รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
วิวัฒนาการนาฏยศิลป์ไทยในกรุงรัตนโกสินทร์


ในวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตกาลมีการร้องรำทำเพลง และระบำ รำ เต้น เพื่อการบันเทิงและพิธีกรรม อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาจนเกิดเป็นนาฏยศิลป์ขึ้น การพัฒนาส่วนหนึ่งเกิดจากภายในสังคมไทย อีกส่วนหนึ่งมาจากชนชาติเพื่อนบ้านที่มีนาฏยศิลป์รุ่งเรือง เช่น เขมร มอญ หลังจากการพัฒนามาหลายร้อยปี นาฏยศิลป์ไทยในยุคอยุธยาตอนปลายจึงรุ่งเรือง
เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงสถาปนานาฏยศิลป์ไทยในด้านวรรณคดี การแสดง ตำรา กฎเกณฑ์ ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน เป็นเครื่องบันเทิงของทวยราษฎร์ และทำให้เห็นว่าบ้านเมืองมั่นคง
รัชกาลที่ ๒ ทรงพัฒนาละครในให้วิจิตรและทรงคิดละครนอกแบบหลวงขึ้น
รัชกาลที่ ๓ ทรงละเลิกนาฏยศิลป์ในราชสำนักหันไปสนพระทัยการพระพุทธศาสนา แต่ละครกลับเจริญอยู่ภายนอก อีกทั้งมีโนรา แอ่วลาว สวดแขก และงิ้ว ติดตามผู้อพยพเข้ามาแสดงในกรุง
สมัยรัชกาลที่ ๔ กลับมามีละครผู้หญิงของหลวงอย่างเดิมด้วยโปรดให้ผู้หญิงแสดงละครได้ ไม่หวงห้าม ละครผู้หญิงแพร่หลายเพราะคนนิยมดูผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีการจ้างเหมาการแสดงในวิกโรงบ่อนทั่วกรุงเพื่อดึงดูดลูกค้า อนึ่ง วรรณคดี ดนตรี นาฏยศิลป์ของชนหลายชาติหลายภาษาที่ตั้งรกรากในกรุงเทพฯ ทำให้การเล่นออกภาษาแพร่หลาย การออกภาษาเป็นปัจจัยให้เกิดละครพันทางซึ่งเป็นจุดเริ่มการแตกตัวของนาฏศิลป์ไทย
สมัยรัชกาลที่ ๕ มีความเจริญทางสังคม เศรษฐกิจ การปกครอง การสาธารณูปโภค และศิลปวิทยาการทางตะวันตก ทำให้มีนาฏยศิลป์ไทยรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมาก คือ ละครพูด ละครพูดสลับลำ ละครดึกดำบรรพ์ ลิเก ละครร้อง เสภารำ และเพลงทรงเครื่อง นาฏยศิลป์ในรัชกาลนี้กลายเป็นนาฏยพาณิช จึงมีเนื้อหาและรูปแบบหลากหลายตามรสนิยมคนดู ภาพยนตร์กับดนตรีเริ่มมีเข้ามาประปราย
รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้ละครเพื่อพัฒนาอุดมการณ์ของชาติ ขณะเดียวกันก็ทรงทำนุบำรุงนาฏยศิลป์ดั้งเดิมโดยเฉพาะโขน ส่วนละครนอก ละครใน ละครดึกดำบรรพ์ ยังมีคณะละครบรรดาศักดิ์แสดงอยู่บ้าง ละครร้อง และลิเกนั้น แสดงออกภาษามากขึ้นและเป็นยุคทองของละคร ๒ ชนิดนี้ การแสดงอื่น ๆ ได้รับความกระทบกระเทือนจากการปิดบ่อนการพนันและการแย่งคนดูของภาพยนตร์
สมัยรัชกาลที่ ๗ เกิดภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจทำให้ต้องลดการสนับสนุนนาฏยศิลป์ไทยในราชการลง แต่ละครร้องยังคงพัฒนาต่อไปเป็นละครเพลงด้วยวงดนตรีสากลและเพลงไทยสากล รัชกาลที่ ๗ สนพระทัยดนตรีไทย ดนตรีสากล และภาพยนตร์ไทย จึงโปรดให้สร้างโรงภาพยนตร์ทันสมัยขึ้นฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี มีการตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ขึ้นในกรมศิลปากร และเชิญครูนาฏยศิลป์ฝีมือดีจากที่ต่าง ๆ มาถ่ายทอดนาฏยศิลป์ไทยให้อนุชนได้อนุรักษ์และพัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน.
ผู้เขียน : ศ. ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวิจิตรศิลป์ สาขาวิชานาฏกรรม
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๕๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗




Create Date : 27 สิงหาคม 2550
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 18:07:47 น. 0 comments
Counter : 7317 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.