"ประกายไฟน้อยๆ ลามทุ่งได้"

 
พฤศจิกายน 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
15 พฤศจิกายน 2550
 

รักหลังราชบัลลังก์

ดุลยทัศน์ พืชมงคล



ใครที่เคยอ่านพงศาวดารไทยสมัยอยุธยาหรือชมภาพยนตร์เรื่องสุริโยไทมาแล้ว วันนี้ผมขออนุญาตแนะนำหนังสือเก่าสักเล่มหนึ่ง เพราะเป็นหนังสือที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ในอีกแง่มุมไว้ได้อย่างน่าสนใจ

หนังสือเล่มนี้ มีชื่อที่ตั้งไว้ได้อย่างนุ่มนวลชวนอ่านครับว่า “รักหลังราชบัลลังก์”

เป็นผลงานที่ประพันธ์ขึ้นในราวปี พ.ศ. 2480 โดย “ยาขอบ” หรือ นายโชติ แพร่พันธ์ นักประพันธ์เอกของวงวรรณกรรมไทย และเป็นเจ้าของผลงานอมตะนิยายชื่อก้อง “ผู้ชนะสิบทิศ”

เนื้อหาของหนังสือกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสมัยอยุธยา อันเป็นช่วงเวลาและช่วงเหตุการณ์เดียวกันกับที่นำเสนออยู่ในภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท

ความแตกต่างอยู่ที่บทภาพยนตร์นั้นอิงประวัติศาสตร์ ส่วนบทประพันธ์นี้ถือเอาน้ำใจของคนเขียนเป็นที่ตั้ง

และที่แตกต่างกันอย่างสุดกู่ก็คือทัศนคติและมุมมองที่มีต่อพระนางศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศ์ษาหรืออีกนัยหนึ่งคือ พันบุตรศรีเทพ

ในขณะที่หนังและพงศาวดารมองพระนางศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงษาศ์ ในมุมของผู้ผิดทั้งในแง่ของการการครองคู่กันจนถึงการครองเมือง

แต่ในรักหลังราชบัลลังก์ ผู้ประพันธ์เจาะจงลงลึกในประเด็นเรื่องราวความรักของทั้งคู่

โดยร้อยเรียงแต่งแต้มที่มาและความสัมพันธ์ระหว่างกันเสียใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านได้เคลิบเคลิ้มคล้อยตามไปกับสิ่งที่ตั้งใจจะนำเสนอ

ซึ่งยาขอบเองก็ได้ออกตัวไว้แต่เบื้องต้นในบทนำเรื่องที่ใช้ชื่อว่า “มาเข้าใจกันเสียก่อน” ตอนหนึ่งไว้แล้วว่า

ไม่ได้มุ่งค้านใดๆ ในหลักฐานดั้งเดิม แต่ประสงค์เพียงเสนอความเชื่อโดยสุจริตใจของตนเพื่อประโยชน์แก่งานของเขาเท่านั้น

ขณะที่ประวัติศาสตร์ให้เหตุจูงใจของการชิงราชสมบัติในช่วงเวลานั้นว่า

เป็นพระประสงค์ของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ที่ต้องการยกเชื้อสายราชวงศ์อู่ทอง อันเป็นราชวงศ์เดิมตามสายเลือดของพระนางและนายพันบุตรศรีเทพซึ่งเป็นคู่พิศมัย
ขึ้นเหนือพระแท่นภายใต้พระมหาเศวตฉัตรราชอาณาจักรอยุธยาที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิครองความเป็นใหญ่ขึ้นอีกครั้งนั้น

แต่ใน ”รักหลังราชบัลลังก์” ของนักประพันธ์เอกอย่าง “ยาขอบ” กลับเรียกร้องให้ผู้อ่านตีความไปอีกด้านหนึ่ง และทำความเข้าใจกับเหตุผลนี้ในลักษณะที่ “เข้าไปนั่งในหัวใจของชายหญิงคู่นี้อย่างปุถุชนคนธรรมดา” ซึ่งประกอบได้ทั้งกรรมดีและชั่ว และบางครั้งก็ให้น้ำหนักและค่าของ “ความรัก” ไว้เหนือกว่า “อำนาจหรือราชบัลลังก์”

ความเป็นไปของการก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ของขุนวรวงษานั้น ยาขอบได้ให้เหตุผลไว้หนังสือเล่มนี้ว่า

“ขุนวรวงษา อาจพอใจในการบำเพ็ญชีวิตอย่างเงียบๆ แต่แสนสุขที่ซ่อนตัวเป็นยอดรักของนางพระยาซึ่งเป็นเมียรักเช่นนั้นก็ได้ ถ้าการแพทย์สมัยโน้นรุ่งเรื่องจำเริญเหมือนในปัจจุบันนี้ แล้วการคุมกำเนิดก็เป็นผลแน่นอน แต่พงศาวดารไม่ได้บอกเราหรือว่า ความจำเป็นบังคับขุนวรวงษาต้องก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ เพื่อรักษาความปลอดภัยของตนและเมียรักในเมื่อนางพระยามีครรภ์“

ทั้งยังท้าทายผู้อ่านของเขาด้วยว่า

“ข้าพเจ้าจะไม่พูดเรื่องนี้ยาวนักจะเพียงขอให้ท่านคิดโดยพาท่านไปนั่งเคียงแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ในฐานะขุนวรวงษาธิราชท่านจะทำอย่างไรกับศัตรูที่ส้องสุมกันคอยคิดล้างผลาญท่าน? ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าท่านจะงอมืองอเท้า”

ยาขอบ ได้ให้เหตุผลรองรับไว้สำหรับผู้อ่านที่อาจล่วงคิดไปว่า เพราะเหตุของการเป็น

“คนหนักในกามคุณ” ของทั้งคู่จึงทำให้เหตุการณ์ทั้งหลายถลำลึกไปได้ถึงเพียงนี้ต่อไปว่า

“อันว่ากามคุณกับความรักไม่เหมือนวิสกี้กับเบียร์ ซึ่งเราชี้หลักฐานง่ายๆ ได้ด้วยเครื่องวัดดีกรีของกรมสรรพมิตร ข้าพเจ้าไม่ทราบความรักรุนแรงขนาดไหนถึงจะเข้าขั้นกามคุณ และไม่ทราบว่ากามคุณขนาดอ่อนบางแค่ไหน จึงควรเรียกว่าความรัก ถ้าเรายังเข้าใจสองสิ่งรวมๆ รัวๆ กันอยู่ ข้าพเจ้าก็อยากจะเรียกคนชั่วในพงศาวดารผู้นี้ว่า คนหนักในความรัก”

ภายใต้ฉากหลังตามพงศาวดาร “รักหลังราชบัลลังก์” ของยาขอบยังได้เสริมเติมแต่งเรื่องราวแห่งความรักของทั้งคู่ไว้อย่างบรรเจิศเพริดแพร้วตอนแล้วตอนเล่าเพื่อให้ผู้อ่านเคลิบเคลิ้มคล้อยตามไปกับบทบาทความรักในจิตนาการของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นฉากที่แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์พระราชทานดอกจำปาเป็นกำนัลแด่พันบุตรศรีเทพ หรือเมื่อคราวพันบุตรศรีเทพออกอุบายฝากจุมพิตโดยอาศัยพวงแก้มของราชบุตรผู้เยาว์เป็นพาหนะฝากประทับซ้ำรอยไปถึงนางอันเป็นที่รัก รวมถึงอีกหลายฉากหลายตอนที่ไล่เรียงอยู่ในหนังสือตลอดทั้งเล่ม

ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า ความเป็นไปในฉากต่างๆเหล่านี้ หากใครลองได้อ่านผ่านตาซักเที่ยวหนึ่งแล้ว คงจะรู้สึกได้ว่า เป็นเรื่องกินแรงไม่น้อยที่จะบังคับน้ำใจไม่ให้แปรไปอยู่ข้างเดียวกับผู้เขียนและตัวละครทั้งคู่ได้

อาจกล่าวได้ว่า “รักหลังราชบัลลังก์” เป็นบทประพันธ์เรื่องเยี่ยมชิ้นหนึ่งของยาขอบ โดยเฉพาะกับสำนวนภาษาที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่ามีเสน่ห์และมนต์ขลังราวกับเป็นนายของตัวอักษรและผู้ที่ถืออ่านงานของเขา

ใครที่เคยอ่านหนังสือเรื่องนี้มาแล้วก็คงทำให้การชมภาพยนตร์เรื่องสุริโยไทออกรสชาดมากขึ้นกว่าเดิม หรือใครที่เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่ครั้งที่ออกฉาย เมื่อได้อ่านหนังสือเก่าเล่มนี้ด้วยแล้วก็คงได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้พินิจพิจารณาพงศาวดารไปในแง่มุมที่เปิดกว้างและหลากหลายกว่าเดิม เรียกได้ว่าทั้งรักทั้งรบ ได้อรรถรสครบถ้วนกระบวนความ.



Create Date : 15 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 28 ธันวาคม 2550 15:23:04 น. 2 comments
Counter : 510 Pageviews.  
 
 
 
 
ไม่เคยอ่านเรื่องนี้เลยค่ะ ว่าไปก็ไม่ค่อยได้อ่านนิยายสมัยเก่าๆมากนัก

ขอบคุณที่มาแนะนำหนังสือที่น่าอ่านให้กันนะค่ะ

แล้วจะหาซื้อได้ที่ไหนบ้างค่ะ
 
 

โดย: มัยดีนาห์ วันที่: 15 พฤศจิกายน 2550 เวลา:23:48:58 น.  

 
 
 
อยากอ่านบ้างจัง down load ได้ที่ไหน
 
 

โดย: POP IP: 58.97.49.2 วันที่: 30 สิงหาคม 2552 เวลา:13:45:09 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

อาบูหะซัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อาบูหะซัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com