"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
กันยายน 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
1 กันยายน 2556
 
All Blogs
 
แผนการตลาดต้องไม่มีที่วัดสามแยก โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 1 มิ.ย. 2556

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรม ชุดนี้
      ๑.   พระพุทธเจ้าสอนให้ทำลายป่าคือกิเลสตัณหาให้หมด
      ๒.   พระชั่ว ปล้นสวรรค์ มรรค ผล นิพพานของชาวบ้าน
      ๓.   อธิบายเรื่องกรรมให้ผลในรูปแบต่างๆกัน
      ๔.   ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วแน่ๆ โดยไม่ต้องมีใครรับรองให้
      ๕.   เพราะมนุษย์ทำชั่ว ดวงดาวต่างๆจึงโคจรวิปริต
     ฯลฯ

-หลงแสงสว่าง จึงเข้าใจผิดคิดว่าตนได้บรรลุธรรม(อ.สามคามสูตร)เล่ม22หน้า95
-อธิบายเรื่องกรรมให้ผลในรูปแบต่างๆกัน(อ.นิทานสูตร)เล่ม34หน้า30
-พระพุทธเจ้าสอนให้ทำลายป่าคือกิเลสตัณหาให้หมด(อ.นิกเขปกัณฑ์)เล่ม76หน้า400
-บุคคลที่ได้เป็นพระอริยะมีน้อย แต่เป็นปุถุชนมีมาก(ปัญญาสูตร)เล่ม31หน้า490
-ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วแน่ๆ โดยไม่ต้องมีใครรับรองให้(เวนสาขสูตร)เล่ม58หน้า720
-สัตว์เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารก็เพราะตัญหา(ปฐมชนสูตร)เล่ม24หน้า277-278
-พระชั่ว ปล้นสวรรค์ มรรค ผล นิพพานของชาวบ้าน(อ.วสภเถรคาถา)เล่ม51หน้า45-47
-เพราะมนุษย์ทำชั่ว ดวงดาวต่างๆจึงโคจรวิปริต(อ.มหาปทานสูตร)เล่ม13หน้า77
-พระเถระผู้ขวนขวายน้อย เพื่อจะพบกับพระพุทธเจ้า(อ.นาลกสูตร)เล่ม47หน้า660
-หายจากอาการป่วย เพราะทำบุญใหญ่และกรรมสิ้นสุด(เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี)เล่ม42หน้า426
-พระพุทธเจ้าสอนให้กล่าวธรรม ด้วยภาษาที่เข้าใจได้(อรณวิภังคสูตร)เล่ม23หน้า329
-พระพุทธเจ้าหายจากประชวร เพราะได้ฟังโพชฌงค์(ตติยคิลานสูตร)เล่ม30หน้า226

-หลงแสงสว่าง จึงเข้าใจผิดคิดว่าตนได้บรรลุธรรม(อ.สามคามสูตร)เล่ม22หน้า95

คำว่า มคฺเค วา หิ อานนฺท ปฏิปทาย วา ความว่า ชื่อว่า ความวิวาท พอถึงโลกุตรมรรคย่อมระงับไป โดยประการทั้งปวง ความวิวาทย่อมไม่มีแก่ท่านผู้บรรลุมรรคทั้งหลาย คำนี้ตรัสหมายถึงมรรคอันเป็นส่วนเบื้องต้น และปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้น.ในคำนั้นมีนัยดังต่อไปนี้.คนทั้งหลายย่อมยกย่องภิกษุรูปนั้นไว้ในโลกุตรธรรม.ภิกษุนั้นถามสัทธิวิหาริกเป็นต้น ผู้มาไหว้แล้วยืนอยู่ว่า พวกเธอมาทำไม.มาเพื่อจะถามกรรมฐานที่ควรทำไว้ในใจ ขอรับ.ภิกษุนั้นกล่าวว่า พวกเธอจงนั่งลง ฉันจักบอกกรรมฐานที่สามารถให้บรรลุพระอหัตทันทีทันใดได้อย่างไร  แล้วกล่าวว่า ภิกษุในพระศาสนานี้ เข้าไปในที่อยู่ของตน แล้วนั่งกระทำไว้ในใจถึงมูลกรรมฐานเมื่อเธอทำไว้ในใจถึงซึ่งกรรมฐานนั้น โอภาสย่อมเกิดขึ้น นี้ชื่อว่าปฐมมรรค. เธอทำญาณในโอภาสที่สองให้เกิดขึ้น.ทุติยมรรคย่อมเป็นอันบรรลุแล้ว ทำญาณในโอภาสที่สามและที่สี่ให้เกิดขึ้นด้วยวิธีอย่างนี้ ย่อมเป็นอันบรรลุมรรคและผล ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ดังนี้.ทีนั้น ภิกษุเหล่านั้น ตกลงใจว่าธรรมดาผู้มิใช่พระขีณาสพ ย่อมไม่อาจบอกกรรมฐานข้อหนึ่งได้ ท่านผู้นี้เป็นพระขีณาสพแน่ ดังนี้.

-อธิบายเรื่องกรรมให้ผลในรูปแบต่างๆกัน(อ.นิทานสูตร)เล่ม34หน้า30

อธิบายอุปัตถัมภกกรรม
 
ธรรมดาอุปัตถัมภกกรรม มีได้ทั้งในกุศล ทั้งในอกุศล เพราะว่า ลางคนกระทำกุศลกรรมแล้วเกิดในสุคติภพ เขาดำรงอยู่ในสุคติภพนั้นแล้วบำเพ็ญกุศลบ่อยๆ สนับสนุนกรรมนั้น ย่อมท่องเที่ยวไปในสุคติภพนั่นแหละตลอดเวลาหลายพันปี.ลางคนกระทำอกุศลกรรมแล้วเกิดในทุคติภพ เขาดำรงอยู่ในทุคตินั้น กระทำอกุศลกรรมบ่อยๆ สนับสนุนกรรมนั้นแล้ว จะท่องเที่ยวไปในทุคติภพนั้นแหละ สิ้นเวลาหลายพันปี.อีกนัยหนึ่งควรทราบดังนี้ ทั้งกุศลกรรม ทั้งอกุศลกรรม ชื่อว่าเป็นชนกกรรม.ชนกกรรมนั้นให้เกิดวิบากขันธ์ทั้งที่เป็นรูปและอรูป ทั้งในปฏิสนธิกาล ทั้งในปวัตติกาล.ส่วนอุปัตถัมภกกรรม ไม่สามารถให้เกิดวิบากได้ แต่จะสนับสนุนสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในเพราะวิบาก ที่ให้เกิดปฏิสนธิที่กรรมอื่นให้ผลแล้ว ย่อมเป็นไปตลอดกาลนาน.

-พระพุทธเจ้าสอนให้ทำลายป่าคือกิเลสตัณหาให้หมด(อ.นิกเขปกัณฑ์)เล่ม76หน้า400

ชื่อว่า วน ตัณหาเหมือนป่า)เพราะอรรถว่า ดุจป่า ด้วยอรรถว่า ยังทุกข์อันเป็นความเสื่อมเสียให้ตั้งขึ้น และด้วยอรรถว่ารกชัฏ คำว่า ป่า นี้ เป็นชื่อของตัณหาที่มีกำลังแรง ส่วนตัณหาที่มีกำลังแรงกว่านั้น ชื่อว่าวนโถ ด้วยอรรถว่าเป็นดงชัฏ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า*

วน ฉินฺทถ มา รุกฺข วนโต ชายเต ภย
เฉตฺวา วน  วนถญฺจ นิพฺพนา โหถ ภิกฺขโว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตัดป่า(คือกิเลสมีราคะเป็นต้น)อย่าตัดต้นไม้ ภัย (มีความเกิดเป็นต้น)ย่อมเกิดแต่ป่าคือกิเลส เธอทั้งหลายครั้นตัดป่า(คือกิเลสอันเกิดขึ้นก่อน)และหมู่ไม้ในป่า (คือกิเลสที่เกิดภายหลัง)แล้วจักเป็นผู้ไม่มีป่า คือ ตัณหา.

-บุคคลที่ได้เป็นพระอริยะมีน้อย แต่เป็นปุถุชนมีมาก(ปัญญาสูตร)เล่ม31หน้า490

๓.ปัญญาสูตร ว่าด้วยสัตว์ผู้มีปัญญาจักษุน้อย

[๑๗๕๙]ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน สัตว์ผู้ประกอบด้วยปัญญาจักษุ อันเป็นอริยะ มีประมาณน้อย โดยที่แท้ สัตว์ผู้ตกไปในอวิชชาเป็นผู้งมงาย มีมากกว่า ฯลฯ

จบปัญญาสูตรที่  ๓

-ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วแน่ๆ โดยไม่ต้องมีใครรับรองให้(เวนสาขสูตร)เล่ม58หน้า720

๓. เวนสาขชาดก ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

[๗๑๒]ดูก่อนพรหมทัตกุมาร ความเกษมสำราญ ภิกษาหารหาได้ง่ายและความเป็นผู้สำราญกายนี้ ไม่พึงมีตลอดกาลเป็นนิตย์เมื่อประโยชน์ของตนสิ้นไป ท่านอย่าเป็นผู้ล่มจมเสียเลยเหมือนคนเรือแตก ไม่ได้ที่พึ่งอาศัย ต้องจมอยู่ในท่ามกลางทะเลฉะนั้น.

[๗๑๓]บุคคลทำกรรมใด ย่อมมองเห็นกรรมนั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใดผลย่อมงอกขึ้นเช่นนั้น.

[๗๑๔]ปาจารย์ได้กล่าวคำใดไว้ว่า ท่านอย่าได้ทำบาปกรรมที่ทำแล้วจะทำให้เดือดร้อน ในภายหลังเลย คำนั้นเป็นคำสอนของอาจารย์เรา.

[๗๑๕]ปิงคิยปุโรหิตนั้น ย่อมบ่นเพ้อแสดงต้นไทรนี้ว่ามีกิ่งแผ่ไพศาล สามารถให้ความชนะได้ เราได้ให้ฆ่ากษัตริย์ผู้ประดับด้วยราชาลังการ ลูบไล้ด้วยแก่นจันทน์แดงทั้งพันพระองค์เสีย ที่ต้นไม้ใด ต้นไม้นั้น บัดนี้ไม่อาจทำการป้องกันอะไรแก่เราได้ ความทุกข์อันนั้นแหละกลับมาสนองเราแล้ว.

[๗๑๖]พระนางอุพพรีอัครมเหสีของเรา มีพระฉวีวรรณงามดังทองคำ ลูบไล้ตัวด้วยแก่นจันทน์แดง ย่อมงามเจริญตา เหมือนกับกิ่งไม้สิงคุอันขึ้นตรงไป ไหวสะเทือนอยู่ฉะนั้น เรามิได้เห็นพระนางอุพพรีแล้ว คงจักต้องตายเป็นแน่ การที่เราไม่ได้เห็นพระนางอุพพรีนั้น จักเป็นทุกข์ยิ่งกว่ามรณทุกข์นี้อีก.

จบ เวนสาขชาดกที่  ๓

-สัตว์เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารก็เพราะตัญหา(ปฐมชนสูตร)เล่ม24หน้า277-278

๕.ปฐมชนสูตร

[๑๖๖]เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่าย
ไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นภัยใหญ่ของเขา.

[๑๖๗]พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อม
วิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของเขา.

๖.ทุติยชนสูตร

[๑๖๘]เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่าย
ไปยังสงสาร สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากอะไร.

[๑๖๙]พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร
สัตว์ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์.

๗.  ตติยชนสูตร

[๑๗๐]เทวดาทูลถามว่า
อะไรหนอยังคนให้เกิด อะไรหนอของเขาย่อมวิ่งพล่าน อะไรหนอเวียนว่าย
ไปยังสงสาร อะไรหนอเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น.

[๑๗๑]พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ตัณหายังคนให้เกิด จิตของเขาย่อมวิ่งพล่าน สัตว์เวียนว่ายไปยังสงสาร
กรรมเป็นที่พำนักของสัตว์นั้น.

-พระชั่ว ปล้นสวรรค์ มรรค ผล นิพพานของชาวบ้าน(อ.วสภเถรคาถา)เล่ม51หน้า45-47

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะทำการอนุเคราะห์ทายกจึงไม่ห้ามปัจจัยทั้งหลายที่ทายกเหล่านั้นนำมาถวาย บริโภคปัจจัยตามที่ได้มาแล้วเท่านั้น.ผู้ที่ยังเป็นปุถุชนสำคัญท่านว่า พระเถระนี้ เป็นผู้มักมากไปด้วยการบำรุงบำเรอร่างกาย ไม่รักษาสภาพจิต จึงพากันดูหมิ่น.

พระเถระอยู่อย่างไม่คำนึงถึงการดูหมิ่นนั้นเลย ก็ในที่ไม่ไกล ที่พระเถระอยู่ มีภิกษุผู้โกหกรูปหนึ่ง เป็นผู้มีความปรารถนาลามก แสดงตนเหมือนเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย เหมือนเป็นผู้สันโดษ เที่ยวลวงโลกอยู่.มหาชนพากันยกย่องภิกษุรูปนั้น เหมือนอย่างพระอรหันต์.ลำดับนั้น ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ ทรงทราบพฤติการณ์นั้นของเธอแล้ว จึงเข้าไปหาพระเถระ แล้วถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุผู้โกหก กระทำกรรมชื่อไร?
พระเถระเมื่อจะตำหนิความปรารถนาลามก จึงกล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

บุคคลผู้ลวงโลก ย่อมฆ่าตนก่อน ภายหลังจึงฆ่าผู้อื่น บุคคลผู้ลวงโลกนั้น ย่อมฆ่าตนได้ง่ายดายเหมือนนายพรานนก ที่หาอุบายฆ่านก และทำตนให้ได้รับความทุกข์ในอบายภูมิ  ฉะนั้น บุคคลผู้ลวงโลกนั้นไม่ใช่พราหมณ์ เพียงแต่มีเพศเหมือนพราหมณ์ในภายนอกเท่านั้น เพราะพราหมณ์มีเพศอยู่ภายใน บาปกรรมทั้งหลาย มีในบุคคลใด บุคคลนั้น เป็นคนดำ

ดูก่อนท้าวสุชัมบดี ขอจงทรงทราบอย่างนี้ ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ หนติ อตฺตาน ความว่า

บุคคลผู้โกหก เพื่อลวงโลก ด้วยประพฤติเป็นคนโกหกของตน ชื่อว่า ย่อม
ฆ่าตน ด้วยธรรมอันลามก มีความเป็นผู้ปรารถนาลามกเป็นต้น ก่อนทีเดียว
คือยังส่วนแห่งความดีของตนให้พินาศไป.

บทว่า ปจฺฉา หนติ โส ปเร ความว่า บุคคลผู้โกหกนั้น ฆ่าตนเอง โดยนัยดังกล่าวแล้ว ก่อนเป็นปฐม ต่อมาภายหลังจึงฆ่าคนทั้งหลายผู้สรรเสริญตนว่า ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก เป็นพระอริยะ ดังนี้ แล้วกระทำสักการะ คือทำสักการะที่เขาถวายตน ให้ไม่มีผลมาก ให้พินาศไป โดยการพินาศแห่งปัจจัย.พระเถระเมื่อจะแสดงว่า แม้ในการฆ่าทั้งสองอย่าง ของคนโกหกจะมีอยู่ แต่ ข้อแปลกในการฆ่าตนมีดังนี้ จึงกล่าวว่า สหต  หนติอตฺตาน(บุคคลผู้ลวงโลกนั้นย่อมฆ่าตนได้ง่ายดาย).

คนโกหกนั้น เมื่อฆ่าตน ย่อมฆ่าคือทำให้พินาศได้ง่ายดาย.ถามว่าเหมือนอะไร? ตอบว่า เหมือนนายพรานนกที่หาอุบายฆ่านกฉะนั้น.นกต่อ ชื่อว่า วีตโส. ด้วยนกต่อนั้น.

บทว่า ปกฺขิมา ได้แก่ นายพรานนก.เปรียบเหมือนนายพรานนกลวงนกเหล่าอื่นไปฆ่าด้วยนกต่อนั้น ชื่อว่า ย่อมฆ่าตนแม้ในโลกนี้ เพราะเป็นกรรมที่ท่านผู้รู้ตำหนิ  และเป็นกรรมที่มีโทษเป็นสภาพเป็นต้น  ส่วนในสัมปรายภพ ชื่อว่า ย่อมฆ่าตนด้วยความมืดมน  มัวหมองของทุคติทีเดียว แต่ในภายหลัง ก็ไม่สามารถจะฆ่านกเหล่านั้นได้อีก ฉันใด  คนโกหกก็ฉันนั้น ลวงโลกด้วยความเป็นคนโกหก ชื่อว่า ย่อมฆ่าตนเองแม้ในโลกนี้ เพราะวิปฏิสารและถูกตำหนิจากวิญญูเป็นต้น.แม้ในปรโลก ก็ชื่อว่าฆ่าตน เพราะความมืดมน มัวหมองของทุคติ ใช่แต่เท่านั้น ยังชื่อว่า ทำทายกผู้ถวายปัจจัยเหล่านั้นให้ถึงทุกข์ในอบาย อีกด้วย.

อีกประการหนึ่ง คนโกหก ท่านกล่าวว่า ย่อมฆ่าทายก เพราะกระทำทักษิณาไม่ให้มีผลมากเท่านั้น ไม่ใช่เพราะกระทำทักษิณาทานไม่ให้มีผล.
สมจริงดังพระดำรัส ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ทักษิณาทานที่ให้แก่ มนุษย์ทุศีล พึงหวังผลได้พันเท่า ดังนี้.ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่าบุคคลผู้ลวงโลกนั้น ย่อมฆ่าตนได้ง่ายดาย.

พระเถระเมื่อจะแสดงว่า บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอัตภาพ เพียงทำให้สะอาดในภายนอกอย่างนี้ หาชื่อว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ แต่จะชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์  เพราะความสะอาดในภายในเท่านั้น ดังนี้ จึงกล่าวคาถาที่สองว่า น พฺราหฺมโณเป็นต้น.คาถาที่ ๒ นั้นมีอธิบายว่า บุคคลหาชื่อว่าเป็นพราหมณ์ เพราะเหตุ เพียงสมบัติภายนอก มีการวางท่า (วางมาด) เป็นต้นไม่. ก็วัณณะศัพท์ในคาถานี้ มีสมบัติเป็นอรรถ (หมายความถึงสมบัติ).ก็บุคคลย่อมชื่อว่า เป็นพราหมณ์ เพราะสมบัติมีศีลเป็นต้นในภายใน โดยกระทำอธิบายว่า บุคคลผู้มีบาปอันลอยแล้ว ชื่อว่า พราหมณ์ ดังนี้.

-เพราะมนุษย์ทำชั่ว ดวงดาวต่างๆจึงโคจรวิปริต(อ.มหาปทานสูตร)เล่ม13หน้า77

 เมื่อใดพระราชาทั้งหลายไม่เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม เมื่อนั้นอุปราช เสนาบดี เศรษฐี สกลนคร สกลรัฐ ก็ย่อมไม่ประกอบด้วยธรรมเหมือนกัน.เมื่อเป็นดังนั้น อารักขเทวดาของชนเหล่านั้น ภุมมเทวดา ผู้เป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้น อากาสัฏฐกเทวดาผู้เป็นมิตรของภุมมเทวดา อุณหวลาหกเทวดาผู้เป็นมิตรของอากาสัฏฐกเทวดา อัพภวลาหกเทวดา ผู้เป็นมิตรของอุณหวลาหกเทวดาเหล่านั้น สีตวลาหกเทวดา ผู้เป็นมิตรของอัพภวลาหกเทวดาเหล่านั้น วัสสวลาหกเทวดา ผู้เป็นมิตรของสีตวลาหกเทวดาเหล่านั้นจาตุมมหาราชิกาเทวดา ผู้เป็นมิตรของวัสสวลาหกเทวดาเหล่านั้น ดาวดึงสเทวดา ผู้เป็นมิตรของจาตุมมหาราชิกาเทวดาเหล่านั้น ยามาเทวดา ผู้เป็นมิตรของดาวดึงสเทวดาเหล่านั้นเป็นต้น ตราบเท่าถึงภวัคคพรหม เว้นพระอริยสาวกเทวดาทั้งหมด แม้พรหมบริษัท ก็เป็นผู้ไม่ประกอบด้วยธรรม.พระจันทร์พระอาทิตย์ย่อมดำเนินไปลุ่มๆ ดอนๆ เพราะเทวดาเหล่านั้นไม่ประกอบด้วยธรรม.ลมย่อมไม่พัดไปตามทางลม.เมื่อลมไม่พัดไปตามทางลมย่อมทำให้วิมานซึ่งตั้งอยู่บนอากาศสะเทือน.เมื่อวิมานสะเทือนพวกเทวดาก็ไม่มีจิตใจจะไปเล่นกีฬา เมื่อเทวดาไม่มีจิตใจจะไปเล่นกีฬา ฤดูหนาว ฤดูร้อนย่อมไม่เป็นไปตามฤดูกาล.เมื่อฤดูไม่เป็นไปตามฤดูกาล ฝนย่อมไม่ตกโดยชอบบางครั้งตก บางครั้งไม่ตก ตกในบางท้องที่ ไม่ตกในบางท้องที่ ก็เมื่อตกย่อมตกขณะหว่าน ขณะแตกหน่อ ขณะแตกก้าน ขณะออกรวง ขณะออกน้ำนมเป็นต้น ย่อมตกโดยประการที่ไม่เป็นอุปการะแก่ข้าวกล้าเลย และแล้งไปนาน ด้วยเหตุนั้นข้าวกล้าจึงสุกไม่พร้อมกันปราศจากสมบัติมีกลิ่นสีและรสเป็นต้น.แม้ในข้าวสารที่ใส่ในภาชนะเดียวกัน ข้าวในส่วนหนึ่งดิบ ส่วนหนึ่งเปียกแฉะ ส่วนหนึ่งไหม้.บริโภคข้าวนั้นเข้าไปย่อมถึงโดยอาการ ๓ อย่างในท้อง.สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีโรคมากและมีอายุน้อยด้วยเหตุนั้น.อายุย่อมเสื่อมด้วยอำนาจของฤดูและโภชนะด้วยประการฉะนี้โดยแท้.

-พระเถระผู้ขวนขวายน้อย เพื่อจะพบกับพระพุทธเจ้า(อ.นาลกสูตร)เล่ม47หน้า660

พระนาลกเถระครั้นฟังดังนั้นแล้ว ได้เป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในฐานะ ๓ คือในการเห็น ๑ ในการฟัง ๑ ในการถาม ๑ เพราะเมื่อจบเทศนาพระนาลกเถระนั้น มีจิตเลื่อมใสถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเข้าไปสู่ป่าไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอเราจะพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก นี้คือ ความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในการเห็นของพระนาลกเถระนั้น.อนึ่งไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอเราจะพึงได้ฟังพระธรรมเทศนาอีกนี้คือความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยในการฟังของพระนาลกเถระนั้น.อนึ่งไม่เกิดความโลเลว่า ทำอย่างไรดีหนอ เราจะพึงได้ถามโมเนยยปฏิปทาอีก นี้คือความเป็นผู้ปรารถนาน้อยในการถามของพระนาลกเถระนั้น.

-พระพุทธเจ้าสอนให้กล่าวธรรม ด้วยภาษาที่เข้าใจได้(อรณวิภังคสูตร)เล่ม23หน้า329

[๖๗๑]ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอรณวิภังค์นั้น การปรักปรำภาษาชนบทและการล่วงเลยคำพูดสามัญ นี้เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงยังมีกิเลสต้องรณรงค์ แต่การไม่ปรักปรำภาษาชนบท และการไม่ล่วงเลยคำพูดสามัญ นี้เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ เพราะฉะนั้น ธรรมนี้จึงไม่มีกิเลสต้องรณรงค์.

-พระพุทธเจ้าหายจากประชวร เพราะได้ฟังโพชฌงค์(ตติยคิลานสูตร)เล่ม30หน้า226

๖.ตติยคิลานสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายประชวรด้วยโพชฌงค์  ๗

[๔๒๕]สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประชวร ไม่ทรงสบาย ทรงเป็นไข้หนัก.

[๔๒๖]ครั้งนั้น ท่านพระมหาจุนทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะท่านพระมหาจุนทะว่า ดูก่อนจุนทะ  โพชฌงค์จงแจ่มแจ้งกะเธอ.

จ.ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน.

[๔๒๗]ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สติสัมโพชฌงค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว  ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้ เพื่อนิพพาน.ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แลพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน.

[๔๒๘]ดูก่อนจุนทะ โพชฌงค์ดีนัก ดูก่อนจุนทะ โพชฌงค์ดีนักท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหายจากประชวรนั้น และอาพาธนั้น  อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงละแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล.

จบตติยคิลานสูตรที่  ๖

-หายจากอาการป่วย เพราะทำบุญใหญ่และกรรมสิ้นสุด(เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี)เล่ม42หน้า426

๑.เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี  [๑๗๔]

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในนิโครธาราม ทรงปรารภเจ้าหญิงโรหิณี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โกธ ชเห" เป็นต้น.

สร้างโรงฉันหายจากโรคผิวหนังได้

ได้ยินว่า สมัยหนึ่ง พระอนุรุทธผู้มีอายุได้ไปเมืองกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐.ครั้งนั้น พวกพระญาติของท่าน ทรงสดับว่า พระเถระมาจึงได้ไปสู่สำนักพระเถระ เว้นเเต่พระน้องนางของพระเถระชื่อโรหิณี.
พระเถระถามพวกพระญาติว่า "พระนางโรหิณีอยู่ไหน? "
พวกพระญาติ.อยู่ในตำหนัก เจ้าข้า.
พระเถระ.เหตุไร? จึงไม่เสด็จมา.
พวกพระญาติ.พระนางไม่เสด็จมาเพราะทรงละอายว่า 'โรคผิวหนังเกิดที่สรีระของเขา'เจ้าข้า.
พระเถระ  กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงเชิญพระนางเสด็จมาเถิด"
ให้ไปเชิญพระนางเสด็จมาแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ กะพระนางผู้ทรงฉลองพระองค์เสด็จมาแล้วว่า  "โรหิณี เหตุไร? เธอจึงไม่เสด็จมา."
พระนางโรหิณี.ท่านผู้เจริญ โรคผิวหนังเกิดขึ้นที่สรีระของหม่อมฉัน;เหตุนั้น หม่อมฉันจึงมิได้มาด้วยความละอาย.
พระเถระ.ก็เธอทรงทำบุญไม่ควรหรือ ?
พระนางโรหิณี.จะทำอะไร? เจ้าข้า.
พระเถระ.จงให้สร้างโรงฉัน.
พระนางโรหิณี.หม่อมฉันจะเอาอะไรทำ ?
พระเถระ.ก็เครื่องประดับของเธอไม่มีหรือ ?
พระนางโรหิณี.มีอยู่  เจ้าข้า.
พระเถระ.ราคาเท่าไร ?
พระนางโรหิณี.จักมีราคาหมื่นหนึ่ง.
พระเถระ.ถ้ากระนั้น จงขายเครื่องประดับนั้น ให้สร้างโรงฉันเถิด.
พระนางโรหิณี.ใครเล่า? จักทำให้หม่อมฉัน เจ้าข้า.
พระเถระ.แลดูพระญาติซึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้เเล้ว กล่าวว่า "ขอจงเป็นภาระของพวกท่านทั้งหลาย."
พวกพระญาติ.ก็พระคุณเจ้าจักทำอะไรหรือ? เจ้าข้า.
พระเถระ.แม้อาตมภาพก็จักอยู่ในที่นี้เหมือนกัน, ถ้ากระนั้นพวกท่านจงนำทัพพสัมภาระมาเพื่อโรงฉันนี่.
พวกพระญาตินั้น ตรัสว่า "ดีละ เจ้าข้า" จึงนำมาแล้ว.
พระเถระ.เมื่อจะจัดโรงฉัน จึงกล่าวกะพระนางโรหิณีว่า "เธอจงให้ทำโรงฉันเป็น ๒ ชั้น จำเดิมแต่กาลที่ให้พื้นชั้นบนเรียบแล้วจงกวาดพื้นล่าง แล้วให้ปูอาสนะไว้เสมอๆ,จงให้ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้เสมอๆ. "
พระนางรับคำว่า "ดีละ เจ้าข้า"แล้วจำหน่ายเครื่องประดับ ให้ทำโรงฉัน ๒ ชั้น เริ่มแต่กาลที่ให้พื้นชั้นบนเรียบแล้ว ได้ทรงทำกิจมีการกวาดพื้นล่างเป็นต้นเนืองๆ.พวกภิกษุก็นั่งเสมอ ๆ.
ลำดับนั้น เมื่อพระนางกวาดโรงฉันอยู่นั่นแล.โรคผิวหนังก็ราบไปแล้ว
.เมื่อโรงฉันเสร็จ พระนางนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ได้ถวายขาทนียะและโภชนียะที่ประณีตแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขซึ่งนั่งเต็มโรงฉัน.
พระศาสดา ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสถามว่า "นี่เป็นทานของใคร? "
พระอนุรุทธ.ของโรหิณีพระน้องนางของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา.ก็นางไปไหน ?
พระอนุรุทธ.อยู่ในตำหนัก พระเจ้าข้า.
พระศาสดา.พวกท่านจงไปเรียกนางมา.
พระนางไม่ประสงค์จะเสด็จมา.ทีนั้น พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระนางแม้ไม่ปรารถนา (จะมา)จนได้.ก็แลพระศาสดาตรัสกะพระนางผู้เสด็จมาถวายบังคม ประทับนั่งแล้วว่า "โรหิณี เหตุไรเธอจึงไม่มา ? "
พระนางโรหิณี."โรคผิวหนังมีที่สรีระของหม่อมฉัน พระเจ้าข้าหม่อมฉันละอายด้วยโรคนั้น.จึงมิได้มา."
พระศาสดา.ก็เธอรู้ไหมว่า โรคนั้นอาศัยกรรมอะไรของเธอ จึงเกิดขึ้น? "
พระนางโรหิณี.หม่อมฉันไม่ทราบ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา.โรคนั้นอาศัยความโกรธของเธอ จึงเกิดขึ้นแล้ว.
พระนางโรหิณี.ก็หม่อมฉันทำกรรมอะไรไว้?พระเจ้าข้า.

บุรพกรรมของพระนางโรหิณี

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมา ตรัสแก่พระนาง)ว่า:-
ในอดีตกาล พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ผูกอาฆาตในหญิงนักฟ้อนของพระราชาองค์หนึ่ง ทรงดำริว่า "เราจักให้ทุกข์เกิดแก่หญิงนั้น"แล้วให้เขานำลูกเต่าร้างใหญ่มา(๑)รับสั่งให้เรียกหญิงนักฟ้อนนั้นมายังสำนักของตนแล้ว.ให้ใส่ผงเต่าร้างบนที่นอน ที่ผ้าห่ม และที่ระหว่างเครื่องใช้ มีผ้าปูที่นอนเป็นต้น ของหญิงนักฟ้อนนั้น โดยประการที่นางไม่ทันรู้ตัว.โปรยลงแม้ที่ตัวของนาง ราวกะทำความเย้ยหยันเล่น ทันใดนั้นเอง สรีระของหญิงนั้นได้พุพองขึ้นเป็นตุ่มน้อยตุ่มใหญ่.นางเกาอยู่ไปนอนบนที่นอน.เมื่อนางถูกผงเต่าร้างกัดแม้บนที่นอนนั้น เวทนากล้ายิ่งนักเกิดขึ้นแล้ว.พระอัครมเหสีในกาลนั้นได้เป็นพระนางโรหิณี.
พระศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานั้นมาแล้ว ตรัสว่า "โรหิณี ก็กรรมนั่นที่เธอทำแล้วในกาลนั้น,ก็ความโกรธก็ดี ความริษยาก็ดี แม้มีประมาณเล็กน้อย ย่อมไม่ควรทำเลย"ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๑.โกธ ชเห วิปฺปชเหยฺย มาน
สญฺชน๒ สพฺพมติกฺกเมยฺย
ตนฺนามรูปสฺมึ อสชฺชมาน
อกิญฺจน นานุปตนฺติ ทุกฺขา.

"บุคคลพึงละความโกรธ,สละความถือตัว
ล่วงสังโยชน์ทั้งสิ้นได้ ทุกทั้งหลายย่อมไม่ตกต้อง,
บุคคลนั้น ผู้ไม่ข้องในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล. "

(๑.)แปลว่า หมามุ้ยใหญ่ ก็มี.

ที่มา : วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

หัวข้อพระไตรปิฏก ที่ทางวัดสามแยกคัดเอาหัวข้อย่อๆ ให้ดาวโหลดขึ้นมาไว้ เพื่ออ่านเทียบเคียงพระไตรปิฎกทั้ง 91 เล่ม (พระวัดสามแยกยกหัวข้อสำคัญเพื่อเป็นแนวทางอ่านพระไตรปิฏกทั้ง91เล่ม)
//www.samyaek.com/board2/index.php?topic=3230.msg19459#msg19459

-ศึกษาพระไตรปิฏกและอรรถกถาแปลชุด91เล่ม ของมหามกุฏราชวิทยาลัย //www.thepalicanon.com/palicanon/

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech

-Download free พระไตรปิฏกพร้อมหัวข้อธรรมสำหรับ apple ipad & iphone & Android ดูรายละเอียดได้ที่เวบ //www.tripitaka91.com 

****หมายเหตุ "แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา ปี 2555" (//youtu.be/l52iDWt3V5Q ) นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ ปรึกษาได้ที่ ทนายชนอณุพงศ์ ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




Create Date : 01 กันยายน 2556
Last Update : 8 กันยายน 2556 22:21:41 น. 1 comments
Counter : 1001 Pageviews.

 
ทุกๆ วันเสาร์เวลาประเทศไทย โดยประมาณ 20:30 น.มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

ดูได้ที่
=> //www.samyaek.com

หรือ สามารถดูทางช่องสำรอง:
=> //live.samyaek.com/


โดย: Budratsa วันที่: 1 กันยายน 2556 เวลา:21:12:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.