รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
กินยาหม้อเก่า



ธรรมจักร พรหมพ้วย

จ่ะ โจ้ง จ่ะ ทิง โจ้ง..ง..ง ทิง....................จ่ะ โจ้ง จ่ะ ทิง โจ้ง..ง..ง ทิง
เสียงนี้คงเป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนที่เคยหัดเรียนรำไทยกันทุกคน ชวนให้นึกถึงความหลังเมื่อเริ่มหัดเรียนรำ ใครจะรู้บ้างว่า ด้วยเสียงนี้ได้ผลิตนักรำและนาฏศิลปินฝีมือเยี่ยมจำนวนมากมาแล้ว เสียงนี้คือเสียงท่องจังหวะตะโพนของเพลงช้า หลายคนหวนนึกถึงความลำบากและแสนสุดทรมานเมื่อครูดัดไม้ดัดมือให้ทำท่านั้นท่านี้ให้สวย ให้ได้สัดส่วนที่งามตามมาตรฐาน นึกถึงเสียงของไม้เรียวที่ตีพื้น ทำให้เรากระทบจังหวะให้ลงตามเพลง และไม้เรียวนั้นหวนมาตีเราเมื่อเรารำผิดหรือไม่ตั้งใจรำ
การหัดรำด้วยการเริ่มจากการเรียนเพลงช้าเพลงเร็วนี้ เป็นคุณประโยชน์มหาศาลสำหรับผู้ที่ต้องการจะรำให้ได้ดี เพราะประกอบไปด้วยแม่ท่าของการรำแทบจะทุกประเภท มีเทคนิคแพรวพราวที่ใช้สำหรับเชื่อมท่ารำหลากหลายวิธีการ มีความยาวเนิ่นนานพอที่จะฝึกความอดทนแข็งแรงของร่างกาย มีทั้ง “ท่า” และ “ที” มีจังหวะที่สม่ำเสมอชัดเจนเหมาะแก่ผู้เรียนที่ยังบอดจังหวะและคร่อมจังหวะ ครูผู้ใหญ่จึงมักเคี่ยวเข็ญให้ศิษย์มีความเข้าใจแตกฉานในการรำเพลงช้าเพลงเร็วนี้ เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรำในกระบวนที่สูงขึ้นไป รวมทั้งสามารถนำไปใช้กับการแสดงในรูปแบบที่เป็นละคร ได้เป็นอย่างดีด้วย
ผู้ที่มิได้เริ่มเรียนด้วยเพลงช้าเพลงเร็วนี้ อาจเปรียบได้ว่าไม่เคยได้กินยาหม้อใหญ่ ที่ทั้งขมทั้งมากมาย แต่ก็เปี่ยมคุณภาพพอที่จะสามารถเยียวยารักษาทุกโรคได้ แม้รำในขั้นสูงหลายชุดก็ยังหนีไม่พ้นท่าพื้นฐานที่อยู่ในเพลงช้าเพลงเร็วนั่นเอง ปัจจุบันตามโรงเรียนสอนรำเอกชนหรือสถาบันนาฏศิลป์เอกชนบางแห่งมิได้ใส่ใจในการถ่ายทอดกระบวนท่ารำชุดนี้ ด้วยเห็นว่าเป็นของน่าเบื่อหน่ายและยืดยาวเกินไปกว่าที่ดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ ที่เสียเงินเข้ามาเรียนได้ เด็กและผู้ปกครอง (ผู้เสียเงิน) ต่างก็อยากให้รำได้มากชุด หลายเพลง หลากระบำ เพื่อเน้นความสามารถพิเศษที่จะเกิดขึ้นกับคุณลูก พอที่จะพาไปอวด ไปออกงานได้บ้าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกใครที่ “รำฉุยฉาย” ได้ มักได้รับการยกย่องว่ารำได้เลอเลิศกว่าลูกคนอื่นเสมอ-ไม่รู้ว่าทำไม) เมื่อจะหัดเด็กให้รำเพลงช้าเพลงเร็ว ทั้งครูและศิษย์ต่างร้อง “ยี้” เหมือนเข็ดขยาดจากประสบการณ์แสนขมขื่นในอดีต (ของครู) และภาพอันน่าสะพรึงกลัวต่อความยาวและยาก (ของศิษย์) แม้ว่าเพลงช้าเพลงเร็วที่เรียนกันในสถาบันเอกชนนี้โดยมากก็เป็นแบบที่เรียกว่า “อย่างตัด” คือรำไม่เต็มกระบวนเหมือนที่นักเรียนนาฏศิลปต้องฝึกหัด (เพลงช้ายาวประมาณ 25 นาที เพลงเร็วยาวประมาณ 20 นาที หากลองรำต่อเนื่องจะรู้สึกว่าเมื่อยอย่างอักโขและทรมานมาก) แต่ก็ยังไม่ใคร่มีสอนกันเป็นกิจลักษณะ คงเน้นการสอนเชิงปริมาณมากกว่าที่จะเน้นคุณภาพตามแบบอย่างการฝึกหัดในอดีต
การเรียนรู้และฝึกหัดนาฏยศิลป์ไทยจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและพยายามปฏิบัติตามแบบหรือขนบที่ยึดถือเป็บแบบแผนสืบกันมา นอกจากนี้ยังต้องขวนขวายในการหาเทคนิคหรือวิธีการที่จะให้ท่ารำนั้นออกมาสวยงามได้สัดส่วนตามองค์ประกอบศิลป์และเหมาะกับรูปร่างของตน โดยนักรำที่ดีจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนด้วยความมานะพยายาม ไม่ย่อท้อ และรู้จักสังเกตจากครูที่ทำการถ่ายทอดให้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ดังที่คุณครูเฉลย ศุขะวณิช ได้กล่าวไว้ว่า “เราจะต้องสังเกตเวลาครูจับท่าให้ว่าท่านั้น ท่านี้อยู่ในระดับใด เราจะต้องจำ และถ้ามีเวลาว่างก็นำมาฝึกหัด และนอกจากนี้จะดูจากจุดบกพร่องของเพื่อนแต่ละคน แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อให้ท่ารำสวยงามยิ่งขึ้น” ดังนั้นการเรียนรำให้เกิดสัมฤทธิผลเพื่อการเป็นนักรำที่ดีนั้นสามารถฝึกหัดกันได้ เพราะคงไม่มีสิ่งใดที่เกินความสามารถของมนุษย์เป็นแน่แท้
การฝึกหัดนั้นควรเริ่มจากการเตรียมพร้อมร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง การมีสัดส่วนสรีระที่ลงตัวย่อมน่าดูกว่าสรีระที่ไม่เหมาะสมกับการเรียนรำหรือเต้น ดังเช่นนักบัลเล่ต์เมื่อจะเริ่มเรียนนั้น จะมีแพทย์ทำหน้าที่คัดเลือกนักเรียนที่มีสรีระสวยงามสมบูรณ์ตามแบบอย่าง เช่น มีความสูงโปร่ง ไหล่ลู่ กระดูกสันหลังตรง เป็นต้น การคัดเลือกเช่นนี้จะเริ่มกระทำเมื่อหัดเรียน หากผู้ใดมีสรีระที่ไม่สามารถที่จะเรียนได้แล้วจะถูกตัดสิทธิ์ เช่นเดียวกันกับรำไทย เมื่อจะเริ่มเรียนนั้น จำเป็นที่เราจะต้องรู้ว่าสรีระของเรานั้นเหมาะสมที่จะเรียนในบทบาทใดได้ เช่น พระ นาง ยักษ์ หรือลิง โดยมากแล้วครูจะเป็นผู้กำหนดให้นักเรียน โดยครูจะตรวจดูลักษณะใบหน้า ความสูง รูปร่าง หากผู้ที่มีความสูงโปร่ง ใบหน้ายาวรูปไข่ เมื่อแต่งหน้าแล้วมีความงามพอใช้ ก็จะถูกให้ฝึกฝนในบทตัวพระ ส่วนตัวนางก็จะเลือกผู้ที่มีใบหน้ากลมรี สวยงามเหมาะกับที่จะใส่มงกุฎ รัดเกล้า หรือกระบังหน้า ผู้ที่มีรูปร่างหน้าตาดีมักได้รับการเอาใจใส่จากครูเป็นพิเศษ เพราะครูมุ่งหวังที่จะให้หัดเพื่อเป็นตัวเอก หากแต่การมีหน้าตาที่งดงามโดยปราศจากการขยันฝึกซ้อมและเอาใจใส่ในกระบวนท่ารำให้สวยงาม บุคคลเหล่านั้นก็ไม่อาจจะเป็นตัวละครเอกที่สมบูรณ์ได้เลย
เมื่อครูพิจารณาสรีระตามแต่บุคคลแล้ว ก็จะแยกตามบทบาทเป็นหมวดเพื่อเตรียมความพร้อมทางร่างกาย เพื่อให้ได้สัดส่วนการรำที่งดงาม โดยบังคับกล้ามเนื้อหรือกระดูกบางส่วนให้ผิดรูปไป รวมทั้งเป็นการบริหารเพื่อให้การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีพลัง สำหรับนักเรียนที่ฝึกหัดในบทบาทตัวพระและตัวนางครูก็จะให้เริ่มจากท่าพื้นฐาน เช่น การดัดมือ ดัดแขน ประเท้า ยกเหลี่ยม ก้าวเท้า กระดกเท้า ฯลฯ แม้กระทั่งส่วนที่ละเอียดอ่อนมากๆ เช่น การจีบหรือตั้งวงให้ได้ระดับตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทตัวละครที่ฝึกหัด แล้วจึงให้หัดรำเพลงช้าเพลงเร็วโดยให้ร้อง “จ่ะ โจ้ง จ่ะ ทิง โจ้ง...ทิง” แล้วนั่งกระทบจังหวะให้ลงตามที่ครูตบมือหรือตีไม้เรียวลงพื้น หากทำไม่ได้ ครูก็จะจับ จะดัด จะแก้ จะหยิก และจะตี ตามความสามารถของศิษย์แต่ละคน บ้างก็ถึงกับมีน้ำตานองหน้า บ้างก็ยืนขาสั่นเพราะทนเมื่อยล้าไม่ไหว เมื่อครูเห็นว่ารำได้ที่แล้วก็หัดให้รำกับทำนองเพลงสร้อยสน ก็ต้องร้อง “นอย นิ หน่อย นอย นอย หน่อย นอย นิ นอย นิ หน่อย..........” ไปเรื่อย ปากก็ร้อง มือก็รำ น้ำตาก็ไหล ช่างแสนเป็นการฝึกหัดที่ใช้ความพยายามมากเสียจริงๆ เมื่อต่อท่ารำเพลงช้าได้ทั้งหมดแล้ว ก็จะต้องรำเข้ากับปี่พาทย์ (สมัยนี้ใช้เทปหรือซีดีแล้ว) จบจากเพลงช้าก็ต้องต่อเพลงเร็ว ร้อง “ตุ๊บ ทิง ทิง” เพื่อรู้จักจังหวะถัดเท้า ลักคอ กดเอว ยักไหล่ ฯลฯ กว่าจะผ่านกระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมด ใช้เวลานานหลายเดือน บ้างก็เหยียบปี กว่าจะรำได้ชนิดที่เรียกว่าพอดูพอทน หนำซ้ำจบแล้วยังต้องเรียนเพลงเชิดและเสมอที่จะต้องใช้เมื่อแสดงละครอีก
สุวรรณี ชลานุเคราะห์ ศิลปินแห่งชาติผู้มากด้วยความสามารถด้านละครรำ ได้กล่าวถึงอรรถประโยชน์ของเพลงช้าเพลงเร็วไว้ว่า “หากศิลปินผู้ใดไม่มีความแม่นยำในท่ารำต่างๆ ของเพลงช้าเพลงเร็วแล้ว เขาผู้นั้นจะเป็นผู้พิการในการแสดงไปจนตลอดชีพ.....นับว่าชีวิตเต้นกินรำกินของดิฉัน เป็นตัวเป็นตนมาได้ถึงป่านนี้ ก็เพราะดิฉันยึดถือท่ารำจากเพลงช้าเพลงเร็ว เป็นหัวใจสำคัญยิ่งนั่นเอง”
สำหรับนักเรียนหัดรำใหม่ ก็ขออย่าได้ท้อใจกับการฝึกฝนเพลงช้าเพลงเร็วนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็น “ยา” แล้ว ก็คงไม่มีใครอยากกินเท่าใดนัก ต่อเมื่อรู้สรรพคุณที่แท้ของมันแล้วก็จะจดจำยาหม้อนี้ไปไม่รู้ลืม สำหรับผู้ที่จะก้าวสู่การเป็นนักรำอย่างเต็มตัว ต่อให้เราจะรำได้มากมากหลายชุดเพียงใด ก็ขออย่าให้หลงลืมใน “ยาหม้อเก่า” นี้ ควรหมั่นฝึกฝนให้คล่องตัวอยู่เป็นนิจ อย่างน้อย เมื่อคุณป่วยไข้ท้อใจจากการรำเมื่อใด เพียงการได้ระลึกถึงวันแรกที่เรามีความตั้งใจจะเรียนรำและเริ่มหัดรำจากเพลงช้าเพลงเร็วนี้ จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้อย่างนึงไม่ถึงทีเดียว
“ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโศก ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย”



Create Date : 21 เมษายน 2550
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:13:13 น. 9 comments
Counter : 3280 Pageviews.

 
เพลงช้า


โดย: เม แอน IP: 125.26.86.93 วันที่: 11 ตุลาคม 2550 เวลา:14:07:40 น.  

 
ช่าย เพลงช้า เพลงเร็ว

เนี่ยต้องฝึกอย่าให้ลืมเลย


เพราะเป็นแม่ท่าของทุกเพลง ทุกระบำ มาจากเพลงนี้


โดย: คนรู้ IP: 124.120.2.8 วันที่: 28 มีนาคม 2551 เวลา:14:51:43 น.  

 
เคยรำอยู่ แต่ผ่านไปสองปี ลืมหมดเรย


โดย: little_l3ear IP: 99.249.32.170 วันที่: 5 เมษายน 2551 เวลา:5:40:17 น.  

 
อยากได้ท่าประกอบ


โดย: คน IP: 202.28.35.3 วันที่: 8 กรกฎาคม 2551 เวลา:12:51:31 น.  

 
เด็กใหม่เล่นได้ครึ่งเพลงครูนั


โดย: พลอย IP: 124.121.98.220 วันที่: 30 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:10:43 น.  

 
เด็กใหม่เล่นได้ครึ่งเพลงครูนัดสอน

จาก ร.ร วัฒนพฤกษา ห้อง ป.5/3


โดย: อนันตญา พลอย IP: 124.121.98.220 วันที่: 30 กรกฎาคม 2551 เวลา:19:17:29 น.  

 
โดนครูดัดมือแทบตายเกือบร้องไห้เนะ


โดย: พลอย IP: 124.121.100.141 วันที่: 3 สิงหาคม 2551 เวลา:17:51:33 น.  

 
ไม่เคยลืมสมัยเรียนรำ ตอนนี้ก็สอนรำ


โดย: patong IP: 124.121.45.224 วันที่: 1 เมษายน 2552 เวลา:6:18:20 น.  

 
จำไม่ได้เลยเนี้ยนิแย่ค่ะ


โดย: ศิลป์นาฎศิลปค่ะ IP: 58.9.92.225 วันที่: 10 มกราคม 2553 เวลา:0:28:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.