รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
ละครหลวงในรัชกาลที่ ๔


พระราชกรณียกิจอันสำคัญที่ควรกล่าวถึงในเรื่องการอนุรักษ์และการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย คือการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หัดละครผู้หญิงกันได้โดยทั่วไป และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทพระราชนิพนธ์ไปเล่นได้
เมื่อเริ่มรัชกาล ยังไม่มีละครหลวง เพราะละครหลวงเลิกไปเสียแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงรัชสมัยของพระองค์มิได้ทรงรังเกียจ ดังนั้นสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี จึงทรงหัดละครเด็กผู้หญิงในพระบรมมหาราชวังขึ้นชุดหนึ่ง แต่ไม่ทันได้ออกแสดง เนื่องจากสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีได้สิ้นพระชนม์ก่อน ต่อมาเมื่อทรงรับช้างเผือก (คือพระวิมลรัตนกิริณี) สู่พระบารมี ใน พ.ศ. 2396 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมละครของสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ฝึกหัดเป็นละครหลวงได้ออกโรงเล่นสมโภชช้างเผือกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2397
ในรัชกาลนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าด้วย ละครผู้หญิง พ.ศ. 2398 โปรดอนุญาตให้เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละครผู้หญิงขึ้นได้ แต่ได้ขอจำกัดสิทธิ์บางประการไว้สำหรับละครหลวง เช่นรัดเกล้ายอด เครื่องแต่งตัวลงยา พานทอง หีบทอง ซึ่งใช้เป็นเครื่องยศ เครื่องประโคมแตรสังข์ และห้ามมิให้บังคับผู้ที่ไม่สมัครใจเล่นละครให้ได้รับความเดือดร้อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 2 58 (หอพระสมุดวชิรญาณ 2465 : 55-56) ความว่า
"...แต่ก่อนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย มีลครผู้หญิงแต่ในหลวงแห่งเดียว ด้วยมีพระราชบัญญัติห้ามมิให้พระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝึกหัดลครผู้หญิง เพราะฉนั้นข้างนอกจึงไม่มีใครเล่นลครผู้หญิงได้ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดลคร แต่ทว่าทรงแช่งชักติเตียนจะไม่ให้ผู้อื่นเล่น ถึงกระนั้นก็มีผู้ลักเล่นเงียบ ๆ อยู่ด้วยกันหลายราย มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ พระราชวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย ผู้ใดเล่นลครผู้ชายผู้หญิงก็มิได้ทรงรังเกียจเลย ทรงเห็นว่ามีลครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้น จะได้เปนเกียรติยศแผ่นดิน เดี๋ยวนี้ท่านทั้งปวงเห็นว่าลครในหลวงมีขึ้นก็หามีใครเล่นลครเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ คอยจะกลัวผิดแลชอบอยู่ การอันนี้มิได้ทรงรังเกียจเลย ท่านทั้งปวงเคยเล่นอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็ให้เล่นไปเถิด ในหลวงมีการงานอะไรบ้าง ก็จะได้โปรดหาเข้ามาเล่นถวายทอดพระเนตรบ้าง จะได้พระราชทานเงินโรงรางวัลให้บ้าง ผู้ใดจะเล่นก็เล่นเถิด ขอยกเสียแต่รัดเกล้ายอดอย่างหนึ่ง เครื่องแต่งตัวลงยาอย่างหนึ่ง พานทองหีบทองเปนเครื่องยศอย่างหนึ่ง เมื่อบททำขวัญยกแต่แตรสังข์อย่างหนึ่ง แล้วอย่าให้ฉุดบุตรชายหญิงที่เขาไม่สมัคเอามาเปนลคร ให้เขาได้ความเดือดร้อนอย่างหนึ่ง ขอห้ามไว้แต่การเหล่านี้ ให้ท่านทั้งปวงเล่นไปเหมือนอย่างแต่ก่อนเถิด"
การที่ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใครก็มีละครผู้หญิงได้ การแสดงละครชายจริงหญิงแท้ เริ่มมีเป็นครั้งแรกในสมัยของพระองค์นี้เอง และเกิดการเปลี่ยนแปลงการเล่นละครซึ่งเดิมเป็นละครผู้ชาย กลายเป็นผู้หญิงเล่นแทบทั่วทั้งเมือง ผู้คนก็ชอบดูละครผู้หญิง ดังนั้นละครผู้หญิงจึงแพร่หลาย เจ้าของละครได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการรับงานละครไว้มาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งภาษีโขน-ละคร เพื่อให้เจ้าของละครได้ช่วยเหลือแผ่นดินบ้าง เรียกว่าภาษีโรงละคร พิกัดที่เก็บภาษีละคร เก็บดังนี้คือ

ละครโรงใหญ่เล่นเรื่องละครใน
เล่นเรื่องรามเกียรติ์ เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 20 บาท
เล่นเรื่องอิเหนา เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 16 บาท
เล่นเรื่องอุณรุท เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 12 บาท
ละครเล่นเรื่องละครนอก
ละครกุมปนี คือเลือกคัดแต่ตัวดีเล่นประสมโรงกัน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 3 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวัน 1 ภาษี 2 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นคืน 1 ภาษี 1 บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 1 บาท 50 สตางค์
ละครเล่นงานเหมา เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นคืน 1 ภาษี 50 สตางค์

ละครหลวง และละครที่เกณฑ์เล่นงานหลวง ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี กับยังมีการเล่นอย่างอื่นรวมอยู่ในภาษีละครอีกหลายอย่าง จะกล่าวไว้ด้วยพอให้ทราบความเป็นมา คือ

โขน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
ละครหน้าจอหนัง เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป เล่นคืน 1 ภาษี 2 บาท 50 สตางค์
ละครชาตรีและละครแขก เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์
เพลง เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
แคน มอญรำ ทวายรำ เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์
กลองยาว เล่นวัน 1 ภาษี 12 สตางค์ครึ่ง
หุ่นไทย เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
หนังไทย เล่นคืน 1 ภาษี 50 สตางค์
งิ้ว เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
หุ่นจีน เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
หนังจีน เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์

การแสดงเบิกโรงละครใน ก่อนที่จะแสดงละครใน จะต้องมีการแสดงชุดเบิกโรงเสียก่อน โดยผู้แสดงละครใน 2 คน แต่งกายยืนเครื่องพระ สวมหัวเทวดาโล้น สองมือกำหางนกยูง (หัวเทวดาที่ไม่มีมงกุฎ) ออกมารำเบิกโรง เรียกว่า รำประเลง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงคิดประดิษฐ์ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง โดยเอาแบบมาจากเครื่องราชบรรณาการ เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการรำเบิกโรง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงการแสดงรำเบิกโรงละครในจากชุดรำประเลง มาเป็นรำดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง โดยใช้ผู้แสดงละครใน 2 คน แต่งกายยืนเครื่องพระ สวมชฏาแทนสวมหัวเทวดาโล้น สองมือถือดอกไม้เงินดอกไม้ทองแทนหางนกยูง แล้วทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องประกอบการรำดอกไม้เงินดอกไม้ทองขึ้นใหม่ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2463 : 1)

“เมื่อนั้น ไทท้าวเทพบุตรบุรุษสอง
สองมือถือดอกไม้เงินทอง ป้องหน้าออกมาว่าจะรำ
เบิกโรงละครในให้ประหลาด มีวิลาศน่าชมคมขำ
ท่าก็งามตามครูดูแม่นยำ เปนแต่ทำอย่างใหม่มิใช่ฟ้อน
หางนกยูงอย่างเก่าเขาเล่นมาก ไม่เห็นหลากจืดตามาแต่ก่อน
คงแต่ท่าไว้ให้งามตามละคร ที่แต่งตนก้นไม่งอนตามโบราณ
รำไปให้เห็นเปนเกียรติยศ ปรากฏทุกตำแหน่งแหล่งสถาน
ว่าพวกฟ้อนฝ่ายในใช้ราชการ สำหรับพระภูบาลสำราญรมย์
ย่อมช่วงใช้ดอกไม้เงินทอง ไม่เหมือนของเขาอื่นมีถื่นถม
ถึงผิดอย่างไปใครจะไม่ชม ก็ควรนิยมว่าเปนมงคลเอย”
ฯ 10 คำ ฯ

ละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
1. เจ้าจอมมารดาวาด เป็นตัวอิเหนา มีชื่อเสียงมาก ร่ายรำได้งดงามทั้งฝีมือและรูปร่าง ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นท้าววรจันทร์ เป็นครู อิเหนา ละครหลวงกรมมหรสพ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นครูพิเศษแก่คณะละครวังสวนกุหลาบ
2. เจ้าจอมมารดาเขียน เป็นตัวอิเหนา เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้หัดละครรำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระราชโอรส) เป็นครูพิเศษให้กับละครวังสวนกุหลาบ กระบวนท่ารำที่ท่านคิดค้นขึ้น คือ ท่ารำของละครพันทางเรื่องพระลอ ท่ารำในละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า (ละครร้องเรื่องแรก) ตอนสาวเครือฟ้าแต่งตัวคุณครูเฉลย ศุขะวณิช ท่านได้จดจำนำมาถ่ายทอดให้กับศิษย์ในวิทยาลัยนาฏศิลป
3. เจ้าจอมมารดาสุ่น เป็นตัววิหยาสะกำ ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเป็นท้าววนิดาวิจาริณี
4. ท้าวชื่น เป็นตัวประสันตา ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอม- เกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเป็นท้าวอินสุริยา
5. คุณสัมฤทธิ์ เป็นตัวจรกา ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
6. เจ้าจอมมารดาสาย เป็นยืนเครื่องชั้นเด็กในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครูละครในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และครูละครคณะละครวังสวนกุหลาบ ได้รับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำของนางละครหลวง อาทิ ท่ารำฉุยฉายสองนาง (รำเบิกโรงที่แต่งขึ้นใหม่ ใน รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
7. คุณลิ้นจี่ เป็นตัวทศกัณฐ์ มีชื่อมาก ไม่มีผู้ใดสู้ได้ทั้งหญิง-ชาย เล่ากันว่า เมื่อท่านถึงแก่กรรม (ในรัชกาลที่ 4) แล้ว ไม่โปรดให้ละครหลวงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ตอนที่มีบททศกัณฐ์ตลอดรัชกาล ท่านเป็นครูละครให้กับเจ้าจอมมารดาวัน
8. คุณเล็ก เป็นตัวนนทุก เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เป็นท้าวโสภานิเวศน์
9. คุณกุหลาบ ธิดาเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เจ้าเมืองสงขลา เป็นตัวทศกัณฐ์นั่งเมือง ได้ไปเป็นครูฝึกละครที่เมืองสงขลาด้วย
10. เจ้าจอมมารดาเอม เป็นตัวนางมะเดหวี เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
11. เจ้าจอมมารดาห่วง เป็นตัวนางจินตะหรา เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
12. เจ้าจอมมารดาทับทิม เมื่อยังเป็นเด็กอยู่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตัว นางแมว ถึงรัชกาลที่ 5 เป็นตัวนางเกนหลงหนึ่งหรัด ได้เป็นเจ้าจอม เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นครูละครคณะวังสวนกุหลาบ กระบวนท่ารำที่สืบทอดมาในปัจจุบัน ท่านได้ถ่ายทอดกระบวนท่าตัวนางเอกทั้งหมดให้กับละครวังสวนกุหลาบ โดยเฉพาะท่านางเมขลานั่งวิมาน ท่านางแมวในเรื่องไชยเชษฐ์
13. คุณลำไย เป็นตัวนางประเสหรัน ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
14. คุณลำไย (น้องคุณลิ้นจี่) เป็นตัวนาง บาหยัน ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
15. คุณอรุน เป็นตัวนางบุษบาชั้นใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นภรรยาพระยาอรรคราชวราทร (เนตร) ได้กลับเข้ามาเป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
16. เจ้าจอมละม้าย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นตัวนางชั้นเด็ก ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นครูละครวังสวนกุหลาบ

ละครสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
1. หม่อมแก้ว เป็นตัวไกรทอง (ศิษย์คุณน้อยงอก) เป็นครูละครท้าวราชกิจวรภัตร (แพ) ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) เป็นครูละครในกรมมหรสพ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เป็นท้าวศรีสุนทรนาฎ
2. หม่อมแย้ม เป็นตัวอิเหนา ได้เป็นครูละครท้าวราชกิจวรภัตร และละครผสมสามัคคี เป็นครูพิเศษให้กับละครวังสวนกุหลาบ
3. หม่อมศิลา เป็นตัวยักษ์ได้เป็นครูละครของเจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์
4. หม่อมแสง เป็นตัวนางจินตะหรา ได้เป็นครูละครเจ้าจอมมารดาเอมวังหน้า
5. หม่อมวัน เป็นตัวนางเอก ได้เป็นครูละครท้าวราชกิจวรภัตร และเป็นครูละคร กรมมหรสพ
6. หม่อมหุ่น เป็นตัวนาง ได้เป็นครูละครท้าวราชกิจวรภัตร

ละครเจ้าจอมมารดาจันทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
เจ้าจอมมารดาจันทร์ หัดละครในพระบรมมหาราชวังโรงหนึ่ง ตัวละครโรงนี้ได้เป็นครูหัดโรงอื่นต่อไปอีกหลายคน
1. กลีบ เป็นตัวนายโรง เป็นภรรยาเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ต่อมาเป็นครูละครผสมสามัคคี
2. ทิม เป็นตัวนางเอก เป็นครูละครพระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็ต
ละครนายทับ เดิมเป็นตัวท้าวล่าสำ (พี่ชายจรกาในเรื่องอิเหนา) เป็นละครกรมหลวงรักษรณเรศร์ ฝึกหัดลูกหลานเล่นเป็นละครนอก สืบมาถึง 3 ชั่วคน คือ นางเอม ธิดานายทับ มารดาพระจัดดุริยางค์ (ป่วน) และพระยาสุนทรเทพระบำ (เปลี่ยน สุนทรนัฎ)

ละครพระยาสีหราชฤทธิไกร (เสือ)
ต่อมาตกเป็นของพระยานรานุกิจมนตรี (เปลี่ยน) ผู้บุตร เล่นต่อมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ

ละครพระยามณเฑียรบาล (บัว)
ต่อมาตกเป็นของธิดาชื่อเกษ เล่นมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ละครขุนยี่สานเสมียนตราวังหน้า บ้านอยู่ที่คลองสะพานหัน เลื่องลือว่าแสดงเรื่องพระอภัยมณี ไม่มีใครสู้ได้

ละครจางวางเผือก
บ้านอยู่ที่ปากคลองตลาดเป็นคู่แข่งกับขุนยี่สานเสมียนตราวังหน้า
ละครนายนวล บุตรเจ้ากรับ ซึ่งรับมรดกละครนอก รับเล่นต่อมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ละครนายเนตร นายต่าย
นายเนตรเดิมเป็นละครคุณหญิงกลีบภรรยาพระยาประจักษ์วรวิไสย นายต่ายเดิมเป็นละครกรมหมื่นภูมินทรภักดี เมื่อทรงเลิกเล่นละครนายต่ายจึงมาผสมโรงกับนายเนตร แล้วถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อเสด็จประทับอยู่ที่ พระตำหนักสวนกุหลาบ
กระบวนเล่นละครโรงนี้ เป็นที่เลื่องลือมา ตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หลังจากท่านทั้งสองสิ้นชีวิต นายปลื้มอยู่วัดอรุณฯ เป็นน้องภรรยานายเนตร ยังคุมพวกละครเล่นต่อมา

ละครชาตรีของหลวง
เป็นละครชาตรีของ ผู้หญิง ทั้งโรง เดิมเป็นละครพระองค์เจ้าปัทมราช พระราชธิดากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสด็จออกไปรักษาพยาบาล เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก (ธิดาเจ้าพระยานครพัฒน์) พระมารดา ที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้ทรงหัดละครขึ้นโรงหนึ่งเล่นเรื่องอิเหนา ครั้นเจ้าจอมมารดาถึงอนิจกรรมแล้ว เสด็จกลับมากรุงเทพฯ พาละครโรงนั้นเข้ามาด้วยแล้วทูลเกล้าฯ ถวายเป็นมรดกแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เล่นเป็นละครชาตรี จึงมีละครชาตรีของหลวงขึ้น

ละครชาตรีของนายหนู
บ้านอยู่สนามควาย (นางเลิ้ง ปัจจุบัน) เล่นอย่างละครโนราชาตรี นครศรีธรรมราช ผิดกันแต่ตัวนายโรงใส่ชฎา ไม่ใส่เทริด ตัวนาง แต่งตัวอย่างละครในกรุง (แต่งแบบละครนอก)
ละครนายเสือ เล่นแบบละครมะย่ง แต่งตัวแบบมลายู ร้องเป็นภาษามลายูแต่เจรจาเป็นภาษาไทย เล่นเรื่อง อิเหนาใหญ่ มาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้เล่นละครได้อย่างเสรี พวกละครจึงเอาบทพระราชนิพนธ์ละครนอกไปเล่น ทำให้แพร่หลาย การหัดละครผู้หญิงเกิดขึ้นมากมายหลายโรง เจ้าของละครต่างแสวงหาเรื่องเล่นละครของตนให้แปลกใหม่กว่าโรงละครอื่น จึงทำให้เกิดบทละครขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก วิวัฒนาการละครในรัชกาลนี้ กล่าวได้ว่าเฟื่องฟูและนับได้ว่าเป็นยุคทองของศิลปินที่เป็นผลสืบเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้




Create Date : 22 เมษายน 2550
Last Update : 22 เมษายน 2550 23:42:04 น. 8 comments
Counter : 35529 Pageviews.

 
ขอบคุณมากนะค่ะ สำหรับข้อมูลดีๆเหล่านี้

ขอบคุณจริงๆค่ะ


โดย: กนกวรรณ สมุทรสาคร IP: 119.42.67.60 วันที่: 11 สิงหาคม 2551 เวลา:16:14:33 น.  

 
ดีครับ


โดย: ครับ IP: 125.27.68.109 วันที่: 2 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:03:08 น.  

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: แนน IP: 61.90.186.234 วันที่: 9 มิถุนายน 2553 เวลา:20:00:31 น.  

 
Thank U


โดย: Zee IP: 110.49.193.18 วันที่: 16 สิงหาคม 2553 เวลา:20:41:28 น.  

 
ขอบคุนข๊ะ


โดย: นาฏศิปพัทลุง IP: 1.46.85.57 วันที่: 16 กันยายน 2553 เวลา:17:40:50 น.  

 
ขอบคุณมาก ๆ นะคะ
ข้อมูลละเอียดดีค่ะ

ขอให้การให้ความรู้ครั้งนี้ได้โปรดสนองให้คุณประสบความสำเร็จทุกด้านที่หวังค่ะ


โดย: นางฟ้า IP: 110.169.176.16 วันที่: 25 มิถุนายน 2555 เวลา:19:25:40 น.  

 
ขอบคุณมาก ๆ นะคะ
ข้อมูลละเอียดดีค่ะ

ขอให้การให้ความรู้ครั้งนี้ได้โปรดสนองให้คุณประสบความสำเร็จทุกด้านที่หวังค่ะ


โดย: นางฟ้า IP: 110.169.176.16 วันที่: 25 มิถุนายน 2555 เวลา:19:26:03 น.  

 

ขอบคุนก๊าบบบบ


โดย: โออิชิ IP: 118.172.46.76 วันที่: 2 มิถุนายน 2556 เวลา:11:39:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.