"ประกายไฟน้อยๆ ลามทุ่งได้"

<<
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
5 มีนาคม 2551
 

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เรื่องน้อยนิด มากมาย มหาศาล

อัพเดทความเดิมเรื่องสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ตอนนี้กำลังกลายเป็นประเด็นในความสนใจของใครหลายๆคนโดยเฉพาะในแวดวงการเงินกันอีกครั้งครับว่า พรบ.คุ้มครองเงินฝาก ผ่านเป็นกฎหมายและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วันหลังจากนั้น หรือในราวเดือนสิงหาคมปีนี้

หลักการของพรบ.ฉบับนี้คือการโอนถ่ายภาระคุ้มครองเงินฝากจากรัฐบาลโดยกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้คุ้มครองเดิม ไปสู่สถาบันคุ้มครองเงินฝากซึ่งเป็นผู้คุ้มครองรายใหม่ โดยสถาบันการเงินต่างๆจะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากในอัตราไม่เกิน 1.% ของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับความคุ้มครอง (มาตรา49) จากเดิมที่เคยสมทบเข้ากองทุนฟื้นฟูฯในอัตรา 0.4% ซึ่งหมายความว่าต่อไปอาจจะจ่ายน้อยลงหรือมากกว่าอัตรา 0.4% เดิม แต่จะไม่เกินกว่าเพดาน 1% ที่กำหนด และก็เท่ากับว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งอาจจะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯในอัตราที่ไม่เท่ากัน บางสถาบันการเงินอาจจะจ่ายมากกว่า 0.4% ขณะที่บางสถาบันการเงินอาจจะถูกล็อตเตอรี่ จ่ายน้อยกว่าเก่า

มีข้อสงสัยว่า แล้วอัตราที่ว่านี้จะใช้วิธีการอะไรในการชี้วัดว่า สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะต้องจ่ายมากจ่ายน้อยแค่ไหน ซึ่งเมื่อพลิกไปดูพรบ.คุ้มครองเงินฝากก็จะพบว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากโดยคณะกรรมการคุ้มครองเงินฝากจะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และอัตราดังกล่าว โดยจะเห็นเลาๆได้ว่าน่าจะอาศัยหลักการและเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้มาใช้ในการตรวจสอบสถานะภาพของแต่ละสถาบันการเงินเพื่อนำไปสู่การจัดชั้นอัตราการสมทบเงินเข้ากองทุนฯอย่างเป็นธรรมต่อไป กล่าวคือถ้าสถาบันการเงินใดมีผลชี้วัดดี อัตราที่จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนก็มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าสถาบันการเงินที่แข็งแรงน้อยกว่า หรือจะหมายความได้ว่าล็อตตารี่ที่ว่าจะถูกกันนั้น ทั่วไปแล้วจึงมีโอกาสจะไปออกตรงที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่มากกว่า แต่อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวก็สามารถสะท้อนถึงเป้าหมายของพรบ.ฉบับนี้ได้ชัดเจนพอสมควรครับว่า มีความต้องการที่จะผลักดันให้สถาบันการเงินของไทยพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งมากขึ้น ด้วยเหตุผลง่ายๆ 2 ประการคือ ถ้าอ่อนแอก็ต้องจ่ายแพง และอีกประการหนึ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าก็คือ ถ้าไม่เข้มแข็งลูกค้าก็คงจะไม่พิสมัยใช้บริการ

ที่ว่าถ้าสถาบันการเงินไม่เข็มแข็งลูกค้าก็คงจะไม่ใคร่ใช้บริการเท่าไรนักก็เพราะ เมื่อมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากเกิดขึ้นแล้วกก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการนับถอยหลังปรับลดการคุ้มครองเงินฝาก จากที่เคยคุ้มครองผู้ฝากเงินเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ก็จะลงเหลือไม่เกิน 1 ล้านภายในระยะเวลา 5 ปี โดยในปีแรก (ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นปีนี้) ยังคงคุ้มครองเงินฝากอยู่เต็มจำนวน ส่วนในปีที่ 2 จะคุ้มครองอยู่ที่วงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท จากนั้นลดลงเหลือ 25 และ 10 ล้านบาทในปีที่ 3 และ 4 ตามลำดับ และท้ายที่สุดจะปรับลดลงมาถาวรอยู่ที่ 1 ล้านบาทในปีที่ 5 โดยจะเป็นการคุ้มครองจำกัดที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อธนาคาร ย้ำนะครับว่าต่อบัญชีต่อธนาคาร

ดังนี้แล้วโดยทั่วไปผู้ฝากเงินที่มีมูลค่าต่อบัญชีเกินกว่า 1 ล้านบาทก็มีแนวโน้มที่จะมีเกณฑ์ดารพิจารณาเลือกสถาบันการเงินที่จะฝากกันมากขึ้นกว่าเดิม เพราะสำหรับล็อตตารี่งวดนี้นั้น คนที่ไม่มีทางได้ มีแต่ทางถูกกินจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ผู้ฝากเงินขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่อยู่ดีๆ จากที่เคยได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนก็กลายรูปแปลงร่างมาเหลืออยู่ที่ 1 ล้านบาทเท่านั้น ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ผ่านมาซึ่งเมื่อครั้งนั้นที่ว่าหนักแล้ว แต่ผู้ฝากเงินอย่างไรเสียก็ยังได้รับความคุ้มครองเงินฝากอยู่เต็มจำนวน แต่สถานการณ์เงินฝากภายใต้พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากในอนาคตหาได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว เพราะผู้มีเงินฝากจะได่รับความคุ้มครองเหลืออยู่เพียง 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อธนาคารเท่านั้น!

ด้วยเหตุนี้ที่คาดการณ์กันว่าจะมีการแตกกระจายเงินฝากและการไหลออกของเงินไปสู่แหล่งการออมหรือการลงทุนอื่นๆอย่างมหาศาลในอนาคตอันใกล้ จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะกลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตาและไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด

คอลัมน์นี้เคยกล่าวว่า เมื่อพรบ.ฉบับนี้ใช้งานในช่วงแรกๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนอาจจะไม่มากมายนัก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อถึงปีที่ 2-3 ก็คาดว่าจะได้เห็นผู้มีเงินฝากตัดสินใจหันมาเลือกใช้วิธีการกระจายเงินเป็นบัญชีย่อยกันมากขึ้น กระบวนการเคลื่อนย้ายเงินฝากก็จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน และแม้ ณ ขณะนี้จะเป็นแค่ช่วงเวลาที่ไก่เริ่มโห่ แต่ถ้าสังเกตข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจก็จะเริ่มเห็นแล้วครับว่า บรรดาบริษัทจัดการกองทุนและบริษัทประกันชีวิตแทบจะทุกแห่ง ต่างก็จับจ้องชิ้นปลามันนี้กันชนิดไม่กระพริบตากันมานานหลายเดือนแล้ว และก็คงไม่กระพริบอย่างนี้ไปอีก 5-6 ปีเป็นอย่างน้อย

ตารางแสดงยอดเงินฝากตามลิงก์นี้

เป็นการแสดงยอดเงินฝากของสถาบันการเงินทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 โดยอ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวเลขในตารางนี้นอกจากจะบอกได้ว่าคนไทยที่มีเงินถุงเงินถังอยู่ในอ้อมกอดนั้นมีจำนวนอยู่พียงไม่กี่รายแล้ว ยังสามารถบอกได้อีกครับว่าบัญชีที่มีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปนั้นมีอยู่ประมาณ 1.17% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด และจำนวนรายของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายคุ้มครองเงินฝากจะมีอยู่ไม่มากมายแต่ก็ไม่น้อยที่ 860,353 บัญชี แต่ในขณะเดียวกัน 1.17% ที่ว่า เมื่อคิดกลับจากจำนวนบัญชีมาเป็นจำนวนเงินแล้ว ก็จะมีสัดส่วนมากโขถึง 72.47% ของจำนวนเงินฝากทั้งระบบ หรือคิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาลกว่า 4,723,232 ล้านบาท อ่านว่าสี่ล้านเจ็ดแสนสามหมื่นสามพันสองร้อยสามสิบสองล้านล้านบาท เลยทีเดียว

จึงอาจพอที่จะสรุปจากข้อมูลเบื้องต้นนี้ได้ว่า จำนวนคนที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบนั้นมีแต่อาจจะไม่มาก ก็เพราะถ้าพิจารณาลึกลงไปใน 860,353 บัญชี ที่มีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาท โดยเลือกนับเอาเฉพาะบัญชีผู้ฝากรายใหญ่ที่ฝากต่อบัญชีเกินกว่า 100 ล้านบาทต่อบัญชีขึ้นไป ก็มีอยู่แค่เพียง 3,587 บัญชีเท่านั้น ยิ่งสำหรับผู้ฝากรายใหญ่ตัวจริงเสียงจริงที่มีเงินฝากต่อบัญชีเกินกว่า 500 ล้านบาทขึ้นไปด้วยแล้ว ก็จะมีจำนวนอยู่แค่เพียง 459 บัญชี (แต่ถ้านับเป็นจำนวนคนคาดว่าจะน้อยลงไปกว่านี้) หรือประมาณ 0.0006% ของจำนวนบัญชีทั้งหมดเท่านั้น แม้ว่าที่จริงแล้วจะคิดเป็นมูลค่าเงินฝากมากถึง 619,500 ล้านบาท หรือเกือบ 10% ของเงินฝากทั้งระบบ หรือกว่า 40% ของงบประมาณแผ่นดินปี 2551 ก็ตาม

ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากคือบุคคลและนิติบุคคที่มีเงินฝากขนาดกลางขึ้นไปประมาณเจ็ดแปดแสนบัญชี และยังสมารุสรุปได้อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้คุ้มครองเงินฝากเดิมอย่างกองทุนฟื้นฟูฯและที่ต่อไปกำลังจะเป็นสถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้นจะสามารถลดภาระค้ำประกันเงินฝากที่ต้องแบกอยู่เดิมไปได้กว่า 72.47% ของเงินฝากทั้งระบบหรือประมาณ ห้าล้านล้านบาท เลยทีเดียว.

เพิ่มเติม ตัวอย่างการคุ้มครองเงินฝากของประเทศเพื่อนบ้าน และสหรัฐอเมริกา

เวียตนาม (Deposit Insurance of Vietnam : DIV) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2543 มีบทบาทและความรับผิดชอบครอบคลุมทั้งการคุ้มครองผู้ฝาก กำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินปัจจุบันประกันเงินฝากสกุลเวียตนามดองสูงสุดจำนวน 50 ล้านดอง (100,000 บาท) ต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน และเก็บเบี้ยประกันจากสถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.15 ต่อปีของยอดเงินฝากที่ประกัน

สิงคโปร์ (Singapore Deposit Insurance Corporation Limited : SDIC) เปิดดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2549 โดยมีบทบาทจำกัดเพียงการคุ้มครองผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาและองค์กรการกุศลที่มีบัญชีเงินฝากสกุลดอลลาร์สิงคโปร์ในจำนวนไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 460,000 บาท) ต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน ปัจจุบันเก็บเบี้ยประกันตามความเสี่ยงร้อยละ 0.03-0.08

มาเลเซีย (Perbadanan Insurance Deposit Malaysia : PIDM) จัดตั้งขึ้นในวันที่ 15 ส.ค. 2548 ทำหน้าที่ในการคุ้มครองเงินฝากทั่วไปและเงินฝากอิสลามประเภทละ 60,000 ริงกิตต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน (ประมาณ 600,000 บาท) ในช่วง 2 ปีแรกเรียกเก็บในอัตราคงที่ร้อยละ 0.06 ของเงินฝากที่ประกัน และตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป จะเก็บอัตราเบี้ยประกันแตกต่างกันตามความเสี่ยง (risk-based) ของฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงิน

สหรัฐอเมริกา (Federal Deposit Insurance Corporation : FDIC) จัดตั้งเมื่อปี 2476 เป็นแม่แบบของการประกันเงินฝากในหลายประเทศ โดย FDIC ดำเนินการครอบคลุมไม่เฉพาะการจ่ายคืนเงินผู้ฝากเท่านั้น แต่รวมถึงอำนาจการเข้าตรวจสอบสถาบันการเงินด้วย ปัจจุบัน FDIC ประกันเงินฝากทั่วไปในวงเงิน 100,000 ดอลล่าร์ สรอ. (ประมาณ 3.5 ล้านบาท) ต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน และประกันเงินฝากเพื่อการเกษียณอายุ (Retirement account) 250,000 ดอลล่าร์ สรอ. ต่อรายผู้ฝาก
# ฐานข้อมูลจากเว็บไซต์ธานาคารแห่งประเทศไทย //www.bot.or.th)



Create Date : 05 มีนาคม 2551
Last Update : 5 มีนาคม 2551 11:43:44 น. 0 comments
Counter : 540 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

อาบูหะซัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อาบูหะซัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com