"ประกายไฟน้อยๆ ลามทุ่งได้"

 
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
5 มิถุนายน 2549
 

อีกครั้ง…กับสืบและห้วยขาแข้ง

“ ผมคิดว่า ชีวิตผมทำได้ดีที่สุดแล้ว
เท่าที่ผมมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่า ผมได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้ว
ผมคิดว่า ผมได้ทำตามกำลังของผมดีแล้ว
และผมพอใจ ผมภูมิใจในสิ่งที่ผมทำ…….”


ณ เขตุรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จังหวัดอุทัยธานี….บนพื้นหลังของเสื้อยืดที่ผู้คนสวมใส่เดินไปมา บนบอร์ดและป้ายแสดงผลงานในอดีต รวมถึงเอกสารงานพิมพ์อีกหลายต่อหลายชิ้น ยังคงปรากฏคำกล่าวที่จริงจัง ตรงไปตรงมาของสืบ นาคะเสถียร ตำนานของนักอนุรักษ์ป่าไม้และธรรมชาติของไทยบทนี้แก่สายตาผู้ที่มาร่วมงานในวันครบรอบ 11 ปี ของการจากไปของเขาเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา

ทุกวันนี้ที่นี่ดีขึ้น

“ที่ผ่านมาเราสนับสนุนการรักษาป่า ประสานงานกับประชาชนและเจ้าหน้าที่ ปลูกจิตสำนึกของป่าให้แก่ท้องถิ่น เราติดตามข้อกฎหมายและนโยบายของภาครัฐเพื่อสนับสนุนและปกป้องห้วยขาแข้งและป่าทุกแห่งของไทย ถึงวันนี้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สัตว์ป่าก็อยู่ดีมีสุข ผลวิจัยที่มีบอกกับเราว่าสัตว์ป่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกระทิง วัวแดง เสือโคร่ง ฯลฯ”

อาจารย์รตยา จันทรเทียร ที่ปรึกษาและอดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กล่าวคล้ายกับจะเป็นการบอกกับเราว่า 11 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้างที่ห้วยขาแข้ง

………บ่ายคล้อยของวันที่ 31 สิงหาคม เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เขาหินแดง เป็นเส้นทางเดินเท้าไม่ไกลไปจากจุดที่เป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์และที่พักของเรา เส้นทางแห่งนี้มีความยาวโดยประมาณ 4.7 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงก็สามารถเดินรอบเส้นทางและวกกลับมายังจุดแรกเริ่มได้

กล่าวกันว่า ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ เป็นเส้นทางที่ดำรงความอุดมสมบูรณ์ของป่าเอาไว้อย่างดีที่สุดแห่งหนึ่ง

เพียงการเริ่มต้นของเส้นทาง ร่างกายก็สามารถรับรู้ได้ถึงอุณหภูมิที่ต่ำลงจากความชุ่มชื้นของป่าและกิ่งใบของพันธุ์ไม้นานาชนิดที่ปกคลุมอยู่โดยรอบเส้นทาง แดดที่เคยส่องแสงร้อนแรงและกระจ่างสายตาค่อยๆอ่อนกำลังลงไป คล้ายกับเป็นการยืนยันถึงคำกล่าวขานของป่าแห่งนี้ได้อย่างดีตั้งแต่แรกเริ่มเดินทาง

เจ้าหน้าที่ผู้นำทางแนะนำจุดศึกษาธรรมชาติจุดแรกซึ่งเป็นพื้นดินทรายร่วนที่ง่ายต่อการสังเกตรอยเท้าสัตว์หลากหลายชนิดที่ผ่านไปมาบนเส้นทางสายนี้ และรอยเท้าแรกที่พบเราในวันนั้นไม่จำเป็นต้องบอกเราก็สามารถรู้ได้ทันทีว่าเป็นรอยเท้าของสัตว์อะไร เจ้าหน้าที่ชี้รอยเท้านั้นให้เราดูพร้อมกับระบุลงไปด้วยความชำนานว่าเป็นรอยเท้าเสือดาว!

เราเดินทางต่อไปด้วยความสำรวมยิ่งขึ้น ผ่านป่าเต็งรังไปถึงรอยต่อของป่าไปสู่ป่าเบญจพันธุ์ ในช่วงรอยต่อนี้เราพบพันธุ์ไม้ของป่าทั้งสองชนิดนี้ขึ้นผสมผสานกันอยู่มากมายหลายประเภท เราทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า“ไผ่หนาม” ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่จุดรอยต่อของป่าเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่บอกกับเราว่าเราเดินทางมาถึงตรงไหนแล้วของเส้นทาง

ตลอดเส้นทาง ทางเขตอนุรักษ์ฯ ได้ติดตั้งป้ายที่บอกถึงความหมายของธรรมชาติในแต่ละจุดเอาไว้สำหรับอธิบายและให้ความรู้แก่ผู้เดินทาง เราเดินพลางหยุดฟังไปพลาง เพียงไม่กี่อึดใจก็ย้อนกลับถึงจุดเริ่มต้นอีกครั้ง

…17.15 น. เรากลับมายังที่พัก รู้สึกเหนื่อยล้าแต่ก็ชุ่มชื่นกับความสมบูรณ์ตามธรรมชาติของป่าตามที่อาจารย์รตยาบอกไว้

ถึงแม้ว่าเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาหินแดงของเราจะเป็นเพียงหนังตัวอย่างแสนสั้น แห่งห้วยขาแข้ง แต่มันก็เป็นการสะท้อนถึงสภาพโดยรวมของผืนป่าอันเป็นที่รักของสืบนาคะเสถียรในวันนี้ได้เป็นอย่างดี

…….กิจกรรมของเยาวชนที่นำมาแสดงเป็นละครในค่ำคืนวันนั้น เล่าถึงจิตสำนึกของป่าในนามของนักอนุรักษ์ที่ต้องเสียสละอยู่เสมอ เนื้อหาในละครพูดถึงปัญหานายทุน ผู้มีอิทธิพลและความยากแค้นลำเค็ญของชาวบ้านในท้องถิ่นที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของป่าและสัตว์

ผู้บุกรุกพ่ายแพ้ในขณะที่ชาวบ้านผู้รักษ์ป่าประสพชัยชนะในการปกป้องผืนป่าอันเป็นที่รัก เป็นจิตนาการที่ถ่ายทอดออกมาได้สนุกสนานและน่าชื่นชม เด็กน้อยซึ่งรับบทเป็นนักอนุรักษ์ที่ต้องถูกยิงเสียชีวิตในตอนท้ายแสดงได้ดีจนใครคนหนึ่งในพวกเราเอ่ยปากชมและตั้งคำถามซึ่งสะท้อนออกมาจากการแสดงชุดนี้ไว้หนักๆว่า “สีเขียวของป่าต้องแลกมาด้วยสีแดงของเลือด”

ย้อนอดีตอีกครั้ง

หลังจากการแสดงจบลง เราได้ฟังดนตรีเบาๆ และคำกล่าวสั้นๆ ถึงที่มาของงานวันนี้จากคนใกล้ชิดและสนิทสนมกับสืบมาตั้งแต่เมื่อครั้งเขายังมีชีวิตอยู่

จากนั้นทางมูลนิธิจึงนำหนังบันทึกส่วนหนึ่งในการทำงานของสืบมาฉายให้แก่ผู้มาร่วมงานทุกคนได้ชมกัน ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราและใครๆ หลายคนรู้จักกับสืบ นาคะเสถียร มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคย

อาจเป็นเพราะในประเทศไทยมีบุคคลที่อยู่ในฐานะอย่างสืบเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการบันทึกชีวิตและผลงานเป็น ”ภาพเคลื่อนไหว” เก็บเอาไว้บ้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของชีวิตของการทำงานของเขา แต่มันก็ช่วยให้คนรุ่นหลังโดยเฉพาะกับเยาวชน ได้มีโอกาสได้รับรู้และเข้าใจความเป็นไปได้ง่ายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ภาพที่สืบพุ่งกระโจนลงไปช่วยสัตว์ป่าที่กำลังจมลงสู่พื้นน้ำจากการก่อสร้างเขื่อน “เชี่ยวหลาน” ในปี 2529 เพียงพอแก่การอธิบายตัวตนของสืบได้เป็นอย่างดี ยิ่งเมื่อรวมกับการอ่านหนังสือหรือฟังคำบอกเล่าของผู้ที่เคยร่วมงานกับเขาด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง อดไม่ได้ที่จะรู้สึกยกย่องชื่นชมพฤติกรรมที่เสียสละและมุ่งมั่นตั้งใจ อดไม่ได้ที่จะเกิดความรู้สึกสงสารสัตว์ป่าที่ต้องล้มหายตายจากไปจากการสร้างสิ่งที่สนองความสมบูรณ์อันล้นเหลือของมนุษย์ด้วยการช่วงชิงชีวิตและที่อยู่อาศัยที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิดของสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน

สายของวันที่ 1 กันยายน เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณ จอบ…..บรรณาธิการนิตยสาร “สารคดี” ผู้ที่เคยอยู่ร่วมในการทำงานหลายต่อหลายครั้งของสืบและเป็นผู้ที่บันทึกภาพและเรื่องราวส่วนหนึ่งของเขาไว้

“ คุณสืบเป็นคนทำงานจริงจัง ทำอะไรแล้วจะต้องทำให้สำเร็จ และมุ่งที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง การตายของเขาเมื่อ 11 ปีก่อน ใครที่ไม่รู้จักเขาอาจจะคิดว่าเขาสิ้นคิด แต่คนใกล้ชิดที่รู้จักเขาดีก็จะรู้ว่าเขาทำเพื่ออะไร หากคุณเห็นภรรยาของคุณกำลังถูกข่มขืน คุณดิ้นรนต่อสู้จนสุดกำลังแต่ไม่สามารถช่วยเหลือภรรยาของคุณได้ คุณจะทำอย่างไร?” บรรณาธิการนิตยสารสารคดีเริ่มต้นคุยกับเราด้วยเรื่องการตัดสินใจจบชีวิตตนเองของสืบ พร้อมกับยกข้อเขียนในบทความของเขาเมื่อเดือนมิถุนายน 2533 ขึ้นมาอีกครั้ง

“ เมื่อปี 29 เราลงเรือไปช่วยเหลือสัตว์ป่าที่กำลังจมน้ำ เลียบเรือเข้าไปใกล้ต้นไม้ต้นหนึ่งแล้วเขย่าเพื่อจะช่วยลิงตัวหนึ่งที่ติดค้างอยู่ด้านบนให้กระโดดลงมาที่เรือของเรา แต่แล้วสิ่งที่ตกลงมากลับไม่ใช่ลิง แต่เป็นงูจงอางขนาดใหญ่ยาวประมาณ 3 เมตร เวลานั้นผมคิดว่าเราโชคดีที่มันไถลลงน้ำไป เพราะไม่อย่างนั้นหากมันพุ่งลงมาในเรือแล้วกัดใครซักคนเข้า ชีวิตหนึ่งก็คงจบกัน เพราะโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดตอนนั้นก็ต้องใช้เวลาเดินทางไป 7-8 ชั่วโมง!

…..แต่สืบเขาไม่คิดอย่างเรา เขาเห็นว่าต้องช่วยเหลือจงอางตัวนี้ให้ได้ เขาให้พวกเราช่วยเอาที่ช้อนๆ จงอางขึ้นมาจากน้ำ

…มันขึ้นดิ้นสะบัดอยู่บนเรือ ตอนนั้นสืบมีลูกน้องอยู่ด้วย 6-7คน แต่เขาไม่ได้สั่งให้ใครไปจับเพราะรู้ดีว่ามันอันตราย สืบห่วงลูกน้องของเขามาก เขาเข้าไปตะปบที่หัวจงอางตัวนั้นด้วยตนเอง และเขาก็จับมันไว้ได้อย่างรวดเร็ว มันพ่นพิษออกมาเป็นสีเหลืองเต็มกาบเรือ พวกเราคนหนึ่งเอ่ยปากชื่นชมว่า พี่สืบไปเรียนจับงูมากจากไหนถึงจับได้เก่งขนาดนี้ รู้มั้ยเขาตอบว่าอะไร เขาบอกว่า เขาจับงูครั้งนี้เป็นครั้งแรก!…มันหมายความว่าอะไร มันหมายความว่าเขามุ่งมั่นจริงจังกับหน้าที่ของเขามาก เขาตั้งใจจะช่วยเหลือสัตว์ทุกชนิดไม่ว่ามันจะเป็นอะไร และหากเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายเขาจะตัดสินใจทำด้วยตนเอง เขาจะไม่ให้ลูกน้องทำแทน”

บรรณาธิการสารคดีเล่าถึงเหตุการประทับใจครั้งนี้เสมอๆ เวลาที่มีใครถามเขาเกี่ยวกับเรื่องของสืบ เราคุยกับเขานานนับชั่วโมง เรื่องราวของห้วยขาแข้งและป่าตะวันตกถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันเรื่องแล้วเรื่องเล่า เขาปิดท้ายการสนทนาในวันนั้นว่า

“โดยรวมแล้ว ปัจจุบันนี้สภาพของป่าดีขึ้น อย่างน้อยๆ ที่นี่มันดังมาก ทุกคนจับตามอง อะไรเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นที่นี้ผู้คนจะออกมาคอยปกป้องดูแล…สืบใช้เสียงปืนนัดนั้น บอกว่าอะไรเกิดขึ้นที่นี่…”

บ่ายวันนั้น หลังจากเสร็จพิธีการไว้อาลัยที่อนุสรณ์สถานของสืบ นาคะเสถียรเป็นที่เรียบร้อย เราจึงเดินทางกลับกันโดยรถตู้ของมูลนิธิฯ ระหว่างทางเราทบทวนความคิดอีกครั้งหนึ่งสำหรับข้อมูลของการมาทำงานในครั้งนี้ว่า บุคคลที่นำเรามาที่นี่ผู้นี้แท้จริงแล้วเป็นคนอย่างไร และเราสรุปได้ว่า.

สืบนาคะเสถียร ก็เป็นเพียงคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง เป็นคนธรรมดาที่ย่อมจะรักครอบครัว รักหน้าที่การงาน และหวงแหนชีวิตของตนเอง

….หากแต่ความรักความหวงแหนส่วนตัวทั้งหมดนี้ เขาสามารถสละมันได้

11 ปี แห่งการจากไปของเขา เสียงปืนนัดนั้นยังคงก้องดังอยู่ในความเวิ้งว้างของห้วยขาแข้ง เปรียบเสมือนเสียงกู่ก้องร้องเรียกให้ทุกคนหันมาสนใจในปัญหาที่ครั้งหนึ่ง เขาเคยต่อสู้อยู่เพียงลำพัง


Create Date : 05 มิถุนายน 2549
Last Update : 23 กรกฎาคม 2551 15:26:47 น. 1 comments
Counter : 399 Pageviews.  
 
 
 
 
สู้ต่อไป ทาเคชิ
 
 

โดย: AuY na raK IP: 124.121.147.73 วันที่: 6 มิถุนายน 2549 เวลา:15:40:07 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

อาบูหะซัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อาบูหะซัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com