รำไทย : นาฏศิลป์ไทย ใช่จะไร้ในคุณค่า โดย ธรรมจักร พรหมพ้วย
Group Blog
 
All Blogs
 
กลับทางของการกลับมา ฤๅว่าวันทองไม่มา

ธรรมจักร พรหมพ้วย

...โอ้พระไวยสายใจ อีกสักเมื่อไรจึงจะมา...

การรอคอยการกลับมาของบางสิ่ง ยิ่งนาน...ก็ยิ่งหวัง บางครั้งเมื่อได้เจอก็ดีใจตื้นตัน บางครั้งก็ยังให้เกิดข้อกังขา บางครั้งต้องเรียนรู้จากความไม่คุ้นหน้าค่าตา

การเดินทางกลับมาจากต่างแดนของประดิษฐ ปราสาททอง นักการละครผู้คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะละครเวทีของไทยผู้มีเอกลักษณ์ในการสร้างงานจากความเป็นไทยที่มาจากทั้งวรรณคดีและวิถีชีวิต จนเลื่องลือนามจากความเป็นคณะละคร “มะขามป้อม” ที่หลายคนได้มีโอกาสติดตามตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กอยู่ (รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย) สู่คณะละครใหม่ที่ไม่ไร้ตัวตนนามว่า “อนตตา”

ผลงานละครสำหรับเฉลิมฉลอง ๑๐ ปีของเทศกาลละครกรุงเทพ ในเรื่อง “กลับมาเถิดวันทอง” (The Return of Wanthong) ทำให้กระตุ้นต่อมตามคำเชิญชวนให้ไปชมละครกลิ่นอายไทยตามที่ชื่นชอบอีกครั้ง เพื่อลุ้นว่าการกลับมาครั้งนี้ “การตีความข้ามกาลเวลา” ของประดิษฐ ที่ได้โปรยไว้ในหน้าแรกของสูจิบัตรว่า “เวลาอาจเปลี่ยนทุกสิ่งได้ แต่สัจจะในใจนั้นคงอยู่” จะมีรูปแบบและแนวทางเป็นเช่นไร

ด้วยความที่ผู้เขียนคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงศิลปกรรมด้านนาฏศิลป์มากกว่าละครเวที แต่ก็ได้เคยมีโอกาสสัมผัสผลงานการ “แปรรูปวรรณคดี” ไปสู่งานนาฏกรรมหลากประเภท หลากผู้สร้าง ไม่ว่าจะเป็น การทำเป็นละครรำตามแบบฉบับดั้งเดิมซึ่งมีกระบวนแบบบังคับแนวทางให้ยึดถือปฏิบัติ หรือการแปรรูปไปสู่รูปแบบใหม่อันน่าตื่นตา ประหลาดใจ กระชากความคิดในรูปของศิลปะสมัยใหม่อย่างเช่น นาฏยศิลป์ร่วมสมัย และที่บ่อยมากที่สุดก็คือ การแปรรูปสู่ความเป็น ...ละครเวที

การรับรู้สารจากที่สะดวกกว่าจะมานั่งตีความท่ารำอันยืดยาด ดูจะถูกโฉลกกับความเป็นศิลปะการแสดงสำหรับสังคมสมัยใหม่ เช่น ละครเวที ดังนั้นในความใหม่ ก็ควรจะได้สะท้อนแนวคิดใหม่ของคนร่วมรุ่นร่วมสมัยที่ได้สัมผัสทั้งละครรำและละครเวทีมา ซึ่งประดิษฐ ประสาททอง ก็ทำได้ไม่แพ้ผู้บุกเบิกแนวทางแบบไทยๆ เช่นนี้อย่าง มัทนี รัตนิน ซึ่งได้เคยฝากผลงานการแปรรูปวรรณคดีของไทยให้กลายเป็นละครเวทีในหลายชิ้น เช่น บุษบา-อุณากรรณ พระอภัยมณี เป็นต้น โดยที่แนวทางของปรมาจารย์ดั้งเดิมนั้น เน้นย้ำไปที่การวิพากษ์สังคมในเวลานั้นๆ ผ่านทางเนื้อหาวรรณคดีที่ปรับให้เป็น “ปาก” ทำหน้าที่แทนบอกเล่าความคิดของผู้กำกับงานออกสู่สังคมในยามนั้นๆ

แต่ในขณะที่งานของประดิษฐ์ วิธีการนั้นเป็นการ “กลับทาง” ซึ่งเหมือนเป็นการอ่านวรรณคดีใหม่อีกรอบหนึ่ง แล้วคิดจากมุมมองของตัวละครที่แตกต่างออกไปตามกรรมและวาระ ซึ่งดูเหมือนประเด็นเรื่อง “กรรม” ตามความคิดแบบไทยดั้งเดิม ที่ผู้เขียนบทได้พยายามนำไปเป็นปมหนึ่งให้ปะทะกับความเป็น “เหตุผล” ตามครรลองของสังคมปัจจุบัน การที่คนไทยยอมรับสภาพความเป็นไปของชีวิตโดนไม่คิดตั้งคำถามเพิ่มเติม (ซึ่งยังอาจฝังอยู่ในวิถีชีวิตไทยปัจจุบันบ้าง) นั่นคือความเชื่อตามกันมาว่า เพราะ “กรรม” เท่านั้นเป็นตัวกำหนดความยากดีมีจนไปจนถึงเรื่องความยุติธรรมในสังคม หากพลิกบทเสภาขึ้นอ่านหรือชมละครพระไวยแตกทัพฉบับดั้งเดิม ก็จะทำให้เห็นว่า สรรพสิ่งล้วนย่อมเป็นไปตามกรรม เช่น เมื่อวันทองสองใจก็สมควรแล้วที่จะต้องได้รับโทษประหาร โดยที่เราอาจลืมถามถึงความคิดเห็นของวันทองเมื่อเวลานั้น ว่าเธอรู้สึกอย่างไร

เมื่อ “สังคมเปลี่ยน วิธีคิดก็เปลี่ยน” ความขัดแย้งในลักษณะนี้ได้ถูกนำมาเป็นตัวตั้งสำหรับช่องทางการตั้งคำถามต่อเนื้อหาการดำเนินเรื่องตามวรรณคดีแบบไทยๆ เช่น การท้าทายต่อความกตัญญูของจมื่นไวยผู้ลูกที่มีต่อแม่วันทอง ว่าในยามนั้นยอมนิ่งดูดายที่จะเห็นแม่บังเกิดเกล้าถูกประหารชีวิตไปต่อหน้าต่อตาได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งการท้าทายต่อความยุติธรรมแห่งการพิพากษาโทษตามนัยของกฏเกณฑ์สังคมไทยในยามที่วรรณกรรมชิ้นนั้นได้ถูกเขียนขึ้น
ความท้าทายของวิธีคิดเช่นนี้ ก็ย่อมท้าทายผู้ดูที่รู้วรรณคดีไทยมาอย่างเบาบาง ว่าอาจทำความเข้าใจในการ “กลับทาง” ของตัวบทได้อย่างลำบากมากยิ่งขึ้น จนถึงมีเสียงบ่นพึมพำในการเรียกหาให้นำบทละครที่เป็นภาษาไทยขึ้นทาบลงบนจอ (ซึ่งมี Subtitle เป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างชาติอยู่แล้ว) เพราะจับใจความบทละครที่เป็นคำกลอนอย่างวรรณคดีไทยไม่ได้ การพยายามทำลายกำแพงแห่งการเข้าถึงวรรณคดีไทยจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะผู้ดูตาใสที่คิ้วขมวดในที มุ่งแต่ลำดับเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครและการดำเนินไปของตัวบท อย่างไรก็ดีในแง่ของความท้าทายกับการทดลองเล่าเรื่องกลับไปมาอย่าง Flashback เช่นนี้ ก็ทำให้ต้องตบเข่าฉาดใหญ่ในความใจกล้าของผู้เขียนที่กล้าที่จะ “กลับไปและกลับมา”

ในมุมมองจากผู้ทำงานนาฏกรรมแบบขนบ สิ่งที่ดูโดดเด่นจากความเคยหูและคุ้นตา ก็คือการหยิบยกเอาบทเสภา บทละครรำ และบทละครที่เขียนขึ้นใหม่ มาเย็บเรียงต่อเนื่องกันแต่มิได้ด้นไปในทิศทางเดียวหากแต่ได้ “ด้นถอยหลัง” ย้อนกลับไปมาเพื่อสื่อสารความหมายที่เกิดจาก “คำ” ตามบทประพันธ์ดั้งเดิม (ทั้งบทเสภาและบทละครรำ) โดยนำมาจัดระเบียบการเล่าเสียใหม่ ทำให้ผู้ดูที่คุ้นเคยกับละครรำและวรรณคดี อาจเห็นภาพลูกเล่นนี้ได้ชัดเจนมากกว่า และด้วยวิธีการเช่นนี้นักวรรณคดีและผู้เจนจัดทางการละครรำ อาจบริภาษถึง “ความมั่ว” ในการกลับทางและกลับคำของตัวบท แต่ในขณะเดียวกันกลับทำให้มองเห็นมิติทางด้านจิตวิทยาของตัวละครตามที่ผู้เขียนบทต้องการนำเสนอได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เสมือนผู้เขียนบทกำลังขุดค้นหาสมบัติในถ้อยคำที่กวีในอดีตในฝังเอาไว้ในกลอนเสภาเหล่านั้นแล้วนำมาอวดให้ผู้ชมได้เห็นความลึกซึ้งที่อย่ภายใต้บทประพันธ์ดั้งเดิม

ในละครรำแบบขนบมุ่งเน้นความสะเทือนใจจากการที่จมื่นไวยเห็นแม่ผู้เป็นกลายอสุรกายรูปร่างสูงเทียมตาล มากั้นหน้ากั้นหลังจนจมื่นไวย “ทั้งกลัวทั้งสงสารรำคาญอก” หากแต่ในบทละครฉบับนี้กลับเลือกการแสดงออกทางอารมณ์ด้วยความเค้นของร่างกายแบบ Physical Theatre มาถ่ายทอดความกดดันที่ทั้งโกรธและรักลูกผ่านทางความเป็นแม่ของวันทองมากกว่าความกะล่อนกลับกลอกของจมื่นไวย จึงทำให้เราได้เห็นการไม่อ่านวรรณคดีแบบด้นไปทางเดียวแต่เป็นการด้นถอยหลังที่ได้ผลและได้คิด

การเลือกการเคลื่อนไหวที่ไม่รำ เป็นอีกทางออกหนึ่งที่พยายามบอกกับผู้ดูว่าเมื่อห่มสไบใส่เครื่องละครแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหยิบจีบกรีดกรายเพื่อแสร้งว่าเป็นไทย แต่ด้วยประเด็นที่มุ่งเน้นการนำเสนอเบื้องลึกที่อยู่ในสภาพจิตใจ จึงต้องพึ่งการสื่อความหมายด้วย Mime ที่มิใช่เป็นการสื่อสารตามความหมายของท่าทางอย่าง “เล่นโขนเล่นละคร” ซึ่งดวงใจ หิรัญศรี ผู้รับบทวันทอง ก็ใช้เทคนิควิธีนี้สื่อสารได้กระทบใจผู้ดูในหลายจุดเวลาของละคร ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทำให้เกิดอาการจุกอกหลายครั้ง

และอาจเป็นเพราะเสียง ผสานการสร้างบรรยากาศและการควบคุมพื้นที่ของการแสดง จึงทำให้การสัมผัสถึงการเคลื่อนไหวเช่นนี้ได้อย่างใกล้ชิดและกินอารมณ์มาก ประกอบกับการเรียบเรียงดนตรีที่เลือกเอาเครื่องดนตรีไทยเพียงบางชิ้นผนวกการร้องลำนำเพลงไทยเดิมในวิธีการขับร้องอย่างใหม่ ก็ทำให้ชวนเศร้าสร้อยไปตามเสียงของเชลโล่ และตกใจระทึกขวัญไปกับเสียงกลองทัดที่ดังเร่งเร้าเมื่อถึงปมสำคัญของบทละคร การเลือกผู้เรียบเรียงดนตรีอย่างคานธี อนันตกาญจน์ มารับหน้าที่สร้างเสียงประกอบละครนี้ ได้ทำให้เห็นการสร้างงานเพลงแบบไทยๆ ที่มาจากมุมมองคนทำเพลงสากลมาก่อน กลายเป็นลูกผสมที่ไม่เคอะเขินและสำแดงความเป็นไทยได้อย่างลงตัว น่าฟัง แก่นของเพลงไทยเดิมคุ้นหู เช่น คำหวาน จึงถูกคานธีและประดิษฐใช้เป็นเพลงหลักเพื่อถ่ายทอดความรักของลูกที่มีต่อแม่ได้อย่างกินใจ ตามสร้อยท้ายเพลงว่า “...แม่เอย”

การเล่นกับสิ่งที่อยู่เบื้องลึกในจิตใจของตัวละคร เป็นสิ่งที่ศิลปินด้านนาฏกรรมขนบไม่ค่อยคุ้นเคยและสามารถปฏิบัติกันได้ “ถึง” เป็นจำนวนนับคนได้ (แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรเรียกร้องให้เกิดในวิธีการแสดงละครรำแบบไทย) ทั้งนี้ก็ด้วยนาฏศิลปินไทยผู้หัดใหม่หรือยังไม่เจนเวทีก็ดี ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจในการแสดงเป็นตัวละครนั้นๆ และ “คิดอย่างตัวละครคิด” ได้น้อยมาก จนทำให้การเสพละครรำแบบขนบในปัจจุบันมีความน่าสนใจน้อยลง เพราะทั้งผู้รำและผู้ดูกลับไปให้ความสำคัญของท่ารำมากกว่าการเข้าไปถึงบทบาท ดังที่เคยมีผู้เขียนถึงการแสดงเป็น “พระไวย” ของครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ศิลปินแห่งชาติ ว่าหากได้มีโอกาสชมละครเสภาเรื่องนี้เมื่อมีครูสุวรรณีแสดงก็จะได้เห็นน้ำตาของครูสุวรรณีไหลเป็นสายสะท้อนต้องกับแสงไฟบนเวที และหากเมื่อมองไปที่ผู้ชมในเวลานั้นก็อาจได้เห็นคราบน้ำตาอาบแก้มด้วย

การกลับมาของวันทองในครั้งนี้ ความลุ่มลึกในมิติด้านจิตวิทยาที่แม้ประดิษฐ ปราสาททองเอง ก็เกิดอาการ “น้ำตาหลั่งพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา” ด้วยว่าได้ถ่ายทอด “สิ่งตกค้างในใจที่หวนกลับมาเมื่อไรก็ได้” ได้อย่างเข้าถึงด้วยประสบการณ์ละครและประสบการณ์ชีวิตที่ได้ทำและได้เห็นมามาก และทำให้รู้ว่าในเรื่องราวแบบไทยๆ วรรณคดีไทย วิธีคิดแบบไทย หรือนาฏกรรมไทย จะยังคงวนเวียนในวัฏฏะรอการ “กลับมา” ให้คนไทยได้สัมผัสและเรียนรู้มันอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หากแต่เสียงโหยหวนของเปรตแม่วันทอง จะกู่ร้องให้คนไทยกลับมามองเห็นความเป็นไทยในตัวเองได้มากน้อยเพียงใด ทั้งละครรำและละครเวทีที่มีเรื่องราวสะท้อนความเป็นไทยจะยังติดตลาดได้หรือไม่ ยังคงเป็นที่สิ่งที่ต้อง “รอการกลับมา” อย่างจริงจัง จากทั้งฟากฝั่งผู้ผลิตละครและผู้ดู

นาฏกรรมที่ได้มีโอกาสเล่าใหม่ จะยังพอมีเสียงเรียกให้คนไทยกลับมาสัมผัสและกระตุ้นกระบวนการคิดได้มากน้อยเพียงใด ยังคงเป็นสิ่งที่น่า “รอคอย” เสมอ

กลับมาเถิด...คนไทย

...............................................



Create Date : 13 มีนาคม 2555
Last Update : 13 มีนาคม 2555 9:19:29 น. 0 comments
Counter : 1325 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

จินตะหราวาตี
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




สำนักละครอนุรักษ์นัจยากร
Friends' blogs
[Add จินตะหราวาตี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.