"ประกายไฟน้อยๆ ลามทุ่งได้"

 
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
6 มิถุนายน 2549
 

ธุรกิจบนหัวคน

ดุลยทัศน์ พืชมงคล

ถึงแม้อัตราการเจริญเติบโตในตลาด “ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม” ของประเทศไทยในแต่ละปีจะไม่ได้เป็นจำนวนที่มากมายอะไร แต่ด้วยมูลค่าตลาดมหาศาลถึง 8,600 ล้านบาท ทำให้ตลาดนี้มีความน่าสนใจและดึงดูดให้ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่แต่ละค่ายต้องสรรหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ออกมาฟาดฟันกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด จัดรายการส่งเสริมการขาย ต่างก็มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความจำเป็นในการใช้ผลิตภัณฑ์ให้บ่อยขึ้น และใช้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งของเค้กแปดพันล้านก้อนนี้มาให้ได้มากที่สุด แต่มีใครเคยถามหรือไม่ว่า แท้จริงแล้ว ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ตามอย่างคำโฆษณาหรือไม่ หรือว่าที่เขาพูดนั้นที่สุดก็เพียงเพื่อผลทางธุรกิจแต่ประการเดียว !

สภาพตลาด

ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมในปัจจุบันมีผู้เล่นหลัก ๆ ในตลาดอยู่ 3 ราย โดยแต่ละรายต่างก็เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Product) ของโลกกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตลาดอย่าง บริษัทลูกครึ่งอังกฤษ - เนเธอแลนด์ “ยูนิลีเวอร์”(Unilever) เจ้าของแบรนด์ดัง ซันซิล ออร์แกนนิก คลีนิค ฯลฯ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่กว่า 40 % ส่วนบริษัทพรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “พีแอนด์จี”(P&G) จากสหรัฐอเมริกานั้น ครองส่วนแบ่งตลาดตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ 25 % ด้วยเรือธงคือ แพนทีน และรีจอยส์
นอกจากนี้ยังมีบริษัทจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่างบริษัทคาโอ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) เจ้าของ “ลาวีนัส” และ “โชกุบุสซึ” ตามมาเป็นอันดับ 3

ทั้งนี้มูลค่ารวมของตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 8,600 ล้าน ถูกแบ่งออกเป็นตลาดแชมพู 6,200 ล้านบาท และตลาดคอนดิชั่นเนอร์และทรีทเม้นต์อีกประมาณ 2,400 ล้านบาท ( # ข้อมูลจาก: บริษัทพรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด )

กลุ่มเป้าหมายที่ถูกซอยย่อยมากขึ้น

‘เดวิด โอกีวี่’ นักโฆษณาชื่อดังชาวอังกฤษเคยกล่าวว่า “ในการโฆษณา เราสามารถใช้คำว่า ‘ฟรี’ กับคำว่า ‘ใหม่’ เพื่อจูงใจผู้บริโภคได้ ซึ่งคำว่า ‘ฟรี’ อาจไม่ได้ผลทุกครั้ง แต่คำว่า ‘ใหม่’ ใช้เมื่อไหร่ก็ได้ผล”

ทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าประชากรในโลกของเราจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่ปริมาณ ที่เพิ่มขึ้นกลับทำให้กลุ่มเป้าหมายในตลาดมีขนาดเล็กลง…ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? นักการตลาดมองว่าปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายของสินค้าชนิดต่าง ๆ กำลังมีขนาดเล็กลง โดยตลาดกำลังถูกแบ่งซอยย่อยออกเป็นกลุ่มที่ละเอียด (Fragmentation) และมีความหลากหลายมากขึ้น (Diversity) ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ธุรกิจต่าง ๆ พยายามจะตอบสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความต้องการที่ต่างกันออกไป รวมทั้งมาจากความต้องการที่ถูกนักการตลาดพยายามสร้างขึ้นด้วย (Created Demand)

ดังนั้นนักการตลาดจึงต้องแบ่งกลุ่มเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจน และให้แคบลง จนละเอียดกว่าการแบ่งส่วนตลาด (Segmentation) อย่างแต่ก่อน

ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้นักการตลาดสามารถแบ่งส่วนของตลาดให้ละเอียดขึ้นได้ก็คือ การศึกษาวิจัยและพัฒนา หรือการทำ R&D (Research and Development) ของธุรกิจ ที่นักการตลาดมีความเชื่อว่า สินค้าทุกชนิดต่างมีวัฏจักรชีวิตเหมือนคนเรา คือ พอเกิดก็ต้องเติบโต และเมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องแก่ และตายไปในที่สุด ดังนั้นการจะยืดอายุขัยของสินค้านั้น ๆ ธุรกิจจึงต้องอาศัยการทำ R &D ที่มีประสิทธิภาพ ที่จะคิดค้นหาจุดขายใหม่ ๆ ให้นักการตลาดนำมาเสนอต่อลูกค้าอยู่เสมอ ทำให้สินค้าที่กำลังจะแก่และตายไป ดูหนุ่มและทันสมัยขึ้นอีกครั้ง

กลยุทธ์การตลาด

ในอดีตความหลากหลายของตัวเลือกในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมยังไม่มีจำนวมมากมายเช่นในปัจจุบัน บนชั้นวางสินค้าในซุปเปอร์มาเก็ตจะมียี่ห้อหรือแบรนด์ของแชมพูเพียงไม่กี่ชนิด การตัดสินใจเลือกสินค้ายี่ห้อหนึ่งยี่ห้อใดเป็นเรื่องไม่ซับซ้อนสำหรับผู้บริโภค

แต่เนื่องจากตลาดของธุรกิจเส้นผมมีลักษณะของตลาดมวลชน เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีกลุ่มผู้บริโภคอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับสินค้าประเภทนี้มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันและมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความสวยความงาม ดังนั้น องค์ประกอบของตลาดจึงมีความเหมาะสมและดึงดูดใจแก่การเข้ามาทำตลาดเพื่อยึดครองและแบ่งปันส่วนแบ่งของตลาดรวม

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานทางการตลาดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเส้นผมไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนัก กลยุทธ์หลักที่มักถูกนำมาใช้อยู่เสมอคือ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (Product Development) เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เจ้าของผลิตภัณฑ์จะให้การส่งเสริมการตลาดในรูปแบบต่างๆ เพื่อแนะนำสินค้าและกระตุ้นการทดลอง และเมื่อสินค้าติดตลาด กลยุทธ์การตลาดในรูปแบบอื่นๆ จะถูกหยิบยกมาใช้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ เช่นเมื่อสินค้าผ่านการนำออกสู่ตลาดไประยะเวลาหนึ่ง ผู้ใช้เกิดความคุ้นเคยและการยอมรับในคุณภาพของผลิตภัณฑ์แล้ว และยอดขายของสินค้าได้ก้าวไปถึงจุดอิ่มตัวเต็มที่ (Maturity) กลยุทธ์ความแตกต่างทางด้านบรรจุภัณฑ์และการส่งเสริมการขายในหลากหลายรูปแบบ จะทยอยกันออกมาสนับสนุนยอดขายของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้ดำรงอยู่ในฐานของยอดขายระดับนี้ให้ยาวนานที่สุด
เมื่อก้าวไปถึงภาวะหนึ่งที่สภาพตลาดเริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีคู่แข่งใหม่ๆที่เข้มแข็งเข้าสู่ตลาด วงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ก็จะเริ่มต้นขึ้นอีกระลอกหนึ่ง หรือหากยังสมารถรักษาศักยภาพในการทำตลาดอยู่ได้ การปรับปรุงคุณภาพหรือจุดขายเพื่อส่งออกสู่ตลาดอีกครั้ง(relaunch) ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการต่อยอดเพื่อนำไปสู้ศึกสำหรับการแข่งขันต่อไป

สภาพวงจรทางการตลาดดังกล่าว ทำให้ภาพการแข่งขันในระดับมหภาคของตลาดธุรกิจเส้นผมจึงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ตรงกันข้ามกับกลยุทธ์และกลวิธีในการแข่งขันเชิงปฏิบัติการกลับมีรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาและปรับปรุงนำมาใช้ใจการจูงใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา
แนวทางหรือพื้นฐานทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมนั้น คือการ ”สร้างหรือชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของ “การใช้ผลิตภัณฑ์”

การวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับเส้นผมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทดสอบและยืนยันความจำเป็นที่ว่า “เส้นผม” ของมนุษย์ถูกแบ่งย่อยเป็นกลุ่ม ประเภท และชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการตอบสนองแนวทางกลยุทธ์การตลาดเรื่อง การแบ่งส่วนตลาดหรือ Segmentation โดยมีสาเหตุมาจากการแข่งขันที่สูงและความเข็มแข็งของผู้นำของตลาด

เค้กเส้นผมชิ้นมหึมาถูกจัดกลุ่มออกเป็นหน้าเค้กมากมายหลายชนิด จากเดิมที่ใช้สำหรับทำความสะอาดเส้นผมเป็นเหตุผลหลัก แนวคิดเรื่องการบำรุง, การป้องกัน, การเสริมสร้าง และการปรับสภาพเส้นผม ก็ได้เริ่มทยอยเข้าอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภค เกาะกุมความรู้ความเข้าใจโดยผ่านการให้ข้อมูลเชิงตัวเลขจากผลวิจัยและการทดสอบต่างๆ และเชิงจิตวิทยา (เช่นการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญหรือจากบุคคลผู้มีความน่าเชื่อถือ ผสมผสานกับการจูงใจเรื่องความสวยงามและการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ )

จากการสร้างความจำเป็นและการตอบสนองความจำเป็นนั้นอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นที่ไม่มีใครยืนยันได้ว่ามากน้อยเพียงใดก็กลายมาเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ไปในที่สุด

ตลอดเวลาที่ผ่านมาด้วยการสั่งสมแนวความคิดดังกล่าวอย่างจริงจังจึงทำให้ตลาดเส้นผมแตกย่อยสายผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลารวมทั้งมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจนี้จึงมีขนาดใหญ่โตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อแนวทางพื้นฐานของตลาดเส้นผมเป็นไปในทิศทางดังกล่าว ผู้เล่นต่างๆ ในตลาดหรืออีกนัยหนึ่งคือร่วมผู้กำหนดแนวทางเพื่อให้ขนาดและช่องของตลาดของสินค้าตนเองเติบโตขึ้น ก็เริ่มเปิดศึกกันอย่างจริงจังในการช่วงชิงส่วนแบ่งที่ได้ร่วมกันปูทางไว้แต่แรก กลยุทธ์และกลวิธีเกิดขึ้นมากมายจนเกินกว่าที่จะบันทึกและลำดับรายละเอียดได้ทั้งหมด แต่โดยภาพรวมผู้เล่นต่างๆ โดยเฉพาะ 3 รายหลักอย่าง ยูนิลีเวอร์ พรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล และคาโอ คอมเมอร์เชียล ก็ดำเนินกลยุทธ์ไปทิศทางเดียวกัน แตกต่างกันแต่เพียงว่า ใครเป็นเจ้าตลาดของประเภทสินค้าใด และใครสามารถทำได้ดีกว่ากันในแต่ละเซ็กเมนต์ แต่ละแคมเปญ

ในด้าน ”ผลิตภัณฑ์” ความหลากหลายของคุณสมบัติการใช้ไม่ว่าจะเป็นความนุ่มสลวย สวยเก๋ เงางาม แตกปลาย แห้ง มัน ย้อม ฯลฯ ยังคงถูกแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ แพ๊คเกจหรือขนาดต่างๆ ถูกปรับปรุงและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ได้รับการจัดรูปแบบเพื่อความเหมาะสมในการใช้สำหรับผู้บริโภคในกลุ่มต่างๆ ทั้งแบบแบ่งแยกเฉพาะและผสมผสาน (Mix) กันไป เช่น แบรนด์นี้สำหรับเด็กอ่อนโดยเฉพาะ แบรนด์นี้สำหรับกลุ่มสุภาพสตรี แบรนด์นี้ราคาสูงสำหรับผู้ที่มีกำลังซื้อ แบรนด์นี้สำหรับคนผมแห้ง แพ็คเกจนี้สำหรับผู้ที่จะใช้เดินทาง ประเภทนี้เหมาะกับผู้หญิงที่ดัดผมเป็นประจำ แบรนด์นี้สำหรับคนผมร่วง หรือแบรนด์นี้สำหรับวางจำหน่ายตามภูมิภาคหรือต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพ เป็นต้น

สำหรับในศึกด้านราคาและการวางจำหน่ายไม่ใช่อุปสรรคสำคัญสำหรับค่ายยักษ์ใหญ่ระดับนี้ ด้าน ”ราคา” ซึ่งเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุดของการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์นั้น ในธุรกิจผู้เล่นแต่ละฝ่ายจะใช้สินค้าหรือแบรนด์ตัวแทนที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับศึกในตำแหน่งผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดยเฉพาะ เช่นแพนทีนอยู่ในกลุ่มระดับบนและรีจอยส์อยู่ในกลุ่มที่ราคาต่ำลงมา

การโฆษณา

การส่งเสริมการตลาด (Marketing Promotion) คือสิ่งที่ผู้เล่นทุกคนในตลาดนี้ให้ความสำคัญและทุ่มเทกันมากที่สุด ซึ่งหากเทียบเป็นเกมกีฬายอดนิยม การมีผู้เล่นเป็นจำนวนมากในสนามทำให้ผู้เล่นแต่ละตัวแต่ละตำแหน่งต้องแสดงจุดเด่นและบทบาทของตนเองออกมาให้ชัดเจนที่สุด ลีลาการเล่นก็คือคุณภาพของสินค้า เครื่องแต่งกายหรือแม้แต่ทรงผมก็คือบรรจุภัณฑ์ พฤติกรรมการแสดงออกก็คือการสร้างแบรนด์ ซึ่งล้วนแต่ต้องโดดเด่นและกระตุ้นความสนใจ การถ่ายทอดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ผู้บริโภคเห็นและรู้ได้ชัดเจนและสามารถเปรียบเทียบได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด คือ “การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์”

การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ของผลิตภัณฑ์เส้นผมในปัจจุบันไม่ได้ให้น้ำหนักไปที่การบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าดังเช่นในอดีต แต่เฉลี่ยความสำคัญไปยังทุกส่วนตามความเหมาะสมของช่วงเวลาและสถานการณ์ ผสมผสานระหว่างการสื่อสารด้วยเหตุผลและอารมณ์ควบคู่กันไป

จุดมุ่งหมายโดยส่วนใหญ่ของการโฆษณาในระยะสั้นคือการกระตุ้นให้เกิดการทดลองใช้ เนื่องจากสินค้าประเภทนี้เป็นสินค้าที่ไม่สามารถบอกคุณสมบัติออกมาได้ในเชิงรูปธรรมชัดเจน ซึ่งต่างจากการบอกประสิทธิภาพของตัวเครื่องของรถยนตร์ หรือความเร็วในการประมวลผลอย่างคอมพิวเตอร์ การทดลองใช้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและท้าทายโดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกสู่ตลาด ซึ่งบางครั้งต้องวางงบประมาณมากถึง 100 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและต้นทุนของสินค้าตัวอย่าง

สิ่งที่แฝงเร้นอยู่ในเนื้อหาโฆษณาผลิตภัณฑ์ด้านเส้นผมเสมอๆไม่ว่าจะเป็นในแบรนด์สินค้าใดนั้น คือการตอกย้ำแนวทางการสร้างความจำเป็น ที่แน่นอนว่าต้องเป็นในทิศทางที่เพิ่มมากขึ้น

การสื่อสารการตลาดของธุรกิจเส้นผมนั้น ลักษณะทางจิตวิทยาอย่าง ปัญหาเส้นผม และความสวยงาม ถูกนำมาใช้เป็นเนื้อหามากกว่าเรื่องการชำระสิ่งสกปรกหรือฝุ่นละออง ภาพที่ใช้สื่อ มักจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจถึงการเพิ่มความถี่และปริมาณเสมอๆ เช่นการใช้ภาพเทยาสระผมใส่เต็มฝ่ามือหรือฟองเต็มศรีษะเพื่อให้ผู้บริโภคซึมซับถึงพฤติกรรมการสระผมว่าต้องใช้ปริมาณที่มากขึ้น หรือคำกล่าวที่เคยบอกว่าสระได้ทุกวัน ต่อมาก็เป็นสระได้ทุกครั้งที่อาบน้ำ จนกระทั่งถึง สระได้บ่อยเท่าที่ต้องการ

ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์และการแพทย์

สำหรับในประเด็นนี้ ในทัศนะของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ให้คำตอบทางด้านการแพทย์ว่าสมัยก่อนตอนเด็กๆ พ่อแม่อาจจะสระผมให้ลูก 3-4 วันต่อหนึ่งครั้ง หรือสัปดาห์ละสองครั้ง แต่ปัจจุบันที่อาจจะมีความจำเป็นต้องสระผมบ่อยขึ้นก็เนื่องจาก คนแต่ละคนก็มีหน้าที่การงานแตกต่างกันไป ประกอบกับสภาวะอากาศที่มีมลพิษเพิ่มขึ้น ร่างกายรวมทั้งหนังศีรษะ และผม ก็ถูกฝุ่นละออกสารเคมีเยอะขึ้นมากขึ้น ผู้บริโภคก็ต้องการสระผมบ่อยขึ้น เปรียบเทียบได้กับผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ที่เล่นกีฬาที่ตามร่างกายมีเหงื่อมีสิ่งสกปรกมาก ก็ต้องการอาบน้ำบ่อยครั้ง หนังศีรษะก็เช่นเดียวกับผิวที่ต้องการความสะอาด และเมื่อความต้องการของผู้บริโภคนี้มาผนวกกับความต้องการขายของบริษัทที่ผลิตยาสระผม ก็กลับเป็นการกระตุ้นการใช้ยาสระผมให้เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ส่วนวลีที่มีการโฆษณาว่า "สระได้บ่อยเท่าที่ต้องการนั้น" แพทย์ให้ความเห็นว่าก็เป็นไปได้ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตก็ใช้ส่วนผสมที่มีฤทธิ์อ่อนลง

ปัจจุบันแม้จะมีผลิตภัณฑ์ออกมามากมายหลายชนิด เนื่องมาจากผู้ผลิตก็ต้องสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง จึงมีการผสมพืชพันธุ์หรือสารต่างๆ เข้าไป แต่แพทย์ได้กล่าวแนะนำถึงเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาเส้นผมว่าเมื่อผู้ใช้ทดลองผลิตภัณฑ์ชนิดใดก็ตามแล้วสามารถใช้ได้ดีและเข้ากับชนิดของเส้นผมของตนเอง ก็ควรใช้อย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ นอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของหนังศีรษะรวมทั้งเส้นผมตัวเองได้อีกด้วย

รายละเอียด ก่อน หลัง หน่วย
ราคาแชมพูและครีมนวด 150 150 บาท
ปริมาณที่สามารถใช้ได้ 60 40 ครั้ง
ปริมาณการใช้ต่อวัน 1 2 ครั้ง
ปริมาณการใช้ต่อเดือน 15 60 ครั้ง
ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 38 225 บาท
ค่าใช้จ่ายต่อปี 450 2,700 บาท
ค่าใช้จ่ายครอบครัว (4 คน) 1,800 10,800 บาท

หากลองคำนวณดูง่ายๆ ว่า โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีครอบครัวหนึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะกับเรื่องเส้นผมที่เป็นการสระผมจริงๆ อย่างเดียวเท่านั้นเป็นจำนวนเงินเท่าใด?..สมมติว่าราคาแชมพูบวกครีมนวดผมชุดหนึ่งราคา 150 บาท ซึ่งหากใช้ในปริมาณปกติที่เคยจะสามารถใช้ได้ 60 ครั้ง ถ้าเฉลี่ยต่อคนสระผม 2 วันต่อครั้ง ครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน จะเสียค่าใช้จ่ายต่อปี 1,800 บาท แต่หากเพียงแค่สมาชิกทุกคนในครอบครัวพร้อมใจกันเพิ่มความถี่ในการใช้ เป็น 2 ครั้งต่อวันและเพิ่มปริมาณแชมพูและครีมนวดเป็น 40 ครั้งต่อ 1 ชุด ค่าใช้จ่ายของครอบครัวนี้ต่อปีจะก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 10,800 บาททันที

ส่วนเกิน 9,000 บาท (อาจจะเท่ากับรายได้ของลูกชายที่เพิ่งทำงาน 1 เดือน ) จากตัวเลขการคำนวณง่ายๆ นี้ อาจเกิดขึ้นโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัวและมองไม่เห็น แต่ในแง่ของเจ้าของสินค้า เรื่องเล็กน้อยนี้เป็นการเพิ่มยอดขายจากเดิมถึง 5 เท่าตัว จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยแม้แต่น้อย หากจะตอบคำถามว่าเป้าหมายทางการสื่อสารการตลาดของธุรกิจนี้คืออะไร

หมายเหตุ.ข้อมูลเมื่อปี 2544


Create Date : 06 มิถุนายน 2549
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2550 23:36:58 น. 1 comments
Counter : 926 Pageviews.  
 
 
 
 
ขอบคุณสำหรับ้ขอมูลค่ะา ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ
การแบ่ง positioning ของผลิตภัณฑ์ แบบเก่า
กับแบบใหม่ ต่างกันอย่างไร พอทราบไหม ค่ะ
 
 

โดย: nok IP: 124.120.182.218 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2551 เวลา:1:45:13 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

อาบูหะซัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อาบูหะซัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com