"ประกายไฟน้อยๆ ลามทุ่งได้"

 
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
6 มิถุนายน 2549
 

หนี้สินครัวเรือน

ดุลยทัศน์ พืชมงคล



พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังออกปากเตือนเมื่อครั้งเดินทางมาบรรยายที่ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า สถานการณ์ในบ้านเราตอนนี้ หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้บัตรเครดิต น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าหนี้สาธารณะ

คำเตือนจากปากของครุกแมนนั้นมีน้ำหนัก เพราะเป็นที่ประจักษ์กันดีในความแม่นยำอยู่แล้วตั้งแต่คราววิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้สื่อมวลชนในสายข่าวเศรษฐกิจ และนักวิชาการที่นั่งฟังอยู่ ต้องกลับไปพลิกดูตัวเลขกันให้วุ่นว่ามีแนวโน้มเป็นจริงดังคำที่ครุกแมนเขาว่าไว้มากน้อยแค่ไหน
หลายคนดูแล้วก็บอกว่าจริง แต่ก็มีบ้างที่บอกว่าไม่ และก็มีบ้างที่ให้เหตุผลแบบติดตลกร้ายว่า หลังจากพินิจพิเคราะห์ตัวเลขโดยละเอียดแล้วพบว่า ทั้งหนี้สาธารณะ หนี้บัตรเครดิต และหนี้ครัวเรือน ต่างก็ดูน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน!

สำหรับหนี้บัตรเครดิตหรือที่เรียกเป็นทางการว่า สินเชื่อบัตรเครดิตคงค้างนั้น เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่บางคนบอกว่าดูครั้งใดใจหายทุกที เพราะแม้ความพยายามในการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นโดยการกำหนดเกณฑ์รายได้หรือกฎการผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำ จะสามารถชลออัตราการขยายตัวของหนี้คงค้างไปได้บ้าง แต่ในภาพรวมการขยายตัวก็ยังคงอยู่ในทิศทางบวก โดยเฉพาะกับจำนวนบัตรในไตรมาส 4 ปี 47 ที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่าปริมาณการเบิกเงินสดล่วงหน้า ผ่านบัตรเครดิตของคนไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 47 นั้นมีจำนวนสูงถึง 38,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,343 ล้านบาท หรือมีการขยายตัวสูงขึ้นถึง 82.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 46 โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย

การเบิกเงินสดล่วงหน้าผ่านบัตรเครดิตจากธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวนสูงถึง 27,585 ล้านบาทนั้นหมายถึงการขยายตัวสูงถึง 96.9% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 13,579 ล้านบาท ขณะที่การเบิกเงินสดผ่านบัตรที่ออกโดยบริษัทที่ประกอบธุรกิจเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน มีจำนวนถึง 9,014 ล้านบาท มีการขยายตัวสูงถึง 69.2% เพิ่มขึ้น 3,687 ล้านบาท

ปัจจุบันจำนวนบัตรเครดิตที่มีอยู่ในท้องตลาดนั้นมีอยู่เกือบ 9 ล้านใบ มียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 12,000 บาท ต่อ 1 บัตร ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำในการสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตที่ 15,000 บาท ที่น่าเป็นห่วงก็คือ โดยปกติแล้วผู้ถือบัตรส่วนใหญ่จะมีบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ มีจำนวนไม่น้อยที่ถือบัตรเครดิต 4-5 ใบอยู่ในกระเป๋า และบางคนก็มีมากได้อย่างเหลือเชื่อถึง 10-18 ใบ

ด้านหนี้สินต่อครัวเรือน ก่อนหน้านี้หลายคนอาจไม่ค่อยได้เห็นตัวเลขนี้กันเท่าไหร่นัก แต่ก็อย่างว่าหลังจากนักเศรษฐศาสตร์ระดับกูรูจับประเด็นนี้ขึ้นมา ข้อมูลตัวนี้ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาแสดงตามสื่อต่างๆกันแพร่หลายมากขึ้น
เราลองมาพิจารณาตัวเลขต่างๆ ของหนี้ครัวเรือน พร้อมๆกันกับตัวเลขรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนกันซักหน่อยก็ได้ว่าเป็นอย่างไร

จากผลสำรวจ พบว่า ในปี 2547 ครัวเรือนไทยมีรายได้อยู่ที่ 14,617 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นกว่า 76% เมื่อเทียบกับปี 2537 หรือเมื่อ 10 ปี ก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 12,115 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.10 จากปี 2537

เท่ากับว่า ปัจจุบันคนไทยมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนคิดเป็นร้อยละ 82 ของรายได้ และมีอัตราการออมที่ไม่มากนัก
จากตัวเลขรายได้และรายจ่ายเปรียบเทียบคร่าวๆ แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้จะมีสูงกว่าฝั่งรายจ่าย แต่ตัวเลขที่น่าสนใจที่สุดที่ครุกแมนกล่าวถึงก็คือ “หนี้สินต่อครัวเรือน”

ในปี 2537 ครัวเรือนทั่วประเทศ มีหนี้สินโดยเฉลี่ย 31,387 บาทต่อครัวเรือน หรือประมาณ 8.69 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ขณะที่ในปี 2547 ครัวเรือนทั่วประเทศ มีหนี้สินโดยเฉลี่ย 103,940 บาทต่อครัวเรือนหรือประมาณ 7.11 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

จากตัวเลขที่ปรากฎนี้ หากพิจารณาคร่าวๆ จะพบว่าสถานะการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยอาจพอจะกล่าวได้ว่ายังไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่นัก เพราะหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 8.69 เท่าของรายได้นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2547 ที่มีหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 7.11 เท่าของรายได้แล้ว นับว่ายังน้อยกว่ากันอยู่ระดับหนึ่ง

แต่หากลองพิจารณากันดีๆ การที่หนี้สินที่เพิ่มขึ้นมาจาก 31,387 บาทต่อครัวเรือนมาเป็น 103,940 บาทต่อครัวเรือนก็ต้องถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงมาก
รายงานผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนใน 6 เดือนแรกของปี 2547 ใช้ตัวอย่าง 46,600 ครัวเรือนทั่วประเทศ ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อเดือนครัวเรือนทุกกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้น 4.4% ขณะที่รายจ่ายต่อเดือนเฉลี่ยครัวเรือนอยู่ที่ 12,115 บาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากปี 2545 ที่ 10,908 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงแนวโน้มการเติบโตในฝั่งของรายจ่ายที่ขยับเพิ่มสูงขึ้นกว่าด้านรายได้ในช่วงสองสามปีที่ผ่าน นอกจากนี้ ตัวเลขหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สินอื่นๆ และหนี้สินเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งรายการหนี้สินที่ไม่สะท้อนไปสู่ภาคการผลิตหรือการสร้างรายได้

สะท้อนได้ว่า ถ้าตัวเลขยังเป็นเช่นนี้ไปอีกในหนึ่งถึงสองปี สถานะการณ์ก็ท่าจะน่าเป็นห่วงกันจริงๆจังๆ ดังที่ครุกแมนเขาว่าไว้เหมือนกัน .


Create Date : 06 มิถุนายน 2549
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2550 20:30:15 น. 0 comments
Counter : 373 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

อาบูหะซัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อาบูหะซัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com