราวปัญหาทั้งที่มองเห็นและทำให้มองไม่เห็นนั้น คิดดูแล้วมันเหมือนทุกอย่างต่างก็เป็นลูกโซ่หลายๆตัวที่ร้อยเรียงข้อต่อเป็นเส้นยาวไปได้เรื่อยๆ ไม่มีหัว ไม่มีท้าย มองไม่เห็นจุดจบ ซึ่งก็เหมือนกับชีวิต คล้ายกับสังคม ที่วันนี้เรายังมองไม่ออกว่าขอบเขตของการสิ้นสุดมันอยู่ตรงไหน เรารู้แน่ว่าการใช้ชีวิตมีขีดจำกัดของมันอยู่ แต่สังคมมันแค่เปลี่ยนแปลง

และเราอยากจะอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี หรือที่เปลี่ยนไปในทิศตรงข้ามกันล่ะ


* เป็นภาพที่เขียนเลียนแบบ (re-master) ภาพ Wheatfield with Crows, 1890 ของ ฟินเซนท์ ฟานก๊อกฮ์



Create Date : 29 พฤษภาคม 2550
Last Update : 6 สิงหาคม 2551 13:21:16 น. 18 comments
Counter : 1875 Pageviews.

 
หนังสะท้อนและตีแผ่ปัญหาสังคมแบบนี้
ดูแล้วมันบีบคั้นหัวใจ สะเทือนใจจริงๆ นะเรนจัง
ยิ่งการใช้กล้องแบบมือถือในการถ่ายทำ ภาพที่ดูมันจะไม่ค่อยนิ่ง
มันจะไหวไปมา เหมือนเรากำลังเห็นสิ่งนั้นอยู่ตรงหน้าจริงๆ
อืมมม หนังน่าสนใจ แต่พี่คงไม่ได้ดู และดูไม่ได้หรอกอ่ะจ้า


โดย: สะเทื้อน วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:10:01:20 น.  

 
มิน่าภาพมันดูเกรนแตกๆ
แต่ก็สวยไปอีกแบบเนอะ


โดย: grappa วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:11:50:33 น.  

 
ดาราดังเยอะเหมือนกันนะเนี่ย
ทั้งกอร์ดอนเลอวิตต์
ดอนชีเดิล
แถมยังซูอี้ เดสชาเนลสุดสวย


โดย: nanoguy วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:15:22 น.  

 
ปัญหาอาจจะไม่ได้เริ่มต้นด้วยเรา ... แต่เราก็สามารถหยุดการ
สร้างปัญหาต่อเนื่องได้เหมือนกันนะค่ะ

หนังสะท้อนปัญหาของวัยรุ่นนี่ผู้ใหญ่น่าจะได้ดูกันเยอะๆ
นะค่ะ จะได้พอมองออกได้บ้างว่า ทำไม และสาเหตุใด
ถึงได้เกิดปัญหาในสังคมได้บ้าง


โดย: JewNid วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:13:01:28 น.  

 
ชื่อของเขาคือ
"เมฆาเคลื่อนคล้อย" ครับ



โดย: กะว่าก๋า (กะว่าก๋า ) วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:19:28:32 น.  

 
busy busy

ขอข้ามก่อนน้าเรนตั้น

มาแปะไว้แล้วจะมาอ่านใหม่


โดย: BloodyMonday is Getting Sick of GodD*mn Fever IP: 211.136.200.189 วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:23:06:38 น.  

 
ข้อเขียนความนำ เปิดเรื่องได้น่าสนใจทีเดียวครับ

ชอบคำโปรยในหนังน่ะ
"You Can't Escape Yourself"

ประโยคเดียว สื่อความหมายได้ลึกซึ้ง


โดย: Tony KooN (tk_station ) วันที่: 29 พฤษภาคม 2550 เวลา:23:41:45 น.  

 
ได้ยินว่าไปโหลดtravisชุดใหม่มาแล้ว ว่าไงบ้าง ไม่ค่อยเวิร์คเท่าชุดเก่านะ สงสัยจะหมดไฟซะแล้ว
เปลี่ยนไปฟังKaiser chiefsดีก่า


โดย: แป๊กก วันที่: 31 พฤษภาคม 2550 เวลา:5:41:00 น.  

 
เขียนได้ดีมากครับ ยังไม่ได้ดูเรื่องนี้เลย ได้แต่ดู Girl Interrupted ซึ่งก็ดูไม่จบแต่หนังดีมากเหมาะสำหรับเปิดในวิชาจิตวิทยาให้เด็กนักศึกษาดูเป็นกรณีศึกษา น่าเสียดายนะครับหนังอินดี้แบบนี้มีเนื้อหาที่สะท้อนสังคมได้อย่างดี แต่ไม่เข้าถึงคนจำนวนมากเหมือนหนังกระแสหลักเช่น ไพเรท


โดย: Johann sebastian Bach IP: 203.150.135.90 วันที่: 31 พฤษภาคม 2550 เวลา:9:14:24 น.  

 
เฮ้อ..ในที่สุดก็เจอหนังในบล็อกคุณ renton ที่ผมเคยดูสักทีสิน่า


โดย: เจ้าชายไร้เงา วันที่: 31 พฤษภาคม 2550 เวลา:9:50:23 น.  

 
พี่หนุ่ม
^_^

พี่แป๊ด
(^o^)

nanoguy
หน้าตาคุ้นหลายคนครับ..^_^

คุณJewNid
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ

คุณ กะว่าก๋า
^_^

BdMd
Yes,please

Get well soon na ^_^

คุณTony KooN
ใช่เลยค่ะ...ประโยคเดียว แต่ครอบคลุมได้กว้างนัก

คุณแป๊กกก
ช่าย..ชุดเก่าโดนกว่าเยอะ
แต่ก็มีบางเพลงในชุดใหม่ The Boy With No Name ที่โดนอย่างแรงอยู่เหมือนกันค่ะ เราชอบเพลงช้าๆอ่ะ
อย่าง Closer และส่วน One night ที่แนวและท่วงทำนองยังไม่หนีจากเดิมเท่าใหร่ ฟังแล้วยังคิดถึง Sing กะ Sign..ก็เลยชอบ
Eye Wide Open ก็ชอบค่ะ ^_^

คุณJohann sebastian Bach
ก็...ธรรมดาล่ะนะคะ หนังที่ดูสนุกสนาน หัวเราะ ผ่อนคลายและบันเทิง ก็ยังเป็นที่ต้องการสำหรับโลกแห่งความจริงที่เคร่งเครียดอยู่
หนีรถติด หนีผู้คนที่เดินแบบแทบจะเบียดกัน หนีคนขี้หงุดหงิดที่เจออยู่ทุกหัวระแหงของเมือง หนีได้ซัก 3 ชม. ก็ยินดีที่จะขอเดินทะเลไปตามกัปตันแจ็คกลับมาดีกว่า

ว่าแล้ว Pirate 3 เนี่ยหนุกดีนะคะ ชอบชอบชอบ


คุณเจ้าชายไร้เงา
^_^"


โดย: renton_renton วันที่: 31 พฤษภาคม 2550 เวลา:23:43:14 น.  

 
น่าสนใจมากเลยนะครับ กับการสะท้อนปัญหาที่มาจากครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในการสร้างคน อย่างที่คุณ Johann หนังแบบนี้เกิดยากมากเลยถ้าลองเอามาฉายตามโรงหนัง

ไม่รู้ว่าผมจะได้ดูหรือเปล่า ยังไงเดี๋ยวลองไปเบิ่งๆ แถวซึทาย่าดูครับ


โดย: เข็มขัดสั้น วันที่: 1 มิถุนายน 2550 เวลา:11:08:45 น.  

 
เรื่องนี้เห็น แวบๆ คงต้องตามเก็บมาดูอีกเรื่อง
เรื่องแนวคนจิตตก ..สะเทือนโลกนี่ชอบเหมือนกัน

ปล. ตอนนี้ไม่ค่อยว่างดูหนังเลยเพราะมัวแต่บ้าเข้าฟิตเนส (เพิ่งดู Little Children ไปส่วนตัวชอบนะ ไม่รู้ว่าคุณRenton ดูยัง ต่อไปว่าจะดู Millions (2004) ผลงานผู้กำกับTrainspotting (1996) และหนังญี่ปุ่น Hula Girls (2007)
...ช่วงบล็อกก็เลยไม่ได้ UP DATE แต่ยังไงก็ยังแวะเวียนมาอ่านบล็อกคุณ Renton อยู่นะครับ


โดย: pnottimez IP: 58.10.77.164 วันที่: 1 มิถุนายน 2550 เวลา:11:40:02 น.  

 
คุณ เข็มขัดสั้น
สนใจก็ลองดูนะคะ ^_^

คุณ pnottimez
Little Children ดูแล้วค่ะ ก็ชอบ..จบได้...อย่างที่มันควรจะเป็นน่ะนะ หุหุ
ส่วน Millions หนึ่งคือชอบหนังที่มีตัวละครเป็นเด็กชาย สองคือเพราะ ผกก.
สรุปแล้วตาแดนนี่ บอล์ยเนี่ยแกมีอะไรในใจเกี่ยวกับเรื่องเงินป่าวไม่รู้ ทั้ง Shallow Grave(1994) , Trainspotting (1996) , A Life Less Ordinary (1997) ละก้อ Millions(2004) ..เงินทั้งน๊าน

Hula Girls เห็นมีโฆษณาที่ลิโด้ด้วยอ่ะ น่าดูน่าดู



โดย: renton_renton วันที่: 1 มิถุนายน 2550 เวลา:13:48:26 น.  

 
โห

หนังน่าดูนะเนี่ย



ปล. บล็อกดูเป็นartistดีจังเลยค่ะ


โดย: เอ๊กกี่ วันที่: 2 มิถุนายน 2550 เวลา:8:23:08 น.  

 
คห11 นั่นสินะ ไปหาหนังมาจากไหนเนี่ย


โดย: แป๊กก วันที่: 2 มิถุนายน 2550 เวลา:17:28:13 น.  

 
ต๊าย กอร์ดอน เลวิตต์ ยังเอ๊าะ


โดย: merveillesxx วันที่: 10 สิงหาคม 2551 เวลา:9:38:37 น.  

 
ผมชอบมีดพกมากเลยครับ


โดย: วา IP: 125.24.29.50 วันที่: 4 มีนาคม 2552 เวลา:15:49:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

renton-renton
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Photobucket.Just wait until night then switch the light off
DeUsynlige (2008) Erik Poppe : : หนึ่งเป็นผู้ทำลาย หนึ่งเป็นฝ่ายสูญเสีย เวลาผ่านต่างฝ่ายต่างเริ่มชีวิตใหม่แต่ที่สุดแล้วโชคชะตาก็นำพาให้ทั้งสองต้องมาเผชิญหน้ากัน ~ ถึงพล็อตจะสามัญแบบนี้แต่หนังวางสถานการณ์ที่แสดงและเหตุการณ์ที่ซ่อนอยู่ได้หมาะกันดีมาก การถ่ายโอนตัวละครจุดศูนย์กลางของเรื่องจากคนหนึ่งไปคนหนึ่งก็ไหลลื่น เรื่องราวที่บรรจุความกดดันต่อสู้กับตัวเองของตัวละครก็เข้มข้น และ "โอกาส" เป็นสิ่งที่หนังขอให้เราเห็นเป็นสำคัญเพราะที่สุดแล้วเราจะเห็นว่าฝ่ายที่เคยสูญเสียกลับด้านมาเป็นผู้ทำลายบ้าง ทั้งหมดเป็นความละเอียดในอารมณ์ของผกก.ที่ทำออกมาได้น่าชื่นชมจริงๆ
Adventureland (2009) Greg Mottola : : เด็กหนุ่มพรหมจรรย์และเด็กสาวเมียเก็บนายช่างของสวนสนุกเกิดลังเลในความรู้สึกที่มีให้แก่กัน ครั้นจะจูนกันติดกลับมีเรื่องให้เข้าใจผิดกันซะงั้น ~ ปั๊ปปี้เลิฟสนุกๆ ประสาวัยรุ่นวัยเรียน ฉากหลังเป็นยุค 80 ที่มีกัญชาเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์ เพลงดิสโก้ ฟังก์ พั้งค์ จากยุคนั้นก็อัดกันขนกันมาเพียบ เพลิน และมองว่า คริสเตน สจ๊วต นั้นดูทื่อมะลื่อไงไม่รู้
Mutum (2007) Sandra Kogut : : เด็กชายคนหนึ่งแถบบ้านนาของบราซิล ต้องเผชิญกับความดุดันของพ่อ สนิทกับอาแต่เหมือนเขาจะมาจีบแม่ ถูกเพื่อนวัยเดียวกันเหน็บแนมและที่สำคัญคือสูญเสียเพื่อนรักที่สุดในชีวิต ~ อะไรจะแกร่งเกินนี้ไม่มีอีกแล้ว เจ้าหนูไม่ได้อยู่ในร่างของคนมองโลกในแง่ดี หากแต่ให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยความเข้าใจและมองถึงสิ่งที่ตนต้องทำ ... ชอบเรื่องที่แทรกอยู่เล็กๆ อย่างความผิดปกติทางสายตา (สายตาสั้น) เมื่อมันเกิดขึ้นกับคนในชนบทซึ่งไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร จะเห็นความแตกต่างก็ต่อเมื่อได้ลองสวมแว่นตาเท่านั้น
Dalkomhan insaeng (2005) Ji-woon Kim : : มือขวาของเจ้าพ่อฝีมือสุดเนี้ยบทำการใดไม่เคยล้มเหลว ตีรันฟันแทงเตะต่อยขอให้บอก แต่จะมาตายเอาก็เพราะริอาจมีใจให้ “เด็ก” ของเจ้าพ่อ ~ หนังแก็งส์เตอร์ของพี่ๆ เกาหลีเขาต้องบอกว่าออกแบบท่าทางกันมาดี ดูแล้วเพลิน นึกถึง Transpotter ที่ เจสัน สเตแธม ในชุดสูทหรูระยับแต่ยกแข้งขาถีบยันได้ดีเอาเรื่อง ทรยศหักหลังยังเป็นชนวนหลักที่สร้างสีสันให้กับหนังแนวนี้ สนุกดีแม้จะชวนสับสนนิดหน่อยว่าใครอยู่ฝ่ายไหนลูกน้องใคร (ก็หน้าตาเขาคล้ายกันน่ะ)
Noise (2007) Matthew Saville : : หนังมีส่วนผสมของความเป็นหนังเขย่าขวัญอยู่เพียงส่วนหนึ่งทั้งๆ ที่มีเหตุสะเทือนขวัญรุนแรง แต่... อ่านต่อ ที่นี่
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2550
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
29 พฤษภาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add renton-renton's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.