"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2555
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
28 ตุลาคม 2555
 
All Blogs
 
แสดงธรรมวันอาสาฬหบูชา โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล 2 ส.ค. 2555

เนื้อหา บางส่วนจากการแสดงธรรมชุดนี้
      ๑. ผู้ยินดีในรูปร่างทั้งหลาย คือผู้ยินดีในทุกข์ 
      ๒. นาคแปลงกายเป็นมนุษย์ เพื่อมาบวชในศาสนา
      ๓. เกิดมามี"โรคมาก" เพราะเคยเบียดเบียนสัตว์ไว้มาก
      ๔. พระนักเทศน์ที่เทศนาร้อนแรงแบบไฟเผาก็มี
      ๕. ภิกษุที่เป็น "นานาสังวาส" ไม่ควรร่วมสังฆกรรมด้วย
     ฯลฯ

อวัยวะเพศพระอรหันต์ยังแข็งตัว

สุนักขัตตลิจฉวี "อาฆาต" พระพุทธเจ้า (อ.มหาลิสูตร) เล่ม12หน้า106

 สุนักขัตตะฟังเสียงทิพย์เหล่านั้นไม่ได้ เพราะเหตุอะไร ได้ยินว่า สุนักขัตตะนั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลขอบริกรรมทิพยจักษุ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกแก่เขา. เขาได้ปฏิบัติตามที่ทรงสอน ยังทิพยจักษุให้เกิดขึ้น เห็นรูปทั้งหลายของเทวดาทั้งหลายแล้ว คิดว่า ในสรีรสัณฐานนี้พึงมีเสียงไพเราะเราพึงฟังเสียงนั้นได้อย่างไรหนอ แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามถึงการบริกรรมทิพยโสต. ก็ในอดีตกาล สุนักขัตตะนี้ตีกกหูภิกษุผู้มีศีลรูปหนึ่ง ทำให้เป็นพระหูหนวก เพราะฉะนั้น แม้เธอจะทำบริกรรม ก็ไม่สามารถบรรลุถึงทิพยโสตได้. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ตรัสบอกบริกรรม. เขาผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงคิดว่า พระดำริอย่างนี้ย่อมมีแก่พระสมณโคดมแน่ว่า แม้เราก็เป็นกษัตริย์ถึงโอฏฐัทธะนี้ก็เป็นกษัตริย์ ถ้าญาณจักเจริญแก่เขา แม้เขาก็จักเป็นสัพพัญญู เพราะเหตุนั้นจึงไม่ตรัสบอกแก่เรา เพราะความริษยา. เขาถึงความเป็นคฤหัสถ์โดยลำดับ เมื่อจะบอกเนื้อความนั้นแก่มหาลิลิจฉวี จึงกล่าวอย่างนี้.

ผู้ยินดีในรูปร่างทั้งหลาย คือผู้ยินดีในทุกข์(อภินันทนสูตร)เล่ม27หน้า67

ว่าด้วยผลแห่งความเพลิดเพลินและไม่เพลิดเพลินในขันธ์  ๕

[๖๔] กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายผู้ใดเพลิดเพลินรูป ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์  ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินเวทนา ฯลฯสัญญา ฯลฯ  สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าเพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดเพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่พ้นไปจากทุกข์.

[๖๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดแลไม่เพลิดเพลินรูป ผู้นั้นชื่อว่าไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์  เรากล่าวว่าผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯวิญญาณ ผู้นั้นชื่อว่าไม่เพลิดเพลินทุกข์ ผู้ใดไม่เพลิดเพลินทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นพ้นไปจากทุกข์ได้.

พระพุทธเจ้าทีปังกร ทำนายอนาคตของสุเมธดาบส (พรรณาพุทธวงค์) เล่ม73หน้า211

ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร ประทับยืนประชิดใกล้ศีรษะของสุเมธบัณฑิต เห็นสุเมธดาบสนอนอยู่เหนือหลังตม ทรงส่งอนาคตังสญาณว่า ดาบสผู้นี้ ทำอภินีหารเพื่อเป็นพระพุทธเจ้านอนลงแล้วความปรารถนาของเขาจักสำเร็จหรือไม่หนอ ทรงพิจารณาทบทวนดู  ก็ทรงทราบว่า ล่วงไปสี่อสงไขยกำไรแสนกัป นับแต่กัปนี้ไป เขาจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ประทับยืนพยากรณ์ท่ามกลางบริษัทว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพวกเธอเห็นดาบสผู้มีตบะสูงซึ่งนอนเหนือหลังตมผู้นี้ไหมหนอ. ภิกษุทั้งหลาย ดาบสผู้นี้ทำอภินีหารเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า จึงนอนลงแล้ว ความปรารถนาของดาบสผู้นี้จักสำเร็จ ในที่สุดสี่อสงไขยกำไรแสนกัปนับแต่กัปนี้ไป ดาบสผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในโลก ในอัตภาพนั้นของดาบสนั้น  นครชื่อว่า กบิลพัศดุ์ จักเป็นที่ประทับอยู่ จักมีพระชนนีพระนามว่า มหามายาเทวี พระชนก พระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ พระอัครสาวกทั้งสอง ชื่อว่า อุปติสสะ และ โกลิตะพระพุทธอุปัฏฐาก ชื่อว่า อานันทะ  พระอัครสาวิกาทั้งสองชื่อว่า เขมาและ อุบลวรรณา ดาบสผู้มีญาณกล้าจักเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ตั้งความเพียรอย่างใหญ่ รับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายที่โคนต้นนิโครธ เสวยที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แล้วขึ้นสู่โพธิมัณฑสถาน จักตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิใบ.

นางวิสาขาสร้าง ยอดปราสาททองคำบุพพาราม(เรื่องนางวิสาขา) เล่ม41หน้า108

ต่อกาลไม่นานนัก พวกเขาก็สร้างปราสาท ๒ ชั้นเสร็จ. ปราสาทนั้นได้เป็นปราสาทประดับด้วยห้องพันห้อง คือชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง. ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง. พระศาสดา เสด็จดำเนินจาริกไปโดย ๙ เดือนแล้วได้เสด็จ ( กลับ) ไปสู่กรุงสาวัตถีอีก. แม้การงานในปราสาทของนางวิสาขา ก็สำเร็จโดย ๙ เดือนเหมือนกัน. นางให้สร้างยอดปราสาทอันจุน้ำได้  ๖๐ หม้อ ด้วยทองคำสีสุกที่บุเป็นแท่งนั่นแล. นางได้ยินว่า" พระศาสดา เสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร" จึงทำการต้อนรับนำพระศาสดาไปวิหารของตนแล้ว รับปฏิญญาว่า "พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดพาภิกษุสงฆ์ประทับอยู่ในวิหารนี้แหละตลอด ๔  เดือนนี้,  หม่อมฉันจักทำการฉลองปราสาท."  พระศาสดาทรงรับแล้ว.

นาคแปลงกายเป็นมนุษย์ เพื่อมาบวชในศาสนา(ติรัจฉานคตวัตถุกถา)เล่ม6หน้า322-323

เรื่องนาคแปลงกายเป็นมนุษย์มาบวช

[๑๒๗]  ก็โดยสมัยนั้นแล นาคตัวหนึ่งอึดอัดระอา เกลียดกำเนิดนาคจึงนาคนั้นได้มีความดำริว่า  ด้วยวิธีอะไรหนอ  เราจึงจะพ้นจากกำเนิดนาคและกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน ครั้นแล้วได้ดำริต่อไปว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ พระพฤติพรหมจรรย์  กล่าวแต่คำสัตย์ มีศีล  มีกัลยาณธรรม หากเราจะพึงบวชในสำนักพระสมณะ เชื้อสายพระศากยบุตร ด้วยวิธีเช่นนี้ เราก็จะพ้นจากกำเนิดนาค และกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน ครั้นแล้วนาคนั้นจึงแปลงกายเป็นชายหนุ่ม แล้วเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายขอบรรพชา ภิกษุทั้งหลายจึงให้เขาบรรพชา อุปสมบท สมัยต่อมา พระนาคนั้นอาศัยอยู่ในวิหารสุดเขตกับภิกษุรูป ๑
ครั้นปัจจุสสมัยแห่งราตรีภิกษุรูปนั้น  ตื่นนอนแล้วออกไปเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ครั้นภิกษุรูปนั้นออกไปแล้ว พระนาคนั้นก็วางใจจำวัด วิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู ขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง ครั้นภิกษุรูปนั้นผลักบานประตูด้วยทั้งใจจักเข้าวิหาร ได้เห็นวิหารทั้งหลังเต็มไปด้วยงู เห็นขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง ก็ตกใจ ร้องเอะอะขึ้น.

ภิกษุทั้งหลายพากัน วิ่งเข้าไปแล้วได้ถามภิกษุรูปนั้นว่า อาวุโส ท่านร้องเอะอะไปทำไม.
ภิกษุรูปนั้นบอกว่า อาวุโสทั้งหลาย วิหารนี้ทั้งหลังเต็มไปด้วยงูขนดยื่นออกไปทางหน้าต่าง.
ขณะนั้นพระนาคนั้น ได้ตื่นขึ้นเพราะเสียงนั้น  แล้วนั่งอยู่บนอาสนะของตน.
ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส ท่านเป็นใคร ?
น.  ผมเป็นนาค ขอรับ.
ภิ.  อาวุโส ท่านได้ทำเช่นนี้ เพื่อประสงค์อะไร ?
พระนาคนั้นจึงแจ้งเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วได้ทรงประทานพระพุทโธวาทนี้แก่นาคนั้นว่า พวกเจ้าเป็นนาค  มีความไม่งอกงามในธรรมวินัยนี้ เป็นธรรมดาไปเถิดเจ้านาค จงไปรักษาอุโบสถในวันที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์นั้นแหละ ด้วยวิธีนี้เจ้าจักพ้นจากกำเนิดนาค  และจักกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์เร็วพลัน ครั้นนาคนั้นได้ทราบว่า คนมีความไม่งอกงามในพระธรรมวินัยนี้เป็นธรรมดา  ก็เสียใจหลั่งน้ำตา ส่งเสียงดังแล้วหลีกไป. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาค มี ๒ ประการนี้ คือ เวลาเสพเมถุนธรรมกับนางนาค ผู้มีชาติเสมอกัน ๑ เวลาวางใจนอนหลับ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เหตุแห่งความปรากฏตามสภาพของนาค ๒ ประการนี้แล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ สัตว์ดิรัจฉาน ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท  ที่อุปสมบทแล้ว ต้องให้สึกเสีย.

เกิดมามี"โรคมาก" เพราะเคยเบียดเบียนสัตว์ไว้มาก(จูฬกัมมวิภังคสูตร)เล่ม23หน้า253

ดูก่อนมาณพ บุคคลบางตนในโลกนี้จะเป็นสตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้หรือศาสตรา. เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์  เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก. ดูก่อนมาณพ ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากนี้ คือ เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาสตรา.

ร่างกายเป็นที่เกิดโรคต่างๆ (ว่าด้วยผู้ไม่เศร้่าโศก)เล่ม66หน้า60

ว่าด้วยผู้ไม่เศร้าโศก

[๔๓๙]  คำว่า เมื่อสิ่งที่ถือว่าของตนไม่มี ย่อมไม่เศร้าโศกความว่า ไม่เศร้าโศกถึงวัตถุที่แปรปรวนไปแล้ว หรือเมื่อวัตถุแปรปรวนไปแล้วไม่เศร้าโศกถึง คือไม่เศร้าโศกถึง ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญไม่ทุบอกร่ำไร ไม่ถึงความหลงใหลว่า จักษุ โสตะ  ฆานะ ชิวหา กาย ใจของเรา แปรปรวนไปแล้ว รูป  เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะของเราแปรปรวนไปแล้ว สกุล คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จีวร บิณฑบาต  เสนาสนะ  คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของเรา  แปรปรวนไปแล้วมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง บุตร ธิดา มิตรพวกพ้อง ญาติสาโลหิตของเรา แปรปรวนไปแล้ว แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ไม่มี.

 อีกอย่างหนึ่ง ผู้ใดเป็นผู้อันความไม่ยินดี คือ ทุกขเวทนาถูกต้องครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศกถึง ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ทุบอกร่ำไร ไม่ถึงความหลงใหล คือ เป็นผู้อันโรคจักษุ โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่หู โรคปากโรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู. โรคหิดเปื่อย โรคหิตด้าน โรคหูด โรคละลอก โรคคุดทะราด โรคอาเจียนโลหิต โรคน้ำดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต อาพาธเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ ความสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง  ลมแดด  และสัตว์เสือกคลานถูกต้องครอบงำ กลุ้มรุม ประกอบเข้า ย่อมไม่เศร้าโศกถึง ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ทุบอกร่ำไร ไม่ถึงความหลงใหล แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า ย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ไม่มี.

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อวัตถุไม่มีอยู่ คือไม่ปรากฏ ไม่เข้าไปได้ ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ไม่ทุบอกร่ำไร ไม่ถึงความหลงใหลว่า โอ สิ่งนั้นของเราหนอ สิ่งนั้นไม่มีแก่เราหนอ สิ่งนั้นควรมี
แก่เราหนอ เราไม่ได้สิ่งนั้นหนอ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ดังนี้ จึงชื่อว่า เมื่อสิ่งที่ถือว่าของตนไม่มี ย่อมไม่เศร้าโศกถึง.

เทวดาเหาะข้ามบริเวณต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ไม่ได้(อ.กาลิงคชาดก) เล่ม60หน้า273

พระเจ้าจักรพรรดิกาลิงคราช ทรงครองราชสมบัติตลอดห้องจักรวาล วันหนึ่ง มีเสนาแวดล้อมเต็มไปในที่ประมาณ ๓๖ โยชน์ เสด็จขึ้นทรงช้างเผือกขาวเปรียบด้วยอดเขาไกรลาส  ไปสู่สำนักพระชนกชนนีด้วยสิริวิลาสใหญ่.ฝ่ายช้างพระที่นั่งพระเจ้าจักรพรรดินั้น ไม่อาจเหาะข้ามมหาโพธิมณฑลอันเกิดแต่สะดือแผ่นดิน  อันเป็นไชยมงคลของพระพุทธเจ้าทั้งปวงได้.พระเจ้าจักรพรรดิราชทรงไสไปเนือง ๆ  แต่ช้างทรงนั้นก็ไม่อาจที่จะไปได้.

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาที่  ๑  ว่า
พระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่า กาลิงคะ
ได้ทรงสั่งสอนมนุษย์ทั่วแผ่นดินโดยธรรม ได้เสด็จไปสู่
ที่ใกล้ต้นโพธิด้วยช้างทรงมีอานุภาพมาก.

ลำดับนั้น ปุโรหิตของพระเจ้าจักรพรรดิ ซึ่งตามเสด็จไปด้วยคิดว่าธรรมดาว่าทางอากาศไม่มีเครื่องกั้น เพราะเหตุไรหนอ พระราชาจึงไม่อาจจะไสช้างไปได้ เราจักตรวจตราดู แล้วลงจากอากาศตรวจตราเห็นภูมิภาคอันเป็นมณฑลสะดือแผ่นดิน มีชัยบัลลังก์ของพระพุทธเจ้าทั้งปวง.

ราชสีห์ที่กินพืชเป็นอาหารก็เคยมีมาแล้ว(อ.สีหสูตร) เล่ม27หน้า173

ราชสีห์  ๔  จำพวก

บทว่า สีโห ได้แก่ ราชสีห์ ๔ จำพวก คือ ติณราชสห์ จำพวก ๑.กาฬราชสีห์ จำพวก ๑ ปัณฑุราชสีห์  จำพวก ๑ ไกรสรราชสีห์  จำพวก  ๑.

ติณราชสีห์ (มีรูปร่าง) เป็นเหมือนแม่โค สีคล้ายนกพิราบ และกินหญ้าเป็นอาหาร.

กาฬราชสีห์ (มีรูปร่าง) เป็นเหมือนแม่โคดำ กินหญ้าเป็นอาหารเหมือนกัน.

ปัณฑุราชสีห์ (มีรูปร่าง) เป็นเหมือนแม่โคสีคล้ายใบไม้เหลืองกินเนื้อเป็นอาหาร.

ไกรสรราชสีห์ ประกอบด้วย (ลักษณะคือ) ดวงหน้า (ที่สวยงาม)เป็นเหมือนมีใครเอาน้ำครั่งมาแต่งเติมไว้ หางที่มีปลาย (สวยงาม)และปลายเท้าทั้ง ๔ ตั้งแต่ศีรษะของราชสีห์นั้นลงไป  มีแนวปรากฏอยู่๓  แนว ซึ่งเป็นเหมือนมีใครมาแต้มไว้ ด้วยสีน้ำครั่ง สีชาด และสีหิงคุ (แนวทั้ง ๓ นั้น) ผ่านหลังไป สุดที่ภายในขาอ่อน เป็นวงทักษิณาวรรต.ก็ที่ต้นคอของไกรสรราชสีห์นั้น มีขนขึ้นเป็นพวง เหมือนวงไว้ด้วยผ้ากัมพล ราคาตั้งแสน (ส่วน) ที่ที่เหลือ (ภายในร่างกาย) มีสีขาวบริสุทธิ์เหมือนแป้งข้าวสาลี และผงจุรณ์แห่งสังข์.ในสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาว่าไกรสรราชสีห์ออกไปเพื่อต้องการหาเหยื่อ.

คนธรรพ์ทำฌานได้ ไปเกิดที่พรหมโลกทันที(สักกะปัญหาสูตร) เล่ม14หน้า127-128

เรื่องศากยธิดาโคปิกา

ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับถ้อยคำเฉพาะหน้าแห่งหมู่เทพซึ่งอุบัติในดาวดึงส์มาก่อนว่า ในกาลใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ในกาลนั้นหมู่เทพเทวดาย่อมเต็มบริบูรณ์  หมู่อสูรย่อมเสื่อมไป ข้อนี้นั้น ข้าพระองค์ได้เห็นเป็นพยานแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญศักยธิดา นามว่าโคปิกา ในกรุงกบิลพัสดุ์นี้เอง ได้เป็นผู้เลื่อมใสแล้วในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำให้บริบูรณ์ในศีลเป็นปกติ นางเบื่อหน่ายสตรีเพศ ปรารถนาบุรุษเพศเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นพวกกับทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นบุตรของข้าพระองค์แม้ทวยเทพในดาวดึงส์นั้น  ย่อมรู้จักเธออย่างนี้ว่า โคปกเทพบุตร ๆ ดั่งนี้.

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุ ๓ รูป แม้อื่น ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าถึงหมู่คนธรรพ์ชั้นต่ำ เธอเหล่านั้นเพรียบพร้อมบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ มาสู่ที่บำรุงบำเรอของข้าพระองค์. โคปกเทพบุตรได้ตักเตือนพวกเธอว่า ท่านผู้นิรทุกข์พวกท่านได้รวบรวมธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้แล้ว(มาเป็น) เช่นนี้ชื่อว่าเอาหน้าไปไว้ไหน ก็เราชื่อว่าเป็นสตรีเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำให้บริบูรณ์ในศีลเป็นปกติ เบื่อหน่ายสตรีเพศปรารถนาบุรุษเพศ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เป็นพวกกับทวยเทพชั้นดาวดึงส์ ถึงความเป็นบุตรแห่งท้าวสักกะจอมเทพแม้ทวยเทพชั้นนี้ย่อมรู้จักเราอย่างนี้ว่า โคปกเทพบุตรๆ ดั่งนี้ ส่วนพวกท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เข้าถึงหมู่คนธรรพ์ชั้นต่ำพวกเราได้เห็นแล้วช่างไม่น่าดูเสียเลย เมื่อโคปกเทพบุตรได้ตักเตือนคนธรรพ์เหล่านั้นแล้ว เทวดา ๒ องค์ กลับได้สติในอัตภาพนั้น เข้าถึงหมู่พรหมชั้นพรหมปุโรหิต  ส่วนองค์ ๑ ยังอยู่ในชั้นกามาวจรนั้นแล.

ความแตกต่างของพระพุทธเจ้ากับสาวกทั้งหลาย(พุทธสูตร) เล่ม27หน้า133

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นรากฐาน เป็นแบบฉบับเป็นที่อิงอาศัย ขอประทานพระวโรกาส ขออรรถแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเจ้าทีเดียวเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผุ้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้.
   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิด  ยังประชุมชนให้รู้จักมรรคที่ใครๆไม่รู้จัก บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทางประกาศทางให้ปรากฏ ฉลาดในทาง     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สาวกทั้งหลาย ในบัดนี้ เป็นผู้ที่ดำเนินไปตามทาง เป็นผู้ตามมาในภายหลังอันนี้แลเป็นข้อแปลกกัน อันนี้เป็นข้อประสงค์ยิ่งกว่ากัน อันนี้เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  กับภิกษุผู้หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา.

จักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด (อ.จิตตุปปาทกัณฑ์) เล่ม75หน้า433-434

ว่าด้วยอนันตะ  (สิ่งไม่มีที่สุด)  ๔ อย่าง

ในฐานะ (แห่งกามาวจรกุศลจิต ๘) นี้ ท่านถือเอาอนันตะ ๔ อย่าง จริงอยู่ อนันตะ มี ๔ อย่าง คือ

อากาโส  อนนฺโต  (อากาศไม่มีที่สุด)
จกฺกวาฬานิ  อนนฺตานิ  (จักรวาลไม่มีที่สุด)
สตฺตนิกาโย  อนนฺโต  (หมู่สัตว์ไม่มีที่สุด)
พุทฺธาณ  อนนฺต  (พุทธญาณไม่มีที่สุด).

จริงอยู่ การกำหนดอากาศว่า ในทิศบูรพา หรือในทิศปัจฉิม ในทิศอุดร ในทิศทักษิณว่ามีเท่านี้ร้อยโยชน์ หรือเท่านี้เป็นโยชน์ ย่อมไม่ได้ ถ้าว่าเอาค้อนเหล็กเท่าขุนเขาสิเนรุทำแผ่นดินให้แยกเป็นส่วนแล้วโยนไป ค้อนเหล็กก็พึงตกไปข้างล่างโดยแท้ หามีที่รองรับไว้ได้ไม่ ชื่อว่า อากาศ เป็นอนันตะ(คือไม่มีที่สุด) อย่างนี้.

การกำหนดแม้จักรวาลทั้งหลายว่ามีหลายร้อย หรือว่าหลายพัน  หรือว่าหลายแสนจักรวาล หาได้ไม่. จริงอยู่ แม้ถ้าว่า ท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ ผู้เกิดในอกนิฏฐภพ ผู้ประกอบด้วยความเร็ว ผู้สามารถผ่านแสนจักรวาลไปด้วยเวลาเพียงเท่าที่ลูกศรที่เร็วมากของนายขมังธนูผู้มีกำลังแข็งแรงผ่านเงาต้นตาลด้านขวาง  พึงวิ่งไปโดยเร็วนั้น ด้วยคิดว่า  เราจักดูที่สุดจักรวาล ดังนี้ ท้าวมหาพรหมเหล่านั้น ไม่ทันเห็นที่สุดแห่งจักรวาล ก็จะพึงปรินิพพานเสียโดยแท้ชื่อว่า จักรวาล ทั้งหลายเป็นอนันตะ (คือไม่มีที่สุด)  อย่างนี้.

ถ้าบุคคลใดรักตนเอง ต้องดัดสันดานตนให้ดี (อัตวรรค) เล่ม42หน้า186

ว่าด้วยเรื่องตน

[๒๒]  ๑. ถ้าบุคคลทราบตนว่าเป็นที่รัก พึงรักษาตนนั้นให้เป็นอันรักษาด้วยดี บัณฑิตพึงประคับประคอง(ตน)ตลอดยามทั้งสาม ยามใดยามหนึ่ง.

๒.  บัณฑิตพึงตั้งตนนั่นแล ในคุณอันสมควรก่อนพึงสั่งสอนผู้อื่นในภายหลัง จะไม่พึงเศร้าหมอง.

๓.  ถ้าผู้อื่นพร่ำสอนผู้อื่นอยู่ฉันใด พึงทำตามฉันนั้น บุคคลผู้มีตนฝึกดีแล้วหนอ (จึง) ควรฝึก(ผู้อื่น) เพราะว่าได้ยินว่า ตนฝึกฝนได้โดยยาก.

๔.  ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่าพึงเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่บุคคลได้โดยยาก.

๕. บาปอันตนทำไว้เอง เกิดในตน มีตนเป็นแดนเกิด ย่อมย่ำยีบุคคลผู้มีปัญญาทราม ดุจเพชรย่ำยีแก้วมณี อันเกิดแต่หินฉะนั้น.

๖. ความเป็นผู้ทุศีลล่วงส่วน รวบรัด  (อัตภาพ)ของบุคคลใด ดุจเถาย่านทราย รัดรึงต้นสาละฉะนั้นบุคคลนั้น ย่อมทำตนอย่างเดียวกันกับที่โจรหัวโจกปรารถนาทำให้ตนฉะนั้น.

๗. กรรมอันไม่ดี และไม่เป็นประโยชน์แก่ตนคนทำง่าย กรรมใดแลเป็นประโยชน์แก่ตน และดีกรรมนั้นแลทำยากอย่างยิ่ง.

๘. บุคคลใดปัญญาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้าคัดค้านคำสั่งสอนของพระอริยบุคคลผู้อรหันต์ มีปกติเป็นอยู่โดยธรรม  บุคคลนั้นย่อมเกิดมาเพื่อมาฆ่าตนเหมือนขุยแห่งไม้ไผ่.

๙. บาปอันผู้ใดทำแล้วด้วยตนเอง ผู้นั้นย่อมเศร้าหมองด้วยตน บาปอันผู้ใดไม่ทำด้วยตน ผู้นั้นย่อมบริสุทธิ์ด้วยตนเอง ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้.

๑๐. บุคคลไม่พึงยังประโยชน์ของตนให้เสื่อมเสียเพราะประโยชน์ของคนอื่นแม้มาก รู้จักประโยชน์ของตนแล้ว พึงเป็นผู้ขวนขวายในประโยชน์ของตน.

พระนักเทศน์ที่เทศนาร้อนแรงแบบไฟเผาก็มี(อ.มหาโคสิงคสาลสูตร)เล่ม19หน้า47

ในบทว่า อนุปฺปพนฺเธหิ  ความว่า ภิกษุใด กล่าวธรรม ตั้งแต่เวลาเริ่มสูตร หรือชาดกปรารภ รีบด่วนเหมือนคนสีไฟ เหมือนคนเคี้ยวของร้อน กระทำที่ถือเอาแล้ว ๆ และไม่ถือเอาแล้วๆ ในอนุสนธิเบื้องต้นเบื้องปลายแห่งบาลี อ้อมแอ้มในที่นั้นๆ จบลุกไป เหมือนคนเลี้ยงเหี้ยเที่ยวไปในระหว่างใบไม้เก่า

 ภิกษุใด เมื่อกล่าวธรรม บางคราวก็เร็ว บางคราวก็ช้า บางคราวทำเสียงดัง บางคราวทำเสียงค่อย ไปเผาศพ  บางคราวลุก บางคราวก็ดับฉันใดภิกษุนั้นชื่อว่าพระธัมมกถึกเปรียบด้วยไฟเผาศพฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อบริษัทประสงค์จะลุก เริ่มขึ้นอีก.
 แม้ภิกษุใด เมื่อกล่าวให้พิสดารในที่นี้แม้แต่เธอกล่าวเหมือนถอนหายใจ เหมือนคร่ำครวญ ถ้อยคำของภิกษุเหล่านี้แม้ทั้งหมดชื่อว่าไม่ติดต่อกัน.

ส่วนผู้ใดเริ่มสูตร ตั้งอยู่ในนัย ที่อาจารย์ให้ไว้ทำไม่ขาดสายให้เป็นไป เหมือนกระแสน้ำยังถ้อยคำให้เป็นไม่ขาดตอนเหมือนน้ำตกจากคงคา ถ้อยคำของเขาชื่อว่า ติดต่อกันโดยลำดับ.

คำสอนของพระพุทธเจ้า นำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริง(ปาสาทิกสูตร) เล่ม15 หน้า264

     ดูก่อนจุนทะ ผู้ได้แลพึงกล่าวกะสาวกเห็นปานนั้นอย่างนี้ว่า ท่านจงปฏิบัติธรรมที่ศาสดาของท่านแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้วเถิด. ผู้ที่ชักชวนผู้ที่ถูกชักชวน ผู้ที่ถูกชักชวนแล้วย่อมปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น คนทั้งหมดนั้นจะประสบบุญเป็นอันมาก. ข้อนั้นเพราะเหตุไร. ดูก่อนจุนทะเพราะว่าข้อนี้มีอยู่ในธรรมวินัยที่พระศาสดากล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้วเป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้  เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้อย่างนี้แล.

[๙๙]  ดูก่อนจุนทะ อนึ่ง ศาสดาในโลกนี้เป็นสัมมาสัมพุทธะและธรรมก็เป็นธรรมที่ศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้  เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ ทั้งสาวกก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมในธรรมนั้นอยู่ เป็นผู้ปฏิบัติชอบ เป็นผู้ประพฤติตามธรรมย่อมยึดถือปฏิบัติธรรมนั้น สาวกนั้นควรที่ใคร ๆ จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
   ดูก่อนผู้มีอายุ เป็นลาภอย่างยิ่งของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ด้วยว่า ศาสดาของท่าน. ก็เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ธรรมก็เป็นธรรมที่ศาสดานั้นกล่าวไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นธรรมที่ท่านผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ ทั้งตัวท่านก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมในธรรมนั้นอยู่ เป็นผู้ปฏิบัติชอบเป็นผู้ประพฤติตามธรรม ย่อมยึดถือประพฤติธรรมนั้น.

วิธีแสดงอาบัติในท่ามกลางสงฆ์ แบบถูกต้อง (สมถขันธกะ) เล่ม8หน้า600

   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้ ผู้รับรื้อฟื้นเป็นปาจิตตีย์ที่รื้อฟื้น หากได้การแสดงนั้นอย่างนี้ นั่นเป็นความดี หากไม่ได้ ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ไหว้เท้าภิกษุผู้แก่กว่า  นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า
     ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าต้องอาบัติชื่อนี้ ข้าพเจ้าแสดงคืนอาบัตินั้น ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงระกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมว่าท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้รูปนี้ระลึกเปิดเผย ทำให้
ตื้น แสดงอาบัติ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงรับอาบัติของภิกษุมีชื่อนี้ แล้วพึงกล่าวว่าเธอเห็นหรือภิกษุผู้แสดงพึงกล่าวว่า ขอรับ ผมเห็น
ภิกษุผู้รับพึงกล่าวว่า ท่านพึงสำรวมต่อไป
 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าอธิกรณ์ระงับแล้ว ระงับด้วยอะไร ? ด้วยสัมมุขาวินัยกับปฏิญญาตกรณะ ในสัมมุขาวินัยนั้น มีอะไรบ้าง ? มีความพร้อมหน้าสงฆ์ ความพร้อมหน้าธรรม ความพร้อมหน้าวินัย ความพร้อมหน้าบุคคล...

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากอธิกรณ์ระงับแล้วอย่างนี้  ผู้รับรื้อฟื้นเป็นปาจิตตีย์ที่รื้อฟื้น ผู้ให้ฉันทะติเตียน เป็นปาจิตตีย์ที่ติเตียน.

ถ้าตีราคาสินค้าไม่เป็นธรรม "เป็นบาป" ตกนรก (อ.เนมิราชชาดก) เล่ม63หน้า272

มาตลีเทพสารถีขับรถต่อไป นายนิรยบาลที่อุสสุทนรกอื่นอีก เอาเบ็ดเหล็กลุกโพลงโตเท่าลำตาลเกี่ยวลิ้นสัตว์นรก คร่ามาให้สัตว์นรกเหล่านั้นล้มลงบนแผ่นดินโลหะที่ลุกโพลง ให้นอนแผ่ เอาขอเหล็กสับดุจสับหนังโคฉะนั้น สัตว์นรกเหล่านั้น ดิ้นรนเหมือนปลาดิ้นอยู่บนบก ไม่อาจทนทุกข์นั้นร้องไห้เขฬะไหล พระเจ้าเนมิราชเมื่อจะแสดงแก่มาตลีเทพสารถีนั้น ได้ตรัสว่า
   ท่านจงดูลิ้นของสัตว์นรกที่เกี่ยวด้วยเบ็ด และหนังที่แผ่ไปด้วยของสัตว์นรกย่อมดิ้นรน  เหมือนปลาที่โยนไปบนบกย่อมดิ้นรนฉะนั้น ร้องไห้ น้ำลายไหล เพราะธรรมอะไร ความกลัวย่อมปรากฏแก่เรา เพราะได้เห็นความเป็นไปนั้น ดูก่อนมาตลีเทพสารถี เราขอถามท่าน สัตว์นรกเหล่านี้ได้ทำบาปอะไรไว้ จึงกลืนเบ็ดนอนอยู่.

มาตลีเทพสารถีทูลพยากรณ์พระดำรัสถามตามที่
ทราบวิบากแห่งสัตว์ผู้ทำบาปทั้งหลาย  แด่พระราชาผู้ไม่ทรงทราบว่า สัตว์นรกเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็น
มนุษย์อยู่ในตำแหน่งผู้ตีราคา ยังราคาซื้อให้เสื่อมไปด้วยราคา ทำกรรมอันโกงด้วยความโกง เหตุโลภทรัพย์ปกปิดไว้ ดุจคนเข้าไปใกล้ปลาเพื่อจะฆ่าเอาเหยื่อเกี่ยวเบ็ดปิดเบ็ดไว้ฉะนั้น บุคคลจะป้องกันช่วยคนทำความโกงผู้อันกรรมของคนหุ้มห่อไว้ ไม่มีเลยสัตว์นรกเหล่านั้นมีกรรมหยาบช้าทำบาป จึงมากลืนเบ็ดนอนอยู่.

รู้จัก คุณ-โทษ ของกามตามความเป็นจริง(มหาทุกขัตขันธสูตร) เล่ม18หน้า115-116

[๑๙๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า เป็นคุณของกามทั้งหลาย.
   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้  ๕  ประการเป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่ารารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด  เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต...กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานะ...รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา...โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนาน่าใคร่  น่าพอใจ  น่ารัก ประกอบด้วยกาม  เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการเหล่านี้แล. ความสุข ความโสมนัสใดเล่า อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย.

โทษของกาม

[๑๙๘]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นโทษของกามทั้งหลาย.
 กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วยความขยัน ประกอบศิลปะใด คือ ด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยการคำนวนก็ ดี ด้วยการนับจำนวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยการยิงธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรำต่อความหนาว ต้องตรากตรำต่อความร้อน งุ่นง่านอยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน ต้องตายด้วยความหิวระหาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่า ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน สืบต่อ พยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้นก็ไม่สำเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเลือนว่าความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

ไม่ใช่ฐานะ ที่พระอรหันต์จะมีเพศสัมพันธ์ด้วยความใคร่(สุตวาสูตร)เล่ม37หน้า730

ดูก่อนสุตวะ ภิกษุใดเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระแล้วมีประโยชน์แห่งตนอันบรรลุแล้วโดยลำดับมีกิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วราะรู้
โดยชอบ
ภิกษุนั้นไม่ควรเพื่อประพฤติล่วงฐานะ ๕ ประการ คือภิกษุผู้ขีณาสพไม่ควรแกล้งฆ่าสัตว์ ๑ ไม่ควรถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้อันเป็นส่วนแห่งความเป็นขโมย ๑ ไม่ควรเสพเมถุนธรรม ๑ ไม่ควรกล่าวเท็จทั้งรู้ ๑ ไม่ควรทำการสั่งสมบริโภคกามคุณเหมือนเป็นคฤหัสถ์ในกาลก่อน ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญคำนี้ข้าพระองค์ฟังมาดีแล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจไว้ดีแล้ว ทรงทำไว้ดีแล้ว และหรือ.

อวัยะเพศของพระอรหันต์ ยังแข็งตัว และใช้การได้(ปาราชิกสิกขาบทที่1) เล่ม1หน้า674

เรื่องพระอรหันต์เมืองภัททิยะจำวัดหลับ

[๖๗]  ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง อยู่ในที่พักกลางวันในป่าชาติยาวัน แขวงเมืองภัททิยะ จำวัดหลับอยู่ อวัยวะใหญ่น้อยของภิกษุนั้นถูกลมรำเพยให้ตึงตัว สตรีผู้หนึ่งพบเข้าแล้วได้นั่งคร่อมองค์กำเนิด กระทำการพอแก่ความประสงค์แล้วหลีกไป ภิกษุเห็นองค์กำเนิดเปรอะเปื้อน จึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ๆ ตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ ด้วยอาการ  ๕ อย่าง คือ กำหนัด ๑ ปวดอุจจาระ ๑ ปวดปัสสาวะ ๑ ถูกลมรำเพย ๑ ถูกบุ้งขน ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดเป็นอวัยวะใช้การได้ ด้วยอาการ ๕  อย่างนี้แล  ภิกษุทั้งหลาย องค์กำเนิดของภิกษุนั้น  พึงเป็นอวัยวะใช้การได้ ด้วยความกำหนัดใด ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะไม่ใช่โอกาส เพราะภิกษุนั้นเป็นอรหันต์ ภิกษุนั้นไม่ต้องอาบัติ.

ภิกษุที่เป็น "นานาสังวาส" ไม่ควรร่วมสังฆกรรมด้วย (อุโบสถขันธกะ) เล่ม6หน้า499

ภิกษุนานาสังวาสและสมานสังวาส

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็พวกภิกษุอาคันตุกะในศาสนานี้ได้เห็นภิกษุเจ้าถิ่นสังวาสต่างกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสเสมอกัน ครั้นแล้วก็ไม่ไต่ถามจึงทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ. พวกเธอได้ได้ถาม ครั้นได้ถาม แล้วไม่รังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุอาคันตุกะในศาสนานี้ ได้เห็นพวกภิกษุเจ้าถิ่นมีสังวาสเสมอกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสต่างกันครั้นแล้วก็ไม่ได้ถาม ทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่ถามครั้น ไต่ถามแล้วรังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่
ถาม ครั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ ได้เห็นพวกภิกษุอาคันตุกะมีสังวาสต่างกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสเสมอกันครั้นแล้วก็ไม่ได้ถามจึงทำอุโบสถร่วมกัน  ไม่ต้องอาบัติ.  

พวกเธอได้ไต่ถามครั้นไต่ถามแล้วไม่รังเกียจทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ได้ถาม ครั้นได้ถามแล้วไม่รังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ไม่ต้องอาบัติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง พวกภิกษุเจ้าถิ่นในศาสนานี้ ได้เห็นพวกภิกษุอาคันตุกะมีสังวาสเสมอกัน พวกเธอกลับได้ความเห็นว่ามีสังวาสต่างกันครั้นแล้วก็ไม่ไต่ถาม ทำอุโบสถร่วมกัน ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ได้ถามครั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ แยกกันทำอุโบสถ ต้องอาบัติทุกกฏ. พวกเธอได้ไต่ถาม ครั้นไต่ถามแล้วรังเกียจ ทำอุโบสถร่วมกัน ไม่ต้องอาบัติ.

-วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com

-เวบพี่ดาบต้น //www.piyavat.com

-Facebook พุทธพจน์ //www.facebook.com/login.php?next=http%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fgroups%2FBuddhaspeech      

****หมายเหตุ นาทีที่ 6:01:55 ..เป็นต้นไป หลวงปู่ท่านได้พูดถึง ทนายชนอณุพงศ์  ชัยธนาวิรัตน์ ท่านใดมีปัญหาด้านกฏหมาย,คดีความต่างๆ  ปรึกษาได้ที่ทนายชนอณุพงศ์  ชัยธนาวิรัตน์ ที่เมล์ pasponglawyer@hotmail.com ,เบอร์โทรที่ 0818060981 , 0867809391 ****




Create Date : 28 ตุลาคม 2555
Last Update : 16 มกราคม 2556 22:07:34 น. 1 comments
Counter : 1961 Pageviews.

 
ทุกๆ วันเสาร์เวลาประเทศไทย โดยประมาณ 20:30 น.มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เทศน์โดยหลวงปู่เกษม อาจิณณสีโล จากสำนักสงฆ์ป่าสามแยก

รับชมได้ที่
ดูวีดีโอช่องที่ 1 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทช้า: 56k)
www.samyaek.com

ดูวีดีโอช่องที่ 2 (สำหรับผู้ที่อินเตอร์เน็ทเร็ว: 212k)
www.samyaek.com/?channel=2

สำหรับท่านที่มีปัญหาดูถ่ายทอดสดไม่ได้
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=2303.0

การใช้ iPad, iPhone, iPod touch ดูถ่ายทอดสด
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5531.0

วิธีใช้ Tablet ตระกูล Android ดูถ่ายทอดสด
www.samyaek.com/board2/index.php?topic=5512.0

สมาชิกท่านใดมีปัญหาในการรับชม
(ปัญหาอันเกิดจากคอมพิวเตอร์ของท่านเอง)

หากได้แก้ไขตามลิงค์ต่างๆ ข้างต้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถรับชมได้
ให้ท่านติดต่อสอบถามได้ที่ คุณชัยณรงค์ รัตนเกษมสุข (เม้ง)
Dtac : 081-554-1699 , AIS 081-935-1651
e-mail : macmagic99@hotmail.com


โดย: Budratsa วันที่: 28 ตุลาคม 2555 เวลา:17:31:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.