รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
ละครหลวงในรัชกาลที่ ๕


ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์

เดิมทีมิได้มีละครหลวงในพระบรมมหาราชวัง ในตอนต้นรัชกาล คงมีแต่ตัวละครสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๔ ครั้งได้ช้างเผือกเป็นช้างด่างจากเชียงใหม่ ชื่อ พระเสวตวรวรรณ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ ก็ยังไม่มีละครหลวงเล่นสมโภชตามประเพณี จนกระทั่งได้ช้างเผือกที่ ๒ จากนครศรีธรรมราช ชื่อ พระมหารพีพรรณคชพงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๓ จึงได้สมโภชพร้อมกัน
การสมโภชช้างเผือก ปลูกโรงสมโภชที่ท้องสามหลวง เรียกว่า สมโภชโรงนอก มีการมหรสพต่างๆ ให้ประชาชนทั่วไปได้ดู เสร็จจากการสมโภชโรงนอกแล้ว นำช้างเผือกไปในโรงช้างต้นมีการสมโภชในพระบรมมหาราชวัง เรียก สมโภชใน ซึ่งมีละครหลวงแสดง
ละครหลวงในครั้งนี้ แสดงเรื่องสังข์ทอง โดยใช้ตัวละครข้าวของบทเดิมครั้งรัชกาลที่ ๒ แสดง ได้แก่ คุณบัว เป็นท้าวสามนต์ คุณท้าววรจันทร์มาลัย เป็นพระสังข์ คุณขำเป็นเจ้าเงาะ คุณจาดล่าสำเป็นเขยใหญ่ คุณองุ่น สีดา เป็นนางมณฑา คุณเอี่ยม บุษบา เป็นนางรจนา คุณขำ บาหยัน เป็นหัวหน้านางทั้งหก นอกนั้นใช้ตัวละครในรัชกาลที่ ๔
ละครหลวงไม่ได้แสดงเพื่อความบันเทิงในในพระนิเวศน์อย่างแต่ก่อน เพียงจัดแสดงในพระราชพิธีสำคัญๆ เท่านั้น ส่วนงานโสกันต์และงานอื่นๆ โปรดให้ละครข้างนอกเข้าไปแสดงถวาย เช่น ละครพระยาราชสุภาวดี (เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง) และละครพระยาอินทรเทพ (พระยาพิชัยสงคราม) เป็นต้น ละครหลวงได้แสดงในงานพิเศษเพียง ๓ ครั้งในรัชกาลนี้ คือ งานสมโภชช้างเผือกใน พ.ศ.๒๔๑๓ ดังกล่าวแล้วหนึ่งครั้งและสมโภชพระเสวตสุวภาพรรณ์ ใน พ.ศ.๒๕๑๕ อีกหนึ่งครั้งฉลองกรุงเทพมหานคร ใน พ.ศ.๒๕๒๕ หนึ่งครั้ง ในครั้งนี้โปรดเกล้าให้ครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ หัดตัวละครขึ้นใหม่ทั้งชุด แสดงเรื่องอิเหนาตอนเข้าเฝ้าท้าวดาหา จนถึงลมหอบ ณ โรงละครที่ปลูกขึ้นหน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ละครหลวงได้แสดงเป็นครั้งสุดท้ายในงานสมโภชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประเทศยุโรปเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๐ และเนื่องจากผู้แสดงเป็นผู้สูงศักดิ์ จึงโปรดให้แสดงเป็นการภายในโดยปลูกโรงละครในสวนศิวาลัย ริมประตูแถลงราชกิจ แสดงเรื่องอิเหนาตอนเข้าเฝ้าท้าวดาหา และตอนบวงสรวงขับรำเมื่อใช้บน


ละครหลวงในรัชกาลที่ ๖

ละครหลวงนี้มีทั้งละครผู้หญิงของหลวงและละครผู้ชายของหลวง และให้สังกัดอยู่ในกรมมหรสพ
๑. ละครผู้หญิงของหลวง หรือละครหลวงฝ่ายหญิงมีขึ้นใน พ.ศ.๒๔๕๗ โดยที่เจ้าพระยารามราฆพ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายคณะละครผู้หญิงของท่าน ซึ่งมีมารดาของท่าน คือ พระนมทัด พึ่งบุญ ณ อยุธยา เป็นผู้จัดการ ละครผู้หญิงของหลวงแสดงในงานพระราชพิธีต่างๆ ตามอย่างโบราณราชประเพณี
๒. ละครผู้ชายของหลวง หรือละครหลวงฝ่ายชาย มีขึ้นใน พ.ศ.๒๔๕๘ เนื่องจากบรรดามหาดเล็กต่างหัดโขนแสดงได้ดีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยานัฏกานุรักษ์ครูพระนางและพระยาพรหมภิบาล ครูยักษ์ หัดละครในขึ้นโรงหนึ่งแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอิเหนาในพระราชพิธีต่างๆ เช่นกัน

ละครในละครนอกแบบหลวงรัชกาลที่ ๒
ในรัชกาลที่ ๖ บรรดาละครรำทั้งละครในและละครนอกแบบหลวงรัชกาลที่ ๒ ซึ่งแสดงเป็นเกียรติยศมีอยู่น้อยโรง อาทิ คณะละครวังสวนกุหลาบของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ผู้ทรงสนับสนุนดนตรีไทยและนาฏยศิลป์ไทย มีศิลปินสำคัญคือ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี คุณครูลมุล ยมะคุปต์ คุณครูเฉลย ศุขะวณิช ฯลฯ ท่านเหล่านี้ต่อมาได้เป็นคุณครูนาฏยศิลป์ กรมศิลปากร ต่อมาทรงยกคณะละครให้พระอนุชา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งทรงจัดแสดงละครในละครนอกแบบหลวงต่อมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๒ จึงทรงเปลี่ยนเป็นละครดึกดำบรรพ์ ละครรำกิตติมศักดิ์อีกโรงหนึ่งคือ คณะละครของเจ้าพระยารามราฆพ ซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๖ ให้เป็นนละครหลวงเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ ดังกล่าวแล้ว กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติทรงมีละครรำแสดงเป็นการส่วนพระองค์ ต่อมาทรงจัดแสดงแบบละครร้อง นอกจากนี้ยังมีละครของพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์และคณะอื่นๆ อีกบ้าง แต่ละครในละครนอกแบบหลวงคงเป็นสิ่งที่พ้นสมัยเชื่องช้า หัดให้ได้ดีต้องใช้เวลานาน คนดูต้องมีรสนิยมสูงทั้งวรรณศิลป์ ดุริยางคศิลป์ นาฏยศิลป์และทัศนศิลป์ ซึ่งคนทั่วไปสนใจศิลปะร่วมสมัยเช่นละครร้องกันมากกว่า


นาฏยศิลป์ไทยในรัชกาลที่ ๗

ภาพของนาฏยศิลป์ไทยในรัชกาลที่ ๗ มักถูกมองว่าเป็นภาพแห่งการล่มสลาย เพราะกรมมหรสพถูกยุบใน พ.ศ.๒๔๖๘ หลังจากรัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคตได้ไม่นาน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลที่กะทันหันและรุนแรงจนศิลปินข้าราชบริพาร นักเรียน ตั้งตัวไม่ทัน ภาพนั้นจึงเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าส่วนที่ถูกกระทบมากที่สุด คือ กรมโขน ซึ่งถูกปลดออกหมด ส่วนข้าราชการกรมปี่พาทย์และกองเครื่องสายฝรั่งหลวงยังคงได้รับราชการเป็นบางคน ข้าราชการกรมโขนบางคนได้รับการช่วยเหลือให้ทำงานในตำแหน่งอื่นๆ ในกระทรวงวังพอให้ยังชีพอยู่ได้ และประมาณ ๕ เดือนต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๖๙ งานมหรสพก็เริ่มต้นขึ้นใหม่อีกครั้งในสังกัดกองมหรสพเพื่อข้าราชการด้านนาฏยศิลป์ที่จำเป็น ครูผู้ใหญ่ที่เป็นหลักของนาฏยศิลป์ ในแผ่นดินขณะนั้นก็ได้กลับเข้ามารับราชการต่อเพื่อสืบสานนาฏยศิลป์ไทยอีกครั้ง
เมื่อพิจารณาภาพรวมของนาฏยศิลป์ไทยในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดก็จะพบนาฏยศิลป์บรรดาศักดิ์และนาฏยศิลป์เชลยศักดิ์ หรือเอกชนรับจ้างยังมีอยู่หลายราย และน่าจะมีคุณภาพดี เพราะเมื่อเริ่มมีโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ขึ้นสอนนาฏยศิลป์ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ นอกจากมีคุณครูจากองมหรสพแล้วยังมีครูจากสำนักอื่นๆ มาร่วมงานด้วยหลายท่าน
ผู้วิจัย วินิจฉัยว่า การยุบกรมมหรสพในรัชกาลที่ ๗ กระทบกรมโขนโดยตรง และโดยเฉพาะไม่ได้มีผลถึงแก่ทำให้นาฏยศิลป์ล่มสลายดังที่เข้าใจกัน และเพื่อสนับสนุนข้อวินิจฉัยดังกล่าว ผู้วิจัยได้ลำดับเหตุการณ์สำคัญๆ โดยย่อมาแสดงให้เห็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการบริหารและการจัดการงานมหรสพจากงานในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นงานในระบอบประชาธิปไตย หรือจากกรมมหรสพสู่กรมศิลปากร ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยความยากลำบากตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ สภาพวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้ทรงต้องตัดทอนค่าใช้จ่ายในแผ่นดินลงเป็นอันมาก ทำให้ต้องทรงลดจำนวนข้าราชการ ลดหน่วยงาน รวมหน่วยงานเพื่อให้งบประมาณสมดุล พระองค์จึงทรงพิจารณาว่า โรงเรียนพรานหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกหัดโขนละครและให้การศึกษาวิชาสามัญ ซึ่งนักเรียนได้รับอุปการะค่าที่อยู่ เสื้อผ้า อาหาร ค่าเล่าเรียน ค่าเบี้ยเลี้ยง นั้น “เปลืองเงินมากนักในเวลาขาดแคลน” และ “ไม่สู้จะปรากฏเป็นล่ำเป็นสัน” จึงโปรดให้ยุบเลิกในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๘ เพียง ๓๕ วัน หลังจากที่รัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคต นับว่ากะทันหันสำหรับนักเรียน ในส่วนกรมมหรสพนั้นโปรดให้โอนข้าราชการในสังกัดไปกระทรวงวังเท่าที่จำเป็น คือ ข้าราชการสายปี่พาทย์ เครื่องสายฝรั่งหลวง และช่างบางคน ส่วนกรมโขนนั้นยุบเลิกโดยปลดข้าราชการทั้งหมด และผู้วิจัยเข้าใจว่าหมายถึงกองรำโคมด้วย จำนวนข้าราชการกรมโขนดูจากทำเนียบนามพบว่า มีผู้บังคับ ๗ คน ครูและนักรำตัวดี ๒๐ คน พนักงานเจรจา ๒ คน จำอวด ๔ คน กองรำโคม ๒ คน กองคลังเครื่อง ๒ คน แผนกรักษาโรงโขนหลวง ๒ คน นับทั้งหมดได้ ๓๙ คน เป็นครูและศิลปินเพียง ๒๙ คน ในจำนวนนี้ เจ้าพระยาวรวงศ์พิพัฒน์เสนาบดีกระทรวงวังขณะนั้นเห็นว่าหากปลดครูและศิลปินโขนออกจากราชการจนหมด นาฏยศิลป์โขนละครของหลวงอาจสูญ จึงใช้วิธีให้พวกโขนไปทำงานอื่นๆ ในกระทรวงวังเท่าที่จะช่วยได้
และเพียง ๕ เดือนต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๖๘ รัชกาลที่ ๗ ทรงเห็นว่างานนาฏยศิลป์ยังจำเป็นในกิจการของหลวง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวรวงศ์พิพัฒน์ ตั้งกองมหรสพขึ้นและเรียกพระยานัฏกานุรักษ์กลับเข้ารับราชการเป็นหัวหน้ากองและดูแลงานนาฏยศิลป์ หลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย และพระเจนดุริยางค์เป็นหัวหน้าดุริยางค์สากล ครั้งถึงปี พ.ศ.๒๔๗๐ โปรดเกล้าฯ ให้คุณหญิงนัฏกานุรักษ์ กลับเข้ารับราชการเป็นครูละครหลวงอีกครั้ง ล่วงมาถึงปี พ.ศ.๒๔๗๒ กองมหรสพขาดคนรุ่นใหม่ออกแสดงในงานราชการ จึงเปิดรับนักเรียนชายหญิงเข้ามาหัดโขนละคร ดนตรี เป็นการเฉพาะ ไม่มีการสอนวิชาสามัญอย่างโรงเรียนพรานหลวง นักเรียนเหล่านี้ได้แก่ อาคม สายาคม อร่าม อินทรนัฏ กรี วรศริน ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร ณ อยุธยา สมพงษ์ พงษ์มิตร เดช ปัญญาพล และเอื้อ สุนทรสนาน นักเรียนโขนละครถูกส่งตัวไปฝึกตามสถานที่ต่างๆ พระ นาง ไปฝึกที่เรือนไทยวังสวนกุหลาบ ยักษ์ ลิง ฝึกที่บ้านเจ้าพระยาวรวงศ์พิพัฒน์ ถนนพระอาทิตย์ ส่วนเด็กผู้หญิงฝึกที่โรงเรียนท้ายวัง ในพระบรมมหาราชวัง นักเรียนชุดนี้ได้ออกแสดงเป็นครั้งแรกใน “โขนนั่งราว” บริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมในปี พ.ศ.๒๔๗๖ และในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘ กองมหรสพ จึงโอนมาสังกัดกรมศิลปากร
สำหรับกรมศิลปากรเดิมตั้งมาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๖ ก็ถูกยุบโดยโอนไปรวมกับกับราชบัณฑิตยสภา ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๙ มีชื่อรียกว่า ศิลปากรสถาน ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๗ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมศิลปากรขึ้นในกระทรวงธรรมการ มี ๔ กอง คือ กองศิลปวิทยาการ กองประณีตศิลปกรรม กองสถาปัตยกรรม กองพิพิธภัณฑ์และโบราณคดี กองศิลปวิทยาการ แบ่งเป็น ๔ แผนก แผนกวรรณคดี แผนกโบราณคดี แผนกละครและสังคีต แผนกวาที ผู้ที่คิดและร่างพระราชกฤษฎีกรมศิลปากรใหม่นี้คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น ซึ่งเปิดช่องให้กองมหรสพมาสมทบได้โดยสะดวก
ในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๘ ได้มีคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ คือ พระสารสาสน์ประพันธ์ให้ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ กิจการด้านการแสดงและการศึกษาโขนละครก็เริ่มเป็นปึกแผ่นถาวรอีกครั้งหนึ่งและในช่วง พ.ศ.๒๔๖๘ ที่ยุบกรมมหรสพและโรงเรียนพรานหลวงถึง พ.ศ.๒๔๗๘ ที่มีโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ขึ้นในกรมศิลปากรกระทรวงธรรมการมีระยะขาดตอนของนาฏยศิลป์ไทยในราชการเพียง ๕ เดือน
นอกจากนี้ยังมีข้อยืนยันว่าสภาพนาฏยศิลป์ไทยนอกราชสำนักมิได้ถูกกระทบกระเทือนจากการุบกรมมหรสพก็คือ เมื่อเริ่มกิจการโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ได้มีคุณครูจากสำนักละครบรรดาศักดิ์ได้มารับราชการด้วย เช่น ผัน โมรากุล ยอแสง ภักดีเทวา และสะอาด อัมผลิน จากคณะละครเจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ลมูล ยมะคุปต์ ตากคณะละครวังเพ็ชรบูรณ์และวังสวนกุหลาบ มัลลี คงประภัศร์ จากละครพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ หม่อมต่วน ภัทรนาวิก จากละครเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ และในชั้นหลังมีท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี และเฉลย ศุขะวณิช จากวังสวนกุหลาบอีกด้วย
ในท้ายที่สุดของการวินิจฉัยนี้ ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง ซึ่งผ้ได้ยินได้ฟังมาก็นำไปปะปนกับเหตุการณ์ตอนยุบกรมมหรสพในเบื้องต้น นั่นคือ เมื่อโอนข้าราชการกองมหรสพมาอยู่ในสังกัดกรมศิลปากรแล้วในยุคประชาธิปไตย กิจการด้านโขนละครรำยังมิได้เริ่มขึ้นในทันทีเพราะขาดความพร้อมหลายอย่าง ผู้บังคับบัญชาจึงหาทางให้คนเหล่านั้นมีงานทำประจำในวันและเวลาราชการ จึงได้มีข้าราชการโขนละครบางคนต้องไปเป็นยามบ้าง เสมียนบ้าง เล่นดนตรีสากลบ้าง ทำให้เกิดความคับข้องใจกันมาในตอนนั้น แต่เมื่อธนิต อยู่โพธิ์ หัวหนากองศิลปวิทยาการ จัดโขนสำเร็จในเวลาต่อมาไม่นานเรื่องดังกล่าวก็หมดไป ผู้วิจัยพบว่า เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องราวการยุบกรมมหรสพในรัชกาลที่ ๗ นั้น มักไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่แท้จริงในระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๗ ดังที่ผู้วิจัยแสดงมา แต่มักนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นหลังประมาณ พ.ศ.๒๔๗๘ ไปผนวกเข้ากับเรื่องเม ทำให้ดูประหนึ่งเกิดขึ้นในครั้งกระโน้น เมื่อเป็นเช่นนี้คนในยุคต่อมาย้อมเห็นเป็นภาพแห่งความล่มสลายของนาฏยศิลป์ไทยไปได้เหมือนกัน
เพื่อสนับสนุนข้อวินิจฉัยของผู้วิจัยเพิ่มเติม จึงใคร่ขอนำเอกสารสองชิ้นมาประกอบการพิจารณา ชิ้นแรกเป็นร่างหนังสือราชการ ประกาศระเบียบการและจดหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ซึ่งเปิดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๗ มายังกระทรวงศึกษาธิการ ความว่า
“(๑) พวกโขนละครและดนตรีของกระทรวงวังหลายคนที่กินเงินเดือนเปล่า โดยไม่ทำอะไรเลยนั้น ถ้ามาอยู่ในกรมศิลปากรจะต้องให้ทำงาน เช่น สอนในโรงเรียน เป็นต้น ถ้าผู้ใดไม่ยอมทำงานและจะกินเงินเดือนเปล่าอย่างที่ได้รับจากกระทรวงวังเวลานี้ผู้นั้นจะต้องถูกปลดทันที
(๒) การวางอัตราเงินเดือนทางกระทรวงวังไม่มีกฎเกณฑ์อันใด และทั้งๆ ที่กระทรวงวังร้องว่างบประมาณไม่พอ เมื่อเร็วๆ นี้เองก็ยังมีการขึ้นเงินเดือนมากมาย ถ้าหากโอนมาอยู่กับกรมศิลปากรจะต้องปรับปรุงอัตราเงินเดือนใหม่ อาจมีการเพิ่มการลดสุดแต่เหมาะแก่ความรู้และผลที่ทำให้แก่ราชการไม่ถือเอาการส่วนตัวเป็นประมาณ
(๓) พวกที่โอนมาจะต้องถูกบังคับให้เรียนหนังสือและจรรยาความรู้ทั่วไปตามหลักสูตรของโรงเรียนทั้งจะต้องเป็นผู้นิยมลัทธิรัฐธรรมนูญด้วย”
และชิ้นที่ ๒ เรื่องการเงินของโรงเรียนศิลปากร แสดงให้เห็นข้อแตกต่างในงบประมาณระหว่างกรมมหรสพ กรมวังนอก กับโรงเรียนศิลปากร ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ความว่า
“ปัญหามีว่า เราต้องการเงินอีกเท่าไหร่ สำหรับโรงเรียนศิลปากรเมื่อปีกลายนี้ (พ.ศ.๒๔๗๗) โรงเรียนศิลปากรคงต้องใช้เงินอย่างมาก ๑๗,๐๐๐ บาท ในจำนวนนี้ได้ค่าใช้สอยงบประมาณไว้แล้ว ๔,๖๕๐ บาท เป็นอันว่าโรงเรียนศิลปากรต้องการเงินอีกราว ๑๒,๐๐๐ บาท จำนวนเงิน ๑๒,๐๐๐ บาทนี้ ถ้าได้รับโอนกองมหรสพ และกองวังนอกมาก็ตัดมาเฉลี่ยได้โยง่าย เพราะทั้งกองมหรสพและกองวังนอกมีงบประมาณรวมกันกว่าแสนบาท”
เอกสารหลักฐานทั้งสองชิ้นน่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า บรรดาข้าราชการโขนในกรมมหรสพ เมื่อบรรจุกลับเข้ามาในกองมหรสพก็ยังมีความสุขสบายพอสมควรในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนั้น
โดนสรุปก็คือ การยุบกรมมหรสพ เป็นความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ แต่ทางราชการก็แก้ไขสถานการณ์มาโดยลำดับ ทำให้กิจการด้านการแสดงและการศึกษานาฏยศิลป์ไทยยังคงสืบทอดต่อมาได้ไม่ขาดสายและมีผลกระทบเกิดขึ้นบ้างกับบุคคลจำนวนจำกัดซึ่งไม่ถึงกับทำให้นาฏยศิลป์ไทยล่มสลายอย่างที่เข้าใจกัน





Create Date : 22 เมษายน 2550
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:42:50 น. 6 comments
Counter : 3980 Pageviews.

 


โดย: อ IP: 125.26.73.161 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:14:59 น.  

 


ข อ บ คุ ณ น๊ า ค๊ า

> < ?




โดย: N • U • N • A • IP: 125.26.36.76 วันที่: 18 พฤษภาคม 2551 เวลา:9:23:45 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: *-* IP: 118.172.242.59 วันที่: 15 ธันวาคม 2551 เวลา:9:25:57 น.  

 
้่เาอดามด่อกป ท่ีัราัุคดไัะหาีั


โดย: การีมี IP: 172.168.100.128, 127.0.0.1, 172.168.9.46, 118.175.86.33 วันที่: 13 กรกฎาคม 2554 เวลา:15:51:12 น.  

 
ชอบมากเลยค่ะ ช๊อบชอบ


โดย: กำซัม 5/1 IP: 172.168.100.128, 127.0.0.1, 172.168.9.46, 118.175.86.33 วันที่: 13 กรกฎาคม 2554 เวลา:15:53:07 น.  

 
เลิศค่าาาา💖💖


โดย: GRACE💖💖 IP: 125.27.224.24 วันที่: 31 ตุลาคม 2566 เวลา:9:33:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.