รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
ศิลปะการแสดงโขน

ศิลปะการแสดงโขน เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของงานวัฒนธรรมไทย เป็นหนึ่งในงานนาฏกรรมของไทยซึ่งมีอยู่มากมายหลายอย่าง มีแบบแผนสืบมานับแต่ราว
พุทธศตวรรษที่ 20 และเป็นการละเล่นมหรสพที่ขึ้นชื่อและเป็นเอกลักษณ์ เป็นที่นิยมยกย่องในทุกยุคทุกสมัยตลอดมา โดยหลักฐานทางภาควิชาการ “โขน” คือที่รวมของศิลปะหลายแขนง ที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น หนังใหญ่ การละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ และกระบี่กระบอง เมื่อศิลปะดังกล่าวรวมตัวกันเข้าแล้วโขนยังได้วิวัฒนาการตัวเองตามความนิยมของสังคมในแต่ละยุคสมัย
ทั้งวิธีการแสดง คำพากย์ คำเจรจา เพลงขับร้อง รวมทั้งเพลงบรรเลงอย่างที่นิยมเรียกว่า
“เพลงหน้าพาทย์” ตลอดจนปี่พาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบอยู่เป็นประจำด้วย
ศิลปะการแสดงโขนเมื่อบังเกิดในชั้นแรก ท่านผู้รู้สันนิษฐานว่าคงจะเล่นกันแต่กลางสนามเช่นเดียวกับการละเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษก และคงจะเป็นดังที่เรียกกันในชั้นหลังว่า “โขนกลางแปลง” ครั้นในยุคสมัยต่อมา จึงได้วิวัฒนาการเป็นแบบต่างๆ สุดแต่สถานที่และโอกาส รวมทั้งความเจริญทางเทคโนโลยีตามยุคสมัยจะอำนวยให้ สัญลักษณ์สำคัญและที่เป็นเอกลักษณ์ของการแสดงโขนที่คงรูปแบบสืบทอดตลอดมาคือ ผู้แสดงสวมหัวโขน
ปิดหน้าตามลักษณะตัวละครต่างๆ ที่ปรากฏในท้องเรื่อง จึงพูดและร้องด้วยตัวเองมิได้ ต้องมีผู้ทำหน้าที่แทนซึ่ง เรียกว่า “คนพากย์-เจรจา” แม้เมื่อโขนได้วิวัฒนาการแล้ว ในชั้นหลังได้รับอิทธิพลจากละครใน ให้ผู้แสดงโขนที่เป็นตัวพระ-ตัวนาง เช่น พระราม นางสีดา เทวดา และนางฟ้าต่างๆ
สวมแต่มงกุฎ ชฎาอย่างละครใน แต่โขนก็ยังสามารถรักษาแบบแผนไว้ได้อย่างมั่นคง คือ ผู้แสดงไม่พูดเอง ร้องเอง ยังคงให้คนร้อง คนพากย์-เจรจา เป็นผู้ทำหน้าที่แทนจนปัจจุบัน เว้นแต่ประเภทตัวประกอบ เช่น ตัวตลก ที่มีอิสระในการแสดงและเจรจาเองได้เพราะสวมหัวโขนเปิดหน้า
ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของการแสดงโขนก็คือจัดแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ตลอดมา แม้จะได้มีผู้คิดค้นวิวัฒนาการนำเอาเรื่องอื่นๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมมาจัดแสดงแต่ก็ปรากฏว่าได้รับความนิยมเพียงแต่ในวงแคบและเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ในที่สุดก็เลิกลาสูญหายไป ไม่เหมือน
เรื่องรามเกียรติ์ที่โขนจัดแสดงกันมาช้านาน
บทละครเรื่องรามเกียรติ์ แม้ไทยเราจะได้ต้นเค้าเรื่องมาจาก “มหากาพย์รามายณะ”
เทวนิยายของอินเดียอันเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ไทยเรามิได้คัดลอกเอามาอย่างชนิด
คำต่อคำเหมือนกับบางประเทศ หากแต่ได้นำเอามาปรุงแต่งดำเนินเรื่องใหม่โดยสอดแทรกคตินิยมแบบไทยเข้าไว้อย่างสมบูรณ์ หากศึกษาโดยละเอียดจะเห็นว่า เรื่องรามเกียรติ์ของไทยเราคงรักษาเฉพาะแต่เหตุการณ์และตัวละครที่สำคัญ จากเรื่องรามายณะของอินเดียไว้เพียงไม่กี่ตัว นอกจากนั้นเป็นเรื่องและตัวละครที่ไทยเราแต่งเพิ่มขึ้นเกือบทั้งสิ้น ดังนั้นเรื่องรามเกียรติ์ของไทยจึงมีเนื้อเรื่องพิสดาร และยืดยาวกว่าเรื่องรามายณะของอินเดียที่เป็นต้นแบบอย่างเทียบกันไม่ติด และแม้แต่
พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ของไทยฉบับต่างๆ เท่าที่มีอยู่ก็มีเนื้อเรื่องเหมือนกันบ้างและแตกต่างออกไปบ้าง สุดแท้แต่ผู้ทรงพระราชนิพนธ์จะทรงเห็นงามตามพระราชวินิจฉัย โดยเหตุที่เรื่องรามเกียรติ์ของไทย มีเรื่องยืดยาวมากนี้เอง ในการแสดงโขนแต่ละครั้งจึงมักนิยมตัดทอนเอาแต่ตอนที่มี
ความหมายเหมาะสมแก่โอกาส และที่เห็นว่าจะแสดงให้สนุกสมบูรณ์พร้อมทั้งอรรถรสเพลงดนตรี และศิลปะท่ารำ นำมาจัดแสดงเป็นชุดเป็นตอน
โขนเป็นศิลปะชั้นสูงเทียบเคียงได้กับศิลปะคลาสสิคชนิดอื่นๆ ของโลก เช่น โอเปรา หรือ บัลเล่ต์ แต่เนื่องด้วยขนบธรรมเนียมในการถ่ายทอดศิลปะการแสดงประเภทนี้เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงทำให้ “โขน” เป็นศิลปะที่ปุถุชนธรรมดาในอดีตไม่สามารถมีไว้ในครอบครองได้ คงสงวนไว้เป็นราชูปโภคแห่งองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น และศาสตร์แห่ง
การแสดงโขนนี้ก็มิได้มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงทำให้การค้นคว้าถึงภูมิหลังประวัติศาสตร์ของโขนกระทำได้ยาก คงมีแต่เพียงหลักฐานทางวรรณคดีเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่กล่าวถึงไว้ ในที่นี้จะได้กล่าวถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแสดงโขนที่ได้ค้นคว้าเพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมศิลปะการแสดงโขนในครั้งนี้ เช่น

สุมนมาลย์ นิ่มเนติพันธ์ กล่าวถึงความหมายของคำว่า “โขน” ไว้ว่า
“คำว่าโขนนี้มีความหมายในภาษาต่างๆ แตกต่างกันออกไป เช่น ในภาษาเบงคาลี หมายถึง เครื่องดนตรี “ตะโพน” ที่ใช้ในการแสดงโขน ภาษาอิหร่าน หมายถึง การพากย์ การเจรจาแทนตัวหุ่น ภาษาทมิฬ หมายถึง การแต่งตัวเพื่อบอกเพศหญิงหรือชาย เพราะการแสดงโขนนั้นใช้ผู้ชายล้วน ซึ่งก็ตรงกับการแต่งกายการแสดงโขนของไทย”

ธนิต อยู่โพธิ์ ได้อธิบายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและกำเนิดของโขนไว้ในหนังสือเรื่อง “โขน” ว่า
“…ที่มาของโขนสันนิษฐานได้ว่าอาจถือกำเนิดมาจากหลายทาง เช่น ระบำรำเต้น การละเล่นหนังใหญ่ หรือกระบี่กระบอง รวมทั้งศิลปะละครอย่างหนึ่งของอินเดีย คือ กถักกฬิ ศิลปะการเล่นโขนของเราจึงมีลักษณะหลายอย่างที่เหมือนกับการเล่นละครรำชนิดหนึ่งของอินเดียทางตอนใต้ แถบชายฝั่งมลบาร์ คือ กถักกฬิ นั่นเอง คำว่า กถักกฬินี้ แยกออกได้เป็น 2 คำ คือ กถ แปลว่านิยาย และ กฬิ แปลว่าการเล่น กถักกฬิ จึงหมายถึงการเล่นนิยาย กถักกฬิ เป็นละครพื้นเมืองและเป็นศิลปะโบราณแบบหนึ่งของอินเดีย มีแบบแผนและหลักวิชาทางนาฏศิลป์ตรงกับที่กล่าวไว้ในคัมภีร์นาฏยศาสตร์ ซึ่งได้อธิบายวิธีเล่นไว้ว่า โรงละครเป็นเวทีที่ตั้งกลางแจ้งไม่มีหลังคา แสงไฟส่องเวทีใช้ตะเกียงทองเหลืองอย่างที่ใช้จุดเทวสถาน หลังโรงไม่มีฉากกั้น เรื่องที่เล่นเป็นเรื่องตำนานเกี่ยวกับพระเป็นเจ้า และเรื่องกาพย์ต่างๆ มีดนตรีและมีคนร้องหรือคนพากย์ยืนอยู่เบื้องหลังตัวละครซึ่งทำท่าทางเป็นจังหวะไปตามบท มีการแสดงหน้าและการเคลื่อนไหวอวัยวะเท่ากับเป็นการแปลความหมายด้วยท่าประกอบให้เข้าใจคำพากย์ที่เป็นกาพย์นั้น การแสดงท่าทางต้องให้เข้ากันไปกับเสียงดนตรี และโดยมากเวลาเต้นรำมีแต่เพียงกลองกับ "ชลระ" (ฉิ่ง) และ "เจงคละ" (ฆ้อง) กลองที่ใช้มี 2 ชนิด คือ มัดทลัม กลองยาว ตีด้วยมือสองข้าง (รูปคล้ายตะโพนของไทย) และเจนได กลองใบใหญ่ใช้ตั้งตีข้างเดียวด้วยไม้สองอัน (คล้ายกลองทัดของไทย) เรื่องที่นำมาแสดงกถักกฬินั้นเป็นมหากาพย์เรื่องมหาภารตะและเรื่องรามยณะ และเรื่องนิยายในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ แสดงในที่
กลางแจ้ง เริ่มตั้งแต่เวลาเย็นไปจนตลอดคืน ใช้แสงตะเกียงทองเหลืองตั้งส่องแสงสว่างให้เห็นหน้าตัวละคร ก่อนการแสดงมีการเกริ่นนำด้วยการตีกลอง ซึ่งได้ยินไปไกลถึงหลายสิบเส้น เป็นการโฆษณาให้รู้ว่าจะมีการเล่นชนิดนั้น ต่อจากนั้นจึงมีการแสดงที่เรียกว่า "โตทยัม" เป็นโศลกสันสกฤตสรรเสริญเทพเจ้า (อย่างบทไหว้ครูหรือบทบวงสรวง) ตอนแสดงโตทยัมนี้ ตัวละครจะแสดงอยู่หลังผ้าม่านสี และม่านนั้นไม่ต้องผูกไว้กับอะไร ใช้เด็กสองคนถือคนละข้างบังตัวละครไว้ก่อน ครั้นจบโตทยัมแล้ว เด็กจะลดม่านลง เปิดให้เห็นตัวละครทันที ตัวละครเหล่านี้มีหลายตัว (ระบุเป็นจำนวนไม่ได้) แต่งตัวด้วยผ้าสีแล้วแสดงระบำบูชา (คงจะอย่างระบำเบิกโรงของไทย) เรียกว่า "ปุรัปปทุ" คงจะตรงกับคำว่า บุรพบท หรือ ปูรวะรังคะ ในละครสันสกฤต นักร้องก็สวด (โศลกฉันท์) และมีระบำแทรกเรียกว่า "กละสัม" เต้นรำเคลื่อนไหวไปมาเข้ากับบทโศลกที่สวดทุกๆ โศลก แล้วระบำ กละสัม นี้ก็เต้นเข้ากับจังหวะโศลกไปเรื่อยจนจบตอนต่อไปจึงเล่นเข้าเรื่อง
ด้วยเหตุนี้ ศิลปะทางนาฏกรรมของอินเดียใต้ ก็น่าจะได้มีผู้นำเข้ามาสู่ดินแดนเหล่านี้ด้วย เพราะได้เป็นที่เปิดเผยเมื่อ พ.ศ.2476 ว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้รูปหล่อทองสัมฤทธิรูปหนึ่ง ขนาดเล็กสูงสัก 6 นิ้ว จากเมืองพิมาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดวินิจฉัยประทานว่า "เป็นรูปยักษ์รำ ทำท่า ปฐม ตรงตามตำรารำของไทย เป็นแต่ทำยืนและต่างกับท่ารำของอินเดียที่เรียกว่า วยํสิตมฺ มีรูปในตำรารำเราจึงเป็นของที่ไม่เคยมีที่ไหน ฝีมือทำก็ประณีตบรรจง ควรนับว่าเป็นชิ้นเอกในเครื่องสัมฤทธิ์ได้ชิ้นหนึ่ง และควรเรียกว่า "มารรำ" พิเคราะห์ดูไม่เห็นมีรอยต่อ ของเดิมเห็นจะทำตั้งลอย แต่จะทำเป็นชุดหรือเฉพาะตัว เหลือที่จะรู้ได้ ควรทำฐานตั้งรักษาและทิ้งสนิมไว้อย่างนี้อย่าไปจับต้องแก้ไข" ท่ารำที่เรียกว่า วยํสิตมฺ หรือ วยัมสิตะนี้ เป็นท่ารำหนึ่งของอินเดีย ซึ่งเรียกว่า "กรณะ" กล่าวไว้ในตำราภรตนาฏยศาสตร์ ว่ามีอยู่ 108 ท่า และกรณะหรือท่ารำเหล่านี้ ได้ทำเป็นภาพแกะสลักติดไว้ที่ประตูเทวสถานเมืองจิทัมพรัม มณฑลมัทราสในอินเดียใต้
ทั้งนาฏกรรมที่ใช้เรื่องรามยณะหรือเรื่องรามเกียรติ์เป็นหัวข้อแรกก็คงจะเป็นนาฏกรรมที่นิยมยกย่องกันอยู่ในราชสำนักแห่งอาณาจักรโบราณในแหลมอินโดจีนนี้ด้วย ดังปรากฏภาพศิลาสลักเรื่องรามเกียรติ์สมัยขอมที่ปราสาทหินพิมายและภาพศิลาสลักเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระลักษมณ์ถูกศรนาคบาศสมัยลพบุรี กับโบราณวัตถุที่นครธมและภาพศิลาสลักที่นครวัด ซึ่งมีเค้าส่อให้เห็นว่าเป็นต้นเดิมของการเล่นที่ชาวไทยเราได้รับแบบฉบับ แล้วมาประดิษฐ์สร้างขึ้นเล่นชนิดที่เรียกว่า
"ชักนาคดึกดำบรรพ์" และ "การเล่นดึกดำบรรพ์" และเมื่อประดิษฐ์ดัดแปลงแล้วนำศิลปะชนิดต่างๆ ของกระบี่กระบองและหนังเข้ามาผสมส่วนกันไว้ในภายหลังจึงเกิดเป็นนาฏกรรมขึ้น อีกชนิด
เรียกว่า "โขน"
แต่ศิลปะทางนาฏกรรมที่เข้าใจว่าเป็นต้นเค้าของการเล่นโขนของไทยดังกล่าวนี้ เมื่อชาวไทยได้รับมาเป็นสมบัติแล้ว ก็คงจะได้ประดิษฐ์ดัดแปลงให้วิจิตรงดงามตามความคิดและจิตใจ
ของไทย ครั้นเมื่อศิลปะเดิมอันเป็นต้นเค้าของนาฏกรรมชนิดนี้ ซึ่งเคยมีอยู่ในอาณาจักรขอมนั้น ได้สูญหายไปพร้อมกับความล่มจมแห่งพระราชวงศ์และอาณาจักรแล้ว จึงปรากฏว่า เมื่อกษัตริย์เขมรกลับตั้งอาณาจักรกัมพูชาขึ้นได้ใหม่ โดยการสนับสนุนของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เขมรจึงนำเอาแบบแผนแห่งศิลปะทางโขนละครของไทยไปรื้อฟื้นขึ้นอีก ดังปรากฏอยู่ในราชสำนักกรุงกัมพูชาทุกวันนี้ แต่ถ้ายังเปรียบกับของไทยก็เห็นได้ว่า โขนละครของเขมร แม้จะได้แบบแผนไปจากไทย แต่ก็ดูเหมือนว่าความประณีตของศิลปะยังเหลื่อมล้ำกันอยู่


กำเนิดโขน
การเล่นชนิดที่เรียกว่า "ชักนาคดึกดำบรรพ์" ดังกล่าวถึงชื่อมาในบทก่อนนั้นมีพรรณณาไว้ในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนกล่าวถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกว่า
"การพระราชพิธีอินทราภิเศก ตั้งพระสุเมรุสูงเส้น (หนึ่งกับ) 5 วา ในกลางสนามนั้น
(ตั้งภูเขา) อิสินธร (และ) ยุคนธร สูงเส้นหนึ่ง (ภูเขา) กรวิกสูง 15 วา เขาไกรลาสสูง 20 วา
นาค 7 ศีรษะเกี้ยวพระสุเมรุนอกสนาม...ตำรสจเลก (แต่ง) เป็นรูปอสูร 100 มหาดเล็ก (แต่ง) เป็นเทพดา 100 (และแต่ง) เป็นพาลี สุครีพ มหาชมภูและบริพารพานร (รวม) 103 ชักนาคดึกดำบรรพ์ อสูรชักหัว เทพดาชักหาง พานรอยู่ปลายหาง"
ครั้นถึงวันที่ 5 ของการพระราชพิธีเป็นวันกำหนดชักนาคดึกดำบรรพ์ "วัน (ที่) 6 ตั้ง
น้ำสุรามฤต 3 ตุ่ม ตั้งช้าง 2 ศีรษะ ม้าเผือก อศุภราช ครุฑธราช นางดารา หน้าฉานตั้งเครื่อง
สรรพยุทธ เครื่องช้างและเชือกบาศ หอกไชยตั้งโตมร ของ้าวชุบน้ำสุรามฤต เทพดา (ผู้เล่น)
ดึกดำบรรพ์ร้อย (หนึ่ง และ) รูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพิศวกรรม ถือเครื่องสำรับตามธรรมเนียม เข้ามาถวายพระพร"
การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ดังกล่าวในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้ บางทีพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยโบราณจะได้แบบแผนมาจากขอม แม้จะไม่มีตำนานกล่าวไว้โดยชัดเจนแต่ก็ปรากฏว่าที่ "พนักสะพานทั้งสองข้าง (ซึ่งเป็นสะพานหินข้ามคูเข้าสู่นครธม) ทำเป็นรูปพระยานาคตัวใหญ่ 7 เศียรข้างละตัว มีรูปเทวดาอยู่ฟากหนึ่ง รูปอสูรอยู่ฟากหนึ่ง ฉุดนาคดึกดำบรรพ์ ..สะพานข้ามคูนครธมทำรูปเทวดาและอสูรชักนาคดึกดำบรรพ์อย่างนี้ทุกสะพาน" และในนครวัดก็ปรากฏว่า "จำหลักเรื่องชักนาคทำน้ำอมฤต" ไว้ที่ผนังระเบียงด้านตะวันออกเฉียงใต้ของนครวัด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชวนคิดว่า การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษกคงจะได้แบบอย่างมาจากขอม เพราะมีหลักฐานปรากฏชัดเจน ในทางลักษณะและแบบของโบราณวัตถุก็มีเป็นอันมาก ดังจะเห็นจากรูปปรางค์ขอมที่สร้างขึ้นไว้ในวัดพระรามและวัดมหาธาตุ เป็นต้น ยังปรากฏอยู่ที่กรุงเก่าจนถึงทุกวันนี้


กวนน้ำอมฤต
รูปเทวดาและอสูรชักนาคดึกดำบรรพ์ที่สะพานข้ามคูนครธมก็ดี ภาพจำหลักเรื่องชักนาคทำน้ำอมฤตที่ผนังระเบียงนครวัดก็ดี คงจะได้เรื่องราวมาจากเรื่องกวนน้ำอมฤตของอินเดียสมัยโบราณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องกวนน้ำอมฤตนี้ไว้ในเรื่องย่อๆ ในหนังสือ "บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์" ว่า
"เทวดาและอสูรอยากจะใคร่อยู่คง พ้นจากความตายจึงชวนกันกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต เอาเขามนทรคีรีเป็นไม้กวน เอาพญาวาสุกรีเป็นเชือก พญาวาสุกรีพ่นพิษเป็นไฟพากันได้รับความเดือดร้อน พระนารายณ์เชิญให้พระอิศวรเสวยพิษเพื่อดับความร้อน (พระศอพระอิศวรจึงเป็นสีนิลเพราะพิษไหม้) เทวดาและอสูรชักเขามนทรคีรีหมุนกวนไปอีก จนเขาทะลุลงไปในโลก
พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่าลงไปรองรับเขามนทรคีรีไว้มิให้ทะลุเลยไปได้อีก การกวนจึงกระทำต่อไปได้สะดวก เทวดากับอสูรทำสงคามกันชิงน้ำอมฤต พระนารายณ์ฉวยน้ำอมฤตไปเสีย พ้นจากฝั่งเกษียรสมุทรแล้ว พวกอสูรมิได้มีโอกาสกินน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงได้เป็นใหญ่ในสวรรค์"
เรื่องนี้ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่าเป็นเรื่องที่พระวิศวามิตรมุนีเล่าให้พระรามและ
พระลักษมณ์ฟัง เมื่อพระมุนีพากุมารทั้งสองนั้นเดินทางไปดูรัตนธนู ณ กรุงมิถิลา ซึ่งแสดงว่าเป็นเรื่องโบราณนานไกล จนกลายเป็นนิยายที่เล่ากันไว้อย่างวิจิตรพิสดาร แต่คงจะนับถือเป็นเรื่องมี
ชัยชนะต่อพวกอสูร ต่อมาจึงได้มีผู้นำเอาเรื่องกวนน้ำอมฤตนี้มาแต่งขึ้นเป็นละครสันสกฤตเรียกชื่อว่า "อมฤตมถนะ" แปลว่า เรื่องกวนน้ำอมฤต หรือ "สมุทรมันถนะ" แปลว่า เรื่องกวนน้ำทะเล
(ให้เป็นน้ำทิพย์) จัดเป็นละครประเภทหนึ่ง เรียกชื่อตามละครสันสกฤตว่า "สมวการ" เป็นละคร
3 องก์จบ ใช้สำหรับเล่นเป็นบทเบิกโรงละครก่อนแสดงเรื่องใหญ่ มีลำดับการแสดงดังนี้คือ
1.ปูรวรังคะ 2.ละครประเภท "สมวการ" เรื่องกวนน้ำอมฤต 3.เล่นละครเรื่องใหญ่

การเล่นดึกดำบรรพ์
การที่พระมหากษัตริย์ไทยโปรดให้สร้างเขาพระสุเมรุ เขาอิสินธร เขายุคนธร และเขากรวิก ขึ้นในการทำพระราชพิธีอินทราภิเษก และมีการ "ชักนาคดึกดำบรรพ์" ในพระราชพิธีนั้น ก็น่าจะเลียนแบบมาจากการแสดงละครสันสกฤต ณ ที่ลาดเขาหิมพานต์ของอินเดีย ซึ่งคล้ายคลึงกับของกรีกด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานอธิบายไว้ว่า "ลักษณะการที่ทำใน
พระราชพิธีอินทราภิเษกดังที่กล่าวมานี้ ก็คือ การเล่นแสดงตำนานไสยศาสตร์เพื่อแสวงสวัสดิมงคล มาแต่มูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์" และยังมีข้อความในพระราชพงศาวดารเมื่อรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ครองกรุงศรีอยุธยาว่า "เมื่อ พ.ศ.2039 ท่านประพฤติการเบญจาพิธี
พระองค์ท่าน แลให้เล่นการดึกดำบรรพ์" ดังนี้ ก็ทำนองเมื่อพระชันษาได้ 25 ปี จะทำพระราชพิธีอินทราภิเษก มีการเล่นฉุดนาคดึกดำบรรพ์นั่นเอง ตามที่กล่าวมานี้ เป็นอันสันนิษฐานได้ว่า การเล่นดึกดำบรรพ์เมื่อ พ.ศ.2039 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 น่าจะมาจากการเล่น
"ชักนาคดึกดำบรรพ์" ในพระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งคงจะเล่นกันกลางสนามในที่กลางแจ้ง และการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ในพระราชพิธีอินทราภิเษก ก็น่าจะมาจากการเล่นละครสันสกฤตเรื่องกวนน้ำอมฤต สืบเนื่องกันมาเป็นชั้นๆ ดังนี้ แต่ผู้เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ที่ว่าแต่งตัวกันเป็นรูปอสูร รูปเทวดา รูปพาลี สุครีพ ท้าวมหาชมภู วานรบริวาร และรูปพระอิศวร พระนารายณ์ พระอินทร์ พระวิศวกรรม นั้นจะแต่งกันเป็นอย่างไร ได้ประดิษฐ์หัวและชฎาขึ้นใส่อย่างหัวโขนในชั้นหลังนี้หรือไม่ หรือเพียงแต่สวมลอมพอกอย่างผู้แต่งเป็นเทวดาเข้ากระบวนแห่ก็ไม่สามารถทราบลักษณะอันถูกต้องได้ในบัดนี้ และวิธีเล่น วิธีแสดงนั้นไม่ปรากฏ ดนตรีปี่พาทย์ที่ใช้ประกอบการเล่นชนิดดังกล่าวนี้ จะมีเหมือนการเล่นกระบี่กระบองและเล่นหนังหรือไม่ ก็มิได้พบหลักฐานกล่าวไว้แต่ความที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองครองกรุงศรีอยุธยา ทรงทำพิธีลบศักราช เมื่อ พ.ศ.2181 ดูเป็นเอาแบบอย่างการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก มาทรงทำอีกครั้งหนึ่ง และปรากฏกล่าวไว้ว่า "เป่าสังข์ ดุริยดนตรี พิณพาทย์คาดฆ้องไชยเภรีนี่สนั่นศัพท์ก้องโกลาหลทั้งพระนคร" แต่รายละเอียดในเรื่องดุริยดนตรีนั้นจะเป็นอย่างไร ไม่อาจจำแนกออกให้รู้ได้ เพราะกล่าวไว้เป็นพรรณนาโวหาร เช่นที่มีกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารตอนอื่นๆ เป็นอันทราบได้แต่ว่ามีดนตรีปี่พาทย์ประกอบด้วย”
ภาพที่ 1  การแสดงโขนของกรมศิลปากร ราว พ.ศ.2502
ที่มา  Dhanit Yupho, The Khon and Lakon, (Bsngkok  Department of Fine Arts, 1963, Page 24)

สุมนมาลย์ นิ่มเนติพันธ์ ยังได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของโขน ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
“…โขนแต่เดิมมีเฉพาะโขนหลวงประจำราชสำนัก ผู้ที่ฝึกหัดโขนเริ่มมาแต่ผู้มีบรรดาศักดิ์ คนสามัญจะฝักหัดโขนไม่ได้ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงถือว่า โขนถือเป็นราชูปโภคส่วนพระองค์ ฝึกหัดไว้แสดงเฉพาะงานพระราชพิธีต่างๆ
การแสดงโขนได้รับความนิยมเรื่อยมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุง
รัตนโกสินทร์ ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีกรมมหรสพเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบของการแสดงโขน นอกจากโขนหลวงก็มีโขนของเจ้านายที่มีชื่อเสียง และโขนสมัครเล่นหลายสำนัก…
…ในสมัยก่อนมีกรมมหรสพ ยังมิได้จัดระเบียบองค์กรรับผิดชอบงานด้านนี้ เป็นแต่เพียงให้ศิลปินมีชื่อสังกัดแต่ละหน่วยงานไว้ เมื่อมีราชการจึงมีคนไปเรียกมาฝึกเป็นครั้งเป็นคราว และทางกรมจะจ่ายหัวโขนหรือศีรษะให้ไปประจำตัวเก็บรักษาเอง จนกระทั่งตั้งกรมศิลปากรขึ้น จึงได้ปรับปรุงระเบียบต่างๆ เช่น ให้เก็บวัตถุข้าวของเครื่องใช้ไว้กับทางราชการ มิให้เก็บรักษาเองดังแต่ก่อน
ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงโปรดให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น ให้พระมหุศวานุกิจเป็นเจ้ากรม ต่อมาโปรดให้หลวงสิทธินายเวร (น้อย ศิลปี) ข้าหลวงเดิมเป็นผู้ควบคุม ส่วนครูโขน 3 ท่าน คือ พระยาพรหมภิบาล (ขุนระบำภาษา) พระพำนักนัจนิกร และพระยานัฏกานุรักษ์ เป็นผู้กำกับกองทหารกระบี่ สังกัดกรมโขน ขึ้นตรงต่อ
กรมมหรสพ เพื่อให้ต่างกรมกับกรมปี่พาทย์มหาดเล็ก หรือกรมมหาดเล็กปี่พาทย์ และให้เรียก
กรมโขนว่า “กรมโขนหลวง”
ต่อมาโปรดให้กรมช่างมหาดเล็กเข้าอยู่ในกรมมหรสพอีก และโปรดให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ คือ พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นผู้บัญชาการกรม และต่อมาเมื่อรวมเอากองเครื่องสายฝรั่งหลวงมาอีก ทำให้กรมมหรสพเป็นกรมใหญ่เสมอด้วยทบวงทางการเมือง สำนักงานตั้งอยู่วังจันทร์เกษม หรือบริเวณคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปรับปรุงและทำนุบำรุงศิลปะทางโขนให้เจริญก้าวหน้า สนับสนุนศิลปินโขน พระราชทานบรรดาศักดิ์ศิลปินให้เป็นขุนนาง จนมีคำเรียกโขนหลวงว่า โขนบรรดาศักดิ์ กับโขนเชลยศักดิ์ โขนเอกชน และทรงโปรดให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดทางโขนละคร และดนตรีปี่พาทย์ในกรมมหรสพครั้งแรก เรียกว่า “โรงเรียนทหารกระบี่หลวง” ต่อมาเป็น “โรงเรียนพรานหลวง”
โรงเรียนพรานหลวง เป็นสถาบันฝึกหัดโขนในสมัยนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกองเสือป่าพิเศษในกรมมหรสพ เรียกว่า ทหารกระบี่ ซึ่งเป็นที่โปรดปรานมาก ประชาชนจึงนำลูกหลานมาฝากให้เป็นนักเรียนฝึกหัด ในกรมมหรสพเป็นอันมาก และด้วย
พระปรีชาญาณ ทรงพิจารณาเห็นว่า ผู้มีศิลปวิทยาการ หากขาดความรู้ในทางสามัญเสียแล้ว ย่อมเป็นที่เหยียดหยามของคนทั่วไป แต่ถ้ามีความรู้ดีก็จะช่วยเชิดชูศิลปวิทยาการของผู้นั้นเป็นอย่างดี พระองค์จึงทรงตั้ง “กองโรงเรียนทหารกระบี่หลวง” สอนวิชาสามัญ และเมื่อทรงยุบทหารกระบี่หลวงตั้งเป็นกรมเสือพรานหลวงแล้ว จึงทรงพระราชทานรวมเป็น “โรงเรียนพรานหลวง
ในพระบรมราชูปถัมภ์” แบ่งเป็น 6 ชั้น มีนักเรียนประมาณ 100 คน มีนายซ่วน เอกะโรหิต
(พระนนทพรรคพลานุสิษฐ) เป็นอาจารย์ใหญ่
ภาคเช้านักเรียนทุกคนจะเรียนวิชาสามัญทั้งหมด ตอนบ่ายนักเรียนคนใดที่ไม่ต้องฝึกวิชาศิลปะก็เรียนหนังสือไป หากคนใดต้องรับวิชาศิลปะก็ให้ไปเล่าเรียนวิชาศิลปะตามสาขาของตน
นักเรียนจะได้รับแจกหนังสือ หีบเหล็ก 1 ใบ ผ้านุ่งผ้าพื้น 2 ผืน เสื้อในขาว 2 ตัว กับเครื่องแต่งกายแบบนักเรียนพรานปีละ 2 ชุด พร้อมเครื่องนอน มีอาหารให้รับประทานวันละ 3 เวลา มีสนามเล่น และมีโรงพยาบาล เมื่อพ้นเวลาเรียนแล้วต้องอยู่ในความควบคุมของครูผู้เป็นหัวหน้าคณะ แบ่งเป็น 4 คณะ เรียกชื่อตามราชทินนามของครูผู้ควบคุม เช่น คณะประสาท คณะประสิทธิ์ คณะวิศาล
คณะวิเศษ เป็นต้น และจะมีการประกวดความสะอาด ตกแต่งห้องพัก นอกจากนี้ถ้านักเรียนคนใดมาช่วยราชการในศิลปะด้านที่ตนถนัด เมื่อมีความสามารถดีแล้วก็จะให้เป็นข้าราชการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นไป ให้เงินเดือนตามสมควร แต่มิได้หมายความว่าให้ออกจากโรงเรียนไปเลย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงหวังที่จะให้โรงเรียนพรานหลวงอยู่ในระดับเดียวกับโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งจะมี 4 โรงเรียนด้วยกัน คือ โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย) โรงเรียนราชวิทยาลัย นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่เชียงใหม่ และโรงเรียนพรานหลวง โดยพระองค์ทรงปรับปรุงอุปถัมภ์ และปลูกความนิยมโขนให้เกิดเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ตั้งแต่สมัยยังทรงเป็นพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฎราชกุมาร ได้โปรดให้มหาดเล็กในพระองค์หัดโขนสมัครเล่น ระยะที่สอง เมื่อทรงเสด็จเสวยราชย์ ทรงตั้งกรมมหรสพอุปถัมภ์ศิลปินโขน ให้รับราชการตามควรแก่วุฒิ ระยะที่สาม โปรดให้ตั้งโรงเรียนพรานหลวงให้ความรู้
ทั้งทางสามัญและศิลปวิทยาการแก่กุลบุตรรุ่นต่อมา เพื่อปลูกฝังศิลปินให้มั่นคง แต่เป็นที่น่าเสียดายโรงเรียนพรานหลวงต้องล้มเลิกไปพร้อมกับกรมมหรสพ เมื่อ พ.ศ.2486 เมื่อพระบาทสมเด็จ-
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ศิลปะทางโขนละครก็ตกต่ำลง พัสดุเครื่องใช้ของหลวงได้สูญหายถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก จะมีเพียงบางส่วนที่นำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน-แห่งชาติ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดรับปี่พาทย์หลวงและดนตรีฝรั่งไว้
ในพระราชสำนัก กรมมหาดเล็กและกรมมหรสพเข้าอยู่ในกระทรวงวัง บรรจุพระยานัฏกานุรักษ์กลับเข้ามารับราชการเป็นผู้กำกับกรมปี่พาทย์และโขนหลวง ฝึกหัดศิลปะทางโขนละครแก่กุลบุตรกุลธิดาอีกครั้งหนึ่ง ปี พ.ศ.2478 ทางการได้โอนงานช่างวังนอกและกองมหรสพเข้าสังกัด
กรมศิลปากร
ปัจจุบันรัฐบาลได้ตระหนักดีว่า โขนเป็นศิลปะชั้นสูง (Classic) จึงมอบให้วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากรบรรจุการฝึกหัดโขนเข้าในหลักสูตร เป็นสถาบันฝึกหัดโขน แสดงให้
ประชาชนชม และแสดงเนื่องในโอกาสสำคัญ เช่น การต้อนรับแขกเมือง หรือในงานพระราชพิธีต่างๆ



Create Date : 24 พฤษภาคม 2550
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 2:51:32 น. 22 comments
Counter : 3613 Pageviews.

 
รักประเทศไทย ทุกวัน


โดย: ขจรศักดิ์ ขันตี IP: 203.155.54.249 วันที่: 15 กันยายน 2550 เวลา:13:14:54 น.  

 


โดย: เก้เด่หด่เห IP: 61.7.191.47 วันที่: 2 ตุลาคม 2550 เวลา:19:19:07 น.  

 


โดย: คนอนุรักษ์วัฒธรรมไทย IP: 117.47.144.92 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2550 เวลา:10:11:14 น.  

 
ขอบคุณก๊าบบบบบบบบบบบบบ


โดย: อิอิอิ IP: 125.26.170.56 วันที่: 10 พฤศจิกายน 2550 เวลา:18:41:02 น.  

 
thank you very much


โดย: body_... IP: 202.91.18.205 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2550 เวลา:20:29:30 น.  

 
มันยาวมากเลย


โดย: มณียา IP: 125.26.197.84 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2550 เวลา:14:56:31 น.  

 
รักเมืองไทย


คิดถึงเมืองไทย


โดย: N..TRAI IP: 203.172.170.162 วันที่: 14 ธันวาคม 2550 เวลา:9:28:45 น.  

 
รักเมืองไทย


คิดถึงเมืองไทย


โดย: N..TRAI IP: 203.172.170.162 วันที่: 14 ธันวาคม 2550 เวลา:9:28:58 น.  

 
เป็นกำลังใจให้ทหารใต้


โดย: น้องทราย IP: 203.172.170.162 วันที่: 14 ธันวาคม 2550 เวลา:9:32:00 น.  

 
รักโขนมากครับ


โดย: เด็กโขนลพบุรี IP: 125.26.14.49 วันที่: 7 มกราคม 2551 เวลา:12:44:14 น.  

 

ขอบคุณที่ให้ความรู้


โดย: บ้า IP: 58.9.2.224 วันที่: 20 มกราคม 2551 เวลา:18:05:13 น.  

 


โดย: หล่อ IP: 58.9.2.224 วันที่: 20 มกราคม 2551 เวลา:18:06:19 น.  

 
ชอบการแต่งตัวค่ะ


โดย: แมว IP: 222.123.103.246 วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:32:36 น.  

 
อยากแต่งตัว


โดย: ฮือฮือฮือ IP: 222.123.103.246 วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:34:22 น.  

 


โดย: แวว IP: 222.123.103.246 วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:39:13 น.  

 
รักโขนจัง


โดย: วง IP: 124.157.174.19 วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:21:30:02 น.  

 
จะรักนาฏศิลป์ตลอดไปค่ะ


โดย: เพื่อนค่ะ IP: 203.153.173.25 วันที่: 8 มีนาคม 2551 เวลา:11:57:20 น.  

 
ขอบคุณคับมากครับ


โดย: ยุทธพงษ์ IP: 125.26.182.33 วันที่: 7 กรกฎาคม 2551 เวลา:15:30:58 น.  

 
ก้อดีน่ะ


โดย: ยัยอวดเก่ง IP: 118.173.40.86 วันที่: 25 มกราคม 2552 เวลา:21:53:30 น.  

 
มากมายจัง


โดย: มิ้ว IP: 58.147.24.165 วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:00:54 น.  

 
สุดยอด


โดย: น้ำใส IP: 125.26.92.35 วันที่: 31 มกราคม 2553 เวลา:12:07:14 น.  

 
เยอะเนอะ


โดย: แอมม์เด็กกอม IP: 1.1.175.227 วันที่: 26 มิถุนายน 2555 เวลา:14:47:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.