"ประกายไฟน้อยๆ ลามทุ่งได้"

 
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
6 มิถุนายน 2549
 

จิตวิทยาโฆษณาของราชาเพลงลูกทุ่ง

ดุลยทัศน์ พืชมงคล



จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อย ที่ตลอด 38 ปี ของการจากโลกนี้ไปของสุรพล สมบัติเจริญ บทเพลงของเขาก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่องยาวนานมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

เป็นเรื่องยากที่ใครจะบอกได้ว่าบทเพลงของสุรพลถูกหยิบยกมาทำอัลบัมใหม่ๆทั้งที่เป็นเสียงเดิม คนตรีเดิม หรือที่เป็นเสียงคนอื่น ดนตรีใหม่ บ่อยครั้งแค่ไหน? เพราะบทเพลงของเขาได้รับการบันทึกใหม่เป็นทั้งแผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ตหรือแม้กระทั่งซีดีมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกินกว่าที่จะมีใครสามารถจดจำบันทึกไว้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งหากจะตอบให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุดก็คงตอบได้เพียงแค่ว่า….นับครั้งไม่ถ้วน

ที่จริงแล้วคนที่สนใจบทเพลงลูกทุ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงการดนตรี ควรจะถามว่า เพราะสาเหตุอะไรบทเพลงของสุรพลถึงได้รับความนิยมต่อเนื่องมายาวนานปานนี้? หรือไม่ก็..นอกเหนือไปจากความไพเราะของเนื้อเพลงและน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสุรพลแล้ว ยังมีอะไรที่วิเศษอีกหรือ ถึงทำให้เพลงของเขาเป็นที่นิยมมาโดยตลอดและแฟนเพลงของเขาก็เกิดขึ้นใหม่ได้ทุกยุคทุกสมัย คล้ายดังมนต์ที่ได้สะกดไว้เนิ่นนานแต่ก็ยังไม่มีผู้ใดรู้วิธีคลาย

หากจะลองพิจารณาบทเพลงของสุรพลกันอย่างไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎเกณฑ์วิชาการทางคีตศิลป์และความแม่นยำทางชีวประวัติแล้ว นอกเหนือไปจากความไพเราะเสนาะหูที่รู้กันดีอยู่แล้วนั้น บทเพลงของราชาเพลงลูกทุ่งผู้นี้ยังแฝงเร้นไปด้วยกลิ่นอายที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่ในยุคสมัยปัจจุบันนี้เรียกกันว่า “จิตวิทยา” หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดลงไปก็คือ “จิตวิทยาการโฆษณาประชาสัมพันธ์” หากแต่เป็นรูปแบบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยองค์ประกอบที่เป็นธรรมชาติและพรสวรรค์เฉพาะตัวที่ไม่ได้ผ่านการเตรียมการอย่างเป็นระบบเหมือนที่บรรดาค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทำกันอยู่ดังเช่นในทุกวันนี้

บางคนที่เป็นแฟนเพลงสุรพลอยู่แล้ว เมื่อกล่าวถึงตรงนี้อาจจะพอเริ่มนึกออกบ้างแล้วว่าที่กล่าวมามีเค้าของเหตุและผลอยู่บ้าง แต่สำหรับใครที่ไม่ค่อยจะรู้จักหรือคุ้นเคยกับเพลงของสุรพลมาก่อนอาจจะสงสัยว่ามีลักษณะดังที่ว่านี้เป็นอย่างไร?

สุรพล หรือที่ญาติสนิทมิตรสหายเก่าๆ เรียกกันว่า “ดวน” (มาจากชื่อเดิมเต็มที่อาจจะฟังดูไม่ทันสมัยเท่าไหร่นักว่า “ลำดวน”) เป็นนักร้องที่สามารถแต่งเพลงได้เองและร้องเพลงได้ดีอันเป็นคุณสมบัติข้อแรกๆอันพึงมีของผู้ที่คิดจะฝากชีวิตอยู่ในเส้นทางอาชีพสายนี้ บทเพลงของสุรพลในยุคแรกๆมักจะนำท่วงทำนองของดนตรีไทยเดิมมาประยุกต์กับจังหวะและเนื้อเพลงที่บรรจงแต่งขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ด้วยความเคยหูจึงไม่เป็นการยากเย็นเท่าไรนักที่ผู้ฟังในยุคสมัยนั้นจะสามารถจดจำรวมทั้งร้องตามเพลงของสุรพลกันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะว่าไปแล้ววิธีการดังกล่าว นับว่าเป็นการจัดการกับอุปสรรคในเรื่องของการสื่อสารที่ยังไม่เข้าถึงได้ถี่และกว้างไกลในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

เมื่อลงลึกต่อไปใน “เนื้อหา” บทเพลงของสุรพลไม่ต่างไปจากจดหมายเหตุหรือบันทึกความทรงจำของเหตุการณ์และความเป็นไปของยุคสมัยที่เขายังมีชีวิต บทเพลงส่วนใหญ่ของสุรพลเป็นการเรียงร้อยเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับบุคคล การดำเนินชีวิตและสังคมในลักษณะที่ใกล้ตัวและมีชีวิตชีวา และแน่นอนเรื่องราวเหล่านี้มักจะดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ค่อนข้างง่ายและตรงจุดไม่ว่าจะเป็นในช่วงเวลาใด บทเพลงที่เรารู้จักกันดีอย่าง น้ำตาจ่าโท ดัชนีไฉไล หรือแม้กระทั่งรักริงโง เป็นตัวแทนของสไตล์การแต่งเนื้อร้องที่ว่านี้ได้อย่างชัดเจน….

ไม่ว่าจะเป็นสมัยก่อนหรือสมัยนี้ อาชีพนักร้องนั้นก็ยังคงเป็นอาชีพที่ต้องเกี่ยวพันกับการเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้เสมอๆ โดยเฉพาะกับชีวิตนักร้องลูกทุ่ง จุดเด่นของสุรพลก็คือเขาจะไม่ปล่อยให้เวลาและโอกาสจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ขณะที่ต้องรอนแรมระหกระเหินไปทั่วประเทศนั้น หากสุรพลไปถึงสถานที่ใดที่เขารู้สึกผูกพันหรือชื่นชอบเป็นพิเศษ บทเพลงที่กล่าวถึงสาวงาม, วัฒนธรรมหรือวิวทิวทัศน์ของสถานที่นั้นๆก็จะถือกำเนิดเกิดขึ้นด้วยปลายปากกาและมันสมองอันเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ของเขาอยู่เสมอ…. เพลงสาวสวนแตง, กว๊านพะเยา, มนต์รักป่าซาง หรือแม้แต่ดำเนินจ๋า ไม่เพียงแต่เป็นบทเพลงที่สุรพลเสกสรรขึ้นได้อย่างไพเราะจับใจคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความผูกพันธ์ระหว่างบทเพลงของเขากับแฟนเพลงท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น ซึ่งในทางจิตวิทยาการโฆษณาอาจจะถือได้ว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับแฟนเพลงหรือผู้บริโภคกันในระยะยาวที่ผ่านการพิสูจน์ของกาลเวลาอย่างองอาจมาแล้วหลายต่อหลายทศวรรษ

หากจะกล่าวให้ทันสมัยซักหน่อย ก็คงต้องบอกว่า สุรพลนี่แหละที่เป็นต้นตำรับของ CRM หรือ Customer Relation Management ตัวจริงของวงการเพลงไทย และนี่คือเนื้อเพลงบางส่วนที่ยกมาให้ลองอ่านดูกัน แล้วลองจินตนาการกันเอาเองว่าหากคุณเป็นคนที่นั่นคุณจะรักเพลงนี้ไหม?
“โอ้…ป่าซาง ดินแดนความหลังนั้นช่างมีมนต์ ใครได้มาเยือนยากที่จะเลือนลืมได้ซักหน คล้ายว่าป่านี้มีมนต์ดลหัวใจให้เฝ้าใฝ่ฝัน เพียงได้เห็นสาวเจ้าเพียงครั้งเดียว หัวใจโน้มเหนี่ยว รักเดียวแต่เจ้าเท่านั้น ยามเอ่ยอ้างน้ำคำเจ้าช่างฉ่ำหวาน นางเคยพร่ำสาบานว่าจะฮักกันบ่อจืดจาง…ลืมไม่ลงๆๆ…ลืมไม่ลงป่าซาง แม้ว่าดวงวิญญาณจะออกจากร่าง ถึงกายจะถูกดินฝังก็ลืมป่าซางไม่ลง…….”

นอกจากแฟนเพลงชาวไทยแล้ว ในสมัยนั้นสุรพลยังมีแฟนเพลงเป็นคนไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้ส่วนมากเป็นพ่อค้า แม่ค้า ฟังวิทยุไปด้วยค้าขายไปด้วย ทั้งยังเป็นกลุ่มผู้ฟังที่มีจำนวนมากและมีกำลังซื้อพอสมควร และที่สำคัญก็คือพวกเขาเหล่านี้ต่างก็มีความต้องการฟังเพลงไทยเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป

สุรพลแต่งเพลงสำหรับคนกลุ่มนี้ไว้เป็นจำนวนไม่น้อย ลักษณะเฉพาะของเพลงสไตล์นี้ของเขาก็คือ เขาจะใช้เสียงร้องแบบคนจีนที่พูดไทยไม่ชัด และมักจะใช้คำร้องทับศัพท์เป็นภาษาจีนในช่วงท่อนสร้อยของเพลงซึ่งทำให้ทั้งคนจีนและคนไทยที่ได้ฟังสามารถสัมผัสและเข้าใจได้โดยง่าย อีกทั้งยังรู้สึกสนุกสนานครื้นเครงเมื่อนำมาร้องรำทำเพลงกันโดยทั่วไป ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากแนวคิดพื้นฐานหนึ่งของวิชาการโฆษณาในยุคปัจจุบันซึ่งก็คือการใช้รูปแบบและเนื้อหา(ของสาร)ที่เหมาะสมสื่อสารไปยังผู้บริโภคเป้าหมายอย่างถูกต้องแม่นยำ…

ในทางดนตรี ผู้ฟังมีสิทธิที่จะบริโภคเนื้อเพลงที่มีความหลากหลาย ดังนั้นอารมณ์ขันจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สุรพลมักจะนำมาใส่ไว้ในบทเพลงของเขาอยู่เสมอนอกเหนือไปจากเรื่องราวของความรักหรือการดำเนินชีวิต เพลงอย่าง “สาวหน้าฝน” ที่พูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งในสมัยนั้นที่นิยมเขียนคิ้วให้โก่งงามตาแล้วบังเอิญต้องมาเผชิญกับสายฝนที่กำลังเทลงมากลางท้องถนน ทำให้เธอต้องรีบวิ่งหลบเข้าที่ร่มไปด้วยเกรงว่า “ขนคิ้วจะไม่มี” นอกจากจะสร้างอารมณ์ขันให้กับผู้คนในยุคนั้นแล้วยังทำให้ผู้ฟังในยุคต่อๆมาสามารถมองเห็นภาพในอดีตได้อย่างชัดเจนและได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินไปด้วย

อารมณ์ขันในเพลงของสุรพลก็มักจะมีเอกลักษณ์เช่นเดียวกันกับเพลงในสไตล์อื่นๆของเขา เราจะได้ยินเสียงหัวเราะ เฮฮา ของเขาและของ ”ลูกคู่” ปรากฏอยู่ในเพลงกลุ่มนี้เสมอ อย่างเช่นในเพลง “ยิ้มก็เห็นแก้ม”

เพลง “สนุกเกอร์” หรือเพลงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหัวล้านที่เขามักจะแต่งมาเพื่อล้อเลียนคนหัวล้านทั่วๆ ไปรวมถึงตัวของเขาเอง

สำหรับเพลงที่ชี้ชัดให้เห็นถึงความสามารถในด้านจิตวิทยาการโฆษณาประชาสัมพันธ์วงดนตรีและบทเพลงของตัวเองได้ดีที่สุดนั้น คงจะหนีไม่พ้นเพลงที่เขาแต่งขึ้นหลังจากห่างหายจากการทำเพลงไประยะหนึ่ง และเพื่อตอกย้ำความทรงจำของแฟนเพลงกลับคืนมา สุรพลจึงไม่รีรอที่จะแต่งเพลง “แฟนจ๋า” ขึ้นมาเพื่อที่จะใช้ออดอ้อนร้องเรียกความทรงจำเก่าๆ กับบรรดาแฟนเพลงของเขา เพลงแฟนจ๋านี้เริ่มต้นขึ้นด้วยประโยคอันหวานซึ้งสไตล์ลูกทุ่งที่ว่า “ลืมผมหรือยังครับแฟน เมื่อก่อนเคยฟังกันแน่น แฟนจ๋าแฟนลืมผมหรือยัง” และจบท้ายด้วยเรื่องที่เขากลับมาจัดรายการวิทยุอีกครั้งว่า “ผมจัดรายการรีบหมุนคลื่นเถิดเปิดเครื่องรับฟัง กลับเถิดนะ กลับใจอีกครั้ง กลับมารับฟังเหมือนเดิมเถิดคุณ” โดยในเพลงนี้มีช่วงกลางที่ชวนคนฟังให้รำลึกถึงคืนวันเก่าๆ ที่สุรพลได้มอบความสุขจากเสียงเพลงให้กับแฟนๆ และความรักความนิยมที่แฟนๆ เคยมีให้กับเขา ที่ว่า “ลืมผมหมดแล้วหรือคุณ ลืมพวงมาลัยหอมกรุ่น ที่คุณคล้องคอผมรอใจปลื้ม วัดสนามไชยดินแดนครั้งก่อนผมยังไม่ลืม ผมหลั่งน้ำตาอุราแสนปลื้ม ลืมแล้วหรือภาพแห่งหลัง” เชื่อแน่ว่าเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ตอนที่เพลงนี้ถูกเปิดออกอากาศเป็นครั้งแรกนั้น ผู้ฟังที่ได้ยินเสียงครวญของสุรพลนี้จากวิทยุทรานซิสเตอร์ที่อยู่ทั่วประเทศ คงจะนั่งนิ่งเหม่อลอยหวนคิดไปถึงความหลัง และอดที่จะนึกถึงความผูกพันธ์เก่าๆที่มีต่อสุรพลคนเดิมคนนี้ไม่ได้

อีกเพลงหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการโฆษณาของสุรพลได้เป็นอย่างดีก็คือ เพลง “สุรพลมาแล้ว” เพลงนี้จะดังขึ้นทุกครั้งที่วงดนตรีสุรพลเดินทางไปเปิดการแสดงไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดก็ตาม โดยก่อนหน้าที่ดนตรีจะเริ่มแสดงในตอนหัวค่ำ เวลากลางวันบนท้องถนน ตามตลาด และลานวัดที่จัดการแสดงจะมีรถกระบะติดป้ายเขียนชื่อวงดนตรีสุรพลเปิดเครื่องเสียงวิ่งผ่านไปมาและเปิดเพลงที่มีชื่อว่า “สุรพลมาแล้ว”นี้ ให้ชาวบ้านร้านตลาดได้ฟังได้รู้กันก่อนว่าตอนนี้สุรพลมาแล้วและคืนนี้จะมาร้องเพลงให้ทุกคนได้ฟังกัน ส่วนหนึ่งของเพลงที่ว่านี้มีคำร้องที่สื่อความหมายได้ชัดเจนและแฝงไปด้วยอารมณ์ขันที่ว่า
“เอ้ามาละเหวย มาละวา มาหละเหวย มาหละว่า ลูกเด็กเล็กแดงวิ่งแข่งสับสน ปากร้องตะโกนว่า สุรพลเค้ามา…….อาม่วยอาเฮียอาเตี่ยอากู๋ พอเพลงแว่วเข้าหูก็หยุดเจี้ยน้ำชา ไอ้หมอนี่ร้องดี ถ้าอั้วมีลูกสาว จะยกให้มันเปล่าๆ โดยไม่เอาราคา…เอ้ามาละเหวย มาละวา….”

เมื่อตะวันเริ่มลับขอบฟ้า และถึงเวลาที่ดนตรีใกล้เริ่มแสดง ผู้คนที่ทราบข่าวจากการตอกย้ำกันด้วยเสียงเพลงที่ว่านี้ ต่างก็หอบลูกจูงหลานแห่แหนกันมาตีตั๋วเพื่อที่จะเข้าไปฟังขวัญใจของเขาร้องเพลงให้ฟังกันจนเนืองแน่น เป็นความเนืองแน่นที่เหมือนทุกครั้งที่เป็นมา

ก็แล้วอย่างนี้จะไม่เรียกว่าเป็นนักโฆษณาแล้วจะให้เรียกว่าอะไร?


Create Date : 06 มิถุนายน 2549
Last Update : 28 ธันวาคม 2550 10:43:19 น. 0 comments
Counter : 540 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

อาบูหะซัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add อาบูหะซัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com