<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
3 เมษายน 2555

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดบวกครกหลวง



สวัสดีค่ะ
วันนี้มาชมภาพฝาผนังของวัดบวกครกหลวงกันนะคะ


จิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวง

จุดเด่นของ วัดบวกครกหลวง ที่คนทั่วไปรู้จัก
อยู่ที่ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดบวกครกหลวง
ซึ่งเขียนเรื่องราวพุทธประวัติและชาดกในนิบาต หรือ เรื่องทศชาติชาดก จำนวน 14 ห้อง


จิตรกรรมฝาผนังนี้เขียนบนผนังรอบ ๆ วิหารระหว่างช่องเสาเป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดก
ภาพแต่ละส่วนจะอยู่ในกรอบซึ่งเขียนเป็นลายล้อมกรอบด้วยลายสีน้ำเงิน แดง และขาว


สำหรับเรื่องที่เขียนนั้นทางทิศเหนือเป็นภาพชาดก เรื่องมโหสถชาดก
ส่วนทางทิศใต้เป็นเรื่องทศชาติชาดก (พระเจ้าสิบชาติ)

จิตรกรรมดังกล่าวเป็นฝีมือช่างชาวไทใหญ่ที่ละเอียดประณีต
และเป็นที่น่าสังเกตว่าจิตรกรรมฝาผนังในล้านนาจะไม่พบการเขียนภาพเรื่องทศชาติชาดกครบทั้ง 10 ชาติ
หากเลือกมาเฉพาะเรื่องที่นิยมกันเท่านั้น ซึ่งที่วัดบวกครกหลวงก็เช่นกัน มีทั้งหมด 6 เรื่อง

คือ เตมียชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก และเวสสันดรชาดก






(ผนังที่ 1 ผนังเต็มห้องอบายภูมิ ซีกด้านซ้ายพระประธาน)

















(ผนังที่ 2 ผนังเต็มห้อง เตมียชาดก อันเป็นพระชาติแรกของทศชาติชาดก พระโพธิสัตว์บำเพ็ญเนกขัมมบารมี
คือ ความอดกลั้นเพื่อให้หลุดพ้นจากการทำความชั่ว
โดยพระเตมีย์แสร้งทำพระองค์เป็นใบ้ ง่อย และหูหนวก แม้จะถูกทดสอบหรือยั่วยวนต่างๆ พระกุมารก็ทรงนิ่งเฉยเสีย
ซึ่งภาพในตอนนี้ชำรุดไปบางส่วน แต่ยังพอเห็นเค้าได้)



ผนังเตมียชาดก ตอนพระเตมีย์นั่งอยู่บนตักพระราชบิดา เมื่อออกว่าราชการ
ทรงทอดพระเนตรพระราชบิดา สั่งตัดสินลงโทษ





ภาพมุมขวาล่าง แม้พระเตมีย์จะถูกยั่วยวนแต่พระกุมารก็ยังคงนิ่งเฉย




ภาพตอนบน นายสุนันต์เพชฌฆาตนำพระเตมีย์ไปประหารชีวิตในป่า











(ผนังที่ 3 ผนังเต็มห้อง สุวรรณสามชาดก ผนังลบเลือนไปมากแต่ยังพออ่านเรื่องได้
พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุวรรณสาม บำเพ็ญเมตตาบารมี)
















(ผนังที่ 4 ผนังเต็มห้อง เนมิราชชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเนมิ บำเพ็ญอธิษฐานบารมี
เหล่าเทพยดาส่งมาตุลีเทพบุตร นำราชรถทองมารับพระเนมิไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์และนรก)










ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวงมีลักษณะของภาพแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิยมของท้องถิ่น
ที่มีจุดเด่นที่เป็นภาพเขียนที่ใช้สีสันสดจัดจ้าน
ท่าทีการเขียนภาพของช่างนิยมใช้พู่กันป้ายแต้มอย่างมีพละกำลังแฝงอยู่ภายในด้วย
รอยพู่กันแสดงอารมณ์ที่ลิงโลด คึกคะนอง สนุกสนาน และปาดสีอย่างมันใจเด็ดเดี่ยว
โดยเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นฉากธรรมชาติ เช่น เนินเขา โขดหิน และลำน้ำ
ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนมีรูปร่างเป็นอิสระ เลื่อนไหล คดเคี้ยว
เมื่อผนวกเข้ากับความต้องการของผู้วาดที่ใช้พู่กันและสีแท้ ๆ สดในอย่างอิสระแล้ว
นับเป็นฉากธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา ไม่ดูจืดชื้ดยิ่งนัก

นอกจากนั้นแล้ว วิธีการเน้นความน่าสนใจของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงคือ
นิยมใช้กรอบรูปคล้ายภูเขา ระบายสีพื้นในด้วยสีดำ ขอบนอกเป็นแถบสีเทาและตัดเส้นด้วยสีดำ
ส่วนเส้นนอกกรอบเลื่อนไหลล้อกับรูปนอกของตัวปราสาทด้วย







(ผนังที่ 5 ผนังเต็มห้อง มโหสถชาดก พระโพธิบารมี ภาพด้านบนชำรุดไปพอสมควร)



สำหรับสีที่ใช้ในจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวงนี้พอจะจำแนกได้ 6 กลุ่ม
คือ กลุ่มสีคราม สีแดงชาด สีทอง สีเหลือง – น้ำตาล สีดำ และสีขาว
ดังนั้นจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงจึงถือเป็นงานฝีมือของช่างไทใหญ่
ที่ได้ถ่ายทอดถึงชีวิตพื้นบ้านรูปแบบสถาปัตยกรรมและการแต่งกายแบบพม่าและไทใหญ่ไว้ด้วย
เช่น ถ้าเป็นการแต่งกายของชาวบ้านจะมีลักษณะเป็นแบบคนพื้นเมือง
แต่ถ้าเป็นเจ้าก็จะเป็นการแต่งกายแบบพม่าหรือไทใหญ่
รวมถึงข้าวของเครื่องใช้แบบชาวเมืองก็ยังมีให้เห็นอยู่ในภาพด้วย เช่น จุนโอ๊ก, ขันชี่ (ขันเงิน, ขันทอง)
ซึ่งเป็นเครื่องใช้ของชาวล้านนา ผ้าซิ่นแบบคนเมือง หรือผ้าห่มคลุมตัวเวลาหนาวที่เรียกว่า ตุ้ม ด้วย
ซึ่งลักษณะของจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงนั้นจึงเป็นลักษณะพิเศษของจิตรกรรมล้านนา
โดยอาจมีข้อแตกต่างหรือคล้ายกันกับจิตรกรรมที่ภาคกลางด้วย







(ผนังที่ 6 ผนังเต็มห้อง เวสสันดรชาดก พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์)




ลักษณะพิเศษลักษณะพิเศษของจิตรกรรมล้านนาที่วัดบวกครกหลวง
กับข้อแตกต่างหรือคล้ายกันกับจิตรกรรมที่ภาคกลางมีดังนี้


-จิตรกรรมภาคกลางนั้นเขียนภายในพระอุโบสถและพระวิหารที่มีหน้าต่างเป็นชุด
จึงมีผนังระหว่างช่องหน้าต่างให้เขียนเป็นเรื่องราวพุทธประวัติบ้าง ทศชาติชาดกบ้าง
ส่วนผนังเหนือหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ หรือมิฉะนั้นก็จะเขียนภาพเทพชุมนุมเป็นแถว ๆ
ด้วยพระอุโบสถและพระวิหารทางภาคกลางมีขนาดใหญ่มาก ทั้งความสูงจากเหนือขอบหน้าต่างถึงสุดผนังข้างบนก็มีมาก
ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 จึงมักเขียนภาพเทพชุมนุมเป็นแถว ๆ
ขนาดของเทวดาที่นั่งพนมมือเป็นแถวนั้นมีขนาดใหญ่เท่าคนจริงหรืออาจใหญ่กว่าคนจริงเล็กน้อย

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ลงมามิได้เขียนเป็นภาพเทพชุมนุมแต่เขียนเป็นเรื่องราวของชาดกขนาดใหญ่
ภาพปฤศนาธรรม หรือภาพวิวขนาดมหึมา เช่น ภาพสวยสาธารณะ ภาพเรือใบเดินทะเลขนาดใหญ่ มีคลื่นลูกโตสาดซัด
ภาพตึกรามบ้านช่อง บางทีก็เป็นภาพศาสนสถานขนาดใหญ่ เป็นต้น


(ผนังที่ 7 ผนังห้องนี้ชำรุดจนหมด)


ส่วนสถาปัตยกรรมเชียงใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้น นิยมใช้เสาไม้รับน้ำหนักเครื่องบนหลังคาดังนี้
เมื่อต้องการให้ภายในเป็นอาคารมีฝามิใช้อาคารโถง จึงต้องก่ออิฐเป็นผนัง
(ที่จริงอาคารพุทธศาสนารุ่นเก่าของล้านนาเป็นอาคารโถง ซึ่งยังเหลือของเก่าให้เห็นเป็นจำนวนมาก)
เหนือผนังด้านข้างตีไม้เป็นระแนงเป็นช่องลมทางยาวขนาดใหญ่ สามารถใช้ระบายอากาศได้เป็นอย่างดี
ประตูด้านข้างเขาทำประตูส่วนบนเป็นยอดแหลมทั้งบานทาด้วยสีดินแดง ที่เสานูนจากผนังทำเป็นลายฉลุปิดทอง

ภาพเขียนในวัดบวกครกหลวงนั้น จึงเขียนคาบเกี่ยวกันตั้งแต่สุดผนังด้านข้างทั้ง 2 ข้าง
และผนังด้านบนจากช่องลมถึงกึ่งกลางหน้าต่างซึ่งไม่สูงเท่าไร เพราะส่วนสัดของพระวิหารวัดบวกครกหลวงผนังด้านข้างไม่สูงนัก







(ภาพผนังที่ 8 ผนังเต็มซีกด้านขวาพระประธาน เข้าใจว่าเป็นภาพเกี่ยวกับวัดบวกครกหลวงแห่งนี้)



-ภาพเขียนวัดบวกครกหลวงเขียนเส้นเป็นลายขอบรูปหนา
และขอบนั้นล้อมรอบรูปเขียนเป็นสี่เหลี่ยม จึงทำให้เนื้อที่ผนังที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบลงไปอีก






(ผนังที่ 9 ผนังเต็มห้องพุทธประวัติ
ส่วนล่างของภาพด้านซ้ายเป็นภาพองคุลีมาลกำลังวิ่งไล่เพื่อทำร้ายพระพุทธเจ้า
ด้านขวาเป็นตอนที่องคุลีมาลกลับใจออกบวช)



-การเขียนของบวกครกหลวงใช้ระบบสีฝุ่นบดผสมกาวยางไม้เช่นเดียวกับภาคกลาง
แต่เรื่องราวแบบแผนกับวิธีการเขียนไม่เหมือนกัน ดังเช่น รูปเครื่องบนยอดปราสาทในภาพเขียน
เขาเขียนโดยใช้ระบบเครื่องบนปราสาทพม่า ซึ่งเหมือนกับภาพเขียนผนังซ้ายมือพระประธานซึ่งเขียนในสไตล์พื้นเมือง
นอกจากจะเขียนยอดปราสาทพม่าแล้วเครื่องปรุงปราสาทต่าง ๆ ก็เป็นแบบพม่า
เป็นเครื่องสังวรว่าอิทธิพลจิตกรรมพม่าได้เข้าครอบงำจิตรกรรมล้านนา
อาจจะเป็นเพราะว่าพม่าเคยมีอำนาจปกครองดินแดนล้านนามาเนิ่นนาน
อันเป็นผลอันเป็นผลให้ศิลปะขนบประเพณีของพม่าเข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวเชียงใหม่ให้หันไปนิยมพม่าเสียหมด
นับตั้งแต่ภาคกลางได้ขยายทางรถไฟให้ยาวขึ้นไปถึงเชียงใหม่ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5
อิทธิพลวัฒนธรรมไทยภาคกลางได้แพร่เข้าไปถึงอย่างใกล้ชิด
แต่ก็หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงอย่างปฏิรูปถอนรากถอนโคนในดินแดนล้านนาไม่






(ผนังที่ 10 ผนังเต็มห้อง วิธุรชาดก
พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต บำเพ็ญสัจจบารมี ด้านบนมีภาพพุทธประวัติตอนประสูติแทรกอยู่)




-การเขียนเส้นสินเทาคั่นระหว่างภาพก็เหมือนกัน ทว่าที่วัดบวกครกหลวงก็แตกต่างกับภาคกลางอีก
คือ เขามิได้ใช้เส้นสินเทาเป็นหยักแหลมรูปฟันปลาอย่างภาคกลาง
แต่เขียนเป็นลายตามแบบแผนของเขา ยอดปราสาทก็เขียนแบบเดียวกับยอดปราสาทวัดพม่าที่เห็นทางเหนือทั่วไป









(ผนังที่ 11 ผนังเต็มห้องพุทธประวัติ ตอนเจ้าชายสิทธัตถะพบเทวทูตทั้งสี่ ตอนการสละอันยิ่งใหญ่ และตอนออกมหาภิเนษกรมณ์)



-โครงสร้างของสีส่วนใหญ่ ถ้าหากนำมาเทียบกับจิตรกรรมฝาผนังภาคกลาง
คงเห็นข้อแตกต่างอย่างชัดเจนว่า สีโดยส่วนรวมค่อนข้างสว่างเพราะมีการเขียนในระบบเดียวกับเขียนสมดุลข่อย
คือเขียนบนพื้นสีขาวที่เตรียมไว้ ส่วนใดเป็นสีอ่อนก็จะระบายสีอ่อน ๆ คล้ายเทคนิคสีน้ำ
ส่วนสีแก่ใช้ล้วงพื้นเอาซึ่งแตกต่างกับภาพเขียนภาคกลางสมัยรัตนโกสินทร์ที่มักจะลงพื้นเข้มเสียก่อน
เช่นเขียนภาพพื้นดินภูเขา ต้นไม้ลงพื้นระบายด้วยสีหนัก ๆ
แล้วจึงเขียนภาพคนทับลงไปบนภาพที่ลงพื้นไว้เบื้องหลังแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ภาพจิตรกรรมที่นี่จึงมีส่วนที่เว้นสีพื้นขาวมาก เช่น ช่องว่างรอยต่อของเรื่องกับส่วนละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ทำให้ภาพดูสว่างตา









(ผนังที่ 12 ผนังเต็มห้องพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลี
และตอนพระอินทร์ทรงดีดพิณทิพย์สามสายถวาย)



-ภาพการเขียนด้วยคอมโปสิชั่นที่แปลก
จิตรกรล้านนาท่านยักเยื้องแง่มุมของรูปให้เห็นมิติแปลก ๆ
ลักษณะลวดลายผสมผสานกับท่าทีของการใช้ฝีแปรงอันกล้าหาญ เต็มไปด้วยพลัง
เมื่อได้เห็นภาพานี้ผู้สนใจทางศิลปะคงรู้แก่ใจตนเองว่า ที่เขายกย่องกันถึงพื้นพลังสร้างสรรค์ของจิตรกรรมวัดบวกครกหลวงเป็นฉันใด
เนื้อหาของภาพได้แสดงตนเองออกมาให้ประจักษ์แล้ว









(ผนังที่ 13 ผนังเต็มห้องพุทธประวัติ ตอนมารผจญและลอยถาด)


-แม้ว่าภาพเขียนวัดบวกครกหลวงจะเป็นจิตรกรรมที่มิใช่งานคลาสสิก
แต่คุณค่าของจิตรกรรมในพระวิหารที่นี่อยู่ตรงความเป็นตัวของตัวเอง มิได้ลอกแบบหรือเอาอย่างมาจากใคร
แม้เป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา แต่เราก็จะเห็นว่าครูที่เคยเห็นอย่างจำเจในภาคกลางไม่ปรากฏ ณ ที่นี่
แสดงว่าเป็นงานจิตรกรรมบริสุทธิ์ ที่สร้างสรรค์ มาจากจินตนาการอันแท้จริงของชาวล้านนา










(ผนังที่ 14 ผนังเต็มห้องขบวนพิธีไปทำบุญ)



-จิตรกรรมล้านนาไม่ว่าจะเป็นวัดบวกครกหลวง วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ หรือวัดภูมินทร์ น่าน
มีลักษณะการเขียนใบหน้าดูชื่อ ๆ ถ้าเป็นคนหมู่มากก็จะยืนเรียงเข้าแถวแนว หรือเรียงหน้ากันเป็นตับ
ลักษณะเหล่านี้ นักวิชาการศิลปะสามารถวินิจฉัยได้ว่า นั่นคือลักษณะการคลี่คลายตัวของศิลปะในแบบพริมิทีฟ ( primitive )
ซึ่งยังไม่สูงสู่ระดับอาร์เคอิก (Archaic) หรือคลาสสิก(Classic)
อย่างไรก็ดี ในการดูคุณค่าทางศิลปะ ท่านมิได้เพ่งเล็งในแง่ระดับต้น ระดับกลาง หรือระดับสูงแต่อย่างไร
คุณค่าสำคัญก็คือการแสดงออกของอารมณ์



จิตรกรรมฝาผนังของวัดบวกครกหลวง ก็คงมีมานำเสนอเพียงเท่านี้นะคะ
ขอบคุณเวป ของวัดที่มีรายละเอียดให้คัดลอกมาลงในบล็อกนี้
ใครอยากชมภาพจริงๆ ต้องไปชมเองนะคะ รับรองว่าสวยกว่าในภาพพันเท่าเลยค่ะ

ป้าแอ๊ดเอง ถ้ามีโอกาสไปเชียงใหม่ จะไปวัดนี้อีกครั้งหนึ่งแน่นอนค่ะ










 

Create Date : 03 เมษายน 2555
6 comments
Last Update : 26 พฤษภาคม 2555 14:10:03 น.
Counter : 15012 Pageviews.

 



สวัสดียามค่ำค่ะป้าแอ๊ด
ดี.มาส่งความคิดถึงก่อนเลย
ตามด้วยเที่ยววัดกับป้าแอ๊ดด้วยค่ะ

 

โดย: d__d (มัชชาร ) 3 เมษายน 2555 19:47:49 น.  

 

รายละเอียดต้องบอกว่า ... เต็มเอี๊ยดมากเลยค่ะป้าแอ๊ด
อ่านไป เหมือนได้เดินตามไกด์เลยค่ะ

จะมีอยู่ช่วงหนึ่งพุ่เองก็ชอบนักกับการ
เดินชมภาพวาด เพราะทึ่งมากกับตอนไปเห็น
ช่างรุ่นใหม่เค้าได้ลงลาย เรียกว่าเค้ารักษาของเก่า
กันแบบว่ามากๆ เลยค่ะ เห็นแล้วอดชื่นชมไม่ได้
เลยชอบกับลายวาดๆ ของแต่ละแห่ง ..

แต่ตอนนี้เวลาเดินเล่นมันน้อยลงแล้วเลยไม่ได้
ไปไหนไกลๆ เลยค่ะ ..

 

โดย: JewNid 3 เมษายน 2555 22:57:56 น.  

 

นิทฺทาสิลี สภาสิลี อนุฏฺฐาตา จ โย นโร
อลโส โกธปญฺญาโณ ตํ ปราภวโต มุขํ

คนใดชอบนอน ชอบมั่วสุม ไม่เอางาน เกียจคร้าน
เอาแต่โกรธ งุ่นง่าน นั่นคือปากทางของความเสื่อม

ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขด้วยความขยันหมั่นเพียร ตลอดไป...นะคะ



นอกจากได้ชมภาพที่ทรงคุณค่าแห่งความงามและความหมายแล้ว
ยังได้รับความรู้แบบจัดเต็มอีกต่างหาก ชอบมาก...ค่ะ

 

โดย: พรหมญาณี 4 เมษายน 2555 11:13:35 น.  

 

ได้ความรู้มาก ๆ เลยค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 8 เมษายน 2555 16:51:48 น.  

 

ป้าแอ๊ดค่ะน่าทึ่งจริงๆค่ะ ชื่นชมค่ะ คิดถึงนะค่ะมาเชียงใหม่ติ๋มอยากพาไปทานข้าวนะค่ะ

 

โดย: บ้านผ่อดอยใน 10 เมษายน 2555 0:28:21 น.  

 

อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ ขโณ โว มา อุปจฺจคา
รีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ อย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านเลยไปเสีย

ตั้งใจทำการงานอันสุจริตด้วยความไม่ประมาท ตลอดไป...นะคะ



ปีใหม่ไทยนี้ ปอป้าขออวยพรให้ทุกท่าน ทุกครอบครัว
ประสบแต่ความสุขความเจริญ มีสุขภาพแข็งแรง
สำเร็จในทุกสัมมาการที่ปรารถนา เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม
ตลอดปีใหม่ และตลอดไป...นะคะ

 

โดย: พรหมญาณี 10 เมษายน 2555 11:42:11 น.  


addsiripun
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 78 คน [?]




ลบบล็อกงานตัดเย็บทิ้งหมดแล้วนะคะ
[Add addsiripun's blog to your web]